เมื่อคนในชาติไม่คิดเป็นเอกภาพ ประชาธิปไตยอิรักกลายเป็นกับดัก

ระบอบประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่ดี แต่หากสังคมไม่เป็นเอกภาพ ไม่ต้องการอยู่ร่วมเป็นคนชาติเดียวกันจะกลายเป็นกับดักประชาธิปไตย มีปัญหาตามมาไม่สิ้นสุด
นับจากปี 2017 สงครามต่อต้านผู้ก่อการร้ายไอซิสเริ่มซา คนอิรักส่วนหนึ่งหันกลับมามองปัญหาใกล้ตัวอีกครั้ง การประท้วงรอบนี้เริ่มเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ในเวลาเพียง 8 วันเสียชีวิตอย่างน้อย 180 ราย บาดเจ็บ 7,000 ราย หน่วยงานรัฐ ศูนย์พรรคการเมืองถูกทำลาย มีข้อมูลว่าเจ้าหน้าที่ยิงปืนใส่ผู้ชุมนุม ในขณะที่เจ้าหน้าที่โต้ว่าในหมู่ผู้ชุมนุมมีผู้ถือปืนแฝงตัวยิงเจ้าหน้าที่
            หลังบ่ายเบี่ยงหลายรอบ ในที่สุดกองทัพอิรักยอมรับว่ามีบางกรณีที่ทหารใช้กำลังเกินกว่าเหตุและกำลังตรวจสอบอยู่ เปลี่ยนให้ตำรวจเป็นผู้ควบคุมสถานการณ์ ย้ำว่ามีมือที่ 3 ใช้สไนเปอร์ยิงผู้ชุมนุม
            การชุมนุมเกิดขึ้นในกรุงแบกแดดและอีกหลายเมืองทางตอนใต้ซึ่งเป็นเขตอิทธิพลของพวกชีอะห์
            เป้าหมายที่ฝ่ายผู้ชุมนุมต้องการคือล้มรัฐบาล เหตุเพราะการโกงกินมโหฬาร คนตกงาน น้ำไฟไม่พอใช้
มุกตาดา อัล-ซาดาร์ (Moqtada al-Sadr) ผู้นำจิตวิญญาณชีอะห์กลุ่มหนึ่งในอิรัก เรียกร้องให้รัฐบาลลาออก จัดเลือกตั้งใหม่ Awad Awadi นักการเมืองอาวุโสของฝ่ายอัล-ซาดาร์กล่าวว่า “พวกเราสนับสนุนการประท้วงทุกวิถีทาง” เป็น “การปฏิวัติของความหิวโหย” (a revolution of hunger) สายของอัล-ซาดาร์เป็นกลุ่มใหญ่สุดของรัฐสภาแต่เป็นฝ่ายค้าน
Douglas Silliman อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำอิรักชี้ว่าปัญหาใหญ่ที่สุดคือ ต้องหางานให้กับคนหนุ่มสาว 1 ล้านคนที่ว่างงานในขณะนี้ (ธนาคารโลกระบุว่าคนหนุ่มสาวว่างงานถึงร้อยละ 25) ด้วยการคลายกฎระเบียบการเป็นผู้ประกอบการ ไม่มีวิธีอื่นที่สามารถหางานแก่คนจำนวนมาก
นับแต่เริ่มชุมนุม อเดล อับดุล มาห์ดี (Adel Abdul Mahdi) นายกรัฐมนตรีอิรัก ประกาศขอให้ยุติการชุมนุม รัฐบาลรับทราบความต้องการแล้ว จะแก้ปัญหาทั้งเรื่องการว่างงาน คอร์รัปชัน ให้น้ำไหลไฟสว่าง แต่จำต้องใช้เวลา รัฐบาลเพิ่งมีอายุเพียงปีเดียวเท่านั้น ได้ไล่เจ้าหน้าที่กว่า 1,000 นายออกจากตำแหน่งด้วยข้อกล่าวหาทำให้รัฐสูญเงินโดยใช่เหตุ พร้อมกับประกาศนโยบายปฏิรูปหลายข้อ เช่น ปฏิรูปที่ดิน การเกณฑ์ทหาร เพิ่มสวัสดิการหลายอย่าง บ้านสำหรับผู้มีรายได้น้อย อบรมให้ความรู้แก่ผู้ว่างงาน
แท้จริงแล้วการชุมนุมประท้วงลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง (ในรัฐบาลชุดก่อน) เป็นประเด็นเก่าๆ อิรักเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลกแต่ชาวบ้านยากจน เงินหายไปไหนหมด เป็นคำถามที่ดีเมื่อชาวบ้านจำนวนไม่น้อยต้องอยู่อย่างยากจนไร้อนาคต

กับดักประชาธิปไตยอิรัก :
นายเนชิวาน บาร์ซานิ ประธานาธิบดีภูมิภาคเคิร์ด (Kurdistan Region-เป็นเขตปกครองหนึ่งของอิรัก) กล่าวว่าต้นเหตุของปัญหาทั้งปวงมาจากฝ่ายการเมือง ไม่สามารถแก้ไขได้โดยง่าย ตราบใดที่บ้านเมืองยังไม่สงบ (หมายถึงสถานการณ์ภาพใหญ่)
