Shale gas กับ tight oil แหล่งปิโตรเลียมใหม่ของโลก

ก๊าซธรรมชาติกับน้ำมัน (ปิโตรเลียม) ที่ใช้กันทั่วไปในโลกมีที่มาจากหลายแหล่ง สามารถแบ่งอย่างง่ายๆ ว่าเป็นแหล่งบนบกกับแหล่งในทะเล ในความจริงแล้วปิโตรเลียมแต่ละแหล่งมีลักษณะเฉพาะแตกต่างกัน มีความยากง่ายในการขุดเจาะไม่เท่ากัน ต้องอาศัยเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาสมแตกต่างกันออกไป กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่าการเลือกใช้เทคโนโลยีการขุดเจาะขึ้นกับลักษณะของแหล่ง มีผลต่อต้นทุนการผลิต ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ฯลฯ การที่ประเทศไทยเพิ่งจะได้ใช้ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยเมื่อปี ค.ศ.1981 ส่วนหนึ่งก็ด้วยเหตุผลดังกล่าว
            shale gas คือก๊าซธรรมชาติที่ถูกกักเก็บไว้ในชั้นหินดินดาน ส่วน shale oil คือน้ำมันดิบที่พบในชั้นหินดินดาน คนทั่วไปมักใช้คำว่า shale oil กับ tight oil ในความหมายเดียวกัน แต่แท้ที่จริงแล้วมีความหมายต่างกัน shale oil คือ tight oil ประเภทหนึ่งที่มีคุณสมบัติซึมซาบไหลผ่านช้า ในแวดวงอุตสาหกรรมน้ำมันสหรัฐฯ ใช้คำว่า tight oil เป็นหลักเพราะเป็นคำที่กินความครอบคลุมและถูกต้องมากกว่าเพราะ tight oil พบได้ในหลายแหล่งไม่เฉพาะในชั้นดินดินดานเท่านั้น (เป็นที่มาของชื่อ shale oil)
            มนุษย์รู้จัก shale gas กับ shale oil/tight oil มานานแล้ว แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีกับต้นทุนการผลิตที่ผ่านมามนุษย์จึงใช้ปิโตรเลียมจากแหล่งทั่วไป (conventional) การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นเมื่อ10 ปีที่แล้วเมื่อสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรกผู้ค้นพบเทคโนโลยีการผลิตที่เรียกว่า "fracking
            "fracking” คือระบบวิธีการผลิตด้วยการผสานสองเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน ประกอบด้วยเทคโนโลยีที่เรียกว่า Hydraulic Fracturing กับ Horizontal Drilling โดยจะฉีดน้ำผสมสารเคมีและทรายจำนวนมหาศาลลงใต้ดินเพื่อทำให้เกิดรอยแตกในชั้นหิน เป็นเหตุให้ shale gas กับ shale oil/tight oil ที่ถูกเก็บกักอยู่ระหว่างชั้นจึงหลุดออกมา กระบวนการดังกล่าวไม่กระทำเฉพาะในแนวดิ่งเท่านั้น ยังกระทำในแนวราบด้วยจึงสามารถขุดเจาะได้บริเวณกว้างได้ปิโตรเลียมจำนวนมาก

