นับจากโลกมีอาวุธนิวเคลียร์
รัฐบาลสหรัฐไม่คิดที่จะปลดอาวุธนี้เพราะเห็นว่าคือเครื่องมือกอบโกยผลประโยชน์จากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ประเด็นขีปนาวุธพิสัยกลางคืออีกภาพสะท้อน
เรื่องอาวุธนิวเคลียร์เป็นประเด็นร้อนอีกครั้งเมื่อประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่ารัสเซียละเมิดสนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง
สหรัฐไม่อาจปล่อยให้รัสเซียมีอาวุธชนิดนี้ในขณะที่สหรัฐไม่อาจจะมี ดังนั้นจึงขอถอนตัวจากสนธิสัญญา
พร้อมกับพูดเป็นนัยว่าจีนต้องเข้าร่วมเจรจาด้วย มิเช่นนั้นสหรัฐจะสร้างอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลางอีกครั้ง
คำกล่าวหาละเมิดสนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง
:
สนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง
(Intermediate-Range Nuclear Forces Treaty: INF) เป็นสนธิสัญญาทวิภาคีระหว่างสหรัฐกับสหภาพโซเวียตเมื่อธันวาคม
1987 ทั้ง 2 ประเทศตกลงที่จะกำจัดขีปนาวุธพิสัยระหว่าง 500 – 5,500
กิโลเมตรที่ติดตั้งบนฐานยิงภาคพื้นดินให้หมดก่อนวันที่ 1 มิถุนายน 1991
รวมทั้งระบบปล่อยอาวุธดังกล่าว ไม่ว่าจะติดหัวรบนิวเคลียร์หรืออื่นใด
ภายใต้สนธิสัญญานี้การศึกษาพัฒนาในตัวกระดาษยังไม่นับว่าละเมิด
หากผลิตหรือยิงทดสอบขีปนาวุธจึงถือว่าละเมิดแล้ว
รัฐบาลสหรัฐกล่าวหารัสเซียละเมิดสนธิสัญญาณดังกล่าวตั้งแต่ปี
2008 ต่อมาปี 2014 รัฐบาลโอบามากล่าวหารัสเซียอีกครั้งว่าละเมิดสนธิสัญญาทำการทดสอบปล่อยจรวดร่อนจากระบบปล่อยภาคพื้นดิน
รัฐสภามีมติให้ติดตามความเคลื่อนไหวของรัสเซียในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด
ธันวาคม
2017 สหรัฐระบุว่าขีปนาวุธที่ละเมิดคือ Novator 9M729 หรือ SSC-8 พัฒนามาจากขีปนาวุธพิสัยใกล้
Iskander K กลายเป็นพิสัยปานกลาง และกล่าวหาว่ารัสเซียได้ประจำการขีปนาวุธดังกล่าวแล้ว
ด้านรัสเซียปฏิเสธข้อกล่าวหาพร้อมกับชี้ว่าสหรัฐละเมิดสนธิสัญญาเช่นกัน
ยกกรณีติดตั้งระบบต่อต้านขีปนาวุธ SM-3 ในโรมาเนียกับโปแลนด์
แม้ว่าระบบดังกล่าวเป็นระบบต่อต้านขีปนาวุธ (พื้นสู่อากาศ)
แต่สามารถติดตั้งขีปนาวุธพื้นสู่พื้น เช่นจรวดร่อนโทมาฮอว์ค
ฝ่ายสหรัฐชี้แจงว่าไม่ได้ละเมิดเพราะติดตั้งแต่ระบบต่อต้านขีปนาวุธ
วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :
ในที่นี้จะนำเสนอแนวคิดมุมมองหลากหลาย
ดังนี้
ประการแรก
ควรตั้งคณะกรรมการตรวจพิสูจน์หรือไม่
