ความก้าวหน้าและจุดยืนอาเซียน 2021

เรื่องสำคัญที่สุดคือการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังเผชิญโรคระบาดโควิด-19 ประเด็นทะเลจีนใต้ที่นับวันจะทวีความตึงเครียด ขอให้เมียนมาปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อของที่ประชุมผู้นำอาเซียน

            การประชุมสุดยอดอาเซียนเมื่อตุลาคม 2021 เป็นการประชุมครั้งที่ 38 กับ 39 แสดงความก้าวหน้าและจุดยืนอาเซียนสำคัญๆ หลายเรื่อง ดังนี้

            อาเซียนหรือประชาคมอาเซียนยึดมั่นกฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) พร้อมกับความสามารถในการรับมือความท้าทายใหม่ๆ ที่เข้ามา แถลงการณ์เอ่ยถึงความร่วมมือหลายอย่าง ความคืบหน้าของแต่ละงาน เช่น ข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน (Initiative for ASEAN Integration: IAI) การลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างสมาชิกและเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ย้ำความเป็นแกนกลางของอาเซียน (ASEAN centrality) ให้ทุกส่วนพัฒนา เดินหน้าตามแผนสร้างการเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (ASEAN Connectivity)

ประเด็นโควิด -19 :

            อาเซียนยังคงกังวลอย่างยิ่งต่อโรคระบาดโควิด-19 อยู่ระหว่างการฟื้นฟูตามแผน ASEAN Comprehensive Recovery Framework (ACRF) ประสานความร่วมมือทุกด้านทุกมิติ

            ตระหนักว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนคือหนทางสู่อนาคตที่ดีกว่า เร่งดำเนินตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ของสหประชาชาติ ส่งเสริม Care Economy (เศรษฐกิจใส่ใจ – งานบริการที่ต้องใช้ทักษะความรู้กับความใส่ใจดูแล เช่น กลุ่มงานรักษาพยาบาล การดูแลสุขภาพ สอดรับโลกอนาคตที่คนสูงวัยเพิ่มขึ้นและเป็นงานที่หุ่นยนต์ทำแทนไม่ได้) มีแผนจัดเตรียมเวชภัณฑ์จำเป็น พัฒนาระบบสาธารณสุข แผนรองรับการเดินทางภายในหมู่ประเทศสมาชิกท่ามกลางสถานการณ์ป้องกันโรคระบาด

            ให้ความสำคัญเป็นพิเศษต่อการฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ส่งเสริมการซื้อขายสินค้าจำเป็น เช่น อาหาร ไม่ปล่อยให้ติดขัดท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาด

ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (APSC) :

            ย้ำว่าสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia: TAC) เป็นหลักสำคัญที่สมาชิกอาเซียนยึดถือ อยากให้ประเทศนอกกลุ่มเข้าร่วมสนธิสัญญานี้ (สาระสำคัญของ TAC คือ เคารพความเป็นอิสระ อธิปไตย ความเท่าเทียม บูรณภาพแห่งดินแดน อัตลักษณ์ของทุกชาติ สิทธิที่จะปลอดการแทรกแซงจากภายนอก การบั่นทอนทำลาย ไม่แทรกแซงกิจการของกันและกัน TAC เป็นเสาหลักความมั่นคงของอาเซียนที่มีมาตั้งแต่ต้น) เป็นเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Nuclear Weapon-Free Zone : SEANWFZ)

            ยึดมั่นปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่จัดทำโดยคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Human Rights Declaration: AHRD) ต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ ความรุนแรงจากลัทธิสุดโต่ง (Violent Extremism)

            อาเซียนจะต้องแสดงบทบาทนำในเรื่องโครงข่ายความมั่นคงภูมิภาค ยึดหลักอาเซียนเป็นแกนกลาง (ASEAN Centrality) ยึดมั่น UNCLOS กิจกรรมทางทะเลทุกอย่างต้องเป็นประโยชน์ต่อประเทศต่างๆ ทั้งในและนอกภูมิภาค

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) :

            อาเซียนกำลังทำตามยุทธศาสตร์ AEC Blueprint 2025 ที่ต้องเน้นย้ำคือขอให้ความสำคัญกับคุณภาพผลลัพธ์ ขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ใช้โรคระบาดขณะนี้ส่งเสริมระบบดิจิทัล ทำตามแผน ASEAN Agreement on Electronic Commerce ส่งเสริมพลังงานสะอาด ลดก๊าซเรือนกระจก ความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างสปป.ลาว ไทย มาเลเซียและสิงคโปร์เป็นตัวอย่างที่ดี ปฏิบัติตามยุทธศาสตร์การตลาดท่องเที่ยวอาเซียน 2021-25

            อาเซียนยอมรับว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังไม่แน่นอนทั้งระดับภูมิภาคกับโลก ให้ความสำคัญกับการเปิดตลาด รักษา supply chain วางแผนยกระดับการค้าเสรีกับบางประเทศ ร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศนอกภูมิภาค

ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASCC) :

            อาเซียนดำเนินตามแผน ASCC Blueprint 2025 ได้ครึ่งทางแล้ว ยังมีอีกมากที่ต้องทำ ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมคนงานทำแบบยืนหยุ่น (Agility of Workers – ทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา) เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เหมาะกับสถานการณ์โรคระบาด มีเวลาให้ครอบครัวมากขึ้น

            อาเซียนให้ความสำคัญกับเยาวชน ส่งเสริมให้เยาวชนเป็นผู้สร้างประชาคมต่อไป

            มีแผนช่วยเหลือเมียนมาด้านสิทธิมนุษยชน ให้คนเดินทางกลับรัฐยะไข่ด้วยความสมัครใจ บนพื้นฐานข้อตกลงระหว่างเมียนมากับบังคลาเทศ