            ปริมาณ shale gas กับ shale oil/tight oil เป็นเรื่องที่วงการอุตสาหกรรมน้ำมันให้ความสำคัญ เพราะโลกแสวงหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ อยู่เสมอ มีความจำเป็นต้องผลิตมากขึ้นเรื่อยๆ ให้ทันกับความต้องการ รายงานล่าสุดของกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ (2013) ชี้ว่าทั้งโลกมี shale oil/tight oil จำนวน 345 พันล้านบาร์เรลจากทั้งหมด 42 ประเทศที่ทำการสำรวจ เพียงพอให้ทั้งโลกใช้เป็นเวลากว่า 10 ปี (คิดจากปริมาณการบริโภคที่ราว 90 ล้านบาร์เรลต่อวัน) รัสเซียมีปริมาณ shale oil/tight oil มากที่สุด ราว 75 พันล้านบาร์เรล รองลงมาคือสหรัฐฯ มีประมาณ 58 พันล้านบาร์เรล จีนมี 32 อาร์เจนตินา 27 และลิเบียมี 26 พันล้านบาร์เรล ปริมาณดังกล่าวเป็นปริมาณที่สำรวจพบในทางเทคนิค
            ปริมาณที่สำรวจพบในทางเทคนิค (technically recoverable) หมายถึง ปริมาณที่เทคโนโลยีปัจจุบันสามารถผลิตได้ โดยไม่คำนึงเรื่องราคาหรือต้นผลิตการผลิต ต้นทุนการผลิตของแต่ละที่แต่ละแหล่งไม่เท่ากัน หากราคาน้ำมันตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นโอกาสที่แหล่งต่างๆ จะคุ้มค่าเชิงพาณิชย์จะมีมากขึ้น ดังนั้น ปริมาณที่มีอยู่จริงไม่ได้หมายความว่าจะถูกดึงมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด
             ส่วน shale gas พบว่ามีปริมาณมหาศาลเช่นกัน หากรวมก๊าซธรรมชาติจาก shale gas จะทำให้ปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองทั่วโลกเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 47 หรือเท่ากับ 22,882 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต อย่างไรก็ตาม เรื่องหนึ่งที่ต้องพึงระลึกเสมอคือการสำรวจระดับโลกยังอยู่ในขั้นเบื้องต้น ไม่ได้กระทำอย่างทั่วถึง ปริมาณที่มีอยู่จริงน่าจะมากกว่านี้

            เมื่อพิจารณาเฉพาะส่วนของสหรัฐอเมริกา ข้อมูลล่าสุดพบว่ามีปริมาณ shale gas ทั้งหมด 7,299 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต เพิ่มขึ้นจากรายงานปี 2011 ที่ 6,622 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ส่วน shale oil/ tight oil พบว่ามี 345 พันล้านบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากปี 2011 ที่คาดว่ามีเพียง 32 พันล้านบาร์เรล (สังเกตว่าปริมาณที่สำรวจพบล่าสุดเพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่าตัว)
            แหล่งสหรัฐฯ เป็นแหล่งที่มีความสำคัญเพราะนอกจากมีปริมาณมากแล้วยังเป็นเพียงหนึ่งในสองประเทศในปัจจุบันที่ดำเนินการผลิตในเชิงพาณิชย์แล้ว ก๊าซธรรมชาติที่ผลิตจาก shale gas คิดเป็นร้อยละ 40 ของปริมาณก๊าซธรรมชาติทั้งหมดที่ประเทศผลิตในปี 2012 ส่วนน้ำมันดิบที่ผลิตจาก shale oil/tight oil คิดเป็นร้อยละ 29 ของปริมาณน้ำมันดิบที่ประเทศผลิตได้ เหตุที่สหรัฐฯ สามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งปิโตรเลียมดังกล่าวก่อนประเทศอื่นมาจากเหตุผลหลายอย่าง ประการแรกคือบริษัทเอกชนประสบความสำเร็จคิดค้นเทคโนโลยี "fracking” ก่อนประเทศอื่นๆ ประการที่สองคือกฎหมายอเมริกาให้ shale gas กับ tight oil ที่อยู่ใต้พื้นดินเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่ดิน จึงเอื้อต่อการลงทุนของบริษัทเอกชนและดึงมาใช้ประโยชน์อย่างรวดเร็ว ประการที่สามคือมีโครงสร้างระบบท่อรองรับอยู่แล้ว (ขนส่งสะดวกรวดเร็วและปลอดภัย) และมีแหล่งน้ำมากเพียงพอซึ่งจำต้องใช้ในขั้นตอน hydraulic fracturing
            นักวิเคราะห์คาดว่าในอนาคตสหรัฐฯ จะผลิตน้ำมันได้มากขึ้น องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency หรือ IEA) ประเมินว่าก่อนปี 2020 สหรัฐฯ จะเปลี่ยนจากผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ของโลกมาเป็นผู้ผลิตผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลกแซงหน้าประเทศซาอุดิอาระเบีย

