Radical Democracy ทุกความเห็นมีความหมาย

ด้วยความที่ระบอบประชาธิปไตยที่เป็นอยู่ไม่ตอบโจทย์ ประชาชนระแวงนักการเมืองผู้ปกครอง จึงเกิดแนวคิดปรับปรุงระบอบประชาธิปไตย หนึ่งในนั้นคือ Radical Democracy ที่ทุกความเห็นมีความหมาย

            Radical Democracy เป็นความพยายามที่จะปรับปรุงระบอบประชาธิปไตยกระแสหลักให้ดีกว่าเดิมใน 2 ด้านหลัก ได้แก่ การมีส่วนร่วมอย่างเสรีและเท่าเทียม การเปิดกว้างทุกมิติทุกด้าน

            Lincoln Dahlberg อธิบายว่าเหตุที่เติมคำว่า Radical เพื่อให้แตกต่างจาก Democracy ที่สังคมเข้าใจทั่วไป (ความเข้าใจปัจจุบันอาจผิดจากรากความหมายที่แท้จริง) และชี้ว่าหลักการและการเป็นประชาธิปไตยจำต้องปรับปรุงอยู่เสมอ ไม่ยึดความเข้าใจเดิม ไม่ยอมรับหรือเคยชินกับสิ่งที่เป็นอยู่ หวังให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นๆ ในทุกด้าน เป้าหมายสูงสุดคือการอยู่ดีมีสุขของประชาชน

หลักคิดพื้นฐาน Radical Democracy :

          ประการแรก ส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างเสรีและเท่าเทียม

            ระบอบประชาธิปไตยปัจจุบันเป็นประชาธิปไตยแบบตัวแทน เลือกผู้แทน ส.ส. ส.ว. หรือประธานาธิบดี เป็นปากเป็นเสียงบริหารประเทศแทนประชาชน แม้มีข้อดีแต่มีข้อเสียเช่นกัน บางคนเห็นว่า ส.ส. ส.ว. หลายคนไม่ได้ทำหน้าที่สมความคาดหวังของประชาชน มีคำถามเสมอว่าผู้นำประเทศกับผู้แทนเหล่านี้เป็นตัวแทนของใครกันแน่

            แทนที่จะให้กฎหมาย ค่านิยมประชาธิปไตยแบบเดิมตีกรอบการแสดงออก (วัฒนธรรมกับกฎหมายแต่ละประเทศให้เสรีภาพไม่เท่ากัน) Radical Democracy ให้ความสำคัญกับการมีเสรีภาพการแสดงออกของแต่ละคน วิธีนี้คือการมีประชาธิปไตยเต็มที่ การมีส่วนร่วมแสดงออกให้มากที่สุดคือวิถีแห่งการเพิ่มขยายประชาธิปไตย

            เป็นผู้นำเสนอปัญหาที่ไตร่ตรองแล้ว ให้เกิดการถกเถียงมากที่สุดแม้บางครั้งอาจถึงขั้นวุ่นวายสับสน ให้การมีส่วนร่วมมีความหมายมีผลต่อการตัดสินใจใดๆ ของรัฐบาลหรือสังคม แม้ว่ายังปราศจากความเท่าเทียมสมบูรณ์แต่ตั้งใจเพิ่มขยายให้มากที่สุด มากกว่าที่เป็นอยู่

            ระบอบประชาธิปไตยไม่จำกัดแค่รัฐสภาหรือการเลือกตั้ง แต่อยู่ทุกส่วนของชีวิตสังคม ตั้งแต่ที่บ้าน ที่ทำงาน ในองค์การศาสนา

(ชมคลิป ประกอบบทความ)

            จะเห็นว่า Radical Democracy ส่งเสริมให้เป็นพลเมืองที่กระตือรือร้น เป็นผู้ปกครองร่วมไม่ใช่ผู้อยู่ใต้ปกครองเท่านั้น ส่งเสริมให้มีความรู้ความเข้าใจการบ้านการเมืองและด้านอื่นๆ ส่งเสริมการรวมกลุ่มผลประโยชน์ การเคลื่อนไหวพร้อมกันหลายกลุ่ม เช่น การเคลื่อนไหวร่วมของนักศึกษา คนว่างงาน พวกต่อต้านรัฐ สมาชิกสหภาพ ฯลฯ

            Clayton Crockett ย้ำว่าเสรีภาพแท้ต้องไม่อยู่ภายใต้กรอบใดๆ รวมถึงศาสนาหรือสถาบันเก่าแก่ที่มีอิทธิพลต่อทัศนคติมาอย่างยาวนาน ในขณะที่นักคิดสายนี้บางคนเห็นว่าวัฒนธรรมศาสนาจะผนวกรวมในสังคมเพราะสิ่งเหล่านี้มีอยู่จริง สะท้อนความคิดเห็นของประชาชนบางคนเหมือนกัน

