เลือกตั้งอเมริกาโกงเป็นระบบ?

คนอเมริกันครึ่งหนึ่งคิดว่าเลือกตั้งไม่โปร่งใสโกงเป็นระบบ เรื่องนี้ไม่เพียงสะท้อนความไม่เชื่อมั่นต่อระบบเลือกตั้ง ยังเกี่ยวข้องกับวิธีคิดการใช้เหตุผลด้วย


             กลางเดือนกันยายน CNN รายงานผลโพลของตนที่ทำโดย SSRS ระบุว่าชาวอเมริกันส่วนใหญ่ (56%) เห็นว่าประชาธิปไตยของประเทศกำลังถูกทำลาย 51% คิดว่ากรรมการเลือกตั้งสามารถเปลี่ยนผลเลือกตั้งให้ออกมาอย่างที่พวกเขาต้องการ

            พวกที่สนับสนุนพรรครีพับลิกันส่วนใหญ่จะคิดเช่นนั้น โดยเฉพาะคนที่สนับสนุนโดนัลด์ ทรัมป์ ถ้าดูผู้ตอบโพลในแง่การสนับสนุนพรรค 75% ของพวกรีพับลิกันจะสรุปว่าประชาธิปไตยประเทศกำลังถูกทำลาย เทียบกับ 46% ของพวกเดโมแครทที่คิดเช่นนั้น

            พวกสนับสนุนพรรครีพับลิกันส่วนใหญ่ต้องการให้ทรัมป์เป็นผู้นำพรรค คนเหล่านี้ใจตรงกับทรัมป์ที่อ้างว่าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา (2020) ตนไม่ได้แพ้แต่โดนโกงเลือกตั้ง จนถึงวันนี้ทรัมป์ยังยืนว่าเขาไม่ได้เป็นประธานาธิบดีอีกสมัยเพราะโดนโกงเลือกตั้ง

            เรื่องแปลกแต่จริงคือผลโพล CNN นี้พบว่าคนอเมริกัน 23% กล่าวว่ามีหลักฐานชัดเจนว่าไบเดนไม่ได้ชนะเลือกตั้ง และอีก 13% สงสัยว่าไบเดนไม่ได้ชนะเลือกตั้ง (รวมแล้วกว่า 46% ที่พูดหรือสงสัยว่าไบเดนไม่ได้ชนะเลือกตั้ง) เมื่อศึกษาลงรายละเอียด 78% ของพวกรีพับลิกันกล่าวว่าไบเดนไม่ได้ชนะเลือกตั้ง และมีถึง 54% ที่พูดว่ามีหลักฐานชัดเจนว่าเป็นเช่นนั้น 21% ของรีพับลิกันเท่านั้นที่ยอมรับว่าไบเดนชนะอย่างโปร่งใส

            พวกเดโมแครทกับสายกลางคิดทำนองนี้เช่นกัน 52% ของทั้ง 2 กลุ่มไม่เชื่อว่าระบบการเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรมอีกแล้ว ขยับเพิ่มจากโพลเดือนมกราคมที่ 40%

            ถ้าแยกรายกลุ่ม 69% ของเดโมแครทยังเชื่อว่าระบบการเลือกตั้งโปร่งใส 46% ของพวกไม่สังกัดพรรค และ 24 % ของพวกรีพับลิกันที่เห็นว่าเลือกตั้งโปร่งใส

            ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงระเบียบ ข้อบังคับการเลือกตั้งระดับรัฐเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ความเชื่อมั่นลดลง รัฐที่พวกรีพับลิกันครองมักจะเพิ่มความเข้มงวด ตรงข้ามกับรัฐที่เดโมแครทครองมักลดความเข้มงวดด้วยเหตุผลป้องกันโรคระบาดโควิด-19

            ที่น่าสนใจคือผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ (58%) เห็นว่าเป้าหมายหนึ่งของการเปลี่ยนกฎระเบียบรัฐที่รีพับลิกันครองคือเพื่อให้ฝ่ายตนได้เปรียบ ทำนองเดียวกับ 53% ที่บอกว่ารัฐเดโมแครทเปลี่ยนกฎระเบียบเลือกตั้งเพื่อเอื้อผู้สมัครของตน

