โลกเต็มไปด้วยการแข่งขันช่วงชิง
ทางที่ดีคือนำประเทศต่างๆ มาอยู่ภายใต้กรอบกติกาที่ทุกประเทศเห็นชอบ
ในขณะเดียวกันจำต้องสร้างพลังอำนาจแห่งชาติ
หนึ่งในนั้นคือสร้างความเข้มแข็งจากภายใน
บรรณานุกรม :
Joel Fulgencio
ระบบโลกที่ทุกคนอยู่ในกติกาที่ยอมรับได้
:
เมื่อเดือนที่แล้วในที่ประชุมแชงกรี-ลา
(Shangri-La Dialogue) ซึ่งเป็นเวทีเสวนาประเด็นความมั่นคงระหว่างประเทศ
จัดเป็นประจำทุกปีที่สิงคโปร์ นายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุง (Lee Hsien Loong) แสดงปาฐกถาตั้งคำถามว่าทำอย่างไรโลกจะมีสันติและมีความมั่งคั่ง
แนวทางของนายกฯ
ลี เซียนลุง ยอมรับว่าโลกนี้มีชาติมหาอำนาจกับประเทศเล็ก ควรสร้างระบบโลกที่ทุกประเทศอยู่ในกติกา
หวังว่าหากมีกติกา ทุกประเทศจะไม่ทำสงครามต่อกัน โลกมีสันติ เศรษฐกิจโลกขยายตัว แบ่งปันผลประโยชน์แก่ทุกประเทศ
การแบ่งผลประโยชน์ที่ว่านี้ไม่ได้หมายความว่าทุกประเทศจะได้เท่ากัน
แต่ยอมรับกันได้ เป็นเรื่องที่ตกลงกันไว้แล้วตามกรอบกติกา เป็นบริบทที่ประเทศเล็กน่าจะได้ประโยชน์สูงสุด
แทนการแข่งขันอย่างรุนแรงที่อาจลงเอยด้วยความรุนแรง
และประเทศเล็กตกเป็นเหยื่อของการแข่งขันช่วงชิงระหว่างชาติมหาอำนาจ
ดังสงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม และอีกหลายที่
ไม่ว่าแนวทางของนายกฯ
ลีจะสามารถเป็นจริงหรือไม่ นายกฯ ลียอมรับการดำรงอยู่ของชาติมหาอำนาจ
ยอมรับการมีอยู่ของสหรัฐและการก้าวขึ้นมาของจีน ทั้ง 2 ประเทศจะมีบทบาทสำคัญต่อโลก
ต่อเอเชียแปซิกฟิกอย่างแน่นอน เป็นประเด็นที่ซ่อนคำถามว่าประเทศเล็กๆ
จะอยู่ได้อย่างไรภายใต้การแข่งขันระหว่างมหาอำนาจ
ภัยคุกคามจากภายในประเทศ สังคมอยู่ยาก :
นายกฯ ลี เซียนลุงได้เอ่ยถึงบริบทความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในปัจจุบัน
ในขณะเดียวกันประเด็นภายในประเทศเป็นอีกด้านที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน
กรณีตัวอย่าง
ฮ่องกง
ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาหลายคนคงเห็นภาพการชุมนุมใหญ่ที่ฮ่องกง เมื่อ
2 อาทิตย์ก่อน คนฮ่องกง 1 ล้านคน (จากประชากร 7.3 ล้าน) ชุมนุมเรียกร้องต่อต้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน
เมื่อผู้บริหารฮ่องกงยอมถอยเรื่องนี้ อาทิตย์ที่ผ่านมาคนฮ่องกง 2
ล้านคนชุมนุมเรียกร้องให้หัวหน้าผู้บริหารฮ่องกงลาออกจากตำแหน่ง
ดังนั้น
ต้นเหตุการชุมนุมประท้วงที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากเรื่องกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนเท่านั้น
น่าจะมาจากความไม่พอใจต่อผู้บริหารฮ่องกงหลายเรื่อง พูดให้ตรงกว่านั้นคือไม่พอใจรัฐบาลจีน
และถ้าจะพูดให้สุดคือไม่พอใจชีวิตความเป็นอยู่
เวลาพูดถึงฮ่องกงหลายคนอาจนึกถึงความเจริญของเกาะนี้
ฮ่องกงเป็นเกาะที่เจริญมานานแล้วก่อนกลับคืนเป็นของจีน มีตึกสูงทันสมัยเต็มไปหมด แต่ในอีกด้านหนึ่งของสังคม
คนส่วนใหญ่ทำงานแบบปากกัดตีนถีบ ห้องขนาด 20 ตร.ม. อาจต้องอยู่รวมกันถึง 10 คน นอนบนเตียงที่ซ้อนกัน
4-5 ชั้น
ฮ่องกงเจริญก้าวหน้าแต่สำหรับหลายคนเป็นสังคมอยู่ยาก
กรณีตัวอย่าง
สหรัฐ