          ประการที่ 2 ส่งเสริมการเปิดกว้าง ตั้งใจรับฟัง

            การเปิดกว้างเกี่ยวข้องกับความไม่เท่าเทียม แม้กฎหมายให้ความเท่าเทียมทางการเมืองแต่หลายคนคิดว่าความไม่เท่าเทียมด้านอื่นๆ กำลังเป็นปัญหา จำต้องหาทางเพิ่มขยายความเท่าเทียมอื่นๆ โดยอาศัยกลไกต่างๆ รวมถึงการเมือง

            ระบอบประชาธิปไตยยึดมั่นการเปิดกว้างแต่ความจริงแล้วยังอยู่ภายใต้กฎหมายที่บีบรัด บ่อยครั้งที่นักการเมืองนักวิชาการเป็นผู้สร้างประเด็นชี้นำทิศทางให้สังคมคล้อยตาม ดังจะเห็นว่าในการเลือกตั้งหรือการแข่งขันทางการเมืองมักจำกัดประเด็นถกเถียงเพียงไม่กี่เรื่อง ส่วนใหญ่คือเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง การแบ่งขั้ว ทั้งๆ ที่มีประเด็นอื่นๆ อีกมากแต่ถูกลดความสำคัญ แนวทางการแก้ปัญหาถูกจำกัดอยู่ในข้อเสนอนโยบายของพรรคการเมือง โดยที่นักการเมืองมักอ้างว่าได้ฟังเสียงประชาชนแล้ว

            Radical Democracy ต้องการทำลายสิ่งกีดขวางเหล่านี้ ต้องการให้เปิดกว้างจริงๆ สะท้อนความคิดเห็นของประชาชนจริงๆ ส่งเสริมการเปิดเวทีแก่ความเห็นต่าง ความคิดเห็นของชนกลุ่มน้อย คนชายขอบ อาศัยทั้งช่องทางที่มีอยู่กับช่องทางใหม่ๆ ที่อยู่นอกระบอบอำนาจเดิม การเปิดกว้างรวมถึงการชุมชุมประท้วงและต้องเป็นการชุมนุมที่มาจากเจตจำนงของประชาชนจริงๆ เพื่อทำลายระบบฐานอำนาจเดิม ปรับดุลแห่งอำนาจ การประท้วงคือการแสดงออกความเท่าเทียมอย่างหนึ่ง ประเด็นที่ยังสรุปไม่ได้คือควรใช้ความรุนแรงหรือไม่เพียงไร

            จะเห็นว่า Radical Democracy ให้ความสำคัญกับการเปิดเวทีให้เสียงข้างน้อยมากกว่าการพยายามหาข้อสรุปจากเสียงข้างมาก ตรงข้ามกับประชาธิปไตยแบบเก่าที่นักการเมืองจะอ้างว่าตนได้รับมติจากเสียงข้างมาก นโยบายของตนคือการทำตามความต้องการของคนส่วนใหญ่

            Radical Democracy ชี้ว่าประชาธิปไตยแท้ไม่ใช่การที่คนมักคิดตรงกัน จึงให้ความสำคัญกับเนื้อหาสาระของทุกฝ่าย คำโต้แย้ง แทนการพยายามหาทางจบด้วยการโหวตแล้วสรุปว่านี่คือความต้องการของคนส่วนใหญ่ ตระหนักว่าระบอบประชาธิปไตยคือการต่อสู้แข่งขันทางความคิดเห็น รู้ว่าการทำเช่นนี้ทำให้สังคมตึงเครียดแต่นี่แหละคือประชาธิปไตย คือการพัฒนาไปข้างหน้าอย่างไม่สิ้นสุด เป็นเครื่องประกันว่าระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นผู้ปกครองกำลังทำงานจริง ไม่อยู่ใต้การชี้นำของชนชั้นปกครอง

            อาศัยการมีส่วนร่วมและการเปิดกว้างเป็นพลังขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงสังคม ยอมให้เกิดภาวะถกแถลงไม่สิ้นสุด แม้ดูสับสนวุ่นวายมีคำถามกับคำตอบใหม่เสมอ ถ้ามองในแง่บวกภาวะเช่นนี้ทำให้สังคมเข้าใจหลักประชาธิปไตยมากขึ้น น่าจะได้นโยบายที่ตอบสนองความต้องการมากขึ้น

            ในกรอบที่กว้างขึ้น นักคิดสายนี้บางคนเห็นว่า Radical Democracy ควรอยู่เหนืออธิปไตยชาติ Radical Democracy จึงเป็นของสากลโลก แม้อธิปไตยประเทศยังอยู่แต่แนวคิดนี้ช่วยสานสายใยความสัมพันธ์ทางสังคมของคนทุกมุมโลก

ข้อวิพากษ์ :

            หากเป้าหมายสูงสุดคือการอยู่ดีมีสุขต้องพิจารณาต่อว่าอย่างไรเรียกว่าการอยู่ดีมีสุข เพราะแต่ละคนมีบรรทัดฐานของตน บางคนอาจคิดถึงการมีทรัพย์สมบัติมากๆ มีความสะดวกสบาย บางคนอาจมุ่งความสุขทางใจ ใช้ชีวิตเรียบง่าย บางคนอาจคิดว่าไม่ต้องการชีวิตยืนยาวไม่คิดถึงความยั่งยืนขอเพียงตนได้ใช้ชีวิตสนุกสุดเหวี่ยงในวัยหนุ่มสาวก็พอ ดังนั้นคำว่า “ความสุข” จึงไม่มีมาตรฐานในตัวเอง ขึ้นกับว่าใครจะแสวงหาสิ่งใดและขัดแย้งกัน

