ความก้าวหน้าของโลก
เศรษฐกิจสังคมเพื่อนบ้านที่พัฒนารุดหน้าเป็นปัจจัยสำคัญกดดันให้เกาหลีเหนือต้องเปลี่ยนแปลง
แต่ในกรณีเกาหลีเหนือการจะปฏิรูปซับซ้อนกว่านั้นเพราะอยู่ในโลกที่ต่อสู้ขัดแย้งกัน
วิสัยทัศน์รวม 2 เกาหลีของมุน แจ-อิน
2 เกาหลีมีแนวคิดรวมชาติมานานแล้ว ถ้ามองจากมุมเกาหลีใต้จะเป็นการยุติความทุกข์ยาก การตกอยู่ในความหวาดหวั่นของภัยสงครามที่มหาอำนาจวางไว้ เป็นความพยายามเขียนประวัติศาสตร์บทใหม่
Ciaran O'Brien
ความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปเศรษฐกิจมาจากหลายปัจจัย
กล่าวโดยย่อว่านับจากแบ่งแยกเป็นเกาหลีเหนือกับใต้
เศรษฐกิจสังคมเกาหลีใต้นับวันจะพัฒนาทิ้งห่างเกาหลีเหนือ ความแตกต่างระหว่างพัฒนากับด้อยพัฒนานับวันจะเห็นเด่นชัด
ไม่อาจปกปิดซ่อนเร้น ยิ่งรัฐบาลเกาหลีเหนือปฏิเสธความจริงมีแต่จะยิ่งสร้างความกังขาแก่ประชาชน
เศรษฐกิจสังคมจีนที่พัฒนาก้าวหน้าหลังเปิดประเทศต้อนรับการลงทุนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน
เป็นสมาชิกองค์การค้าโลกค้าขายกับทุกประเทศ เป็นอีกตัวอย่างที่แม้แต่เจ้าหน้าที่เกาหลีเหนือไม่อาจปฏิเสธความจริง
มีคำถามว่าทำไมนับวันจีนเจริญก้าวหน้าแตกต่างจากประเทศตน
ทำไมจีนค้าขายเป็นล่ำเป็นสันกับอเมริกาในขณะที่เกาหลีเหนือถูกคว่ำบาตร
ทั้งๆ ที่จีนกับเกาหลีเหนือต่างเป็นระบบสังคมนิยม (ถ้าจะอธิบายเช่นนี้)
ปัจจัยอีกข้อมาจากเจ้าหน้าที่ของฝ่ายเหนือเอง
คนรุ่นใหม่เข้าแทนคนรุ่นเก่า มีความรู้แบบใหม่ เห็นความดีกว่าเหนือกว่าที่อยู่นอกประเทศ
คนเหล่านี้เห็นความจำเป็นของการปฏิรูปเศรษฐกิจมากกว่าคนรุ่นก่อน
พร้อมแนวคิดใหม่ที่เปิดกว้างกว่าเดิม
วิสัยทัศน์รวม 2 เกาหลีของมุน แจ-อินตอบโจทย์
:
เมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่าน
ประธานาธิบดีมุน แจ-อิน (Moon Jae-in) แห่งเกาหลีใต้แสดงวิสัยทัศน์รวม
2 เกาหลี ประเด็นหนึ่งที่ตอบโจทย์มากที่สุดคือให้คงไว้ซึ่งการปกครองของเกาหลีเหนือ
ตรงกับหลักการสูงสุดของฝ่ายเหนือที่ระบุว่าการอยู่รอดของกลุ่มผู้ปกครองคือความสำคัญลำดับแรก
ด้วยการเชื่อมโยงว่าหากไร้ซึ่งกลุ่มผู้ปกครองปัจจุบันเท่ากับไร้ประเทศ ประเทศชาติล่มสลาย
ประชาชนเกาหลีเหนือทุกคนจึงมีชีวิตเพื่อปกป้องระบอบ เทิดทูนชนชั้นปกครองสุดชีวิต
วิสัยทัศน์ของประธานาธิบดีมุนระบุชัดว่าต้องการคงระบอบเกาหลีเหนือ
ชี้ว่าการรวมเกาหลีเป็นระบอบปกครองเดียวเป็นเรื่องของอนาคตอีกยาวไกล ที่ทำได้ในช่วงนี้คือความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
สร้างประชาคมเศรษฐกิจร่วม (a joint economic community) ประชาชน
2 ฝั่งเดินทางเยือนอีกฝั่งโดยเสรี ทุกฝ่ายเดินหน้าสู่สันติภาพและความมั่งคั่ง
สหรัฐเลิกต่อต้านเกาหลีเหนือ พร้อมกับยกตัวอย่างสหภาพยุโรปที่แรกเริ่มเป็นเพียง “ประชาคมถ่านหินและเหล็กกล้าแห่งยุโรป” (European Coal and Steel
