พลิกหน้าประวัติศาสตร์ ผู้นำซาอุฯ ยอมรับรัฐอิสราเอล

เป็นเรื่องตลกถ้าพูดว่ามุสลิมอาหรับเป็นมิตรกับยิว เพราะที่ได้ยินได้ฟังคือเป็นศัตรูที่อยู่ร่วมโลกไม่ได้ แต่บัดนี้ผู้นำซาอุฯ กำลังเปลี่ยนความบาดหมางเป็นความร่วมมือเพื่อจัดการศัตรูอีกฝ่าย

            มกุฎราชกุมาร มุฮัมมัด บิน ซัลมาน (Mohammed bin Salman) แห่งซาอุดิอาระเบียเยือนทำเนียบขาวอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ประธานาธิบดีทรัมป์ยืนยันสนับสนุนมกุฎราชกุมารหลังประสบความสำเร็จกระชับอำนาจในประเทศ ทรัมป์กล่าวว่า “บัดนี้พระองค์เป็นมากกว่ามกุฎราชกุมารแล้ว” ชี้ความสัมพันธ์กับสหรัฐว่า “น่าจะแข็งแกร่งที่สุดเท่าที่เคยมีมา”
มกุฎกษัตริย์ซัลมานกล่าวขณะเยือนว่าอิสราเอลมี “สิทธิ” เหนือดินแดนมาตุภูมิของตน คนยิวมีสิทธิ์แห่งการเป็นรัฐชาติ (nation-state) ที่อยู่ร่วมกับชนชาติอื่นโดยสันติ ทั้งยังเสนอข้อตกลงสันติภาพเพื่อนำสู่ความสัมพันธ์ตามปกติ ซาอุฯ “ไม่มีปัญหาคนยิว” ทั้งยัง “มีผลประโยชน์ร่วมกันหลายอย่าง” อธิบายรากฐานความสัมพันธ์ระหว่างมุสลิมอาหรับกับยิวว่า “ประเทศของเราไม่มีปัญหากับคนยิว ศาสดามุฮัมมัด (Muhammad) ของเราแต่งงานกับหญิงยิว ไม่ใช่เพียงเป็นเพื่อนแต่แต่งงานกัน เพื่อนบ้านของศาสดาก็เป็นพวกยิว ซาอุฯ ในปัจจุบันมีชาวยิวไม่น้อยทั้งจากอเมริกา ยุโรป”
ได้เวลาปรับแก้ตำราเรียนแล้ว :
            ตำราเรียนกระแสหลักจะสอนว่ารัฐบาลซาอุฯ เป็นศัตรูกับอิสราเอลมานานตั้งแต่ก่อตั้งรัฐอิสราเอลหลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อพฤษภาคม 1948 ชาวอาหรับเห็นว่าปาเลสไตน์เป็นพื้นที่ๆ บรรพบุรุษของพวกเขาอาศัยมานานแล้วดังเช่นพื้นที่อื่นๆ ของชาวอาหรับ ส่วนพวกอิสราเอลหรือยิวที่กระจัดกระจายบางกลุ่มเห็นว่าดินแดนนี้เป็นที่ตั้งของชนชาติอิสราเอลในอดีตกาลและฝันจะตั้งประเทศบนพื้นที่ดังกล่าวอีกครั้ง
การก่อตั้งรัฐอิสราเอลสมัยใหม่กลายเป็นชนวนขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับชาติอาหรับอย่างรุนแรง บรรดารัฐอาหรับต่างไม่ยอมรับรัฐอิสราเอล แสดงความเป็นศัตรูอย่างเปิดเผยรุนแรงชนิดอยู่ร่วมโลกกันไม่ได้ เกิดสงครามถึง 5 ครั้ง จนกระทั่งปี 1993 ทุกฝ่ายจึงเริ่มหันหน้าเจรจาเพื่อสันติ แม้ความขัดแย้งทุเลาลงบ้างแต่แสดงอาการเป็นระยะๆ หนักบ้างเบาบ้าง
การมีอยู่ของรัฐอิสราเอลกลายเป็นความขมขื่นของโลกมุสลิม คนมุสลิมจะเรียนรู้ประวัติศาสตร์เรื่องนี้ ส่งต่อความรู้สึกเกลียดชังอิสราเอล ดังนั้นหากรัฐบาลอาหรับร่วมมือกับอิสราเอลจริง ตำราเรียนต้องปรับแก้ใหม่มากมาย เรื่องราวในอดีตคือเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา ส่วนเรื่องราววันนี้คือหน้าประวัติศาสตร์ที่แตกต่างจากเดิม ที่บัดนี้ดูเหมือนว่ามกุฎราชกุมารซัลมานกำลังลบล้างและ/หรือเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ รัฐอิสราเอลกับอาหรับกำลังจะเป็นมิตร ละทิ้งความเป็นศัตรูคู่อาฆาต
ชมคลิปสั้น 4 นาที
            ลึกกว่าการเมืองระหว่างประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลกับตะวันออกกลางมักดึงศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งฝ่ายซุนนีกับชีอะห์ นักการศาสนามุสลิมหลายสำนักพร่ำสอนว่ามุสลิมกับยิวเป็นปรปักษ์ต่อกัน จึงเกิดคำถามใหญ่ว่าจะอธิบายในเชิงศาสนาอย่างไร มุสลิมจับมือกับยิวแล้วใช่หรือไม่ 2 ศาสนิกจะอยู่ร่วมกันโดยสันติแล้วใช่หรือไม่ ไม่ว่ายิวผู้นั้นจะเป็นพวกไซออนิสต์หรือไม่ก็ตาม
            ในอีกแง่หนึ่ง ผู้นำซาอุฯ กำลังเปลี่ยนแนวทางคำสอนของมุสลิมใช่หรือไม่
ควรบันทึกไว้ว่ามุสลิมบางนิกาย บางคนอาจไม่เห็นด้วยกับผู้นำซาอุฯ ในเรื่องนี้

