ศึกเลือกตั้งกลางเทอม 2018 : ความหวังของประธานาธิบดีทรัมป์

การเลือกตั้งกลางเทอมที่คนไม่ค่อยสนใจเป็นโอกาสที่จะชนะอีกฝ่ายง่ายๆ หากสามารถผลักดันให้ผู้มีสิทธิออกมาเลือกพรรครีพับลิกันแล้วประกาศว่านี่คือเสียงสวรรค์ให้ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีต่อไป

ระหว่าง4 ปีที่รอเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกครั้ง ในปีที่ 2 ราวเดือนพฤศจิกายนจะมีการเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎรกับวุฒิสมาชิกจำนวนหนึ่งเรียกว่าเลือกตั้งการเทอม (midterm election)
            ข้อมูลในอดีตพบว่าพรรครัฐบาลมักเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ ผู้ใช้สิทธิบางคนเลือกประธานาธิบดีจากพรรคหนึ่ง และเลือกอีกพรรคหนึ่งในเลือกตั้งกลางเทอมหวังให้รัฐสภาถ่วงดุลรัฐบาล
            ความไม่พอใจต่อรัฐบาลจะแสดงออกผ่านการเลือกตั้งนี้ ดังเช่นปี 2006 พรรคเดโมแครทชนะเลือกตั้งครั้งใหญ่ ครองเสียงข้างมากทั้ง 2 สภา พวกไม่ฝักใฝ่พรรคใดพรรคหนึ่งเทคะแนนให้เดโมแครท เพราะไม่พอใจสงครามกับอิรักจากนโยบายของประธานาธิบดีบุช
            ผลการเลือกตั้งกลางเทอมครั้งล่าสุดเมื่อ 2014 รีพับลิกันชนะทั้ง 2 สภา ชี้ว่าประชาชนไม่ชอบรัฐบาล แม้ประธานาธิบดีโอบามายังอยู่ในตำแหน่งต่อไป

            กระแสต่อต้านทรัมป์ การที่คนอเมริกันรู้จักทรัมป์ในฐานะประธานาธิบดีแล้ว ฝ่ายต่อต้านเชื่อว่าการเลือกตั้งกลางเทอมที่จะถึงนี้รีพับลิกันน่าจะเสียคะแนน เป็นโอกาสของเดโมแครทที่แกนนำพรรคหมายมั่นปั้นมือ ไม่เพียงกลับมาครองเสียงข้างมากในสภา ยังเล็งเป้าถึงการเลือกประธานาธิบดีครั้งต่อไปด้วย
ความนิยม ผลโพล :
            โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) กลายเป็นประธานาธิบดีที่เข้ารับตำแหน่งด้วยคะแนนนิยมต่ำสุด ผลสำรวจจาก CNN ร่วมกับ ORC และอีกชุดคือ The Washington Post กับ ABC News ให้ข้อสรุปตรงกัน ผู้ตอบแบบสอบถามเพียงร้อยละ 40 ให้ทรัมป์สอบผ่าน ไม่กี่วันก่อนหน้านี้ผลสำรวจของ NBC News กับ The Wall Street Journal ให้สอบผ่านเพียงร้อยละ 44
            สรุปสั้นๆ คือสอบตกตั้งแต่ยังไม่รับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ
            ที่ปรึกษาทรัมป์ชี้แจงว่าแต่ไหนแต่ไรผลสำรวจไม่สะท้อนความนิยมต่อทรัมป์ ถ้าเชื่อผลสำรวจทรัมป์จะไม่ชนะเลือกตั้ง เป็นความจริงที่ผลสำรวจก่อนเลือกตั้งชี้ว่าฮิลลารี คลินตันต่างหากที่น่าจะชนะ
ล่าสุด ผลโพล Washington Post-ABC News เมื่อปลายสิงหาคมที่ผ่านมา ชาวอเมริกันจำนวนมากสนับสนุนการสอบสวนกรณีทรัมป์ติดต่อกับรัสเซียเพื่อเอาชนะเลือกตั้ง พฤติกรรมขัดขวางของประธานาธิบดีทรัมป์เป็นหนึ่งในสาเหตุบั่นทอนคะแนนนิยมให้ตกต่ำลงอีก ครั้งนี้ให้สอบตกแตะระดับร้อยละ 60 แล้ว เพียงร้อยละ 36 ที่ให้สอบผ่าน
ที่ร้ายแรงกว่านั้น ร้อยละ 49 เห็นว่ารัฐสภาควรเริ่มกระบวนการขับประธานาธิบดี (impeachment) ในขณะที่ร้อยละ 46 ไม่เห็นด้วย

