มุมมองของอาเซียนต่อแนวคิดอินโด-แปซิฟิก

อาเซียนเสนอเอกสาร “มุมมองของอาเซียนต่อแนวคิดอินโด-แปซิฟิก” หวังนำอนุทวีปอินเดียเข้ามาเชื่อมต่อกับเอเชียแปซิฟิกให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น คงหลักอาเซียนเป็นแกนกลาง เน้นความร่วมมือแทนการทำลายล้าง
            ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 34 เมื่อมิถุนายน 2019 ที่กรุงเทพฯ ได้เกิดเอกสารสำคัญชิ้นหนึ่งคือ “มุมมองของอาเซียนต่อแนวคิดอินโด-แปซิฟิก” (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific)
            แนวคิดอินโด-แปซิฟิกของอาเซียนตั้งอยู่บนหลักการว่าทั้งเอเชียแปซิฟิกกับอนุภูมิภาคอินเดียต่างเป็นประเทศที่กำลังเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ จึงเป็นการดีที่จะร่วมมือแทนการแข่งขันเพื่อเอาชนะอีกฝ่ายแบบ “เกมศูนย์” (Zero Sum Game)
            อินเดียมีความสัมพันธ์ทั้งกับฝ่ายสหรัฐ คือสหรัฐ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น กับอีกฝ่ายคือความพยายามรวมตัวของรัสเซีย-อินเดีย-จีน หรือที่เรียกว่า RIC (จาก BRICS) การแข่งขันกับการจับขั้วมีแนวโน้มเข้มข้นขึ้น ให้ความสำคัญกับเอเชียแปซิฟิกพร้อมกับอนุภูมิภาคอินเดีย
            เอกสารอธิบายอย่างตรงไปตรงมาว่าประชาคมอาเซียนตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลางของพลวัตรดังกล่าว จำต้องเข้ามาบริหารจัดการโครงสร้างเศรษฐกิจและความมั่นคง
            วัตถุประสงค์ของเอกสารฯ เพื่อนำเสนอกรอบแนวคิดความร่วมมือ เสริมสร้างบรรยากาศแห่งสันติภาพ เสถียรภาพและความมั่งคั่ง ความท้าทายที่ต้องเผชิญร่วมกัน สร้างโครงสร้างภูมิภาคที่ยึดกฎกติกา เสริมสร้างความเชื่อมั่น ไว้วางใจต่อกัน ส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจให้ใกล้ชิดกว่าเดิม เสริมสร้างประชาคมอาเซียนด้วยกลไกที่อาเซียนเป็นแกนนำ เช่น การเชื่อมโยงมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก ความร่วมมือทางทะเล การเชื่อมโยงกันและกัน มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวทางของสหประชาชาติ (SDGs) และความร่วมมืออื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย
            ยึดหลักความเป็นแกนกลางของอาเซียน (ASEAN Centrality)เปิดเผยโปร่งใส รวมทุกประเทศเข้ามา ยึดหลักธรรมาภิบาล เคารพอธิปไตย ไม่แทรกแซงกิจการภายใน ยึดถือกฎบัตรสหประชาชาติและสนธิสัญญาต่างๆ ยึดมั่นกฎบัตรอาเซียน ข้อตกลงต่างๆ ของอาเซียน สนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (TAC)
            เอกสารฯ ระบุความร่วมมือ 4 กรอบหลัก ได้แก่ ความร่วมมือทางทะเล การติดต่อเชื่อมโยง (connectivity) เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและอื่นๆ
            ความร่วมมือทางทะเลเป็นประเด็นแรกที่เอ่ยถึง ด้วยเล็งเห็นความท้าทายที่มีอยู่และที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งเรื่องทรัพยากรทางทะเล มลพิษ ปฏิบัติตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (United Nations Convention on the Law of the Sea: UNCLOS) ที่ให้แก้ไขข้อพิพาทด้วยสันติวิธี หลักเดินเรือเสรีและการบินผ่านน่านน้ำเสรี ฯลฯ
            การติดต่อเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคทั้ง 2 จะสนับสนุนแผนแม่บทอาเซียนที่มีอยู่แล้ว เป็นการเชื่อมโยงทั้งทางกายภาพและระหว่างประชาชน ส่งเสริมการทำธุรกิจ การศึกษา ช่วยให้การเชื่อมโยงมีประสิทธิภาพและราบรื่น
รักษาความเป็นแกนกลางของอาเซียน :
            แต่เดิมสหรัฐ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น วางยุทธศาสตร์สำหรับเอเชียแปซิฟิก ระยะหลังปรับเป็น “Indo-Pacific” เชื่อมต่ออนุภูมิภาคอินเดียเข้ากับเอเชีย มองว่าเอเชียแปซิกฟิกกับอนุภูมิภาคอินเดียเชื่อมโยงกัน