ภายใต้สนธิสัญญา INF
ได้จัดตั้งคณะกรรมการตรวจพิสูจน์พิเศษ (Special Verification
Commission) ตรวจพิสูจน์ว่าคู่สัญญาทำตามข้อตกลงหรือไม่
คณะกรรมการดังกล่าวทำหน้าที่ได้ดีเป็นที่ยอมรับในช่วงตรวจพิสูจน์การทำลายอาวุธของทั้ง
2 ฝ่าย
บัดนี้
เมื่อมีข้อกล่าวหาจึงมีผู้เสนอให้คณะกรรมการพิเศษชุดนี้ทำหน้าที่อีกครั้ง เพื่อชี้ว่ามีการละเมิด
INF หรือไม่ แต่ดูเหมือนรัฐบาลทรัมป์ (รวมทั้งรัฐบาลโอบามา)
ไม่สนใจตรวจพิสูจน์ด้วยคนกลาง เลือกที่จะตัดสินใจด้วยตัวเอง ทั้งๆ
ที่รัสเซียปฏิเสธเรื่อยมา
แนวคิดใช้คณะกรรมการตรวจพิสูจน์เป็นแนวคิดที่ดีแต่ยากจะปฏิบัติในบริบทปัจจุบัน
ควรเท้าความว่าคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นเมื่อเริ่มบังคับใช้ INF นั้นในขณะนั้นเป็นช่วงปลายสงครามเย็น ทั้งยุโรปตะวันตกกับรัสเซียต่างเห็นพ้องที่จะลดความตึงเครียดจึงยินดีเปิดฐานทัพให้เข้าตรวจสอบและทำลายอาวุธนิวเคลียร์
แต่บริบทปัจจุบันไม่เป็นเช่นนั้น
สหรัฐหรือรัสเซียคงไม่ยินดีที่จะเปิดให้ตรวจสอบอย่างทั่วถึง
แท้จริงแล้วไม่มีประเทศใดที่เปิดเผยข้อมูลทั้งหมด
สุดท้ายกลายเป็นว่าไม่อาจสรุปได้ว่ายังยึดมั่น INF หรือไม่
อีกทั้งการเปิดโอกาสให้อีกฝ่ายเข้าจารกรรมล้วงความลับ
บริบทที่ไม่เอื้อจึงเป็นอุปสรรคหากจะใช้แนวทางนี้
ประการที่ 2 เพื่อยับยั้งอิทธิพลจีนในทะเลจีนใต้
นักวิเคราะห์บางคนเห็นว่าเป้าหมายที่แท้คือสหรัฐหวังสกัดอิทธิพลจีนในทะเลจีนใต้
เกรงว่าขีปนาวุธจีนคุกคามพันธมิตร ฐานทัพ กองเรือสหรัฐในย่านนั้น การประกาศถอนตัวของทรัมป์อาจเป็นกลวิธีเจรจาเพื่อดึงให้จีนเข้าร่วมสนธิสัญญา
INF ฉบับใหม่ (การเจรจาใหม่) จำกัดปริมาณอาวุธของจีน ฯลฯ
หนึ่งในระบบขีปนาวุธจีนที่สหรัฐกังวลคือ DF-26 มีพิสัย
4,000 กิโลเมตร เป็นอันตรายต่อฐานทัพอเมริกันและกองเรือในรัศมีอาวุธ สหรัฐคงหวังให้ยุโรป
รัสเซีย และอีกหลายประเทศช่วยกดดันจีนให้ยอมเข้าร่วม INF
นับเป็นวิธีการที่ชาญฉลาด หากสำเร็จลุล่วงควรยกความดีความชอบให้กับรัฐบาลทรัมป์
แดน บลูเมนธอล (Dan
Blumenthal) อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐเห็นว่าการถอนตัวจากสนธิสัญญาเปิดทางให้สหรัฐสร้างขีปนาวุธพิสัยกลางแบบใหม่ที่มีความสามารถในการพรางตัวและเคลื่อนที่ไปมาได้สะดวก
และอาจประจำการขีปนาวุธชนิดนี้ที่เกาะกวมกับญี่ปุ่น หากเป็นเช่นนั้นจีนต้องพัฒนาและติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธอีกมากหากคิดจะสกัดกั้น
