Fundamentalism ทางศาสนากับความเป็นไปของโลก

คำสอนของบางความเชื่อศาสนาสัมพันธ์กับการเมืองการปกครองโดยตรงไม่ต่างจากลัทธิเสรีนิยม สังคมนิยม ทุนนิยม ฯลฯ และผสมผสานอยู่ในระบอบการเมืองสังคมต่างๆ ไม่มากก็น้อย

             นิยาม Fundamentalism มีแตกต่างหลากหลาย บางครั้งใช้กับลัทธิอุดมการณ์การเมือง ในที่นี้เน้นใช้กับความเชื่อศาสนา ลักษณะสำคัญคือยึดมั่นคำสอนดั้งเดิม พยายามตีความคำสอนดั้งเดิมให้ตรงตามคำสอน ไม่หลบเลี่ยงหรือปรับแก้ ให้มั่นใจว่าตีความตรงตามผู้สอนหรือผู้บันทึก

            บทความนี้นำเสนอ Fundamentalism ด้านความเชื่อศาสนา ขอยกตัวอย่างดังนี้

          ประการแรก American Protestant Fundamentalism

            เมื่อศตวรรษที่ 19 พวกอีแวนเจลิคัล (evangelicalism-กลุ่มย่อยกลุ่มหนึ่งของโปรเตสแตนต์) แยกตัวออกเป็นพวกสมัยใหม่ (modernist) กับพวกดั้งเดิม (fundamentalist)

            พวกสมัยใหม่ (modernist) เห็นว่าศาสนา (religion) เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา (มองว่าวัฒนธรรมคือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ และศาสนาคือองค์ประกอบหนึ่งของวัฒนธรรมที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน)

            ส่วนพวกดั้งเดิม (fundamentalist) ยึดว่าคำสอนเปลี่ยนไม่ได้ แม้ความรู้วิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ไม่สามารถอธิบายบางเรื่องราวในไบเบิล (Bible) เช่น เด็กกำเนิดจากสาวพรหมจรรย์ กลุ่ม fundamentalist ได้พัฒนาและอธิบายการตีความเนื้อหาไบเบิลของตน

            การตีความไบเบิลมีต่อผลการเมือง นโยบายรัฐบาลกับนโยบายแต่ละพื้นที่ เช่น บางรัฐอนุญาตให้ทำแท้งเสรี บางรัฐมีเงื่อนไขทำแท้งมากมาย ประธานาธิบดีบางคนประกาศนโยบายบางเรื่องพร้อมกับยกคำสอนไบเบิลประกอบ นักการเมืองระดับประเทศกับท้องถิ่นบางคนสนับสนุนพวกดั้งเดิมหวังเป็นฐานคะแนน ผู้นำศาสนาบางคนเข้าหานักการเมืองหวังได้นโยบายรัฐที่สอดคล้องกับคำสอน

          ประการที่ 2 Haredim ของศาสนายูดาห์ (Judaism)

            ในศตวรรษที่ 19 เกิดขบวนการ Haredim (ฮาเรดดิม) ในยุโรปตะวันออก พวกนี้ต่อต้านการผสมผสานกลมกลืนทางวัฒนธรรม เพื่อรักษาความเป็นชนชาติยิวบริสุทธิ์ซึ่งพวกเขาถือว่าเป็นเรื่องสำคัญต่อการถือศาสนาแบบดั้งเดิม (เป็นคำสอนห้ามแต่งงานกับคนต่างเชื้อชาติศาสนา) พยายามสร้างชุมนุมยิวของตนในหลายประเทศ

            พวก Haredim ในอิสราเอลพยายามรื้อฟื้นกฎวันสะบาโต (Sabbath laws) เป็นคำสอนพื้นฐานที่ยิวยึดถือแต่ดั้งเดิม เช่น จะมีวันสะบาโต 1 วันในแต่ละสัปดาห์ (ห้ามประกอบอาชีพในวันนี้ และมีกฎอื่นที่ต้องปฏิบัติอีกมาก) ทหารต้องเป็นชายเท่านั้น (ปัจจุบันกองทัพอิสราเอลมีทหารหญิง)

            พวก Haredim ในอิสราเอลบางครั้งเรียกอีกอย่างว่า “religious Zionists” แยกออกแตกต่างจาก “secular Zionists

