นโยบายไบเดนต่ออาเซียนและอินโด-แปซิฟิก

รัฐมนตรีบลิงเคนเยือนอาเซียนตอกย้ำส่งเสริมเสรีประชาธิปไตยต่างแดนแบบลงลึกถึงองค์กร หน่วยงาน สื่อ จนถึงระดับปัจเจก เร่งพัวพันอาเซียนทุกด้านทุกมิติ

            เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2021 แอนโทนี บลิงเคน (Antony Blinken) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเดินทางเยือนอาเซียน กล่าวสุนทรพจน์นโยบายสหรัฐต่ออาเซียนและอินโด-แปซิฟิก ย้ำว่ารัฐบาลสหรัฐให้ความสำคัญต่ออินโด-แปซิฟิกเพราะมีขนาดเศรษฐกิจถึง 60% ของโลก เป็นภูมิภาคที่โตเร็วที่สุดในขณะนี้ 5 ปีที่ผ่านมา 2 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลกที่โตขึ้นมาจากที่นี่ ครอบคลุมประชากรครึ่งโลก

            สหรัฐมีประวัติศาสตร์ร่วมและเป็นประเทศหนึ่งในภูมิภาคนี้ คู่ค้าครึ่งหนึ่งอยู่ที่นี่ สินค้าสหรัฐเกือบ 1 ใน 3 ส่งมาขายที่นี่ หวังร่วมมือกับประเทศต่างๆ เพื่อสันติภาพ ความมั่นคง ภูมิภาคที่เปิดกว้างและเสรีกว่าเดิม กำหนดแนวทางทำงานร่วมกับภูมิภาคนี้ใน 5 ด้านประเด็นสำคัญ ได้แก่

          ประการแรก อินโด-แปซิฟิกเปิดกว้างและเสรีกว่าเดิม

            กำหนดนิยามชัดเจนว่าเปิดกว้างและเสรีหมายถึงอย่างไร โดยทั่วไปคือสามารถเขียนพูดแสดงออกไม่ว่าคุณคือใครหรือคิดอย่างไร เปิดรับความคิดข้อมูลใหม่จากต่างถิ่นต่างวัฒนธรรม เปิดให้วิพากษ์และเริ่มสิ่งใหม่ๆ ตั้งแต่ระดับปัจเจก ประเทศสามารถเลือกทางเดินและมิตรของตนเอง

            หวังให้ปัญหาในภูมิภาคถูกจัดการโดยเปิดกว้างตามกฎเกณฑ์ที่โปร่งใสยุติธรรม สินค้าและประชาชนจะต้องสามารถขนส่งเดินทางข้ามประเทศได้โดยเสรี รวมถึงไซเบอร์สเปซ ทะเลหลวง

            ต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน สนับสนุนองค์กรตรวจสอบ นักข่าวที่มุ่งเสนอข่าวแบบเจาะลึก (ที่ไม่ได้อยู่ในอเมริกา)

            วิเคราะห์ : เรื่องส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ ต่อต้านคอร์รัปชัน สนับสนุนนักข่าว ฯลฯ เป็นแนวทางที่ประธานาธิบดีไบเดนประกาศในประชุมสุดยอดประชาธิปไตย (Summit for Democracy) รัฐบาลสหรัฐตั้งงบประมาณอุดหนุนและช่วยเหลือด้านอื่นๆ

            รัฐบาลสหรัฐจะต่อต้านบรรดาผู้นำประเทศที่ไม่เคารพสิทธิประชาชนของพวกเขา ดังเช่นกรณีพม่า (Burma) สหรัฐจะร่วมกับพันธมิตรกดดันรัฐบาลทหารเมียนมา นำพม่ากลับมาสู่เส้นทางประชาธิปไตยอีกครั้ง อย่างไรก็ตามไม่ใช่การล้มล้างรัฐบาลประเทศใด เป็นการปกป้องให้ทุกประเทศเลือกเส้นทางของตนเอง ไม่ใช่การแข่งขันระหว่างสหรัฐกับจีน

            พร้อมกันนี้จะสนับสนุนสื่อสารออนไลน์เสรี ต่อต้านผู้พยายามกีดกันออนไลน์เสรี วางระบบร่วมกับประเทศต่างๆ รวมถึงการพัฒนาเครือข่าย 5G 6G

            เป้าหมายสุดท้ายคือสร้างกติการ่วมเพื่อให้ภูมิภาคเปิดกว้างและเสรี ตรงข้ามกับจีนที่บิดเบือนตลาดเสรี อุดหนุนรัฐวิสาหกิจ

            วิเคราะห์ : เป้าหมายขั้นสุดท้ายที่ว่านี้ตีความได้ว่าคือการจัดระเบียบภูมิภาคของรัฐบาลสหรัฐนั่นเอง ที่มาจากการหารือร่วมไม่ยึดแนวทางอาเซียนเป็นแกนกลางตามที่อาเซียนต้องการ

