กองทัพตุรกีในดินแดนซีเรีย

เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมากองทัพตุรกีพร้อมรถถังและกองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรีย Free Syrian Army (FSA) ราว 1,500 นายเข้าทำสงครามในดินแดนซีเรีย ภายใต้ปฏิบัติการชื่อ “Operation Euphrates Shield” ประธานาธิบดีเรเจพ ทายยิพ แอร์โดกาน (Recep Tayyip Erdogan) กล่าวว่าเพื่อป้องกันภัยคุกคามจากกลุ่มก่อการร้ายทั้ง IS/ISIL/ISIS กับเคิร์ดซีเรีย (รัฐบาลตุรกีถือว่าเคิร์ดซีเรีย YPG เป็นผู้ก่อการร้าย)
            รัฐบาลโอบามาเห็นชอบด้วย ให้ความคุ้มครองทางอากาศ มีส่วนในการโจมตี IS
            รัฐบาลซีเรียประณามตุรกีละเมิดอธิปไตย ย้ำว่าปฏิบัติการทางทหารในดินแดนซีเรียต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลซีเรียก่อน
            เพียง 2 วันกองกำลังตุรกีสามารถยึดเมือง Jarablus (อยู่ใกล้พรมแดนและติดฝั่งตะวันตกของแม่น้ำยูเฟรติส) และพื้นที่โดยรอบ ไม่มีข่าวปะทะรุนแรงไม่ว่ากับ IS หรือเคิร์ด
ผลประโยชน์และเหตุผลของตุรกี :
รัฐบาลตุรกีประกาศจุดประสงค์ชัดตั้งแต่ต้นว่าเป้าหมายคือให้กองกำลัง YPG (เคิร์ดซีเรีย) ถอยห่างออกจากแม่น้ำยูเฟรติส นายกฯ Binali Yildirim กล่าวว่า “ข้อตกลงที่ทำกับสหรัฐคือพวกเคิร์ดที่เมือง Manbij และพื้นที่โดยรอบจะต้องถอนตัวออกไปทางตะวันออกของแม่น้ำยูเฟรติส” ชี้ว่าเป็นผลดีต่ออธิปไตยซีเรียด้วย
          ประการแรก สกัดกั้นพวกเคิร์ดเพื่อความมั่นคงภายใน
เป้าหมายของตุรกีไม่ใช่เพื่อปราบปรามเคิร์ดซีเรียให้สิ้นซาก เพราะรัฐบาลสหรัฐไม่ยินยอม ต้องการเพียงแยกเคิร์ดซีเรียที่ขยายอิทธิพลตามแนวพรมแดนไม่ให้ติดต่อกันเป็นแนวเดียวกัน จึงเข้าควบคุมพื้นที่ใจกลางบริเวณแม่น้ำยูเฟรติส เกิดเขตพื้นที่ๆ ตุรกีควบคุม
            สงครามกลางเมืองซีเรียทำให้พวกเคิร์ดยึดพื้นที่ภาคเหนืออ้างว่าเพื่อความปลอดภัยจาก IS แต่อีกนัยหนึ่งคือฉวยโอกาสจัดตั้งเขตปกครองตนเอง ชาวเคิร์ดมีความคิดเช่นนี้มาโดยตลอด บางคนอ้างความฝันตั้งประเทศเคอร์ดิสถาน (Kurdistan) ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 เจ้าอาณานิคมอังกฤษสัญญาว่าจะมอบดินแดนส่วนหนึ่งให้เคิร์ดปกครองตนเอง แต่รัฐบาลอังกฤษไม่รักษาสัญญา
            ครบศตวรรษแล้วที่เคิร์ดไม่ว่าจะในอิรัก ตุรกี ซีเรียพยายามดิ้นรนเพื่อความฝันดังกล่าว สูญเสียชีวิตทรัพย์สินจำนวนมาก เมื่อไม่นานนี้มีกำลังใจมากขึ้นเมื่อเห็นตัวอย่างจากเคิร์ดอิรักที่บัดนี้กลายเป็นเขตปกครองตนเอง มีอำนาจต่อรองรัฐบาลแบกแดด และอาจกลายเป็นรัฐอธิปไตยในอนาคต

