S-400 ของตุรกีกับความหมายการเป็นพันธมิตรนาโต

ถ้าอธิบายความง่ายๆ พันธมิตรด้านความมั่นคงทางทหารคือการสัญญาว่าจะร่วมหัวจมท้ายรักษาอธิปไตยของกันและกัน แต่ในโลกแห่งความจริงการเป็นพันธมิตรอาจเป็นส่วนหนึ่งของระบอบมหาอำนาจ

             หลังจากเป็นฝ่ายพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 อาณาจักรออตโตมันสิ้นสลาย ตุรกีประกาศเป็นสาธารณรัฐเมื่อค.ศ.1923 รัฐบาลตุรกียุคใหม่พยายามเป็นมิตรกับชาติตะวันตก ในช่วงสงครามเย็น Truman Doctrine ชักนำเกิดสัมพันธ์ตุรกี-สหรัฐ (Turco- U.S.) ตุรกีเข้าร่วมเป็นสมาชิกนาโตเมื่อปี 1952 ความสัมพันธ์แนบแน่นขึ้นอีกเมื่อสหรัฐติดตั้งขีปนาวุธพิสัยกลางติดอาวุธนิวเคลียร์ Jupiter จำนวน 15 ชุดในตุรกีภายใต้การควบคุมและสั่งยิงจากสหรัฐโดยตรง

            ภายใต้การเป็นสมาชิกนาโต ตุรกีให้ความร่วมมือและมีความขัดแย้ง ในที่นี้ขอยกตัวอย่างบางประเด็นล่าสุด ดังนี้

ในแง่ความร่วมมือ :

            ประการแรก ตั้งฐานทัพสหรัฐ อาวุธนิวเคลียร์ ปิดล้อมรัสเซีย

            ความร่วมมืออันเป็นรากฐานสำคัญคือให้สหรัฐ (นาโต) ตั้งฐานทัพของตน มีฐานทัพอากาศขนาดใหญ่และเป็นฐานปล่อยอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐ

            ประการที่ 2 นโยบายล้มอัสซาด

            การล้มรัฐบาลอัสซาดแห่งซีเรียเป็นอีกวาระสำคัญของฝ่ายสหรัฐ พันธมิตรนาโตบางประเทศที่ดำเนินต่อเนื่องตั้งแต่สมัยรัฐบาลโอบามา

            ประการที่ 3 ต่อต้านผู้ก่อการร้าย

            เมื่อเกิดผู้ก่อการร้ายไอซิส (IS) รัฐบาลตุรกีต่อต้านไอซิสอย่างกระตือรือร้น เป็นประเทศแรกๆ ที่ส่งกองทัพเข้ารบทางภาคพื้นดินในซีเรียกับตอนเหนือของอิรัก

            ไม่ว่าจะด้วยผลประโยชน์ประเทศหรือนาโตปฏิเสธไม่ได้ว่าตุรกีมีบทบาทไม่น้อยในตะวันออกกลาง

ประเด็นความขัดแย้ง :

            ประการแรก กรณีผู้ก่อการร้าย เคิร์ดซีเรีย

            ในสมรภูมิต่อต้านผู้ก่อการร้ายไอซิสมีประเด็นที่ตุรกีคิดต่างจากรัฐบาลสหรัฐ เช่นการโจมตีกลุ่มเคิร์ดซีเรียที่ตุรกีเห็นว่าเคิร์ดซีเรียสัมพันธ์กับกลุ่มก่อการร้ายเคิร์ดในตุรกี ในขณะที่รัฐบาลสหรัฐสนับสนุนกลุ่มเคิร์ดซีเรียเพราะเป็นกำลังหลักของตนในการต่อต้านไอซิส

            หลายครั้งเกิดเหตุตุรกีเล่นงานเคิร์ดซีเรียในขณะที่สหรัฐให้ความช่วยเหลือทั้งอาวุธและอื่นๆ ถ้ามองจากมุมเป็นสมาชิกนาโตด้วยกันถือเป็นเรื่องตลกโดยแท้

