วิสัยทัศน์ความมั่นคงเอเชียแปซิฟิกของลี เซียนลุง

ในการประชุมแชงกรี-ลา (Shangri-La Dialogue) ประจำปี 2015 ลี เซียนลุง (Lee Hsien Loong) นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ฉายภาพสถานการณ์ความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิก มีใจความสำคัญว่าปัจจุบันสหรัฐกับจีนเป็นตัวแสดงหลัก สหรัฐยังคงเป็นอำนาจนำ กองกำลังสหรัฐในภูมิภาคเป็นปัจจัยสร้างเสถียรภาพที่สำคัญ ผลประโยชน์หลักในเอเชียยังคงเช่นเดิม นั่นคือหวังให้ภูมิภาคมีเสถียรภาพ เปิดโอกาสทางธุรกิจแก่ทุกประเทศ จัดระเบียบภูมิภาคที่ชาติมหาอำนาจสามารถพัวพันอย่างสร้างสรรค์ หลายประเทศเห็นดีกับนโยบายของสหรัฐรวมทั้งสิงคโปร์
            ผลประโยชน์ของสหรัฐเพิ่มขึ้นพร้อมกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชีย สอดคล้องกับที่รัฐบาลโอบามาเพิ่มความสำคัญ อย่างไรก็ตามยุทธศาสตร์ปรับสมดุลกำลังเปลี่ยนแปลง จีนกลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นคู่ค้าอันดับแรกหรืออันดับ 2 ของเกือบทุกประเทศในเอเชียแปซิฟิก เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สิงคโปร์ และสหรัฐ จีนพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันกับประเทศอื่นๆ มากขึ้นทุกที ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบ ตลาด เทคโนโลยีและการลงทุน
            ในขณะเดียวกันจีนปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัย ต้องการมีกองเรือที่ทรงอานุภาพ อย่างไรก็ตามจีนยังคงก้าวขึ้นมาอย่างสันติ ดูได้จากความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีน ความสัมพันธ์ 2 ประเทศไม่เหมือนสมัยสงครามเย็น มีการแข่งขันกัน แต่พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันในหลายด้านและมีโอกาสที่จะได้ผลประโยชน์ร่วม จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของสหรัฐและเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ด้วย ด้านสหรัฐเป็นแหล่งเทคโนโลยีและแนวคิดของจีน คนจีนราว 1 ใน 4 ล้านคนกำลังศึกษาในสหรัฐ รวมทั้งบุตรหลานของชนชั้นปกครอง ทั้งสหรัฐกับจีนต่างร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาระดับโลก เช่น การแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์และภาวะโลกร้อน
            ชาติเอเชียทุกประเทศหวังความสัมพันธ์สหรัฐ – จีนจะราบรื่น ไม่มีชาติใดต้องการเลือกข้าง ทุกประเทศดีใจที่เห็นรัฐบาลทั้ง 2 ร่วมมือกันแก้ปัญหาต่างๆ ทั้งๆ ที่ต่างมีแรงกดดัน เกิดเหตุตึงเครียดที่ไม่คาดฝัน
            จึงเป็นสัญญาณที่ดีเมื่อสหรัฐกับจีนเห็นว่ามหาสมุทรแปซิฟิกกว้างใหญ่พอสำหรับทั้งคู่ ซึ่งหมายถึงทั้งคู่จะมีส่วนร่วมและแข่งขันโดยสันติ ร่วมกันแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ไม่สร้างแรงตึงเครียด อีกทั้งไม่ใช่การแบ่งมหาสมุทรแปซิฟิกออกเป็น 2 ขั้ว ประเทศทั้งหลายอยู่ในสถานการณ์ต้องเลือกข้าง เสี่ยงที่จะเกิดความขัดแย้งระหว่างขั้ว