Community) เท่านั้น
สังเกตว่า วิสัยทัศน์ต้องการให้สหรัฐเลิกเป็นศัตรูกับเกาหลีเหนือ
อันหมายถึงนานาชาติสามารถติดต่อค้าขายกับเกาหลีเหนือ เป็นปัจจัยสำคัญต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจตามที่เกาหลีเหนือต้องการ
โดยคงไว้ซึ่งการคงอยู่ของกลุ่มผู้ปกครองปัจจุบัน
วันใดที่วิสัยทัศน์กลายเป็นความจริง
จีนกับเกาหลีใต้จะเป็น 2 พลังเศรษฐกิจสำคัญเข้าร่วมกระบวนปฏิรูปเศรษฐกิจ
ลำพัง 2 ประเทศนี้ก็ช่วยได้มากแล้ว และจะตามมาอีกหลายประเทศแม้กระทั่งญี่ปุ่น
ความร่วมมือ 3 เส้า เกาหลีเหนือ-ใต้-จีน
:
ภาพความร่วมมือ
3 เส้าเพื่อแก้ปัญหาคาบสมุทรเกาหลีไม่ใช่ของใหม่ ในช่วงปี 2000-01 ผู้นำเกาหลีเหนือคิม
จองอิล (Kim Jong-il – บิดาผู้นำคนปัจจุบัน ) เดินทางเยือนจีนกับรัสเซีย ผู้นำจีนเยือนเกาหลีเหนือ การหารือระหว่างฝ่ายเหนือกับใต้เพื่อหารือเจรจาสันติภาพ
ข้อมูลย้อนหลังให้ความเข้าใจว่าทุกครั้งที่จะเกิดเจรจาสันติภาพ
(หรือพยายามให้เกิด) ผู้นำเกาหลีเหนือจะหารือใกล้ชิดกับผู้นำจีนเสมอ
ครั้งล่าสุดนี้ก็เช่นกัน ภายในเวลาไม่กี่เดือนผู้นำคิม จ็องอึน (Kim Jong-un) เดินทางเยือนจีน 3 รอบ ให้ข้อสรุปว่าจีนมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการเจรจาสันติภาพ
เป็นความร่วมมือระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือ
ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่
สาระสำคัญของวิสัยทัศน์รวมชาติของประธานาธิบดีมุนใกล้เคียงจุดยืนจีนที่ประกาศเรื่อยมา
อาทิ ต้องการให้คาบสมุทรปลอดนิวเคลียร์ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงกล่าวว่า “จีนมีผลประโยชน์และกังวลต่อคาบสมุทรเกาหลีมาก
ยืนยันยึดมั่นว่าจะให้ปลอดนิวเคลียร์ ยึดมั่นสันติภาพ เสถียรภาพของคาบสมุทร”
จีนต้องการให้ระบอบเกาหลีเหนือคงอยู่ต่อไปด้วยหลายเหตุผล เช่น
รัฐบาลเกาหลีเหนือเป็นมิตรใกล้ชิด เกรงว่าหากเกิดความวุ่นวายจะมีผู้อพยพจำนวนมากเข้าจีน
และกังวลเรื่องความไม่แน่นอนในอนาคตของคาบสมุทรที่จะตามมา
จีนหวังเกาหลีเหนือปฏิรูปเศรษฐกิจตามอย่างตน
รัฐบาลจีนเชิญผู้นำ ตัวแทนเกาหลีเหนือเยี่ยมชมโรงงาน เขตเศรษฐกิจจีนสม่ำเสมอ ชี้ให้เห็นว่าการปฏิรูปเศรษฐกิจสามารถทำควบคู่กับการคงอยู่ของระบอบ
พร้อมกับประกาศชัดว่าหากสหรัฐหรือเกาหลีใต้พยายามโค่นระบอบเกาหลีเหนือเมื่อนั้นจีนจะเข้าแทรกแซงกีดกัน
ถ้ารวมความคล้องจองระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้
และระหว่างเกาหลีใต้กับจีน จะได้ข้อสรุปว่าทั้ง 3 ประเทศมีท่าทีจุดยืนตรงกันหลายเรื่อง
เสมือนดั่งความร่วมมือ 3 เส้าไม่ว่าจะประกาศต่อสาธารณะหรือไม่ก็ตาม
และเป็นจุดยืนที่ฝ่ายสหรัฐอาจไม่เห็นด้วย
มองโลกอย่างที่เป็นจริง :