            หลักคิดของรัฐบาลสหรัฐในการมอบประชาธิปไตยแก่อิรัก คือ แบ่งสรรอำนาจแก่ตัวแทน (นักการเมือง) ของทั้ง 3 กลุ่มใหญ่ คือ ชีอะห์ ซุนนีและเคิร์ด เพื่อให้ทุกฝ่ายมีสิทธิมีเสียงของตนเองในรัฐสภา ได้รัฐบาลสะท้อนเสียงประชาชนทั้งประเทศ
            เหมือนเช่นหลายประเทศ การเลือกตั้งอิรักเป็นเพียงพิธีกรรมอย่างหนึ่ง ประชาชนขาดหรือไม่ยอมรับวัฒนธรรมประชาธิปไตย คนจำนวนมากยึดมั่นผู้นำชุมชนผู้นำกลุ่มมากกว่า ไปเลือกตั้งตามคำชี้แนะจากผู้นำของตน คนชีอะห์จะเลือกตัวแทนชีอะห์ คนซุนนีจะเลือกตัวแทนซุนนี ชาวเคิร์ดจะเลือกตัวแทนที่เป็นคนเคิร์ด
            นอกจากนี้แกนนำกับนักการเมืองของทั้ง 3 กลุ่มใหญ่ ไม่คิดสร้างประเทศที่มีเอกภาพจริง บ้างอาจโทษว่าเพราะนายกฯ ที่มาจากพวกชีอะห์มักยึดกุมอำนาจรัฐไว้กับตัวเอง ไม่กระจายอำนาจ กระจายทรัพยากรอย่างเท่าเทียม
            แม้ปกครองด้วยประชาธิปไตย ทั้ง 3 กลุ่มต่างมีกองกำลังของตัวเอง พูดให้หนักกว่านั้นคือมีเขตปกครองของตนเอง พวกเคิร์ดนั้นชัดเจน ส่วนพวกซุนนีแม้ไม่ประกาศเขตปกครองตนเอง แต่กุมอำนาจพื้นที่อย่างเหนียวแน่นด้วยกองกำลังของตน อำนาจรัฐส่วนกลางเข้าไม่ถึง แม้กระทั่งชีอะห์ที่แยกเป็นกลุ่มย่อย เป็นที่รับรู้มานานแล้วว่ากลุ่มของมุกตาดา อัล-ซาดาร์ มีพื้นที่และกองกำลังของตนตั้งแต่สมัยต่อต้านซัดดัม ฮุสเซน
            ดังนั้น ประชาธิปไตยอิรักจึงไม่ทำงาน รัฐบาลกลางไม่สามารถปราบปรามการทุจริตของพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง เช่นเดียวกับที่ฝ่ายค้านไม่อาจจัดการทุจริตของฝ่ายรัฐบาลเช่นกัน องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ระบุว่านับจากอิรักได้รัฐบาลประชาธิปไตยการทุจริตรุนแรงเกิดขึ้นในหมู่เจ้าหน้าที่ทุกระดับ ทุกภาคส่วนของประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ประชาชนทั่วไป ดัชนีคอร์รัปชันปี 2018 อยู่ที่ 18 จากคะแนนเต็ม 100 เป็นประเทศมีการทุจริตร้ายแรงที่สุดในลำดับที่ 12 จากทั้งหมด 180 ประเทศ (ประเทศไทยได้ 36 คะแนน)
            ปัญหาความเป็นเอกภาพของชาติจึงไม่อาจแก้โดยง่าย แสดงออกเป็นการโกงกิน น้ำไฟไม่พอ คนว่างงาน ฯลฯ
            ระบอบประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่ดี แต่กับบริบทอิรักกลายเป็นกับดักประชาธิปไตย
เลือกตั้งอีกครั้งเป็นทางออกไหม :
กลุ่มของมุกตาดา อัล-ซาดาร์ เรียกร้องยุบสภา จัดเลือกตั้งใหม่ คำถามคือการเลือกตั้งเป็นคำตอบหรือไม่
ถ้ามองในแง่บวก หากอัล-ซาดาร์ชนะเลือกตั้งได้คะแนนจากพวกชีอะห์อย่างถล่มทลาย ร่วมมือกับซุนนีและเคิร์ด (ซึ่งต้องเป็นเช่นนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้) จัดตั้งรัฐบาลแล้วลดการทุจริต มีรายได้เข้ารัฐมากขึ้น งบประมาณรัฐไม่รั่วไหล เพิ่มการจ้างงาน เริ่มฟื้นฟูระบบสาธารณูปโภค เช่นนี้ถือว่าสำเร็จแล้ว (โดยไม่ต้องสำเร็จสมบูรณ์)
น่าจะเป็นฉากทัศน์ที่ดีและอาจเป็นไปได้ แต่ยังติดปมสำคัญคือรัฐบาลสหรัฐจะยอมหรือไม่
หลังโค่นล้มระบอบซัดดัม ฮุสเซน รัฐบาลสหรัฐคืนอำนาจบริหารประเทศแก่อิรักตั้งแต่ปี 2004 แต่สิ่งหนึ่งที่คงอยู่คือ Green Zone
