เรื่องอื้อฉาวของพรรคเดโมแครท คณาธิปไตย และข้อเสนอแนะ

ฮิลลารี คลินตันถูกครหาว่าเข้าควบคุมพรรคก่อนได้เป็นตัวแทนพรรค สะท้อนคณาธิปไตยในพรรค แต่เป็นความจริงที่เลี่ยงไม่ได้ สำคัญว่ายึดถืออุดมการณ์หรือไม่
 คลิกที่รูปเพื่อฟังคลิป
1 ปีหลังเลือกตั้งประธานาธิบดี ดอนนา ลีซ บราซิล (Donna Lease Brazile) อดีตประธานคณะกรรมการใหญ่พรรคเดโมแครท (DNC - ช่วงกรกฎาคม 2016-กุมภาพันธ์ 2017) พูดถึงความอื้อฉาวของพรรคเดโมแครทในช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปีก่อน ช่วยให้เข้าใจเหตุการณ์ครั้งนั้นมากขึ้น
            ข้อสรุปคือ ฝ่ายฮิลลารี คลินตันสามารถควบคุมการทำธุรกรรมการเงินของแกนกลางพรรค ใช้ชื่อพรรคเพื่อขอรับบริจาคแล้วเข้ากระเป๋าทีมฮิลลารี แม้ไม่ผิดกฎหมายเพราะได้ทำข้อตกลงกับแกนกลางแล้ว แต่ข้อตกลงนี้เกิดขึ้นตั้งแต่สิงหาคม 2015 ก่อนฮิลลารีเป็นตัวแทนพรรคเกือบ 1 ปีเต็ม เท่ากับว่าเข้าควบคุมพรรคตั้งแต่บัดนั้น เป็นที่มาของคำครหาว่าผู้ใหญ่พรรควางตัวให้ฮิลลารีเป็นตัวแทนพรรคตั้งแต่ต้น
            เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ช่วยฮิลลารีชนะการแข่งขันภายใน ได้เป็นตัวแทนพรรค
            เรื่องราวที่เกิดขึ้นบางคนตีความว่าเป็นเรื่องการแข่งขันภายใน เป็นกลยุทธ์ทางการเมือง ฝ่ายฮิลลารีไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมาย ผู้ใหญ่พรรคถ้าจะสนับสนุนฮิลลารีก็ไม่ผิดอะไร ขณะที่บางคนตีความว่าสะท้อนความไม่ชอบมาพากล พรรคอยู่ใต้การควบคุมของคนกลุ่มหนึ่ง เป็นผู้ชี้นำพรรค เมื่อผนวกกับประชาชนไม่เชื่อมั่นพรรคกับนักการเมือง คนเหล่านี้จึงตีความแง่ลบ ดังที่เบอร์นีย์ แซนเดอร์ส (Bernie Sanders) คู่แข่งฮิลลารีพูดโจมตีว่าพรรคไม่เป็นกลาง ผู้ใหญ่พรรคเข้าข้างฮิลลารีเป็นเหตุให้ตนพ่ายแพ้การแข่งขันภายใน เป็นเรื่องอื้อฉาวของพรรคกับฮิลลารี คลินตันจนบัดนี้


บทเรียน ข้อเสนอเรื่องพรรคการเมือง :
            พรรคการเมืองมักประกาศว่าเป็นพรรคของมหาชน สมาชิกทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของพรรค มีสิทธิ์แสดงความเห็น ช่วยกันนำพรรคไปข้างหน้า เป็นอนาคตของชาติ ในขณะที่บางคนเห็นว่าในพรรคแฝงด้วยความไม่ชอบมาพากล อำนาจตัดสินใจสุดท้ายอยู่ในมือไม่กี่คน           
ความเข้าใจสำคัญคือ การบริหารพรรคเป็นเรื่องหนึ่ง อีกเรื่องคือพรรคทำหน้าที่เพื่อสมาชิกพรรคจริงแท้แค่ไหน เพราะคือส่วนที่ส่งผลโดยตรงต่อชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกและต่อประเทศ
            การแข่งขันภายในเป็นเรื่องปกติ เช่น มีผู้สมัครเกินจำนวนจึงต้องแข่งขันภายในก่อน เพื่อได้ตัวแทนที่เหมาะสม การมีกลุ่มก๊วนทั้งแบบทางการกับไม่เป็นทางการบางครั้งเป็นผลดี เช่น จับกลุ่มเพราะอยู่พื้นที่เดียวกัน เขตเลือกตั้งเดียวกัน ช่วยให้สนิทสนมทำงานสอดประสาน หลักสำคัญคือการแข่งขันภายใน การตั้งกลุ่มก๊วนต้องไม่บั่นทอนพรรค ทุกคนพยายามทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

