อะไรคือ Realpolitik กรณีตัวอย่างแอร์โดกาน

Realpolitik คือชื่อเดิมของสัจนิยม (Realism) บางคนให้นิยามสั้นๆ ว่าคือ “power politics” หรือการเมืองแห่งอำนาจ อำนาจคือที่มาของทุกสิ่ง เช่น ความปลอดภัย ความมั่งคั่ง ชีวิตที่อยู่ดีกินดี มีชื่อเสียงเกียรติภูมิ

            Realpolitik คือชื่อเดิมของสัจนิยม (Realism) ที่ใช้ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ บางคนให้นิยามสั้นๆ ว่าคือ “power politics” หรือการเมืองแห่งอำนาจ

            เป้าหมายคืออำนาจ ทำอย่างไรก็ได้เพื่อให้เข้าถึงอำนาจ มนุษย์ทุกคนมีแนวโน้มเป็นเช่นนี้คือต้องการอำนาจ แสวงหาอำนาจ ภายใต้หลักคิดว่าอำนาจคือที่มาของทุกสิ่ง เช่น ความปลอดภัย ความมั่งคั่ง ชีวิตที่อยู่ดีกินดี มีชื่อเสียงเกียรติภูมิ ก้าวหน้าเจริญรุ่งเรือง ศัตรูโดนทำลายหรือกำราบ สามารถบังคับหรือมีอิทธิพลให้ผู้อื่นกระทำสิ่งที่ตนต้องการ อาจใช้คำว่าเพิ่มพูนรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ

            ความเป็นไปของโลกจึงเป็นเรื่องการช่วงชิงแข่งขันอำนาจ อาจเพื่อทรัพยากรอย่างใดอย่างหนึ่ง ความขัดแย้งที่ยังตกลงกันไม่ได้ จนถึงการพยายามความเป็นเจ้าหรือรักษาสถานะอำนาจ

            ด้วยความที่สัจนิยมตั้งอยู่บนฐานคติมองมนุษย์แง่ลบ คิดเอารัดเอาเปรียบคนอื่น พร้อมทำทุกสิ่งแม้ทำลายล้างผู้อื่นเพื่อเอาตัวรอด แนวทางนี้จึงส่อมองโลกแง่ร้ายอยู่เสมอ แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าประเทศต่างๆ จะไม่ร่วมมือกันเลย ความร่วมมือเกิดขึ้นได้บนพื้นฐานการเจรจาต่อรอง มีผลประโยชน์ร่วม

            ทัศนะคติสัจนิยมคือความกลัว เช่น กลัวว่าคนอื่นจะทำร้ายเอาเปรียบ โลกไม่มีผู้รักษาความยุติธรรมแท้ พร้อมทรยศหักหลังเสมอ ทางออกคือทุกคนต้องหาทางเอาตัวรอด อยู่ในภาวะที่เหนือกว่าโดยเฉพาะศัตรู อาจจำต้องฆ่าทำลายล้างผู้อื่น (ดีกว่าให้ผู้อื่นทำลาย) เป็นเครื่องประกันว่าน่าจะปลอดภัยมั่นคงที่สุด

            โลกแห่งสัจนิยมอยู่ในภาวะตึงเครียดอยู่เสมอ เกิดเหตุขัดแย้งเป็นระยะ การพัฒนาและสะสมอาวุธเป็นเรื่องปกติ งบกลาโหมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งจากมูลค่าอาวุธ ภัยคุกคามเพิ่มมากขึ้น ยิ่งแข่งขันกันมากเพียงไรความตึงเครียดยิ่งเพิ่ม ภาวการณ์เช่นนี้ปรากฏเห็นชัดในข่าว เป็นโลกแห่งความขัดแย้งไม่รู้จบ

