มุกตาดา อัล-ซาดาร์ ผู้สร้างความเปลี่ยนครั้งใหญ่แก่อิรัก ?

ตั้งแต่รัฐบาลสหรัฐส่งมอบอธิปไตยคืนแก่อิรัก นายกรัฐมนตรีที่ผ่านมามีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลสหรัฐทั้งสิ้น อัล-ซาดาร์กำลังจะเป็นนายกฯ คนแรกที่พยายามปลดแอกอิรักจากการครอบงำของต่างชาติ
            เมื่อกองทัพสหรัฐกับพันธมิตรโค่นล้มระบอบซัดดัม ฮุสเซน รัฐบาลสหรัฐเป็นผู้ปกครองอิรัก จนถึงปี 2006 ส่งมอบอธิปไตยคืนแก่อิรัก จัดเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยหลายครั้ง แต่ผู้เป็นนายกฯ เป็นคนที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของสหรัฐ ดังนั้น แม้จะบอกว่าเป็นการเลือกตั้งเสรี ความจริงแล้วเป็นเพียงวิธีการ ทุกอย่างอยู่ภายใต้การจัดวางล่วงหน้า
            เลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อกลางเดือนที่ผ่าน มุกตาดา อัล-ซาดาร์ (Moqtada al-Sadr) ได้ที่นั่งในสภาสูงสุด มีสิทธิ์จัดตั้งรัฐบาลและเป็นนายกฯ และอาจสร้างความเปลี่ยนแปลงแก่อิรักต่างจากนายกฯ คนก่อนๆ

แนวทางของอัลซาดาร์ :
มุกตาดา อัล-ซาดาร์ เป็นนักบวช เป็นผู้นำจิตวิญญาณของมุสลิมชีอะห์กลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งในอิรัก นอกจากแสดงบทบาทในฐานะผู้นำทางศาสนา ยังทำหน้าที่อีกหลายอย่างเช่น เป็นผู้ปกครองของกลุ่ม ผู้วางนโยบายกำหนดทิศทาง และเป็นผู้นำกองกำลัง Mahdi Army อันเลื่องชื่อ ปะทะกับกองทัพสหรัฐนับครั้งไม่ถ้วน
อัล-ซาดาร์ต่อต้านรัฐบาลซัดดัม บิดาของท่านเสียชีวิตเพราะซัดดัม ในช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซียอัล-ซาดาร์ร่วมมือกับกองทัพอเมริกันเพื่อทำลายระบอบซัดดัม แต่เมื่อล้มซัดดัมแล้วกองกำลัง Mahdi Army เริ่มปะทะกับทหารสหรัฐ เป้าหมายคือให้ทหารต่างชาติออกจากประเทศ

            ในกรณีอิหร่านก็เช่นกัน กองกำลังชีอะห์จากอิหร่านมีส่วนร่วมกับทหารสหรัฐ รวมทั้งกองกำลังของอัล-ซาดาร์และอีกหลายกลุ่มร่วมกันปราบปรามผู้ก่อการร้าย IS/ISIL/ISIS แต่เมื่อสิ้น IS อัล-ซาดาร์ต้องการให้กองกำลังจากอิหร่านออกนอกประเทศ กันไม่ให้รัฐบาลต่างชาติมีอิทธิพลในประเทศมากเกิน
เมื่อผลการเลือกครั้งล่าสุดตั้งเริ่มชัดเจน สมาชิกเฉลิมฉลองที่ผู้นำของตนชนะเลือกตั้งพร้อมกับตะโกน “อิหร่านออกไป” (Iran is out)

