4IR: การเผชิญหน้าระหว่างประชาธิปไตยโดยตรงกับอำนาจนิยม

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (4IR) ทำให้การเชื่อมต่อมีประสิทธิภาพสูงยิ่ง เมื่อผนวกกับระบบคอมพิวเตอร์อันทรงพลัง ปัญญาประดิษฐ์ ผลคือการรวมพลังของประชาชนที่อาจสนับสนุนหรือต่อต้านรัฐ
ทุกวันนี้โลกกำลังเริ่มต้นยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (Fourth Industrial Revolution: 4IR) จากการต่อยอดและผสมผสานของเทคโนโลยีหลายด้าน เช่น เทคโนโลยีหุ่นยนต์ นาโนเทคโนโลยี เทคโนโลยีสารสนเทศ การพิมพ์สามมิติ (3D-printing) ไบโอเทคโนโลยี เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) พันธุวิศวกรรม ฯลฯ ผลลัพธ์คือรถยนต์ที่ไม่ใช้คนขับ หุ่นยนต์ทำงานบ้าน บล็อคเชน (Blockchain) ฯลฯ
อาเซียนประกาศชัดว่าให้ความสำคัญกับ 4IR บทความเน้นจะเอ่ยถึงผลต่อการเมืองการปกครอง ตามข้อมูลที่มีอยู่ดังนี้
ชมคลิปสั้น 2 นาที
Political entrepreneurs :
สิ่งหนึ่งที่มากับ 4IR คือ Political entrepreneurs (ผู้ประกอบการทางการเมือง)
Alvin Carpio ให้นิยามว่า Political entrepreneurs คือผู้สร้างแนวคิดและนวัตกรรมใหม่ และเป็นผู้นำการเมือง สร้างองค์ความรู้ใหม่แก่รัฐศาสตร์ แนวคิดใหม่สำหรับแก้ปัญหาทางการเมือง ในรูปแบบปรัชญาทางการเมือง เทคโนโลยีการเมือง (political technology) การรณรงค์ทางการเมือง รัฐประศาสนศาสตร์
ผู้ประกอบการทางการเมืองคล้ายกับผู้ประกอบการเพื่อสังคม (Social entrepreneurs) ต่างกันที่ฝ่ายแรกมุ่งกรอบ “การเมือง” ทั้งคู่ประกอบกิจการที่มุ่งหวังกำไรหรือไม่มุ่งหวังกำไรเพื่อมีส่วนช่วยเหลือสังคม

            ระบบการเมือง อำนาจการเมืองเป็นองค์ประกอบหนึ่งในทุกส่วนของสังคม การใช้แนวคิดใหม่คือการปรับเปลี่ยนอำนาจเหล่านี้ ผลลัพธ์คือสังคมเปลี่ยนแปลงจากเดิม การสัมพันธ์ภายในสังคมเปลี่ยนแปลงจากเดิม ถ้าจะยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม กรีนพีซ (Green peace) เป็นตัวอย่างผู้ประกอบการทางการเมือง รณรงค์ เรียกร้อง กดดันรัฐบาลประเทศต่างๆ เพื่อสันติภาพและรักษาสิ่งแวดล้อม

            คนจำนวนมากหวังเห็นการเมืองที่ดีกว่านี้ อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ถ้ามองว่าคนเหล่านี้เป็นลูกค้า ผู้ประกอบการทางการเมืองมีลูกค้าที่รอรับบริการจำนวนมหาศาล  และไม่น่าจะน้อยกว่าลูกค้าของผู้ประกอบการทางสังคม
            ในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้ชนะเลือกตั้งในหลายประเทศเป็นบุคคลที่เดิมไม่ค่อยมีใครยอมรับ เพราะใช้แนวคิดที่สังคมเห็นว่าแปลกใหม่ สุดขั้ว แต่บัดนี้ สังคมกลับเรียกร้องความแปลกใหม่ ต้องการทางเลือกใหม่ ในบางกรณีเป็นโอกาสของผู้สมัครหน้าใหม่ที่เพิ่งลงเลือกตั้ง

          เป็นไปได้ไหมที่จะทำกิจการที่เชื่อมโยงการพัฒนาทางการเมือง ดึงการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งประเทศ และทั้งโลก
            ถ้า 4IR เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต การทำงาน การสัมพันธ์ระหว่างคน ย่อมจะเกิดปัญหาใหม่ หรือปัญหาเก่าบางเรื่องที่รุนแรงกว่าเดิม จำต้องหาทางแก้แบบใหม่ เหล่านี้คือโอกาสของผู้ประกอบการทางการเมืองทั้งสิ้น จะเป็นปรากฏการณ์ที่สวนทางกลับยุคปัจจุบันที่ความศรัทธาต่อพรรคการเมือง นักการเมือง สถาบันการเมืองอื่นๆ ลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ

