อาเซียนแทรกแซงเมียนมา หรือเมียนมาแทรกแซงอาเซียน

นับแต่ก่อตั้งอาเซียนเมื่อ 50 ปีก่อน หลักไม่แทรกแซงกิจการภายในเป็นเสาหลักของกลุ่ม ประเด็นโรฮีนจาเป็นกรณีพิเศษที่อาเซียนละเมิดหลักการ แต่เพราะเมียนมาเป็นฝ่ายเริ่มก่อน

            เหตุโรฮีนจาขณะนี้ ประชาคมอาเซียนและสมาชิกหลายประเทศวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเมียนมาอย่างเปิดเผย แทรกแซงกิจการภายในเมียนมา ละเมิดหลักไม่แทรกแซงกิจการภายในที่ยึดถือมาตลอด ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นบ่อย บทความนี้นำเสนอว่าแท้จริงแล้ว ถ้ายึดหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน (Principle of Non-interference) อาเซียนแทรกแซงเพราะเมียนมาเป็นฝ่ายแทรกแซงก่อน

ความสำคัญของหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน :
อาเซียนก่อตั้งด้วยเหตุผลต้านภัยสมัยสงครามเย็น ในขณะนั้นสมาชิกอาเซียน 5 ประเทศ (ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์) เจอทั้งศึกในศึกนอก คอมมิวนิสต์ยังคงเติบใหญ่ เคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง มาเลเซียมีปัญหากับอินโดนีเซีย ชาติสมาชิกหวาดระแวงต่อกัน ทั้ง 5 ประเทศจึงตกลงที่จะระงับความขัดแย้งระหว่างกันก่อน ร่วมกันต่อต้านคอมมิวนิสต์ที่เห็นพ้องว่าเป็นภัยร้ายแรงที่สุด
เป็นที่มาของสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia: TAC) ทั้ง 5 ประเทศจะอยู่ร่วมกันโดยสันติ แก่นสารของ TAC จึงพูดถึงการเคารพความเป็นอิสระ อธิปไตย ความเท่าเทียม บูรณภาพแห่งดินแดน อัตลักษณ์ของทุกชาติ สิทธิที่จะปลอดจากการแทรกแซงจากภายนอก การบ่อนทำลาย ไม่แทรกแซงกิจการของกันและกัน
            เป็นอีกครั้งที่ย้ำหลักไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน และปฏิบัติเรื่อยมา ชาติสมาชิกจะนำประเด็นขัดแย้งหารือในการประชุมลับ แก้ไขโดยสันติวิธี นับเป็นความสำเร็จของอาเซียนที่ตลอด 50 ปีไม่มีเหตุขัดแย้งรุนแรงจนถึงทำสงคราม ส่งเสริมบรรยากาศการค้าการลงทุน มุ่งพัฒนาชาติให้ทันสมัยดังที่เป็นอยู่

            ตลอด 50 ปีมีหลายเหตุรุนแรงแต่อาเซียนยึดหลักไม่แทรกแซง เช่น การบริหารรัฐบาลของประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส (Ferdinand Marcos) อาเซียนแสดงท่าทีสนับสนุนรัฐบาลมาร์กอส แม้ถูกวิพากษ์ว่าเป็นเผด็จการ ปราบปรามเข่นฆ่าประชาชน อาเซียนเริ่มขยับท่าทีถอยห่างเมื่อรัฐบาลมาร์กอสใกล้ถึงอวสาน ทำนองเดียวกับกรณีพฤษภาทมิฬของไทยเมื่อปี 1992
            เหตุการณ์เหล่านี้ละเมิดสิทธิมนุษยชนรุนแรง แต่อาเซียนเลือกที่จะไม่แสดงท่าทีใดๆ หรือไม่ต่อต้านรุนแรง