รูปแบบการแข่งขันที่ควรจะเป็น :
            ถ้าพูดอย่างมองโลกตามความจริง การแข่งขันระหว่างมหาอำนาจนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประเด็นคือเป็นการแข่งขันแบบใด
            รูปแบบหนึ่งคือการแข่งขันที่อยู่ในกรอบกติกาและบรรทัดฐานระหว่างประเทศ จีนคือกรณีตัวอย่างที่แสวงหาความร่วมมือ สร้างมิตรภาพกับทุกประเทศในเอเชีย ดำเนินนโยบายสร้างแนวเขตเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม ก่อตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank: AIIB) AIIB เสริมสร้างอิทธิพลระดับโลกแก่จีน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าตอบสนองความต้องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ความต้องการเงินทุนของประเทศในภูมิภาค เป็นกรณีตัวอย่างว่าจีนสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ อย่างสร้างสรรค์ AIIB ไม่ต่างจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือธนาคารโลก หรือการที่ญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญในธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB)
            นี่เป็นนโยบายที่ชอบธรรม สร้างสรรค์ สิงคโปร์จึงสนับสนุน AIIB และเป็นเหตุผลว่าทำไมหลายประเทศเข้าร่วมเป็นสมาชิกก่อตั้ง ซึ่งรวมถึงอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ออสเตรเลียและอื่นๆ
            ในทำนองเดียวกัน สหรัฐปรับสมดุลด้วยการเข้าพัวพันเอเชียมากกว่าอดีต หนึ่งในนโยบายสำคัญคือ ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement: TPP) ประธานาธิบดีโอบามาให้ความสำคัญ พยายามผลักดันอย่างหนัก ปัจจุบันสภาผู้แทนราษฏรกำลังพิจารณาหลังผ่านชั้นวุฒิสภา ประเทศคู่เจรจาทั้งหลายหวังว่าจะผ่านการพิจารณาเช่นกัน เพราะเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ก้อนโตที่จะได้ หากการเจรจาบรรลุผลความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับหลายประเทศในแถบแปซิฟิกจะลงลึกกว่าเดิมมาก แต่หากล้มเหลวจะกระทบต่อความเชื่อมั่นทั้งต่อสหรัฐ เอเชียและทั่วโลก
            นอกจากนี้ สิงคโปร์หวังว่าสักวันหนึ่งสหรัฐจะเข้าร่วม AIIB เช่นเดียวกับที่จีนเข้าร่วม TPP

            รูปแบบการแข่งขันอีกแนวทางหนึ่ง สามารถอธิบายด้วยการยกประเด็นข้อพิพาทเหนือดินแดนและน่านน้ำในทะเลจีนตะวันออกกับทะเลจีนใต้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาข้อพิพาททำนองนี้ทวีความรุนแรง เครื่องบินกับเรือรบบินฉวัดเฉวียนรอบหมู่เกาะเซนกากุ/เตียวหยู ตามตะเข็บพรมแดนระหว่างจีนกับญี่ปุ่น ผู้อ้างความเป็นเจ้าของโดยฝ่ายเดียวในพื้นที่พิพาททำการขุดเจาะหาน้ำมันกับก๊าซ ก่อสร้างฐานปฏิบัติการ เพิ่มทหารประจำการ
            การยั่วยุก่อให้เกิดการตอบโต้ สหรัฐตอบโต้ด้วยการส่งเรือและเครื่องบินแล่นเข้าใกล้พื้นที่พิพาทมากกว่าเดิม เป็นการส่งสัญญาณไม่ยอมรับการอ้างอธิปไตยเหนือทะเลจีนใต้โดยฝ่ายเดียว ต่างฝ่ายต่างรู้สึกถูกบังคับให้ตอบโต้อีกฝ่าย เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตน
            ประเด็นคือทุกประเทศในภูมิภาคจะเป็นฝ่ายเสียหายหากความมั่นคงและเสถียรภาพของภูมิภาคถูกคุกคาม เพราะเส้นทางเดินเรือและสายการบินหลักต่างต้องผ่านทะเลจีนใต้ ทุกประเทศต้องทำการค้าผ่านเส้นทางทะเลจีนใต้ แม้กระทั่งรัฐที่ได้ประโยชน์จากการเดินเรือและการบินโดยเสรีในย่านนี้
            ไม่มีชาติใดสามารถถอนการอ้างกรรมสิทธิ์โดยไม่สูญเสียคะแนนนิยมทางการเมือง แต่ผลของการอ้างกรรมสิทธิ์คือทุกประเทศจะยึดมั่นในจุดยืน การแก้ข้อพิพาทยุ่งยากกว่าเดิม ข้อพิพาททางทะเลเหล่านี้ไม่น่าจะมีทางออกในเร็ววัน แต่สามารถและควรจะจัดการควบคุม ป้องกันไม่ให้ทวีความตึงเครียด เกิดผลร้ายต่างๆ

จีนกับอาเซียนควรเร่งสรุป “แนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้” (Code of Conduct for the South China Sea หรือ COC) เพื่อทำลายวัฏจักรอันเลวร้ายและไม่ปล่อยให้ข้อพิพาททำลายความสัมพันธ์ตามแนวชายแดน ทางที่ดีที่สุดคือทุกประเทศปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ รวมทั้งอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (United Nations Convention on the Law of the Sea หรือ UNCLOS)

