ภาพลักษณ์ของทรัมป์กับสหรัฐในสายตาโลก

Pew Research Center สำรวจความคิดเห็นต่อประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) จำนวน 40,447 ตัวอย่างจาก 37 ประเทศ เป็นข้อมูลจนถึงวันที่ 8 พฤษภาคม 2017 เมื่อเทียบกับประธานาธิบดี บารัก โอบามา (Barack Obama) พบว่าโอบามาได้ความนิยมถึงร้อยละ 64 (ใช้ข้อมูลปีสุดท้ายขณะดำรงตำแหน่ง) ส่วนทรัมป์ได้เพียง 22 เพราะไม่เห็นด้วยกับนโยบายต่างประเทศของประธานาธิบดีทรัมป์ มีเพียงรัสเซียกับอิสราเอลเท่านั้นที่ทรัมป์มีคะแนนนำ
เมื่อเปรียบเทียบ 2 ประธานาธิบดี10 ประเทศแรกที่คะแนนความชอบพอแตกต่างกันมากที่สุด ได้แก่ สวีเดน เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส สเปน แคนาดา อังกฤษ ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น บ่งชี้ว่าผู้นำ 2 ท่านแตกต่างกันมาก มองทรัมป์ในแง่ลบ ประเทศเหล่านี้อยู่ในกลุ่มพัฒนาแล้ว ส่วนใหญ่มีประชาธิปไตยเข้มแข็ง น่าคิดว่าประชาชนในกลุ่มพันธมิตรยุโรปตะวันตกกับเอเชียตะวันออกต่อต้านรัฐบาลทรัมป์ การมีระบอบปกครองเหมือนกันไม่จำต้องเห็นพ้องกับนโยบายสหรัฐที่พยายามอ้างว่าเป็นผู้นำโลกเสรี
            งานศึกษาชิ้นนี้ให้ข้อมูลว่าคนทั่วไปเห็นว่าประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่ดี แต่ไม่ได้หมายถึงประชาธิปไตยแบบอเมริกา ร้อยละ 43 เท่านั้นที่ชื่นชอบประชาธิปไตยแบบอเมริกา  (U.S.-style democracy) ในขณะที่ร้อยละ 46 ไม่ชอบ ประเทศที่ชื่นชอบส่วนใหญ่คือประเทศในแอฟริกากับเอเชียแปซิกฟิก
            บางคนคิดว่าประชาธิปไตยที่ไหนๆ ก็เหมือนกัน ความจริงแล้วคำว่าประชาธิปไตยมีความหมายหลายอย่าง ในเชิงอุดมการณ์หมายถึงการปกครองที่ให้ความสำคัญกับประชาชน ประโยชน์ต้องตกแก่ประชาชน และเป็นประโยชน์ที่ยั่งยืน ส่วนจะเป็นรูปแบบใดนั้นแต่ละประเทศมีพัฒนาการของตนเอง รูปแบบประชาธิปไตยสหรัฐจึงแตกต่างจากอังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฯลฯ
            การสรุปเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าประชาธิปไตยแบบอเมริกาไม่ดี แต่หมายถึง “ความเหมาะสม” แต่ละประเทศมีบริบทแตกต่างกัน ทั้งวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทุกประเทศจะต้องเลือกรูปแบบที่เหมาะสมกับตนเองมากที่สุด ดังที่นำเสนอแล้วว่ารูปแบบการปกครองประชาธิปไตยของสหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฯลฯ ล้วนแตกต่างกัน

เฉพาะกรอบสหรัฐ สังคมอเมริกาถกเถียงเรื่อยมาว่าอะไรคือประชาธิปไตยที่ดีเหมาะสมกับตน รูปแบบที่ดีเป็นอย่างไร ดังที่เคยนำเสนอในบทความก่อนว่า ในช่วงหาเสียงผลสำรวจจาก Pew Research Center เมื่อกันยายน 2016 ชี้ว่าผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งร้อยละ 55 รู้สึกสับสน (frustrated) ต่อทรัมป์ ร้อยละ 53 ต่อฮิลลารี ร้อยละ 53 รังเกียจ (disgusted) ทรัมป์ และร้อยละ 48 รังเกียจฮิลลารี
เมื่อทรัมป์ชนะเลือกตั้ง คนอเมริกันจำนวนมากมองแง่ลบต่อว่าที่ประธานาธิบดีกับคณะรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ทำงาน แต่ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะตั้งแต่ช่วงหาเสียงก็เป็นการเลือกตั้งในแบบที่เรียกว่าเลือก “คนที่แย่น้อยกว่า” (The lesser of the two evils) คนถูกผลักดันให้ออกไปใช้สิทธิ์ ไม่ใช่เพื่อเลือกคนที่ใช่ นโยบายที่ชอบ แต่เลือกคนที่แย่น้อยกว่า หวังสกัดไม่ให้คนที่แย่ที่สุดชนะ
            ปรากฏการณ์เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐครั้งล่าสุด คืออีกหลักฐานที่บ่งชี้ว่าระบอบประชาธิปไตยอเมริกามีปัญหา พูดให้ถูกต้องกว่าคือมีปัญหานานแล้วและยังไม่ได้รับการแก้ไข