อาเซียนแทรกแซงเมียนมา :
            ปี 2014 คุณ Ko Kyaw ตัวแทนรัฐบาลเมียนมายืนยันว่าประเด็นโรฮีนจาเป็นเรื่องภายในประเทศ “หลายปีที่ผ่านมา เมียนมามีประเด็นเรื่องประชาชนนับถือศาสนาแตกต่างกัน รัฐบาลกับประชาชนเมียนมาได้แก้ปัญหาเหล่านี้ เนื่องจากเป็นประเด็นภายในประเทศเมียนมา”
            ก่อนหน้านั้นเมื่อตุลาคม 2012 ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน (ในขณะนั้น) กล่าวว่าอยากจะจัดให้มีการพูดคุยระหว่างอาเซียน สหประชาชาติและรัฐบาลเมียนมาเพื่อป้องกันความรุนแรงที่อาจกระทบภูมิภาค แต่ทางการเมียนมาปฏิเสธ ดร.สุรินทร์กล่าวว่า “เมียนมาเชื่อว่าเรื่องนี้เป็นกิจการภายในประเทศ แต่เรื่องภายในประเทศของคุณอาจกลายเป็นเรื่องของเราในวันข้างหน้าถ้าคุณไม่ระวัง”

            ทุกวันนี้เห็นชัดแล้วว่าประเด็นโรฮีนจาเป็นกรณีพิเศษ ทั้งประชาคมอาเซียนกับชาติสมาชิกไม่ยึดหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน ต่างแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลเมียนมา
ยกตัวอย่าง ธันวาคม 2016 นาจิบ ราซัค (Najib Razak) นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ประณามเหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (genocide) ต่อโรฮีนจาในเมียนมาอีกครั้ง ทั้งยังเรียกร้องให้ชาติสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ร่วมประณามและกดดัน
Retno Marsudi รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซียกล่าวต่อ พลเอก U Min Aung Hlaing ผู้บัญชาการทหารบกเมียนมา ขอให้ทางการเมียนมาเร่งคลายความตึงเครียดในยะไข่ “หยุดการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบที่กำลังเกิดขึ้นในรัฐยะไข่ ปกป้องประชาชนทุกกลุ่ม รวมทั้งพวกมุสลิม”

เรื่องที่ควรเข้าใจคือ การไม่แทรกแซงที่อาเซียนใช้ไม่ได้ไม่ถึงไม่แทรกแซงทุกกรณี เป้าหมายของการไม่แทรกแซงคือเพื่อความมั่นคงของอีกฝ่าย ที่ต่างก็ยึดถือร่วมกัน
            หากการแทรกแซงได้รับการร้องขอจากอีกฝ่ายย่อมทำได้ เช่น การปราบปรามคอมมิวนิสต์ทางภาคใต้ของไทยในสมัยสงครามเย็น รัฐบาลไทยยินยอมให้กองทัพมาเลเซียเข้าแทรกแซง ถึงกับยอมให้ทหารมาเลย์ข้ามมาในฝั่งไทยเป็นครั้งเป็นคราว
            จึงไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าชาติสมาชิกจะแทรกแซงกิจการภายในของอีกประเทศ ทั้งนี้จะต้องอยู่ในขอบเขตที่ยอมรับได้ บางประเทศอาจบั่นทอนอีกประเทศ แต่ทั้งหมดอยู่ในกรอบ
            สิ่งที่อาเซียนระมัดระวังคือ การผลักให้สมาชิกอีกประเทศจนตรอก เพราะในที่สุดประเทศนั้นอาจต้องอิงมหาอำนาจฝ่ายหนึ่งเพื่อความอยู่รอด ทำให้อาเซียนแตกแยก กระทบความมั่นคงทั้งภูมิภาค การจะแทรกแซงมากน้อยอย่างไร จึงอยู่ภายใต้กระบวนคิดไตร่ตรองอย่างรอบคอบ
            ปัจจัยสำคัญอีกประการคือ ความมั่นคงภายในของแต่ละประเทศคือความมั่นคงของอาเซียน จึงสนับสนุนความมั่นคงของอีกฝ่าย ให้เศรษฐกิจแต่ละประเทศเติบโต ประชาชนอยู่ดีกินดี (ตามอัตภาพ) เป็นเครื่องประกันการอยู่รอดของระบอบ และสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศสู่ความทันสมัย การค้าเสรี โลกาภิวัตน์

