ธนกิจการเมืองในสหรัฐ

ธนกิจการเมืองทำให้เข้าใจว่าบางคนมีอิทธิพลต่อการควบคุมประเทศมากกว่าประชาชนทั่วไป นโยบายรัฐหลายอย่างถูกตัดสินชี้นำบนพื้นฐานฝ่ายใดมีเงินมากกว่า

            ผู้นำประเทศ นักการเมืองและตำราอเมริกันมักชื่นชมประชาธิปไตยตนเอง ยกย่องว่าตัวเองเป็นผู้นำโลกเสรี เป็นความจริงที่ว่าสหรัฐมีข้อดีอย่างหลาย มีความเป็นประชาธิปไตยเหนือกว่าหลายประเทศแต่ใช่ว่าจะสมบูรณ์ เป็นความจริงที่ทุกคนมี 1 สิทธิ์ 1 เสียงแต่หากพิจารณาให้ดีบางคนมีอิทธิพลต่อการควบคุมประเทศมากกว่าประชาชนทั่วไป ที่เป็นเช่นนี้ธนกิจการเมือง (Money Politics) ช่วยอธิบายได้

เงินขับเคลื่อนระบบการเมืองอเมริกา :

            สหรัฐเป็นประเทศใหญ่ ประชากรกว่า 328 ล้านคน (ปี 2020) ระบบการเมืองซับซ้อน การที่ระบบใหญ่ซับซ้อนต้องใช้แรงขับเคลื่อนมาก หนึ่งในปัจจัยสำคัญคือเงิน ทุกอย่างมีเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นเงินเป็นทองไปหมด ไม่ว่าการเลือกตั้งระดับประเทศ ระดับท้องถิ่น การบริหารจัดการภาครัฐ การรณรงค์ต่างๆ

            เลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2004 ผู้ชิงตำแหน่งจากพรรครีพับลิกันกับเดโมแครทใช้เงินรวม 700 ล้านดอลลาร์ ปี 2008 กลายเป็น 1,000 ล้านดอลลาร์ อีกสี่ปีต่อมา (2012) เพิ่มเท่าตัวเป็น 2,000 ล้านดอลลาร์ เลือกตั้งรอบที่แล้ว (2016) ใช้ 2,400 ล้านดอลลาร์

            เลือกตั้ง ส.ส. ส.ว. ใช้เงินมหาศาลเช่นกัน ปี 2016 ใช้รวม 4,000 ล้านดอลลาร์

            เป็นความจริงที่ว่าผู้สมัครเปิดรับบริจาคจากประชาชน แต่เมื่อวงเงินสูงและสูงขึ้นมาก นักการเมืองที่หวังชนะเลือกตั้งจำต้องอาศัยเงิน เศรษฐีคนมั่งมีผู้บริจาคได้มากกว่ากลายเป็นกลุ่มได้เปรียบ นักการเมืองหวังเข้าหา สามารถชี้นำนักการเมืองหรือพาตัวเองสู่แหล่งอำนาจมากกว่าประชาชนคนทั่วไป เกิดคำถามว่าผู้บริจาครายใหญ่มีผลต่อนโยบายประเทศใช่หรือไม่

            แน่นอนว่า ชาวบ้านสามารถชุมนุมประท้วง แต่สุดท้ายเศรษฐีคือผู้กุมอำนาจและออกนโยบายบางอย่างที่ตอบสนองชาวบ้านบ้าง

            Dark Money หรือ เงินมืดเป็นเรื่องใหม่ที่นักเคราะห์ให้ความสำคัญ เงินก้อนนี้เติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นเงินจากองค์กรภาคประชาชนในหมวดที่ไม่จำต้องรายงานรัฐ เงินมืดนี้ส่วนหนึ่งเป็นค่าโฆษณาช่วยหาเสียงเลือกตั้ง (อาจไม่เอ่ยชื่อว่าสนับสนุนใครโดยตรงแต่เนื้อหาชี้นำ)