ผู้นำไม่ได้รับความนิยม บั่นทอนพลังอำนาจอ่อน :
นโยบายต่างประเทศที่บั่นทอนคะแนนนิยมทรัมป์ เช่น การสร้างกำแพงกั้นพรมแดนสหรัฐ-เม็กซิโก ไม่สนับสนุนการค้าเสรี ยกเลิกข้อตกลงปารีสเรื่องภาวะโลกร้อน ห้ามมุสลิม 6 สัญชาติเข้าประเทศ
บุคลิกภาพส่วนตัวเป็นอีกเหตุผลที่คนไม่ชอบ เห็นว่าเป็นคนโอหังเย่อหยิ่ง (arrogant) ขาดความอดทน (intolerant) และอันตราย (dangerous) มีข้อดีเรื่องภาวะผู้นำ เป็นผู้นำเข้มแข็ง
ด้วยนโยบายและบุคลิกภาพ ผู้ตอบแบบสอบถามราว 1 ใน 3 เห็นว่าความสัมพันธ์กับสหรัฐจะแย่ลง ขณะที่ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 41) เห็นว่าไม่ต่างจากเดิม ตีความว่ามีแต่เท่าเดิมหรือไม่ก็แย่กว่าเดิม

มุมมองต่างชาติต่อผู้นำมีผลต่อพลังอำนาจอ่อน (soft power-หมายถึงอิทธิพลชักจูงให้ประเทศอื่นๆ คล้อยตาม ตรงข้ามกับการใช้กำลัง ทำสงครามด้วยอาวุธ) ประธานาธิบดีทรัมป์กับนโยบายของท่านกลายเป็นจุดอ่อนของอำนาจนี้ รัฐบาลยุโรปตะวันตกแสดงตัว “ถอยห่าง” จากทรัมป์ (ไม่ว่าจะจริงแท้เพียงไร แต่แสดงออกต่อสาธารณะเช่นนั้น) อิทธิพลของสหรัฐในระดับโลกลดลง
นโยบายของทรัมป์ทำให้นักวิเคราะห์หลายคนตีความว่ารัฐบาลสหรัฐถอยห่างจากประชาธิปไตย จากลัทธิการค้าเสรี การปกป้องสิ่งแวดล้อมโลก พยายามแก้ไขปัญหาประเทศตัวเองด้วยวิสัยทัศน์คับแคบ ไม่สนใจความเป็นของโลก เหล่านี้ทำลายภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำโลกที่รัฐบาลสหรัฐพยายามเชิดชู

ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลทรัมป์: นโยบายของทรัมป์ไม่ว่าจะต่างประเทศหรือในประเทศ มุ่งให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจ ปากท้องชาวบ้าน ถึงขั้นคิดที่จะละเมิดข้อตกลงต่างๆ (โดยเลี่ยงใช้คำว่าขอเจรจาใหม่) ทำลายหลักการค้าเสรีตามกติกาการค้าโลก กีดกันแรงงานต่างด้าวผิดวิธี ไม่ร่วมมือแก้ภาวะโลกร้อน นโยบายเหล่านี้อาจแก้ปัญหาบางด้าน แต่ละเลยหลายปัญหา เช่น ครอบครัวหย่าร้างแตกแยก ยาเสพติด อาชญากรรม
แน่นอนว่ารัฐบาลทรัมป์บริหารจัดการด้านอื่นๆ ด้วย แต่การมุ่งเอ่ยถึงแต่เศรษฐกิจเป็นการบ่งบอกว่าให้ความสำคัญเรื่องนี้มากกว่า สังคมเกิดค่านิยมว่าเรื่องปากท้องสำคัญที่สุด
เรื่องสำคัญที่รัฐบาลสหรัฐควรทำอย่างยิ่งคือ “การสร้างความเข้มแข็งจากภายใน” ประชาชนไม่ใช้จ่ายเกินตัว เป็นคนเรียนรู้ตลอดชีวิต ขยันขันแข็ง ไม่มัวเมาในกามรมณ์ มีคู่ครองในเวลาสมควร รับผิดชอบครอบครัว ไม่ติดเหล้ายาเสพติดสารพัดชนิด ใช้ชีวิตอย่างมีวิสัยทัศน์ มีคุณค่าทั้งต่อตัวเองและสังคม
เรื่องเหล่านี้ไม่ต้องใช้เครื่องบิน รถถัง เรือรบเลย
ผู้นำเช่นนี้คือ “ผู้นำครบมิติ” ดูแลพัฒนาคนภายใต้ครบทุกมิติทุกด้าน ไม่คิดว่าชีวิตคนต้องการเพียงแค่อิ่มท้องเท่านั้น ในระดับรัฐจะทำให้รัฐเข้มแข็งจากภายใน ในระดับโลกจะเสริมสร้างพลังอำนาจอ่อน ความเจริญยั่งยืนจะผุดขึ้นมาเอง

