ย้อนมองเหตุประท้วงรัฐบาลโรฮานีเมื่อสิ้นปี 2017

การชุมนุมประท้วงในอิหร่านไม่เพียงสะท้อนว่าเรื่องปากท้องสำคัญ ที่ลึกกว่านั้นคือพวกเขาเห็นว่ารัฐบาลน่าจะแก้ปัญหาได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ ทำไมรัฐจึงไม่ทำ

            ช่วงสิ้นปีจนถึงต้นปี 2018 เกิดการชุมนุมประท้วงใหญ่ ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ต้องการให้รัฐแก้ปัญหา ส่วนน้อยที่มุ่งร้ายต่อความมั่นคงของรัฐ มีการแทรกแซงจากรัฐบาลต่างชาติ บทความนี้เน้นพูดถึงส่วนที่เกี่ยวข้องกับปัญหาภายใน
            การประท้วงเริ่มที่เมืองมัชฮัด (Mashhad-เมืองใหญ่อันดับ 2 อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ติดอัฟกานิสถาน) จากนั้นกระจายไปหลายสิบเมือง ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิต เพิ่มการจ้างงานและลดอัตราเงินเฟ้อ มีการชุมนุมต่อเนื่องหลายวัน ท่ามกลางการชุมนุมมีบางคนที่ใช้อาวุธ หวังก่อความรุนแรง ทำลายทรัพย์สินราชการ รวมทั้งสถานที่ทางศาสนา
เมื่อการชุมนุมผ่านไปได้ 9 วัน ฝ่ายผู้ชุมนุมชี้ว่ามีผู้เสียชีวิตแล้ว 50 รายด้วยฝีมือเจ้าหน้าที่ และอีก 3,000 คนถูกจับกุม ในขณะที่ทางการรายงานว่ามีผู้เสียชีวิต 22 ราย 1,500 คนถูกจับกุม แกนนำฝ่ายต่อต้านแนะนำให้เลี่ยงการปะทะกับฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลที่จัดชุมนุมเช่นกัน
รับชมคลิปสั้น 2 นาที :
ฟังเสียงประชาชน ยอมรับปัญหา :
ประธานาธิบดีฮัสซัน โรฮานี (Hassan Rohani) กล่าวถึงการประท้วงว่าบั่นทอนเสถียรภาพรัฐบาลในขณะเดียวกัน “ช่วยให้เห็นปัญหาด้วย” ยอมรับว่า “บางคนไม่ได้ประท้วงเพราะต่างชาติชี้นำ หลายคนประท้วงเพราะปัญหาเศรษฐกิจ” ต้องการเสรีภาพมากขึ้น พร้อมกับอธิบายว่าเศรษฐกิจอิหร่านเติบโตดีขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าไร้ปัญหาแล้ว การแก้ปัญหาต้องอาศัยทุกภาคส่วน ตั้งแต่รัฐสภา รัฐบาล ระบบศาล กองทัพ และอื่นๆ
            กระแสข่าวขึ้นราคาน้ำมันเป็นอีกประเด็นที่หลายคนไม่เห็นด้วย เพราะราคาสินค้าอื่นๆ จะพลอยขึ้นราคาตามไปด้วย ในขณะที่รัฐบาลเห็นว่าจำเป็นขึ้นราคาน้ำมัน
            ส่วนเรื่องคนว่างงานนั้น รัฐบาลยอมรับว่ายังเป็นปัญหาอยู่
ด้านอยาตุลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี (Ayatollah Ali Khamenei) ผู้นำจิตวิญญาณอิหร่านเตือนว่าผู้ชุมนุมกำลังเล่นกับไฟเมื่อการประท้วงที่เริ่มจากปัญหาเศรษฐกิจขยับมาเป็นการเมือง จึงขอเตือนให้ระวังจะตกเป็นเหยื่อศัตรู