            ประการที่ 2  กบฏกรกฎาคม 2016

            กลางเดือนกรกฎาคม 2016 เกิดกบฏ นายพล 40% จาก 358 คนถูกจับกุมไต่สวน ประธานาธิบดีแอร์โดกานโทษว่าเป็นฝีมือของกลุ่มที่ทางการตุรกีให้ชื่อว่า Fethullah Gulen Terrorist Organization (FETO) นำโดย Fethullah Gulen ผู้นำศาสนาที่ตอนนี้ลี้ภัยอยู่สหรัฐ แอร์โดกานอ้างเสมอมาว่าเป็นพวกที่หวังล้มล้างรัฐบาลตน

            ข้อมูลบางชิ้นจากแหล่งข่าวตุรกีชี้ว่าสหรัฐมีส่วนสนับสนุนกลุ่มกบฏ ประธานาธิบดีตุรกีกล่าวโทษว่าพลเอก Joseph Votel ผู้บัญชาการ US Central Command อยู่ฝ่ายเดียวกับกบฏ แต่สหรัฐปฏิเสธยกเหตุผลว่าสหรัฐกับตุรกีร่วมมือกันหลายด้าน

กรณี S-400 :

            ไม่ว่ารัฐบาลสหรัฐสนับสนุนกบฏล้มล้างรัฐบาลแอร์โดกานหรือไม่ ผลที่ตามมาคือสัมพันธ์ทวิภาคีเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว (จากเดิมที่มีเรื่องขัดแย้งกันอยู่แล้ว) ตุรกีหันไปผูกมิตรกับรัสเซียอย่างเปิดเผยและเป็นที่มาของข้อตกลงซื้อระบบขีปนาวุธพื้นสู่อากาศ S-400

            ถ้ามองจากมุมการเป็นพันธมิตรนาโตถือเป็นตลกร้ายอีกแล้ว

            มีนาคม 2017 Fikri Işık รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมตุรกีเผยว่าระบบขีปนาวุธพื้นสู่อากาศ S-400 ที่กำลังขอซื้อจากรัสเซียจะไม่ผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของระบบป้องกันของนาโต

            S-400 เป็นระบบขีปนาวุธพื้นสู่อากาศรุ่นล่าสุดของรัสเซีย ตุรกีเป็นประเทศที่ 2 ที่รัสเซียยอมขายให้ต่อจากจีนผู้เป็นลูกค้ารายแรก อินเดียเป็นรายที่ 3 แสดงถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่น ประเทศที่รัฐบาลปูตินให้ความสำคัญ นักวิเคราะห์หลายคนสรุปตรงกันว่าเป็นผลจากความสัมพันธ์เสื่อมทรุดของตุรกีกับนาโต

            ไม่นานหลังตุรกียืนยันซื้อ S-400 ทรัมป์คว่ำบาตรตุรกีเพิ่มเติม ขึ้นภาษีเหล็กกับอลูมิเนียม ค่าเงินลีราตุรกีอ่อนค่าอย่างหนัก (ช่วงมกราคมจนถึงสิงหาคม 2018 ค่าเงินตุรกีลดลง 40% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐด้วยหลายปัจจัย) รัฐบาลทรัมป์อ้างเหตุจากการจับกุมนักการศาสนาอเมริกันรายหนึ่ง ด้านผู้นำตุรกีไม่อ่อนข้อกล่าวว่า “เรามีพระเจ้าของเรา” การคว่ำบาตรสะเทือนเศรษฐกิจที่อ่อนแออยู่แล้วให้ตกต่ำกว่าเดิม คนตุรกีได้รับผลอย่างรุนแรง รัฐบาลแอร์โดกานเห็นว่าสหรัฐทำสงครามเศรษฐกิจ จึงตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าสหรัฐหลายตัว บางรายการขึ้นกว่า 100 เปอร์เซ็นต์ อาทิ เหล้า ยาสูบ รถยนต์

            ประธานาธิบดีตุรกีกล่าวว่าในฐานะสมาชิกนาโต เราหวังการสนับสนุนจากพันธมิตรนาโตด้วยกัน เหมือนกับที่เราได้ต่อสู้ผู้ก่อการร้ายด้วยกัน ไม่ใช่มาคว่ำบาตรพวกเดียวกัน

