เบร็กซิท (Brexit) ทางตันที่ต้องการทางออก

เมื่อสังคมคิดต่างจึงตัดสินด้วยการทำประชามติ แต่กลับไม่นำผลประชามติไปใช้ กลายเป็นความขัดแย้งหลายระดับ และกำลังค้างอยู่เช่นนี้ จนกว่าได้ทางออกที่ลงตัว

            ย้อนหลังการทำประชามติเบร็กซิท (Brexit) เมื่อมิถุนายน 2016 ปรากฏว่ายิ่งนานวันความคิดเห็นยิ่งแตกแยก เกิดกลุ่มก๊วนที่คิดแตกต่างมากมาย นายกฯ เทเรซา เมย์ (Theresa May) ร้องขอให้ปรองดอง
            โทนี ไรท์ (Tony Wright) อดีตสมาชิกรัฐสภาจากพรรคแรงงานเห็นว่าประเทศอยู่ในภาวะสงคราม เป็นสงครามทางวัฒนธรรม อันที่จริงแล้วความแตกแยกสะสมมานานและมาระเบิดในเหตุการณ์เบร็กซิท เป็นการแตกแยกของหลายกลุ่มหลายระดับ เช่น พวกอังกฤษกับเวลส์ คนเมืองกับคนชนบท คนสูงอายุกับหนุ่มสาว คนขี้ขลาดกับคนกล้าหาญ สามัญชนกับอีกพวก ปัญหาใหญ่คือพรรคการเมือง ระบอบการเมืองปัจจุบันไม่ตอบโจทย์พวกเขา
กลายเป็น 2 กลุ่มที่ต่างโจมตีอีกฝ่าย และเมื่อมีพวกหัวรุนแรงในขบวน การด่าทอจึงรุนแรงเพราะคนเหล่านี้ ยิ่งกระบวนการเบร็กซิทยืดเยื้อการแตกแยกยิ่งบาดลึก สร้างความแตกแยกในชุมชน ครอบครัว อดีตนายกฯ จอห์น เมเยอร์ (John Mayer) ร้องขอให้พูดคุยอย่างสมานฉันท์ อดทนต่อกัน ไม่ใช้คำหยาบคาย
            ความแตกแยกนี้เป็นบททดสอบความเป็นประชาธิปไตยอันเก่าแก่ของประเทศนี้ได้เป็นอย่างดี
            การทำประชามติตั้งอยู่บนฐานคิดว่าคนส่วนใหญ่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ในที่สุดได้คำตอบออกมาทางใดทางหนึ่ง ปัญหาคือเมื่อเสียงส่วนใหญ่ลงมติแล้วว่าให้ออก แต่ส่วนน้อยได้รับผลกระทบอย่างหนัก เช่น ต้องออกจากงาน ธุรกิจอาจไปต่อไม่ได้ คนเชื้อสายอังกฤษที่อาศัยในแผ่นดินใหญ่ กลุ่มนี้นับล้านอาจกระทบเรื่องสวัสดิการ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อโศกนาฏกรรมของคนเหล่านี้ รัฐบาลเมย์ยังไม่มีคำตอบ
รากปัญหาเบร็กซิท :
เบร็กซิท (Brexit) มาจากการผสมคำ British กับ Exit เป็นความตั้งใจของพลเมืองสหราชอาณาจักรส่วนหนึ่งที่ประสงค์จะนำประเทศออกจากสหภาพยุโรป
ถ้ามองอย่างเป็นเหตุผล เหตุผลหลักคือต่อต้านคนเมืองอังกฤษ ชนชั้นปกครองที่ได้ประโยชน์จากโลกาภิวัตน์ เป็นความเห็นต่างหรือแตกแยกระหว่างคน 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากโลกาภิวัตน์กับคนที่เสียประโยชน์
พวกที่เสียประโยชน์ส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่ได้รับผลกระทบ (ดังนั้น ต้องระลึกว่าไม่ใช่แรงงานทุกคนที่ต่อต้าน) จากการไหลบ่าของแรงงานต่างชาติทั้งแบบถูกกฎหมายกับผิดกฎหมาย (ผู้อพยพลี้ภัยต่างชาติที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย) สินค้าอียู (ความเป็นอียูทำให้แรงงานกับสินค้าเคลื่อนย้ายเสรีในหมู่สมาชิก)
ขยายความว่าหลายปีที่ถกเถียงว่าควรเบร็กซิทหรือไม่ หนึ่งในประเด็นที่พูดถึงคือการจ้างงานกับค่าแรง จะตกงานเพิ่มหรือไม่ ค่าแรงจะลดลงหรือไม่ ประเด็นการไหล่บ่าของคนต่างชาติขยายวงออกเป็นเรื่องผลกระทบทางสังคม การรักษาอัตลักษณ์ บางคนจึงพูดว่าสหราชอาณาจักรกำลังให้ความสำคัญกับลัทธิชาตินิยม ลดความสำคัญต่อหลักสิทธิมนุษยชน
บางคนชี้ว่าเป็นแผนของรัฐบาลรัสเซียที่หวังให้อียูแตกแยก ดึงสมาชิกอียูให้เป็นพวกรัสเซียทีละประเทศ แต่ความจริงแล้วรัฐบาลสหรัฐ พวกนีโอคอนต่างหากที่มีอิทธิพลระดับโลก เป็นผู้กุมอำนาจเศรษฐกิจตั้งแต่หลังสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