ประชาชนเรียกร้องให้รัฐแก้ปัญหา :
            ก่อนอื่นต้องชัดเจนก่อนว่าประเด็นประท้วงหลักคือเรื่องปากท้อง สินค้าขึ้นราคาและกำลังจะขึ้นอีก เนื่องจากรัฐบาลมีแผนปรับเพิ่มราคาน้ำมันหลายสิบเปอร์เซ็นต์ คนจำนวนมากยังตกงาน ผนวกกับสังคมที่มีการทุจริตคอร์รัปชัน ทำให้กลุ่มคนขาดแคลนยากไร้เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา ไม่หวังล้มระบอบ
            ประชาชนอีกส่วนหนึ่งออกมาแสดงพลังสนับสนุนรัฐบาลในหลายเมือง ต่อต้านพวกที่ไม่พอใจรัฐบาล ต่อต้านรัฐบาลสหรัฐ อิสราเอลกับอังกฤษที่แทรกแซงกิจการภายใน ผู้ชุมนุมบางส่วนเห็นว่าสหรัฐกับอิสราเอลเป็นต้นเหตุความวุ่นวาย
นับจากการปฏิวัติอิสลาม 1979 อิหร่านถูกหลายประเทศคว่ำบาตร การทำสงครามอิหร่าน-อิรัก (1980-88) แม้สามารถขับไล่ผู้รุกรานออกจากดินแดน ผลของสงครามยาวนานสูญเสียโอกาสพัฒนาประเทศ ต้องทุ่มงบประมาณเพื่อทำสงคราม
ต่อมาเมื่อสหรัฐทำสงครามอ่าวเปอร์เซีย ตามด้วยการโค่นล้มระบอบซัดดัม ฮุสเซน กองทัพอเมริกันกับพันธมิตรพร้อมอาวุธครบมือจ่อพรมแดนอิหร่าน มาห์มุด อาห์มาดิเนจาด (Mahmoud Ahmadinejad) ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี (2005-2013) พร้อมกับนโยบายแข็งกร้าวต่อตะวันตก เดินหน้าโครงการพัฒนานิวเคลียร์เต็มที่ คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติมีมติคว่ำบาตร
ผลจากยืนหยัดดำเนินโครงการพัฒนานิวเคลียร์ กระทบเศรษฐกิจรุนแรง อิหร่านในยุคของอาห์มาดิเนจาดประสบปัญหาคนว่างงาน อัตราเงินเฟ้อสูง แม้ผลกระทบจะลดลงบ้างเนื่องจากราคาน้ำมันตลาดโลกพุ่งสูงถึง 140 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่อิหร่านที่ถูกคว่ำบาตร กรำศึกกับอิรัก บั่นทอนเศรษฐกิจสังคมมาตลอด

คำมั่นสัญญาของโรฮานี :
            ในช่วงหาเสียงโรฮานีพูดถึงปัญหาคนว่างงาน “ทุกวันนี้ประเทศมีคนว่างงาน 3,300,000 คน” สัญญาว่าจะแก้ปัญหานี้ ในอีกวาระหนึ่งกล่าวว่า คนรุ่นใหม่ไม่อาจยอมรับเรื่องการว่างงาน อัตราเงินเฟ้อสูง และความรู้สึกผิดหวังต่ออนาคตที่ไม่แน่นอน” ในขณะที่บางคนยังพูดถึงความหยิ่งผยอง ไม่พยายามผูกมิตรกับนานาชาติ ท่ามกลางความยากจนของประเทศ
ถ้ายึดตัวเลขทางการ ภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันดีกว่ารัฐบาลชุดก่อน เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว อัตราเงินเฟ้อปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับร้อยละ 35 เมื่อปี 2013
อย่างไรก็ตาม อัตราว่างงานรวมอยู่ที่ราวร้อยละ 24 เฉพาะคนหนุ่มสาวสูงถึงร้อยละ 30 จึงไม่แปลกที่ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาว

            ปัญหาเรื่องปากท้อง คนว่างงาน คอร์รัปชันไม่ใช่เรื่องใหม่ โรฮานีเอ่ยถึงปัญหาเหล่านี้ในช่วงหาเสียงและสัญญาว่าจะแก้ไข บัดนี้หลังบริหารประเทศกว่า 4 ปี มีเสียงทวงถามคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้

ในขณะที่มูลเหตุคือเรื่องปากท้อง บางคนเอ่ยถึงปัญหาที่ลึกกว่านั้น Mohsen Makhmalbaf ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังของอิหร่าน ชี้ว่าคนหนุ่มสาวไม่พอใจระบอบคาเมเนอีที่มีอิทธิพลเหนือทั้งฝ่ายปฏิรูปกับฝ่ายอนุรักษ์นิยม
            นักวิชาการบางคนชี้ว่าเหตุเพราะรัฐบาลใช้เงินหลายหมื่นล้านดอลลาร์กับการทำสงคราม
            ความคิดนี้ถูกนำเสนอไม่ให้ยุ่งเกี่ยวสงครามในซีเรีย ไม่สนับสนุนฮิซบอลเลาะห์ ฮามาส ไม่ว่าจะโดยมีความเข้าใจหรือไม่ ความคิดเหล่านี้ขัดแย้งนโยบายรัฐบาล เข้าทางฝ่ายซาอุฯ สหรัฐ
            ข้อเสนอไม่เข้ายุ่งเกี่ยวเหล่านี้ส่อให้เห็นเรื่องที่เป็นมากกว่าปัญหาพื้นฐาน โยงผู้ถืออำนาจบริหารประเทศ
            ในมุมของประชาชนต้นเหตุคือเรื่องปากท้อง แต่หากแก้ปัญหาไม่ตกจะเริ่มพาดพิงความชอบธรรมของรัฐบาล ปัญหาที่ยืดเยื้อยาวนานกลายเป็นโอกาสให้บางคนบางกลุ่มปลุกปั่นล้มล้างรัฐบาล