            แบกแดดเมืองหลวงอิรักมีพื้นที่กว้างใหญ่ มีประชาชนอาศัยหลายล้านคน นับแต่สหรัฐยึดครองอิรัก ส่วนหนึ่งของกรุงแบกแดดถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ๆ กองทหารสหรัฐกำหนดให้เป็นเขตปลอดภัยสูงสุดหรือที่เรียกว่า Green Zone เพราะเป็นที่ตั้งศูนย์บัญชาการใหญ่ ฐานทัพใหญ่ของตน และยังเป็นที่ตั้งศูนย์กลางบริหารประเทศด้วย เมื่ออิรักเป็นประชาธิปไตย มีรัฐบาลของตนเอง ปรากฏว่าทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา ที่ตั้งกระทรวงต่างๆ ตั้งอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวด้วย กองกำลังสหรัฐมีส่วนควบคุมรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่นี้
            เมื่อ 2 เดือนก่อนกองทัพสหรัฐประกาศว่าจะคงกองกำลังของตนในอิรักต่อไป “นานเท่าที่จำเป็น”
เพื่อช่วยดูแลความสงบในเขตที่ไอซิสเคยควบคุม ปัจจุบันมีทหารอเมริกัน 5,200 นายในอิรัก
            ถ้ารัฐบาลอิรักมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจริงคงไม่ปล่อยให้ศูนย์บัญชาการใหญ่ ฐานทัพใหญ่สหรัฐยังคงตั้งอยู่ในเมืองหลวงในพื้นเดียวกับศูนย์กลางบริหารประเทศอิรัก
            คงไม่เกินไปถ้าจะกล่าวว่ารัฐบาลสหรัฐยังคงควบคุมแกนอำนาจอิรักอย่างเหนียวแน่น ในลักษณะที่รัฐบาลอิรักมีอิสระตัดสินใจพอสมควร แต่ประเด็นสำคัญที่สุดยังอยู่ใต้อิทธิพลสหรัฐ รัฐบาลประชาธิปไตยอิรักทุกชุดล้วนอยู่ภายใต้กฎเหล็กนี้
            อิทธิพลของรัฐบาลสหรัฐต่ออิรักคืออีกปัจจัยที่มีผลต่อเอกภาพของอิรัก
            ระบอบประชาธิปไตยเป็นการปกครองที่ดี หลายประเทศประสบความสำเร็จกับการใช้ระบอบนี้ แต่หากสังคมไม่เป็นเอกภาพ ไม่ต้องการอยู่ร่วมเป็นคนชาติเดียวกันจะกลายเป็นกับดักประชาธิปไตย มีปัญหาตามมาไม่สิ้นสุด
            งานนี้รัฐบาลต่างชาติอาจมีส่วนเกี่ยวข้อง แต่หากนักการเมืองตั้งใจทำงานเพื่อชาติจริง ประเทศพัฒนา ประชาชนทุกหมู่เหล่าอยู่ร่วมกันด้วยความเข้าใจ ยอมรับพหุสังคม การยุยงย่อมไม่เป็นผล
13 ตุลาคม 2019
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลกไทยโพสต์ ปีที่ 23 ฉบับที่ 8372 วันอาทิตย์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2562)
---------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง : 
12 ปีนับจากโค่นล้มระบอบซัดดัม ฮุสเซนและรัฐบาลบุชประกาศว่าจะสร้างอิรักให้เป็นประชาธิปไตย เป็นแบบอย่างแก่ประเทศอื่นๆ ในตะวันออกกลาง จากบัดนั้นจนบัดนี้อิรักยังไม่เคยเป็นประชาธิปไตยจริงๆ อีกทั้งสถานการณ์เลวร้ายกว่าเดิม สังคมแตกแยกร้าวลึก สงครามกลางเมืองทำให้ผู้คนล้มตายปีละนับพันนับหมื่น โดยยังไม่เห็นวี่แววว่าเมื่อไหร่ความสงบสุขจะกลับคืนมา
มุกตาดา อัล-ซาดาร์ นักบวชผู้นำชีอะห์กลุ่มหนึ่ง กล่าวต่อประชาชนว่าไม่มีรัฐมนตรีคนใดที่เป็นตัวแทนของพวกเขา เป็นต้นตอซ้ำเติมการทุจริตคอร์รัปชัน การปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรีเป็นเรื่องของการสืบทอดอำนาจเท่านั้น 12 ปีประชาธิปไตยอิรักก่อให้เกิดเกิดคำถามว่าประเทศยังเหมาะที่จะปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยต่อไปอีกหรือไม่ เป็นประโยชน์หรือเป็นโทษมากกว่ากัน ควรแสวงหาทางเลือกอื่นหรือไม่
บรรณานุกรม :