ดังที่เคยนำเสนอในบทความ “มายาคติ จันทร์เสี้ยวชีอะห์” แม้ประชากรส่วนใหญ่จะเป็นมุสลิมชีอะห์ แต่ไม่ได้อิงอิหร่านเสมอไป กลุ่มของอัล-ซาดาร์ร่วมมือกับอิหร่านหลายเรื่องแต่ไม่ขึ้นตรงต่ออิหร่าน แถมยังขัดแย้งกันบางเรื่อง
นักวิชาการบางคนอธิบายว่า แม้มุกตาดา อัล-ซาดาร์เป็นผู้นำจิตวิญญาณชีอะห์ แต่โดยรวมแล้วดำเนินแนวทางแบบสายกลาง (moderate) ไม่คิดปฏิวัติอิสลามตามแนวทางของอยาตุลเลาะห์ โคไมนี (Ayatollah Khomeini) ต้องการสร้างประเทศที่คนทุกศาสนานิกาย ทุกเชื้อชาติอยู่ร่วมกันได้ เห็นว่าคนอิรักจำนวนมากต้องการแนวทางนี้เพียงแต่ไม่กล้าแสดงออกมา
การต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันเป็นอีกประเด็นที่อัล-ซาดาร์ต่อสู้มานาน มักชี้เสมอว่ารัฐบาลอ่อนแอเรื่องนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลก่อนๆ ก็ยอมรับ ไฮเดอร์ อัล-อาบาดี (Haider al-Abadi) นายกรัฐมนตรีที่กำลังจะพ้นตำแหน่งยอมรับว่าคือปัญหาร้ายแรง ส่วนหนึ่งเพราะข้าราชการร่วมทุจริต รับสินบนบรรษัทต่างชาติ รายได้ที่เกิดส่วนหนึ่งไม่ได้เข้าคลัง
เป็นที่ทราบกันว่าปัญหาของอิรักที่แก้ไม่ได้เสียทีคือความแตกแยกทางนิกายศาสนากับทุจริตคอร์รัปชัน บ้านเมืองจึงไร้ขื่นแปอย่างที่เห็น กลายเป็นโอกาสแก่นายทุน นักการเมืองบางคน กองกำลังบางกลุ่มที่คุมบ่อน้ำมันทำธุรกิจกับพวกตะวันตก
ข้อมูลปี 2017 ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ชี้ว่าอิรักเป็นหนึ่งในประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางที่ปัญหาคอร์รัปชันรุนแรงที่สุด พอๆ กับลิเบีย ซูดาน ซีเรียและเยเมน เหตุเพราะสถาบันต่างๆ ในประเทศยังไม่เข้มแข็ง ขัดแย้งภายในรุนแรงและฝังลึก แทบไม่มีการตรวจสอบทุจริต การจะแก้ปัญหาทุจริตและอีกหลายเรื่องจำต้องให้ประเทศสงบก่อน ปลอดการแทรกแซงจากต่างชาติที่อาจยิ่งขยายความขัดแย้ง กลายเป็นการต่อสู้ที่ไม่รู้จบ

            เป็นความจริงที่ว่าในบางสถานการณ์จำต้องรับการช่วยเหลือจากทหารต่างชาติ รัฐบาลต่างชาติสนับสนุน แต่หากอิทธิพลต่างชาติมากเกินจนครอบงำการตัดสินใจอย่างอิสระ ไม่สามารถรักษาผลประโยชน์แห่งชาติ เช่นนั้นจำต้องลดอิทธิพลต่างชาติ อย่าคิดว่าต่างชาติจะดูแลผลประโยชน์ของเราดีกว่าที่เราดูแลตนเอง
            กรณีอิรักเห็นชัดว่า อัล-ซาดาร์คิดเห็นเช่นนี้ การให้สหรัฐกับอิหร่านถอนตัวออกจากประเทศ คือจุดเริ่มของการแก้ปัญหาในประเทศ
            อิรักในยุคอัล-ซาดาร์ยังร่วมมือกับชาติตะวันตก เพื่อนบ้านอาหรับและอิหร่าน แต่อิรักคืออิรัก ไม่อยู่ใต้บังคับของรัฐบาลตะวันตก อาหรับหรืออิหร่าน

