การเผชิญหน้าของยุทธศาสตร์แม่บทสหรัฐกับจีน

ยุทธศาสตร์แม่บทของสหรัฐสร้างศัตรูอยู่เสมอ จะเผชิญหน้าจีนรุนแรงมากน้อยขึ้นกับการตัดสินใจของรัฐบาลสหรัฐ และขึ้นกับนานาชาติโดยเฉพาะพวกพันธมิตรสหรัฐว่าจะคิดเห็นอย่างไร

            การติดตามข่าวคือการดูปรากฏการณ์ผ่านสื่อ การมองอีกแบบคือการศึกษาเชิงหลักคิด เช่น อุดมการณ์ เป้าหมาย ความตั้งใจ ในที่นี้นำเสนอยุทธศาสตร์แม่บทของสหรัฐเทียบกับความฝันของจีนที่ถือว่าเป็นยุทธศาสตร์แม่บทเช่นกัน

ยุทธศาสตร์แม่บทของสหรัฐกับจีน :

            ที่สหรัฐยึดเป็นหลักเรื่อยมาคือ ส่งเสริมการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย การค้าเสรี หลักสิทธิมนุษยชน

            ประธานาธิบดีโอบามากล่าวว่าอเมริกาต้องเข้าพัวพัน (Engagement) เพื่อความมั่นคงของตน และเชื่อว่าจะส่งผลให้โลกดีขึ้นด้วย ตั้งใจที่จะเสียสละเลือดและทรัพย์สินเพื่อผลประโยชน์ของทุกประเทศไม่เฉพาะผลประโยชน์แคบๆ อันเห็นแก่ตัวของเรา เพราะ “สหรัฐอเมริกาเป็นหนึ่งในเสาหลักของความมั่นคงโลก”

            อาจสรุปสั้นๆ ว่าสหรัฐจะเข้าพัวพันโลกเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย การค้าเสรี สิทธิมนุษยชน เป็นเสาหลักความมั่นคงของโลก เพื่อความผาสุกของอเมริกาและโลก

            ด้านประธานาธิบดีสี จิ้นผิงกล่าวเมื่อปี 2014 ว่า “ความฝันของจีน” (Chinese Dream) คือการฟื้นฟูชาติจีน ประเทศที่ชาวจีนอยู่ดีกินดีมีความสุข

            ความฝันของจีนถูกตีความว่าเป็นยุทธศาสตร์แม่บทล่าสุดของจีน (Grand Strategy) ต้องการการสร้างชาติขึ้นใหม่ ประชาชนอยู่ดีกินดี ส่งเสริมสันติภาพกับการพัฒนา จีนหวังสร้างโลกที่ทุกคนอยู่ร่วมกัน ไม่คิดเป็นเจ้าผู้ครองโลก (hegemony) ยอมรับโลกที่หลากหลาย ไม่พยายามเปลี่ยนประเทศอื่น วัฒนธรรมจีนเปิดกว้าง พัฒนา ดูซับสิ่งดีจากวัฒนธรรมอื่น

เพื่อการกินดีอยู่ดีหมายถึงอย่างไร :

            จะเห็นว่ารัฐบาลทั้ง 2 ประเทศมีเป้าหมายหลักตรงกันในเรื่องเพื่อความปลอดภัยอยู่ดีกินดีของประชาชนและต่างต้องการสันติภาพ แต่หากพิจารณารายละเอียดจะพบความแตกต่าง

             การอยู่ดีกินและมั่นคงของสหรัฐสัมพันธ์กับการรักษาความเป็นเจ้าผู้ครองโลก ภาวะผู้นำโลก ในขณะที่จีนย้ำว่าไม่ต้องการเป็นเช่นนั้น แต่ต้องไม่ลืมว่าอำนาจอิทธิพลจีนกำลังเพิ่มมากขึ้น

            สหรัฐต้องการสันติภาพแต่เพื่อให้ได้มาซึ่งสันติภาพจะต้องมีกองทัพใหญ่ที่สุดในโลก แผ่อิทธิพลกว้างขวางมากที่สุด ในนามสันติภาพกองทัพสหรัฐทำสงครามไปทั่วหลากหลายรูปแบบ รวมถึงการโค่นล้มรัฐบาลประเทศอื่นๆ ที่ไม่เป็นมิตร เหล่านี้คือตัวอย่าง “เพื่อการอยู่ดีกินดีของอเมริกัน”

            นับจากสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมาสหรัฐมีศัตรูอยู่เสมอ ทั้งจากค่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ผู้ก่อการร้ายที่สัมพันธ์มุสลิมสุดโต่ง อิหร่าน รัสเซียและจีนยุคหลังสงครามเย็น ทั้งนี้ยังไม่นับประเด็นอื่นๆ เช่น เกาหลีเหนือ สันติภาพในความหมายของรัฐบาลสหรัฐจะมีศัตรู มีภัยคุกคามอยู่เสมอ เพียงแต่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ และจะเป็นเช่นนี้ต่อไป