ศัตรูซาอุฯ ในปัจจุบัน :
            เรื่องที่สำคัญพอๆ กับการเป็นมิตรกับอิสราเอล คือเรื่องที่มกุฎราชกุมารซัลมานพูดว่าปัจจุบันซาอุฯ มีศัตรูที่เรียกว่า “ความชั่วร้าย 3 เส้า” (triangle of evil) ประกอบด้วยอุดมการณ์ชีอะห์ (Shiite ideology) เป็นอุดมการณ์สุดโต่ง พวกชีอะห์เชื่อว่าถ้าพยายามเผยแพร่อุดมการณ์จะกระตุ้นให้ hidden Imam (Muhammad al-Mahdi) ปรากฏตัวและปกครองโลก
ศัตรูตัวที่ 2 คือ กลุ่มภารดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) เป็นอีกกลุ่มที่มีแนวคิดสุดโต่ง กลุ่มนี้อาศัยการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยเพื่อเข้าถึงอำนาจ หวังสร้างระบอบคอลีฟะฮ์แฝง (shadow caliphates) ในรัฐบาลประชาธิปไตย จากนั้นจะขยายอาณาจักรของตนจนเต็มโลก
ศัตรูตัวที่ 3 คือ พวกผู้ก่อการร้ายอย่างอัลกออิดะห์กับ ISIS
            มกุฎราชกุมารซัลมานอธิบายเพิ่มเติมว่าศัตรูทั้ง 3 มีเป้าหมายตรงกันข้อหนึ่งคือสร้างระบอบคอลีฟะฮ์ในรูปแบบต่างๆ ศาสดามุฮัมมัด (Muhammad) ไม่ได้สอนให้ตั้งคอลีฟะฮ์ เพียงให้เผยแพร่คำสอนเท่านั้นซึ่งปัจจุบันสำเร็จแล้ว เพราะคนในโลกปัจจุบันมีเสรีในการนับถือศาสนา สามารถซื้อหาตำราศาสนามาอ่าน

            แนวคิด “ความชั่วร้าย 3 เส้า” ไม่ใช่ของใหม่เสียทีเดียว ในที่ประชุม “Arab Islamic American Summit” เมื่อกลางปีที่แล้ว ต่อหน้าผู้นำมุสลิม 55 ประเทศ กษัตริย์ซัลมาน บิน อับดุล อาซิซ (Salman Bin Abdul Aziz) ตรัสว่า การประชุมแสดงให้เห็นชัดว่าชาติอาหรับกับอิสลามผู้เข้าร่วมการประชุมสุดยอด 55 ประเทศ อันประกอบด้วยประชากรกว่า 1,500 ล้าคน ร่วมเป็นหุ้นส่วนสำคัญในการต่อสู้พลังลัทธิสุดโต่ง (extremism) กับลัทธิก่อการร้าย (terrorism) เพื่อสันติภาพ ความมั่นคงและเสถียรภาพโลกการประชุมช่วยกระชับความสัมพันธ์กับสหรัฐ ด้วยความรับผิดชอบต่ออัลเลาะห์ (Allah) ต่อประชาชนของเราและต่อโลก เราจะยืนเคียงข้างต่อสู้พลังความชั่ว (forces of evil) กับลัทธิสุดโต่ง
ทุกวันนี้เราเห็นบางคนที่คิดว่าตัวเขาเป็นมุสลิมพยายามบิดเบือนภาพลักษณ์ศาสนา พยายามเชื่อมโยงศาสนาอันยิ่งใหญ่นี้เข้ากับความรุนแรงซึ่งขัดแย้งกับหลักศาสนา
            จะเห็นว่ามีการเอ่ยถึงลัทธิสุดโต่ง มุสลิมที่บิดเบือนศาสนาและผู้ก่อการร้าย
รัฐบาลซาอุฯ อียิปต์ จอร์แดน บาห์เรน โอมาน คูเวต สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์และเยเมนจะร่วมกันต่อต้านพวกสุดโต่งเหล่านี้