สหรัฐอเมริกาคืออีกตัวอย่างที่น่าสนใจ ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ถ้าเอ่ยชื่อสหรัฐจะหมายถึงมหาอำนาจที่เหนือมหาอำนาจอื่นๆ มีบทบาททั่วโลก ประเทศที่มีกองทัพเข้มแข็งที่สุด
ขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด มีบริษัทชั้นนำมากมาย เป็นแหล่งนวัตกรรม เทคโนโลยีสมัยใหม่
ข้อมูลอีกชุดบอกว่า ทุกวันนี้คนอเมริกันเพียง 3
ครอบครัวที่ครองความมั่งคั่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของคนทั้งประเทศโดยนับจากคนยากจนที่สุดขึ้นมา
(ล่าสุดมีประชากร 328 ล้านคน) คนร่ำรวยที่สุดเพียง 1
เปอร์เซ็นต์ครอบครองความมั่งคั่งมากกว่าความมั่งคั่งของประชากร 92
เปอร์เซ็นต์รวมกัน และ 49
เปอร์เซ็นต์ของรายได้ที่เกิดขึ้นในแต่ละวันเป็นของคนกลุ่มรวยที่สุด 1 เปอร์เซ็นต์นั้น
(ผลคือคนรวย-รวยขึ้น เหลื่อมล้ำมากขึ้น)
สหรัฐอเมริกาอยู่ในยุคเหลื่อมล้ำที่สุดนับจากทศวรรษ 1920 เป็นต้นมา
สหรัฐได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วแต่มีคนจนถึง
40 ล้านคน ทุกคืนกว่า 500,000 คนต้องนอนข้างถนน (คนไร้บ้าน)
ครึ่งหนึ่งของคนอเมริกันใช้เงินแบบเดือนชนเดือน
จะเห็นว่าแม้ตัวเลข
GDP ดูดี ตลาดหุ้นแข็งแกร่ง อัตราว่างงานลดต่ำ แต่กรรมกร
(หมายถึงพวกรับใช้ รวมทั้งสายวิชาชีพ) ต้องดิ้นรนหาเลี้ยงชีพ หลายคนต้องทำงานหลายจ๊อบเพื่อความอยู่รอด
คนรวยมีอายุยืนยาวมากกว่าคนจนถึง 15 ปีโดยเฉลี่ย
ทั้งฮ่องกงกับสหรัฐเป็นตัวอย่างประเทศที่ชี้ให้เห็นว่าแม้ได้ชื่อว่าเจริญแล้ว
เป็นมหาอำนาจโลก แต่สำหรับหลายคนเป็น “สังคมอยู่ยาก”
เป้าหมายของการสร้างชาติจึงไม่ใช่เพียงทำให้ประเทศเจริญรุ่งเรือง
เป็นมหาอำนาจ แต่ต้องหมายถึงทุกคนอยู่ดีมีสุข
การสร้างความเข้มแข็งจากภายใน :
วันนี้คนไทยต้องขอบคุณกระทรวงการต่างประเทศ
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการต่างประเทศ
ที่ดูแลดำเนินนโยบายต่างประเทศด้วยความรอบคอบ ประเทศไทยดำเนินนโยบายต่างประเทศภายในกรอบกติกาที่ต่างชาติยอมรับ
อิงกรอบอาเซียน ให้อาเซียนเป็นผู้นำหน้า ปฏิบัติตามกฎบัตรสหประชาชาติด้วยดี ใช้หลักถ่วงดุลอำนาจกับชาติมหาอำนาจต่างๆ
แน่นอนว่าไทยไม่ได้ทุกอย่างแต่พยายามรักษาสิ่งสำคัญที่สุดไว้เสมอ
นั่นคือความเป็นเอกราช
เมื่อมองไปในอนาคต
คำถามเดียวกับที่นายกฯ ลี เซียนลุง
ตั้งไว้คือทำอย่างไรประเทศจึงจะมีสันติภาพและความมั่งคั่ง สิ่งที่ประเทศไทยต้องทำไม่ต่างจากประเทศอื่น
ต้องเสริมสร้างพลังอำนาจแห่งชาติ ทั้งด้านการทหาร เศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
และความเข้มแข็งเรื่องค่านิยมวัฒนธรรม
บางคนคิดว่าเรื่องการระหว่างประเทศคือเรื่องสัมพันธ์กับต่างประเทศเท่านั้น
ความจริงแล้วความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเกี่ยวข้องกับความเป็นไปภายในประเทศอย่างยิ่ง
เกี่ยวข้องกับบริบทภายในของประเทศ เช่น
รัฐบาลโอบามาเป็นผู้ทำข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน แต่เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลๆ ทรัมป์ยกเลิกข้อตกลงดังกล่าวเพียงฝ่ายเดียว
หลายประเทศยอมเป็นมิตรกับอีกประเทศหนึ่งเพียงเพราะอยากได้เงินกู้ ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจหรือด้านการป้องกันประเทศ
ยิ่งประเทศอ่อนแอพึ่งพาตัวเองได้น้อย