            ในมุมมองของ “religious Zionists” ถือว่าพวก “secular Zionists” เป็นพวกสมัยใหม่ (modernist) ไม่ได้รักษาความเป็นยิวบริสุทธิ์มากพอ ในขณะที่ “secular Zionists” เห็นว่า “religious Zionists” เป็นพวกอนุรักษ์นิยมสุดโต่ง

            พวก “religious Zionists” ต้องการขยายดินแดนอิสราเอลปัจจุบันออกไป รวมที่ราบสูงโกลัน (Golan Heights) ฉนวนกาซา (Gaza Strip) และเขตเวสต์แบงก์ (West Bank) พื้นที่เหล่านี้เป็นประเด็นขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับหลายประเทศจนถึงทุกวันนี้

          ประการที่ 3 นิกายวาห์ฮะบี (Wahhabism)

            มูฮัมหมัด อิบนุอับดุลวะห์ฮาบ (Muhammad ibn-Abd-al-Wahab) ถือกำเนิดเมื่อต้นศตวรรษที่ 18 ชี้ว่าคำสอนอิสลามจำนวนมากที่สอนกันอยู่ไม่ถูกต้อง จำต้องรับการชำระ มุสลิมแท้ต้องดำเนินชีวิตตามหลักการดั้งเดิมตามคัมภีร์อัลกุรอานเท่านั้น

            ย้ำให้อ่านและสอนตามตัวอักษรในอัลกุรอาน แทนคำสอนที่ผ่านการตีความซึ่งแต่ละสำนักคิด ปราชญ์มุสลิมแต่ละคนตีความไม่ตรงกันในบางเรื่องบางจุด ย้ำว่าไม่มีทางสายกลางสำหรับมุสลิม หากพบมุสลิมคนใดไม่นับถือจริงจังจะถูกนับว่าเป็นพวกนอกศาสนา (infidel)

            กำเนิดราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียสัมพันธ์ใกล้ชิดกับวาห์ฮะบี ผู้นำซาอุฯ ให้การสนับสนุนเรื่อยมา แต่ในระยะหลังรัฐบาลซาอุฯ ปฏิเสธความสัมพันธ์กับวาห์ฮะบี เมษายน 2018 มกุฎราชกุมาร มุฮัมมัด บิน ซัลมาน (Mohammed bin Salman) กล่าวว่าตนไม่เกี่ยวข้องกับวาห์ฮะบี ไม่ได้สัมพันธ์กับพวกนี้ ไม่รู้จักพวกนี้เลย อย่างไรก็ตามนิกายวาห์ฮะบีมีอยู่จริง มุสลิมบางคนบางกลุ่มในหลายประเทศยึดแนวทางนี้และมีผลต่อหลายขบวนการ

          ประการที่ 4 Hindutva (ฮินดูทวา)

            Hindutva (ฮินดูทวา) เป็นแนวคิดผู้นับถือฮินดูกลุ่มหนึ่ง มีเครือข่ายทั่วประเทศอินเดีย วิเนยัก ดาโมดาร์ สวราการ์ (Vinayak Damodar Savarkar, ค.ศ.1883-1966) เป็นผู้ริเริ่มแนวคิดนี้ ชี้ว่าคนศาสนาอื่นโดยเฉพาะพวกนับถือคริสต์หรืออิสลามเป็นคนต่างชาติ (ไม่ใช่คนอินเดียที่ต้องนับถือฮินดู) และเป็นภัยต่อศาสนาฮินดู เช่นเดียวกับโลกาภิวัตน์ วัฒนธรรมต่างชาติที่หลั่งไหลเข้ามา

            แนวทางของ Hindutva เกี่ยวข้องกับชาตินิยมอินเดียโดยตรง ตีความว่าศาสนาฮินดู คนอินเดียและประเทศอินเดียเป็นของคู่กันตลอดไป พรรคภารติยะ ชนตะ (Bharatiya Janata Party: BJP) ยึดแนวทางนี้ หวังให้อินเดียเป็นรัฐฮินดู (Hindu state – เทียบเคียงได้กับรัฐอิสลาม ที่นำหลักศาสนาเป็นกฎหมายประเทศ) ความนิยมต่อพรรคนี้สะท้อนความนิยมต่อ Hindutva