แนวคิดนี้มุ่งเป้าที่จีน
ประการที
3 INF ล้าสมัยควรเจรจาใหม่
ในอีกมุมมองคือสนธิสัญญา
INF เป็นประโยชน์ในยุคใกล้สิ้นสงครามเย็น แต่หลังใช้มากว่า
30 ปีบริบทเปลี่ยนไปมากแล้ว
รัสเซียภายใต้ยุคปูตินกำลังฟื้นตัวอีกครั้งและต้องการความเป็นเจ้า
(อย่างน้อยในระดับภูมิภาค) เร่งสร้างขยายกองทัพใหม่อีกครั้ง
ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ในด้านหนึ่งมหาอำนาจนิวเคลียร์เจรจาเรื่อยมาเพื่อรักษาความปลอดภัยไม่ให้เกิดเหตุร้ายโดยไม่คาดฝัน
เจรจาลดอาวุธหลายรอบ หนึ่งในผลงานคือ INF แต่ในอีกด้านการแข่งขันยังดำเนินต่อเนื่อง
ชาตินิวเคลียร์ส่วนใหญ่ยังพัฒนาอาวุธใหม่ๆ สหรัฐสร้างระบบป้องกันขีปนาวุธและพยายามติดตั้งตามจุดต่างๆ
ทั่วโลก รัสเซียตอบโต้ด้วยการสร้างขีปนาวุธรุ่นใหม่ที่อ้างว่าสามารถหลบหลีกหรือทะลวงระบบต่อต้านของสหรัฐ
ด้วยแนวคิดนี้
การถอนตัวหรือยกเลิก INF เพื่อเจรจาใหม่น่าจะเป็นผลดี
และควรนำทุกประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์มาร่วมเจรจา
รวมทั้งอิสราเอลที่ไม่ยอมรับและไม่ปฏิเสธว่าตนมีอาวุธนิวเคลียร์หรือไม่ ทั้งควรนำระบบต่อต้านขีปนาวุธ
(Ballistic Missile Defense - BMD)
เป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาด้วย แต่แนวคิดนี้คงไม่ง่าย มากคนมากความ
ประการที่
4 ทำไมยังต้องทำสนธิสัญญาอีกเมื่อรัฐบาลสหรัฐพร้อมฉีกทุกเมื่อ
ถ้ามองในแง่ลบ
ในเวลาไม่ถึง 2 ปีรัฐบาลสหรัฐฉีกสนธิสัญญา ข้อตกลงระหว่างประเทศหลายฉบับ
ด้วยเหตุผลว่าไม่สนับสนุนผลประโยชน์อเมริกา ก่อให้เกิดคำถามว่าการทำสนธิสัญญา
ข้อตกลงกับประเทศนี้มีประโยชน์แค่ไหน เพราะไม่มีหลักประกันว่าข้อตกลงที่ทำวันนี้จะคงอยู่ในวันพรุ่งนี้
รัฐบาลสหรัฐจะคงรักษาข้อตกลงตราบเท่าที่เห็นว่าได้ประโยชน์มากพอ
คำถามคือจำเป็นแค่ไหนที่ต้องทำสัญญาเพื่อให้สหรัฐได้ประโยชน์สูงสุด
สมมุติว่าจีนเข้าร่วมทำข้อตกลงฉบับใหม่ จำกัดอาวุธนิวเคลียร์ของตัวเอง
ไม่ได้แปลว่าในอนาคตสหรัฐจะไม่ฉีกสัญญาหรือขอให้ปรับสัญญาใหม่ตราบเท่าที่สหรัฐคงความเป็นเจ้าทางทหารของโลก
แนวคิดนี้ให้หลักคิดว่ารัฐบาลสหรัฐใช้การทำสนธิสัญญา
ข้อตกลงต่างๆ เป็นเครื่องมือจำกัดอำนาจอิทธิพลของชาติอื่นๆ เพิ่มขยายผลประโยชน์
อำนาจอิทธิพลของตัวเอง
ประการที่
5 โลกแห่งการแข่งขันสะสมอาวุธนิวเคลียร์
นับตั้งแต่โลกมีอาวุธนิวเคลียร์ครั้งแรก
สหรัฐเป็นประเทศนำด้านนี้มาตลอด ยุทธศาสตร์ด้านนิวเคลียร์ (Nuclear Posture
Review : NPR) ฉบับล่าสุดปี 2018 ประกาศชัดว่า