            อันที่จริงแล้วแต่ละประเทศแต่ละองค์กรต่างมีแผนในกรอบของตัวเอง สหรัฐ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่นมีแผนที่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง เช่นเดียวกับที่อินเดียมีกรอบของตนเองมานานแล้ว แนวคิดอินโด-แปซิฟิกของอาเซียนจึงเป็นอีกกรอบที่เกิดขึ้น
            ไม่ว่าอินเดียกับมหาอำนาจจะให้ความสำคัญมากเพียงไร อย่างน้อยอาเซียนกำลังสร้างเวทีที่ตนจะมีปากเสียง ได้เสนอวาระของตัวเอง และอาจกลายเป็นคนกลางที่ได้รับการยอมรับถ้าบริบทอำนวย ดึงอินเดียกับประเทศในอนุภูมิภาคให้ใกล้ชิดอาเซียนมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นและกำลังจะเป็นเช่นนั้นตามแผนการเชื่อมโยง
            เป็นความพยายามที่ประชาคมอาเซียนจะมีส่วนในการจัดระเบียบภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก อย่างน้อยไม่ปล่อยให้พวกมหาอำนาจตัดสินใจตามลำพัง ไม่แอบอิงหรือถูกครอบงำด้วยประเทศใดประเทศหนึ่ง ระมัดระวังไม่กระทบผลประโยชน์ของประเทศนอกอาเซียนจนเกินจะรับได้ เป็นเหตุผลหลักที่มหาอำนาจยอมรับและสนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียน ดีกว่าที่มหาอำนาจต่างแข่งกันสร้างสถาปัตยกรรมความมั่นคงภูมิภาคของตัวเอง
หากอินเดียยินดีร่วมเข้ากลุ่มย่อมช่วยส่งเสริมบทบาทความเป็นแกนกลางของอาเซียนๆ จะมีส่วนเพิ่มขยายผลประโยชน์ของอินเดีย
มองเชิงปรปักษ์กับความร่วมมือ :
มีทั้งผู้ที่มองความเป็นไปของ “Indo-Pacific” ในเชิงปรปักษ์กับความร่วมมือ
พวกที่มองเป็นปรปักษ์จะมองว่าเป็นการช่วงชิงระหว่างฝ่ายสหรัฐกับอีกฝ่ายคือจีน-รัสเซีย รัฐบาลสหรัฐประกาศชัดที่จะขยาย/รักษาอิทธิพลของตนในย่านนี้ ยึดหลักแสดงพลังนำสันติภาพ ต่อต้านผู้ทำลายระเบียบโลกซึ่งหมายถึงระเบียบโลกปัจจุบันที่สหรัฐเป็นแกนนำ มองการก้าวขึ้นมาของจีน-รัสเซียด้วยสายตาที่ไม่เป็นมิตร
พวกที่มองเป็นความร่วมมือจะมองว่าทุกประเทศจะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนา การขยายเศรษฐกิจ การเชื่อมต่อระหว่างกันกำลังเพิ่มทวีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เอเชียแปซิฟิกกับอนุภูมิภาคอินเดียจะติดต่อเชื่อมโยงใกล้ชิดมากกว่าเดิมทั้งทางบก ทางทะเลและอากาศ เป้าหมายความมั่นคงคือรักษาการพัฒนา การติดต่อเชื่อมโยง
ถ้ามองทั้งมุมเชิงปรปักษ์กับความร่วมมือพร้อมกัน สามารถอธิบายได้ว่าเป็นความร่วมมือคู่การแข่งขันช่วงชิง การทำลายล้างอีกฝ่ายเป็นยุทธศาสตร์ที่ดำเนินแบบค่อยเป็นค่อยไป เป็นเรื่องของบริบท เกี่ยวข้องกับหลายปัจจัยทั้งที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ เรื่องเฉพาะหน้าคือต้องเป็นฝ่ายได้เปรียบได้ผลประโยชน์มากกว่าจากความร่วมมือ
เป้าหมายที่อาเซียนต้องการคือให้อยู่ในความสงบเรียบร้อย อยู่ในบรรยากาศส่งเสริมการค้าการลงทุน แก้ไขข้อพิพาทด้วยสันติวิธี ยึดกฎกติกา
            ผลประโยชน์อื่นๆ ที่ทั้งอาเซียน อินเดียและประเทศอื่นๆ ได้ เช่น ความร่วมมือด้าน non-traditional security issues ที่นับว่าจะสำคัญและซับซ้อน จำต้องอาศัยความร่วมมือระดับนานาชาติ การเดินทางไปมาหาสู่ระดับประชาชนน่าจะเพิ่มมากขึ้น เกิดการแลกเปลี่ยนถ่ายทอดวัฒนธรรมประเพณี ความสามารถด้านต่างๆ ตามแนวทางของโลกาภิวัตน์ ดังที่นายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุง (Lee Hsien Loong) กล่าวถึงแนวคิดความร่วมมือระดับพหุภาคีจะเป็นประโยชน์แก่ทุกประเทศ ด้วยความเชื่อว่า การอยู่ด้วยกันอย่างสันติจะส่งเสริมการค้าการลงทุน ช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัว แล้วกระจายผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นแก่ทุกประเทศ ดังนั้นจึงต้องมุ่งสร้างสันติภาพ พยายามเชื่อมรวมเข้าหากัน สร้างระบอบที่ยึดกฎกติกา การจะคาดหวังให้ชาติอื่นๆ ยึดค่านิยมวัฒนธรรมกับระบบการเมืองเดียวกันไม่สมเหตุผลและเป็นไปไม่ได้ แท้ที่จริงแล้วความแตกต่างหลากหลายของมนุษยชาติคือความเข้มแข็งในตัวเอง ประวัติศาสตร์ความก้าวหน้าของมนุษยชาติคือการแลกเปลี่ยนแนวคิด การเรียนรู้และปรับตัวเข้าอย่างกันอย่างต่อเนื่อง
