เจรจาสุดยอดทรัมป์กับคิม ไม่ซับซ้อนแต่ซับซ้อน (2)

ไม่ว่าผลการประชุมจะเป็นอย่างไร ต้องไม่ลืมว่าความเป็นไปของคาบสมุทรเกาหลีเป็นเพียงส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ที่ใหญ่กว่า ไม่ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์ของสหรัฐ จีน รัสเซีย ญี่ปุ่น
 
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์คาดว่าการประชุมสุดยอดกับผู้นำเกาหลีเหนือ คิม จ็องอึน (Kim Jong-un) 12 มิถุนายนนี้จะมีผลลัพธ์และน่าตื่นเต้น แต่ไม่น่าจะจบในการเจรจาเพียงรอบเดียว ยืนยันว่าเกาหลีเหนือต้องยกเลิกนิวเคลียร์ทั้งหมด รัฐบาลสหรัฐยินดีที่จะลงนามยุติสงครามเกาหลี มีความสัมพันธ์ปกติ (normalization) หากดำเนินตามข้อตกลงทุกอย่างจนเสร็จสมบูรณ์

ชัยชนะของระบอบเกาหลีเหนือ :
            ถ้ามองย้อนหลังปี 2016 เกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธพิสัยกลางโรดอง (Rodong) มูซูดาน (Musudan) ขีปนาวุธจากเรือดำน้ำ (SLBM) ผ่านการทดสอบจุดระเบิดนิวเคลียร์มาแล้วหลายครั้ง รัฐบาลโอบามาไม่เห็นว่าเป็นภัยคุกคามโดยตรง
            เทียบกับกรณีซัดดัม ฮุสเซนถูกกล่าวโทษว่ามีระเบิดนิวเคลียร์และอาจส่งมอบให้ผู้ก่อการร้ายไปโจมตีอเมริกา พันธมิตรในตะวันออกกลาง ในกรณีเกาหลีเหนือรัฐบาลสหรัฐไม่ยอมเอ่ยเรื่องทำนองนี้
            ต้นปี 2017 ผู้นำคิมประกาศพร้อมทดสอบยิงขีปนาวุธข้ามทวีปในขั้นสุดท้าย จะทดลองยิงหลายครั้งและเป็นจริงตามนั้น กลางเดือนพฤษภาคม 2017 เกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธรุ่นใหม่ ฮวาซอง-12” (Hwasong-12) ระบุว่าเป็นขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์พิสัยกลางถึงไกล ด้าน The U.S. Pacific Command (PACOM) เห็นว่าไม่ใช่ขีปนาวุธพิสัยไกล ยังไม่คุกคามแผ่นดินใหญ่
            4 กรกฎาคม 2017 เกาหลีเหนือประกาศว่าประสบความสำเร็จในการปล่อยขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBM) “ฮวาซอง-14” (Hwasong-14) สามารถยิงไกลถึง 10,000 กิโลเมตรสู่เป้าหมายอย่างแม่นยำ เกาหลีใต้ชี้ว่าอาจมีพิสัยไกล 7,000-8,000 กิโลเมตร แต่ยังไม่สรุปว่าเป็นขีปนาวุธพิสัยไกลที่ใช้การได้จริง ด้านรัฐบาลทรัมป์ถือว่าเกาหลีเหนือประสบความสำเร็จในการปล่อยขีปนาวุธข้ามทวีปแล้ว Rex W. Tillerson รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ (ในขณะนั้น) แถลงว่า การทดสอบ ICBM ยกระดับภัยคุกคามต่อสหรัฐกับพันธมิตรและหุ้นส่วน ต่อภูมิภาคและต่อโลก
             2 สัปดาห์ต่อมาเกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีป ฮวาซอง-14อีกครั้ง สื่อสหรัฐ สื่อตะวันตกประโคมข่าวความร้ายแรง ทั้งยั้งนำเสนอในเชิงว่าเกาหลีเหนือจะใช้นิวเคลียร์กับสหรัฐ ทั้งๆ ที่เกาหลีเหนือประกาศซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าจะไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ก่อน