แม้การพบปะระหว่างทรัมป์กับคิมที่สิงคโปร์ลงเอยด้วยความชื่นมื่น
ประกาศร่วมสร้างสันติภาพและความมั่งคั่งแก่คาบสมุทรเกาหลี เริ่มต้นความสัมพันธ์ใหม่ให้คาบสมุทรปลอดนิวเคลียร์
จนบัดนี้รัฐบาลสหรัฐยังคงคว่ำบาตรเกาหลีเหนือดังเดิม (และขู่ว่าอาจเพิ่มขึ้น) จะยกเลิกคว่ำบาตรเมื่อเกาหลีเหนือปลอดนิวเคลียร์อย่างสิ้นเชิงเท่านั้น
ซึ่งหมายความว่าห้ามประเทศใดๆ ค้าขายลงทุนกับเกาหลีเหนือซึ่งเท่ากับขวางการปฏิรูปเศรษฐกิจ
หลายบริษัทของรัสเซียกับจีนโดนโทษคว่ำบาตรเพราะเหตุทำการค้าขายกับเกาหลีเหนือในขณะนี้
เกาหลีใต้คงไม่กล้าหาญชาญชัยเท่า
ประเด็นสำคัญคือ
ไม่รู้ว่าอย่างไรจึงจะเรียกว่าปลอดนิวเคลียร์อย่างสิ้นเชิง จะมีวันนั้นหรือไม่
ถ้าย้อนดูอดีต
ช่วงสมัยรัฐบาลคลินตัน เกาหลีเหนือพยายามฟื้นความสัมพันธ์กับสหรัฐ ความพยายามลงเอยด้วยความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง
เมื่อสหรัฐได้รัฐบาลใหม่คือรัฐบาลจอร์จ ดับเบิ้ลยู. บุช ที่ประกาศชัดว่าเกาหลีเหนือเป็นปรปักษ์ตัวร้ายพอๆ
กับอิรัก (ซัดดัม ฮุสเซน) และอิหร่าน ไม่ขอเจรจาสันติภาพ
เกาหลีเหนือต้องยอมจำนนศิโรราบเท่านั้น
รอบนี้เริ่มต้นด้วยการที่รัฐบาลทรัมป์ยอมญาติดีกับรัฐบาลคิม
แต่จะลงเอยอย่างไรยังยากจะสรุป ที่แน่นอนคือตราบใดที่ข้อมติคว่ำบาตรจากคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติยังคงอยู่
สหรัฐยังถือเป็นศัตรูเมื่อนั้นก็ยากที่เศรษฐกิจจะเดินหน้า คงไม่กล่าวเกินไปถ้าจะสรุปว่าเกาหลีเหนือจะปฏิรูปได้จริงหรือไม่ขึ้นกับรัฐบาลสหรัฐ
ข้อคิดที่ได้ พลังในและนอกประเทศ :
หลายทศวรรษที่ผ่านมาระบอบเกาหลีเหนืออยู่ได้ด้วยการเสียประโยชน์ของประชาชน
ปกครองด้วยทหาร หรือที่นักวิชาการบางคนชี้ว่าเป็น “รัฐทหาร” กองทัพต้องมาก่อน (military-first
policy) กองทัพสำคัญที่สุดเพราะกำลังเผชิญหน้าภัยคุกคามต่างชาติ
เกาหลีเหนือถูกคว่ำบาตร
ประเทศเสียโอกาสพัฒนา มักมีข่าวประชาชนอดยาก ยากไร้
เด็กนับหมื่นนับแสนป่วยเป็นโรคขาดสารอาหาร เหล่านี้เป็นผลจากสิ่งที่รัฐบาลอธิบายว่าเพื่อความมั่นคงแห่งชาติ
แนวทางของจีนชี้ว่าสามารถพัฒนาประเทศ ผู้คนอยู่ดีกิน เป็นแนวทางที่เกาหลีเหนือควรเลียนแบบ
(แม้จะมีคำถามความยั่งยืนของเศรษฐกิจแบบจีนปัจจุบัน)
ข้อคิดสำคัญที่ได้คือ แม้ระบอบเกาหลีเหนือควบคุมข่าวสารเข้มงวด หวังให้ประชาชนรับรู้เรื่องเฉพาะที่รัฐบาลต้องการให้รู้
ใครพูดแปลกแตกต่างจะต้องรับโทษตั้งแต่เบาถึงหนัก แต่ไม่ว่ารัฐบาลจะพยายามทุ่มเทปิดบังเพียงไร
พยายามโฆษณาชวนเชื่อกับคนของตนมากเพียงไร ยิ่งนานวันประชาชนยิ่งเห็นความจริงที่ไม่อาจปกปิด
และกลายแรงต่อต้านรัฐบาลที่ซ่อนอยู่ภายใน
และกลายเป็นว่าประชาชนเป็นฝ่ายหลอกรัฐบาลว่าเขาจงรักภักดี
ยินดีตายเพื่อชาติ ซึ่งโดยความจริงแล้วทุกคนอยากมีชีวิตที่ดีกว่า