            การเลือกตั้งเป็นเหตุการณ์สำคัญมีผลต่อการเมืองมากแต่อยู่ใต้ระบบที่ต้องใช้เงินมหาศาล อำนาจเงินมีอิทธิพล การเมืองอเมริกายังยอมให้เป็นเช่นนั้น ขณะที่บางประเทศ เช่น เยอรมนีกับสเปนพยายามแก้ไขปัญหาด้วยการให้งบประมาณแก่พรรคการเมือง ค่าใช้จ่ายหาเสียงส่วนใหญ่มาจากงบประมาณรัฐ

ส่งเสริม 2 พรรคใหญ่ การสร้างภาพลวงตา :

            บางคนเข้าใจว่าสหรัฐมีเพียง 2 พรรคการเมืองคือรีพับลิกันกับเดโมแครท ความจริงแล้วสหรัฐมีพรรคการเมืองระดับชาติอื่นๆ แต่พรรคเหล่านี้เป็นได้เพียงพรรคเล็กพรรคน้อย ไม่อยู่ในสายตาสนามเลือกตั้งประธานาธิบดี เหตุเพราะการเมืองการเลือกตั้งที่ต้องใช้เงิน ผนวกกับพัฒนาการพรรคการเมือง การเลือกผู้นำประเทศที่มีเพียง 1 เดียว คนอเมริกันรู้ดีว่าเลือกพรรคเล็กไม่ช่วยอะไรจึงต้องเลือกระหว่าง 2 พรรคใหญ่

            2 พรรคใหญ่เข้าใจสถานการณ์พยายามรักษาการเลือกตั้งที่ต้องใช้เงินมาก ผลคือ อำนาจการเมืองระดับประเทศจะตกอยู่ใน 2 พรรคใหญ่นี้เท่านั้น เป็นที่รวมตัวของชนชั้นปกครองไม่ว่าจะนักการเมือง นายทุน เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง เงินบริจาคสนับสนุนเลือกตั้งจึงกระจุกตัวใน 2 พรรคใหญ่นี้

            เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าบางนโยบาย เช่น อุตสาหกรรมน้ำมัน อุตสาหกรรมผลิตและส่งออกอาวุธ ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไม่ว่าเป็นรัฐบาลที่มาจากพรรครีพับลิกันกับเดโมแครท

            เมื่อรวมกับเทคนิคอื่นๆ เช่น สร้างกระแสผ่านสื่อ การล็อบบี้ ส.ส. ส.ว. การเคลื่อนไหวของกลุ่มผลประโยชน์กับองค์กรภาคประชาชนที่บริษัทเป็นผู้อุดหนุนรายใหญ่ พวกชนชั้นปกครองจึงเป็นผู้กำหนดทิศทางประเทศ สร้างภาพให้เกิดความเข้าใจว่านี่คือความต้องการของประชาชน เป็นผลประโยชน์ของชาติ

การเคลื่อนไหวของนักล็อบบี้ :

            ระบบการเมืองสหรัฐจะมีนักล็อบบี้ (lobbyist) บนความคิดว่าจะช่วยสะท้อนความต้องการของประชาชน นักการเมืองกับเจ้าหน้าที่รัฐได้ข้อมูลครบถ้วน นักล็อบบี้เข้าหาติดต่อเจ้าหน้าที่รัฐโดยตรง

            การล็อบบี้เช่นนี้ไม่ผิดกฎหมาย มีกฎเกณฑ์ให้ปฏิบัติ มีผู้ประกอบกิจการเป็นบริษัทเอกชนรับจ้างล็อบบี้ ปี 2009 สหรัฐมีนักล็อบบี้ (lobbyist) ที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายกว่า 13,000 คน เฉพาะการเคลื่อนไหวปฏิรูปนโยบายรักษาสุขภาพ มีนักล็อบบี้เข้าร่วมถึง 4,000 คน (เป็นตัวแทนของกลุ่มประชาชน กลุ่มการเมือง กลุ่มบริษัทต่างๆ เช่น ประกันภัย โรงพยาบาลเอกชน บริษัทยา)

