หลักนิยมทรัมป์ (Trump’s Doctrine) ชาติกับประชาต้องมาก่อน

หลักนโยบายแม่บทของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) หรือ “หลักนิยมทรัมป์” (Trump’s Doctrine) ตั้งอยู่บนแนวคิด “America First” (อเมริกาต้องมาก่อน) หมายถึง การบริหารประเทศที่ถือผลประโยชน์ของชาติกับพลเมืองเป็นที่ตั้ง แม้จะขัดแย้งประเทศอื่นหรือโลก ขัดแย้งศีลธรรมคุณธรรม ตั้งอยู่บนหลักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบสัจนิยม (Realism) ยึดอธิปไตยชาติเป็นสำคัญ รัฐบาลทุกประเทศมีสิทธิ์และมีความรับผิดชอบต่อพลเมืองของตน

การยึดผลประโยชน์แห่งชาติไม่ใช่ของแปลกใหม่ อันที่จริงทุกรัฐบาลต้องดำเนินตามแนวทางนี้ (คงไม่มีรัฐบาลใดกล้าประกาศว่าจะบริหารประเทศเพื่อต่างชาติ) ทรัมป์แตกต่างตรงที่ประกาศชัดเจนและแสดงออกชัดเจน เช่น พูดในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติว่าสหรัฐแบกภาระงบประมาณสหประชาชาติมากกว่าทุกประเทศและมากเกินไป ดังนั้น สหประชาชาติควรทำงานตอบสนองเป้าหมายสหรัฐ และประเทศอื่นควรช่วยรับภาระค่าใช้จ่ายให้มากกว่าเดิม
ทรัมป์เอ่ยถึง America First (อเมริกาต้องมาก่อน) ว่าหมายถึง ประเทศปลอดภัยกว่าเดิม คนนับล้านมีงานทำ และสร้างความมั่งคั่งเพิ่มอีกหลายล้านล้านดอลลาร์ เป็นลัทธิอเมริกานิยม (Americanism) ไม่ใช่โลกนิยม (globalism)
ในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 72 ประจำปี 2017 กล่าวว่า “ในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ข้าพเจ้าจะให้อเมริกามาก่อนเสมอ เช่นเดียวกันพวกท่านที่เป็นผู้นำประเทศจะให้ประเทศของท่านมาก่อนเสมอและควรเป็นเช่นนั้น”
            เป็นคำมั่นคล้ายกับที่บารัก โอบามา และผู้นำคนอื่นๆ ให้ไว้ คือการยึดหลักผลประโยชน์แห่งชาติ ไม่ว่าจะใช้คำว่าลัทธิอเมริกานิยมหรือไม่

อธิบายขยายความ :
ลำพังการพูดแนวคิด หลักนิยม อาจไม่เข้าใจชัด การใช้กรณีตัวอย่างจะช่วยให้เข้าใจชัดเจนขึ้น
ยกตัวอย่าง การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก (global climate change) หรือที่นิยมเรียกว่าภาวะโลกร้อน ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศว่าสหรัฐจะถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีสเรื่องลดภาวะโลกร้อน
อันที่จริงแล้ว การแก้ภาวะโลกร้อนตามข้อตกลงปารีสกระทบต่อเศรษฐกิจหลายประเทศ แต่ประเทศเหล่านั้นเห็นว่าจำต้องปรับตัว ต้องลงทุน เสียสละ หากทุกประเทศร่วมด้วยช่วยกันคนละไม้ละมือ ปัญหาจะทุเลา
แต่รัฐบาลทรัมป์ไม่ยึดว่าต้องเสียสละ ต้องร่วมด้วยช่วยกัน ให้เหตุผลเกรงว่าชาวอเมริกันจะตกงาน เกิดจลาจลวุ่นวาย ไม่สนว่าประเทศอื่นจะต้องน้ำท่วม อดอยาก เกิดจลาจลวุ่นวาย เพราะเหตุไม่ช่วยกันแก้ปัญหาโลกร้อนหรือไม่
เป็นความเห็นแก่ตัวอย่างยิ่งสำหรับประเทศที่พยายามอ้างว่าเป็นผู้นำโลกเสรีประชาธิปไตย และจะยิ่งเข้าใจชัดหากรู้ว่าในบรรดาทุกประเทศ ประเทศนี้สร้างภาวะโลกร้อนมากที่สุด ทั้งในแง่ปริมาณและในแง่สัดส่วน นั่นคือสหรัฐมีประชากรเพียงร้อยละ 4 ของโลก แต่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสาเหตุโลกร้อนถึงร้อยละ 25 ของปริมาณก๊าซทั้งหมดที่ทั่วโลกปล่อย นั่นหมายความว่าหากประเทศนี้เพียงประเทศเดียวจัดการแก้ไขจะช่วยได้มาก ในทางกลับกัน หากทั่วโลกพยายามแก้ไขแต่ประเทศนี้นิ่งเฉย ปัญหาคงทุเลาเพียงเล็กน้อย

ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่า ตลอดประวัติศาสตร์โลก สหรัฐอเมริกาเป็นหนึ่งในสุดยอดกลุ่มพลังแห่งความดี (the greatest forces for good) สุดยอดนักป้องกันอธิปไตย ความมั่นคงและความมั่งคั่งแก่ทุกคน
หลายคนคงไม่เห็นด้วยกับถ้อยคำข้างต้น

แก้ข้อตกลงนาฟตา (NAFTA) :
            รัฐบาลทรัมป์ขอยกเครื่องเจรจาความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (North American Free Trade Agreement: NAFTA) ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่านาฟตา มีอายุ 23 ปีแล้ว บริบทเศรษฐกิจสหรัฐและการค้าโลกเปลี่ยนแปลงแตกต่างจากเดิม ประเทศขาดดุลมหาศาล โรงงานนับพันปิดตัว แรงงานอเมริกันตกงานเป็นล้าน
            สรุปสั้นๆ คือ สหรัฐเห็นว่าตน “เสียมากกว่าได้” จึงขอยกเลิกข้อตกลงเดิมและเจรจาใหม่
รัฐบาลทรัมป์ประกาศว่าการเจรจาใหม่จะเป็นประโยชน์ทั้งต่อเศรษฐกิจ พลเมืองอเมริกันและต่อประเทศคู่ค้า ชาวอเมริกันจะต้องได้ประโยชน์มากกว่าเดิม ขจัดอุปสรรคการส่งออก รวมทั้งการอุดหนุนที่ไม่เป็นธรรมทั้งหลาย การบิดเบือนตลาดจากรัฐวิสาหกิจและอุปสรรคจากทรัพย์สินทางปัญญา
การที่รัฐบาลสหรัฐทำเช่นนี้ได้เพราะเป็นมหาอำนาจ สามารถข่มขู่แกมบังคับประเทศเล็กกว่า ถ้าคิดในอีกมุม หากแคนาดากับเม็กซิโกเห็นว่าเสียเปรียบ คงจะยกเลิกข้อตกลงอย่างที่สหรัฐทำไม่ได้
นี่คืออีกตัวอย่างของหลักนิยมทรัมป์ (Trump’s Doctrine)

ที่ผ่านมา รัฐบาลบางชุดให้คุณค่ากับหลักสิทธิมนุษยชนมากเป็นพิเศษ รัฐบาลทรัมป์ช่วยเหลือด้านมนุษยชนเช่นกัน แต่จะช่วยน้อยกว่าหากกระทบผลประโยชน์แห่งชาติ สหรัฐยินดีรับผู้อพยพต่างชาติมากเท่าที่ระบบเศรษฐกิจต้องการ เช่นเดียวกับเรื่องการเผยแพร่ประชาธิปไตยต่างแดน ต้องพิจารณาก่อนว่าได้ผลประโยชน์หรือไม่ ไม่ได้คิดหวังให้ต่างชาติเป็นประชาธิปไตยจริง
ทุกนโยบายจึงต้องคิดว่าได้ประโยชน์มากกว่าเสีย ไม่สนใจว่าขัดประเทศอื่น ละเมิดศีลธรรมคุณธรรมหรือไม่ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตั้งอยู่บนผลประโยชน์แบบยื่นหมูยื่นแม

กรณีโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน :
ในช่วงรัฐบาลโอบามา สหรัฐ รัสเซีย จีน อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมัน หรือที่เรียกว่า P5+1 หรือ E3+3 ได้ร่วมเจรจากับอิหร่านเพื่อแก้ปัญหาโครงการนิวเคลียร์ จนบรรลุข้อตกลง โครงการนิวเคลียร์ปัจจุบันอยู่ภายใต้การตรวจสอบควบคุมของ IAEA (ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ) อันเป็นหน่วยงานสหประชาชาติดังเช่นทุกประเทศ ตลอดเวลาที่ผ่านมา IAEA รับรองว่าอิหร่านปฏิบัติตามข้อบังคับโดยไม่บกพร่อง มีข้อสรุปว่าอิหร่านใช้นิวเคลียร์เพื่อสันติเท่านั้น ดังเช่นหลายประเทศทั่วโลกที่ใช้นิวเคลียร์เพื่อสันติ
            เมื่อเข้าสู่ยุคทรัมป์ รัฐบาลสหรัฐระบุว่าแม้อิหร่านปฏิบัติตามข้อตกลง แต่ละเมิด “เจตนารมณ์” (spirit) ของข้อตกลง จึงต้องคว่ำบาตรต่อไป และกำลังหามาตรการเพิ่มเติม
สหรัฐกลายเป็นประเทศเดียวในหมู่ P5+1 ที่ยืนกระต่ายขาเดียวกล่าวหาว่าอิหร่านละเมิด “เจตนารมณ์” ของข้อตกลง