            ย้อนหลังเลือกตั้งปลายปี 2020 ตอนนั้นโควิด-19 ระบาดหนัก ทุกรัฐพยายามปรับวิธีลงคะแนนเพื่อลดการแพร่ระบาดซึ่งเป็นการส่งเสริมให้คนไปเลือกตั้ง หนึ่งในวิธีที่ทำคือการลงคะแนนผ่านไปรษณีย์ ทรัมป์กล่าวหาตั้งแต่แรกว่าเป็นกลโกงเลือกตั้งของเดโมแครท ประกาศตัดงบประมาณการไปรษณีย์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (The United States Postal Service: USPS) ขัดขวางการลงคะแนนผ่านทางไปรษณีย์

            ในขณะที่บางรัฐเพิ่มระเบียบลงทะเบียนเลือกตั้งว่าต้องเป็นผู้อยู่อาศัยในรัฐเป็นเวลานานเท่านั้นหรือมีระเบียบยิบย่อยเพิ่ม ทำให้คนต่างถิ่นเสียสิทธิเลือกตั้งเพราะรัฐบ้านเกิดอยู่ไกล ไม่สะดวกเดินทางในช่วงโรคระบาด ไม่เข้าเกณฑ์เลือกตั้งในคูหาใกล้ที่อยู่ปัจจุบัน นักวิเคราะห์บางคนเห็นว่าไม่ว่ารัฐใดใช้วิธีไหนล้วนผ่านการวิเคราะห์แล้วว่าจะเอื้อผู้สมัครฝ่ายตน

            ตั้งแต่ยังไม่เลือกตั้ง ช่วงนับคะแนนในแต่ละรัฐ จนถึงประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ มีสัญญาณเกิดความรุนแรงต่อเนื่อง ทรัมป์กับพวกรีพับลิกันที่สนับสนุนทรัมป์ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง บัดนี้ผ่านมาเกือบปีไม่เฉพาะรีพับลิกันที่เห็นว่าเลือกตั้งอเมริกาโกงอย่างเป็นระบบ พวกเดโมแครทเห็นด้วยกับข้อสรุปนี้มากขึ้นเช่นกัน

คนอเมริกันไม่ไว้ใจระบบการเลือกตั้ง :

            สหรัฐฯ เลือกตั้งมาแล้วกว่า 240 ปี ประชาธิปไตยพัฒนามาเรื่อยๆ แต่ในระยะหลังมีข้อตำหนิติเตียนระบบการเลือกตั้งอย่างรุนแรงว่าไม่โปร่งใส คนโกงชนะเลือกตั้ง

            แม้เป็นข้อกล่าวหาที่ปราศจากหลักฐาน (หลักฐานตามหลักวิชาการ ศาลยอมรับ) แต่เป็นเรื่องร้ายแรงเมื่อคนอเมริกันครึ่งหนึ่ง (51%) คิดว่ากรรมการเลือกตั้งสามารถเปลี่ยนผลการเลือกตั้งตามใจชอบ และทำสำเร็จในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

            การเลือกตั้งสหรัฐฯ มีระบบตรวจสอบชัดเจนและทันสมัย ในการเลือกตั้งปี 2020 กรรมการเลือกตั้ง ศาลท้องถิ่น (เฉพาะรัฐที่มีปัญหา) ทั้งหมดสรุปว่าโจ ไบเดนชนะเลือกตั้งตามกฎหมาย การที่ผลโพลของ CNN ระบุว่าคนอเมริกันครึ่งหนึ่ง (51%) คิดว่ากรรมการเลือกตั้งสามารถเปลี่ยนผลการเลือกตั้งตามใจชอบ นำสู่คำถามว่ากรรมการเลือกตั้งกับศาลเชื่อถือได้แค่ไหน หรือกลไกเหล่านี้ไม่สามารถสร้างการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม ไม่ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรคนอเมริกันครึ่งหนึ่งไม่เชื่อถือ