ประชาธิปไตยจะลงเอยด้วยคณาธิปไตยเสมอ :
ในขณะที่สังคมเรียกร้องประชาธิปไตย นักการเมืองเชิดชูประชาธิปไตย มีงานวิจัยพบว่า การบริหารจัดการภายในพรรคสุดท้ายเป็นระบบคณาธิปไตยเสมอ
Robert Michels (1876-1936) ศึกษาพรรค German Social Democratic Party ที่ในสมัยนั้นขึ้นเชื่อว่าเป็นพรรคที่มีความเป็นประชาธิปไตยสูง ได้ข้อสรุป “กฎเหล็กคณาธิปไตย” (iron law of oligarchy) ชี้ว่าองค์กรขนาดใหญ่ (เช่น พรรคการเมือง ระบบราชการ กลุ่มประชาสังคม) ไม่ว่าจะเริ่มต้นด้วยความเป็นประชาธิปไตยสูงเพียงใดจะมีแนวโน้มเป็นคณาธิปไตย (อำนาจตัดสินสุดท้ายอยู่ในมือไม่กี่คนไม่กี่กลุ่ม)

            ต้นเหตุมาจากระบบราชการและความรู้ทางเทคนิค องค์กรไม่สามารถเคลื่อนด้วยคนกลุ่มใหญ่ ภารกิจประจำวันอยู่ในมือของเจ้าหน้าที่ประจำกับผู้เชี่ยวชาญ การตัดสินใจอยู่ในกลุ่มคนจำนวนหนึ่งเท่านั้น การให้ทุกคนร่วมตัดสินใจเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
            สุดท้ายอำนาจตกแก่คน 3 กลุ่มคือ ผู้นำองค์กร ผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่ประจำ และจำต้องเป็นเช่นนี้เพื่อความคล่องตัวในบริหารจัดการ Michels เห็นว่าคนเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะทำงานหรือใช้ตำแหน่งเพื่อผลประโยชน์ของตน
ผู้นำระดับสูงเข้าถึงทั้งข้อมูล เงินทุน สามารถสั่งการให้องค์กรไปในทิศทางที่ต้องการ ชี้นำให้คนอื่นๆ สนับสนุนการตัดสินใจของตน การแก้ปัญหาที่ซับซ้อน เรื่องที่ต้องอาศัยความรู้ระดับสูงตกอยู่ในมือของผู้เชี่ยวชาญ การตัดสินใจเรื่องประจำวันส่วนใหญ่อยู่ในมือของเจ้าหน้าที่ประจำไม่ถึงมือผู้บริหารระดับสูง จะเห็นว่าอำนาจการตัดสินใจกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนวงในที่คนนอกเข้าไม่ถึง

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการบางคนไม่เห็นด้วย การศึกษาของ Samuel Eldersveld ให้ข้อสรุปว่าอำนาจพรรคกระจายตัวในแต่ละระดับๆ ต่างมีขอบเขตอำนาจ Judith Stephen-Norris กับ Maurice Zeitlin เห็นว่าถ้าภายในองค์กรมีการสื่อสารอย่างสม่ำเสมอระหว่างผู้นำกับสมาชิก จะเกิดการตรวจสอบการใช้อำนาจ คณาธิปไตยจะไม่เกิด
หากเชื่อแนวคิดคณาธิปไตย พัฒนาการของประชาธิปไตยถ้าเริ่มต้นที่ประชาธิปไตยจะไปสู่คณาธิปไตยและทรราชย์หรือเผด็จการในที่สุด จากนั้นอาจเกิดการปฏิวัติ/ปฏิรูปฟื้นฟูประชาธิปไตย เป็นวงจรเช่นนี้ โดยรวมแล้วถ้ามองในเชิงระยะเวลา อำนาจการการตัดสินใจมักอยู่ในคนกลุ่มน้อย

