อีก 10 ปีข้างหน้าโลกจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วกว่าเดิม
ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจการเมืองโลก จนถึงวิถีชีวิตทุกคน แต่ไม่ใช่ทุกประเทศหรือทุกคนจะได้ประโยชน์เท่ากันแม้จะพยายามก็ตาม
ในที่ประชุม BRICS Business Forum เมื่อไม่กี่วันก่อนประธานาธิบดีสี
จิ้นผิง แสดงวิสัยทัศน์ว่าโลกในอีก 10 ปีข้างหน้าจะแตกต่างจากปัจจุบัน
เรื่องราวระหว่างประเทศจะเปลี่ยนแปลงรวดเร็วกว่าเดิม ระบบโลกาภิบาล (global
governance system) จะเปลี่ยนไป
บทความนี้นำเสนอสาระสำคัญของสุนทรพจน์
พร้อมการวิเคราะห์ ดังนี้
ในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา
เราเห็นของแปลกใหม่หลายอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เป็นโลกแห่งโอกาสและความท้าทาย สิ่งที่ขับเคลื่อนโลกให้เติบโตจะเป็นของใหม่ที่เข้ามาแทนของเดิม
ความเป็นไปของโลกจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ระบบโลกาภิบาลจะเปลี่ยนไป ความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างมาจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี
เช่น ปัญญาประดิษฐ์ บิ๊กดาตา (big data) quantum
information (ระบบข้อมูลที่ประมวลผลและถ่ายโอนอย่างรวดเร็วมาก)
เทคโนโลยีชีวภาพ เหล่านี้จะก่อให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ ธุรกิจใหม่ เปลี่ยนแปลงแนวทางพัฒนาของโลก
วิถีการทำงานและดำเนินชีวิต
จำต้องร่วมมือแบบทุกฝ่ายได้ประโยชน์
สร้างเศรษฐกิจแบบเปิด
การเปิดกว้างและความร่วมมือเอื้อการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ต้องปฏิเสธสงครามการค้าเพราะไม่มีฝ่ายใดชนะ ความเป็นเจ้าเศรษฐกิจยิ่งต้องปฏิเสธ (Economic
hegemony) เพราะบั่นทอนผลประโยชน์ร่วมของประชาคมระหว่างประเทศ ท้ายที่สุดผู้ที่ดำเนินแนวทางนี้มีแต่ทำร้ายตัวเอง
เศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านและกำลังเปลี่ยนแปลง
ประเทศที่เปิดเท่านั้นจะได้รับผลประโยชน์ร่วมกับประเทศอื่นๆ
แบ่งปันความมั่งคั่งร่วมและการพัฒนาที่ยั่งยืน นี่คือทางเลือกที่ถูกต้อง
ต้องเกาะติดนวัตกรรมและโอกาสพัฒนา
แต่ตั้งอดีตกาลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีคือแรงผลักดันสำคัญของมนุษยชาติ ผลักดันให้เกิดอารยธรรมเกษตร
สู่อารยธรรมอุตสาหกรรม บัดนี้โลกมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้ง
สิ่งใหม่กำลังเกิดและแทนที่ของเก่า เป็นกระบวนการที่ยากลำบากและเจ็บปวด
แต่หากประเทศใดยึดฉวยโอกาสเหล่านี้ไว้ได้จะเติบโตและช่วยให้ประชาชนมีชีวิตดีกว่าเดิม
วิเคราะห์:
ประธานาธิบดีสีพูดตรงไปตรงมาว่าสิ่งใหม่ที่จะเกิดนอกจากเป็นโอกาสแล้วยังเป็น
“ความท้าทาย” จะเกิดปัญหาแน่นอน หากไม่แก้หรือแก้ไม่สำเร็จจะส่งผลกระทบทางลบ โลกอนาคตใช่ว่าจะมีมุมที่สวยงามอย่างเดียว
อย่างไรก็ตาม เราต้องฉวยโอกาสสำคัญนี้เพื่อตลาดเกิดใหม่และเหล่าประเทศกำลังพัฒนาจะพัฒนาอย่างก้าวกระโดด
ควรใช้แนวทางการเติบโตร่วมกันที่ส่งผ่านผลประโยชน์แก่ประชาชนทุกประเทศ การพัฒนาที่ไม่เท่ากันและน้อยเกินไปเป็นความท้าทายที่ทุกประเทศกำลังเผชิญร่วมกัน
ระยะห่างระหว่างฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้ยังสูงอยู่ (กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วกับกำลังพัฒนา)
ปัจจุบัน ร้อยละ 80
ของการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกเป็นผลมาจากกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ร้อยละ 40
