ผลเมื่อชาติอาหรับญาติดีกับอิสราเอล

การปรับความสัมพันธ์อิสราเอลกับชาติอาหรับเป็นกรณีน่าศึกษา จากศัตรูที่อยู่ร่วมโลกไม่ได้แต่นับวันความเป็นศัตรูหดหาย อุดมการณ์เปลี่ยนได้ เป้าหมายเปลี่ยนไป เปิดเผยชัดเจนกว่าเดิม

            13 สิงหาคม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กับอิสราเอลประกาศสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระดับปกติตามข้อตกลง Abraham Accords Peace Agreement แถลงการณ์ร่วมระบุว่าเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ ก้าวย่างสำคัญของสันติภาพตะวันออกกลาง เดือนถัดมา 11 กันยายน บาห์เรนประกาศสถาปนาการทูตกับอิสราเอลเช่นกันตามแถลงการณ์ Declaration of Peace, Cooperation, And Constructive Diplomatic and Friendly Relations และได้ร่วมลงนามใน The Abraham Accords Declaration

            สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ไม่ใช่ประเทศแรกในกลุ่มภูมิภาคตะวันออกกลาง (ในที่นี้รวมอียิปต์) ที่ญาติดีกับอิสราเอล ก่อนหน้านี้อียิปต์กับจอร์แดนได้ลงนามสันติภาพกับอิสราเอลเมื่อปี 1979 กับ 1994 ตามลำดับ

สถาปนาความสัมพันธ์ระดับปกติหมายถึงอะไร :

            มีการพูดถึงสันติภาพ แก้ปัญหาปาเลสไตน์ด้วยสันติวิธี ยังมีประเด็นสำคัญๆ ที่ควรเอ่ยถึง ได้แก่

          ประการแรก ยอมรับอธิปไตยอิสราเอล

หลายสิบปีที่ผ่านมาอิสราเอลเป็นรัฐเถื่อนในสายตาโลกอาหรับ มุสลิมพากันต่อต้าน บัดนี้ UAE กับบาห์เรนคือ 2 ประเทศอาหรับล่าสุดที่ยอมรับการมีอยู่ของประเทศนี้ เป็นชัยชนะครั้งสำคัญของอิสราเอลเพราะสู้มาตลอดให้นานาชาติยอมรับรัฐชาติแห่งนี้

            นับจากนี้จะทำมาค้าขายกัน ไม่ช้าไม่นานคนยิวจะไปลงทุนในรัฐอาหรับ นักท่องเที่ยว 2 ชาติเดินทางไปมาหาสู่ นี่คือตัวอย่างผลที่จับต้องได้ของการสถาปนาการทูต ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั่วไป

          ประการที่ 2 ประเด็นศาสนา

            1948 เมื่อยิวประกาศสถาปนารัฐอิสราเอล ชาวปาเลสไตน์ผู้อยู่อาศัยเดิมจำนวนหนึ่งถูกขับไล่ออกจากถิ่นอาศัยกลายเป็นชนวนขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับชาติอาหรับอย่างรุนแรง เกิดสงครามถึง 5 ครั้ง บาดเจ็บล้มตายนับหมื่น ความขัดแย้งนี้ไม่เป็นเพียงเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ มุสลิมทั่วโลกจำนวนมากตีความว่าเป็นเรื่องศาสนาด้วย มุสลิมบางคนถือว่าคนยิวโดยเฉพาะพวกไซออนิสต์เป็นศัตรูที่อยู่ร่วมโลกไม่ได้ แต่นับจากนี้อิสราเอลคือมิตรประเทศดังเช่นมิตรประเทศอื่นๆ

            The Jerusalem Post สื่ออิสราเอลนำเสนอข่าวว่าสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เริ่มปรับแก้หนังสือเรียนของเด็กชั้น 1-12 เรื่องการญาติดีกับอิสราเอลในคำสอนศาสนา (Moral Education) ระบุประโยชน์ของสันติภาพระหว่างยิวกับอาหรับ การยอมรับคนต่างเชื้อชาติต่างศาสนา

            เนื้อหาตอนหนึ่งใน Abraham Accords Peace Agreement ระบุชัดว่าทั้งอาหรับกับยิวต่างเป็นลูกหลานของอับราฮัม (Abraham) ความจริงแล้วในภูมิภาคตะวันออกกลางประกอบด้วยมุสลิม ยิว พวกนับถือคริสต์ และผู้นับถือศาสนาความเชื่ออื่นๆ แม้แตกต่างแต่ปรารถนาอยู่ร่วมกัน (spirit of coexistence) ด้วยความเข้าใจและเคารพซึ่งกันและกัน