            แม้การชุมนุมไม่ลุกลามกลายเป็นสงครามกลางเมืองตามที่ฝ่ายตรงข้ามหวังไว้ การประโคมข่าวจากสื่อต่างชาติบั่นทอนความน่าเชื่อถือไม่เพียงรัฐบาลโรฮานีเท่านั้น ไปไกลถึงตัวผู้นำจิตวิญญาณ และระบอบการปกครองอิหร่าน
            การบั่นทอนเหล่านี้เป็นอีกเป้าหมายของฝ่ายตรงข้าม และคาดหวังว่าเมื่อเกิดการชุมนุมได้ครั้งหนึ่งจะกระตุ้นให้เกิดครั้งต่อๆ ไปอีก เพราะฝ่ายชุมนุมเรียนรู้ ส่งเสริมค่านิยมชุมนุมต่อต้าน

ประเทศเข้มแข็งจำต้องมีเศรษฐกิจสังคมแข็งแรง :
เมื่อสังคมอยู่ในยุคข้าวยากหมากแพง จำนวนคนมีมากกว่าตำแหน่งงาน หนุ่มสาวหลายคนคิดว่าตนเป็นคนไร้อนาคต ผนวกกับสังคมที่การทุจริตคอร์รัปชันดาษดื่น ผู้เข้าถึงอำนาจกอบโกยประโยชน์อย่างฉ้อฉล ในขณะที่ประชาชนตาดำๆ อดอยากยากไร้ ได้แต่มองบางคนบางกลุ่มเสวยสุข นี่คือสังคมไร้ความเท่าเทียม สังคมแห่งการกดขี่ที่ยังดำเนินอยู่ในยุคนี้
ใครๆ ก็รู้ว่าเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ รัฐบาลรู้อยู่แล้ว แต่ทำไมไม่จัดการให้จริงจังกว่านี้ รัฐบาลล้มเหลวในหน้าที่ใช่ไหม กลายเป็นพลังต่อต้านรัฐบาล หรืออย่างน้อยเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขอย่างเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากไหนก็ตาม

            ถ้ามองจากมุมอิหร่าน เป็นเรื่องน่าเห็นใจที่อิหร่านประสบแรงกดดันอย่างต่อเนื่อง ทำสงครามน้อยใหญ่ ล่าสุดคือมีส่วนในสงครามซีเรียกับอิรัก แม้การรักษาอธิปไตยเป็นเรื่องสำคัญยิ่งยวด (vital interest) ต้องยอมสูญเสียยอมแลกทุกอย่างเพื่อความมั่นคง ในอีกมุมหนึ่งได้สะท้อนให้เห็นผลกระทบอย่างชัดเจน
            ภาพที่กว้างขึ้น ประเทศมั่นคงเข้มแข็งจำต้องมีเศรษฐกิจสังคมแข็งแรงเป็นรากฐาน ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาสภาพเศรษฐกิจถูกบั่นทอนต่อเนื่อง การปรับยุทธศาสตร์สู่การสัมพันธ์รอบทิศของรัฐบาลโรฮานีมาถูกทาง หลายประเทศติดต่อค้าขาย เงินทุนต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ในระยะยาวน่าจะไปได้ดี อย่างไรก็ตามการแก้ไขปัญหาปากท้องเฉพาะหน้ายังต้องให้ความสำคัญ ต้องดูแลผู้ยากไร้อย่างเจาะจง รัฐบาลอิหร่านซึ่งยึดถืออิสลามเป็นหลักบริหารประเทศ กำลังพิสูจน์ตัวเองว่าระบอบปกครองนี้ใช้การได้ดีเพียงใด สามารถแก้ไขปัญหาที่ประชาชนเรียกร้อง รวมทั้งเรื่องทุจริตคอร์รัปชันได้หรือไม่

