วิสัยทัศน์ความมั่นคงของลี เซียนลุง 2019

หลักสำคัญคือสหรัฐกับจีนต้องประสานงานและร่วมมือกับประเทศอื่นๆ สงครามการค้าไม่สามารถล้มจีน เช่นเดียวกับที่จีนไม่อาจล้มสหรัฐซึ่งจะคงเป็นชาติแข็งแกร่งที่สุดในโลก

            เป็นประจำทุกปีที่นายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุง (Lee Hsien Loong) จะแสดงปาฐกถาในงานประชุมแชงกรี-ลา (Shangri-La Dialogue) ปีนี้เช่นกัน มีสาระสำคัญดังนี้
            นายกฯ ลีเริ่มต้นด้วยการตั้งประเด็นว่าสิงคโปร์กังวลและอยากรู้ว่าโลกกำลังก้าวสู่ทิศทางใด ทำอย่างไรจึงจะสามารถรักษาสันติภาพและความมั่งคั่ง ความสัมพันธ์ทวิภาคีสหรัฐ-จีนเป็นเรื่องสำคัญที่สุด จีนในวันนี้ต่างจาก 40 ปีที่แล้ว เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นประโยชน์ทั้งต่อจีนกับเศรษฐกิจโลกอย่างยิ่ง แม้ยังไม่เป็นทุนนิยมเต็มตัวแต่เป็นเศรษฐกิจที่ให้ตลาดเป็นตัวขับเคลื่อน จีนเป็นฐานการผลิตขนาดใหญ่ ผลิตสินค้ามหาศาลที่ช่วยลดต้นทุนผู้ผลิตอื่นๆ ทั่วโลก ทั้งยังเป็นตลาดใหญ่สำหรับสินค้านานาชาติ ตั้งแต่พวกวัตถุดิบ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องบิน จนถึงไวน์ชั้นดี เช่นเดียวกับผู้บริโภคทั่วโลกที่ซื้อสินค้าสารพัดชนิดจากจีน มักใช้ชิ้นส่วนและเทคโนโลยีต่างประเทศร่วมด้วย
            ในทางกลับกัน หากจีนยังปิดประเทศน่าจะสร้างปัญหาแก่นานาชาติ จีนในปัจจุบันมีส่วนได้เสียจากระบบโลก เช่นเดียวกับที่มีผลต่อประเทศอื่นๆ ผู้นำจีนมักพูดอย่างหนักแน่นว่าสนับสนุนโลกาภิวัตน์ ระบบโลกที่ยึดกติกา จึงจำต้องพิสูจน์ว่าเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่
            ในด้านความมั่นคง ปัจจุบันจีนเป็นมหาอำนาจทางทหารชาติหนึ่ง มีงบกลาโหมสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก จำต้องยับยั้งชั่งใจในการใช้อำนาจและใช้อย่างชอบธรรม
            จีนมีเรื่องขัดแย้งกับหลายประเทศ เช่น การอ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ จำต้องแก้ไขด้วยสันติวิธี ยึดกฎหมายระหว่างประเทศ คำนึงผลประโยชน์แก่นหลัก (core interest) กับสิทธิ์ของประเทศอื่นๆ หากทำเช่นนี้จะสร้างชื่อเสียงว่าเป็นอำนาจผู้มีความรับผิดชอบและน่าเลื่อมใส (benevolent power) ในระยะยาวจะได้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากบรรยากาศแห่งมิตรภาพ เป็นชาติทรงอิทธิพลและได้รับการยอมรับในระดับโลก