หวังอนาคตที่ดีกว่า อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง การฟื้นฟูพัฒนาคงดำเนินอย่างค่อยเป็นค่อยไป
มีความท้าทายรออยู่มาก ข้อดีคือจีนกับเกาหลีใต้หวังให้ความช่วยเหลือ
แต่ความเป็นไปของโลกซับซ้อนกว่าความต้องการของรัฐบาลเกาหลีเหนือ
ความปรารถนาอยากอยู่ดีกินดีของชาวเกาหลีเหนือ 25 ล้านคนมีอุปสรรคขวางกั้น ขึ้นกับการเจรจาต่อรองระหว่างประเทศ
ความต้องการของมหาอำนาจ
สิ่งหนึ่งที่เกาหลีเหนือทำได้คือการรักษาความหวัง
ความตั้งใจ ว่าจะต้องเดินหน้าปฏิรูปเศรษฐกิจ โดยเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงที่ภายใน
28 สิงหาคม
2018
ชาญชัย
คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน
คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่
22 ฉบับที่ 7960 วันอาทิตย์ที่ 26
สิงหาคม พ.ศ.2561)
------------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
2 เกาหลีมีแนวคิดรวมชาติมานานแล้ว ถ้ามองจากมุมเกาหลีใต้จะเป็นการยุติความทุกข์ยาก การตกอยู่ในความหวาดหวั่นของภัยสงครามที่มหาอำนาจวางไว้ เป็นความพยายามเขียนประวัติศาสตร์บทใหม่
เป็นเวลากว่า 100 ปีที่คนเกาหลีตกอยู่ในความทุกข์ยาก
ผ่านสงครามหลายครั้งที่คร่าชีวิตหลายล้านคน ถูกรายล้อมด้วยมหาอำนาจ เป็นข้อคิดว่าสันติภาพไม่ได้หาได้โดยง่ายอย่างที่คิด
บรรณานุกรม :
1. Beal, Tim. (2005). North Korea: The Struggle Against
American Power. London: Pluto Press.
2. China, U.S. reaffirm commitment to promote new type of
major-country ties. (2014, March 25). Xinhua. Retrieved from
http://news.xinhuanet.com/english/china/2014-03/25/c_126310230.htm
3. Full text of President Moon Jae-in’s address on Korea’s
73rd Liberation Day. (2018, August 15). The Korea Herald. Retrieved from
http://www.koreaherald.com/view.php?ud=20180814000716
4. Ken E. Gause. (2011). North Korea under Kim Chong-il:
Power, Politics, and Prospects for Change. USA: Praeger.
5. Nathan, Andrew J., &
Scobell, Andrew. (2012).China's Search for Security. NY: Columbia
University Press.
6. Pompeo calls for pressure to be maintained on N. Korea.
(2018, August 4). AFP. Retrieved from https://www.afp.com/en/news/205/pompeo-calls-pressure-be-maintained-n-korea-doc-1846cd3
7. Reckless game over the Korean Peninsula runs risk of real
war. (2017, August 10). Global Times. Retrieved from
http://www.globaltimes.cn/content/1060791.shtml
8. [US-NK Summit] Full text of the Trump-Kim joint statement. (2018, June 12). The Korea Herald. Retrieved from
http://www.koreaherald.com/view.php?ud=20180612000790
-----------------------------