            เมื่อพิจารณาความเกี่ยวข้องกับตลาดโลก พบว่าก๊าซธรรมชาติจากแหล่ง shale gas ของสหรัฐฯ ไม่ค่อยมีผลต่อราคาก๊าซทั่วโลก เนื่องจากมีความเชื่อมโยงกับราคาตลาดโลกน้อยกว่าเมื่อเทียบกับน้ำมัน ดังนั้นประเด็นที่นักวิเคราะห์ให้ความสำคัญคือผลของ shale oil/tight oil ต่อตลาดโลก
            ในระยะสั้นหรือสองสามปีที่ผ่านมา ไม่มีผลต่อราคาน้ำมันตลาดโลก เนื่องจากเป็นช่วงที่อุปทานน้ำมันโลกมีความตึงตัว การที่สหรัฐฯ เริ่มผลิตน้ำมันดิบจาก shale oil/tight oil ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำมันดิบโลกได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
            ในระยะกลาง 5 ปี องค์กรพลังงานระหว่างประเทศคาดการณ์ว่าแม้จะค้นพบแหล่งปิโตรเลียมเหล่านี้จากหลายประเทศ แต่ในอีก 5 ปีข้างหน้ายังคงมีผู้ผลิต shale gas กับ shale oil/tight oil รายใหญ่เพียงไม่กี่ประเทศ เนื่องจากแต่ละแหล่งมีความแตกต่างทั้งเรื่องการก่อตัวของชั้นดินและเงื่อนไขอื่นๆ เช่น กฎหมายควบคุมสิ่งแวดล้อมของแต่ละประเทศ แหล่งน้ำที่มากเพียงพอ เหล่านี้ล้วนมีผลต่อต้นทุนการผลิต มีผลต่อแรงจูงใจว่าควรลงทุนหรือไม่ เมื่อไม่สามารถคาดการณ์กำลังการผลิต จึงไม่อาจคาดการณ์ผลต่อราคาน้ำมันโลกอย่างชัดเจน ในขณะที่ต้องระลึกเสมอว่าเทคโนโลยียังพัฒนาได้อีกมาก อีกทั้งการสำรวจอาจค้นพบแหล่งปิโตรเลียมจาก shale oil/tight oil เพิ่มขึ้น

            ประเด็นที่สำคัญกว่าคือผลระยะยาว (10 ปีขึ้นไป) ต่อราคาน้ำมันโลก ในด้านอุปสงค์เป็นที่ชัดเจนว่าโลกในศตวรรษที่ 21จะบริโภคปิโตรเลียมมากขึ้น เศรษฐกิจหลายประเทศกำลังเติบโต ปริมาณคนชั้นกลางที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้คนเหล่านี้มีรถยนต์ มีเครื่องใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก งานวิจัยในอดีตจึงมีข้อสรุปว่าไม่เกินปี 2030 โลกจะต้องหันมาพึ่งพาปิโตรเลียมจากองค์การประเทศผู้ส่งน้ำมันเป็นสินค้าออก (Organization of Petroleum Exporting Countries หรือโอเปก) มากขึ้น เนื่องจากเมื่อโลกบริโภคพลังงานมากขึ้นเรื่อยๆ จะเกินกำลังแหล่งผลิตปิโตรเลียมของนอกกลุ่มโอเปก (non-OPEC) ทำให้ความเป็นไปของภูมิภาคตะวันออกกลางมีผลต่อราคาน้ำมันโลก แต่งานวิจัยล่าสุดมองว่าราคาน้ำมันในระยะยาวน่าจะมีเสถียรภาพ ไม่เกิดภาวะปรับตัวขึ้นสูงผิดปกติ เพราะไม่ช้าก็เร็วโลกจะมีผู้ผลิต shale gas กับ shale oil/tight oil เพิ่มขึ้น ผลลัพธ์คือผู้ผลิตน้ำมันรายเดิมจะลดความสำคัญ อิทธิพลของโอเปกที่มีผลต่อทิศทางราคาน้ำมันตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาจะลดน้อยลง สถานการณ์ความมั่นคงในภูมิภาคตะวันออกกลางจะไม่ค่อยมีอิทธิพลต่อราคาน้ำมันดังเช่นช่วงทศวรรษ 1990 – 2000 ที่สงครามอ่าวเปอร์เซียทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นมาก องค์การข้อมูลข่าวสารด้านพลังงานแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Energy Information Administration) เห็นว่าที่สุดแล้วผลตอบแทนจากการลงทุนจะเป็นปัจจัยสำคัญว่าผู้ผลิตทั่วโลกจะยอมผลิตมากน้อยเพียงไรหรือขึ้นกับหลักอุปสงค์อุปทานนั่นเอง

            ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของกระบวนการผลิตปิโตรเลียมด้วยวิธีการ "fracking” ทำให้มนุษย์สามารถดึงก๊าซธรรมชาติจากชั้นหินดินดาน (shale gas) และ shale oil/tight oil ที่สะสมอยู่ใต้พิภพนับล้านๆ ปีมาใช้ประโยชน์ ทุกวันนี้มีเพียงสหรัฐฯ กับแคนาดาสามารถผลิตในเชิงพาณิชย์ เชื่อว่าอีกไม่นานประเทศอื่นๆ จะสามารถผลิตได้เช่นกัน นอกจากนี้เทคโนโลยีดังกล่าวยังสามารถพัฒนาได้อีกมาก ช่วยลดต้นทุนให้ต่ำกว่าเดิม ลดการทำลายสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเมื่อโลกบริโภคพลังงานมากขึ้นจะเป็นตัวจูงใจให้นานาประเทศสนใจและอยากพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมเหล่านี้ ความกังวลว่าน้ำมันจะหมดโลกถอยห่างออกไปอีกอย่างน้อยอีก 10 ปี
            ในขณะเดียวกันหากมีประเทศผู้ผลิตมากขึ้นและสหรัฐฯ อาจกลายเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก (หรืออย่างน้อยไม่นำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ) ย่อมส่งผลต่อตลาดน้ำมันโลก เชื่อว่าราคาน่าจะมีเสถียรภาพมากขึ้น ที่สุดแล้วราคาตลาดโลกจะช่วยควบคุมปริมาณการผลิตให้เป็นไปตามหลักอุปสงค์อุปทาน
            หลายประเทศทั่วโลกกำลังเร่งสำรวจว่าประเทศตนมี shale gas กับ shale oil/tight oil หรือไม่ เปรียบเสมือนการค้นหาขุมทรัพย์ เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศที่กำลังเร่งศึกษาเทคโนโลยีผลิตก๊าซธรรมชาติและน้ำมันจากแหล่งเหล่านี้ ในอนาคตจะมีอีกหลายประเทศที่สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ เฉกเช่นเดียวกับประเทศไทยในยุคหนึ่งที่รัฐบาลประกาศว่าเป็นยุคโชติช่วงชัชวาล
3 กรกฎาคม 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ได้รับการเผยแพร่ผ่าน ศูนย์โลกสัมพันธ์ไทย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2556, http://www.thaiworld.org/thn/thailand_monitor/answera.php?question_id=1271)

(ปรับปรุงแก้ไข 27 พฤศจิกายน 2014)
------------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง
Shale gas กับ Shale oil ผู้ท้าทายวงการน้ำมันโลก
ความสำเร็จของสหรัฐฯ ในการพัฒนา shale gas กับ shale oil จะส่งผลต่ออุตสาหกรรมน้ำมันโลก ต่อวงการน้ำมันโลกอย่างแน่นอน

บรรณานุกรม:
1. ก๊าซธรรมชาติ, กระทรวงพลังงาน, http://www.energy.go.th/index.php?q=node/386, Accessed 18 June 2013.
2. World Has 10 Years of Shale Oil: US Department of Energy, CNBC/Financial Times, 11 June 2013, http://www.cnbc.com/id/100804970
3. Roy Nersesian, Energy for the 21st Century, second edition (N.Y.: M.E. Sharpe, 2010)
4. Technically Recoverable Shale Oil and Shale Gas Resources: An Assessment of 137 Shale Formations in 41 Countries Outside the United States, U.S. Department of Energy, http://www.eia.gov/analysis/studies/worldshalegas/pdf/fullreport.pdf
5. How the US Could be the World's Next Major Producer of Oil, CNBC, 13 January 2013, http://www.cnbc.com/id/100375838
6. Handel Jones, CHINAMERICA: The Uneasy Partnership that Will Change the World (USA: McGraw-Hill, 2010)
7. John Fanchi, Energy in the 21st Century, second edition (N.J.: World Scientific Publishing, 2011)
8. Bill Paul, Future Energy: How the New Oil Industry Will Change People, Politics and Portfolios (N.J.: John Wiley & Sons, 2007)
-------------------------------------