            ในทางกลับกัน หากเกิดเหตุปะทะจะเป็นเรื่องที่เลวร้ายมาก ไม่ว่าจะเกิดขึ้นด้วยความตั้งใจหรืออุบัติเหตุ ถ้าหลีกเลี่ยงการปะทะแต่ยังใช้หลักอำนาจคือความถูกต้อง (might is right) จะเกิดสถานการณ์ที่อยู่ไม่เป็นสุขและไม่ยั่งยืน
            ในระยะยาวแล้ว เสถียรภาพของภูมิภาคไม่อาจดำรงด้วยการมีกำลังที่เหนือกว่า ต้องมาจากการเห็นร่วมและความชอบธรรมจากประชาคมโลกร่วมกับสมดุลอำนาจ

ความร่วมมือระดับภูมิภาค :
            50 ปีก่อนยังไม่มีใครเอ่ยถึงความร่วมมือ การรวมตัวระดับภูมิภาค ณ ขณะนั้นการเป็นอาณานิคมเพิ่งสิ้นสุด มีประเทศเกิดใหม่หลายประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมักเป็นการสัมพันธ์กับประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะอดีตเจ้าอาณานิคม ความร่วมมือด้านความมั่นคงสัมพันธ์กับสงครามเย็น เกิดสงครามเกาหลี ความตึงเครียดระหว่างจีนกับไต้หวัน เกิดสงครามเวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ไม่ลงรอยกัน
            ทุกวันนี้คาบสมุทรเกาหลียังเป็นปัญหา แต่ความตึงเครียดระหว่างจีนกับไต้หวันลดน้อยลงมาก การค้าระหว่างภูมิภาคเพิ่มขึ้น เหตุผลหลักมาจากการค้ากับจีน การค้าระหว่างภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้นด้วย เฉพาะระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่นในเวลา 10 ปี เพิ่มขึ้นเท่าตัว ส่วนการค้าระหว่างอาเซียนกับเกาหลีเพิ่มถึง 5 เท่า
            นั่นหมายความว่าภูมิภาคต่างๆ กำลังเข้าหากันมากขึ้น ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศที่อดีตเป็นอริปัจจุบันกลายเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน ด้วยสัมพันธ์ที่ลงลึกและเร่งการรวมตัว อาเซียนมีแผนที่จะร่วมมือ สร้างโอกาสที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ เป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจใกล้ชิดกว่าเดิม กลายเป็นประชาคมอาเซียนในสิ้นเดือนธันวาคมนี้ และร่วมกันจัดการปัญหาที่กระทบภูมิภาค

            อาเซียนแสดงบทบาทนำในการสร้างโครงข่ายความร่วมมือ ครอบคลุมประเทศในเอเชียใต้ เอเชียตะวันออก ออสเตรเลียกับนิวซีแลนด์ และประเทศอื่นๆ ในเอเชียแปซิฟิก หนึ่งในรูปแบบความร่วมมือคือ การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum: ARF) การประชุมช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันแม้เป็นประเทศคู่อริ การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา (ADMM-PLUS) เปิดโอกาสให้เกิดการพูดคุยในเรื่องความมั่นคงโดยตรง เสริมสร้างความไว้วางใจต่อกัน
การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit: EAS) เป็นอีกความริเริ่มของอาเซียน เอื้อให้ความร่วมมือระดับภูมิภาคขยายตัว เนื่องจากเพิ่มสมาชิกอีกหลายประเทศ ได้แก่ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รัสเซียและสหรัฐ ร่วมกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) EAS จึงรวมประเทศที่อยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกทั้ง 2 ฝั่งเข้าด้วยกัน ลดความเสี่ยงที่จะเกิดขั้วเอเชียตะวันออกที่แยกมหาสมุทรแปซิฟิกออกจากกัน
            การรวมกลุ่มไม่ได้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ยังมีงานที่ต้องทำ มีความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ต้องจัดการ แต่ละประเทศจัดลำดับความสำคัญแตกต่างกัน บางประเทศหวังตอบสนองกระแสชาตินิยม ผลักดันเรื่องความพอเพียงมากกว่าการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน บางประเทศยุ่งอยู่กับการเปลี่ยนแปลง พัฒนาทางการเมืองภายใน ทำให้รัฐบาลลดความสนใจต่อประเด็นภูมิภาค