            การปฏิเสธความเชื่อศาสนา สถาบันหรือวัฒนธรรมเก่าแก่ ไม่ได้หมายความว่ามนุษย์ไม่อยู่ภายใต้ค่านิยมอย่างใดอย่างหนึ่ง อาจพูดได้ว่า แนวทางใหม่ที่อ้างว่าไม่อยู่ภายใต้ของเก่าแก่คือลัทธิใหม่ที่ตนสร้างขึ้นไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่  เช่น การให้ความสำคัญกับตัวเองมากที่สุดคือการยกตัวเองเป็นพระเจ้า

            ฉากทัศน์ที่น่าจะเป็นจริงคือพหุสังคมขนาดใหญ่มีความคิดเห็นแตกต่างกันมากมาย ทั้งจากเชื้อชาติ วัย วุฒิภาวะ การศึกษา ฐานะทางสังคม ความศรัทธาต่อความเชื่อศาสนา อุดมการณ์เป้าหมายต่างๆ จึงเป็นไปไม่ได้ที่ข้อสรุปร่วมของสังคมจะมุ่งตอบสนองความต้องการของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และ ต้องตระหนักว่าไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วยกับแนวทางของ Radical Democracy

วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :

            ในขณะที่นักวิชาการหลายคนบ่งชี้จุดอ่อนของเสรีนิยม ทุนนิยม ประชาธิปไตยที่เป็นอยู่ พยายามคิดหาทางออก Radical Democracy คือหนึ่งในแนวคิดใหม่ที่เป็นความหวังและเป็นปัญหาในตัวเอง

            โดยสรุปแล้วแนวคิดคือทุกวันนี้ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยยังไม่สะท้อนความต้องการของประชาชนจริงๆ นโยบายของรัฐบาลในเรื่องต่างๆ จึงไม่ทำให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข เห็นควรปฏิรูปให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างจริงจังเป็นสังคมที่ถกแถลงทุกเรื่องบนเหตุผลที่ไตร่ตรองแล้ว ทำให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศกลับมาร่วมปกครองประเทศในทุกมิติทุกด้านจริงๆ การเมืองคือสมรภูมิที่หากประชาชนต้องการอะไรพวกเขาจะต้องลุกขึ้นสู้จึงจะได้มา เป็นความโง่เขลาหากรอนักการเมืองทำหน้าที่แทนตน

            นักคิดสาย Radical Democracy ยอมรับว่าหนทางความสำเร็จยังอีกไกล แม้กระทั่งตัวแนวคิดยังต้องปรับปรุงพัฒนาอีกมาก ทางเดียวที่ช่วยได้คือต้องต่อสู้ทางการเมืองต่อไป หากระบอบประชาธิปไตยที่เป็นอยู่ไม่ตอบโจทย์ สร้างความแปลกแยกมาก ย่อมเป็นโอกาสของแนวคิดใหม่ๆ

4 กรกฎาคม 2021
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 25 ฉบับที่ 9000 วันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2564)

---------------------

บทความที่เกี่ยวข้อง :
การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (4IR) ทำให้การเชื่อมต่อมีประสิทธิภาพสูงยิ่ง เมื่อผนวกกับระบบคอมพิวเตอร์อันทรงพลัง ปัญญาประดิษฐ์ ผลคือการรวมพลังของประชาชนที่อาจสนับสนุนหรือต่อต้านรัฐ
ไม่ว่าระบอบประชาธิปไตยที่เป็นอยู่ดีหรือไม่ มันคือความจริง ประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศสามารถทำให้ดีขึ้นด้วยการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างจริงจัง ไม่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนักการเมืองเท่านั้น
บรรณานุกรม :

1. Crockett, Clayton. (2011). Radical Political Theology: Religion and Politics After Liberalism. New York: Columbia University Press.

2. Dahlberg, Lincoln. (2013, February 26). Radical Democracy in Contemporary Times. Retrieved from https://www.e-ir.info/2013/02/26/radical-democracy-in-contemporary-times/

3. Tambakaki, Paulina. (2018). Rethinking Radical Democracy. Retrieved from https://westminsterresearch.westminster.ac.uk/download/c9f5b00b8c0b4f6d9dc6082ebdeb29e60b1793f1eb5730ea9a57b7fb554515ed/103010/Final%20October.%20Tambakaki.%20Rethinking%20Radical%20Democracy%20.pdf

4. Volk, Christian. (2018, December 10). On a radical democratic theory of political protest: potentials and shortcomings. Retrieved from https://www.tandfonline.com/doi/full/10.1080/13698230.2018.1555684

--------------------------