            ทั้ง 4 กลุ่ม 4 นิกายต่างเป็นตัวอย่างร่วมสมัยและมีบทบาทในขณะนี้

วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :

          ประการแรก ควรเปลี่ยนแปลงคำสอนหรือควรยึดคำสอนดั้งเดิม

            พวกสมัยใหม่ชี้ว่าพวกยึดคำสอนดั้งเดิมเป็นพวกหัวโบราณ ยึดถือคำสอนที่ไม่เข้ากับยุคสมัย อันที่จริงแล้วแต่ไหนแต่ไรความเชื่อศาสนาหนึ่งมักขัดแย้งกับศาสนาหลักปรัชญาอื่นๆ ในโลกเสรีทุกคนมีอิสระเลือกถือศาสนา การดัดแปลงคำสอนทำได้เพียงแต่ต้องพูดให้ชัดว่าเป็นอีกคำสอนที่ต่างจากเดิม และอาจต้องถือว่าเป็น “อีกศาสนาความเชื่อหนึ่ง” หรือเป็นลัทธินิกายย่อย

          ประการที่ 2 การอยู่ร่วมกันหรือขัดแย้ง

            บ่อยครั้งที่ศาสนานิกายขัดแย้งกันเอง เช่น Hindutva (ฮินดูทวา) กับแย้งกับมุสลิมอย่างรุนแรง นิกายวาห์ฮะบี (Wahhabism) ขัดแย้งกับอิสลามนิกายอื่นๆ โดยเฉพาะชีอะห์

            อีกลักษณะเด่นคือความขัดแย้งระหว่าง “ทางโลก” (secular) กับ “ทางศาสนา” (religious) ถ้าอยู่ในสังคมหรือเขตพื้นที่ๆ ทางโลกกับศาสนาเข้ากันได้ดี 2 ฝ่ายจะสนับสนุนกัน ความขัดแย้งเกิดขึ้นเมื่อ 2 ฝ่ายเข้ากันไม่ได้ ยิ่งเข้ากันไม่ได้ยิ่งขัดแย้งรุนแรง และต้องยอมรับว่าทุกวันนี้ทางโลกเป็นฝ่ายนำ (ยกเว้นบางประเทศ เช่น อิหร่าน)

            หลายประเทศให้เสรีภาพนับถือศาสนานิกายเพียงแต่ต้องไม่ขัดแย้งกฎหมาย เป็นสภาพที่กฎหมายคลุมศาสนาอีกชั้น

            ตัวอย่าง ISIS/IS : ต้นทศวรรษ 2010 กลุ่ม Islamic State in Iraq and Syria (ISIS) ประกาศสร้างรัฐอิสลาม (Islamic State: IS) ในช่วงหนึ่งขยายดินแดนในซีเรียกับอิรักได้มาก มิถุนายน 2014 ประกาศสถาปนารัฐอิสลามตามแนวทางของตน

            องค์การความร่วมมืออิสลาม (Organization of Islamic Cooperation: OIC) ยืนยันว่าแนวทางของกลุ่มก่อการร้าย IS ไม่มีส่วนใดที่เข้ากับอิสลาม OIC ขอประณามการเคลื่อนไหวของกลุ่มนี้

            เป็นตัวอย่างร่วมสมัยถึงความขัดแย้งระหว่างกลุ่มนิกายศาสนา การตีความว่าอีกฝ่ายไม่ใช่มุสลิมแท้หรือพวกที่ยึดถือศาสนาอย่างถูกต้อง ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อ ISIS บุกยึดดินแดนทำตามเป้าหมายตน รัฐบาลซีเรียกับอิรักย่อมต้องทำสงครามปกป้องอธิปไตย เรื่องนี้ขยายไปถึงนานาชาติ หลายประเทศส่งทหารเข้ารบกับ ISIS สมาชิก ISIS ส่วนใหญ่ถูกกวาดล้าง ปัจจุบันเหลือเพียงกลุ่มย่อยที่เคลื่อนไหวในบางประเทศ เป็นตัวอย่างที่กลุ่มศาสนานิกายภายใต้กฎหมาย ระเบียบโลก