            สำหรับชนชั้นนำ ผู้รุกราน สัจนิยมเป็นเครื่องมือสนับสนุนการกระชับอำนาจ รุกรานกอบโกยผลประโยชน์ เช่น ชิงลงมือทำลายศัตรูก่อน จำต้องเล่นงานประเทศอื่น ประเทศผู้รุกราน เจ้าอาณานิคมจะยึดแนวทางนี้เสมอ บางครั้งมีเหตุผลประกอบที่ดูดี เช่น ยึดเป็นอาณานิคมเพื่อนำความทันสมัยสู่ประเทศนั้น เข้าไปปลดปล่อยประชาชนสู่ประชาธิปไตย ช่วยสร้างความมั่งคั่งอยู่ดีกินดี

            ในที่นี้จะใช้รัฐบาลของเรเจพ ทายยิพ แอร์โดกาน (Recep Tayyip Erdogan) เป็นกรณีตัวอย่างด้วย 3 ประเด็นย่อยดังนี้

Realpolik เหนือศาสนา :

            นักสัจนิยมมักประพฤติตัวให้คนอื่นมองว่าตนเป็นคนดีมีศีลธรรม แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะเป็นจริงเสมอไป เหตุเพราะยึดผลประโยชน์เป็นที่ตั้งซึ่งอาจถูกหรือผิดหลักศาสนา

            คำว่าผลประโยชน์เหนือกว่าศาสนาไม่ได้หมายความว่าละทิ้งศาสนา สังคมมีความเชื่อศาสนาได้ อิสลามเป็นศาสนาประจำชาติตุรกี พลเมือง 99.8% เป็นมุสลิม ส่วนใหญ่นับถือนิกายซุนนี  

            ตุรกีเป็นสมาชิกนาโตตั้งแต่ค.ศ. 1952 (ปัจจุบันนาโตมีสมาชิก 30 ประเทศ สมาชิกตั้งอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือกับยุโรป) นักการศาสนากับนักวิชาการบางคนตีความเหมารวมว่าพวกตะวันตกเป็นพวกนับถือคริสต์ เป็นศัตรูมุสลิม จนบัดนี้ยังทำสงครามครูเสดกันอยู่ เป็นคำถามน่าคิดว่าจะอธิบายฐานะของตุรกีที่เป็นชาติอิสลามอย่างไร

            การทำสงครามกับพวกเคิร์ดซีเรียเป็นอีกประเด็นที่น่าสนใจ ชนชาวเคิร์ดส่วนใหญ่เป็นมุสลิมนิกายซุนนีเช่นเดียวกับตุรกี รัฐบาลแอร์โดกานอาศัยจังหวะทำสงครามต่อต้านก่อการร้ายส่งกองทัพรุกเข้าในซีเรีย ปราบปรามเคิร์ดซีเรียโดยอ้างเหตุผลว่าเคิร์ดซีเรียเป็นพวกเดียวกับเคิร์ดตุรกีที่พยายามแบ่งแยกดินแดน

            Kurdistan Workers Party (PKK) เป็นพรรคการเมืองของเคิร์ดตุรกี เป็นไม้เบื่อไม้เมากับรัฐบาลนานหลายทศวรรษแล้ว อย่างไรก็ตามประชาชนหลายคนที่คิดว่าตนไม่ได้รับความยุติธรรมจากรัฐบาลหันไปเข้ากลุ่มฝ่ายต่อต้าน รวมทั้ง PKK ไม่ใช่เพราะเห็นด้วยกับอุดมการณ์แต่เห็นด้วยที่เป็นกลุ่ม “ต่อต้านรัฐบาล”

            การปราบปรามเคิร์ดตุรกี ทำสงครามกับเคิร์ดซีเรียเป็นอีกปรากฏการณ์ที่ซุนนีเข่นฆ่าซุนนีด้วยกัน สอดคล้องกับทฤษฎีสัจนิยมว่าผลประโยชน์แห่งชาติมาก่อน ศาสนาเป็นเรื่องรอง