ผู้นำอิหร่านคือฮิตเลอร์ :
            เป็นที่รับรู้ทั่วไปว่าในบรรดาศัตรูทั้ง 3 อิหร่านคือภัยร้ายแรงที่สุด มกุฎราชกุมารซัลมานกล่าวโจมตีผู้นำอิหร่านอย่างรุนแรง “ผมเชื่อว่าผู้นำสูงสุดอิหร่านทำให้ฮิตเลอร์ดูดี ฮิตเลอร์ไม่ได้ทำอย่างที่ผู้นำสูงสุดอิหร่านกำลังทำ ฮิตเลอร์พยายามครอบครองยุโรป แต่ผู้นำสูงสุดพยายามครอบครองโลก เป็นฮิตเลอร์ของตะวันออกกลาง ... ตนไม่อยากเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในยุโรปมาเกิดในตะวันออกกลาง”
            การเปรียบเทียบกับฮิตเลอร์อาจเป็นของใหม่จากซาอุฯ แต่ไม่ใช่ของใหม่สำหรับอิสราเอล เบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) นายกรัฐมนตรีอิสราเอลกล่าวเมื่อปี 2015 เปรียบเทียบอิหร่านเหมือนพวกนาซี (Nazis) เพื่อโยงว่าอิหร่านคิดทำลายล้างยิวเหมือนที่นาซีทำกับชาวยิวในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 อิหร่าน “ประกาศเป้าหมายว่าจะทำลายล้างรัฐยิว”
            ไม่ว่าจะจงใจหรือไม่ ผู้นำซาอุฯ กับผู้นำอิสราเอลพูดตรงกันว่าอิหร่านคือนาซี ผู้นำอิหร่านคือฮิตเลอร์ การเปรียบเทียบเช่นนี้ไม่เพียงบ่งบอกความเป็นศัตรู ยังเป็นการระบุว่าระบอบอิหร่านคือเป้าหมายที่ต้องทำลาย เป็นศัตรูร่วมของซาอุฯ กับอิสราเอล
            ชวนให้คิดถึงกระแสข่าวการร่วมมือ การเป็นพันธมิตรเพื่อจัดการอิหร่าน เหมือนจัดการนาซีในอดีต

อาหรับจับมือยิวต้านอิหร่าน :
            ไม่ว่ามุสลิมอาหรับจะจับมือกับยิวจริงแท้เพียงไร หนึ่งในความร่วมมือที่เป็นไปได้ (และอาจเป็นไปแล้ว) คือการร่วมมือเพื่อ “จัดการ” อิหร่าน
            กลางเดือนพฤศจิกายน 2017 พลโท Gadi Eisenkot แห่งกองทัพอิสราเอลกล่าวว่าพร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับประเทศอาหรับสายกลาง แลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อต้านอิหร่าน พูดอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า ในยุคประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีโอกาสที่จะสร้างพันธมิตรนานาชาติในภูมิภาค และยุทธศาสตร์ที่จะหยุดภัยคุกคามอิหร่าน
นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่าหลายปีที่ผ่าน รัฐบาลอิสราเอลกับรัฐบาลอาหรับมีความร่วมมือในทางลับหลายครั้ง ผู้นำอาหรับลดท่าทีแข็งกร้าวต่ออิสราเอล การที่ผู้นำกองทัพอิสราเอลออกมาพูดเช่นนี้ถือเป็นความก้าวหน้าอีกขั้น เพราะเป็นการพูดต่อสาธารณะว่าอิสราเอลพร้อมร่วมมือกับซาอุฯ เพื่อต้านอิหร่าน
            สอดคล้องกับท่าทีของนายกฯ เนธันยาฮูที่เสนอแนวคิดผูกมิตรกับรัฐอาหรับ โดยใช้ประเด็นอิหร่านเป็นตัวยึดโยง ดังนั้นที่แน่ชัดคือการแสดงท่าทีเป็นมิตรในช่วงนี้จะมีคำว่า “อิหร่าน” เข้ามาเกี่ยวข้อง พูดให้ชัดคืออิสราเอลกับรัฐอาหรับจะร่วมมือกัน “จัดการอิหร่าน”