รายงานของหน่วยงานต่างๆ ในสหรัฐขัดแย้งกันเอง บ้างบอกว่าเกาหลีเหนือมีขีปนาวุธข้ามทวีปติดหัวรบนิวเคลียร์แล้ว บ้างบอกว่าไม่มี ในที่สุด Mike Pompeo ผู้อำนวยการ CIA ชี้แจงเมื่อสิงหาคม 2017 ว่าจนถึงบัดนี้รัฐบาลสหรัฐยังไม่คิดว่าเกาหลีเหนือมีขีปนาวุธข้ามทวีปติดหัวรบนิวเคลียร์ จึงไม่ใช่ภัยคุกคามจวนตัว (imminent) ที่กังวลคือเกาหลีเหนือค่อยๆ พัฒนาจนใกล้สำเร็จแล้ว
            ปี 2017 จึงเป็นปีที่สับสน สังคมอเมริกันอยู่ภายใต้การโฆษณาชวนเชื่อของเกาหลีเหนือกับรัฐบาลตนเอง จนไม่แน่ใจว่าอะไรคืออะไร ข้อสรุปสุดท้ายจากรัฐบาลคือเกาหลีเหนือยังไม่มีขีปนาวุธข้ามทวีปติดหัวรบนิวเคลียร์ แต่ต้องจัดการอย่างใดอย่างหนึ่ง ปล่อยไว้ไม่ได้
            หากมองย้อนหลัง 1-2 ปีจะได้คำตอบว่าหากรัฐบาลเกาหลีเหนือต้องการใช้อาวุธนิวเคลียร์เพื่อข่มขู่ เรียกร้องให้เปิดเจรจา ควรนับว่าพวกเขาประสบความสำเร็จในขั้นแรกแล้ว
            ขั้นต่อจากนี้คือการประกันความอยู่รอดของชนชั้นปกครอง

เกาเหลีเหนือเป็นภัยคุกคามจริงแท้เพียงไร :
            ปลายเดือนกรกฎาคม 2017 หลังเกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธ ฮวาซอง-14ไปแล้ว 2 ลูก รัฐบาลรัสเซียประกาศว่า เกาหลีเหนือต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะสามารถสร้างเป็น อาวุธ ชี้ว่าตัวขีปนาวุธใช้เครื่องมืออุปกรณ์ที่ล้าสมัยมาก ต้องเสาะหาเครื่องมือชิ้นส่วนจากหลายแหล่ง และต้องใช้เวลาเตรียมการหลายเดือนกว่าจะพร้อมยิง
ต้นเดือนกันยายน 2017 ประธานาธิบดีปูตินกล่าวว่ารัฐบาลรัสเซียไม่ยอมรับว่าเกาหลีเหนือเป็นชาติที่มีอาวุธนิวเคลียร์
          คำถามเรื่องเกาหลีเหนือมีอาวุธนิวเคลียร์หรือไม่ มีขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์หรือยัง เป็นประเด็นที่สำคัญมาก มีผลต่อความเข้าใจการดำเนินโยบาย การตัดสินใจของประเทศต่างๆ
            มองจากมุมสหรัฐ หากเกาหลีเหนือมีอาวุธนิวเคลียร์ยิงถึงสหรัฐหรือใกล้จะมีแล้ว การเจรจาเพื่อทำลายอาวุธเหล่านี้ย่อมเป็นเรื่องดี แต่หากเกาหลีเหนือปั้นเรื่องเพื่อขู่ การเจรจาระหว่างผู้นำสหรัฐกับเกาหลีเหนือในท้ายที่สุดอาจไม่ลงเอยด้วยสันติภาพ ทำไมสหรัฐต้องเสียประโยชน์จากคำขู่หลอกๆ

สู่สันติภาพได้จริงหรือ :
Paul Wolfowitz อดีตรมต.กลาโหมสหรัฐเห็นว่าการประกาศจะยกเลิกนิวเคลียร์เป็นคำพูดเดิมๆ ที่เกาหลีเหนือเคยละเมิดหลายรอบแล้ว ครั้งนี้คงไม่แตกต่าง ทั้งยังเห็นว่าการประชุมสุดยอดจะไม่ได้อะไร และควรพิจารณาเรื่องอาวุธทั่วไป (conventional weapons) การละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย แนวคิดคือต้องทำให้เกาหลีเหนืออ่อนแอจนถึงที่สุด จนระบอบล่มสลาย ไม่ยอมรับฐานะรัฐอธิปไตยเกาหลีเหนือ เป็นตัวอย่างแนวคิดที่เห็นว่าสันติภาพคือทำลายศัตรู
Dan Smith ผู้อำนวยการ Stockholm International Peace Research Institute (SIPRI) เห็นว่าการประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำสหรัฐกับเกาหลีเหนืออาจประสบความสำเร็จ แต่ไม่ควรเล็งผลเลิศจนเกินไป เพราะผลการเจรจาอาจได้เพียงกรอบข้อตกลงกว้างๆ แล้วให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้ง 2 ฝ่ายเจรจาต่อไป และท้ายที่สุดอาจตกลงกันไม่ได้ เพราะรัฐบาลสหรัฐไม่ได้คิดเรื่องคาบสมุทรปลอดนิวเคลียร์เท่านั้น
            จากข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เกิดคำถามว่า ท้ายที่สุดสันติภาพจะเกิดขึ้นได้จริงหรือ หรือว่าเป็นแค่ “ระงับความตึงเครียดชั่วคราว” ที่ผ่านมารัฐบาลเกาหลีเหนือประกาศว่ามีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองแล้ว รัฐบาลสหรัฐกับอีกหลายประเทศ องค์กรวิชาการหลายแห่งยอมรับว่าเกาหลีเหนือมีอาวุธนิวเคลียร์เช่นกัน แต่ไม่มีใครรู้จำนวนที่แน่ชัด
รายงาน North Korea’s Nuclear Futures: Technology and Strategy เมื่อปี 2015 ระบุว่าเกาหลีเหนือมีอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมด 10-16 ลูก เป็นระเบิดพลูโตเนียม 6-8 ลูก ยูเรเนียม 4-8 ลูก (weapons-grade uranium) อย่างไรก็ตามไม่ยืนยันข้อมูลนี้
รายงานของ Stockholm International Peace Research Institute (SIPRI) ปี 2017 ประเมินว่าเกาหลีเหนือมี 10-20 หัวรบนิวเคลียร์