            เรื่องนี้เป็นประเด็นอ่อนไหว วิพากษ์ได้มากมายหากพูดในมุมศาสนา

ประเด็นในอนาคต :

            นอกจากประเด็นรูปธรรมที่เกิดขึ้นแล้วข้างต้น ยังมีประเด็นอนาคตที่ต้องขบคิด อย่างน้อย 2 ประการ

          ประการแรก หยุดลุกล้ำดินแดนได้หรือ

            การเข้าใจเรื่องลุกล้ำดินแดนต้องเริ่มจากนโยบายของรัฐบาลอิสราเอล

            เมื่อพฤษภาคมที่ผ่านมานายกฯ เนทันยาฮูประกาศย้ำต้องผนวกพื้นที่ส่วนใหญ่ของเวสต์แบงก์ให้เป็นส่วนหนึ่งของประเทศอิสราเอล เพื่อบันทึกอีกหน้าประวัติศาสตร์ความรุ่งเรืองของลัทธิไซออนิสต์ (Zionism) พวกปาเลสไตน์จำต้องยอมรับ ล่าสุดคนยิวราว 4 แสนคนตั้งถิ่นฐานอาศัยในเวสต์แบงก์ อิสราเอลมีแผ่นดินมากขึ้น มั่นคงกว่าเดิม บนความสูญเสียของคนปาเลสไตน์หลายล้านคน (กว่า 5.3 ล้านคนที่อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยเกือบ 7 ทศวรรษแล้ว)

            บุตรเขยประธานาธิบดีทรัมป์ จาเร็ด คุชเนอร์ (Jared Kushner) ผู้มีบทบาทสำคัญต่อการปรับความสัมพันธ์กล่าวว่า “อะไรก็เป็นไปได้” เมื่ออาหรับญาติดีกับอิสราเอล ชี้ว่าคนตะวันออกกลางเลิกยึดติดความขัดแย้งในอดีต ต้องการแบ่งปันโอกาสร่วมกัน ทำธุรกิจร่วมกัน เรียนรู้จักกันและกัน

            แนวคิดของคุชเนอร์แนะให้ลืมอดีตเพื่อก้าวสู่อนาคตร่วมกัน แต่ที่คุชเนอร์ไม่เอ่ยถึงคือทุกวันนี้อิสราเอลไม่หยุดลุกล้ำดินแดนปาเลสไตน์ ชาวปาเลสไตน์หลายล้านคนยังทนทุกข์ ไร้อนาคต เรื่องราวเหล่านี้ยังคงกำลังดำเนินต่อไป ไม่ได้จบเพื่อเริ่มต้นกันใหม่

            ผู้นำอาหรับบางคนกล่าวว่าพวกเขาไม่ได้ทอดทิ้งปาเลสไตน์ ควรถามกลับว่าปาเลสไตน์จะได้ดินแดนคืนหรือไม่ เมื่อไหร่ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ... คำว่าสันติภาพที่ทำกับอิสราเอลหมายถึงอะไรกันแน่ ข้อตกลงระบุชัดว่าสนับสนุนการเจรจาตามแนวทาง two-state solution แต่ไม่มีคำสัญญาว่าอิสราเอลจะคืนดินแดนแก่ปาเลสไตน์

            การปรับสัมพันธ์การทูตรอบนี้คล้ายกรณีประชุมสุดยอดที่แคมป์เดวิด 1978 อียิปต์กับอิสราเอลได้ลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพฉบับสมบูรณ์ นายเมเนเฮม เบกิน (Menachem Begin) นายกฯ อิสราเอลสมัยนั้นให้สัญญาว่าจะไม่ตั้งถิ่นฐานเพิ่มเติมในเขตเวสต์แบงก์ ในขณะที่ชาติอาหรับเห็นว่าอียิปต์เป็นคนทรยศ ชาวปาเลสไตน์เห็นว่าตนถูกชาติอาหรับทอดทิ้ง