            ประเทศทั้งหลายต้องปรับตัวเข้ากับบทบาทที่เพิ่มขึ้นของจีน ยอมรับว่าจีนกำลังเติบใหญ่ เข้มแข็งขึ้น เป็นการไม่ฉลาดที่จะยับยั้งจีนและเป็นไปไม่ได้ถ้าคิดจะทำเช่นนั้น จีนมีผลประโยชน์อันชอบธรรมที่จะพัฒนาเทคโนโลยีก้าวหน้า อย่างเช่น infocomms กับปัญญาประดิษฐ์ ด้วยเหตุผลเหล่านี้ จีนควรมีบทบาทสำคัญในสถาบันระหว่างประเทศ อย่าง IMF ธนาคารโลก องค์การค้าโลก หาไม่แล้วจีนจะสร้างระบบของตนเอง
            สหรัฐผู้เป็นมหาอำนาจที่ใหญ่กว่าต้องปรับตัวมากกว่าประเทศอื่น ถึงกระนั้นก็ตามจำต้องทำความเข้าใจจีนเสียใหม่และนำจีนเข้าสู่กติกาและบรรทัดฐานปัจจุบัน
            หลักสำคัญคือสหรัฐกับจีนต้องประสานงานและร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ปรับระบบโลกให้เท่าทันบริบท ไม่ใช่ด้วยการล้มระบบ ในการนี้ต่างต้องเข้าใจมุมมองของแต่ละฝ่ายและคำนึงผลประโยชน์ของทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการค้าที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งพยายามใช้เรื่องการค้าเพื่อล้มอีกฝ่าย หรือคิดว่าอีกฝ่ายกำลังทำเช่นนั้น หากเป็นเช่นนี้ปัญหาการค้าจะไม่จบ ผลเสียตามมาจะมากกว่าเรื่อง GDP จะกระทบด้านอื่นด้วย เช่น การลงทุน เทคโนโลยี ความสัมพันธ์ระดับประชาชน เกิดการตอบโต้ไปมา โลกจะแบ่งแยกมากขึ้นและมีปัญหามากกว่าเดิม
            ทุกวันนี้สหรัฐเอ่ยเรื่องการปิดล้อมจีนอย่างเปิดเผยเหมือนกับที่ครั้งหนึ่งเคยทำกับอดีตสหภาพโซเวียต แนวคิดนี้กระจายเข้าไปในชนชั้นปกครองทุกกลุ่ม พูดกันมากในรัฐสภา กองทัพ สื่อ สถาบันวิชาการ และองค์กรภาคประชาชน แม้กระทั่งในภาคธุรกิจยังมองจีนในแง่ลบ ทั้งๆ ที่พวกเขาเคยสนับสนุนจีนเพราะได้ประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจจีน ทุกวันนี้มีทั้งพวกที่สนับสนุนกับพวกต่อต้านการค้ากับจีน
            จีนมองแง่ลบต่อสหรัฐเช่นกัน คิดว่ากำลังกีดกันสิทธิอันชอบธรรมของจีนที่จะบรรลุความใฝ่ฝันของตัวเอง ทั้งยังรู้สึกภัยจากแนวคิด การปะทะกันระหว่างอารยธรรม” (Clash of Civilizations –  จากนักวิชาการอเมริกัน) ระหว่างสหรัฐกับจีน ต่อต้านความพยายามยัดเหยียดค่านิยมและระบบการเมืองแบบอเมริกัน
            ปัญหาพื้นฐานระหว่างสหรัฐกับจีนคือขาดความไว้เนื้อเชื่อใจทางยุทธศาสตร์ต่อกัน (mutual lack of strategic trust) จึงไม่ประนีประนอมหรือเกิดข้อตกลงสันติภาพ แต่จะไม่เหมือนสงครามเย็น (Cold War) เหตุเพราะแม้โครงสร้างการเมืองจีนเป็นคอมมิวนิสต์ แต่ใช้กลไกตลาดในหลายภาคส่วน โซเวียตต้องการล้มระเบียบโลกส่วนจีนได้ประโยชน์จากระบบโลก จีนในปัจจุบันไม่ส่งออกลัทธิคอมมิวนิสต์อีกแล้ว มุ่งทำธุรกิจกับทุกประเทศ พันธมิตรหลายประเทศของสหรัฐในเอเชียแปซิฟิกล้วนมีจีนเป็นคู่ค้าใหญ่สุด ประเทศเหล่านี้หวังว่าสหรัฐกับจีนจะสามารถแก้ไขเรื่องที่เห็นต่าง และต้องการเป็นมิตรกับทั้งคู่ หากเกิดสงครามเย็นครั้งใหม่คงยากจะที่แบ่งแยกว่าใครอยู่ฝ่ายตนหรือฝ่ายศัตรู และยากจะสร้างองค์กรความมั่นคงอย่างนาโตในเอเชียแปซิฟิก