            แต่เมื่อต่างฝ่ายต่างยืนยันจุดยืนตน รัฐบาลทรัมป์ประกาศคว่ำบาตรเพิ่มเติมด้วย Countering America's Adversaries Through Sanctions Act (CAATSA) ไมค์ ปอมเปโอ (Mike Pompeo) รมต.ต่างประเทศอธิบายว่าสหรัฐพูดชัดและพูดหลายครั้งแล้วว่าการซื้อ S-400 เป็นภัยต่อความมั่นคงด้านเทคโนโลยีการทหารของสหรัฐ ต่อเจ้าหน้าที่อเมริกัน และเป็นการให้เงินอุดหนุนอุตสาหกรรมทหารรัสเซีย รัสเซียเข้าไปมีส่วนในอาวุธของกองทัพตุรกี อุตสาหกรรมอาวุธตุรกี

ด้านประธานาธิบดีแอร์โดการกล่าวว่าที่สหรัฐคว่ำบาตรก็เพื่อกีดกันไม่ให้ตุรกีพัฒนาระบบป้องกันประเทศ ทำให้ตุรกีต้องพึ่งพาสหรัฐด้านความมั่นคงต่อไป

            เป็นความจริงที่ว่าในยุคสงครามเย็นทั้งค่ายสหรัฐกับโซเวียตรัสเซียต่างเร่งพัฒนาอาวุธ แจกจ่ายแก่พรรคพวก เป็นประโยชน์ของตุรกีในขณะนั้นที่กองทัพพัฒนาอย่างรวดเร็วด้วยอาวุธ MADE IN USA และเป็นความจริงที่ว่า การซื้อใช้อาวุธของประเทศใดเท่ากับต้อง “พึ่งพา” ความมั่นคงทางทหารจากประเทศนั้น เปรียบเทียบง่ายๆ ว่าอาวุธเหมือนรถยนต์ที่ต้องใช้ชิ้นส่วนเฉพาะจากบริษัทผู้ผลิตเท่านั้น ชิ้นส่วนเหล่านี้จำต้องเปลี่ยนซ่อมบำรุงเป็นประจำ หากไม่มีแล้วอาวุธไม่ว่าจะกี่ร้อยกี่พันล้านจะกลายเป็นแค่เศษเหล็ก

            ในฐานะรัฐอธิปไตยควรยืนบนขาตนเอง ไม่พึ่งจมูกคนอื่นหายใจ การซื้อ S-400 อาจตีความว่าคือก้าวเล็กๆ อีกก้าวที่ตุรกีสร้างความมั่นคงแก่ตนมากขึ้น รัฐบาลสหรัฐเข้าใจตรรกะเหล่านี้อย่างดีแต่ยืนกรานว่าต้องใช้อาวุธของนาโตซึ่งหมายถึงอาวุธของสหรัฐเป็นหลักนั่นเอง

            อะไรคือความหมายของคำว่า “พันธมิตรนาโต”

พันธมิตรนาโต ความสัมพันธ์อันซับซ้อน :

            ตุรกีเป็นอีกตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์อันซับซ้อนของการเป็นพันธมิตรนาโต บทความนี้มุ่งพูดในกรอบแคบเน้นการเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงระหว่างตุรกีกับสหรัฐ เมื่อวิเคราะห์ให้ถ่องแท้จะเกิดคำถามว่าอย่างไรเรียกว่าพันธมิตร คือการร่วมหัวจมท้ายรักษาอธิปไตยของกันและกันจริงไหม การอยู่ร่วมกันเป็นอย่างไร บนความเท่าเทียมหรือการที่ประเทศหนึ่งเหนือกว่าชาติสมาชิกอื่นๆ ภายใต้ระบอบที่มหาอำนาจตั้งขึ้น

ในกรณี S-400 ถ้ามองว่าวัตถุประสงค์ของนาโตคือประโยชน์ร่วมของสมาชิก ตุรกีกำลังขัดขวางส่วนรวม แต่ถ้ามองว่าหลายอย่างที่นาโตทำเอื้อประโยชน์ให้สหรัฐเป็นหลัก เช่นนี้เท่ากับรัฐบาลแอร์โดกานพยายามรักษาผลประโยชน์ประเทศตน

27 ธันวาคม 2020 
ชาญชัย คุ้มปัญญา 
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 25 ฉบับที่ 8812 วันอาทิตย์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2563)