ทรัมป์ให้ความสำคัญกับเลือกตั้งกลางเทอม :
            โดยปกติแล้ว เลือกตั้งการเทอมเป็นที่สนใจน้อยกว่าเลือกตั้งประธานาธิบดี เลือกตั้งครั้งก่อนเมื่อปี 2014 มีผู้ไปใช้สิทธิเพียงร้อยละ 36.4 หรือเกิน 1 ใน 3 เพียงเล็กน้อยสำหรับประเทศที่เคยอวดอ้างว่าเป็นแบบอย่างประชาธิปไตยโลก เหตุเพราะการเลือกประธานาธิบดีมีผลต่อพวกเขาโดยตรงมากกว่า ดังจะเห็นว่านโยบายสำคัญๆ ระดับประเทศมาจากประธานาธิบดีหรือรัฐบาลกลาง แกนนำต่างๆ รวมทั้งตัวประธานาธิบดีจึงไม่ค่อยให้ความสำคัญที่จะช่วยลูกพรรคหาเสียง เม็ดเงินที่ใช้ในการประชาสัมพันธ์มีน้อย
            อย่างไรก็ตาม ถ้ามองอีกด้านจะเป็นโอกาสแก่ทั้ง 2 พรรคที่จะชนะคู่แข่งได้ง่ายๆ หากสามารถผลักดันให้คนอีกมากที่เดิมไม่ใช้สิทธิไปเข้าคูหาเลือกตั้ง หากทรัมป์ทำสำเร็จผลการเลือกตั้งมีน้ำหนักมากกว่าผลโพล ที่สำคัญกว่านั้นคือ ส.ส. ส.ว. พรรคของตนน่าจะสนับสนุนให้เขาดำรงตำแหน่งต่อไป ในทางกลับกันหากแพ้หนักย่อมสร้างความไม่พอใจแก่คนในพรรค

            กลยุทธ์ของทรัมป์ตรงไปตรงมา พยายามอาศัยการเติบโตทางเศรษฐกิจ ตลาดหุ้นที่แข็งแกร่ง เป็นแรงผลักดันให้คนอเมริกันออกมาเลือกสนับสนุนผู้สมัครพรรครีพับลิกัน
ทรัมป์ให้เครดิตกับผลงานของตนว่าเศรษฐกิจประเทศดีกว่าอดีตที่ผ่านมา คนว่างงานลดน้อยลงมาก หลายบริษัทที่ลงทุนต่างประเทศกำลังกลับมา สมาชิกนาโตจะช่วยสนับสนุนงบกลาโหมอีกหลายพันล้านดอลลาร์ และตอนนี้กำลังเจรจาต่อรองการค้าครั้งใหญ่กับหลายประเทศอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน

            ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านหนังสือ “Fear” แต่งโดย บ๊อบ วู้ดวาร์ด (Bob Woodward) บรรยายสภาพการทำงานในทำเนียบขาวที่เต็มด้วยความวุ่นวายจนแทบจะพัง (nervous breakdown) ต้นเหตุสำคัญอยู่ที่ตัวประธานาธิบดีทรัมป์ ระบุว่าเจ้าหน้าที่บางคนพยายามซ่อนเอกสารสำคัญให้พ้นจากสายตาประธานาธิบดี เกรงว่าท่านจะทราบและสั่งการทำ “อย่างผิดๆ” เจ้าหน้าที่อาวุโสบางคน เช่น จอห์น เคลลีย์ (John Kelly) หัวหน้าเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาว (chief of staff) ถึงกับเอ่ยกับผู้ร่วมงานว่าทรัมป์เป็น “ไอ้งี่เง่า” (an idiot)
            ด้านทรัมป์ชี้แจงว่าหนังสือที่โจมตีตนนั้นเป็นเรื่องแต่ง ปั้นน้ำเป็นตัว ไม่ตรงความจริง เป็นแผนของพรรคเดโมแครทเพื่อหวังชนะเลือกตั้งกลางเทอม ส่วนนายเคลลีย์ออกมาพูดแก้ว่าตนไม่เคยพูดว่าประธานาธิบดีเป็นคนงี่เง่า อันที่จริงตรงกันข้ามเลย
            ไม่ว่าพรรคเดโมแครทจะอยู่เบื้องหลังหรือไม่ ทรัมป์โยนความผิดให้และเชื่อมโยงกับการเลือกตั้งกลางเทอม