เมียนมากำลัง “แทรกแซง” ชาติสมาชิกเพื่อนบ้าน :
การแก้ปัญหาของรัฐบาลเมียนมาทำให้โรฮีนจาหลายแสนคนอพยพลี้ภัยออกจากประเทศ ไม่นับพวกที่เสียชีวิต ส่วนหนึ่งเดินทางสู่ตะวันตกกับทางใต้ เข้าประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย การปฏิบัติต่อผู้อพยพลี้ภัยเหล่านี้เป็นที่จับตาขององค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ หลายต่อหลายครั้งที่องค์กรเหล่านี้โจมตีเพื่อนบ้านเมียนมาว่าไม่ได้ปฏิบัติต่อผู้อพยพโรฮีนจาอย่างเหมาะสม กลายเป็นว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเมียนมาเป็นเหตุให้เพื่อนบ้านอาเซียนถูกกล่าวโทษด้วย
และหากอนาคตโรฮีนจากลายเป็นแหล่งซ่องสุมผู้ก่อการร้าย แหล่งปฏิบัติการของผู้ก่อการร้ายอย่างอัลกออิดะห์ IS/ISIL/ISIS หรือเป็นศูนย์รวมของกองกำลังมุสลิมต่างชาติกว่าร้อยประเทศดังที่เกิดกับซีเรีย จะกลายเรื่องใหญ่ กระทบต่อภูมิภาคอย่างรุนแรง

ดูเผินๆ อาจเห็นว่าโรฮีนจาเป็นเรื่องภายในของเมียนมา แต่ผลจากนโยบายของรัฐบาลเมียนมากระทบเพื่อนบ้านอาเซียนอย่างชัดเจน เป็นข้อสรุปว่าเมียนมาแทรกแซงกิจการภายในของอาเซียน
ดังนั้น ภายใต้หลักไม่แทรกแซงกิจการภายใน พฤติกรรมหรือแนวทางของรัฐบาลเมียนมาสร้างปัญหาต่ออาเซียนเรื่องสิทธิมนุษยชน ความมั่นคงของรัฐ ถือได้ว่าเมียนมากำลัง “แทรกแซงกิจการภายใน” ของชาติสมาชิกเพื่อนบ้าน

การออกมาประณามของชาติสมาชิกหลายประเทศ การนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาต่างๆ แม้เป็นการแทรกแซงเมียนมา แต่เพราะเมียนมาเป็นต้นเหตุ ชาติสมาชิกอาเซียนไม่ต้องการแทรกแซงเมียนมา เพียงเพื่อต้องการให้ประเด็นโรฮีนจาไม่เป็นเหตุกระทบชาติสมาชิกอื่นๆ

ความมั่นคงของสมาชิกคือความมั่นคงของอาเซียน :
            ความมั่นคงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เป็นประเด็นที่รัฐบาล หน่วยงานความมั่นคงให้ความสำคัญมากที่สุด ในกรอบอาเซียนความมั่นคงของชาติสมาชิกคือความมั่นคงของอาเซียน
            หากรัฐสมาชิกมีปัญหาภายใน การเมืองไร้เสถียรภาพ อำนาจหลักไม่สามารถกำราบอำนาจอื่น ชนกลุ่มน้อยที่สร้างปัญหา ภัยก่อการร้าย สภาวะเช่นนี้อาเซียนพลอยไม่มั่นคงด้วย
            ด้วยเหตุนี้ เพื่อความมั่นคงของตัวเอง สมาชิกอื่นๆ จึงดำเนินนโยบายส่งเสริมให้ชาติสมาชิกอื่นๆ มีความมั่นคง (อย่างน้อยในระดับที่ไม่เป็นอันตราย)ฃ

ในกรณีเมียนมา โรฮีนจาส่งผลต่อความมั่นคงของรัฐบาลกลาง (บางคนอาจพูดถึงเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจ การพัฒนารัฐยะไข่ในอนาคต) ดังนั้น ชาติสมาชิกอื่นๆ จึงหวังไม่ให้โรฮีนจาเป็นเหตุทำลายรัฐบาลเมียนมา และไม่เป็นเหตุบั่นทอนเพื่อนบ้านอาเซียนด้วย
ในสายตาของอาเซียนความมั่นคงของรัฐบาลเมียนมาสำคัญที่สุด และเป็นการปฏิบัติตามกฎบัตรอาเซียน หลักการอาเซียนทั้งปวง