 --------------------

บทความที่เกี่ยวข้อง : 
ยุทธศาสตร์เปลี่ยนภัยคุกคามเป็นโอกาสของตุรกี
รัฐบาลแอร์โดกานเลือกเผชิญหน้าภัยคุกคาม มองเป็นโอกาสตักตวงผลประโยชน์ ไม่เกรงกลัวขัดแย้งชาติมหาอำนาจ ประเทศเพื่อนบ้าน เป็นยุทธศาสตร์เปลี่ยนภัยคุกคามเป็นโอกาส
รัฐบาลตุรกีส่งกองทัพเข้าซีเรีย อ้างเหตุผลเพื่อปราบปราม IS ป้องปรามภัยคุกคามจากเคิร์ดซีเรีย ความจริงที่ต้องเข้าใจคือปฏิบัติการครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากขั้วสหรัฐ ได้ความเห็นชอบจากรัฐบาลรัสเซีย ผลลัพธ์ที่ได้จึงจำกัด เป็นหลักฐานอีกชิ้นชี้ว่าอนาคตของซีเรียไม่เป็นของคนซีเรียอีกต่อไป ประเทศนี้กลายเป็นสมรภูมิ ดินแดนที่หลายประเทศเข้ากอบโกยผลประโยชน์ โดยอ้างปราบปรามผู้ก่อการร้าย สนับสนุนฝ่ายต่อต้านหรือไม่ก็สนับสนุนรัฐบาลซีเรีย นี่คือพัฒนาการล่าสุดจากความวุ่นวายภายในของประเทศนี้
บรรณานุกรม :

1. Erdogan blames Trump, but should be looking closer to home. (2018, August 17). Asia Times. Retrieved from http://www.atimes.com/article/erdogan-blames-trump-but-should-be-looking-closer-to-home/

2. Erdogan's Putsch: Turkey's Post-Coup Slide into Dictatorship. (2016, July 30). BBC. Retrieved from http://www.bbc.com/news/world-us-canada-36925723

3. Kurdish peace impossible: Erdogan. (2015, July 29). The Peninsula. Retrieved from http://thepeninsulaqatar.com/news/middle-east/348825/kurdish-peace-impossible-erdogan

4. Larrabee, F. Stephen. (2008). Turkey as a U.S. Security Partner. USA: RAND Corporation.

5. Lira collapses as Erdogan tells Turks: They have 'their dollars,' we have 'our god'. (2018, August 10). CNBC. Retrieved from https://www.cnbc.com/2018/08/10/lira-hits-all-time-low-as-erdogan-tells-turks-they-have-their-dollar.html

6. President of Turkey Urges Resistance as Military Attempts Coup. (2016, July 15). The New York Times. Retrieved from http://www.nytimes.com/2016/07/16/world/europe/military-attempts-coup-in-turkey-prime-minister-says.html?_r=0

7. S-400 missile systems will not be integrated into NATO system, Defense Minister says. (2017, March 16). Daily Sabah. Retrieved from https://www.dailysabah.com/defense/2017/03/16/s-400-missile-systems-will-not-be-integrated-into-nato-system-defense-minister-says

8. Turkey Attacks Kurdish Militant Camps in Northern Iraq. (2015, July 25). The New York Times. Retrieved from http://www.nytimes.com/2015/07/26/world/middleeast/turkey-attacks-kurdish-militant-camps-in-northern-iraq.html?_r=0

9. Turkey agrees to pay Russia $2.5B for S-400 missile systems, official says. (2017, July 14). Daily Sabah. Retrieved from https://www.dailysabah.com/defense/2017/07/13/turkey-agrees-to-pay-russia-25b-for-s-400-missile-systems-official-says

10. Turkey increases tariffs on some US imports. (2018, August 15). Daily Sabah. Retrieved from https://www.dailysabah.com/economy/2018/08/15/turkey-increases-tariffs-on-some-us-imports

11. Trump moves to sanction Turkey over Russian missile defense system under pressure from Congress. (2020, December 14). CNN. Retrieved from https://edition.cnn.com/2020/12/14/politics/trump-turkey-s400-sanctions/index.html

12. Turkey slams unilateral US sanctions over S-400s. (2020, December 14). Anadolu Agency. Retrieved from https://www.aa.com.tr/en/politics/turkey-slams-unilateral-us-sanctions-over-s-400s/2076830

13. Williams, Paul A. (2011). Turkey: A Neglected Partner. In Akbarzadeh, Shahram (editor). America's Challenges in the Greater Middle East: The Obama Administration's Policies (pp.237-254). New York: Palgrave Macmillan

--------------------------