ท่ามกลางกระแสขับทรัมป์ออกจากตำแหน่ง ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่า “การเลือกตั้งครั้งนี้ (เลือกตั้งกลางเทอม) ไม่ใช่เพียงแค่ให้คะแนนผู้สมัคร แต่เป็นการเลือกว่าจะให้พรรคใดควบคุมรัฐสภา” ทั้งยังเกี่ยวข้องการขับทรัมป์ แต่จะขับได้หรือในเมื่อเขาทำหน้าที่อย่างดี ไม่ได้ทำอะไรผิด เศรษฐกิจประเทศกำลังไปได้ดี พร้อมกับชี้หากเขาถูกขับออกจากตำแหน่งจะเป็นความผิดของกลุ่มผู้สนับสนุนเขา และอเมริกาจะตกต่ำกลายเป็นกลุ่มประเทศโลกที่ 3 เป็นตลกร้ายหากประธานาธิบดีผู้ทำหน้าที่ได้อย่างดีแต่ถูกขับออกจากตำแหน่ง
            สำหรับทรัมป์แล้วเลือกตั้งกลางเทอมครั้งนี้มีความสำคัญมาก เพราะผูกผลการเลือกตั้งกับความชอบธรรมที่จะดำรงตำแหน่งต่อไปในสมัยนี้และสมัยหน้า
            ไม่กี่วันก่อนทรัมป์เอ่ยว่า “ยังไม่มีใครที่พอจะเอาชนะเขาได้ใน (การเลือกตั้งประธานาธิบดี) ปี 2020” เพราะผลงานของเขาโดดเด่น แม้การเลือกตั้งปี 2020 อาจดูเหมือนไกล ความจริงแล้วใกล้กว่าที่คิด โดยทั่วไปเมื่อย่างเข้าปลายปี 2019 หรือต้นปี 2020 (อีกราวปีเศษ) บรรดาผู้สมัครจะเปิดตัวและเริ่มหาเสียงอย่างเป็นทางการ
            หากพรรครีพับลิกันชนะหรือสามารถรักษาที่นั่งในสภาในระดับเดิม ทรัมป์ย่อมสามารถพูดเต็มปากเต็มคำว่าพลเมืองอเมริกันสนับสนุนให้เขาเป็นประธานาธิบดีต่อไป

เลือกตั้งกลางเทอม “เอาทรัมป์” หรือ “ไม่เอาทรัมป์” :
            จากสภาพที่เห็นในช่วงนี้ เลือกตั้งกลางเทอมไม่ใช่เพียงแค่การเลือกตั้ง ส.ส. กับ ส.ว.จำนวนหนึ่งเท่านั้น แต่ถูกดึงให้เป็นการชิงชัยระหว่างฝ่ายที่ “เอาทรัมป์” กับ ฝ่ายที่ “ไม่เอาทรัมป์” พยายามชี้ให้เข้าใจว่ามีผลต่อการขับทรัมป์ออกจากตำแหน่ง
            เรื่องน่าคิดคือจริงหรือที่เลือกตั้งส.ส. ส.ว. ดังกล่าวสัมพันธ์กับการขับทรัมป์ คำถามที่สำคัญกว่าคือควรนำมาผูกโยงกันหรือไม่ เพราะส.ส. ส.ว. มีบทบาทหน้าที่ของตัวเองอยู่แล้ว ควรที่จะเลือกสมาชิกรัฐสภาด้วยเหตุผลหลักว่าทรัมป์ควรเป็นประธานาธิบดีต่อไปหรือไม่ โดยไม่คำนึงคุณสมบัติ ความเหมาะสมของผู้สมัคร ฯลฯ
            อย่าลืมว่าที่ผ่านมาคนอเมริกันต่อว่าสมาชิกรัฐสภาหลายคนไม่ทำหน้าที่สมบทบาท คำนึงผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าผลประโยชน์ประเทศ ทำตัวแปลกแยกจากประชาชน ฯลฯ
          การหาเสียงของประธานาธิบดีทรัมป์ดูเหมือนต้องการให้ชาวอเมริกันตัดสินใจง่ายๆ ให้ออกมาเลือกตั้งโดยเลือกว่าจะ “เอาทรัมป์” หรือ “ไม่เอาทรัมป์”
            วงจรประชาธิปไตยอเมริกาหมุนอีกรอบ
16 กันยายน 2018
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลกไทยโพสต์ ปีที่ 22 ฉบับที่ 7981 วันอาทิตย์ที่ 16 กันยายน พ.ศ.2561)