ของผลผลิตทางเศรษฐกิจโลกมาจากประเทศเหล่านี้ ด้วยอัตราการเติบโตปัจจุบันในอีก 10 ปีข้างหน้าร้อยละ
50 ของผลผลิตเศรษฐกิจโลกจะอยู่ในมือของประเทศเหล่านี้ และจะยังคงเพิ่มมากขึ้นๆ
ระดับการพัฒนาระหว่างโลกฝ่ายเหนือกับใต้จะสมดุลมากขึ้น เอื้อให้สันติภาพโลกเข้มแข็งขึ้น
วิเคราะห์:
จีนกับอินเดียวางตัวเองอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา
นักวิเคราะห์บางคนเห็นว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า 2 ประเทศนี้จะเป็นกำลังสำคัญของการเติบโตของเศรษฐกิจโลก
ระบบโลกาภิบาลจะเปลี่ยนไป :
ในประเด็นระบบโลกาภิบาล
ประธานาธิบดีสีชี้ว่าโลกกำลังก้าวเข้าสู่ระบบหลายขั้ว โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจจะถดถอย
ภายใต้เงามืดของลัทธิก่อการร้าย ความขัดแย้งที่ใช้อาวุธสงคราม เหล่านี้ยังจะหลอกหลอนประเทศสหรัฐต่อไป
ลัทธิกระทำฝ่ายเดียว
(Unilateralism) และลัทธิปกป้องการค้า (protectionism) จะทวีความรุนแรง ทำลายระบบการเมืองพหุภาคีและระบอบการค้าพหุภาคี
ประชาคมโลกมาถึงทางแยก
ต้องเลือกระหว่างความร่วมมือกับการเผชิญหน้ากัน ระหว่างการเปิดออกกว้าง (opening-up) กับนโยบายปิดประเทศ และระหว่างผลประโยชน์ร่วมกับนโยบายผลักเพื่อนบ้านให้เป็นยาจก”
(Beggar-thy-neighbor policy)
โดยเหตุนี้ระบบโลกาภิบาลที่กำลังเปลี่ยนแปลงจึงก่อผลกระทบรุนแรงต่อการพัฒนาของทุกประเทศ
โดยเฉพาะต่อตลาดเกิดใหม่ ประเทศกำลังพัฒนา ต่อความมั่งคั่งและเสถียรภาพโลก
ต้องสร้างระบบโลกที่ตั้งอยู่ในบนกฎเกณฑ์
มุ่งให้ทุกประเทศได้ประโยชน์
วิเคราะห์:
ตั้งแต่เรื่องโลกาภิบาล ลัทธิก่อการร้าย การกระทำฝ่ายเดียว
จนถึงนโยบายปิดประเทศ ประธานาธิบดีสีมุ่งชี้ไปที่รัฐบาลสหรัฐ คงไม่มากเกินไปถ้าจะสรุปว่า
ในมุมมองของประธานาธิบดีสีโลกในขณะนี้และอีก 10 ปีข้างหน้าคือการเผชิญหน้าระหว่างขั้วสหรัฐกับขั้วตรงข้ามที่ต่างพยายามสร้างระบบโลกใหม่ตามแนวทางของตนเอง
ความเคลื่อนไหวของรัฐบาลสหรัฐกับจีนล้วนแสดงให้เห็นถึงการแบ่งขั้วไม่ว่าจะปรากฏชัดเจนรุนแรงหรือไม่ก็ตาม
ทิศทางของกลุ่มบริคส์ :
กลุ่มบริคส์ต้องยึดมั่นพหุภาคีนิยม
ให้ทุกฝ่ายยึดมั่นกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศ ปฏิบัติต่อทุกประเทศอย่างเท่าเทียม
นำประเด็นต่างๆ เข้าสู่การปรึกษาหารือ ต่อต้านความเป็นเจ้าและการเมืองแห่งอำนาจ (power
politics) ส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือ ความมั่นคงรอบด้าน
เป็นคนกลางร่วมแก้ปัญหาในภูมิภาคต่างๆ และแสดงบทบาทอย่างสร้างสรรค์ต่อการสร้างระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบใหม่
ประชาคมโลกที่แบ่งปันอนาคตของมนุษยชาติ
จีนยืนยันที่จะร่วมสร้างเศรษฐกิจโลกแบบเปิด
ต่อต้านลัทธิกระทำฝ่ายเดียวและปกป้องการค้า
สนับสนุนตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา
วิเคราะห์: ความตอนท้ายแสดงท่าทีชัดว่าจีนจะไม่อยู่เฉย
จะมีส่วนสร้างระบบความสัมพันธ์ประเทศแบบใหม่ที่ต่างจากปัจจุบัน
เป็นระบบที่แบ่งปันผลประโยชน์ที่ไม่ใช้หลักความเป็นเจ้า ซึ่งจะสำเร็จเป็นจริงหรือไม่
เป็นเรื่องต้องติดตาม
วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :
ประการแรก เทคโนโลยีกับการเมืองระหว่างประเทศ
2 ปัจจัยที่ขับเคลื่อนและควบคุมโลก
ในสุนทรพจน์ที่ไม่ยาวนัก สรุปสั้นๆ ได้ว่าพลังสำคัญที่ขับเคลื่อนโลกในขณะนี้มาจาก
2 ปัจจัย นั่นคือ ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีกับการเมืองระหว่างประเทศ