            สงครามการค้าสหรัฐ-จีนไม่น่าจะสามารถล้มระบบเศรษฐกิจจีน เช่นเดียวกับที่จีนไม่อาจล้มสหรัฐซึ่งจะคงเป็นชาติที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก ที่สหรัฐกังวลคือจีนจะไล่ตามทัน จีนอาจเหนือกว่าบางเรื่องแต่โดยรวมแล้วต้องใช้เวลาอีกนานหลายปีจึงสามารถเทียบเคียงอเมริกา
            ลำพังความตึงเครียดที่ยาวนานและเต็มด้วยความไม่แน่นอนจะส่งผลเสียร้ายแรง ประเด็นระหว่างประเทศอย่างสถานการณ์เกาหลี การแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ จำต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างสหรัฐ-จีนและประเทศอื่นๆ อย่างเต็มกำลัง หากไม่แก้ไขจะสูญเสียโอกาส ประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่น่าจะได้
            ดังนั้น จึงต้องหลีกเลี่ยงวิถีแห่งความขัดแย้งที่สร้างความเสียหายแก่ทั้ง 2 ฝ่ายและส่งผลชั่วลูกชั่วหลาน เป็นความรับผิดชอบโดยตรงของผู้นำทางการเมืองที่จะต้องเสาะหาทางออก หลีกเลี่ยงความเสียหายซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะผู้นำทั้ง 2 ฝ่ายต่างเผชิญแรงกดดันจากในประเทศ การเมืองอเมริกาที่แบ่งแยกและต่างฝ่ายต่างไม่พอใจอีกฝ่าย ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ไม่เชื่อถือโลกาภิวัตน์กับลัทธิพหุภาคีนิยม เป็นแรงกดดันให้ทั้งพรรครีพับลิกันกับเดโมแครทต่างต้องออกนโยบายที่ไม่สวนความคิดเห็นของสังคม ไม่ว่าประธานาธิบดีท่านต่อไปจะเป็นทรัมป์หรือไม่ก็ตาม
            ผู้นำจีนไม่ได้มาจากการเลือกตั้งแบบอเมริกาแต่ต้องเผชิญแรงกดดันภายในเช่นกัน ประเด็นปัญหาภายในมีความสำคัญมากกว่า เช่น ความเหลื่อมล้ำของเมืองกับชนบท ปัญหาความยากจนในชนบท ผู้สูงวัยเพิ่มมากขึ้น ความคาดหวังที่คุณภาพชีวิตจะดีกว่าที่เป็นอยู่
            ผู้นำประเทศทั้ง 2 เลี่ยงภาพลักษณ์ว่าอ่อนแอ สหรัฐต้องแสดงตัวว่าเป็นผู้เหนือกว่าอยู่เสมอ ส่วนจีนจะไม่ยอมรับสนธิสัญญาที่ไม่เท่าเทียมด้วยมีประวัติศาสตร์ถูกบังคับให้ลงนามสนธิสัญญาทำนองนี้หลายครั้ง การเป็นผู้ได้มากกว่า-น้อยกว่าเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการทำข้อตกลง อย่างไรก็ตามการมีข้อตกลงเป็นประโยชน์แก่ทั้งคู่ และต้องให้สาธารณชนยอมรับด้วย