เพื่อความอยู่รอดของใคร :

            ทฤษฎีสัจนิยมถือว่าความอยู่รอดสำคัญที่สุด เกิดคำถามว่าหากผู้ปกครองมีอำนาจเบ็ดเสร็จ ความอยู่รอดของชาติจะหมายถึงการอยู่รอดของผู้ปกครอง ซึ่งผู้ปกครองอาจเลือกที่จะยอมแพ้เพื่อเอาชีวิตรอด ยอมเสียประเทศให้ตกอยู่ใต้อำนาจประเทศอื่น (หรือแม้กระทั่งสิ้นชาติ) เท่ากับตัวเองรอดแต่ประเทศล่มสลาย

            คำว่าเพื่อความอยู่รอด คือความอยู่รอดของใคร

            การอยู่รอดหรือความมั่นคงของผู้ปกครองยังเชื่อมโยงกับอำนาจการเมืองการปกครองในประเทศ

            เมื่อแอร์โดกานขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2014 ได้ออกกฎหมายเพิ่มอำนาจแก่ฝ่ายบริหารหลายข้อ เช่น มีอิทธิพลต่อศาลมากขึ้น กระชับอำนาจตำรวจ สามารถปิดเว็บไซต์โดยไม่ต้องขอคำสั่งจากศาล ช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ Twitter กับ YouTube ถูกปิดด้วย นักวิชาการตุรกีบางคนชี้ว่าประชาชนต้องการรัฐบาลที่มีเสถียรภาพมากกว่า

            นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่าการต่อต้านผู้ก่อการร้ายไอซิส การปราบปรามกลุ่มชาวเคิร์ดและเหตุความไม่สงบหลายเรื่องส่วนหนึ่งเป็นแผนกระชับอำนาจของแอร์โดกาน เป็นเหตุประกาศใช้กฎอัยการศึกเป็นแรมปี คนนับหมื่นถูกจับกุมหรือสูญหายไร้ร่องรอย สื่อมวลชนถูกตรวจสอบควบคุม นักข่าวหลายคนถูกจับกุม ทั้งหมดนี้รัฐบาลให้เหตุผลว่าเพื่อความมั่นคง

            พร้อมๆ กับที่แอร์โดกานมีอำนาจมาก พรรคฝ่ายค้านอ่อนแอลง คนในครอบครัวแอร์โดกาน กลุ่มคนสนิท นายพลคนสำคัญ ผู้พิพากษาและข้าราชการระดับสูงเป็นผู้ได้รับประโยชน์ เข้าดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ของประเทศ รวมทั้งธุรกิจหลัก

            สุดท้ายความมั่นคงแห่งชาติส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนในประเทศอย่างไร เป็นประเด็นที่ถกแถลงได้อีกมาก

มิตรหรือศัตรู :

            ตุรกีเป็นสมาชิกนาโต เป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงทางทหารกับสหรัฐ ในอดีตเป็นที่ติดตั้งขีปนาวุธนิวเคลียร์ Jupiter จำนวน 15 ชุดภายใต้การควบคุมและสั่งยิงจากสหรัฐโดยตรง ความสัมพันธ์ทางนิวเคลียร์ยังอยู่จนบัดนี้

            ตลอดหลายปีที่ผ่านมาความสัมพันธ์ทวิภาคีมีทั้งความร่วมมือกับความขัดแย้ง รัฐบาลแอร์โดกานไม่เห็นด้วยกับการโค่นล้มระบอบซัดดัม ฮุสเซน แต่เห็นด้วยกับการโค่นล้มอัสซาดแห่งซีเรีย ฉวยโอกาสทำลายล้างพวกเคิร์ดซีเรียในขณะที่รัฐบาลสหรัฐสนับสนุนกลุ่มนี้เพราะเป็นกองกำลังของตนในซีเรีย