อนาคตอิรักที่กำลังเปลี่ยนไป? :
            มุกตาดา อัล-ซาดาร์ต้องการให้ประเทศสงบ ลดการครอบงำจากต่างชาติ เริ่มต้นฟื้นฟูประเทศ ผลการเลือกตั้งเป็นหลักฐานประจักษ์ว่าชาวอิรักจำนวนไม่น้อยสนับสนุนท่าน หากสามารถทำตามนโยบายที่ประกาศไว้ รัฐบาลใหม่จะไม่เหมือนรัฐบาลชุดก่อนๆ เป็นเรื่องน่าติดตามอย่างยิ่ง แต่คงไม่ง่ายอย่างที่คิด
            ผลการเลือกตั้งอิรักเบื้องต้น กลุ่มของอัล-ซาดาร์ได้คะแนนสูงสุด รองมาคือกลุ่ม Fatah ตามด้วยพรรคของนายกฯ อัล-บาดีและพรรค State of Law ที่เหลือเป็นพรรคเล็ก  
อัล-ซาดาร์ได้สิทธิจัดตั้งรัฐบาลก่อน รัฐบาลใหม่ต้องประกอบด้วยหลายพรรคและรวมกับพรรคเล็ก เพื่อให้ได้จำนวนทั้งหมดอย่างน้อย 165 ที่นั่ง ลำพังการจัดตั้งรัฐบาลคงต้องกินเวลานาน ต้องต่อรองตำแหน่งสำคัญต่างๆ กับพวกซุนนี เคิร์ดและชีอะห์ด้วยกัน รวมแล้วอาจต้องใช้เวลาหลายเดือน
            อิรักในปัจจุบันประกอบด้วยคน 3 กลุ่มหลักคือ พวกชีอะห์ ซุนนีและเคิร์ด ภายใน 3 กลุ่มหลักยังประกอบด้วยกลุ่มย่อยที่มีทั้งร่วมมือและขัดแย้งกัน รัฐบาลใหม่จะต้องประกอบด้วยตัวแทนจากทั้ง 3 กลุ่ม สภาพการณ์ไม่ต่างจากรัฐบาลชุดก่อนที่จะต้องผสมผสานแกนนำขั้วต่างๆ การเปลี่ยนแปลงอย่างสุดโต่งจึงไม่เกิดขึ้นเร็ว

            ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดก่อนหรือชุดใหม่ต่างล้วนต้องเผชิญอุปสรรคการบริหาร ในสภาพที่สังคมยังขัดแย้งรุนแรง ต่างชาติแทรกแซง รัฐบาลกลางมีอำนาจจำกัด อัล-ซาดาร์ควบคุมได้เฉพาะในเขตพื้นที่ของตนเท่านั้น ส่วนพื้นที่อื่นๆ ยังอยู่ภายใต้การควบคุมของแต่ละกลุ่มไม่ว่าจะเป็นซุนนี เคิร์ด หรือแม้กระทั่งชีอะห์บางกลุ่มบางพื้นที่ ทั้งนโยบายกับภาคปฏิบัติใดๆ ที่ลงสู่พื้นที่จึงต้องผ่านความเห็นชอบจากนักการเมือง แกนนำประจำพื้นที่
            นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยต่างประเทศ อิทธิพลของรัฐบาลสหรัฐกับอิหร่านฝังรากลึก พวกเคิร์ดสัมพันธ์กับสหรัฐชนิดแยกจากกันไม่ได้ แม้กระทั่งกองทัพอิรักบางส่วนสัมพันธ์กับกองทัพสหรัฐร่วมมือกันหลายด้านในช่วงต่อต้านผู้ก่อการร้าย IS ช่วยกันยึดคืนหลายเมือง
            ทุกวันนี้สหรัฐยังคงกองบัญชาการของตนในใจกลางกรุงแบกแดด พวกซุนนีอิรักหลายกลุ่มมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลอาหรับ
สิงหาคม 2004 หลังการปะทะกับทหารอเมริกันอย่างหนักและเริ่มเจรจาหยุดยิง มุกตาดา อัล-ซาดาร์ ยังกล่าวโจมตีรัฐบาลสหรัฐว่าตั้งใจจะ ยึดครองทั้งโลก” “การที่อิรักถูกยึดครองทำให้ประเทศของเราเป็นดั่งนรก