            ถ้าทบทวนอดีตจะพบว่าตั้งแต่อียิปต์กับจอร์แดนญาติดีกับอิสราเอล การรุกคืบกินดินแดนยังคงดำเนินต่อเนื่อง ไม่มีทีท่าว่าปาเลสไตน์จะได้คืน อียิปต์กับจอร์แดนยังคงความสัมพันธ์ตามปกติกับอิสราเอลต่อไปแม้นานาชาติจะประณามอิสราเอลทุกปีก็ตาม

          บัดนี้ประเทศที่ครั้งหนึ่งเคยประณามอียิปต์ได้เดินตามรอยอียิปต์แล้ว

            ต้องยอมรับว่าการสถาปนาการทูตไม่เป็นประโยชน์ต่อการคืนดินแดนแก่ปาเลสไตน์ และต้องยอมรับว่าไม่มีประเทศใดสามารถหยุดอิสราเอล

            นายมาห์มูด อับบาส (Mahmoud Abbas) ประธานาธิบดีปาเลสไตน์กล่าวว่า UAE กับบาห์เรน “ทรยศต่อเยรูซาเล็ม มัสยิดอัล-อักซอร์ (Al-Aqsa Mosque) ต่อประเด็นปาเลสไตน์ “

            แต่ไม่ว่าปาเลสไตน์เจ้าของพื้นที่จะพูดอย่างไร รัฐบาล UAE กับบาห์เรนยืนยันจุดยืนของตน

          ประการที่ 2  เยรูซาเล็มจะเป็นของอิสราเอลโดยสมบูรณ์หรือไม่

            ย้อนประวัติศาสตร์ครั้งเมื่อก่อตั้งรัฐอิสราเอล เยรูซาเล็มตะวันออกอยู่ใต้การควบคุมของจอร์แดน ต่อมาปี 1967 เกิดสงคราม 6 วัน (Six-Day War) อิสราเอลเข้ายึดเยรูซาเล็มตะวันออกและประกาศผนวกเป็นส่วนหนึ่งของอิสราเอล ปี 1994 อิสราเอลลงนามสันติภาพกับจอร์แดนๆ เป็นผู้ดูแลสถานศักดิ์สิทธิ์ของเขตตะวันออกนี้

            สถานศักดิ์สิทธิ์ที่ว่ารวมถึงมัสยิดอัล-อักซอร์ (Al-Aqsa Mosque) กับโดมทองแห่งศิลา (Dome of the Rock) ที่มีความสำคัญยิ่งต่อมุสลิมทั่วโลก

            เมื่อไม่กี่ปีก่อนรัฐสภาอิสราเอลมีมติให้เยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล เพราะพวกเขายึดถือเช่นนี้มาตลอด รัฐบาลสหรัฐกับอีกหลายประเทศยอมรับและย้ายสถานทูตของตนไปตั้งที่นั่น เป็นการรุกคืบอีกครั้งและพูดกันหนาหูในหมู่มุสลิมว่าพวกไซออนิสต์กำลังพยายามควบคุมมัสยิดอัล-อักซอร์กับโดมทองแห่งศิลาอย่างเบ็ดเสร็จ

            ความเป็นไปของเยรูซาเล็ม มัสยิดอัล-อักซอร์และโดมทองแห่งศิลาเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกัน ที่ผ่านมาอิสราเอลค่อยๆ รุกคืบทำนองเดียวกับการรุกกินดินแดนปาเลสไตน์ เป็นประเด็นที่น่าติดตาม

จากศัตรูที่อยู่ร่วมโลกไม่ได้ ... :

            ในทางวิชาการการปรับความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลกับชาติอาหรับเป็นกรณีที่น่าศึกษา จากศัตรูที่อยู่ร่วมโลกไม่ได้แต่นับวันความเป็นศัตรูหดหาย ความเป็นมิตรเด่นชัดขึ้นทุกที ดังคำกล่าวที่ว่าไม่มีมิตรแท้ศัตรูถาวร อุดมการณ์เปลี่ยนได้ เป้าหมายเปลี่ยนไป ไม่ว่าใครจะมองแง่บวกหรือลบ การเป็นมิตรระหว่างรัฐบาลอาหรับกับรัฐบาลอิสราเอลเป็นเรื่องจริง ข้อตกลงปรับสัมพันธ์การทูตเป็นเพียงอีกก้าวหนึ่งที่เปิดเผย เป็นทางการ

            อันที่จริงแล้วชาติอาหรับอื่นๆ อาจเป็นมิตรกับอิสราเอลมานานแล้ว อยู่ที่ว่าจะเปิดเผยหรือยังปกปิด อยู่ที่ว่าจะยอมรับหรือไม่ยอมรับความจริง บางคนคิดไปไกลถึงขั้นไซออนิสต์ครอบงำอาหรับ