          ประการที่ 2 สัมพันธ์ใกล้ชิดยิ่งขึ้น

            จะกระชับพันธมิตรญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์และไทยตามสนธิสัญญา (ที่มีอยู่เดิม) จะพยายามรวมพันธมิตรเหล่านี้เข้าด้วยกัน

            ยึดมั่นความเป็นแกนกลางของอาเซียน (ASEAN centrality) ในความหมายจะร่วมมือด้วยโดยพิจารณาทั้งวิสัยทัศน์ของอาเซียนกับสหรัฐ อีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจะเชิญผู้นำอาเซียนไปประชุมสุดยอดกับผู้นำอเมริกาเพื่อกระชับความสัมพันธ์และทำงานร่วมกัน

            ท้ายที่สุดตั้งเป้าสร้างระบบพันธมิตรหุ้นส่วนที่เชื่อมโยงอินโด-แปซิฟิกเข้ากับภูมิภาคอื่นๆ โดยเฉพาะยุโรป ทั้งอียูกับนาโตต่างมียุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับภูมิภาคนี้โดยตรง

            วิพากษ์ : พันธมิตรทางทหารระหว่างสหรัฐ-อังกฤษ-ออสเตรเลีย หรือ AUKUS ที่เริ่มเมื่อกลางเดือนกันยายนเป็นตัวอย่างดึงอังกฤษที่ไม่ใช่ประเทศในภูมิภาคเข้ามาในอินโด-แปซิฟิก มีข้อมูลหลายชิ้นชี้ว่ารัฐบาลสหรัฐหวังสร้างพันธมิตรความมั่นคงในย่านนี้ตามแบบพันธมิตรนาโต (NATO) แม้ความเป็นไปได้ต่ำแต่เป็นแนวคิดหนึ่งที่มีอยู่ การเชื่อมโยงเหล่านี้เป็นภาพระดับโลกของอเมริกา

          ประการที่ 3 เพื่อความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน

            สหรัฐได้ลงทุนกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ในภูมิภาคนี้และมีเสียงเรียกร้องให้ลงทุนเพิ่มอีก รัฐบาลไบเดนมีแผนวางกรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific economic framework) ที่ครอบคลุมเศรษฐกิจทุกประเภท สนับสนุนให้บริษัทเอกชนมาลงทุนที่นี่ ทั้งนี้กระทำโดยยึดค่านิยมของสหรัฐเพราะหากไม่ทำเช่นนี้ผู้อื่นก็จะทำโดยค่านิยมของเขา ให้เป็นการค้าที่ยุติธรรมและฟื้นฟู (fair and resilient trade) สนับสนุน ASEAN Single Window ดูแลห่วงโซ่อุปทานที่ตอนนี้ต่างให้ความสำคัญเมื่อหน้ากากอนามัยกับไมโครชิปขาดตลาด

            วิพากษ์ : RCEP เป็นตัวอย่างที่สหรัฐไม่เข้าร่วมด้วยเหตุผลไม่เข้ามาตรฐานของตน (สังเกตว่าเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลียที่เป็นพันธมิตรสหรัฐเข้า RCEP) และควรศึกษาว่า fair and resilient trade ของไบเดนจะเหมือนหรือต่างจากสมัยทรัมป์ ดังที่รัฐบาลทรัมป์ขู่คว่ำบาตรทุกประเทศที่เกินดุลตน

            สหรัฐสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานไม่ว่าจะท่าเรือ ถนนหนทาง ระบบสายส่งไฟฟ้า อินเตอร์เน็ต เหล่านี้เป็นระบบพื้นฐานของการค้าโลก เป็นโอกาสและความเจริญรุ่งเรือง รัฐบาลสหรัฐได้ยินเสียงจากภูมิภาคว่าโครงการไม่โปร่งใส มีการทุจริต สร้างจากบริษัทต่างชาติที่ใช้คนงานของตน กอบโกยทรัพยากร ทำลายสิ่งแวดล้อมและทำให้เป็นหนี้เป็นสิน

            หลายประเทศอยากได้โครงการดีมีคุณภาพกว่านี้แต่เนื่องจากมูลค่าสูงเกินไปและเจอแรงกดดัน จึงต้องรับโครงการต่างชาติด้วยข้อตกลงที่เสียเปรียบ สหรัฐจะร่วมมือเพื่อสร้างโครงการคุณภาพสูงและตอนนี้กำลังทำอยู่