โลกปัจจุบันไม่แบ่งแยกด้วยพวกทุนนิยมกับสังคมนิยมอีกแล้ว การพูดเรื่องส่งเสริมเสรีภาพเป็นเรื่องล้าสมัย ที่ยังคงอยู่แน่นอนคือความเป็นรัฐ ชนชั้นปกครองที่ได้ประโยชน์จากโลกาภิวัตน์ การรวมตัวเป็นอียูช่วยบริษัทยักษ์ใหญ่เจาะตลาดโลกและตลาดอียู ด้วยการชูความคิดว่าการเป็นตลาดเดียวเป็นประโยชน์ต่อทุกคน
รัฐบาลสหรัฐช่วยกระตุ้นให้เกิดอียูด้วยการส่งเสริมแนวคิดพหุสังคม สิทธิมนุษยชน เพื่อทำลายรัฐในยุโรปที่ตั้งอยู่บนชาติพันธุ์ดั้งเดิม ปัจจุบันฝ่ายขวากับซ้ายในยุโรปส่วนใหญ่คิดไม่ต่างกันเท่าไหร่ สนับสนุนบริษัทนานาชาติ ยอมรับการเข้ามาของผู้อพยพลี้ภัย เยอรมันคือต้นแบบ ไม่มีใครสนับสนุนสังคมนิยมหลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย
            นโยบายสหรัฐต่อตะวันออกกลางทำให้เกิดผู้ลี้ภัยสงครามหนีเข้ายุโรปจำนวนมาก คนยุโรปต่อต้านรุนแรง
            พวกที่เห็นด้วยกับเบร็กซิทจะต่อต้านการรับผู้อพยพลี้ภัย แรงงานต่างชาติ ปฏิเสธพหุสังคมชนิดสุดขั้ว คิดว่าสิทธิมนุษยชนกับพหุสังคมเป็นแนวคิดดี แต่ไร้ประโยชน์หากสุดท้ายเป็นผลเสียต่อประเทศ เพราะเข้ามาแย่งงานตำแหน่งงาน เป็นภาระต่องบประมาณสวัสดิการรัฐ เกิดสังคมผู้อพยพที่แปลกแยกแตกต่างจากท้องถิ่น โดยเฉพาะพวกมุสลิมจากเอเชีย เมื่อเด็กเกิดใหม่ได้สัญชาติยุโรปจะเปลี่ยนแปลงสังคมประเทศชาติอย่างถาวร
บรรษัทยักษ์ใหญ่ยุโรปสนับสนุนแรงงานต่างด้าว :
บรรษัทยักษ์ใหญ่ยุโรปสนับสนุนแรงงานต่างด้าวเพราะมั่นใจว่าจะสามารถคัดแรงงานฝีมือและได้แรงงานด้อยฝีมือตามต้องการ แรงงานเหล่านี้ไม่สังกัดสหภาพแรงงาน บรรษัทสามารถลดแรงกดดันจากสหภาพที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับบริษัทเรื่อยมา สามารถถ่ายโอนงบประมาณที่เคยดูแลฝึกฝนคนท้องถิ่นไปฝึกแรงงานต่างด้าวแทน โอกาสที่แรงงานดั้งเดิมจะตกงานจึงมากขึ้น การจ้างงานรุ่นใหม่น้อยลง
ในด้านภาษี โทษตกอยู่กับผู้เสียภาษี ต้องแบ่งภาษีส่วนหนึ่งไปช่วยเหลือคนต่างด้าว และมีงานวิจัยชี้ชัดว่าชุมชนคนหลายเชื้อชาติมักมีปัญหาสังคมมากว่าชุมชมดั้งเดิม ผู้ที่ได้ผลกระทบคือชาวยุโรปท้องถิ่นที่มีรายได้ต่ำเพราะมักต้องอยู่ร่วมกับคนต่างเชื้อชาติที่เข้ามาใหม่ แต่สำหรับคนรวยแล้วไม่ได้ผลกระทบเพราะชุมชนของเขามีสำหรับคนมั่งมีเท่านั้น
คนสหราชอาณาจักรหรือยุโรปที่ได้ประโยชน์จากโลกาภิวัตน์จึงสนับสนุนแรงงานต่างด้าว แต่คนชั้นล่างผู้มีรายได้ต่ำเป็นฝ่ายเสียประโยชน์
การแก้ไขปัญหาผู้อพยพลี้ภัยเป็นประเด็นถกเถียงอย่างหนักในอียู แต่ผู้อพยพเข้ามาเรื่อยๆ เข้ามาเร็วกว่าการแก้ปัญหา ทางออกคือเบร็กซิท นี่คือแนวทางของผู้ต่อต้านแรงงานต่างด้าว