            รัฐบาลตุรกีต่อต้านการปกครองตนเองของเคิร์ดซีเรียเรื่อยมา มิถุนายน 2015 ประธานาธิบดีแอร์โดกานกล่าวว่าจะไม่ยอมให้เกิดรัฐเคิร์ดทางตอนเหนือของซีเรียหรือตอนใต้ของตุรกี “เราจะไม่ยอมให้เกิดรัฐ (เคิร์ด) ไม่ว่าจะทางตอนเหนือหรือตอนใต้ เราจะสู้ไม่ว่าต้องจ่ายมากราคาเพียงใด” “พวกเขาต้องการเปลี่ยนโครงสร้างภูมิศาสตร์ภูมิภาคนี้ เราไม่สามารถทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น”
            ความกังวลของตุรกีคือหากเคิร์ดสามารถรวมตัวกันสร้างเขตปกครองตนเองในอิรัก ซีเรีย จะลามเข้ามาในตุรกีด้วย เพราะเคิร์ดซีเรียเชื่อมโยงกับเคิร์ดในประเทศ ตุรกีเป็นดินแดนที่ชาวเคิร์ดอาศัยอยู่มากที่สุด (รองลงมาคืออิรัก อิหร่าน และซีเรีย)

Selim Sazak จาก The Century Foundation เห็นว่าจากสถานการณ์ล่าสุดเท่ากับรัฐบาลตุรกียอมรับแล้วว่าไม่อาจโค่นล้มระบอบอัสซาด พื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศจะกลายเป็นเขตอิทธิพลของพวกเคิร์ด แผนใหม่จึงมุ่งเป้าสกัดการสร้างเขตปกครองตนเอง
            จากการวิเคราะห์พบว่ารัฐบาลตุรกีไม่สามารถบรรลุเป้าหมายทุกอย่างที่ต้องการ เหตุเพราะไม่อาจต้านแรงกดดันจากต่างชาติที่สนับสนุนเคิร์ด แม้เคิร์ดซีเรียยังไม่ประกาศเขตปกครองตนเอง แต่ในเชิงรูปธรรมมีพื้นที่ปกครองตนเองแล้ว ได้แต่ส่งคำเตือนว่าไม่ยอมให้เคิร์ดซีเรียประกาศเขตปกครองตนเองอย่างเป็นทางการ
Operation Euphrates Shield” จึงเป็นคำเตือนว่าจะไม่ยอมให้ความฝันของเคิร์ดคุกคามอนาคตของตุรกี

          ประการที่ 2 ชูบทบาทของประเทศในภูมิภาค
            นับจากสงครามโค่นล้มระบอบซัดดัม ฮุสเซน ตามด้วยอาหรับสปริงส์ ผู้มีปากเสียงในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือนับวันจะเหลือน้อยลง ประเทศที่กลายเป็นสมรภูมิยาวนานและยังไม่รู้ว่าจะจบสิ้นเมื่อไหร่อย่างอิรัก เยเมน ซีเรีย ลิเบีย แม้มีรัฐบาลแต่กลายเป็นประเทศอ่อนแอเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านที่ไม่เกิดสงครามกลางเมือง เสริมให้ประเทศที่ยังอยู่ดีมีอิทธิพลสูงขึ้นในเชิงเปรียบเทียบ ระบบระเบียบตะวันออกกลางจึงเอื้อประโยชน์แก่ประเทศเหล่านี้
            ในแง่ของตุรกี รัฐบาลแอร์โดกานเพิ่งผ่านพ้นช่วงเวลาอันน่าระทึกจากเหตุกบฏเมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา (ถ้าคิดให้ไกลคือรอดพ้นอาหรับสปริงส์ตุรกี) มีข้อมูลว่าเครื่องบินรบลำหนึ่งของฝ่ายกบฏเกือบเข้าถึงเครื่องบินที่ประธานาธิบดีแอร์โดกานโดยสารอยู่ ดีที่เครื่องบินรบลำนั้นน้ำมันหมดเสียก่อน
            ไม่ว่ารัฐบาลตะวันตกสนับสนุนการกบฏหรือไม่ บัดนี้รัฐบาลแอร์โดกานยังติดต่อกับตะวันตก รัฐบาลยังเดินหน้าต่อไป ชีวิตต้องดำเนินต่อไป
โดยรวมแล้ว ผู้มีปากเสียงในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือในขณะนี้เหลือแต่กลุ่ม GCC ที่มีซาอุฯ เป็นแกนนำกับรัฐบาลแอร์โดกานเท่านั้น
การส่งกองทัพเข้าซีเรียส่งเสริมบทบาทตุรกีในภูมิภาค อย่างน้อยได้ส่วนแบ่งชิ้นหนึ่งบนความสูญเสียของซีเรีย ไม่ว่าใครจะพอใจหรือไม่พอใจอย่างไร เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย
นี่คือสถานการณ์โลกแห่งความจริงและกำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้