          ในอีกมุมหนึ่งน่าคิดว่าประชาชนนับสิบนับร้อยล้านคนจากหลายประเทศได้รับผลกระทบรุนแรงจากเหตุเพื่อการกินดีอยู่ดีของสหรัฐหรือไม่ ข้อนี้ช่วยให้เข้าใจยุทธศาสตร์แม่บทสหรัฐได้ดี ทุกครั้งที่รัฐบาลสหรัฐเอ่ยถึงการอยู่ดีกินดีของคนอเมริกันต้องรีบตั้งคำถามว่าจะส่งผลต่อประเทศอื่นๆ อย่างไร

            ประเด็นสำคัญคือสหรัฐเปรียบเหมือนเจ้าถิ่นในขณะที่จีนกำลังเป็นผู้ท้าชิงที่เจ้าถิ่นหวั่นไหว เกิดคำถามว่าสักวันหนึ่งหากจีนได้เป็นลูกพี่จะทำตัวเหมือนรัฐบาลสหรัฐหรือไม่ เพราะต้องรักษาผลประโยชน์เช่นกัน

            รัฐบาลทั้ง 2 ประเทศต่างพูดว่าเพื่อความปลอดภัยอยู่ดีกินดีของประชาชน ถามว่าทุกวันนี้คนจีนกับคนอเมริกันมีความปลอดภัยอยู่ดีกินดีแค่ไหน มากขึ้นหรือน้อยลง เป็นคำถามที่คนจีนกับคนอเมริกันควรเป็นผู้ตอบเอง ประเมินว่ารัฐบาลหรือผู้ปกครองบรรลุเป้าหมายที่ประกาศไว้มากน้อยเพียงไร ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น พอใจกับสภาพที่เป็นอยู่หรือไม่ รัฐบาลควรปรับแก้นโยบายอย่างไร

            คำถามที่ดีกว่านั้นคือ ประชาชนของทั้ง 2 ประเทศมีส่วนกำหนดนโยบายต่างประเทศมากน้อยเพียงไร ดูเหมือนว่ารัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนไม่เปิดโอกาสสักเท่าไหร่ คนอเมริกันเข้าถึงการปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศของตนจริงๆ แค่ไหน เมื่อตอบคำถามนี้แล้วควรกลับไปทบทวนคำถามเริ่มต้นว่าทุกวันนี้คนจีนกับคนอเมริกันมีความปลอดภัยอยู่ดีกินดีแค่ไหน มากขึ้นหรือน้อยลง

มหาอาณาจักรหรือจักรวรรดินิยม :

            การตั้งประเด็น “การเผชิญหน้าระหว่างจีนกับสหรัฐหลีกเลี่ยงได้หรือไม่” อาจเป็นคำถามที่ผิด เพราะทุกวันนี้เผชิญหน้าอยู่แล้วและรุนแรงขึ้นในหลายด้านหลายมิติ คำถามที่ดีกว่าคือจะบานปลายเป็นสงครามใหญ่หรือเป็นแค่สงครามเย็นใหม่

            สงครามเย็นในศตวรรษที่ 20 เกิดสงครามตัวแทน (proxy war) ในหลายประเทศ เช่น สงครามเกาหลี สงครามเวียดนามและอินโดจีน อาจรวมสงครามอัฟกานิสถานที่โซเวียตรัสเซียส่งทหารยึดครอง เกิดคำถามว่าหากเกิดสงครามเย็นใหม่จะเกิดสงครามตัวแทนด้วยหรือไม่ ประเทศใดจะเป็นเหยื่อของความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจ นี่คือประเด็นที่น่าคิดและใกล้ตัวกว่าสงครามระหว่าง 2 มหาอำนาจโดยตรง

มองให้ไกลกว่ากรอบรัฐกับรัฐ :

            แท้จริงแล้วความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในกรอบใหญ่ มีตัวแสดงหรือประเด็นอื่นๆ ที่มากว่ารัฐ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจน การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (Fourth Industrial Revolution: 4IR)  โรคระบาดโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เหล่านี้มีผลต่อโลกวันนี้และอนาคต

            ประเด็นที่นำเสนอไม่ใช่เรื่องระหว่างจีนกับสหรัฐเท่านั้น มาจากสารพัดปัจจัย เกี่ยวข้องกันทั้งโลกและสัมพันธ์กันและกัน ยกตัวอย่าง 4IR อาจทำให้คนจำนวนมหาศาลตกงาน เกิดคลื่นมนุษย์หลายล้านหรือล้านสิบล้านคนอพยพไปสู่ประเทศที่มีงานทำหรือเลี้ยงดูเขาได้ โรคระบาดโควิด-19 เร่ง 4IR ทำให้บางประเทศยากจนกว่าเดิม คนต้องหนีออกจากประเทศมากขึ้นหรือบางประเทศต้องการแรงงานต่างด้าวมากขึ้นโดยเฉพาะประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงวัย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อนส่งผลต่อทุกประเทศทั่วโลก

