รัฐบาลเฉพาะกาลอัฟกานิสถาน เป้าหมายและความท้าทาย

ตาลีบัน 2021 หวังสร้างประเทศที่รุ่งเรืองเป็นเอกภาพซึ่งจะต้องไม่แบ่งแยกด้วยกองกำลังใดๆ อีก และยอมรับสิ่งต่างๆ ที่หลั่งไหลเข้ามาจากต่างแดน เป็นความท้าทายไม่ต่างจากหลายประเทศ

            ไม่ถึงเดือนนับจากเข้ายึดกรุงคาบูล กลุ่มตาลีบันประกาศนโยบายหลักของตน สถาปนารัฐอิสลาม Islamic Emirate of Afghanistan และประกาศรัฐบาลเฉพาะกาล ผู้นำสูงสุด (Supreme Leader) คือ Mullah Mohammad Hassan Akhund หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งตาลีบัน คณะรัฐมนตรีของรัฐบาลเฉพาะกาลเป็นสมาชิกตาลีบันทุกคน พร้อมสร้างสัมพันธ์ดีกับทุกประเทศบนความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกัน จะเคารพกฎหมายระหว่างประเทศ ข้อตกลงต่างๆ ที่ไม่ขัดกฎหมายอิสลามและคุณค่าที่ประเทศยึดถือ

รัฐบาลเฉพาะกาล :

            การตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลเกิดขึ้นไล่เลี่ยกับข่าวกองกำลังตาลีบันเข้าปะทะกองกำลังปัญชีร์ (Panjshir) อันที่จริงกลุ่มปัญชีร์พูดย้ำตลอดว่าต้องการเจรจากับตาลีบัน แต่ข่าวที่เปิดเผยต่อสาธารณะไม่ชัดว่าผลการเจรจาเป็นอย่างไร เป็นไปได้ว่ากลุ่มปัญชีร์มีข้อเรียกร้องที่ตาลีบันรับไม่ได้ เช่น แนวร่วมฝ่ายต่อต้านแห่งชาติอัฟกานิสถาน (National Resistance Front : NRF) ขอมีอำนาจปกครองตัวเองหรือกึ่งปกครองตัวเอง (แบบกรณีเคิร์ดอิรักที่มีกองทัพของตัวเอง มีรัฐบาลของตน)
            คำถามตามมาทันทีว่าตาลีบันทำตามหลักนโยบายที่ประกาศไว้หรือไม่ ดังที่ประกาศว่าจะตั้งรัฐบาลที่รวมทุกกลุ่มเข้ามา แต่ครม.ชุดนี้ไม่เป็นเช่นนั้น คำถามนี้ตอบได้หลายแนว เช่น

          ประการแรก จำต้องได้ครม.ที่ไว้ใจทำงานร่วมกันได้

            การที่ครม.ทั้งชุดเป็นสมาชิกตาลีบันไม่ใช่ข้อสรุปว่าเป็นรัฐบาลของพวกตาลีบันหรือเอื้อประโยชน์แก่เผ่าพัชตุน (Pashtun) เท่านั้น (ถ้ายึดว่าตาลีบันคือพวกพัชตุน) แม้ตาลีบันกับ NRF ขัดแย้งกันสู้รบกัน แต่ตาลีบันในปี 2021 ประกาศแล้วว่า “จะไม่แก้แค้นใครทั้งสิ้น” หวังสร้างชาติที่รวมทุกกลุ่มเข้าด้วยกัน

            อีกเหตุผลคือความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องบริหารจัดการประเทศ ต้องมีผู้ดูแลระบบสาธารณูปโภค การขนส่งกระจายสินค้า มีผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติดูแลการเงินการคลัง ฯลฯ มีงานมากมายที่ต้องการคนเข้าบริหารจัดการ เป็นบทบาททั่วไปของรัฐบาลเฉพาะกาล สัปดาห์ก่อน Deborah Lyons ตัวแทนพิเศษของเลขาธิการ UN เรียกร้องให้นานาชาติช่วยเหลืออัฟกานิสถานโดยด่วน หาไม่แล้วจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ สังคมปั่นป่วน หลายล้านคนกลายเป็นคนจนและอีกมากที่จะอพยพออกนอกประเทศ