แผนบุกซีเรียเดิมกับแผนใหม่ :
ประเด็นที่ควรเข้าใจคือความคิดบุกเข้าซีเรียไม่ใช่เรื่องใหม่นัก กลางเดือนตุลาคม 2014 นายเมฟเลิต ชาวูโชลู  (Mevlut Cavusoglu) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศตุรกีอธิบายแนวคิดส่งทหารเข้ารบทางภาคพื้นดิน ชี้ว่าการโจมตี IS ทางอากาศไม่ค่อยได้ผล ตุรกีจึงคิดปฏิบัติการภาคพื้นดิน แผนปราบ IS ต้องเป็นแผนที่ครอบคลุม จัดการภัยคุกคามทั้งหมด เป็นไปได้ว่าส่วนหนึ่งของแผนคือเข้าล้มระบอบอัสซาด อันเป็นเหตุความไร้เสถียรภาพ (ตามมุมมองของตุรกี) แต่ต้องได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรก่อน
1 ปีต่อมารัฐสภาตุรกีลงมติอนุญาตให้ส่งทหารเข้าอิรักกับซีเรีย และให้ทหารต่างชาติมาประจำการในประเทศ มติรัฐสภาคือหลักฐานสำคัญอีกชิ้นต่อเรื่องส่งกองทัพเข้าซีเรีย
            ที่ต่างจากแผนเดิมคือ เดิมประเทศที่เข้าร่วมรบภาคพื้นดินจะประกอบด้วยตุรกีกับสมาชิกนาโตบางประเทศ ปฏิบัติการครั้งนี้รัฐบาลแอร์โดกานไม่รอประเทศอื่นอีกแล้ว 

            ความแตกต่างสำคัญอีกข้อคือ รัฐบาลแอร์โดกานต้องการยึดพื้นที่บางส่วนเท่านั้น ไม่ถึงกับโค่นล้มระบอบอัสซาด เพราะยากจะเป็นไปได้เมื่อรัสเซียตั้งฐานทัพของตนในซีเรีย ใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดใส่พวกผู้ก่อการร้ายเป็นประจำ ทั้งยังเชื่อว่าก่อนเริ่มปฏิบัติการน่าจะรับได้ความร่วมมือจากรัสเซีย เพื่อป้องกันเหตุไม่คาดฝัน สัมพันธ์ทวิภาคีก็ดีขึ้นมาก นับจากเหตุกบฏโค่นล้มรัฐบาลแอร์โดกาน
ด้านรองประธานาธิบดีโจ ไบเดน เรียกร้องให้เคิร์ดซีเรียถอนตัวกลับไปฝั่งตะวันออกของแม่น้ำยูเฟรติส เตือนว่าหากดื้อดึงสหรัฐจะไม่สนับสนุนอีกต่อไป เป็นอีกเหตุผลว่าการยึดพื้นที่จะดำเนินด้วยความเรียบร้อย เป็นปฏิบัติการจำกัดขอบเขตที่ทุกผ่านความเห็นชอบจากทุกฝ่าย
ผลที่ได้คือเกิดเขตปลอดภัย (หรือชื่อใดๆ) ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลตุรกี ประเด็นสำคัญที่ควรติดตามคือพัฒนาการของเขตดังกล่าวในอนาคต กองกำลังตุรกีจะประจำการในพื้นที่อีกนานเพียงใด

วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :
            ประเด็นหนึ่งที่เอ่ยถึงอยู่เสมอคือซีเรียในอนาคตจะแยกเป็นกี่ส่วน ที่เห็นชัดคือ ส่วนของรัฐบาลอัสซาด ฝ่ายต่อต้านสายกลาง เคิร์ดซีเรีย ผู้ก่อการร้าย IS (รวมกับกลุ่มอื่นๆ) และบัดนี้เพิ่มอีกหนึ่งคือชาวซีเรียที่รัฐบาลตุรกีสนับสนุนโดยตรง ดังนั้นสามารถแยกออกเป็น 5 ส่วนใหญ่ๆ
            เป็นเรื่องที่ชาวซีเรียคงไม่เคยนึกฝันมาก่อน

            ประเด็นที่ควรติดตามคือ กองทัพตุรกีจะปะทะกับผู้ก่อการร้าย IS จริงจังมากเพียงใด ประธานาธิบดีอัสซาดเคยกล่าวว่า “ตุรกีให้การสนับสนุนผู้ก่อการร้ายทุกอย่าง ให้การสนับสนุนทุกกลุ่ม” ทั้ง al-Nusra Front ซึ่งหมายถึงอัลกออิดะห์กับ IS โดยให้การสนับสนุนทั้งการระดมคน เงิน การขนส่ง อาวุธ การข่าว ข้อมูล เงินสนับสนุนจากที่ต่างๆ ล้วนผ่านทางตุรกี น้ำมันที่ IS ขายก็ผ่านทางตุรกี 

รัฐบาลตุรกีพยายามชี้ว่าประชาชนซีเรียที่ต่อต้านรัฐบาลอัสซาดคือผู้ยึดพื้นที่ เป็นเรื่องของสงครามกลางเมืองซีเรีย แน่นอนว่ารัฐบาลตุรกีไม่ปฏิเสธบทบาทของตนเอง แต่พยายามยกความดีความชอบแก่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรียกลุ่มนี้ อาศัยกลุ่มดังกล่าวเป็นตัวชูโรงยึดครองพื้นที่
            จากบทบาททั้งหมดของรัฐบาลตุรกี ทั้งต่อพวกเคิร์ดกับ IS เกิดคำถามว่าปฏิบัติการครั้งนี้เป็นเพียงสงครามต่อต้านผู้ก่อการร้าย IS กับเพื่อป้องปรามพวกเคิร์ดหรือ เป็นสงครามกลางเมืองระหว่างกองกำลังฝ่ายต่อต้านกับรัฐบาลอัสซาด หรือสงครามระหว่างประเทศตุรกีกับประเทศซีเรีย เป็นคำถามเดิมๆ ที่ต้องถามกลุ่มประเทศต่างๆ ที่ให้อาวุธ ทุ่มเทงบประมาณมหาศาลแก่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลอัสซาด จนสงครามกลางเมืองยืดเยื้อยาวนานถึงเพียงนี้และไม่รู้ว่าจะจบเมื่อใด
            คำตอบนั้นซับซ้อนและต้องอธิบายอีกยาว