ความสัมพันธ์นอกภูมิภาคและประเด็นต่างๆ :

            อาเซียนมีกลไกความสัมพันธ์กับประเทศนอกภูมิภาคหลายตัว เจรจาทวิภาคีกับคู่เจรจาหลายองค์กรหลายประเทศ สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกัน บนพื้นฐานเปิดกว้างโปร่งใส ยึดถือกฎระเบียบโดยมีอาเซียนเป็นศูนย์กลาง

            ย้ำความสำคัญของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit: EAS) ที่อาเซียนเป็นผู้ริเริ่มหารือทุกมิติ ภายใต้มุมมองของอาเซียนต่อแนวคิดอินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific: AOIP) อาเซียนต้องเป็นศูนย์กลางบริหารจัดการโครงสร้างเศรษฐกิจและความมั่นคง เพื่อความมั่นคง เสถียรภาพและความมั่งคั่งแก่อาเซียนและภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก สอดคล้องกับข้อตกลงต่างๆ ของอาเซียน เช่น TAC

            ในประเด็นทะเลจีนใต้ ชาติสมาชิกอาเซียนบางประเทศกังวลต่อการแปรสภาพพื้นที่ กิจกรรมบางอย่างที่น่าสงสัย สร้างความตึงเครียดและอาจทำลายเสถียรภาพภูมิภาค จำต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ยับยั้งชั่งใจ หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ขัดแย้งมากขึ้น ปฏิบัติตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UNCLOS) ทำตามแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้อย่างสมบูรณ์ (DOC) ให้ทะเลจีนใต้เป็นเขตเสรีด้านการเดินเรือกับการบินทางอากาศ ยินดีกับความก้าวหน้าของ Single Draft COC Negotiating Text

            อาเซียนหวังว่าคาบสมุทรเกาหลีจะมีสันติภาพตลอดไป ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์ หวังว่าทุกประเทศที่เกี่ยวข้องจะเดินหน้าเจรจา ปฏิบัติตาม Panmunjom Declaration สนับสนุนสิทธิอันชอบธรรมของชาวปาเลสไตน์ที่จะมีรัฐอิสระของตน (State of Palestine) ตามแนวทางทวิรัฐ ยึดพรมแดนปี 1967

            อาเซียนเป็นห่วงสถานการณ์ภายในเมียนมา ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ขอให้เมียนมาทำตามฉันทามติ 5 ข้อของที่ประชุมผู้นำอาเซียน (Five-Point Consensus of the ASEAN Leaders’ Meeting) ที่ตกลงไว้เมื่อ 24 เมษายน 2021 ยุติความรุนแรงทันที ยินดีกับผู้แทนพิเศษของอาเซียน (ASEAN Special Envoy to Myanmar) ที่เดินหน้าหารือกับทุกฝ่ายในเมียนมา เข้าถึงและรับรู้ความต้องการทั้งหมด

            ในกรณีเมียนมา อาเซียนเคารพหลักไม่แทรกแซงกิจการภายใน (principle of non-interference) และยึดมั่นหลักนิติธรรม ธรรมาภิบาล หลักประชาธิปไตยและรัฐบาลภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยยึดถือเรื่องเหล่านี้อย่างสมดุลสอดคล้องกับหลักการอาเซียน ยืนยันยึดการตัดสินใจจากที่ประชุมฉุกเฉินของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน (EAMM) เมื่อ 15 ตุลาคม 2021

            และตระหนักว่าเมียนมาต้องการเวลา พื้นที่การเมืองเพื่อจัดการปัญหาภายในที่ซับซ้อน หวังว่าประเทศจะกลับสู่ปกติตามเจตจำนงของคนเมียนมา
            โดยสรุปแล้วอาเซียนให้ความสำคัญการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังเผชิญโรคระบาดโควิด-19  ยอมรับว่าการฟื้นตัวยังไม่แน่นอนทั้งระดับภูมิภาคกับโลก ประเด็นทะเลจีนใต้ที่นับวันจะทวีความตึงเครียด เรียกร้องให้อาเซียนเป็นแกนกลางจัดการโครงสร้างความมั่นคงภูมิภาค ขอให้เมียนมาปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อของที่ประชุมผู้นำอาเซียน เป็นอีกปีที่อาเซียนเผชิญความท้าทายทั้งระดับโลกกับภายในอาเซียนเอง

33331 ตุลาคม 2021
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 26 ฉบับที่ 9119 วันอาทิตย์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2564)

----------------------

บทความที่เกี่ยวข้อง : 
อาเซียนส่งเสริมสิทธิมนุษยชนตามแนวทางสหประชาชาติ แต่อาเซียนไม่ใช่องค์กรประชาธิปไตย ที่ชาติสมาชิกต้องการคือให้ภูมิภาคสงบสุข อันจะนำมาซึ่งการพัฒนา ประชาชนอยู่ดีกินดีตามอัตภาพ
อาเซียนเสนอเอกสาร “มุมมองของอาเซียนต่อแนวคิดอินโด-แปซิฟิก” หวังนำอนุทวีปอินเดียเข้ามาเชื่อมต่อกับเอเชียแปซิฟิกให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น คงหลักอาเซียนเป็นแกนกลาง เน้นความร่วมมือแทนการทำลายล้าง
บรรณานุกรม :

ASEAN. (2021, October 26). CHAIRMAN’S STATEMENT OF THE 38TH AND 39TH ASEAN SUMMITS. Retrieved from https://asean.org/wp-content/uploads/2021/10/FINAL-Chairmans-Statement-of-the-38th-and-39th-ASEAN-Summits-26-Oct....pdf