กองทัพเรือญี่ปุ่นขยายภารกิจสู่อ่าวเปอร์เซีย

คำประกาศส่งเรือพิฆาตสู่ตะวันออกกลางเพื่อรวบรวมข่าวกรอง กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงจุดยืนของรัฐบาลญี่ปุ่นอีกครั้งว่ากำลังละเมิดรัฐธรรมนูญที่บัญญัติให้มีกองทัพเพื่อป้องกันตัวเองเท่านั้นหรือไม่
ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ชินโซะ อาเบะ นายกฯ ญี่ปุ่นกล่าวในโอกาสส่งเรือพิฆาตทากานามิ (Takanami) สู่ภูมิภาคตะวันออกกลางว่า “การรักษาความปลอดภัยต่อเรือลำเลียงสินค้าที่เกี่ยวกับญี่ปุ่นเป็นภารกิจสำคัญของรัฐบาล” เป็นภารกิจเก็บรวบรวมข้อมูลการข่าวที่จำเป็น มีผลสำคัญต่อชีวิตคนญี่ปุ่น
คำพูดนี้นายกฯ อาเบะสื่อในความหมายกว้างคือ “เรือที่เกี่ยวกับญี่ปุ่น” ซึ่งอาจเป็นเรือต่างชาติที่ส่งสินค้าสู่ญี่ปุ่น หรือตีความไกลกว่านั้นคือเรือทุกลำที่อยู่ภูมิภาคตะวันออกกลาง เพราะทั้งหมดอาจส่งผลต่อเรือลำเลียงสินค้าต่างๆ
            ข้อมูลเพิ่มเติมคือเรือทากานามิจะปฏิบัติภารกิจร่วมกับเครื่องบินลาดตระเวน P-3C ของญี่ปุ่น เพื่อความปลอดภัยของเรือสินค้าญี่ปุ่นที่แล่นในย่านนั้น และพร้อมใช้กำลังปกป้องเรือญี่ปุ่น ยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการของกองทัพสหรัฐ แต่ไม่วายว่าประกาศพร้อมใช้กำลังปกป้องเรือสินค้าประเทศตน
ความตึงเครียดในอ่าวเปอร์เซีย :
ช่วงกลางปี 2019 เกิดเหตุตึงเครียดหลายครั้งในอ่าวเปอร์เซีย เริ่มจากเรือบรรทุกสินค้าจำนวน 4 ลำ (บางลำเป็นเรือบรรทุกน้ำมัน) ถูกก่อวินาศกรรมแถบชายฝั่งสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ วันต่อมาเครื่องโดรนติดอาวุธโจมตีสถานีสูบน้ำมัน 2 แห่งของซาอุฯ สถานีหนึ่งถึงกับไฟไหม้
ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ลงมือ รัฐบาลสหรัฐ ซาอุฯ และพวกชี้ว่าอิหร่านต้องรับผิดชอบ
            จากเหตุการณ์ดังกล่าว รัฐบาลทรัมป์ขอให้พันธมิตรส่งเรือรบร่วมคุ้มกันอ่าวเปอร์เซีย ร่วมภารกิจตรวจตราช่องแคบฮอร์มุซ อันเป็นเส้นทางลำเลียงน้ำมันสำคัญที่รัฐบาลอิหร่านขู่เรื่อยมาว่าจะปิดเส้นทางดังกล่าวหากจำเป็น  
ละเมิดรัฐธรรมนูญหรือประนีประนอม :
            การส่งเรือรบไปตะวันออกกลางเป็นประเด็นถกเถียง แบ่งเป็น 2 มุมคือฝ่ายที่มองว่าละเมิดรัฐธรรมนูญกับอีกฝ่ายที่อธิบายว่าเป็นการประนีประนอม
          มุมมอง 1 ละเมิดรัฐธรรมนูญหรือไม่
            แม้รัฐบาลอาเบะประกาศว่าเน้นเก็บข่าวกรองและจะทำหน้าที่เพียง 1 ปีหากเกินกว่านั้นต้องขออนุมัติใหม่ เกิดคำถามว่าเพื่อการดังกล่าวเท่านั้นหรือ ผู้สงสัยเจตนาจะตั้งคำถามว่ารัฐบาลจงใจละเมิดรัฐธรรมนูญด้วยการปกปิด บิดเบือนว่าเป็นเพียงเก็บข้อมูลหรือไม่ ทำตามคำขอจากรัฐบาลสหรัฐใช่ไหมที่รัฐบาลอาเบะยืนยันว่าเป็นปฏิบัติการเอกเทศไม่เกี่ยวกับใคร
            ถ้าตอบว่าไม่ได้ส่งไปช่วยสหรัฐ ทำไมต้องส่งเรือรบไปบริเวณนั้นในเวลาช่วงนี้ ถ้าตอบว่าช่วยทางอ้อมจะโดนวิพากษ์ว่าละเมิดรัฐธรรมนูญหรือไม่
หัวใจสำคัญของเรื่องนี้คือรัฐธรรมนูญปัจจุบันกำหนดให้กองทัพมีหน้าที่ป้องกันตัวเท่านั้น หากบิดเบือนอาจเป็นเหมือนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ญี่ปุ่นเปิดฉากทำสงครามด้วยเหตุผล “เพื่อป้องกันตนเอง” เพื่อความอยู่รอดจำต้องขัดขวางสหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศสไม่ให้มีอิทธิพลในเอเชียต่อไป