สนามสื่อสนามสมรภูมิ :
William H. Saito เห็นว่าส่วนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจาก 4IR คือ ระบอบประชาธิปไตยกับทุนนิยม
            ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสื่อสารทำให้คนเพียงไม่กี่กลุ่มไม่อาจควบคุมสื่ออีกต่อไป ทันทีที่มีผู้จับได้ว่าใครทำสิ่งไม่ชอบมาพากล ภาพและเสียงจะกระจายออกทันที กว้างขึ้นและกว้างขึ้นถ้าสังคมสนใจ เช่นอาหารอร่อยจากร้าน หรือการโก่งราคาจนรับไม่ได้

Mohammad Al-Momani รัฐมนตรีกระทรวงกิจการสื่อและโทรคมนาคม (state for media affairs and communications) ประเทศจอร์แดนกล่าวว่า 4IR ทำให้สนามข่าวกลายเป็นสนามรบ ผู้ก่อการร้ายใช้สื่อ เครือข่ายสื่อต่างๆ เพื่อโฆษณาชวนเชื่อ รัฐจึงต้องหาทางปกป้องที่ดีกว่านี้

อันที่จริงสงครามสื่อมีมานานแล้วและมีเรื่อยมา สมัยโบราณคือการส่งสายลับไปปล่อยข่าว ให้ไขว้เขวหวั่นไหวเข้าใจผิด เมื่อมีวิทยุรัฐใช้วิทยุเพื่อกระจายข่าวที่ให้ผลดีกับตนเท่านั้น ดังเช่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1รัฐบาลอังกฤษกับเยอรมันไม่แตกต่าง
เมื่อมีทีวี คนทุกตื่นเต้นกับการดูทีวี เป็นโอกาสอันดีที่รัฐใช้สื่ออันทรงพลังนี้ ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝ่ายพันธมิตรกับอักษะไม่แตกต่าง

ปัจจุบันคือโซเชียลมีเดีย ข้อดีที่แตกต่างจากสื่อเดิมๆ คือประชาชนธรรมดาใช้ได้ด้วย เพราะไม่ใช่สายลับ วิทยุ โทรทัศน์ที่ครั้งหนึ่งอยู่ในมือรัฐ โซเชียลมีเดียกลายเป็นสนามสื่อที่สำคัญและจะสำคัญมากขึ้น

            สื่อในยุค 4IR น่าจะหมายถึงสื่อที่หลากหลาย ทุกคนสามารถรับสื่อตามประเภท ข้อมูลเนื้อหา ระดับความลึกซึ้งตามต้องการ ตอบสนองผู้บริโภคแต่ละคน เช่น นายจุก วัย 40 ปี ชอบดูฟุตบอลไทยก็สามารถดูฟุตบอลไทยได้ทั้งวันทั้งคืน นายตี๋ วัย 40 ปี ชอบวิเคราะห์ฟุตบอลยูโร ก็มีรายการวิเคราะห์บอลยูโรอย่างเจาะลึกรอบด้าน มีรายการเช่นนี้ให้ดูทุกวัน เข้าชมรมวิเคราะห์บอลยูโรที่แฟนบอลทั่วโลกร่วมวิเคราะห์พูดคุยตลอด 24 ชั่วโมง
            ทุกคนสามารถเป็นผู้สื่อข่าว ผลิตข่าวของตัวเอง หรือร่วมผลิตกับคนอื่นๆ เช่น เมื่อมีรายการถ่ายทอดสดฟุตบอล ผู้ชมในสนามร่วมทำหน้าที่เป็นสื่อถ่ายทอดสด นำเสนอและวิเคราะห์สดด้วยตัวเอง ทุกคนทั่วโลกสามารถรับชมผ่านคนผู้นี้ ไม่เพียงเท่านั้น จะมีผู้ถ่ายทอดสดจากขอบสนามนับร้อยนับพัน ไม่เฉพาะสื่อใหญ่เท่านั้น ผู้วิเคราะห์จะมีเป็นหมื่นเป็นแสนจากทุกมุมโลก และจะมีนักวิเคราะห์ที่คอยรวบรวมการวิเคราะห์จากคนอื่นๆ เป็นข้อสรุปรวม นี่คือผลจากเทคโนโลยียุค 4IR