อนาคตอีก 50 ปีข้างหน้า :
            ในอนาคตอาเซียนควรเป็นตัวแสดงที่มีประสิทธิภาพและเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน ช่องว่างการพัฒนาของกลุ่มประเทศอินโดจีนลดน้อยลง ชาติสมาชิกผูกพันใกล้ชิดยิ่งกว่าเดิม ข้าพเจ้าคาดว่าสหรัฐ จีนและญี่ปุ่นยังคงเป็นมหาอำนาจ อินเดียจะมีบทบาทมากขึ้น หวังว่าระบบการค้าโลกจะยังคงเป็นแบบเปิด เอเชียแปซิฟิกใช้ระบบการค้าเสรีแทนข้อตกลงการค้าปัจจุบันที่มีมากมายหลากหลาย ไม่ควรเป็นระบบโลกที่ยึดหลัก “อำนาจคือความถูกต้อง” ประเทศที่เข้มแข็งกว่าสามารถทำอะไรก็ได้ในขณะที่ประเทศอ่อนแอกว่าต้องทนทุกข์ ควรเป็นโลกที่การสัมพันธ์ด้วยความชอบธรรมและสร้างสรรค์เป็นบรรทัดฐานระหว่างประเทศ ทุกประเทศไม่ว่าใหญ่หรือเล็กสามารถเจริญมั่งคั่งบนแนวทางสันติ
            ไม่มีแผนที่ใดนำทางสู่ภาพแห่งอนาคตดังกล่าว อนาคตไม่เป็นเส้นตรง แต่ถ้าเราอดใจไม่ยึดประโยชน์ระยะสั้น มุ่งมองผลประโยชน์ร่วมระยะยาว พยายามแสวงหาระเบียบโลกที่มีสันติ เปิดกว้าง และรวมทุกประเทศเข้าด้วยกัน เราจะสามารถสร้างความมั่นใจและความไว้เนื้อเชื่อใจทีละขั้น มีโอกาสที่ในอีก 50 ปีข้างหน้าจะเป็นโลกที่มีเสถียรภาพ เจริญมั่งคั่งและก้าวสูงขึ้นไป
7 มิถุนายน 2015
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 19 ฉบับที่ 6787 วันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ.2558)
-------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
หลังการหารือระหว่างรัฐบาลโอบามากับอาเบะอยู่นานนับปี ในที่สุดความสัมพันธ์ความมั่นคงทางทหารก็ปรากฏหลักฐานชัดเจนอีกครั้งด้วยแผนความร่วมมือด้านความมั่นคงฉบับใหม่ชื่อว่า “แผนความร่วมมือป้องกันประเทศสหรัฐ-ญี่ปุ่นด้านความมั่นคง” บัดนี้ “กองกำลังป้องกันตนเอง” ญี่ปุ่นมีเป้าหมายออกไปปฏิบัติการทั่วโลกร่วมกับกองทัพอเมริกัน บางคนอาจตั้งคำถามว่าพื้นที่หรือสมรภูมิใดจะเป็นแห่งแรกที่กองทัพญี่ปุ่นจะออกไป “ป้องกันตนเองร่วม”
            การวิพากษ์ Pivot to Asia หรือยุทธศาสตร์ปักหมุดเอเชียสามารถทำได้หลายรูปแบบ มองในหลายแง่มุม งานเขียนชิ้นนี้ชี้จุดอ่อนของยุทธศาสตร์ผ่านประเด็นความขัดแย้งระหว่างญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ เป็นความขัดแย้งจากผลพวงของประวัติศาสตร์ กลายเป็นรอยร้าวที่ยากจะแก้ไขภายใต้บริบทปัจจุบัน เนื่องจากเป็นเรื่องที่ยอมให้กันไม่ได้ ต้องตอบสนองความคาดหวังจากการเมืองภายในของแต่ละประเทศ เกิดการแก้เกมแบบชิงไหวชิงพริบ นำสู่คำตอบว่าทำไมยุทธศาสตร์ปักหมุดเอเชียจึงอ่อนกำลัง ไม่ได้ผลตามเป้าหมาย ในอนาคตจะต้องปรับแก้ยุทธศาสตร์หากรัฐบาลสหรัฐฯ ต้องการหวังผลอย่างจริงจัง ประเด็นสำคัญอยู่ที่จะต้องหาพันธมิตรเพิ่ม หรือทำให้ประเทศเหล่านั้นถอยห่างจากจีนมากขึ้น ซึ่งในกรอบภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกก็มีเพียงไม่กี่ประเทศดังปรากฏบนแผนที่
สนใจอีบุ๊ค คลิกที่รูป
บรรณานุกรม :
1. Lee Hsien Loong. (2015, May 29). Keynote Address: Lee Hsien Loong. IISS Shangri-La Dialogue 2015. Retrieved from https://www.iiss.org/en/events/shangri%20la%20dialogue/archive/shangri-la-dialogue-2015-862b/opening-remarks-and-keynote-address-6729/keynote-address-a51f