            คิดให้ลึกกว่านั้น การบิดเบือนผลเลือกตั้งนำสู่คำถามว่าใครคือผู้มีอำนาจควบคุมผลการเลือกตั้ง ใครเป็นผู้กำหนดว่าผู้สมัครคนไหนควรชนะ เรื่องที่พูดกันมากคือ อเมริกามีหลายพรรคการเมือง แต่อำนาจระดับประเทศตกอยู่ใน 2 พรรคใหญ่เท่านั้น เป็นที่รวมตัวของชนชั้นนำไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง นายทุน เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าบางนโยบาย เช่น อุตสาหกรรมน้ำมัน อุตสาหกรรมผลิตและส่งออกอาวุธ ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไม่ว่าเป็นรัฐบาลที่มาจากพรรครีพับลิกันกับเดโมแครท

            ดังนั้นสำหรับนายทุนใหญ่ไม่ว่าผู้สมัครพรรคใดชนะไม่แตกต่าง เป็นไปได้ว่าอาจมีการ “ฮั้ว” ผลการเลือกตั้งแม้ปราศจากหลักฐานเรื่องนี้

            และต้องยอมรับว่าแม้คนอเมริกันหลายสิบล้านคนไม่เห็นด้วยกับผลการเลือกตั้ง ไม่พอใจผลการเลือกตั้ง พวกเขาไม่ได้ทำอะไรมากได้แต่ปล่อยเลยตามเลย

            ในภาพที่กว้างขึ้นอีก ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐมักโทษประเทศนั้นประเทศนี้ที่เห็นว่าเลือกตั้งไม่โปร่งใส ไม่ยอมรับรัฐบาลของประเทศอื่นๆ ที่มาจากการโกงเลือกตั้ง บัดนี้กลายเป็นว่าประเทศสหรัฐนี่แหละที่เลือกตั้งไม่โปร่งใส พลเมืองตัวเองไม่เชื่อถือ เป็นประเด็นให้สังคมได้ถกเถียงกันอีกนานว่าประชาธิปไตยของตนถอยหลังเข้าคลองถึงไหนแล้ว

ระบบความคิดความเข้าใจมีปัญหา :

            อีกแง่คิดที่สำคัญไม่แพ้ผลการเลือกตั้งคือระบบความคิดตรรกะ คณะกรรมเลือกตั้งกับผู้พิพากษาหลายรัฐต่างได้สืบสวนและสรุปว่าเลือกตั้งปี 2020 แม้มีข้อผิดพลาดจริง แต่เป็นข้อผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ไม่ใช่การโกงอย่างเป็นระบบ เกิดคำถามว่าข้อสรุปใดที่ถูกต้องกันแน่ เกี่ยวข้องโดยตรงกับระบบความคิดความเข้าใจของคนหมู่มากในสังคม เป็นที่มาของการถกเถียงไม่จบไม่สิ้นว่าโกงหรือไม่โกง

            เป็น 2 คำถามใหญ่ว่าระบบเลือกตั้งเชื่อถือได้แค่ไหน และ ระบบความคิดความเข้าใจของสังคมอเมริกันในตอนนี้เป็นอย่างไร ใช้ตรรกะเหตุผลแค่ไหน หากคนอเมริกันจำนวนมากมีปัญหาเรื่องการคิดการใช้เหตุผลจะนำสู่อะไร สังคมอเมริกันในภายภาคหน้าจะเป็นอย่างไร ข้อนี้เป็นเรื่องใหญ่สำคัญไม่แพ้ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี

            เรื่อง China Virus เป็นอีกตัวอย่าง ในสมัยประธานาธิบดีทรัมป์พูดเรื่อยมาว่าจีนเป็นต้นเหตุเกิดไวรัสโรคโควิด-19 เกิดคำว่า “China Virus” รัฐบาลทรัมป์พูดว่ามีหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่าเป็นเช่นนั้น แต่เมื่อองค์การอนามัยโลกขอหลักฐาน จากบัดนั้นจนบัดนี้เป็นสมัยไบเดน รัฐบาลสหรัฐไม่เคยส่งหลักฐานที่ว่าให้องค์การอนามัยโลกแต่อย่างไร