ประชาธิปไตยตัวแทนแปลงคณาธิปไตยเป็นองค์การ :
            ทำนองเดียวกัน อีกแนวทางหนึ่งอธิบายว่า ประชาธิปไตยแบบตัวแทนเป็นการมองข้ามคณาธิปไตยในเชิงรูปแบบการปกครอง แต่มองเป็น “องค์การ” (organization)
ประชาธิปไตยแบบทางอ้อมหรือประชาธิปไตยแบบตัวแทนคือคณาธิปไตย ที่ถูกกำหนดหรือตีตราให้มีความชอบธรรม โดยอ้างเหตุผลความจำเป็นที่ไม่สามารถใช้ประชาธิปไตยทางตรง คณาธิปไตยเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงพบเห็นทั่วไป ทุกองค์กรจะมีสภาพเช่นนี้ เป็นไปตามโครงสร้าง ผู้ตัดสินใจหรือผู้มีอำนาจอยู่บนสุดของโครงสร้าง
            ผู้ที่ยึดถือแนวคิดนี้เห็นว่ายิ่งมีสมาชิกมาก การรอความเห็นจากสมาชิกจะยิ่งล่าช้าไม่ทันการ บ่อยครั้งที่ผู้บริหารพรรคต้องตัดสินใจ สำคัญว่ายึดถือหลักการพรรค นโยบายพรรค และผลประโยชน์สมาชิกหรือไม่

            ระบบการบริหารจัดการเป็นเรื่องหนึ่ง ที่สำคัญกว่าคือความตั้งใจของฝ่ายบริหาร สะท้อนออกมาในรูปผลงานของพรรค สมาชิกกับประชาชนควรยึดถือผลงานมากกว่าการบริการจัดการภายในพรรคซึ่งต้องการประสิทธิภาพ

น้อยคนที่สนใจการเมืองการปกครอง :
นอกจากนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ไม่สนใจการเมืองมากเพียงพอ แม้จะมอบสิทธิ์แก่ประชาชนก็ใช่หาพวกเขาจะใช้สิทธิ์ และจะเป็นข้อเสียด้วยซ้ำถ้ามีหน้าที่แต่ไม่รับผิดชอบ ดังนั้น การปกครองซึ่งเป็นเรื่องสำคัญของบ้านเมืองควรอยู่ในมือของคนที่สนใจเอาใจใส่ คนที่ผ่านการเตรียมพร้อมและมีความรับผิดชอบ
สภาพเช่นนี้เกิดในสังคมทุกภาคส่วนที่ผู้สนใจจริงเป็นคนส่วนน้อย คนที่ให้เวลาเต็มที่กลายเป็นผู้ตัดสินใจ

            แนวคิดคณาธิปไตยที่เอ่ยถึงนี้ไม่มองว่าเป็นเรื่องเลวร้ายเสมอไป สะท้อนความจริงว่าในคนหมู่มาก ยิ่งมากเท่าใด การตัดสินใจขั้นสุดท้ายอยู่ในกลุ่มคนไม่กี่คน สำคัญที่คนเหล่านี้จะทำหน้าที่ด้วยใจเที่ยงธรรมหรือไม่ ยึดถือประโยชน์ส่วนรวมหรือไม่
แนวคิดยึดอุดมการณ์พรรค :
            ระบบประชาธิปไตยอเมริกาต้องการให้ตัวแทนพรรคคือตัวแทนประชาชน มองว่าตัวแทนพรรคจะยึดมั่นผลประโยชน์สมาชิก ระบบอเมริกาและอีกหลายประเทศในปัจจุบันยึดตัวบุคคลเป็นสำคัญ โดยเฉพาะผู้นำฝ่ายบริหารเมื่อชนะเลือกตั้งจะบริหารประเทศตามที่หาเสียงไว้ ซึ่งอาจจะใกล้เคียงหรือแตกต่างจากนโยบายในอดีตมาก อุดมการณ์คือเพื่อประชาชน
            อีกแนวคิดหนึ่งคือ ยึดอุดมการณ์พรรคเป็นแกนสำคัญ ตัวอุดมการณ์มีรายละเอียดมากพอ สามารถตีความใช้ในบริบทต่างๆ ไม่ใช่แค่คำขวัญ (ไม่ใช่แค่วลียึดมั่นประชาธิปไตย การค้าเสรี ประเทศมั่นคงมั่งคั่ง)
พรรคกรีน (Green party) เป็นตัวอย่างพรรคการเมืองสมัยใหม่ที่ยึดอุดมการณ์มากกว่าตัวบุคคล ยึดหลักเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ความเป็นธรรมทางสังคม (social justice) ประชาธิปไตยรากหญ้า แก้ปัญหาด้วยสันติวิธี ฯลฯ พรรคกรีนมีอยู่ในหลายประเทศ เช่น ในสหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมันและอีกหลายประเทศ

ผู้สมัครเป็น “ตัวแทน” พรรคและตัวแทนอุดมการณ์ นักการเมือง ผู้ถืออำนาจไม่ว่าตำแหน่งใหญ่เล็กทำหน้าที่เป็น “ตัวแทน” เท่านั้น อุดมการณ์พรรคเป็นสิ่งคงทน สำคัญกว่าตัวแทนที่ปรับเปลี่ยนไปมาตามรอบบริหาร หรือนโยบายปลีกย่อยที่แปรเปลี่ยนตามบริบท
ผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญของพรรค ผู้สมัครในนามพรรค จะต้องมีคุณสมบัติผ่านการรับรองแล้วว่าเป็นผู้เข้าใจอุดมการณ์ ยึดอุดมการณ์ ปฏิบัติตามจนเกิดผลเหนือกว่าสมาชิกทั่วไป เช่น เป็นสุจริตชน ซื่อสัตย์ไม่คดโกง เสียสละตัวเองเพื่อส่วนรวม มีความรู้ความสามารถ บริการคนบริหารงาน เป็นผู้พัฒนาตนให้ก้าวหน้าอย่างไม่สิ้นสุด
ผู้ใดที่ละเลย ละทิ้งอุดมการณ์จะถูกพรรคปรับโทษ

การยึดถืออุดมการณ์ในทุกระดับชั้น ตั้งแต่ผู้นำสูงสุดจนถึงสมาชิกสุดท้าย เป็นเครื่องประกันว่าทุกคนจะมุ่งรักษาอุดมการณ์ที่ยึดถือ ไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจหรือการกระทำของระดับใดจะตั้งอยู่บนอุดมการณ์นั้น

            พรรคการเมืองที่แตกต่างในบางบริบทอาจไม่เป็นที่ยอมรับ เป็นพรรคเล็กที่ไม่มีใครสนใจ แต่หากอยู่ในบริบทที่เหมาะสม สังคมกำลังเรียกร้อง พรรคที่เริ่มต้นบนฐานคิดที่แตกต่าง อาจกลายเป็นพรรคที่ประชาชนร่วมใจเทคะแนนให้
12 พฤศจิกายน 2017
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 22 ฉบับที่ 7674 วันอาทิตย์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ.2560)
---------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง : 

ข้อมูลจากสุดชี้ว่าแกนกลางพรรคช่วยฮิลลารีให้เป็นตัวแทนพรรคเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ที่ร้ายแรงคือเป็นอีกครั้งที่ทำให้ชาวอเมริกันไม่เชื่อถือพรรค เห็นว่าเป็นพรรคของพวกชนชั้นปกครองกับนายทุน
  
บรรณานุกรม:
1. Bird, Colin. (2006). An Introduction to Political Philosophy. UK: Cambridge University Press.
2. Brazile: I found no evidence Democratic primary was rigged. (2017, November 6). CNN. Retrieved from https://www.theatlantic.com/politics/archive/2017/11/donna-braziles-curious-account-of-the-2016-election/544778
3. Breiner, Peter. (2006). Oligarchy. In Governments Of The World: A Global Guide to Citizens’ Rights and Responsibilities (Vol. 3, pp.219-222). USA: Thomson Gale.
4. Cebi, Sezgin S. (2011). Oligarchy, Iron Law of. In The Encyclopedia of Political Science. (pp.1142-1143). DC: CQ Press.
5. Diamond, Larry., Gunther, Richard (Eds.). (2001). Political Parties and Democracy. Maryland: The Johns Hopkins University Press.
6. Inside Hillary Clinton’s Secret Takeover of the DNC. (2017, November 2). Politico. Retrieved from https://www.politico.com/magazine/story/2017/11/02/clinton-brazile-hacks-2016-215774
7. Katz, Richard S., Crotty, William J. (2006). Handbook of Party Politics. London :
SAGE Publications.
8. The Green Party of the United States. (2017). Retrieved from http://www.gp.org/
-----------------------------