            หลักคิดก่อสงครามชิงทำลายศัตรูก่อนเป็นหลักการที่ใช้ตั้งแต่โบราณกาลจนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุผลว่าเพื่อป้องกันตนเองก่อนจะสายเกินไป
            ในอีกมุมหนึ่งต้องยอมรับว่าญี่ปุ่นมีสิทธิที่จะคิดและทำในสิ่งที่ต้องการ และอาจเป็นสันติภาพในแบบที่เห็นว่าดี
          มุมมอง 2 ประนีประนอม
            แนวคิดประนีประนอมมาจากประเด็นที่ว่าแม้ญี่ปุ่นเป็นพันธมิตรทางทหารกับสหรัฐ แต่ญี่ปุ่นเป็นมิตรกับอิหร่านและพยายามรักษาความสัมพันธ์นี้
            ที่ผ่านมารัฐบาลญี่ปุ่นใช้หลักประนีประนอมหลายครั้ง เช่น ในสงครามอัฟกานิสถานปี 2001 ส่งเรือบรรทุกน้ำมันเติมเชื้อเพลิงแก่เรือรบสหรัฐ ปี 2003 ส่งทหารสู่อิรักในเขตปลอดการรบเพื่อช่วยฟื้นฟูประเทศอิรัก ตัวอย่างเหล่านี้อาจตีความว่าไม่เข้าสมรภูมิรบโดยตรง
ครั้งนี้เป็นการประนีประนอมอีกครั้งทั้งต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับการพยายามรักษารัฐธรรมนูญ ไม่ได้คิดส่งเรือเพื่อยิงใคร เป็นวิธีการป้องกันเหตุร้ายเหมือนส่งตำรวจไปเฝ้าจุดที่สุ่มเสี่ยง
ผลโพลจาก Kyodo News เมื่อต้นเดือนมกราคม พบว่าคนญี่ปุ่นร้อยละ 58.4 ไม่เห็นด้วยกับการส่งเรือรบไปตะวันออกกลาง ร้อยละ 34.4 เห็นด้วย ร้อยละ 52.2 ไม่เห็นด้วยกับการปรับแก้รัฐธรรมนูญเพื่อขยายบทบาทกองทัพ ในขณะที่ร้อยละ 35.9 สนับสนุน อย่างไรก็ตามร้อยละ 49.3 ให้รัฐบาลสอบผ่าน คะแนนเพิ่มจากโพลครั้งก่อน 6.6 จุด ให้สอบตกเพียง 36.7
มองในแง่บวกแง่ลบ :
            การที่รัฐบาลอาเบะตัดสินใจส่งเรือรบไปตะวันออกกลาง ถ้ามองในแง่บวกปฏิเสธไม่ได้ว่าญี่ปุ่นเป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ หากช่องแคบฮอร์มุซเส้นทางขนส่งน้ำมันถูกปิดหรือไม่ปลอดภัย ย่อมกระทบเศรษฐกิจญี่ปุ่นและผู้นำเข้าน้ำมันทั่วโลก ด้วยเหตุนี้ญี่ปุ่นจะไม่ปล่อยให้ความขัดแย้งบานปลาย ไม่ปล่อยให้สหรัฐแสดงบทบาทฝ่ายเดียว การมีส่วนร่วมจากญี่ปุ่นอาจช่วยลดทอนโอกาสเกิดเหตุลักลอบโจมตีเรือบรรทุกสินค้า ลดความเสี่ยงที่สถานการณ์จะบานปลาย ดังเช่นครั้งที่ประธานาธิบดีทรัมป์สั่งหน่วยรบเตรียมโจมตีอิหร่าน ดีที่ถอนคำสั่งใน 10 นาทีสุดท้าย
            ถ้ามองแง่ลบ อาจเป็นวิธีของรัฐบาลญี่ปุ่นที่กำลังคลายกฎให้กองทัพสามารถปฏิบัติภารกิจนอกประเทศ ขยายคำจำกัดความของคำว่า “เพื่อป้องกันตัวเอง” ดังที่ครั้งนี้ประกาศชัดว่าไปป้องกันเรือสินค้าต่างๆ  
            ด้านรัสเซียเห็นว่าเป็นวิธีสร้างความตึงเครียดแก่ภูมิภาคทั้งๆ ที่ไม่ได้รุนแรงเช่นนั้น รัสเซียกับอิหร่านพยายามสร้างความสมดุลแก่ภูมิภาค ให้ได้ประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย ถ้าจะแก้ปัญหาจริงต้องเจรจาเท่านั้นและจัดระบบความมั่นคงร่วมกัน
อิซูโมสะท้อนนโยบายกองทัพญี่ปุ่น:
            เมื่อกองทัพประกาศจะประจำการเรือพิฆาตอิซูโม (Izumo) เรือรบที่ญี่ปุ่นต่อเองและมีขนาดใหญ่สุดเท่าที่สร้างมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่อสมรรถนะของเรือลำนี้ว่าเกินความจำเป็นหรือไม่ เพราะสามารถบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ได้ 9-14 ลำหรือเปลี่ยนเป็นเครื่องบินรบ F-35 ก็ได้