            รวมความแล้ว แม้อิรักได้ผู้นำรัฐบาลจากขั้วใหม่ แต่การคงอยู่ของขั้วอื่นๆ ฝังลึก ไม่อาจเปลี่ยนแปลงง่ายๆ นโยบายของอัล-ซาดาร์ที่ประกาศไว้เป็นเป้าหมายสูงสุด แต่จะสำเร็จมากน้อยเพียงไรนั่นเป็นอีกเรื่อง พูดได้แต่เพียงว่าอัล-ซาดาร์อาจเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่แตกต่างจากเดิม

ความท้าทายของรัฐบาลใหม่ :
            ประการแรก การรวมคนทุกกลุ่มให้มีเอกภาพ
ข้อมูล 2015 อิรักมีประชากรทั้งสิ้นราว 37 ล้านคน เป็นมุสลิมร้อยละ 99 โดยเป็นนิกายชีอะห์ร้อยละ 60-65 ซุนนีร้อยละ 32-37 ที่เหลือนับถือศาสนาอื่นๆ
            Salim al-Jabouri โฆษกรัฐสภาอิรักกล่าวว่า เรื่องน่ากังวลหลังสิ้น IS คือ การล้างแค้นกันเอง ถึงขั้นใช้อาวุธสงคราม ไม่ใช่ทุกคนที่เป็นเช่นนี้ เพียงบางคนที่อาศัยการแบ่งแยกเป็นซุนนี-ชีอะห์ พวกเขาพวกเรา บางคนบางกลุ่มใช้สถานการณ์เพื่อเป้าหมายส่วนตัว
            แม้ปราบปราม IS สิ้นซากแล้ว นายกฯ อัลบาดียังยอมรับว่าไม่อาจแก้ความขัดแย้งทางนิกายศาสนา ยอมรับว่าการที่ IS สามารถชักจูงชาวอิรักเข้าร่วมจำนวนมากเพราะคนเหล่านั้นไม่พอใจรัฐบาล (ที่นายกฯ มาจากสายชีอะห์)
            รัฐบาลใหม่จะต้องเริ่มต้นด้วยการให้ความยุติธรรมแต่คนทุกหมู่เหล่า ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ไม่แบ่งแยกระหว่างชีอะห์กับซุนนี เป็นเชื้อสายอาหรับอิรักหรือพวกเคิร์ด อย่างน้อยให้มีความยุติธรรมมากพอที่จะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ มีเอกภาพเพียงพอที่จะร่วมมือกันได้

            ประการที่ 2 การฟื้นฟูประเทศ
            อิรักมีจุดแข็งที่มีทรัพยากรน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติมาก เป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศมาช้านาน ประเด็นคือรายได้เข้าสู่คลังประเทศเต็มเม็ดเต็มหน่วยหรือไม่ ข้อนี้คือความท้าทายสำคัญ
            การเปิดโอกาสให้บรรษัทข้ามชาติทุกประเทศเข้ามาแข่งขันลงทุนน่าจะเป็นทางออกที่ดี นำรายจากน้ำมันกระจายพัฒนาทุกภูมิภาคอย่างทั่วถึง ซึ่งจะเป็นบทพิสูจน์ว่ารัฐบาลใหม่เป็นรัฐบาลของคนทั้งประเทศหรือเป็นของคนบางกลุ่มบางพวกเท่านั้น

