อาหรับสปริงอิรักที่บานเสี้ยวเดียว

ความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธคือผู้ชุมนุมมีเรือนแสนแต่การประท้วงเกิดในเขตพื้นที่อิทธิพลชีอะห์เท่านั้น ไม่ใช่การเคลื่อนไหวทั่วประเทศ โอกาสที่จะบรรลุเป้าหมายเปลี่ยนแปลง ประเทศจึงมีน้อย
            เกือบ 3 เดือนเต็มที่ผู้ชุมนุมนับแสนประท้วงรัฐบาล ทั้งที่กรุงแบกแดดและอีกหลายเมืองทางตอนใต้ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลชีอะห์ เป็นการชุมนุมที่รุนแรง มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากตั้งแต่เริ่มชุมนุม ในเวลาเพียง 2 เดือนกว่ายอดผู้เสียชีวิตมากกว่า 460 คน บาดเจ็บ 25,000 ราย ผู้ร่วมชุมนุมส่วนใหญ่เป็นคนวัยหนุ่มสาว
            การชุมนุมเริ่มต้นด้วยเรื่องเงินทองไม่พอใช้ หางานทำไม่ได้ การทุจริตคอร์รัปชัน น้ำไฟไม่พอใช้
ย้อนหลัง เมื่อสหรัฐคืนอธิปไตย :
หลังสงครามโค่นล้มระบอบซัดดัม ฮุสเซนเมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2004 รัฐบาลสหรัฐส่งคืนอำนาจ รัฐบาลชั่วคราวอิรักเป็นผู้บริหารประเทศ ในตอนนั้นประเทศยังอยู่ในสภาพวุ่นวาย อำนาจรัฐบาลกลางเข้าไม่ถึงพื้นที่ (สภาวะไร้ขื่อแป) ระบบสาธารณูปโภคเสียหายเกือบหมด ไม่ถูกทำลายจากสงครามก็โดนลักขโมย ไร้คนดูแลบริหารจัดการ ความเสียที่เกิดจากไม่มีรัฐบาลดูแลรุนแรงมากกว่าการทำสงครามกับสหรัฐเสียอีก การฟื้นฟูประเทศคือการฟื้นฟูจากระบบบริหารจัดการทั้งประเทศล่มสลาย ระบบเศรษฐกิจพังทลาย
นับจากวันที่อิรักได้อธิปไตยคืนมาบัดนี้เป็นเวลา 15 ปีแล้ว ผ่านเลือกตั้งมาแล้วหลายครั้ง ได้รัฐบาลหลายชุด แต่คนอิรักนับแสนยังเรียกร้องความเป็นอยู่ขั้นพื้นฐาน
การประท้วงขณะนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ก่อนหน้านี้มีการประท้วงหลายรอบ ปีที่แล้วแกรนด์อยาตุลเลาะห์ อาลี ซิสตานี (Grand Ayatollah Ali Al-Sistani) ผู้นำทางจิตวิญญาณชีอะห์ในอิรักขอให้รัฐบาลแก้ปัญหาคอร์รัปชัน ประชาชนขาดแคลนบริการพื้นฐานอย่างหนัก
คำพูดทำนองนี้ถูกพูดซ้ำอีกในปีนี้
คำถามคาใจ :
คำถามที่คาใจคนอิรักคือประเทศเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ลำดับ 2 ของโอเปกแต่ทำไมประชาชนร้อยละ 20 หรือ 8 ล้านคนอยู่อย่างยากไร้
หนึ่งในเหตุผลที่หยิบยกขึ้นมาอธิบายคือ เพราะมีการทุจริตคอร์รัปชัน ข้อมูลจากทางการระบุว่านับจากปี 2003 เป็นต้นมารัฐบาลเก็บรายได้จากน้ำมันถึง 800,000 ล้านดอลลาร์ กว่าครึ่งหนึ่งสูญหายไปกับการทุจริตคอร์รัปชัน
องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ระบุว่านับจากอิรักได้รัฐบาลประชาธิปไตยการทุจริตรุนแรงเกิดขึ้นในหมู่เจ้าหน้าที่ทุกระดับ ทุกภาคส่วนของประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ประชาชนทั่วไป ดัชนีคอร์รัปชันปี 2018 อยู่ที่ 18 จากคะแนนเต็ม 100 เป็นประเทศมีการทุจริตร้ายแรงที่สุดในลำดับที่ 12 จากทั้งหมด 180 ประเทศ (ประเทศไทยได้ 36 คะแนน)
แกรนด์อยาตุลเลาะห์ อาลี ซิสตานี กล่าวว่าการคอร์รัปชันในหมู่ชนชั้นปกครองเป็นปัญหาใหญ่เกินกว่าจะทนได้ เป็นเหตุที่คนออกมาชุมนุมประท้วง