            หากข้อตกลงกำหนดให้เกาหลีเหนือต้องละทิ้งนิวเคลียร์ทั้งหมด จะเกิดคำถามใหญ่ว่า รัฐบาลเกาหลีเหนือได้ทำตามนั้นจริงหรือไม่ สรุปว่ามีนิวเคลียร์กี่ลูก ทำลายแล้วกี่ลูก จะตรวจสอบอย่างไร ใครจะเป็นผู้ยืนยันการทำลาย ยืนยันว่าปลอดนิวเคลียร์จริง
            รัฐบาลสหรัฐจะยอมรับผลการตรวจสอบหรือไม่ กรณีอิหร่านเป็นตัวอย่างว่ารัฐบาลสหรัฐไม่ยอมรับผลการตรวจสอบของ IAEA ซึ่งเป็นหน่วยงานสหประชาชาติ

            ไกลกว่าประเด็นนิวเคลียร์ มีตัวอย่างให้เห็นมากมายว่ารัฐบาลสหรัฐสามารถ “หาเรื่อง” ได้เสมอ ต่อให้เกาหลีเหนือปลอดนิวเคลียร์ ไร้ขีปนาวุธจริง ยังสามารถหาเหตุอื่นๆ เช่น สนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย (ก่อนหน้านี้รัฐบาลสหรัฐเคยกล่าวหาเรื่องนี้แต่ยกเลิกในเวลาต่อมา ในระยะหลังมีแนวคิดหยิบยกข้อกล่าวหานี้ขึ้นมาอีก) การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มีหลักฐานมากมาย ประชาชนไม่พอใจรัฐบาลคิม จึงต้องล้มล้างระบอบเกาหลีเหนือ และอื่นๆ สุดแต่สรรหา
            ความซับซ้อนของการเจรจาจึงอยู่ที่เรื่องเหล่านี้ด้วย อย่างไรเรียกว่าประกันความมั่นคงของรัฐบาลเกาหลีเหนือ
วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :
เมื่อพิจารณาข้อมูลรอบด้าน เป็นไปได้ว่าผลการประชุมที่สิงคโปร์อาจได้เพียงข้อสรุปประกาศยุติสงครามเกาหลี ริเริ่มการเจรจาสันติภาพ โดยที่เกาหลีเหนือประกาศจุดยืนทำลายและยุติโครงการนิวเคลียร์ ขีปนาวุธข้ามทวีป แลกกับที่สหรัฐยอมรับการมีอยู่ของระบอบเกาหลีเหนือ คลายการคว่ำบาตร ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยชน โดยทั้ง 2 ฝ่ายจะดำเนินอย่างเป็นขั้นเป็นตอนที่อาจกินเวลาเป็นปี ข้อตกลงจะคงอยู่หรือไม่จึงขึ้นกับความสำเร็จของกระบวนการที่ดำเนินเป็นขั้นๆ
            ในขณะที่สื่อทั่วโลกนำเสนอข่าวการเจรจาสันติภาพอย่างครึกโครม ไม่ว่าผลการผลประชุมจะเป็นอย่างไร ต้องไม่ลืมว่าความเป็นไปของคาบสมุทรเกาหลีเป็นเพียงส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ที่ใหญ่กว่า ไม่ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์ของสหรัฐ จีน รัสเซีย ญี่ปุ่น
            เกมคาบสมุทรเกาหลีเป็นเกมกระดานเล็กที่อยู่ในกระดานที่ใหญ่กว่า
10 มิถุนายน 2018
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลกไทยโพสต์ ปีที่ 22 ฉบับที่ 7883 วันอาทิตย์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2561)
-----------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
หากเกาหลีเหนือยกเลิกโครงการนิวเคลียร์กับขีปนาวุธ สหรัฐพร้อมเลิกคุกคามเกาหลีเหนือ เป็นเงื่อนไขตรงไปตรงมา แต่ความเป็นไปของโลกไม่ได้ตรงไปตรงมาอย่างที่เห็น