            ความตึงเครียดรุนแรงครั้งใหญ่มาจากเหตุกบฏเมื่อกรกฎาคม 2016 ประธานาธิบดีแอร์โดกานกล่าวโทษว่าพลเอก Joseph Votel ผู้บัญชาการ US Central Command อยู่ฝ่ายเดียวกับกบฏซึ่งรัฐบาลสหรัฐปฏิเสธ

            ไม่ว่าความจริงเป็นอย่างไร ตุรกียังคงเป็นสมาชิกนาโตต่อไปแต่สิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นคือแอร์โดกานหันไปจับมือใกล้ชิดรัสเซีย ถึงขนาดรัสเซียยอมขายขีปนาวุธ S-400 รุ่นใหม่ล่าสุด สร้างความไม่พอใจแก่อเมริกาอย่างมาก รัฐบาลทรัมป์ออกมาตรการคว่ำบาตรหลายรอบ ค่าเงินตุรกีอ่อนค่า 40% ในเวลาไม่ถึงปี (2016)

            ในช่วงความสัมพันธ์ตกต่ำประธานาธิบดีตุรกีกล่าวเมื่อปลายปี 2016 “เป็นที่ชัดเจนมากว่า” กลุ่มพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐสนับสนุนผู้ก่อการร้ายในซีเรีย อย่างเช่นกลุ่ม Islamic State (IS) “พวกเขาสนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย รวมทั้งดาอิชด้วย” ก่อนหน้านี้สหรัฐกล่าวหาว่าตุรกีสนับสนุนผู้ก่อการร้าย IS เช่นกัน

            ตกลงว่าสหรัฐหรือตุรกีที่สนับสนุนไอซิส หรือทั้งคู่ต่างสนับสนุนไอซิส หรืออย่างไร ...

            ประธานาธิบดีแอร์โดกานย้ำว่าพวกชาติตะวันตกต่อต้านตนเสมอมา คอยบ่อนทำลายความมั่นคง จากท่าทีและการกระทำต่อกันและกันเห็นความขัดแย้งชัดเจนแต่น่าแปลกที่ความสัมพันธ์นี้ไม่แตกหัก นี่คืออีกลักษณะของการเมืองระหว่างประเทศแบบ Realpolitk

สรุป ภาพที่เห็นกับความจริง :

            ไมว่าภาพที่เห็นคือความร่วมมือหรือขัดแย้ง รัฐบาลสหรัฐยังต้องการตุรกีเป็นพันธมิตรทางทหาร เช่นเดียวกับที่ตุรกีต้องการสหรัฐ เพราะความสัมพันธ์กับสหรัฐคือเครื่องประกันความมั่นคงของตุรกีพอๆ กับเป็นตัวสั่นคลอนความมั่นคง

            สหรัฐยังมีเครื่องมือมากพอที่จะกดดันตุรกีเช่นเดียวกับที่ตุรกียังมีค่ามากพอที่สหรัฐต้องรวมเข้าเป็นพวก รัฐบาลสหรัฐอาจต้องการเปลี่ยนตัวผู้นำตุรกีแต่เพื่อให้ได้รัฐบาลตุรกีที่ร่วมมือง่ายขึ้น สหรัฐไม่อาจยอมให้ทุกอย่างแต่จะไม่ปล่อยตุรกีไปอยู่ฝ่ายตรงข้าม แอร์โดกานเข้าใจเรื่องนี้เป็นเหตุว่ายังเป็นสมาชิกนาโตต่อไป นี่คือโลกตามแบบฉบับ Realpolitk

3 มกราคม 2021 
ชาญชัย คุ้มปัญญา 
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 25 ฉบับที่ 8818 วันอาทิตย์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2564)