ภาพรวมต่อบรรดาผู้นำ :
            ในภาพรวม ร้อยละ 64 เห็นด้วยกับนโยบายโอบามา ส่วนทรัมป์ได้คะแนนร้อยละ 49 เท่านั้น กลุ่มประเทศยุโรปมักมองแง่ลบ ในขณะที่ประเทศแถบเอเชียแปซิกฟิกให้คะแนนสูง เช่น เวียดนามให้ถึง 84 ฟิลิปปินส์ 78 เกาหลีใต้ 75 ญี่ปุ่น 57 (ไม่มีข้อมูลของไทย)
ไม่เพียงแต่ผู้นำอเมริกา วลาดีมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) ได้คะแนนนิยมเพียงร้อยละ 28 สีจิ้นผิง (Xi Jinping) ได้ร้อยละ 27 คะแนนนิยมของผู้นำโลกทั้ง 3 จึงอยู่ในสภาพย่ำแย่เหมือนกัน ส่วนอังเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) ได้คะแนนร้อยละ 42 เฉพาะกลุ่มยุโรปให้คะแนนถึง 60
            จะเห็นว่าไม่ใช่ทรัมป์เท่านั้นจะที่ได้คะแนนต่ำ ผู้นำมหาอำนาจท่านอื่นได้คะแนนต่ำเช่นกัน และควรพูดว่าในอนาคตเมื่อสหรัฐได้ผู้นำใหม่หรือทรัมป์ปรับเปลี่ยนนโยบายบาย คะแนนผู้นำอเมริกามีโอกาสสูงกว่าผู้นำคนอื่นๆ ดังเช่นสมัยโอบามา ผู้นำสหรัฐยังคงเป็นผู้นำที่มีโอกาสได้ความนิยมสูง
            อนึ่ง งานศึกษาชิ้นนี้ใช้ข้อมูลจาก 37 ประเทศเท่านั้น ประเทศที่สัมพันธ์ดีจะให้คะแนนสูง ประเทศที่ความสัมพันธ์ย่ำแย่ให้คะแนนต่ำ ดังนั้นแม้สำรวจจากคนกว่า 4 หมื่นคน แต่มาจาก 37 ประเทศเท่านั้น อาจไม่ได้ข้อสรุปที่ครบถ้วน

ภาพรวมต่อสหรัฐ :
            งานศึกษาชิ้นนี้พูดถึงบางประเด็นที่ไม่สัมพันธ์กับตัวผู้นำมากนัก เช่น ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการรับอุดมการณ์ วัฒนธรรมอเมริกัน ไม่ชอบประชาธิปไตยแบบสหรัฐ ที่น่าคิดคือประเทศที่ต่อต้านมากที่สุดคือประเทศในยุโรปตะวันตก เช่น ชาวเนเธอร์แลนด์เพียงร้อยละ 32 เท่านั้นที่นิยมชมชอบความเป็นอเมริกัน สเปนร้อยละ 31 เยอรมันต่ำสุดเพียงร้อยละ 26
            ประเทศในแถบลาตินอเมริกาไม่ชอบความเป็นอเมริกาเช่นกัน ส่วนประเทศที่นิยมชมชอบได้แก่ เวียดนามสูงถึงร้อยละ 71 รองมาคือ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้
แม้ไม่ชอบประชาธิปไตยแบบอเมริกา คนส่วนใหญ่ (ร้อยละ 54) ยังเห็นว่าพลเมืองอเมริกันมีเสรีภาพสูง ทั้งนี้เพราะบางประเทศไม่เห็นด้วยกับหลักเสรีภาพตะวันตก เช่น จีน รัสเซีย บางประเทศใช้วิธีเปรียบเทียบเสรีภาพในประเทศตนกับสหรัฐ
ความคิดแง่ลบมีต่อผู้นำอเมริกาเท่านั้น ผู้ตอบแบบสอบถาม 37 ประเทศยังนิยมชมชอบชาวอเมริกันถึงร้อยละ 58 กลุ่มยุโรปกับเอเชียยังนิยมชมชอบคนอเมริกัน ยกเว้น 3 ประเทศคือตุรกี จอร์แดนและเลบานอน
มุมมองต่อผู้นำกับคนอเมริกันจึงไม่จำต้องไปด้วยกัน ต้องแยกระหว่างรัฐบาลกับประชาชน