            องค์การค้าโลกเป็นตัวอย่างสถาบันพหุภาคีนิยมที่ยังไม่สมบูรณ์และในขณะนี้อยู่ในสภาพพิกลพิการ กฎเกณฑ์ต่างๆ ถูกละเมิด อีกทั้งมีประเด็นใหม่ๆ เข้ามาจึงจำต้องปฏิรูป
กรอบแนวคิดของข้อริเริ่ม "หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง"  (Belt and Road Initiative: BRI) เป็นแนวทางที่สร้างสรรค์ แน่นอนว่าโครงการต่างๆ ภายใต้ BRI จะต้องคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ เป็นประโยชน์ระยะยาวต่อหุ้นส่วน และจะต้องเปิดกว้างไม่กลายเป็นขั้วความร่วมมือของใครกลุ่มเดียว เมื่อชาติเอเชียเชื่อมต่อใกล้ชิดจีนมากขึ้นก็จำต้องเพิ่มความร่วมมือกับชาติอื่นๆ อย่างสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่นและอื่นๆ พูดอีกอย่างว่า BRI จะต้องนำจีนรวมเข้าระบบโลก ส่งเสริมโลกภิวัตน์ ไม่แบ่งโลกเป็นฝักฝ่ายที่ขัดแย้งกัน สอดคล้องกับหลักคิดของ BRI ที่จีนเป็นผู้ริเริ่ม
เป็นเรื่องปกติที่สหรัฐกับจีนจะสำแดงพลังอำนาจของตนแต่ไม่จำต้องกลายเป็นความขัดแย้ง ควรแสวงหาความร่วมมือที่ได้ประโยชน์ร่วมกัน การประนีประนอมน่าจะเป็นทางเลือกที่ดี การจะคาดหวังให้ชาติอื่นๆ ยึดค่านิยมวัฒนธรรมกับระบบการเมืองเดียวกันไม่สมเหตุผลและเป็นไปไม่ได้ แท้ที่จริงแล้วความแตกต่างหลากหลายของมนุษยชาติคือความเข้มแข็งในตัวเอง ประวัติศาสตร์ความก้าวหน้าของมนุษยชาติคือการแลกเปลี่ยนแนวคิด การเรียนรู้และปรับตัวเข้าหากันอย่างต่อเนื่อง
เราต้องร่วมมือกันสร้างโอกาสแก่ทุกประเทศที่จะใช้สติปัญญากับความกล้าหาญเลือกทางที่ถูกต้อง นำสู่การเปิดกว้าง เชื่อมรวมเข้าหากัน บนสันติภาพและความร่วมมือ เพื่อคงไว้ซึ่งความก้าวหน้าและพัฒนาเพิ่มพูนร่วมกัน
9 มิถุนายน 2019
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลกไทยโพสต์ ปีที่ 23 ฉบับที่ 8246 วันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2562)
-------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง : 
ลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ชี้ว่าในปัจจุบันและอนาคตสหรัฐกับจีนยังเป็นตัวแสดงหลักในภูมิภาคเอเชียแปซิก ความมั่นคงของภูมิภาคจึงขึ้นกับความสัมพันธ์ของมหาอำนาจ พร้อมกับที่ประเทศต่างๆ เชื่อมโยงทางเศรษฐกิจมากขึ้น การแข่งขันตามกติกาสากลเป็นแนวทางที่ควรเลือก ข้อพิพาทต่างๆ ควรจัดการควบคุมไม่ให้บานปลาย สันติวิธีคือหนทางที่ดีกว่าการใช้กำลัง
บรรณานุกรม :
Keynote Address: Lee Hsien Loong. (2019, June). IISS Shangri-La Dialogue 2019. Retrieved from https://www.iiss.org/events/shangri-la-dialogue/shangri-la-dialogue-2019.

unsplash-logoPark Troopers