            ความเชื่อศาสนาที่มีมาแต่โบราณกาลมีผลต่อมนุษยชาติเรื่อยมา ปัจจุบันยังมีผลตั้งแต่ระดับปัจเจก ไล่ขึ้นไปจนถึงประเทศและความเป็นไปของโลก คำสอนของบางความเชื่อศาสนาสัมพันธ์กับการเมืองการปกครองโดยตรงไม่ต่างจากลัทธิเสรีนิยม สังคมนิยม ทุนนิยม ฯลฯ และผสมผสานอยู่ในระบอบการเมืองสังคมต่างๆ ไม่มากก็น้อย Fundamentalism ทางศาสนาเป็นส่วนหนึ่งที่ควรจับตา

24 ตุลาคม 2021
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 26 ฉบับที่ 9112 วันอาทิตย์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2564)

-------------------------

บทความที่เกี่ยวข้อง :
1. ‘ชาร์ลีเอบโด’ การเผชิญหน้าของ 2 สุดโต่ง เสรีนิยมสุดโต่งกับมุสลิมสุดโต่ง
กรณี “ชาร์ลีเอบโด” สังคมควรตั้งคำถามว่าผู้ก่อเหตุยิงสังหารกระทำตามหลักอิสลามหรือไม่ หรือว่าเป็นพวกบิดเบือนศาสนา เข้าใจหลักศาสนาผิดพลาด ในอีกด้านหนึ่ง การล้อเลียนโดยอ้างว่าเป็นเรื่องของการใช้เสรีภาพ ไม่ช่วยสร้างสรรค์สังคม เป็นการหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความแตกแยก ความเกลียดชัง เพราะเป็นที่รับรู้ทั่วไปอยู่แล้วว่าการลบหลู่อิสลามสร้างความแตกแยกในสังคม เป็นต้นเหตุความรุนแรง สังคมควรส่งเสริมพวกสุดโต่งเหล่านี้หรือไม่

2.IS อวสานแล้วหรือยัง
กองทัพรัสเซียทำให้รัฐอิสลาม (IS) อายุสั้น แต่นานพอที่ซีเรียกลายเป็นซากปรักหักพัง โหมกระแสต่อต้านชีอะห์ ส่งเสริมแนวทางตักฟีรีย์ และทำให้กระแสกลัวอิสลาม (Islamophobia) ขยายตัว

บรรณานุกรม :

1. Bilefsky, Dan., Baume, Maia de la. (2015, January 7). Suspects Identified in Attack on French Newspaper, Charlie Hebdo. The New York Times. Retrieved from http://www.nytimes.com/2015/01/08/world/europe/charlie-hebdo-paris-shooting.html?_r=0

2. El Fadl, Khaled Abou. (2005).The Great Theft: Wrestling Islam from the Extremists. Australia: HarperCollins Publishers.

3. Grand Mufti: IS is Islam’s ‘enemy No. 1’. (2014, August 20). Saudi Gazette. Retrieved from http://www.saudigazette.com.sa/index.cfm?method=home.regcon&contentid=20140820215352

4. Ingersoll, Julie. (2012). Fundamentalism. In Encyclopedia of global religion. (pp.417-421). USA: SAGE Publications.

5. Kamrava, Mehran. (2005). A History of the Modern Middle East: A Political History since the First World War. California: University of California Press.

6. Lynch, Marc. (2012). The Arab Uprising: The Unfinished Revolutions of the New Middle East. NY: Publicaffairs.

7. Mather, George A., Nichols, Larry A., & Schmidt, Alvin J. (2006). Fundamentalism (CHRISTIANITY). In Encyclopedic Dictionary of Cults, Sects, and World Religions (Revised and Updated Ed.). USA: Zondervan.

8. Organization of Islamic Cooperation. (2014, September 25). OIC welcomes President Obama’s call to confront extremist ideology. Retrieved from http://www.oic-oci.org/oicv2/topic/?t_id=9363&t_ref=3737&lan=en

9. Saudi Crown Prince: Iran's Supreme Leader 'Makes Hitler Look Good'. (2018, April 2). The Atlantic. Retrieved from https://www.theatlantic.com/international/archive/2018/04/mohammed-bin-salman-iran-israel/557036/

--------------------------