            เป็นเรื่องแปลกถ้าจะกล่าวหาว่าคนหนุ่มสาวนับพันนับหมื่นผู้ประท้วงรัฐบาลเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยสืบราชการลับต่างชาติ และแม้การชุมนุมจะยุติแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต
อันที่จริงถ้ามองในแง่บวก พวกเขาน่าจะเป็นคนกล้าหาญ กล้าแสดงออก มีความคิด มีพลัง หากแปรเปลี่ยนพลังของคนเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมจะดีเพียงไร เป็นไปได้ไหมที่รัฐจะจัดทำโครงการเพื่อคนเหล่านี้โดยเฉพาะ รับฟังความคิดเห็นของพวกเขา เป็นโอกาสที่รัฐจะสัมพันธ์กับพวกเขา เรียนรู้จักกันและกัน ร่วมกันคิดแก้ไข เกิดการจ้างงานร่วมมือกับรัฐคิดโครงการสร้างสรรค์ เปลี่ยนการต่อต้านให้เป็นลูกจ้างรัฐเพื่อภารกิจบางอย่าง
            ในขณะเดียวกันแทนที่จะประท้วงล้มล้างรัฐบาล โยนความผิดให้กับรัฐ ผู้ชุมนุมน่าจะแปรเปลี่ยนเป็นมุ่งแสวงหาร่วมมือกับรัฐบาล ร่วมมือกับประชาชนอื่นๆ และยอมที่จะเปลี่ยนแปลงพัฒนาตัวเองด้วย
            ถ้ารัฐบาลให้คำมั่นสัญญาต่อประชาชน ประชาชนก็น่าจะให้คำมั่นสัญญาต่อรัฐบาลด้วย
14 มกราคม 2017
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 22 ฉบับที่ 7736 วันอาทิตย์ที่ 14 มกราคม พ.ศ.2561)
------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง 
การคว่ำบาตรจากสหรัฐกับพันธมิตรต่อโครงการนิวเคลียร์อิหร่านพิสูจน์แล้วว่าได้ผล เศรษฐกิจสังคมอิหร่านได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เป็นเหตุให้ประธานาธิบดีโรฮานีชนะการเลือกตั้ง และมาพร้อมกับนโยบายสานสัมพันธ์ที่ดีกับทุกประเทศ เร่งเจรจาแก้ปัญหาการคว่ำบาตร การเจรจาจึงเป็นเรื่องสำคัญ กำหนดอนาคตอิหร่านและภูมิภาคตะวันออกกลาง

บรรณานุกรม :
1. 3,700 people were arrested during Iran protests, lawmaker says. (2018, January 9). CNN. Retrieved from http://edition.cnn.com/2018/01/09/middleeast/iran-protests-3700-arrested-intl/index.html
2. 50 killed says Iran opposition, as mass protests enter ninth day. (2018, January 6). Al Arabiya. Retrieved from http://en.farsnews.com/newstext.aspx?nn=13961015000593
3. Ayatollah Khamenei: Enemies have got united against Iran in recent days. (2018, January 1). Tehran Times. Retrieved from http://www.tehrantimes.com/news/419912/Rouhani-Protests-are-an-opportunity
4. Iran has foiled plot to use protests to overthrow system, leader says. (2018, January 9). Reuters. Retrieved from https://uk.reuters.com/article/uk-iran-protests-khamenei/iran-has-foiled-plot-to-use-protests-to-overthrow-system-leader-says-idUKKBN1EY0YG
5. Iranians Rally for 3rd Consecutive Day to Condemn Rioters, Show Unity. (2018, January 5). FNA. Retrieved from http://en.farsnews.com/newstext.aspx?nn=13961015000593
6. Iran’s complex of crises catches up with the regime. (2018, January 3). Asia Times. Retrieved from http://www.atimes.com/article/irans-complex-crises-catches-regime/
7. Jentleson, Bruce W. (2010). American Foreign Policy: The Dynamics of Choice in the 21st Century, (4th Ed.). N.Y.: W. W. Norton & Company.
8. Naji, Kasra. (2008). Ahmadinejad: The Secret History of Iran's Radical Leader. CA: University of California Press.
9. Rohani says fallacy that casting ballots has no effect is ‘word of Satan’. (2013, June 9). Tehran Times. Retrieved from http://www.tehrantimes.com/politics/108120-rohani-vows-to-bring-moderation-to-the-country-
10. Rohani vows to bring moderation to the country. (2013, May 28). Tehran Times. Retrieved from http://www.tehrantimes.com/politics/108120-rohani-vows-to-bring-moderation-to-the-country-\
-----------------------------