ล่าสุด ในช่วงประชุมสามัญสมัชชาสหประชาชาติ Federica Mogherini หัวหน้านโยบายต่างประเทศอียู (EU foreign policy chief) กล่าวว่าอิหร่านปฏิบัติตามข้อตกลงนิวเคลียร์โดยไม่บกพร่อง ประเทศคู่สัญญาทุกประเทศ รวมทั้งสหรัฐ มีข้อสรุปตรงกัน ไม่มีเหตุต้องเจรจาใหม่
เป็นอีกตัวอย่างของตรรกะอันน่าแปลกประหลาด ที่ยอมรับว่าอิหร่านปฏิบัติตามข้อตกลงโดยไม่บกพร่อง แต่ละเมิด “เจตนารมณ์” และมีเพียงประเทศเดียวในกลุ่ม P5+1 ที่คิดแบบนี้
เป็นกรณีตัวอย่างอธิบายลัทธิอเมริกานิยม (Americanism) ไม่ใช่โลกนิยม (globalism)

คาดการณ์กรณีโรฮีนจา :
โรฮีนจากลับมาเป็นประเด็นร้อนแรงอีกครั้ง ในช่วงเดือนที่ผ่านมา บุคคลสำคัญหลายคนออกมาพูดโจมตีรัฐบาลเมียนมา ล่าสุด เอมมานูแอล มาครง (Emmanuel Macron) ประธานาธิบดีฝรั่งเศส กล่าวว่าโรฮีนจาในเมียนมาถูก “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” (genocide) ขอประณามการกระทำดังกล่าว ขอให้หยุดความรุนแรง ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม พร้อมกับเตือนว่า “หากสหประชาชาติมีข้อมติประณามเมื่อใด จะมีผลตามมา สหประชาชาติอาจเข้าแทรกแซง”
ถ้ายึดหลักนิยมทรัมป์ สหรัฐจะคว่ำบาตรหรือไม่ ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ประเทศมาก่อน ไม่สนใจว่าโรฮีนจาจะถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือไม่ ถ้ากระทบเศรษฐกิจ (บริษัทเอกชนที่เข้าไปลงทุน) อาจเลือกไม่คว่ำบาตรส่วนนั้น รัฐบาลทรัมป์อาจส่งความช่วยเหลือให้โรฮีนจาบ้าง แต่เพื่อรักษาภาพลักษณ์ ไม่ใช่อย่างผู้มีจิตสิทธิมนุษยชนจริง

การให้ประเทศมาก่อน ยึดถือผลประโยชน์แห่งชาติ ถ้าคิดในกรอบแคบๆ ไม่ใช่ของแปลกหรือผิดปกติ เพราะแทบทุกประเทศทำเช่นนี้ มีความเห็นแก่ตัว ไม่มากก็น้อย
แต่เป็นการหลอกลวง เพ้อเจ้อ หากรัฐบาลเช่นนี้ยังบอกว่าตนเป็นสุดยอดพลังแห่งความดี ที่ถูกคือเป็นแนวการบริหารประเทศแบบหนึ่ง เป็นอุดมการณ์ชนิดหนึ่ง ไม่ต่างจากระบอบคอมมิวนิสต์ เผด็จการ ฯลฯ ที่ต่างมีอุดมการณ์ของตน

การตัดสินใจของชาวอเมริกัน :
โจเซฟ ไน (Joseph Nye) ชี้ว่านับจากอเมริกาก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจ ชาวอเมริกันตกอยู่ในความหวาดกลัว เต็มด้วยภัยคุกคามจากนอกประเทศ คิดอยู่เสมอว่าหากประเทศถดถอยจะส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร
กระแสอเมริกาถดถอยเป็นที่พูดถึงกันมาก รัฐบาลทุกชุดพยายามเชิดชูความยิ่งใหญ่ของประเทศ ฟื้นฟูความยิ่งใหญ่ให้กลับคืนมา คำถามคือ ชาวอเมริกันคิดเห็นอย่างไรต่อวิธีการฟื้นฟู วิธีสร้างความยิ่งใหญ่ ถ้าพูดในกรอบปัจจุบัน ชาวอเมริกันเห็นด้วยกับหลักนิยมทรัมป์หรือไม่
หากต้องถล่มประเทศอื่นด้วยอาวุธนิวเคลียร์ ต้องทำลายล้างประเทศอื่น ชาวอเมริกันจะเห็นด้วยหรือไม่ หรืออย่างการถอนตัวจากการแก้ภาวะโลกร้อน ชาวอเมริกันเห็นด้วยหรือไม่
อนาคตความเป็นไปของโลกไม่มากก็น้อยขึ้นกับการตัดสินใจของชาวอเมริกัน นอกเหนือจากชนชั้นปกครองของประเทศนี้
พวกเขาจะตัดสินใจอย่างไร ...
24 กันยายน 2017
ชาญชัย คุ้มปัญญา