-----------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง 
โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) จากชื่อที่ไม่มีใครคิดว่าจะชนะ
ทรัมป์เป็นนักธุรกิจ ไม่ใช่นักการเมือง เมื่อลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจึงมีคำถามว่าจะไปรอดหรือไม่ ผลปรากฏว่าทรัมป์สามารถชนะผู้สมัครคนดังคนอื่นๆ กลายเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันด้วยคะแนนสูงลิ่ว เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ยุทธศาสตร์ กลยุทธ์หาเสียงของทรัมป์ เป็นที่น่าศึกษา ให้ความเข้าใจทั้งวิธีหาเสียงของเขา และในประเด็นที่กว้างกว่า เช่น มุมมองของชาวอเมริกัน ระบอบประชาธิปไตยอเมริกา

บรรณานุกรม :
1. 2014 midterm election turnout lowest in 70 years. (2014, November 10). 2014 midterm election turnout lowest in 70 years. PBS News. Retrieved from http://www.pbs.org/newshour/updates/2014-midterm-election-turnout-lowest-in-70-years/
2. Ansolabehere, Stephen., Ginsberg, Benjamin.,  Lowi, Theodore J., & Shepsle, Kenneth A. (2017). American Government: Power and Purpose (14Ed. Core Edition. New York: W. W. Norton & Company.
3. Bardes, Barbara A., Shelley, Mack C., & Schmidt, Steffen W. (2012). American Government and Politics Today: Essentials (2011 - 2012 Ed.). USA: Wadsworth, Cengage Learning.
4. Baker, Peter. (2017, January 17). Trump Entering White House Unbent and Unpopular. The New York Times. Retrieved from https://www.nytimes.com/2017/01/17/us/politics/donald-trump-obama-approval-rating.html?_r=0
5. Cabinet members discussed removing Donald Trump from office, according to unnamed senior figure. (2018, September 5). The National. Retrieved from https://www.thenational.ae/world/the-americas/cabinet-members-discussed-removing-donald-trump-from-office-according-to-unnamed-senior-figure-1.767387
6. Donald Trump Says Your Opinions Are Fake If You Don’t Like His Policies. (2017, February 6). The Huffington Post. Retrieved from http://www.huffingtonpost.com/entry/trump-negative-polls-fake_us_58988431e4b040613137c6ee
7. Magleby, David B., Light, Paul C., & Nemacheck, Christine L. (2014). Government by the People (25th Ed.). USA: Pearson Education.
8. Maisel, L. Sandy. (2007). American Political Parties and Elections: A Very Short Introduction. New York: Oxford University Press.
9. Poll: 60 percent disapprove of Trump, while clear majorities back Mueller and Sessions. (2018, August 31). The Washington Post. Retrieved from https://www.washingtonpost.com/politics/poll-60-percent-disapprove-of-trump-while-clear-majorities-back-mueller-and-sessions/2018/08/30/4cd32174-ac7c-11e8-a8d7-0f63ab8b1370_story.html
10. Transcript: Phone call between President Trump and journalist Bob Woodward. (2018, September 4). The Washington Post. Retrieved from https://www.washingtonpost.com/politics/2018/09/04/transcript-phone-call-between-president-trump-journalist-bob-woodward/?utm_term=.c11bae1b4d86
11. Trump Calls New Book Critical of His Presidency 'Work of Fiction'. (2018, September 5). VOA. Retrieved from https://www.voanews.com/a/trump-unleashes-new-attack-on-book-critical-of-his-presidency/4558694.html
12. Trump Speculates About His Impeachment During Rally: ‘If It Does Happen, It’s Your Fault’. (2018, September 6). The Huffington Post. Retrieved from https://www.huffingtonpost.com/entry/trump-impeachment-rally-montana_us_5b91e0aee4b0162f472b86cb
13. White House Rejects NYT Column Attributed To Anonymous Official That Criticizes Trump. (2018, September 5). NPR. Retrieved from https://www.npr.org/2018/09/05/644974169/white-house-rejects-column-attributed-to-anonymous-official-that-faults-trump
-----------------------------