          ประการที่ 2 ประเทศต้องมีเอกภาพ

            มองในแง่บวกอีกข้อคือคือ ตาลีบันประกาศชัดว่าประเทศจะไม่เป็นพื้นที่แห่งความขัดแย้ง ไม่เป็นเขตสงครามของใครอีกต่อไป ตาลีบันไม่เป็นปรปักษ์กับใครไม่ว่าจะในหรือต่างประเทศ อัฟกานิสถานเป็นบ้านของชาวอัฟกันทุกคนๆ ได้รับอภัยโทษ

            การจะเป็นเช่นนี้ประเทศต้องมีเอกภาพ ชาติพันธุ์ต่างๆ อยู่ใต้อำนาจรัฐบาลกลาง เป็นที่รับรู้กันว่าอัฟกานิสถานแบ่งแยกด้วยชาติพันธุ์มานาน แม้แต่รัฐบาลตาลีบันยุคก่อน (1996-2001) กับรัฐบาลประชาธิปไตยอัฟกันที่สหรัฐหนุนหลังต่างไม่สามารถรวมประเทศได้จริง

            20 ปีที่ผ่านมาตาลีบันเติบใหญ่ผ่านประสบการณ์ เมื่อมองโดยยึดเอกภาพประเทศเป็นที่ตั้ง จำต้องสยบกลุ่มต่างๆ ทั้งหมด ชาติที่เป็นเอกภาพเท่านั้นจึงจะพัฒนาง่าย การแบ่งแยกภายในหรือมีผู้พยายามตั้งตัวเป็นรัฐอิสระย่อมขัดขวางการค้าการลงทุน โครงการต่างๆ ไม่ควรแบ่งแยกว่าเป็นของพวกปัญชีร์หรือของตาลีบัน ควรเหลือเพียงประเทศ Islamic Emirate of Afghanistan

            คำถามคือ “เอกภาพ” ที่เอ่ยถึงหมายความว่าอย่างไร การเป็นพี่น้องมุสลิมเหมือนกันหมายความว่าอย่างไร กลุ่มต่างๆ ชาติพันธุ์อื่นๆ มีคุณค่า ได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกับตาลีบันหรือพัชตุนหรือไม่

          ประการที่ 3 แนวคิดตาลีบันกำราบมูจาฮิดีน

            มูจาฮิดีน (Mujahidin) มีความหมายตรงตัวว่าพวกทำญิฮาด ผู้ทำสงครามปกป้องอิสลาม การรุกรานของกองทัพโซเวียตเมื่อปี 1979 กระตุ้นให้เกิดมูจาฮิดีนมากมาย ทั้งจากคนอัฟกันกับมุสลิมชาติอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่มาจากปากีสถานกับรัฐอาหรับ

            อาจแยกมูจาฮิดีนออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ พวกซุนนีที่ได้รับการสนับสนุนจากปากีสถาน ซาอุฯ และสหรัฐ กับอีกกลุ่มคือสายชีอะห์ที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน เช่น ให้อาวุธ ให้เงิน ช่วยฝึกรบ

            ด้วยความที่มูจาฮิดีนอัฟกันมาจากชาติพันธุ์หลากหลายและหลายประเทศหนุนหลัง ช่วงปี 1992-96 มูจาฮิดีนกลุ่มต่างๆ สู้กันเองอย่างดุเดือด สุดท้ายตาลีบันยึดกรุงคาบูลตั้งรัฐบาล (1996-2001) ก่อนถูกสหรัฐกับพวกโจมตีในสงครามต่อต้านก่อการร้าย