ปัญหาใหญ่คืออังกฤษไม่รู้ว่าตนเองต้องการอะไร :
            มีผู้อธิบายว่าปัญหาใหญ่ขณะนี้คือฝ่ายการเมืองไม่สามารถสรุปเรื่องเบร็กซิททั้งๆ ที่ใกล้เส้นตายตัดขาดจากอียูแล้ว แตกแยกทางความคิดในทุกพรรค ประชาชนจำนวนมากคิดแตกต่างจากนักการเมืองเก่าๆ  พรรคสายประชานิยมได้รับความนิยมมากขึ้น
            อิวาน โรเจอร์ส (Ivan Rogers) อดีตทูตสหราชอาณาจักรประจำอียูเห็นว่า การที่ชาวสหราชอาณาจักรสนับสนุนเบร็กซิทส่วนหนึ่งมาจากชนชั้นปกครองที่เสียประโยชน์ เห็นว่าการออกจากอียูเป็นคุณมากกว่า แต่ควรคิดไตร่ตรองอย่างถ่องแท้ว่าการออกจากอียูในยามนี้เป็นโทษมากกว่า ต้องไม่ลืมว่าตามภูมิศาสตร์สหราชอาณาจักรใกล้ชิดยุโรปมากที่สุด หากเกิดเบร็กซิทจริงการเจรจาข้อตกลงการค้าใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่เรื่องที่จะสำเร็จได้ในเวลาอันสั้น เพราะที่ออกจากอียูก็เพราะไม่ชอบนโยบายอียู แล้วจะมาเจรจากับอียูอีก
            หากสหราชอาณาจักรออกจากอียูโดยไร้ข้อตกลงใดๆ จะเป็นกรณีที่เลวร้ายที่สุด ด้วยเหตุผลนี้เองโอกาสที่จะเป็นเช่นนั้นจึงน้อยที่สุดเพราะไม่มีใครอยากให้เกิด และไม่มีใครอยากเป็นผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น ทางออกอีกทางที่เตรียมไว้แล้วคือให้เวลาประเทศนี้อีกระยะหนึ่งเพื่อการปรึกษาหารือก่อนลงมติอย่างใดอย่างหนึ่ง การได้ต่อเวลาน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในยามนี้
เบร็กซิทเป็นกรณีตัวอย่างว่าบางครั้งเมื่อใกล้ถึงทางตันแล้วต้องยืดเวลาออก ระบอบประชาธิปไตยไม่จำต้องถึงทางตันเสมอไป
10 มีนาคม 2019
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลกไทยโพสต์ ปีที่ 23 ฉบับที่ 8155 วันอาทิตย์ที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2562)
-------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง : 
นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร เดวิด คาเมรอน สัญญาจะจัดทำประชามติภายในสิ้นปี 2017 เพื่อให้ชาวอังกฤษตัดสินใจว่าประเทศควรเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปต่อหรือไม่
บรรณานุกรม :
1. A Divided Britain Faces a No-Deal Brexit. (2019, January 18). Spiegel Online. Retrieved from http://www.spiegel.de/international/europe/a-divided-britain-faces-a-no-deal-brexit-a-1248726.html
2. Fear mounting for British in EU as ‘no-deal’ Brexit looms. (2019, March 6). AP. Retrieved from https://www.apnews.com/8f63ba17d82642b1b38b51bdf15f6e77
3. Taylor, Pelle Neroth. (2016). Brexit: European Union, American Empire. UK: Two Raven Books. P.3.0
4. "What Surprises Me Is the Extent of the Mess". (2019, March 1). Spiegel Online. Retrieved from http://www.spiegel.de/international/world/ivan-rogers-on-brexit-what-surprises-me-is-the-extent-of-the-mess-a-1255789.html
-----------------------------

unsplash-logoJohn Cameron