            เหตุที่ต้องใช้บริการนักล็อบบี้เพราะคนเหล่านี้มีความเชี่ยวชาญรู้ว่าควรติดต่อเจ้าหน้าที่คนใด และมีช่องทางเหล่านั้น (แม้กระทั่งความสัมพันธ์ส่วนตัว) บางคนติดตามประเด็นใกล้ชิดนานหลายปี รู้ว่าฝ่ายใดคิดเห็นอย่างไร ควรเสนอนโยบายเช่นไรหรือตอบโต้อย่างไร การว่าจ้างนักล็อบบี้จึงมีประโยชน์

            มีตัวอย่างว่าครั้งหนึ่งเมื่อรัฐบาลสหรัฐกำลังถกประเด็นควบคุมการซื้อขายบุหรี่ กลุ่มโรงพยาบาลว่าจ้างนักล็อบบี้จากบริษัทล็อบนี้แห่งหนึ่งเพื่อช่วยพวกตน ปรากฏว่าบริษัทบุหรี่แก้เกมโดยว่าจ้างนักล็อบบี้จากบริษัทเดียวกันนี้ด้วย แต่ว่าจ้างพนักงานคนที่เก่งกว่า เชี่ยวชาญกว่า พนักงานล็อบบี้จากบริษัทเดียวกันจึงสู้กันเองโดยไม่ผิดกฎหมาย

            ใครมีเงินมากกว่าจ้างนักล็อบบี้ได้มากกว่า ได้คนเก่งกว่า เรื่องนี้เหมือนประเด็นเศรษฐีว่าจ้างสำนักทนายความชื่อดังได้ทนายความคนเก่งมาว่าคดี

            นอกจากนี้ในนโยบายหนึ่งๆ จะมีรายละเอียดนโยบาย นักล็อบบี้มีความสามารถในการสอดแทรกเนื้อหารายละเอียดบางข้อบางตอน หรือเพียงบางข้อความสั้นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ว่าจ้าง เช่น เอื้อประโยชน์ต่อการขายผลิตภัณฑ์ของตนเอง กีดกันสินค้าคู่แข่ง เมื่อรัฐบาลสหรัฐประกาศกีดกันสินค้าจีน สินค้าจีนบางตัวหลบรอดจากการกีดกัน สินค้าบางบริษัทยังขายต่อได้อีก นี่คือผลจากรายละเอียดที่ซ่อนอยู่ในตัวนโยบาย

ธนกิจการเมือง กรณีอาวุธปืน :

            เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่าคนอเมริกันจำนวนมากมีอาวุธปืนไว้ในครอบครอง และไม่ใช่อาวุธธรรมดาแต่เป็นอาวุธที่ใช้ในสงคราม มีอานุภาพสูง มีข้อมูลว่าแต่ละปีคนอเมริกันกว่า 30,000 คนยิงปืนฆ่าตัวตายหรือตายด้วยอุบัติเหตุจากปืน กว่า 10,000 คนเสียชีวิตเพราะยิงกันด้วยปืน และกว่า 200,000 คนบาดเจ็บเพราะปืน สังคมอเมริกันถกแถลงเรื่องนี้มาตลอดว่าควรปล่อยให้ประชาชนมีอาวุธเหล่านั้นหรือไม่ พรรครีพับลิกันมักโน้มเอียงสนับสนุนให้มีอาวุธ