            งานศึกษาของ Pew Research Center ให้ความสำคัญกับพลังอำนาจอ่อน (soft power) ชี้ว่าอิทธิพลอำนาจของสหรัฐกำลังถดถอย บทความนี้เสนอว่าพลังอำนาจอ่อนมาจาก 2 ทาง ทางแรกคือความเข้มแข็งจากภายใน อีกทางที่งานศึกษาเอ่ยถึงคือจากการยอมรับของประชาชนต่างชาติ
ที่น่าคิดคือกลุ่มประเทศที่ต่อต้านความเป็นอเมริกามากที่สุดคือพวกยุโรปตะวันตก เป็นประเทศพัฒนาแล้วและมีประชาธิปไตยเข้มแข็ง สิ่งที่รัฐบาลสหรัฐใช้เสริมสร้างพลังอำนาจอ่อนถูกปฏิเสธจากชาติประชาธิปไตยด้วยกันเอง แนวทางนี้กำลังล้มเหลวใช่หรือไม่
สหรัฐก้าวหน้ามากกว่าหลายประเทศ มีสิ่งดีงามมากมาย เช่น ไม่ปิดกั้นเสรีภาพ ส่งเสริมให้ปัจเจกพัฒนาสู่ความดีเลิศ มีความคิดสร้างสรรค์ หากสามารถปรับแก้เรื่องที่เป็นจุดอ่อน อเมริกาจะก้าวไกลยั่งยืนสืบไป
กรกฎาคม 2017
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 21 ฉบับที่ 7541 วันอาทิตย์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ.2560)
------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง  
เนื่องจากโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้งด้วย popular vote ต่ำกว่าฮิลลารี คลินตัน ความคิดเปลี่ยนวิธีเลือกตั้งประธานาธิบดีจึงดังขึ้นอีกรอบ แต่การแก้ไขหมายถึงการแก้รัฐธรรมนูญซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายทั้งในเชิงกฎหมายกับการเมือง ผลดีจากการปรากฎตัวของทรัมป์คือเกิดกระแสปฏิรูปการเมือง เป็นเรื่องระยะยาวที่ต้องอาศัยคนมีส่วนร่วมจำนวนมาก การศึกษาอย่างเป็นระบบ สะท้อนสภาพสังคมการเมืองอเมริกา
ในการเลือกตั้งบางครั้ง ไม่มีผู้สมัครคนใดที่ดีพอ คู่ควรกับตำแหน่ง แต่ด้วยระบอบกับระบบพยายามให้ประชาชนออกไปเลือกตั้ง หลายคนจึงใช้วิธีเลือกคนที่แย่น้อยกว่า เพื่อสกัดไม่ให้คนที่แย่ที่สุดได้ถืออำนาจบริหารประเทศ แต่แนวคิดเช่นนี้ไม่ช่วยให้ประเทศเจริญรุ่งเรืองยั่งยืน เป็นเพียงการซื้อเวลา จึงต้องคิดหาระบบเลือกตั้ง/สรรหาให้ได้คนที่มีคุณสมบัติเหมาะสม โดยไม่ยึดกรอบว่าต้องเป็นการเลือก/สรรหาช่วงเวลาหาเสียงเท่านั้น

บรรณานุกรม:
1. Bardes, Barbara A., Shelley, Mack C., & Schmidt, Steffen W. (2012). American Government and Politics Today: Essentials (2011 - 2012 Ed.). USA: Wadsworth, Cengage Learning.
2. Bessette, Joseph M., Pitney, John J. Jr. (2011). American Government and Politics: Deliberation, Democracy and Citizenship. USA: Wadsworth.
3. Pew Research Center. (2017, January 10). Negative Views of Trump’s Transition, Amid Concerns About Conflicts, Tax Returns. Retrieved from http://www.people-press.org/2017/01/10/negative-views-of-trumps-transition-amid-concerns-about-conflicts-tax-returns/
4. Poll: Most US voters 'disgusted' with presidential race. (2016, September 22). Al Jazeera. Retrieved from http://www.aljazeera.com/news/2016/09/poll-voters-digusted-presidential-race-160921124354232.html
5. Wike, Richard., Stokes, Bruce., Poushter, Jacob., & Fetterolf, Janell. (2017, June 26). U.S. Image Suffers as Publics Around World Question Trump’s Leadership. Pew Research Center. Retrieved from http://www.pewglobal.org/2017/06/26/u-s-image-suffers-as-publics-around-world-question-trumps-leadership/
-----------------------------