รัฐบาลมีหน้าที่คงกำลังอาวุธนิวเคลียร์ให้เหนือทุกประเทศใดโลก
ด้วยความเชื่อว่านอกจากปลอดภัยแล้ว ยังใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนการเจรจา
เรื่องนี้สัมพันธ์กับเศรษฐกิจโดยตรง
เพราะสหรัฐมีอิทธิพลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจโลก เป็นระบบที่เอื้อประโยชน์ต่อตน
วันใดที่ภาพลักษณ์ความเป็นมหาอำนาจหดหาย จะกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจทันที เช่น
กระทบต่อค่าเงินดอลลาร์ ข้อตกลงการค้าที่สหรัฐได้เปรียบ
ทั้งรัสเซียกับจีนล้วนเป็นผู้ตามหลังอเมริกาในเรื่องอาวุธนิวเคลียร์
(แม้สหรัฐจะไม่มีขีปนาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลางแต่โดยรวมแล้วยังเป็นเจ้า)
และต้องย้ำว่าสหรัฐจะไม่ยอมให้ใครแซงนำในเรื่องนี้
การถอนตัวจาก
INF การนำสู่การเจรจาใหม่อยู่ภายใต้กรอบแนวคิดว่าสหรัฐจะต้องเป็นผู้นำด้านกองกำลังนิวเคลียร์โลก
ดังนั้น หากรัสเซีย จีนหรือประเทศใดพยายามจะแข่งสะสมนิวเคลียร์ สหรัฐจะก้าวไปให้เร็วกว่าและไกลกว่า
โลกแห่งการสะสมกองกำลังนิวเคลียร์เป็นเช่นนี้
ไม่ว่าประเทศใด องค์การระหว่างประเทศ คนชาติใดจะกล่าวโจมตีรัฐบาลสหรัฐ
ประการที่
6 ทรัมป์ไม่ต้องการสงครามล้างโลก
บ่อยครั้งที่มีข่าวความตึงเครียดเรื่องอาวุธนิวเคลียร์จะมีผู้คิดถึงสงครามนิวเคลียร์
แม้ประธานาธิบดีทรัมป์ใช้ถ้อยคำรุนแรง สุ่มเสี่ยงให้เผชิญหน้า เพิ่มงบประมาณสร้างอาวุธจำนวนมากรวมทั้งอาวุธนิวเคลียร์ใหม่ๆ
แต่เหล่านี้ไม่ได้หมายความว่าทรัมป์คิดจะทำสงครามนิวเคลียร์
ถ้าจะตั้งคำถามแบบเข้าใจง่ายๆ
อาจตั้งคำถามว่าประธานาธิบดีอยากทำสงครามนิวเคลียร์หรือไม่
อยากดำเนินชีวิตต่อในโลกยุคหลังสงครามนิวเคลียร์หรือไม่ คำตอบโดยสามัญสำนึกคือทรัมป์อยากอยู่ดีกินดี
มีชีวิตยืนยาวอีกหลายปี ใช้ชีวิตเยี่ยงราชามากกว่า
เรื่องที่ใส่ใจมากที่สุดตอนนี้อาจเป็นทำอย่างไรจะได้เป็นประธานาธิบดีต่ออีกสมัย
ดังนั้นไม่ควรตั้งธงว่าทรัมป์ต้องการทำสงครามนิวเคลียร์
จะเกิดสงครามล้างโลกในไม่ช้า
บางคนวิพากษ์ว่าความคิดถอนตัวจากสนธิสัญญาขีปนาวุธพิสัยกลาง
(INF) จะยิ่งเพิ่มความตึงเครียด เป็นเหตุแข่งขันสะสมอาวุธนิวเคลียร์
บางคนตั้งคำถามว่าเป็นประโยชน์ต่ออเมริกาแค่ไหน
จะยิ่งทำให้ประเทศตกอยู่ในความเสี่ยงสงครามนิวเคลียร์หรือไม่
ที่ผ่านมากรณีเกาหลีเหนือกับอิหร่านก็ถูกตีความว่าอาจเป็นเหตุใช้นิวเคลียร์กันแล้ว
กรณีล่าสุดเป็นการเผชิญหน้าระหว่างมหาอำนาจนิวเคลียร์ด้วยกันจะร้ายแรงกว่าเพียงใด เหล่านี้เป็นมุมมองที่พูดได้