1. Death toll surges to 46 as Iraq unrest accelerates; cleric blames politicians. (2019, October 4). Reuters. Retrieved from https://www.reuters.com/article/us-iraq-protests/death-toll-surges-to-46-as-iraq-unrest-accelerates-cleric-blames-politicians-idUSKBN1WJ0NW
2. Ghanim, David. (2011). Iraq’s dysfunctional democracy. California: ABC-CLIO, LLC.
3. Iranian general ‘played leading role’ in crackdown on Iraqi protests. (2019, October 9). Arab News. Retrieved from https://www.arabnews.com/node/1566211/middle-east
4. Iraq cleric Sadr demands government resign as deadly protests spike. (2019, October 4). AFP. Retrieved from https://www.afp.com/en/news/3954/iraq-cleric-sadr-demands-government-resign-deadly-protests-spike-doc-1l25uk15
5. Iraq must improve governance and economy to meet public demands, says ex-US ambassador. (2019, October 10). The National. Retrieved from https://www.thenational.ae/world/mena/iraq-must-improve-governance-and-economy-to-meet-public-demands-says-ex-us-ambassador-1.921490
6. Iraqi PM pledges reforms to calm angry protests. (2019, October 6). Egypt Independent. Retrieved from https://www.egyptindependent.com/iraqi-pm-pledges-reforms-to-calm-angry-protests/
7. Iraq PM tells protesters ‘there are no magic solutions’ to grievances. (2019, October 4). Rudaw. Retrieved from https://www.rudaw.net/english/middleeast/iraq/04102019
8. Iraq protests: Death tolls soars as pro-Iran militias accused of shooting protesters. (2019, October 7). The Independent. Retrieved from https://www.independent.co.uk/news/world/middle-east/iraq-protests-baghdad-death-toll-shooting-a9145716.html
9. Iraqi military admits 'excessive force' used against protesters. (2019, October 7). The National. Retrieved from https://www.thenational.ae/world/mena/iraqi-military-admits-excessive-force-used-against-protesters-1.920213
10. Protests resume in Iraq’s Sadr City as uprising enters second week. (2019, October 9). Al Arabiya. Retrieved from https://english.alarabiya.net/en/News/middle-east/2019/10/09/Protests-resume-in-Iraq-s-Sadr-City-as-uprising-enters-second-week.html
11. Transparency International. (2018). CORRUPTION PERCEPTIONS INDEX 2018. Retrieved from https://www.transparency.org/cpi2018
12. UPDATE 2: Five killed as clashes erupt again in Iraq. (2019, October 5). Ahram Online. Retrieved from http://english.ahram.org.eg/NewsContent/2/8/352238/World/Region/UPDATE--Five-killed-as-clashes-erupt-again-in-Iraq.aspx
13. U.S. forces to stay in Iraq as long as needed: spokesman. (2018, August 19). Reuters. Retrieved from https://www.reuters.com/article/us-mideast-crisis-iraq-usa/u-s-forces-to-stay-in-iraq-as-long-as-needed-spokesman-idUSKBN1L408A
-----------------------------