            สมาคมปืนเล็กยาวแห่งชาติอเมริกา (National Rifle Association of America : NRA) ประกาศวัตถุประสงค์สมาคมคืออบรมการใช้ปืนเพื่อล่าสัตว์ การใช้ปืนอย่างปลอดภัย แต่อีกด้านเกี่ยวข้องกับขายปืนและต่อต้านนโยบายจำกัดปืนเรื่อยมา ประเด็นสำคัญคือเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า NRA มีอิทธิพลสูงมากในการเมืองอเมริกา แต่ละปีสมาคมนี้บริจาคเงินแก่ ส.ส. ส.ว. คนละ 3 ล้านดอลลาร์ ใช้เงินจ้างทีมทนายความชื่อดังต่อสู้ในชั้นศาลคว่ำร่างระเบียบต่างๆ จนได้ชื่อว่า NRA เป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่ทรงอิทธิพลมากที่สุด การที่เป็นเช่นนี้เพราะธุรกิจซื้อขายอาวุธปืนเป็นธุรกิจใหญ่ มีกำไรมหาศาล อีกตัวอย่างของธนกิจการเมืองที่นโยบายรัฐถูกตัดสินชี้นำบนพื้นฐานว่าฝ่ายใดมีเงินมากกว่า

            ในภาพรวมธนกิจการเมือง (Money Politics) เป็นการอธิบายในแง่มุมหนึ่งเท่านั้น ที่ต้องตระหนักคือ ความเป็นประชาธิปไตยถดถอย ประชาชนไม่เชื่อถือนักการเมือง ข้อนี้บั่นทอนทำลายผลประโยชน์แห่งชาติมากมาย ถ้ามองจากมุมสหรัฐความไม่เป็นประชาธิปไตยเป็นภัยร้ายแรงยิ่งกว่ารัสเซีย จีน

            ธนกิจการเมืองไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะในสหรัฐเท่านั้น เนื้อหาที่นำเสนอข้างต้นเป็นอีกบทความหนึ่งที่เอ่ยถึงโดยยกสหรัฐเป็นกรณีศึกษา หลักการข้างต้นสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับประเทศอื่นๆ ได้ไม่มากก็น้อย

25 ตุลาคม 2020

ชาญชัย คุ้มปัญญา

(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลกไทยโพสต์ ปีที่ 25 ฉบับที่ 8749 วันอาทิตย์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2563)

--------------------

บทความที่เกี่ยวข้อง : 

ธนกิจการเมือง (Money Politics) ที่มากกว่าเงินและอำนาจ
ธนกิจการเมืองไม่เป็นเพียงพฤติกรรมแต่ฝังรากในสังคม ครอบระบบการเมืองการปกครอง เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่ต้องแก้ด้วยการสร้างสังคมที่คนยึดอุดมการณ์ประชาธิปไตย เป็นคนยึดเหตุผลฟังความรอบข้าง

บรรณานุกรม :

1. เงินมืดหลั่งไหลเข้าช่วยแคมเปญหาเสียงเลือกตั้งปธน.สหรัฐฯ พุ่งเป็นประวัติการณ์. (2020, August 10). VOA Thai. Retrieved from https://www.voathai.com/a/us-election-campaign-funding-dark-money-pacs-shell-company/5536712.html

2. รู้จัก เอ็นอาร์เอ (NRA) องค์กรทรงอิทธิพลในสหรัฐฯ. (2019, August 7). VOA Thai. Retrieved from https://www.voathai.com/a/explainer-what-is-nra-national-rifle-association-gun-control/5031631.html

3. Full text: Article on money politics in U.S. (2019, December 26). Reuters. Retrieved from http://www.xinhuanet.com/english/2019-12/26/c_138658437.htm

4. Grigsby, Ellen. (2012). Analyzing Politics: An Introduction to Political Science (5 Ed.). USA: Wadsworth.

5. Juhasz, Antonia. (2008). The Tyranny of Oil: The World's Most Powerful Industry - and What We Must Do to Stop It. New York: HarperCollins Publishers.

6. La Raja, Raymond J. (2008). Small Change: Money, Political Parties, and Campaign Finance Reform. USA: The University of Michigan Press.

7. Roskin, Michael G. Cord, Robert L. (2017). Political Science: An Introduction (14th Ed.). USA: Pearson Education.

8. Somebody just put a price tag on the 2016 election. It’s a doozy. (2017, April 14). The Washington Post. Retrieved from https://www.washingtonpost.com/news/wonk/wp/2017/04/14/somebody-just-put-a-price-tag-on-the-2016-election-its-a-doozy/

--------------------------