            เรื่องเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยการอยู่ดีกินดีของประชาชน มีผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อาจเป็นประเด็นสำคัญไม่น้อยกว่าการเดินเรือเสรีในทะเลจีนใต้ การเผชิญหน้าระหว่างจีนกับสหรัฐอาจถูกลดความสำคัญ เป็นไปได้หรือไม่ที่จะหันมาร่วมมือกัน บางทีศัตรูร้ายกว่าต่างชาติคือเสียงร้องขอการอยู่ดีกินดี ได้ใช้ชีวิตอย่างที่ใจต้องการของประชาชน ความสัมพันธ์ระหว่างเป็นอีกเวทีช่วยให้ประชาชนมีกินมีใช้

            ทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับประวัติศาสตร์สอนว่าความขัดแย้งระหว่างอาณาจักร ระหว่างประเทศเกิดขึ้นเสมอเพราะผลประโยชน์ขัดกัน จีนที่ก้าวขึ้นมาแม้หวังจะก้าวขึ้นมาโดยสันติแต่จะขัดผลประโยชน์สหรัฐ ประเด็นอยู่ที่รัฐบาลสหรัฐคิดเห็นอย่างไร จะใช้วิธีใดเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตน เส้นต้องห้ามอยู่ที่ใด

            ในขณะที่รัฐบาลจีนต้องให้ประชากร 1,400 ล้านมีกินมีใช้ ตอบสนองด้านวัตถุมากขึ้นๆ คนจีนบริษัทจีนกำลังแผ่ขยายออกไปทั่วโลกซึ่งน่าจะเป็นวิธีที่ดีกว่าการข่มขู่การคว่ำบาตรแบบที่สหรัฐใช้ MADE IN CHINA and OTHERS by Chinese people ดูเป็นมิตรและเป็นโอกาสแก่จีนมากกว่า เปิดโอกาสให้จีนก้าวขึ้นมาในทุกมิติ ขยายอิทธิพลอำนาจทุกด้านรวมทั้งพลังอำนาจทางทหาร

            ในกรณีของจีนพลังอำนาจทางทหารไม่ใช่เรื่องของการมีกองทัพที่ทรงอานุภาพเท่านั้น แต่เป็นดัชนีบ่งบอกความเข้มแข็งของประเทศ บ่งบอกว่าประเทศมีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ มีประสิทธิภาพ มีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การเมืองสังคมมีเสถียรภาพ เพราะด้านต่างๆ เหล่านี้ส่งเสริมให้ประเทศมีกองทัพเข้มแข็งต่อเนื่อง และหมายถึงเกียรติภูมิของชาติ (เป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ย่อมดีกว่าล้าหลังด้อยพัฒนา)

            ท้ายที่สุดการเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐกับจีนขึ้นกับการตัดสินใจของรัฐบาลสหรัฐ และขึ้นกับนานาชาติโดยเฉพาะพวกพันธมิตรสหรัฐว่าจะคิดเห็นอย่างไร สงครามเย็นใหม่เป็นเรื่องที่น่าติดตามว่าจะพัฒนาไปสู่อะไร

23 พฤษภาคม 2021
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 25 ฉบับที่ 8958 วันอาทิตย์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2564)
--------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง : 
ความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สำคัญที่ควบคุมได้หรือไม่ ทั้งนี้ชนชั้นนำผู้ปกครองประเทศมีส่วนสำคัญยิ่ง แม้กระทั่งในประเทศประชาธิปไตยก็ตาม
การชี้ว่าจีนจะบุกไต้หวันและสหรัฐอาจเป็นฝ่ายปราชัย เป็นคำถามที่น่าคิดว่าทำไมผู้นำกองทัพสหรัฐพูดเช่นนั้น กำลังปลุกเร้าสถานการณ์ให้ตึงเครียดใช่หรือไม่ กำลังพาไต้หวันเข้าสู่สงครามหรือเปล่า

บรรณานุกรม :

1. Cole, Bernard D. (2016). China's Quest for Great Power: Ships, Oil, and Foreign Policy. USA: Naval Institute Press.

2. Jin Yuanpu. (2014, February). The Chinese Dream: the Chinese Spirit and the Chinese Way. Retrieved from http://english.cntv.cn/special/newleadership/chinesedream05.html

3. Mladenov, Nikolai. (2021). Chinas Grand Strategy and Power Transition in the 21st Century. Switzerland: Palgrave Macmillan.

4. The White House. (2013, September 10). Remarks by the President in Address to the Nation on Syria. Retrieved from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2013/09/10/remarks-president-address-nation-syria

5. The White House. (2013, September 24). Remarks by President Obama in Address to the United Nations General Assembly. Retrieved from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2013/09/24/remarks-president-obama-address-united-nations-general-assembly

6. Williams, Andrew J., Hadfield, Amelia., & Rofe, J. Simon. (2012). International History and International Relations. New York: Routledge.

--------------------------