            ล่าสุดสหรัฐ ออสเตรเลียและญี่ปุ่นร่วมกันสร้างเครือข่ายอินเตอร์เน็ตเชื่อมโยงประเทศในภูมิภาค กลุ่ม Quad ตั้งงบสนับสนุนการเงินเพื่อก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในประเทศต่างๆ ถึง 48,000 ล้านดอลลาร์ และกำลังหาหุ้นส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มเติม อีกไม่นานรัฐบาลสหรัฐจะนำ G7 เข้ามาลงทุนภูมิภาคนี้อีกมาก

          ประการที่ 4 ฟื้นฟูอินโด-แปซิฟิก (resilient Indo-Pacific)

            สหรัฐได้ส่งมอบวัคซีนโควิด-19 กว่า 300 ล้านโดสแก่ภูมิภาค ปีหน้าตั้งเป้าจะบริจาคให้โลกอีก 1,200 ล้านโดส จัดสรรงบประมาณช่วยเหลืออีก 2,800 ล้านดอลลาร์ด้วยน้ำใสจริงใจ ไม่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง และกำลังร่วมมือกับพันธมิตรโดยเฉพาะกลุ่ม Quad ในเรื่องนี้ ส่งเสริมเอกชนร่วมมือกันในนาม Global COVID Corps เพื่อสนับสนุนข้อมูลวิชาการ เครื่องมือ ระบบขนส่งวัคซีนแก่ประเทศกำลังพัฒนา

            ในการสู้กับไวรัสจะรวมถึงการพัฒนาระบบสาธารณสุขที่สามารถป้องกัน ตรวจจับและตอบสนองสถานการณ์ได้ดีกว่าเดิม โครงการ U.S.-ASEAN Health Futures Initiative ตั้งงบประมาณช่วยเหลือ 40 ล้านดอลลาร์ เปิดสำนักงาน U.S. Centers for Disease Control and Prevention ที่ฮานอย

            ร่วมกันแก้วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในโครงการ U.S.-ASEAN Climate Futures initiative ส่งเสริมพลังงานสะอาดที่จะช่วยสร้างงานอีกมาก

          ประการที่ 5 ส่งเสริมความมั่นคงอินโด-แปซิกฟิก

            รวมถึงภัยที่คุกคามประชาชนโดยตรง เช่น ความรุนแรงจากลัทธิสุดโต่ง การประมงผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์ ใช้ยุทธศาสตร์ประสานเครื่องมือทุกด้านไม่ว่าจะการทูต การทหาร ข่าวกรอง

            การพัฒนาให้เข้มแข็งขึ้นคือหนทางรักษาสันติภาพ รัฐบาลสหรัฐยึดแนวทางนี้เรื่อยมา สหรัฐไม่ต้องการความขัดแย้ง จึงดำเนินทางการทูตอย่างจริงจังกับเกาหลีเหนือ เป้าหมายสุดท้ายคือให้คาบสมุทรเกาหลีปลอดนิวเคลียร์ และจะให้ความสำคัญกับทุกเรื่องร้ายแรงก่อนกลายเป็นหายนะ ดังที่อดีตประธานาธิบดีเคนเนดีกล่าวว่า “เป้าหมายพื้นฐานของเรายังคงเดิม คือ โลกแห่งสันติ ประชาคมของรัฐที่เสรีและเป็นไท เสรีที่จะเลือกอนาคตของตนกับระบอบของตน ตราบเท่าที่ไม่คุกคามเสรีภาพของประเทศอื่น”

            วิเคราะห์ : อาจตีความว่าประธานาธิบดีเคนเนดีกล่าวอย่างแหลมคมว่า ทุกชาติสามารถเลือกทางของตนเอง ตราบเท่าที่เส้นทางที่เลือกไม่คุกคามสหรัฐและสหรัฐได้สิ่งที่ตนต้องการ ดังนั้นก่อนตัดสินใจควรรอบคอบและรู้ว่าควรทำอย่างไร

9 มกราคม 2022
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 26 ฉบับที่ 9188 วันอาทิตย์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2565)

--------------------------

บทความที่เกี่ยวข้อง : 
ความก้าวหน้าและจุดยืนอาเซียน 2021
เรื่องสำคัญที่สุดคือการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังเผชิญโรคระบาดโควิด-19 ประเด็นทะเลจีนใต้ที่นับวันจะทวีความตึงเครียด ขอให้เมียนมาปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อของที่ประชุมผู้นำอาเซียน
อาเซียนเสนอเอกสาร “มุมมองของอาเซียนต่อแนวคิดอินโด-แปซิฟิก” หวังนำอนุทวีปอินเดียเข้ามาเชื่อมต่อกับเอเชียแปซิฟิกให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น คงหลักอาเซียนเป็นแกนกลาง เน้นความร่วมมือแทนการทำลายล้าง

บรรณานุกรม :

U.S. Department of State. (2021, December 14). A Free and Open Indo-Pacific. Retrieved from https://www.state.gov/a-free-and-open-indo-pacific/