อาเซียนก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 1967 บัดนี้มีอายุกว่า 5 ทศวรรษ ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก จากสมาชิกก่อตั้ง 5 ประเทศขยายเป็น 10 ประเทศ และเป็นประชาคมอาเซียนในปัจจุบัน สร้างเวทีการประชุมหลายกลุ่ม นำประเทศสำคัญๆ เข้ามาประชุมในเวทีที่อาเซียนสร้างขึ้น บัดนี้พยายามขยายเวทีไปสู่อนุภูมิภาคอินเดียอีกครั้ง เอกสาร “มุมมองของอาเซียนต่อแนวคิดอินโด-แปซิฟิก” เป็นความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมก้าวแรกของความพยายามรอบใหม่ อาจมองว่าเป็นกรอบภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ แต่ไม่ใหม่สำหรับฝีมือการทูตของประชาคมอาเซียน
30 มิถุนายน 2019
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลกไทยโพสต์ ปีที่ 23 ฉบับที่ 8267 วันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2562)
----------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง 
หัวข้อการประชุมพูดถึงการเข้าพัวพันกับโลก เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องความสัมพันธ์ภายในหมู่ชาติสมาชิกที่ซับซ้อนลงรายละเอียดมากขึ้น การปฏิบัติตามแผนยังเป็นความท้าทายหลัก
ทฤษฎีดุลแห่งอำนาจเป็นแนวคิดจากสำนักสัจนิยมที่ใช้กันแพร่หลาย ถ่วงดุลฝ่ายที่เป็นอริ ไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายได้เปรียบ หวังเป็นเหตุไม่ให้คิดทำสงครามต่อกัน อาเซียนกำลังใช้ทฤษฎีดุลแห่งอำนาจถ่วงดุลจีนกับฝ่ายสหรัฐ เพื่อชี้ชวนให้ทุกฝ่ายดำเนินนโยบายกับอาเซียนอย่างสร้างสรรค์ แต่ทฤษฎีดุลแห่งอำนาจมีจุดอ่อนเช่นกัน จึงต้องใช้อย่างระมัดระวัง
บรรณานุกรม :
1. สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล. (2562, มิถุนายน 23). ถ้อยแถลงของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการแถลงข่าวผลการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34. Retrieved from https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/21205
2. ASEAN. (2019, June 23). ASEAN OUTLOOK ON THE INDO-PACIFIC. Retrieved from https://asean.org/storage/2019/06/ASEAN-Outlook-on-the-Indo-Pacific_FINAL_22062019.pdf
3. ASEAN. (2019, June 23). CHAIRMAN’S STATEMENT OF THE 34TH ASEAN SUMMIT. Retrieved from https://asean.org/storage/2019/06/Final_Chairs-Statement-of-the-34th-ASEAN-Summit_as-of-23-June-2019-12....pdf
4. ASEAN has much to do. (2019, June 24). The Asian Post. Retrieved from https://theaseanpost.com/article/asean-has-much-do
5. Keynote Address: Lee Hsien Loong. (2019, June). IISS Shangri-La Dialogue 2019. Retrieved from https://www.iiss.org/events/shangri-la-dialogue/shangri-la-dialogue-2019
6. Lee John. (2018). Trends in Southeast Asia. Retrieved from https://www.iseas.edu.sg/images/pdf/TRS13_18.pdf
7. Ordaniel, Jeffrey., Baker, Carl. (2019, March). ASEAN Centrality and the Evolving US Indo-Pacific Strategy. Retrieved from https://www.pacforum.org/sites/default/files/issuesinsights_Vol19CR4_USASEAN.pdf
8. Russia-India-China will be the big G20 hit. (2019, June 26). Asia Times. Retrieved from https://www.asiatimes.com/2019/06/article/russia-india-china-will-be-the-big-g20-hit/
-----------------------------