ปัญหาต่อมาคือหางานทำไม่ได้ รากปัญหาว่างงานมาจากการที่ระบบเศรษฐกิจล่มสลายต้องฟื้นฟูใหม่หมด แต่เนื่องจากประเทศอยู่ในสงครามกลางเมือง ความขัดแย้งภายใน (แม้ได้อธิปไตยคืนมาแล้ว) ตามด้วยการปรากฏของผู้ก่อการร้ายไอซิส ระบบเศรษฐกิจจึงกระจุกตัวในบางพื้นที่
อีกสาเหตุคือจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีผู้เข้าสู่วัยแรงงานจำนวนมากแต่ระบบเศรษฐกิจที่มีอยู่ไม่อาจรองรับแรงงานได้หมด Douglas Silliman อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำอิรักชี้ว่าปัญหาใหญ่ที่สุดคือต้องหางานให้กับคนหนุ่มสาว 1 ล้านคนที่ว่างงานในขณะนี้ ด้วยการคลายระเบียบการเป็นผู้ประกอบการ ไม่มีวิธีอื่นที่สามารถหางานแก่คนจำนวนมากขนาดนี้อีก
            ปัญหาว่างงานนำสู่เรื่องอื่นๆ เช่น การจ้างงานเป็นระบบเล่นพรรคเล่นพวก ขึ้นกับว่าเป็นคนของใคร บางครั้งเกี่ยวข้องกับนิกายศาสนาหรือไม่ก็ต้องใช้เงินติดสินบนเพื่อให้ได้งานทำ ในยามที่งานหายากคนรากหญ้า คนจน ไม่มีโอกาสได้งานทำ
ประชาชนถูกแยกเป็น 3 ฝ่าย :
            การจะเข้าใจการเมืองอิรักต้องเริ่มต้นด้วยความเข้าใจที่ว่าประชาชนอิรักถูกแบ่งแยกเป็น 3 ฝ่ายมานานแล้วโดยแบ่งจากนิกายศาสนากับเชื้อชาติ ได้แก่ ชีอะห์ ซุนนี และเคิร์ด การออกแบบรัฐบาลอิรักยุคประชาธิปไตยยิ่งตอกย้ำการแบ่งแยกดังกล่าว รัฐบาลธรรมนูญถูกออกแบบให้สะท้อนประชาชน 3 กลุ่ม ถ้ามองในแง่ดีคือกระจายอำนาจอย่างทั่วถึงทุกกลุ่ม ที่ผ่านมาตอบโจทย์เรื่องการกระจายอำนาจ 3 ฝ่ายพอสมควร แต่ไม่ตอบโจทย์เรื่องได้ตัวแทนเพื่อประชาชนจริงๆ
พวกสายกลางไม่ต้องการอิทธิพลนิกายศาสนา :
            ผู้ประท้วงเอ่ยถึง 2 ประเด็นหลักคือปัญหาปากท้องกับการแทรกแซงจากต่างชาติโดยเฉพาะรัฐบาลอิหร่าน มองว่าหากจะแก้ปัญหาปากท้องต้องทำลายอิทธิพลอิหร่านก่อน
กลุ่มผู้ประท้วงบางส่วนพูดว่าไม่ได้มุ่งต่อต้านอิหร่าน เป้าหมายคือไม่ต้องการอิทธิพลจากนิกายศาสนาใดๆ รวมทั้งการการแทรกแซงจากต่างชาติไม่ว่าประเทศ
แนวทางของพวกเขาคือให้อิรักเป็นประชาธิปไตยแบบตะวันตกมากขึ้น ลดทอนบทบาทของผู้นำศาสนา แม้กระทั่งจากแกรนด์อยาตุลเลาะห์ อาลี ซิสตานี บางคนยังให้ความนับถือแต่ไม่ต้องการให้ศาสนาชี้นำการเมือง
หนึ่งในข้อเรียกร้องที่พูดถึงคือแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผู้ชุมนุมเห็นว่าหากจะแก้ปัญหาต้องเริ่มด้วยการเปลี่ยนฝ่ายบริหารแบบนายกฯ มาเป็นแบบประธานาธิบดี เพราะระบบรัฐสภาไม่สามารถคัดสรรคนดีเข้าสภา ที่ผ่านมาคนที่เป็น ส.ส. จะมาจากตัวแทนกลุ่มการเมือง นิกายศาสนา ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าเป็นอย่างไร
แนวคิดของกลุ่มผู้ประท้วงสายกลางเป็นแบบประชาธิปไตยตะวันตกบางข้อ โดยเฉพะการตัดสินใจเป็นเรื่องของปัจเจกล้วนๆ คนยังถือศาสนาแต่ไม่ยอมรับว่าศาสนาคืออำนาจสิทธิขาดสูงสุด (ปฏิเสธอำนาจศาสนาเหนือการเมือง หรือเหนือการตัดสินใจของปวงชน) เป็นพัฒนาการของคนอิรักกลุ่มหนึ่งที่น่าติดตาม