การก้าวขึ้นมาของประชาธิปไตยทางตรง :
            เนื่องจากพลเมืองมีจำนวนมาก ระบอบประชาธิปไตยปัจจุบันจึงเป็นประชาธิปไตยโดยอ้อม (Indirect Democracy) หรือประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative Democracy) มี ส.ส. ส.ว.และตำแหน่งอื่นๆ ทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชนตามกฎหมาย
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสื่อสาร การใช้อุปกรณ์พกพาอย่างแพร่หลาย อาจเป็นเหตุให้สังคมเข้าสู่การเป็นประชาธิปไตยโดยตรง (Direct Democracy) พลเมืองแสดงความคิดเห็น ลงมติโดยตรงต่อนโยบาย การตัดสินใจของรัฐในระดับต่างๆ

แม้กฎหมายยังไม่รับรอง แต่หากมีระบบรับฟังความคิดเห็น การลงมติที่เชื่อถือได้ (เช่น สามารถคัดกรองผู้ที่ลงมติต้องเป็นพลเมืองตามกฎหมาย-โปร่งใสตรวจสอบได้ ป้องกันการแฮ็ก) เท่ากับเป็นผลโพลล์ทุกเรื่องเป็นรายวันรายสัปดาห์ ยิ่งคนเข้าร่วมมากเท่าใดก็ยิ่งมีพลัง

            ส่วนจะใช้ประชาธิปไตยโดยตรงหรือไม่คงต้องถกกันอีกมาก ฝ่ายที่เห็นด้วยจะชี้ว่าเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด อธิปไตยอยู่ในมือพลเมืองอย่างแท้จริง ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยอาจเกรงว่าสังคมถูกชักนำด้วยข้อมูลที่บิดเบือน การด่วนตัดสินใจขาดความรอบคอบอาจส่งเสียมากกว่า ดังเช่น Brexit ที่ไม่กี่ปีก่อนคนอังกฤษส่วนใหญ่เห็นด้วยแต่ระยะหลังเริ่มเห็นตรงข้าม และเกิดคำถามว่าในประเด็นที่อ่อนไหว ต้องใช้ข้อมูลลับ ข้อมูลเชิงลึก ควรที่จะให้ประชาชนตัดสินใจหรือไม่เพราะพวกเขาอาจไม่เข้าใจทั้งหมด ไม่ได้เข้าถึงข้อมูลครบถ้วน
            ในอีกมุมหนึ่ง อาจพูดว่าไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยโดยอ้อมหรือโดยตรงล้วนแต่มีข้อดีข้อเสียด้วยกันทั้งสิ้น ควรคิดระบอบประชาธิปไตยที่แตกต่างจาก 2 แบบนี้หรือไม่

โลกเข้าสู่ระบอบอำนาจนิยมมากขึ้น :
ตั้งแต่ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา ไม่ว่าจะที่สหรัฐ ยุโรปตะวันตก ญี่ปุ่น มีลักษณะตรงกันคือ ประชาชนกว่าครึ่งไม่เชื่อถือรัฐบาล พรรคการเมือง โดยเฉพาะไม่เชื่อถือนักการเมือง
พรรคต่างๆ มีสมาชิกลดน้อยลงหรืออยู่แบบไม่ผูกพัน ปัจจุบันพลเมืองอังกฤษร้อยละ 2 เท่านั้นที่เป็นสมาชิกพรรค

เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะนักธุรกิจใหญ่ ผู้ทรงอิทธิพลท้องถิ่นรู้ว่าพรรคการเมืองคือสถาบันสู่อำนาจการบริหารประเทศ หากได้ถืออำนาจบริหารประเทศย่อมสามารถออกนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อตน บรรดาข้าราชการจะเกรงใจ แม้กระทั่งส่งคนของตนดำรงตำแหน่งต่างๆ ในระบบบริหารประเทศ เพื่อควบคุมเบ็ดเสร็จ ให้มั่นใจว่ารัฐบาลและกลไกของรัฐจะเอื้อประโยชน์แก่พวกตน
            บริษัทขนาดใหญ่ ผู้มีบารมีท้องถิ่น ผู้มีส่วนได้เสียกับการบริหารระดับชาติ จึงกล้าที่จะ “ลงทุน” การแข่งขันทางการเมืองกลายเป็นการแข่งขันของ “กลุ่มทุน” “ผู้มีอิทธิพล” นานวันเข้าพรรคการเมืองกลายเป็นพรรคคนของเหล่านี้ ชาวบ้านสามัญชนเป็นเพียงไม้ประดับของพรรค ยิ่งเวลาผ่านไป ยิ่งผ่านรัฐบาลหลายชุด ประชาชนสัมผัสความแปลกแยกระหว่างนักการเมือง พรรคการเมืองกับตน แม้ว่านักการเมืองกับพรรคจะพยายามแสดงตัวทำเพื่อประชาชน แต่ลึกๆ แล้วชาวบ้านไม่คิดเช่นนั้น