บรรณานุกรม :
1. Ability to strike more of U.S. feared as North Korean ICBM test splashes down off Hokkaido. (2017, July 29). The Japan Times. Retrieved from http://www.japantimes.co.jp/news/2017/07/29/national/north-korean-missile-lands-japans-exclusive-economic-zone-45-minute-flight/#.WXyeUBV97IU
2. Deal between Trump, Kim possible over denuclearization: SIPRI director. (2018, May 4). Yonhap. Retrieved from http://english.yonhapnews.co.kr/northkorea/2018/05/04/0401000000AEN20180504000200315.html
3. (News Focus) N. Korea seen closer to ICBM, boosted by new missile engine. (2017, May 15). Yonhap. Retrieved from http://english.yonhapnews.co.kr/northkorea/2017/05/15/0401000000AEN20170515007100315.html
4. Kim Jong-un Says North Korea Will Test a Long-Range Missile. (2017, January 1). The New York Times. Retrieved from http://www.nytimes.com/2017/01/01/world/asia/north-korea-intercontinental-ballistic-missile-test-kim-jong-un.html?_r=0
5. North Korea missile launch marks a direct challenge to Trump administration? (2017, July 4). The Washington Post. Retrieved from https://www.washingtonpost.com/national/north-korea-claims-successful-intercontinental-ballistic-missile-test-defying-international-condemnation/2017/07/04/4f804488-609c-11e7-8adc-fea80e32bf47_story.html
6. North Korea's New Intermediate-Range Ballistic Missile, the Hwasong-12: First Takeaways. (2017, May 15). The Diplomat. Retrieved from http://thediplomat.com/2017/05/north-koreas-new-intermediate-range-ballistic-missile-the-hwasong-12-first-takeaways/
7. Nuclear war with N. Korea not ‘imminent’ – CIA chief. (2017, August 14). RT Retrieved from https://www.rt.com/news/399505-pompeo-zakharova-north-korea/
8. N. Korea claims successful launch of ICBM. (2017, July 4). The Korea Times. Retrieved from http://www.koreatimes.co.kr/www/nation/2017/07/103_232404.html
9. N. Korea ‘years and years away’ from viable nuclear device – Russian Deputy FM. (2017, July 30). RT. Retrieved from https://www.rt.com/news/398024-north-korea-years-nuclear-device/
10. Pence Talks Tough on North Korea, but U.S. Stops Short of Drawing Red Line. (2017, April 17). The New York Times. Retrieved from https://www.nytimes.com/2017/04/17/world/asia/trump-north-korea-nuclear-us-talks.html?_r=0
11. Putin: Russia Does Not Recognize North Korea's Nuclear Status. (2017, September 6). Sputnik News. Retrieved from https://sputniknews.com/world/201709061057127671-russia-korea-nuclear-status-putin/
12. Seoul confirms NK ICBM test. (2017, July 4). The Korea Herald. Retrieved from http://www.koreaherald.com/view.php?ud=20170705000213
13. Stockholm International Peace Research Institute. (2017). TRENDS IN WORLD NUCLEAR
FORCES, 2017. Retrieved from https://www.sipri.org/sites/default/files/2017-06/fs_1707_wnf.pdf
14. Trump: 'Don't have to prepare very much' for North Korea summit. (2018, June 7). The Hill. Retrieved from http://thehill.com/homenews/administration/391193-trump-dont-have-to-prepare-very-much-for-north-korea-summit
15. Trump: ‘We certainly would like to see normalization’ with North Korea. (2018, June 7). Politico. Retrieved from https://www.politico.com/story/2018/06/07/trump-normalize-relations-north-korea-631545
16. U.S., China agree on draft North Korea sanctions resolution at U.N.: envoys. (2016, February 24). Reuters. Retrieved from http://www.reuters.com/article/us-northkorea-nuclear-un-idUSKCN0VX2T5
17. Wit, Joel S., & Sun, Young Ahn. (2015, April 8). North Korea’s Nuclear Futures: Technology and Strategy. US-Korea Institute at SAIS. Retrieved from http://38north.org/wp-content/uploads/2015/02/NKNF-NK-Nuclear-Futures-Wit-0215.pdf
18. Wolfowitz voices skepticism over N.K.'s seriousness about denuclearization. (2018, April 25). Yonhap. Retrieved from http://english.yonhapnews.co.kr/northkorea/2018/04/25/0401000000AEN20180425005800315.html
-----------------------------