4 ตุลาคม 2020

ชาญชัย คุ้มปัญญา

(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลกไทยโพสต์ ปีที่ 24 ฉบับที่ 8728 วันอาทิตย์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2563)

---------------------------

บทความที่เกี่ยวข้อง :     

ซาอุฯ ร้องขอนานาชาติโดดเดี่ยวอิหร่านอีกครั้ง

เป็นอีกครั้งที่รัฐบาลซาอุฯ พยายามโดดเดี่ยวอิหร่าน ร้องขอนานาชาติช่วยกันคว่ำบาตรให้รุนแรงจริงจังกว่าเดิม แม้จะเป็นแนวทางที่ดำเนินมาหลายทศวรรษแล้ว เชิดชูความเป็นผู้นำมุสลิมโลกของซาอุฯ

มีแนวคิดว่าแท้จริงแล้วการที่รัฐบาลสหรัฐจ้องเล่นงานอิหร่านเป็นเพราะแรงกดดันจากซาอุดีอาระเบีย ความขัดแย้งระหว่างซาอุฯ กับอิหร่านเป็นการช่วงชิงอิทธิพลในภูมิภาคตะวันออกกลางที่ยอมกันไม่ได้
บรรณานุกรม :

1. Abraham Accord signing: top quotes from the signing ceremony. (2020, September 16). The Jerusalem Post. Retrieved from https://www.jpost.com/middle-east/two-states-settlements-not-part-of-israel-deals-with-uae-bahrain-642424

2. Ayatollah Khamenei: UAE betrayed the Islamic world. (2020, September 1). Tehran Times. Retrieved from https://www.tehrantimes.com/news/451905/Ayatollah-Khamenei-UAE-betrayed-the-Islamic-world

3. Fraser, T. G. (2004). The Arab-Israeli Conflict (2nd Ed.). New York: Palgrave Macmillan.

4. Goldschmidt, Arthur Jr., Davidson, Lawrence. (2010). A Concise History of the Middle East (9th Ed.). USA: Westview Press.

5. Israel and the Kingdom of Bahrain to establish 'full diplomatic relations,' Trump says. (2020, September 11). CNN. Retrieved from https://edition.cnn.com/2020/09/11/politics/israel-bahrain-trump/index.html

6. Israel freezes Palestine annexation for UAE ties. (2020, August 13). The National. Retrieved from https://www.thenational.ae/world/gcc/israel-freezes-palestine-annexation-for-uae-ties-1.1063394

7. Israel to swear in unity govt, PM insists on West Bank annexation. (2020, May 17). AFP. Retrieved from https://www.afp.com/en/news/3954/israel-swear-unity-govt-pm-insists-west-bank-annexation-doc-1rr3b29

8. Jared Kushner hails historic Middle East peace deals: 'Makes you realize that anything is possible'. (2020, September 15). Fox News. Retrieved from https://www.foxnews.com/media/jared-kushner-historic-middle-east-peace-deal

9. Jordan warns Trump against Jerusalem recognition. (2017, December 4). Hurriyet Daily News. Retrieved from http://www.hurriyetdailynews.com/jordan-warns-trump-against-jerusalem-recognition-123495

10. Palestinian leader 'rejects and denounces' Israel-UAE deal: statement. (2020, August 14). Reuters. Retrieved from https://www.reuters.com/article/us-israel-emirates-trump-palestinians-ab/palestinian-leader-rejects-and-denounces-israel-uae-deal-statement-idUSKCN2592T5

11. Saudi Arabia calls for global action against Israeli violations. (2020, June 17). Arab News. Retrieved from https://www.jpost.com/israel-news/netanyahu-settlement-annexation-will-bring-peace-628320

12. Trump adviser sees more Arab, Muslim partners for Israel after UAE deal. (2020, August 30). Reuters. Retrieved from https://www.reuters.com/article/us-israel-emirates-usa/trump-adviser-sees-more-arab-muslim-partners-for-israel-after-uae-deal-idUSKBN25Q07A

13. UAE begins teaching about normalization with Israel to grades 1-12. (2020, September 15). The Jerusalem Post. Retrieved from https://www.jpost.com/middle-east/uae-begins-teaching-about-normalization-with-israel-to-grades-1-12-642334

--------------------------