            มกราคม 2017 Economist Intelligence Unit (EIU) รายงานดัชนีประชาธิปไตย 2016 (Democracy Index 2016) เป็นผลการศึกษาวิจัยใน 165 ประเทศ กับอีก 2 คะแนนของสหรัฐอยู่ที่ 7.98 หล่นจาก 8.05 เมื่อปีก่อน หมายความว่า สหรัฐหล่นจากกลุ่มประเทศประชาธิปไตยเต็มใบ (full democracy) ที่ต้องได้คะแนนตั้งแต่ 8.0 ขึ้นไป
ในภาพรวมทั้งโลก คะแนนเฉลี่ยทั้งหมดลดลงจาก 5.55 เหลือ 5.52 ซึ่งหมายความว่าเป็นอำนาจนิยมมากขึ้นกว่าเดิม
            Democracy Index เป็นข้อมูลอีกชิ้นที่สนับสนุนข้อมูลอื่นๆ ว่านับวันประชาชนจะเสื่อมศรัทธาระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยกำลังหันสู่การเป็นอำนาจนิยมมากขึ้น

การเผชิญหน้าระหว่างประชาธิปไตยโดยตรงกับอำนาจนิยม :
            การวิเคราะห์ข้างต้น ชี้ให้เห็นแนวโน้ม 2 อย่างที่กำลังเกิดขึ้นพร้อมๆ กันภายใต้การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 แต่ขัดแย้งกัน แนวโน้มแรกคือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสนับสนุนประชาธิปไตยโดยตรง อีกแนวโน้มคือรัฐควบคุมคนในประเทศเข้มข้นกว่าเดิม บริหารปกครองด้วยแนวทางอำนาจนิยมมากขึ้น
            ณ วันนี้ยังเร็วเกินไปที่จะคาดเดาว่าฝ่ายใดจะชนะ ไม่ว่าฝ่ายใดจะชนะ การเผชิญหน้าระหว่างประชาธิปไตยโดยตรงกับอำนาจนิยมกำลังเกิดขึ้น และน่าจะรุนแรงยิ่งขึ้น
3 ธันวาคม 2017
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 22 ฉบับที่ 7695 วันอาทิตย์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ.2560)
------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
ฮิลลารี คลินตันถูกครหาว่าเข้าควบคุมพรรคก่อนได้เป็นตัวแทนพรรค สะท้อนคณาธิปไตยในพรรค แต่เป็นความจริงที่เลี่ยงไม่ได้ สำคัญว่ายึดถืออุดมการณ์หรือไม่

บรรณานุกรม :
1. รุ่งพงษ์ ชัยนาม, รศ.ดร. (2554) สงครามกับการเปลี่ยนแปลงในสังคมโลก ใน เอกสารการสอนชุดวิชาสังคมโลก นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
2. วรากรณ์ สามโกเศศ. (2016, มีนาคม 9). การปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่4. ไทยพับลิก้า. Retrieved from https://thaipublica.org/2016/03/varakorn-153/
3. 4th Industrial Revolution has turned media into a battlefront, says Jordanian minister. (2017, November 27). Arab News. Retrieved from http://www.arabnews.com/node/1199641/saudi-arabia
4. Asean Should Embrace Fourth Industrial Revolution. (2017, November 6). Jakarta Globe. Retrieved from http://jakartaglobe.id/opinion/asean-embrace-fourth-industrial-revolution/
5. Carpio, Alvin. (2017, November 23). Why I won’t buy a house in any major city – and neither should you. Retrieved from https://www.weforum.org/agenda/2017/11/the-rise-of-the-political-entrepreneur-and-why-we-need-more-of-them
6. Diamond, Larry., Gunther, Richard (Eds.). (2001). Political Parties and Democracy. Maryland: The Johns Hopkins University Press.
7. FULL TEXT: Chairman’s statement for the 31st ASEAN Summit. (2017, November). Philstar Global. Retrieved from http://www.philstar.com/headlines/2017/11/16/1759486/full-text-chairmans-statement-31st-asean-summit
8. Saito, William H. (2017, January 6). The Fourth Industrial Revolution disrupted democracy. What comes next? Retrieved from https://www.weforum.org/agenda/2017/01/what-the-communication-revolution-means-for-global-leaders-today
9. The Economist Intelligence Unit. (2017, January). Democracy Index 2016 Revenge of the “deplorables”. Retrieved from http://felipesahagun.es/wp-content/uploads/2017/01/Democracy-Index-2016.pdf
-----------------------------