            แต่โอกาสที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงแบบหน้ามือเป็นหลังมือคงยาก เนื่องจากผู้ชุมนุมเป็นเพียงคนอิรักส่วนหนึ่ง (กระจุกตัวในเขตพื้นที่ชีอะห์) เกิดคำถามว่าเป็นเจตจำนงของคนทั้งประเทศหรือไม่ นักการเมืองเคิร์ดกับซุนนียังต้องการรักษาระบอบเดิม การแก้ไขรัฐธรรมนูญจำต้องอาศัยฉันทามติของทุกฝ่าย พวกสายกลางเป็นคนส่วนน้อย
            ด้านนักวิเคราะห์บางคนเห็นว่าไม่มีใครรับประกันได้ว่าปัญหาต่างๆ จะแก้ได้ด้วยเป็นระบอบประธานาธิบดีเท่านั้น
ล่าสุด รัฐสภาอิรักผ่านร่างกฎหมายเลือกตั้งฉบับใหม่ ผู้ชุมนุมประท้วงหวังได้กฎหมายเลือกตั้งฉบับใหม่เพื่อสามารถเลือกผู้แทนที่เป็นตัวแทนของประชาชนจริงๆ ไม่ใช่คนจากชนชั้นปกครอง เป็นหัวข้อที่ต้องพิสูจน์ต่อไปว่ากฎหมายเลือกตั้งฉบับใหม่ เป็นเหตุให้ตัวแทนของประชาชนได้เข้าสภาหรือไม่ และหากได้รัฐบาลใหม่จะนำสู่การแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นระบอบประธานาธิบดีหรือไม่
อาหรับสปริงอิรักที่บานเสี้ยวเดียว :
เรื่องหนึ่งที่ผู้ชุมนุมเห็นตรงกันคือ ระบอบการปกครองขณะนี้ไม่ตอบโจทย์ เป็นต้นเหตุทุจริตคอร์รัปชัน ผลประโยชน์ประเทศส่วนใหญ่ตกอยู่ในมือชนชั้นปกครองที่กระจายตามกลุ่มศาสนา ชนเผ่า เชื้อชาติ ปล่อยให้ประเทศตกต่ำ ขาดแคลนแม้กระทั่งไฟฟ้าประปา ประชาชนยากไร้ ทั้งๆ ที่เป็นส่งออกน้ำมันรายใหญ่ลำดับ 2 ของโอเปก
ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยไม่ดี เพราะมีตัวอย่างประเทศที่ใช้การได้ดี แต่กรณีอิรักไม่สามารถคัดสรรตัวแทนที่ตั้งใจทำงานเพื่อความผาสุกของประชาชนอย่างแท้จริง
นายเนชิวาน บาร์ซานิ (Nechirvan Barzani) ผู้นำเขตปกครองตนเองเคิร์ดอิรักพูดอย่างน่าคิดว่าบริษัทเอกชนมีอำนาจเหนือรัฐบาลกลาง เป็นที่มาของความไม่โปร่งใส การทุจริตคอร์รัปชันขนานใหญ่ หากจะแก้ปัญหาชาติต้องแก้ตรงนี้ด้วย
            ความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธคือผู้ชุมนุมมีเรือนแสนแต่การประท้วงเกิดในเขตพื้นที่อิทธิพลชีอะห์เท่านั้น ไม่ใช่การเคลื่อนไหวทั่วประเทศ โอกาสที่จะบรรลุเป้าหมายเปลี่ยนแปลง ประเทศจึงมีน้อย ทั้งยังมีคำถามว่าต้องการประชาธิปไตยหรือต้องการเล่นงานอิหร่าน
29 ธันวาคม 2019
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลกไทยโพสต์ ปีที่ 24 ฉบับที่ 8449 วันอาทิตย์ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2562)
--------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง : 
ผู้ชุมนุมประท้วงโทษว่าปัญหาว่างงาน น้ำไม่ไหลไฟไม่สว่างเพราะอิหร่านครอบงำอิรัก การแก้ปัญหาจึงต้องเริ่มด้วยการขจัดอิทธิพลอิหร่าน ไม่ว่าเรื่องนี้จริงเท็จเพียงไร พวกชีอะห์อิรักบางส่วนคิดเห็นเช่นนั้น
ระบอบประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่ดี แต่หากสังคมไม่เป็นเอกภาพ ไม่ต้องการอยู่ร่วมเป็นคนชาติเดียวกันจะกลายเป็นกับดักประชาธิปไตย มีปัญหาตามมาไม่สิ้นสุด
บรรณานุกรม :
1. Iraq must improve governance and economy to meet public demands, says ex-US ambassador. (2019, October 10). The National. Retrieved from https://www.thenational.ae/world/mena/iraq-must-improve-governance-and-economy-to-meet-public-demands-says-ex-us-ambassador-1.921490