ย่อมต้องแอบอิงประเทศอื่นมากขึ้นเป็นธรรมดา สูญเสียความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น
ในทางตรงข้ามชาติมหาอำนาจจะเพิ่มพูนผลประโยชน์และอำนาจของตนผ่านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
วันนี้
เมื่อพูดถึงการสร้างพลังอำนาจแห่งชาติ หนึ่งในเรื่องสำคัญคือการสร้างความเข้มแข็งจากภายในทางด้านค่านิยมวัฒนธรรม
หนึ่งในค่านิยมที่สำคัญและควรพัฒนาคือ
ค่านิยมเรื่องการเสียสละ
คำว่า “เสียสละ” ตรงข้ามกับคำว่า “กอบโกย” ตรงข้ามกับคำว่า
“สู้แล้วรวย”
คำว่าเสียสละเป็นเหตุให้พ่อแม่เลี้ยงลูกหลานอย่างดี
มีความรับผิดชอบ เพราะหวังให้เด็กเป็นผู้ใหญ่ที่ดีมีอนาคต
ด้วยการเสียสละเพียงเล็กน้อยทำให้เพื่อนบ้านอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข
ด้วยการเสียสละข้าววันละถ้วยจะช่วยให้ทุกคนมีกิน
ไม่มีใครอดตาย
ด้วยการเสียสละจะสร้างค่านิยมการเสียสละ
สังคมเข้มแข็งจากรากฐาน ประเทศชาติมั่นคง และยังไม่ต้องถึงกับสละชีพเพื่อชาติดังบรรพบุรุษไทย
การสร้างค่านิยมเสียสละไม่ต้องใช้งบประมาณพันล้านหมื่นล้าน ไม่ต้องซื้อเครื่องบินรถถังรุ่นล่าสุด
ไม่ต้องรอเทคโนโลยี 5G ทุกคนสามารถสร้างค่านิยมเสียสละได้ด้วยการเริ่มต้นที่ตัวเอง
เริ่มจากการเสียสละสิ่งเล็กๆ ก่อนแล้วจะพัฒนาสู่การเสียสละที่ยิ่งใหญ่ขึ้น
ด้วยค่านิยมนี้
ทุกคนจะช่วยกันเปลี่ยนจาก “สังคมอยู่ยาก” ให้เป็น “สังคมอยู่ดีมีสุข” ทั่วทุกตัวคน
อยู่ร่วมกันกับเพื่อนบ้านอย่างสันติ ตั้งแต่เพื่อนบ้านข้างรั้วบ้านจนถึงประเทศเพื่อนบ้านของไทย
เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่เข้มแข็ง
ด้วยความเข้มแข็งจากภายใน
23 มิถุนายน
2019
ชาญชัย
คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน
คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่
23 ฉบับที่ 8260 วันอาทิตย์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ.2562)
------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
หลักสำคัญคือสหรัฐกับจีนต้องประสานงานและร่วมมือกับประเทศอื่นๆ
สงครามการค้าไม่สามารถล้มจีน เช่นเดียวกับที่จีนไม่อาจล้มสหรัฐซึ่งจะคงเป็นชาติแข็งแกร่งที่สุดในโลก
1. Hong Kong leader apologises after 2 million protesters
take to streets. (2019, June 17). Channel News Asia. Retrieved from https://www.channelnewsasia.com/news/asia/hong-kong-protests-carrie-lam-apologises-2-million-extradition-11632594
2. Hundreds of thousands march in Hong
Kong to protest China extradition bill. (2019, June 9). Channel News Asia.
Retrieved from https://www.channelnewsasia.com/news/asia/hundreds-of-thousands-march-in-hong-kong-to-protest-china-11609676
3. Keynote Address: Lee Hsien Loong. (2019, June). IISS
Shangri-La Dialogue 2019. Retrieved from https://www.iiss.org/events/shangri-la-dialogue/shangri-la-dialogue-2019
4. Read: Bernie Sanders defines his vision for democratic
socialism in the United States. (2019, June 12). Vox. Retrieved from https://www.vox.com/2019/6/12/18663217/bernie-sanders-democratic-socialism-speech-transcript
-----------------------------