--------------------------

บทความที่เกี่ยวข้อง : 
S-400 ของตุรกีกับความเป็นพันธมิตรนาโต
ถ้าอธิบายความง่ายๆ พันธมิตรด้านความมั่นคงทางทหารคือการสัญญาว่าจะร่วมหัวจมท้ายรักษาอธิปไตยของกันและกัน แต่ในโลกแห่งความจริงการเป็นพันธมิตรอาจเป็นส่วนหนึ่งของระบอบมหาอำนาจ

ยุทธศาสตร์เปลี่ยนภัยคุกคามเป็นโอกาสของตุรกี
รัฐบาลแอร์โดกานเลือกเผชิญหน้าภัยคุกคาม มองเป็นโอกาสตักตวงผลประโยชน์ ไม่เกรงกลัวขัดแย้งชาติมหาอำนาจ ประเทศเพื่อนบ้าน เป็นยุทธศาสตร์เปลี่ยนภัยคุกคามเป็นโอกาส

บรรณานุกรม :

1. Central Intelligence Agency. (2020, December). Turkey. In The World Factbook. Retrieved from https://www.cia.gov/library/publications/the-world-factbook/geos/tu.html

2. Cimbala, Stephen J. (2010). Nuclear Weapons and Cooperative Security in the 21st Century: The New Disorder. New York: Routledge.

3. Erdogan's Putsch: Turkey's Post-Coup Slide into Dictatorship. (2016, July 30). BBC. Retrieved from http://www.bbc.com/news/world-us-canada-36925723

4. Larrabee, F. Stephen. (2008). Turkey as a U.S. Security Partner. USA: RAND Corporation.

5. Pashakhanlou, Arash Heydarian. (2017). Realism and Fear in International Relations: Morgenthau, Waltz and Mearsheimer Reconsidered. UK: Palgrave Macmillan.

6. President tightens grip on state. (2015, April 15). The Financial Times. Retrieved from http://im.ft-static.com/content/images/35646f80-e1a4-11e4-8d5b-00144feab7de.pdf

7. Rabasa, Angel., Larabee, F. Stephen. (2008). The Rise of Political Islam in Turkey. USA: RAND Corporation.

8. Russian official says Erdoğan right in US support for Daesh, as US embassy denies claims. (2016, December 28). Daily Sabah. Retrieved from http://www.dailysabah.com/war-on-terror/2016/12/28/russian-official-says-erdogan-right-in-us-support-for-daesh-as-us-embassy-denies-claims

9. Semih Idiz. (2016, July 26). Will Turkey be expelled from NATO? Al Monitor. Retrieved from http://www.al-monitor.com/pulse/originals/2016/07/turkey-united-states-nato-coup-attempt.html

10. Spiegel, Steven L. (Ed.). (2004). World Politics: in a new era. CA: Wadsworth/Thomson Learning.

11. To Progress and Back: The Rise and Fall of Erdogan's Turkey. (2015, September 24). Spiegel Online. Retrieved from http://www.spiegel.de/international/europe/turkey-under-erdogan-is-becoming-politically-riven-a-1054359.html

12. Turkey to press anti-PKK campaign 'until no terrorist remains': Erdogan. (2015, August 12). The Peninsula. Retrieved from http://thepeninsulaqatar.com/news/international/349897/turkey-to-press-anti-pkk-campaign-until-no-terrorist-remains-erdogan

13. Turkey's Erdogan: 'Confirmed evidence' US-led coalition supports ISIS & other terrorists in Syria. (2016, December 27). RT. Retrieved from https://www.rt.com/news/371965-erdogan-us-coalition-isis/

14. Twenty years later, Turkey's Kurds still search for their missing. (2015, September 4). Al Monitor. Retrieved from http://www.al-monitor.com/pulse/originals/2015/09/turkey-kurds-pkk-hopes-vanishes-dissapeared-in-1990s.html

15. Williams, Paul A. (2011). Turkey: A Neglected Partner. In Akbarzadeh, Shahram (editor). America's Challenges in the Greater Middle East: The Obama Administration's Policies (pp.237-254). New York: Palgrave Macmillan

--------------------------