            รวมความแล้ว สมาชิกมูจาฮิดีนส่วนใหญ่คือคนอัฟกันและมีคนต่างชาติด้วย หลังขับไล่ทหารโซเวียตรัสเซียพ้นประเทศ พวกเขาบางคนอยู่ในอัฟกานิสถานต่อไป บางคนออกไปสู้รบนอกประเทศไม่ว่าจะด้วยเหตุผลญิฮาดหรืออื่นใด หลายประเทศมองมูจาฮิดีนในแง่ลบเป็นภัยต่อตน

            สำหรับสหรัฐ รัฐบาลสหรัฐทำข้อตกลงกับตาลีบันแล้วว่าอัฟกานิสถานจะต้องไม่เป็นแหล่งซ่องสุมผู้ก่อการร้ายอีกและไม่โจมตีผลประโยชน์อเมริกา การที่ตาลีบันเข้าปราบปรามกลุ่มต่างๆ ที่เหลือมีค่าเท่ากับทำหน้าที่ดังกล่าว เปลี่ยนกองกำลังสารพัดกลุ่มให้กลายเป็นพลเรือน (หรืออย่างน้อยต้องเชื่อฟังตาลีบัน)

            ดังที่ได้นำเสนอในบทความก่อนว่า แม้สหรัฐมีกองทัพนับล้าน มีหน่วยรบพิเศษมีเทคโนโลยีสูงสามารถปราบปรามผู้ก่อการร้ายแม้อยู่ห่างไกล แต่จะเป็นการดีกว่าประหยัดกว่าหากมีใครสักกลุ่มควบคุมพวกสุดโต่งที่เหลือ (ให้พวกสุดโต่งจัดการกันเอง ไม่ต้องส่งกองทัพนับแสนไปรบอีก) ตาลีบันกำลังทำหน้าที่ควบคุมกลุ่มต่างๆ ที่เหลือ ไม่ให้มีมูจาฮิดีนอยู่ในมือของประเทศใดอีกต่อไป อัฟกานิสถานจะเป็นแหล่งซ่องสุมกบดานของผู้ก่อการร้ายหรือไม่ คำถามนี้หลายประเทศจะเอ่ยถึงอีกนาน เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลประเทศนี้

ความท้าทายที่รออยู่ :

            ชาวอัฟกันเป็นมุสลิมเกือบทั้งหมดแต่ต้องเข้าใจว่ามีความแตกต่างด้านนิกายสำนักคิด แม้ตาลีบันปี 2021 จะปรับตัวไม่ตีความเคร่งครัดเหมือนเช่นอดีต แต่ความแตกต่างกับชีอะห์มีแน่นอน หรือแม้กระทั่งกับซุนนีสายอื่นๆ น่าติดตามว่ารัฐธรรมนูญ กฎหมายต่างๆ นโยบายต่อประเทศเพื่อนบ้านจะเป็นอย่างไร ไม่ว่าจะต่อปากีสถาน อินเดีย อิหร่าน ชาติมหาอำนาจ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อประเทศอย่างไร

            ในแง่กลุ่มภายในประเทศ รัฐบาลตาลีบันยุคนี้ไม่ต่างจากรัฐบาลประชาธิปไตยอัฟกันที่ต้องกำกับสัมพันธ์กับกลุ่มต่างๆ ทำอย่างไรให้อยู่กับรัฐบาลได้ ไม่ต่างจากรัฐบาลของประเทศใดๆ ที่ต้องกำกับดูแลประชาชนที่มีความแตกต่างหลากหลาย ไม่ว่าจะปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย สังคมนิยมหรืออื่นใด

            ประเด็นคือจะควบคุมอย่างไร ตาลีบันจะรวบอำนาจหลักไว้กับตัวเองหรือแบ่งสรรอำนาจแก่กลุ่มต่างๆ แบบหลังนี้คือแบบที่มหาอำนาจไม่ว่าจะตะวันตก รัสเซีย จีน ประเทศเพื่อนบ้านต้องการ เป็นเงื่อนไขความร่วมมือระหว่างประเทศ