ในอีกมุมมองหนึ่งควรชมเชยรัฐบาลสหรัฐที่กำลังใช้ความได้เปรียบของตนสร้างความได้เปรียบเพิ่มอีก
ต้องอาศัยรัฐบาลอย่างทรัมป์ที่จะลงมือทำเรื่องเช่นนี้
28 ตุลาคม 2018
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 23 ฉบับที่ 8023 วันอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ.2561)
-----------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
ตลอด 240
ปีนับจากก่อตั้งประเทศได้พิสูจน์ชัดว่าชาวอเมริกันผู้รักสันติแทบไม่มีผลต่อนโยบายทำสงคราม
เป็นเหตุให้สหรัฐเข้าทำสงครามน้อยใหญ่อยู่เสมอ สงครามมีเพื่อใครกันแน่
โลกเข้าสู่ยุคสงครามนิวเคลียร์ สหรัฐจะชิงลงมือก่อน?
โอกาสเกิดสงครามล้างโลกนิวเคลียร์เป็นไปได้น้อยมาก
ที่มีความเป็นไปได้มากขึ้นคือสหรัฐจะเป็นผู้ลงมือใช้ก่อนกับประเทศเล็กๆ
บรรณานุกรม :
1. China’s missile buildup — a threat to U.S. bases in Japan
— likely a key factor in Trump plan to exit INF. (2018, October 22). The
Japan Times. Retrieved from https://www.japantimes.co.jp/news/2018/10/22/asia-pacific/russia-blamed-china-real-reason-u-s-inf-exit/#.W85fiXszbZ4
2. Council on Foreign Relations (CFR). (2018, February 21). The
Uncertain Future of the INF Treaty. Retrieved from https://www.cfr.org/backgrounder/uncertain-future-inf-treaty
3. Stockholm
International Peace Research Institute. (2018). World nuclear forces. Retrieved
from https://www.sipri.org/sites/default/files/SIPRIYB18c06.pdf
4. The Death of the INF Treaty Could Signal a U.S.-Russia
Missile Race. (2017, December 6). The National Interest. Retrieved from https://nationalinterest.org/feature/the-death-the-inf-treaty-could-signal-us-russia-missile-race-23532
5. Trump's missile treaty pullout could escalate tension
with China. (2018, October 23). Reuters. Retrieved from https://www.reuters.com/article/us-usa-nuclear-china/trumps-missile-treaty-pullout-could-escalate-tension-with-china-idUSKCN1MX0E7
6. U.S. Department
of Defense. (2018). Nuclear
Posture Review 2018. Retrieved from https://media.defense.gov/2018/Feb/02/2001872886/-1/-1/1/2018-NUCLEAR-POSTURE-REVIEW-FINAL-REPORT.PDF
-----------------------------