ในอีกด้านหนึ่ง ปฏิเสธไม่ได้ว่าโรฮีนจาไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เกี่ยวพันกับชีวิตกว่าล้านคน มีแรงดึงดูดให้องค์กรสิทธิมนุษยชนสำคัญๆ ให้ความสนใจและแสดงบทบาท เช่นเดียวกับรัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกออกโรงประณามรัฐบาลเมียนมาดังที่เห็นอยู่
อาเซียนหรือประชาคมอาเซียนมีจุดยืนเรื่องสิทธิมนุษยชนและพัฒนาก้าวหน้าใกล้เคียงระดับสากลมากขึ้น ประเด็นโรฮีนจาจึงท้าทายการยึดถือหลักสิทธิมนุษยชนของอาเซียนในขณะนี้
สิ่งที่อาเซียนจะทำคือต้องระวังไม่เป็นเหตุให้ถูกนานาชาติประณาม ไม่ปล่อยให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนของเมียนมากลายเป็นการละเมิดโดยประชาคมอาเซียนทั้งมวล
จึงไม่แปลกใจหากสมาชิกกับประชาคมอาเซียนจะแสดงท่าทีสนับสนุนการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน อย่างน้อยก็ต้องประณามรัฐบาลเมียนมา แสดงท่าทีแตกต่างจากเมียนมา

หลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในเป็นเสาหลักของการอยู่ร่วมกันเป็นอาเซียน เพื่อความมั่นคงของสมาชิกแต่ละประเทศ หลักการนี้ถูกนำมาใช้อยู่เสมอและใช้เรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ ความเป็นไปของโรฮีนจาในเมียนมาเป็นอีกหลักฐานหนึ่งของยึดถือหลักการดังกล่าว
ไม่ว่าอาเซียนแทรกแซงเมียนมา หรือเมียนมาแทรกแซงอาเซียน ก็เพื่อความมั่นคงของสมาชิกทุกประเทศ ไม่มากหรือน้อยไปกว่านี้ บรรลุเป้าหมายของหลักการไม่แทรกแซงอีกครั้ง
15 ตุลาคม 2017
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 21 ฉบับที่ 7646 วันอาทิตย์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2560)
----------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
เนื่องจากไม่อาจมองว่าผู้อพยพโรฮีนจาเป็นปัญหาของเมียนมาเท่านั้น ถ้าพูดให้ครอบคลุมกว่านี้ ในโลกนี้มีอีกนับร้อยล้านคนที่รอความช่วยเหลือ จึงต้องเริ่มต้นด้วยการตอบว่าเป็นปัญหาของใคร
ชาติสมาชิกอาเซียนออกประณามรัฐบาลเมียนมาต่อกรณีโรฮีนจาอย่างเปิดเผย เหตุผลลึกที่สุดคือ ความมั่นคงของเมียนมาคือความมั่นคงของอาเซียน ส่วนเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเหตุผลรอง... 

บรรณานุกรม:
1. Acharya, Amitav. (2009). Constructing a Security Community in Southeast Asia: ASEAN and the Problem of Regional Order (2nd Ed.). Oxon: Routledge.
2. Deputy Foreign Minister Dismayed Over Malaysian PM’s Remarks. (2016, December 7). The Irrawaddy. Retrieved from http://www.irrawaddy.com/news/deputy-foreign-minister-dismayed-over-malaysian-pms-remarks.html
3. Key ASEAN strategy announcement expected in Nay Pyi Taw. (2014, May 9). The Myanmar Times. Retrieved from http://www.mmtimes.com/index.php/national-news/10279-key-asean-strategy-announcement-expected-in-nay-pyi-taw.html
4. Myanmar Expresses Commitment to Address Worsening Humanitarian Crisis in Rakhine State: FM Retno. (2017, September  6). The Jakarta Globe. Retrieved from http://jakartaglobe.id/news/myanmar-expresses-commitment-address-worsening-humanitarian-crisis-rakhine-state-fm-retno/
5. Myanmar 'rejects talks' on ethnic violence. (2012, October 31). Al Jazeera. Retrieved from http://www.aljazeera.com/news/asia-pacific/2012/10/2012103161130375846.html
6. Ritzer, George. (2010). Globalization: A Basic. UK: John Wiley & Sons Ltd.
-----------------------------