            ตั้งแต่รัฐบาลสหรัฐส่งมอบอธิปไตยคืนแก่อิรัก ตามมาด้วยการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย นายกฯ 3 คนที่ผ่านมาเป็นคนของรัฐบาลสหรัฐหรือมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลสหรัฐทั้งสิ้น อัล-ซาดาร์กำลังจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่ต่อสู้กับกองทัพอเมริกัน พยายามปลดแอกจากอำนาจต่างชาติ
            การต่อสู้รอบใหม่นี้อาจไม่เป็นการทำสงครามอย่างที่แล้วมา จะเป็นการต่อสู้ทางการเมืองระดับประเทศอันซับซ้อน และอาจเป็นจุดเริ่มแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของประเทศนี้
19 พฤษภาคม 2018
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลกไทยโพสต์ ปีที่ 22 ฉบับที่ 7862 วันอาทิตย์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2561)
 --------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง 
12 ปีนับจากโค่นล้มระบอบซัดดัม ฮุสเซนและรัฐบาลบุชประกาศว่าจะสร้างอิรักให้เป็นประชาธิปไตย เป็นแบบอย่างแก่ประเทศอื่นๆ ในตะวันออกกลาง จากบัดนั้นจนบัดนี้อิรักยังไม่เคยเป็นประชาธิปไตยจริงๆ อีกทั้งสถานการณ์เลวร้ายกว่าเดิม สังคมแตกแยกร้าวลึก สงครามกลางเมืองทำให้ผู้คนล้มตายปีละนับพันนับหมื่น โดยยังไม่เห็นวี่แววว่าเมื่อไหร่ความสงบสุขจะกลับคืนมา
ประธานาธิบดีโอบามากล่าวซ้ำหลายรอบว่าปัญหาอิรักคือเรื่องความเป็นเอกภาพของชีอะห์ ซุนนีและเคิร์ดอิรัก แต่นโยบายปราบปราม IS คือการปกป้องพวกชีอะห์กับเคิร์ด มีผลทำให้อิรักแยกออกเป็น 3 ฝ่ายโดยปริยาย ตอกย้ำว่าแท้ที่จริงแล้วรัฐบาลสหรัฐฯ ดำเนินนโยบายแบ่งแยกอิรักตั้งแต่สมัยสงครามอ่าวเปอร์เซียเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

บรรณานุกรม :
1. Abadi: Government cannot solve ‘age-old’ sectarian divisions. (2018, May 14). Rudaw. Retrieved from http://www.rudaw.net/english/middleeast/iraq/090320181
2. Allawi, Ali A. (2007). The Occupation of Iraq: Winning the War, Losing the Peace. USA: Yale University Press.
3. Central Intelligence Agency. (2015, July). Iraq. The World Factbook. Retrieved from https://www.cia.gov/library/publications/the-world-factbook/geos/iz.html
4. Cleric Seeks Truce to End Najaf Fighting. (2004, August 13). Associated Press.
5. Morris, Loveday. (2016, May 6). He once fought U.S. troops. Now Moqtada al-Sadr is battling Iraq’s political system. The Washington Post. Retrieved from https://www.washingtonpost.com/world/middle_east/he-once-fought-us-troops-now-moqtada-al-sadr-is-battling-iraqs-political-system/2016/05/06/77f3a2f6-109e-11e6-a9b5-bf703a5a7191_story.html
6. Iraq prime minister promises corruption crackdown, says laws will protect nervous foreign investors. (2018, February 19). CNBC. Retrieved from https://www.cnbc.com/2018/02/18/munich-security-conference-iraq-prime-minister-hails-encouraging-progress.html
7. Iraq’s parliament speaker outlines post-IS plan. (2016, October 6). Al Monitor. Retrieved from http://www.al-monitor.com/pulse/originals/2016/10/salim-al-jubouri-iraq-mosul-iran.html
8. Iraq's PM congratulates Moqtada Al Sadr on election performance. (2018, May 15). The National. Retrieved from https://www.thenational.ae/world/mena/iraq-s-pm-congratulates-moqtada-al-sadr-on-election-performance-1.730713
9. Iraq’s Sadr supporters chant ‘Iran is out’ while celebrating electoral victory. (2018, May 14). Al Arabiya. Retrieved from http://english.alarabiya.net/en/News/middle-east/2018/05/14/Sadr-supporters-chant-Iran-is-out-while-celebrating-electoral-victory.html
10. Sadr army owns city's streets. (2004, August 4). The Christian Science Monitor.
11. Transparency International. (2018, February 21). RAMPANT CORRUPTION IN ARAB STATES. The Washington Post. Retrieved from https://www.transparency.org/news/feature/rampant_corruption_in_arab_states
-----------------------------