            ข้อคิดที่ต้องระลึกถึงเสมอคือ เมื่อความขัดแย้งซีเรียบานปลายกลายเป็นสงครามกลางเมือง ต่างชาติเข้าแทรกแซง อนาคตซีเรียไม่ได้อยู่ในมือของชาวซีเรียอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายสนับสนุนหรือต่อต้านรัฐบาล แต่ยังขึ้นกับความต้องการ ผลประโยชน์ของประเทศที่เกี่ยวข้อง ตุรกีส่งกองทัพเข้าดินแดนซีเรียเป็นหลักฐานล่าสุด
            เป็นเรื่องน่าเศร้าแต่ต้องยอมรับความจริง โอกาสที่ซีเรียจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมแทบไม่มีอีกแล้ว ซีเรียจะเหมือนอิรักที่ประเทศจะไม่เป็นหนึ่งเดียวอีกต่อไป คำถามสำคัญกว่าคือทำอย่างไรบ้านเมืองจะกลับมาสงบสุขอีกครั้ง เป็นอุทาหรณ์แก่ประเทศอื่นๆ นโยบายที่ดีที่สุดคือป้องกันไม่ให้สถานการณ์บานปลายตั้งแต่ต้น เพราะเมื่อเกิดแล้วใครจะควบคุมได้
28 สิงหาคม 2016
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 20 ฉบับที่ 7234 วันอาทิตย์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ.2559)
--------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :  
สังคมซีเรียไม่ต่างจากสังคมประเทศอื่นๆ ที่มีทั้งฝ่ายสนับสนุนกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาล พลเมืองซีเรียท้องถิ่นที่ต่อต้านรัฐบาลคือฝ่ายต่อต้านสายกลาง แต่มีอีกหลายกลุ่มที่รัฐบาลสหรัฐกับพันธมิตรถือว่าเป็นฝ่ายต่อต้านสายกลาง เช่น ชาวซีเรียที่ย้ายถิ่นอาศัยต่างประเทศ รัฐบาลโอบามากับพันธมิตรวางบทบาทคนเหล่านี้เป็นว่าที่รัฐบาลซีเรียในอนาคต กลายเป็นพวกหุ่นเชิด ชาวเคิร์ดซีเรียเป็นอีกกลุ่มที่เป็นฝ่ายต่อต้านสายกลาง แต่ถูกวางบทบาทให้กลายเป็นเขตปกครองตนเอง ซีเรียถูกแบ่งแยก
บรรณานุกรม:
1. Biden orders Syrian Kurds to pull back; Assad govt slams Turkish incursion. (2016, August 24). Arab News. Retrieved from http://www.arabnews.com/node/974651/middle-east
2. Erdogan Strikes Back: What’s Behind Turkish Military Operation in Syria. (2016, August 24). Sputnik. Retrieved from http://sputniknews.com/middleeast/20160824/1044603365/turkey-syria-operation.html
3. McDowall, David. (2004). A Modern History of the Kurds, (3rd ed.). New York: I.B. Tauris.
4. President al-Assad to French magazine Valeurs Actuelles. (2015, November 19). SANA. Retrieved from http://sana.sy/en/?p=61879
5. Rozen, Laura. (2015, December 2). Turkey makes progress on sealing Syria border, but is it enough? Al Monitor. Retrieved from http://www.al-monitor.com/pulse/originals/2015/12/turkey-cooperation-us-frustration-syria-border.html
6. Syria condemns Turkey’s breach of Syria’s sovereignty in Jarablos. (2016, August 24). SANA. Retrieved from http://sana.sy/en/?p=86277
7. Turkey deploys more tanks in Syria, warns Kurdish YPG. (2016, August 26). Al Jazeera. Retrieved from http://www.aljazeera.com/news/2016/08/turkey-deploys-tanks-syria-warns-kurdish-ypg-160825131652728.html
8. Turkey rolls on with Syria operation as US confirms retreat of Syrian Kurds. (2016, August 25). Deutsche Welle. Retrieved from http://www.dw.com/en/turkey-rolls-on-with-syria-operation-as-us-confirms-retreat-of-syrian-kurds/a-19501608
9. Turkey's Erdogan says will 'never allow' Kurdish state: media. (2015, June 27). Reuters. Retrieved from http://www.reuters.com/article/2015/06/27/us-mideast-crisis-turkey-kurds-idUSKBN0P70QB20150627
10. Turkey's Syria offensive aimed at Kurdish YPG. (2016, August 24). Deutsche Welle. Retrieved from http://www.dw.com/en/turkeys-syria-offensive-aimed-at-kurdish-ypg/a-19497653
11. Turkish Parliament approves motion on Syria, Iraq amidst opposition fury at interim gov’t. (2015, September 3). Today’s Zaman. Retrieved from http://www.todayszaman.com/national_turkish-parliament-approves-motion-on-syria-iraq-amidst-opposition-fury-at-interim-govt_398207.html
12. Turkish tanks enter Syria, Ankara vows to fight ISIS, PYD. (2016, August 24). Al Arabiya/AP. Retrieved from http://english.alarabiya.net/en/News/middle-east/2016/08/24/Turkish-military-US-led-coalition-launch-operation-in-northern-Syria.html
13. Ünal, Ali. (2014, October 12). TURKISH FM: WEST UNDERSTANDS TURKISH FOREIGN POLICY’S CONSISTENCY IN SYRIA AND IRAQ. Daily Sabah. Retrieved from http://www.dailysabah.com/politics/2014/10/12/turkish-fm-west-understands-turkish-foreign-policys-consistency-in-syria-and-iraq
-----------------------------