(บางคนอาจเอ่ยถึงประเด็นศาสนาความเชื่อ ความต้องการพื้นฐาน เช่น กิเลส ความรักสบาย
แรงผลักดันจากปากท้อง)
ที่ควรย้ำเตือนคือความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเป็นผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง
มีผลต่อการพัฒนาประเทศ และต่อระบบโลกในที่สุด เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ใครก็หยุดไม่ได้
ดูเหมือนว่าความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีไม่ขึ้นกับประเทศใดประเทศหนึ่ง
มีแรงผลักดันให้ก้าวไปข้างหน้า มีนวัตกรรมใหม่อยู่เสมอ เป็นพลังจากหลายภาคส่วน
ที่สำคัญคือภาคธุรกิจเอกชนกับปัจเจกบุคคลทั่วโลก พลังนี้กำลังเปลี่ยนแปลงระบบโลก
ความเป็นไปของโลก
อำนาจรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องในฐานะตัวแสดงสำคัญต่อการควบคุมกฎเกณฑ์ภายในประเทศและโลก
วางระบบโลกที่คิดว่าเป็นประโยชน์ต่อตนมากที่สุด
ประการที่ 2 ระบบโลกแบ่งขั้ว
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ย้ำเน้นส่งเสริมโลกพหุภาคี แต่แนวทางของจีน
(หรือกลุ่มบริคส์) กับสหรัฐล้วนกำลังแบ่งโลกให้เป็น 2 ขั้วมากขึ้น
คือขั้วที่รัฐบาลสหรัฐเป็นผู้วางกฎกับอีกขั้วที่ฝ่ายตรงข้ามสหรัฐเป็นผู้วางกติกา
ความเป็นขั้วจะมีทั้งแบบกลุ่มความร่วมมือ เช่น อียู กลุ่มที่มีซาอุฯ
เป็นแกนนำ อาเซียน กับการแบ่งขั้วที่อิงมหาอำนาจ มีทั้งที่อิงสหรัฐ จีน และรักษาระยะห่างระหว่างมหาอำนาจ
เช่น แนวทางอาเซียน
ที่น่าคิดคือ
ความเป็น 2 ขั้วจะเด่นชัดมากขึ้นหรือไม่ หากรัฐบาลจีนแสดงตัวเข้าพัวพันโลกมากขึ้น น่าเชื่อว่าจะยิ่งทำให้ความเป็นขั้วเด่นชัดขึ้น
ประการที่ 3 ข้อเตือนใจ
ประการที่ 3 ข้อเตือนใจ
ในฐานะผู้นำประเทศ
ประธานาธิบดีสีเอ่ยประโยคสำคัญว่าจำต้องฉวยโอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศตนเอง ถ้ามองในระดับปัจเจกบุคคล
ย่อมสรุปว่าแต่ละคนจะคว้าโอกาสได้ไม่เท่ากัน ดังที่รับรู้กันทั่วไปว่าบางคนพัฒนาตามทันเทคโนโลยี
บางคนยังอยู่ย่ำกับที่หรือไปได้ช้า ผู้ที่ย่ำอยู่กับที่กลายเป็นคนล้าหลัง
ถูกทิ้งไว้กับเทคโนโลยีความรู้เก่า
ประธานาธิบดีสีพูดถึงโอกาสและความท้าทายการพัฒนาประเทศ
แต่โอกาสนี้จำต้องถึงมือประชาชน และในโอกาสมีความท้าทายที่เจ็บปวดรวมอยู่ด้วย
เป็นเรื่องที่จำต้องก้าวผ่านหากคิดจะเปลี่ยนแปลงจริงๆ
โดยรวมแล้ว
ในอีก 10 ปีข้างหน้าประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เห็นว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงรวดเร็วกว่าเดิม
ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจการเมืองโลก ไล่ลงมาจนถึงวิถีชีวิตคนทุกคน ไม่ใช่ทุกประเทศหรือทุกคนจะได้ประโยชน์เท่ากันแม้จะพยายามก็ตาม
แต่การพยายามปรับปรุงพัฒนาดีกว่านั่งนิ่งเฉยแน่นอน
29
กรกฎาคม 2018
ชาญชัย
คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน
คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่
22 ฉบับที่ 7932 วันอาทิตย์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ.2561)
-------------------------
บรรณานุกรม :
1. Chinese president shares thoughts on world's next decade
at BRICS Business Forum. (2018, July 26). Xinhua. Retrieved from http://www.xinhuanet.com/english/2018-07/26/c_137348275.htm
2. Full text of Chinese president's speech at BRICS Business
Forum in South Africa. (2018, July 26). Xinhua. Retrieved from http://www.xinhuanet.com/english/2018-07/26/c_129920686.htm
------------------------