(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 21 ฉบับที่ 7625 วันอาทิตย์ที่ 24 กันยายน พ.ศ.2560)
--------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
งานศึกษาของ Pew Research Center ชี้ว่าประชาชนหลายประเทศทั่วโลกมองแง่ลบต่อประธานาธิบดีทรัมป์ ที่น่าตกใจคือประเทศเหล่านี้คือยุโรปตะวันตก เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ผลลัพธ์คือบั่นทอนพลังอำนาจอ่อน (soft power) ทั้งนี้เพราะทรัมป์ไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีตั้งแต่ต้น เป็นจุดอ่อนของระบอบประชาธิปไตยสหรัฐที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข
สุนทรพจน์เข้ารับตำแหน่งของ โดนัลด์ ทรัมป์ ระบุชัดว่าประชาธิปไตยอเมริกายังไม่ได้มีเพื่อคนส่วนใหญ่ น่าชื่นชมที่ทรัมป์ให้ความสำคัญกับความเป็นเอกภาพของชาติ ค่านิยมส่งเสริมให้คนมีวิสัยทัศน์ มีความมุ่งมั่น ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค ในขณะที่นโยบายต่างประเทศ นโยบายการค้าระหว่างประเทศจะเป็นที่ถกเถียงต่อไป และถ้ายึดมั่นศาสนาจริงจะไม่ใช้สโลแกน ‘America first’

บรรณานุกรม:
1. FULL TEXT: President Donald Trump's Inauguration Speech. (2017, January 20). ABC News. Retrieved from http://abcnews.go.com/Politics/full-text-president-donald-trumps-inauguration-speech/story?id=44915821
2. Macron pulls no punches: Rohingya crisis in Myanmar constitutes ‘genocide’. (2017, September 21). The Japan Times. Retrieved from https://www.japantimes.co.jp/news/2017/09/21/world/politics-diplomacy-world/macron-pulls-no-punches-rohingya-crisis-myanmar-constitutes-genocide/#.WcMW57IjHZ4
3. No renegotiating Iran nuclear deal, all parties fully compliant – EU foreign policy chief. (2017, September 21). RT. Retrieved from https://www.rt.com/news/404022-iran-mogherini-deal-compliance/
4. Nye, Joseph S. Jr. (2015). Is the American Century Over? UK: Polity Press.
5. Office of the US Trade Representative. (2017, July 17). Summary of Objectives for the NAFTA Renegotiations. Retrieved from https://ustr.gov/sites/default/files/files/Press/Releases/NAFTAObjectives.pdf
6. Palmer, Doug., Behsudi, Adam., & Cassella, Megan. (2017, July 17). Trump's NAFTA goals draw from TPP, campaign pledges. Politico. Retrieved from http://www.politico.com/story/2017/07/17/trump-nafta-goals-draw-from-tpp-campaign-240652
7. The White House. (2017, September 19). Remarks by President Trump to the 72nd Session of the United Nations General Assembly. Retrieved from https://www.whitehouse.gov/the-press-office/2017/09/19/remarks-president-trump-72nd-session-united-nations-general-assembly
8. Trump announces U.S. will exit Paris climate deal, sparking criticism at home and abroad. (2017, June 1). The Washington Post. Retrieved from https://www.washingtonpost.com/politics/trump-to-announce-us-will-exit-paris-climate-deal/2017/06/01/fbcb0196-46da-11e7-bcde-624ad94170ab_story.html
9. Trump promises ‘safety’ to fearful Americans. (2016, July 22). Gulf News/AFP. Retrieved from http://gulfnews.com/news/americas/usa/trump-promises-safety-to-fearful-americans-1.1866703
10. US certifies Iran nuclear deal, but vows new sanctions. (2017, July 18). Al Jazeera. Retrieved from http://www.aljazeera.com/news/2017/07/certifies-iran-nuclear-deal-vows-sanctions-170718044924470.html
-----------------------------