            โควิด-19 เป็นฝีมือของมนุษย์หรือไม่นั่นเป็นเรื่องหนึ่ง ประเด็นน่าคิดคือเรื่องนี้เหมือนกับเรื่องผลการเลือกตั้ง 2020 ที่คนอเมริกันจำนวนหลายสิบล้านคนฟันธงว่าทรัมป์โดนโกงเลือกตั้ง สะท้อนระบบความคิดการใช้เหตุผลของคนอเมริกันหลายสิบล้านคน

วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :

            โดยรวมแล้วผลโพล CNN ชี้ว่าคนอเมริกันเชื่อถือระบบการเลือกตั้งน้อยกว่าเดิม แม้กระทั่งพวกเดโมแครทที่ก่อนหน้านี้เกือบทั้งหมดมั่นใจ (อาจเพราะว่าไบเดนชนะ) แต่ตอนนี้คนที่มั่นใจเหลือน้อยลงหลังรับรู้ข้อมูลมากขึ้น

            ถ้าดูรวมทุกฝ่าย คนอเมริกัน 52% ไม่เชื่อมั่นหรือเชื่อมั่นเพียงเล็กน้อยต่อผลการเลือกตั้ง 48% ที่เชื่อมั่นหรือเชื่อมั่นมากว่าผลการเลือกตั้งสะท้อนความคิดประชาชน

            อาจตีความสั้นๆ ว่าครึ่งหนึ่งเชื่อระบบการเลือกตั้งว่าโปร่งใสยุติธรรม และอีกครึ่ง (หรือเกินครึ่งเล็กน้อย) เห็นว่าเลือกตั้งทุจริต แก้คนชนะให้แพ้หรือคนแพ้ให้ชนะ โกงกันเป็นระบบ นี่คือความคิดเห็นของพลเมืองอเมริกันต่อระบบการเลือกตั้ง ในขณะที่ข้อมูลหลักฐาน กรรมการเลือกตั้ง ศาลต่างสรุปตรงกันว่าไม่มีการโกงอย่างเป็นระบบตามที่เข้าใจ นี่คือสถานการณ์การเลือกตั้งของอเมริกาในยามนี้

10 ตุลาคม 2021
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 25 ฉบับที่ 9098 วันอาทิตย์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2564)

----------------------

บทความที่เกี่ยวข้อง :
ธนกิจการเมืองทำให้เข้าใจว่าบางคนมีอิทธิพลต่อการควบคุมประเทศมากกว่าประชาชนทั่วไป นโยบายรัฐหลายอย่างที่ถูกตัดสินชี้นำบนพื้นฐานว่าฝ่ายใดมีเงินมากกว่า
“Money Politics” หรือ “ธนกิจการเมือง” มักพูดถึงการเมืองฝั่งเอเชีย สัมพันธ์กับการทุจริตคอร์รัปชันในแวดวงการเมือง ทุจริตเลือกตั้ง เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน ประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

บรรณานุกรม :

1. Americans agree. US democracy is under attack. (2021, September 15). CNN. Retrieved from https://edition.cnn.com/2021/09/15/politics/us-democracy-what-matters/index.html

2. CNN Poll: Most Americans feel democracy is under attack in the US. (2021, September 15). CNN. Retrieved from https://edition.cnn.com/2021/09/15/politics/cnn-poll-most-americans-democracy-under-attack/index.html

3. EMBARGOED FOR RELEASE: Wednesday, September 15 at Noon. (2021, September 15). CNN. Retrieved from http://cdn.cnn.com/cnn/2021/images/09/15/rel5e.-.elections.pdf

4. Juhasz, Antonia. (2008). The Tyranny of Oil: The World's Most Powerful Industry - and What We Must Do to Stop It. New York: HarperCollins Publishers.

5. Presidential debate raises the specter of election violence. (2020, September 30). The Hill. Retrieved from https://thehill.com/opinion/campaign/519004-presidential-debate-raises-the-specter-of-election-violence

6. Trump says he opposes funding USPS because of mail-in voting. (2020, August 13). CNN. Retrieved from https://edition.cnn.com/2020/08/13/politics/trump-usps-funding-comments-2020-election/index.html

--------------------------