ดังที่นำเสนอในบทความก่อนว่ารัฐบาลญี่ปุ่นอ้างว่าหวังใช้เรือดังกล่าวเพื่อลาดตระเวน ป้องกันหมู่เกาะเซนกากุที่พิพาทกับจีน ความจริงแล้วทุกวันนี้เรือรบ เรือตรวจการยามฝั่งและเครื่องบินลาดตระเวนญี่ปุ่นได้ทำการเฝ้าระวังเป็นประจำอยู่แล้ว ไม่มีปัญหาเรื่องระยะทาง ที่สำคัญคือหมู่เกาะเซนกากุอยู่ห่างจากหมู่เกาะโอกินาวา อันเป็นที่ตั้งของฐานทัพเรือฐานทัพอากาศขนาดใหญ่ของสหรัฐเพียง 225 ไมล์ทะเล (410 กิโลเมตร) หากเกิดสงครามใหญ่ขึ้นจริง ฐานทัพที่โอกินาวาคือจุดใกล้ที่สุดและมีศักยภาพสูงสุด
            เทียบกับเรือหลวงจักรีนฤเบศรของไทยที่เป็นเรือบรรทุกเครื่องบินกลับมีขนาดเล็กกว่าอย่างชัดเจน คือมีความยาวตลอดลำเพียง 182.6 เมตร ระวางขับน้ำเต็มที่ 11,544 ตัน อากาศยานประจำเรือประกอบด้วยเครื่องบินขึ้นลงทางดิ่งแบบ AV-8S จำนวน 9 เครื่องกับเฮลิคอปเตอร์แบบ S-70B จำนวน 6 เครื่อง ส่วนเรืออิซูโมยาว 248 เมตร ระวางขับน้ำ 24,000 ตัน บรรทุกอากาศยานจำนวนใกล้เคียงกับหลวงจักรีนฤเบศร
ความจริงที่ปกปิดไม่ได้คือ แม้จะจัดให้อยู่ในชั้นเรือพิฆาต แต่โดยลักษณะและสมรรถนะแล้วเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินที่ทันสมัย เหนือว่าเรือบรรทุกเครื่องบินของหลายประเทศ สามารถใช้เพื่อการโจมตีเชิงรุกได้เป็นอย่างดี
ต้นเดือนพฤศจิกายน 2019 ศูนย์การประเมินยุทธศาสตร์และงบประมาณ (Center for Strategic and Budgetary Assessments: CSBA) สถาบันอิสระด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐเปรียบเทียบพลังอำนาจกองทัพเรือประเทศต่างๆ สรุป 5 ลำดับกองทัพเรือที่ทรงพลังมากที่สุดในโลก สหรัฐมาเป็นอันดับหนึ่ง รองมาคือกองทัพเรือจีน ลำดับที่ 3-5 คือ รัสเซีย สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น
ข้อเท็จจริงที่ไม่อาจปฏิเสธคือกองทัพเรือที่ถูกจำกัดขอบเขตเพื่อป้องกันตนเองเท่านั้น แต่มีขีดความสามารถสูงเป็นอันดับ 5 ของโลกและเป็นที่ 2 ของเอเชีย ขาดแต่อาวุธนิวเคลียร์เท่านั้น
            การปกปิดเป็นเรื่องปกติทางทหาร คำถามสำคัญคือสิ่งที่ทำช่วยให้ชาติมั่นคงขึ้นหรือไม่ และต้องไม่ลืมว่าประเทศอื่นมีสิทธิที่จะตีความเช่นกัน
9 กุมภาพันธ์ 2020
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลกไทยโพสต์ ปีที่ 24 ฉบับที่ 8491 วันอาทิตย์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563)
----------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง : 
ในช่วงหาเสียงทรัมป์อ้างเหตุผลสารพัดเพื่อชี้ว่าสหรัฐไม่ควรประจำการทหารในเกาหลีใต้กับญี่ปุ่นต่อไป พร้อมให้ 2 ประเทศนี้มีอาวุธนิวเคลียร์ของตัวเอง ไม่ถึงเดือนหลังดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ท่าทีเปลี่ยนเป็นตรงข้าม กลับมาให้ความสำคัญกับการเป็นพันธมิตรดังเดิม ตามหลักนโยบายที่ไม่ต่างจากประธานาธิบดีคนอื่นๆ ไม่ว่าจะมาจากพรรครีพับลิกันหรือเดโมแครท
ในการประชุมสุดยอด ‘เอเชีย-แอฟริกา 2015’ ตรงกับครบรอบ 70 ปีหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 นายกฯ อาเบะเอ่ยคำว่า “ญี่ปุ่น ด้วยความรู้สึกสำนึกผิดอย่างยิ่ง (deep remorse) ต่อสงครามในอดีต แทนคำว่า ขอโทษด้วยความจริงใจ” (heartfelt apology) ที่อดีตนายกฯ คนก่อนๆ เคยใช้  ปัญหาใหญ่ของประเด็นนี้อยู่ที่ผู้มีอำนาจในญี่ปุ่นที่แสดงท่าที ถ้อยคำ ไม่เสมอต้นเสมอปลายบางครั้งถึงกับขัดแย้งอย่างชัดเจน ก่อให้เกิดคำถามต่อท่าทีภายในส่วนลึกของท่าน