            ตาลีบันยอมรับว่าฝิ่นเป็นปัญหาของประเทศ ร้องขอความช่วยเหลือจากนานาชาติ การค้าการลงทุนกับนานาชาติคือทางออกที่ดี ช่วยพัฒนาสังคมประเทศทุกมิติ บางประเทศแสดงท่าทีต้องการเข้าไปลงทุนเพิ่มอยู่แล้ว แต่รัฐอิสลามอัฟกานิสถานต้องมีนโยบายที่สอดรับนานาชาติที่แตกต่างหลากหลายยิ่งกว่าภายในประเทศตัวเอง แม้กระทั่งเรื่องทั่วไปเช่นจะให้คนต่างชาติแต่งกายอย่างไร กินอยู่อย่างไร ยอมรับพฤติกรรมคนต่างชาติที่สัมพันธ์กับศาสนาความเชื่อของเขาหรือไม่ สภาพเหล่านี้เห็นชัดในประเทศต่างๆ อยู่แล้ว

            ในอดีตพวกมูจาฮิดีนทำญิฮาดขับไล่การรุกรานของทหารต่างชาติ ในอนาคตผู้ที่เข้ามาจะเป็นนักลงทุน ผู้ประกอบการต่างแดน แรงงานฝีมือ

            หลักนโยบายของตาลีบัน 2021 หวังเป็นชาติเอกภาพ ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันของทุกกลุ่ม ส่งเสริมการพัฒนาประเทศ ต้อนรับการลงทุนจากต่างชาติ การจะทำเช่นนี้ได้ต้องสร้างชาติที่เป็นเอกภาพ ไม่แบ่งแยกด้วยชาติพันธุ์ กองกำลังใดๆ อีก หรืออย่างน้อยต้องไม่สู้รบกันเองอีก ถ้ามองให้กว้างขึ้นหากตาลีบันยอมรับการค้าการลงทุนจากนานาชาติ สิ่งต่างๆ ของนานาชาติจะหลั่งไหลเข้าไปไม่มากก็น้อย

            การสร้างชาติที่รวมทุกกลุ่มคนเป็นปณิธานยิ่งใหญ่ รัฐอิสลามอัฟกานิสถานที่สัมพันธ์กับนานาประเทศ เรื่องเหล่านี้จะเป็นจริงหรือทำได้ดีเพียงใด เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์

19 กันยายน 2021
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 25 ฉบับที่ 9077 วันอาทิตย์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2564)

----------------------

บทความที่เกี่ยวข้อง : 
รัฐอิสลามของตาลีบันจะเป็นที่จับตาของนานาชาติอีกนาน ทั้งเรื่องการเป็นแหล่งกบดานของผู้ก่อการร้าย สิทธิมนุษยชน การแก้ปัญหายาเสพติด แนวทางระบอบการปกครองอิสลามอีกรูปแบบหนึ่ง

บรรณานุกรม :

1. Seddon, David. (2004). A Political and Economic Dictionary of the Middle East. London: Routledge.

2. Taliban announce new government for Afghanistan. (2021, September 8). BBC. Retrieved from https://www.bbc.com/news/world-asia-58479750

3. Tarzi, Amin. (2004). Mujahidin. In Encyclopedia of Islam & the Muslim World (pp.490-491). USA: Macmillan Reference.

4. Transcript of Taliban’s first news conference in Kabul. (2021, August 17). Al Jazeera. Retrieved from https://www.aljazeera.com/news/2021/8/17/transcript-of-talibans-first-press-conference-in-kabul

5. UN says Taliban-led Afghanistan needs funds to avoid collapse. (2021, September 10). Channel News Asia. Retrieved from https://www.channelnewsasia.com/asia/un-says-taliban-led-afghanistan-needs-funds-avoid-collapse-2167941

--------------------------