2. Iraq passes electoral reforms but deadlock remains. (2019, December 25). Al Arabiya. Retrieved from https://english.alarabiya.net/en/News/middle-east/2019/12/25/Iraq-passes-electoral-reforms-but-deadlock-remains.html
3. Iraqi lawmaker gets six years for corruption. (2019, December 18). Al Arabiya. Retrieved from https://english.alarabiya.net/en/News/middle-east/2019/12/18/Iraqi-lawmaker-gets-six-years-for-corruption.html
4. Iraqi PM suspends electricity minister amid unrest over poor services. (2018, July 29). Al Arabiya. Retrieved from https://english.alarabiya.net/en/News/middle-east/2018/07/29/Iraqi-PM-suspends-electricity-minister-amid-unrest-over-poor-services.html
5. Iraqi protests escalate with no new government in sight. (2018, July 16). Al Monitor. Retrieved from https://www.al-monitor.com/pulse/originals/2018/07/iraq-protests-south-demands-abadi-government.html
6. Iraqi protesters pack Baghdad square, anti-government movement gains momentum. (2019, October 29). Reuters. Retrieved from https://www.reuters.com/article/us-iraq-protests/iraqi-security-forces-open-fire-on-protesters-kill-14-idUSKBN1X80KI
7. Iraqi protesters rally after night of arson attacks. (2019, December 25). Gulf Times. Retrieved from https://www.gulf-times.com/story/651631/Iraqi-protesters-rally-after-night-of-arson-attack
8. Is Iran trying to hijack Iraqi protesters’ demands? (2019, November 14). The Baghdad post. Retrieved from https://www.thebaghdadpost.com/en/Story/44649/Is-Iran-trying-to-hijack-Iraqi-protesters-demands
9. President Barzani: Iraqi PM Mahdi needs to be given 'more chances' for reform. (2019, November 6). Rudaw. Retrieved from https://www.rudaw.net/english/middleeast/iraq/051120192
10. Sistani losing trust of young protesters in Baghdad’s Tahrir Square. (2019, December 12). Rudaw. Retrieved from https://www.rudaw.net/english/middleeast/iraq/111220191
11. Still in streets, Iraqis say problem is poverty. (2019, December 5). Arab News. Retrieved from https://www.arabnews.com/node/1594261/middle-east
12. Strikes resume in Iraq to bolster anti-govt protests. (2019, November 18). Gulf Times. Retrieved from https://www.gulf-times.com/story/647880/AFP-Baghdad
13. Top Iraqi Shiite religious leader calls for new election law. (2019, November 15). AP. Retrieved from https://apnews.com/a5f7fa71fafa4d22a2f91ce67f6fc532
14. Transparency International. (2018). CORRUPTION PERCEPTIONS INDEX 2018. Retrieved from https://www.transparency.org/cpi2018
-----------------------------
Cullan Smith