ถ้ายึดมุมมองจากวาทกรรมจันทร์เสี้ยวชีอะห์ (Shiite Crescent/ Shia Crescent) ซีเรียกับอิรักถูกจัดการแล้ว เป้าหมายต่อไปคืออิหร่าน ซึ่งสอดคล้องกับรัฐบาลทรัมป์ที่เริ่มต้นรัฐบาลก็ประกาศความเป็นปรปักษ์ต่ออิหร่านอย่างรุนแรง
            หากสามารถทำลายอิหร่าน (การทำลายไม่ได้หมายความว่าต้องยึดประเทศ เพียงแค่ทำให้อ่อนแอหรือเปลี่ยนระบอบก็นับว่าได้จัดการแล้ว) ถือว่าจบสิ้นจันทร์เสี้ยวชีอะห์
            หากมองย้อนหลังหลายสิบปีจนถึงเมื่อปีก่อนจะเป็นเรื่องตลกถ้าใครพูดว่ามุสลิมอาหรับเป็นมิตรกับยิว เพราะที่ได้ยินได้ฟังคือเป็นศัตรูที่อยู่ร่วมโลกไม่ได้ ยิ่งหากผูกเรื่องนี้กับศาสนาจะยิ่งเห็นความไม่ลงรอย ความบาดหมางที่ย้อนหลังนับพันๆ ปี แต่บัดนี้ ผู้นำซาอุฯ กำลังเปลี่ยนความบาดหมางให้เป็นความร่วมมือเพื่อจัดการศัตรูอีกฝ่าย เรื่องนี้น่าจะเป็นประเด็นถกเถียงได้อีกมาก โฉมประวัติศาสตร์ภูมิภาคตะวันออกกลางยังคงเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เป็นภูมิภาคที่มีพลวัต
8 เมษายน 2018
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลกไทยโพสต์ ปีที่ 22 ฉบับที่ 7820 วันอาทิตย์ที่ 8 เมษายน พ.ศ.2561)
------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
ในที่ประชุม “Arab Islamic American Summit” ประธานาธิบดีทรัมป์แสดงท่าทีเป็นมิตรกับรัฐบาลซาอุฯ ท่ามกลางผู้นำชาติอาหรับ ผู้นำมุสลิมประเทศอื่นๆ รวม 55 ประเทศ วัตถุประสงค์หลักคือร่วมต่อต้านก่อการร้ายซึ่งหมายถึงมุสลิมสุดโต่งกับอิหร่าน เป็นอีกครั้งที่ทรัมป์พูดถึงความดีความชั่ว ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือดำเนินนโยบาย ยอมรับว่าแนวทางศาสนาของซาอุฯ เข้าได้กับนโยบายของตน

บรรณานุกรม :
1. Fraser, T. G. (2004). The Arab-Israeli Conflict (2nd Ed.). New York: Palgrave Macmillan.
2. ‘Iran at forefront of global terrorism,’ says King Salman. (2017, May 21). Al Arabiya. Retrieved from http://english.alarabiya.net/en/News/gulf/2017/05/21/-Iran-at-forefront-of-global-terrorism-says-King-Salman.html
3. Israel ready to work with Saudis against Iran, army chief says. (2017, November 17). France 24. Retrieved from http://www.france24.com/en/20171116-israel-cooperate-saudi-arabia-against-iran-intelligence-army-chief-eisenkot
4. Israel Has Right to Land, Iran's Khamenei Makes Hitler Look Good – Saudi Prince. (2018, April 3). Sputnik News. Retrieved from https://sputniknews.com/middleeast/201804031063156343-israel-iran-saudi-prince-interview/
5. Israeli Prime Minister Benjamin Netanyahu compares Iran to the Nazis. (2015, April 16). The Independent. Retrieved from http://www.independent.co.uk/news/world/middle-east/israeli-prime-minister-benjamin-netanyahu-compares-iran-to-the-nazis-10183349.html
6. King Salman: Iran spearheading global terror. (2017, May 22). Arab News. Retrieved from http://www.arabnews.com/node/1103121/saudi-arabia
7. Saudi Crown Prince recognizes Israel's right to exist. (2018, April 3).
FRANCE 24.
Retrieved from http://www.france24.com/en/20180403-saudi-arabia-israel-crown-prince-right-homeland-exist
8. Saudi Crown Prince: Iran's Supreme Leader 'Makes Hitler Look Good'. (2018, April 2). The Atlantic. Retrieved from https://www.theatlantic.com/international/archive/2018/04/mohammed-bin-salman-iran-israel/557036/
9. Saudi Prince’s White House Visit Reinforces Trump’s Commitment to Heir Apparent. (2018, March 20). The New York Times. Retrieved from https://www.nytimes.com/2018/03/20/us/politics/saudi-crown-prince-arrives-at-white-house-to-meet-with-trump.html
10. Ulrichsen, Kristian Coates. (2015). Insecure Gulf: The End of Certainty and the Transition to the Post-oil Era. New York: Oxford University Press.
-----------------------------