บรรณานุกรม :
1. Author Reveals Top-5 List of World's Most Powerful Navies. (2019, December 12). Sputnik News. Retrieved from https://sputniknews.com/military/201912121077550486-world-navies-russia-us-china-uk-japan/
2. Cabinet approves order to dispatch MSDF to the Middle East. (2019, December 27). The Asahi Shimbun. Retrieved from http://www.asahi.com/ajw/articles/AJ201912270038.html
4. D'Anieri, Paul. (2012). International Politics: Power and Purpose in Global Affairs. USA: Wadsworth.
5. EDITORIAL: SDF deployment to Mideast raises a host of legal, strategic issues. (2019, December 28). The Asahi Shimbun. Retrieved from http://www.asahi.com/ajw/articles/AJ201912280010.html
6. Germany will not take part in US-led mission in Strait of Hormuz: Foreign minister. (2019, July 31). The Hill. Retrieved from https://thehill.com/policy/international/middle-east-north-africa/455578-germany-will-not-take-part-in-us-led-mission-in
7. Japan's naval dispatch to Middle East a 'product of compromise' between Iran and U.S., experts say. (2019, December 28). The Japan Times. Retrieved from https://www.japantimes.co.jp/news/2019/12/28/national/politics-diplomacy/japans-naval-dispatch-middle-east-product-compromise-iran-u-s-experts-say/#.Xgf2plUzbZ4
8. Japanese destroyer leaves for Middle East intel-gathering mission. (2020, February 2). The Japan Times. Retrieved from https://www.japantimes.co.jp/news/2020/02/02/national/japan-destroyer-middle-east-mission-iran-msdf/#.XjaGgDIzbZ4
9. Lavrov: Russia Believes the West is Artificially Stirring Up Tensions in Persian Gulf. (2019, December 30). Sputnik News. Retrieved from https://sputniknews.com/world/201912301077899608-lavrov-russia-believes-the-west-is-artificially-stirring-up-tensions-in-persian-gulf/
10. MSDF vessel sails for Middle East to ensure safety of Japanese ships. (2020, February 2). The Asahi Shimbun. Retrieved from http://www.asahi.com/ajw/articles/13094749
11. Poll finds 58% of voters oppose dispatch of MSDF personnel to Middle East. (2020, January 12). The Japan Times. Retrieved from https://www.japantimes.co.jp/news/2020/01/12/national/politics-diplomacy/msdf-dispatch-middle-east-poll/#.XhvUMP4zbZ4
12. 'You Can Create Chaos, but You'd Better Have a Plan'. (2019, July 2). Spiegel Online. Retrieved from https://www.spiegel.de/international/world/interview-with-former-defense-secretary-leon-panetta-a-1275417.html
-----------------------------
ที่มาของภาพ : http://www.seaforces.org/marint/Japan-Maritime-Self-Defense-Force/Destroyer/Takanami-class_DAT/DD-114-JDS-Suzunami.htm