ไข้หวัดใหญ่ฮ่องกงป้องกันได้ด้วยวัคซีน

สถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ระบาดในฮ่องกงเสียชีวิตกว่า 200 รายแล้ว (26 ก.ค.) ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัย สถานพยาบาลในฮ่องกงรับมือเต็มที่ โรงพยาบาลบางแห่งรับผู้ป่วยมากจนเต็มจำนวนเตียงผู้ป่วยทั้งหมด ผู้ป่วยบางรายต้องรอหลายชั่วโมงกว่าจะได้เตียงนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล รายที่อาการไม่หนักจะต้องรอหลายชั่วโมงกว่าจะมีแพทย์มาตรวจ ขณะนี้รัฐบาลกำลังหารือกับโรงพยาบาลเอกชนเพื่อช่วยรับผู้ป่วยโดยรัฐจะออกค่าใช้จ่ายบางส่วนเพื่อช่วยแบกรับค่ารักษาของผู้ป่วย สมาคมแพทย์ร้องขอให้แพทย์โรงพยาบาลเอกชนกับแพทย์ที่เกษียณแล้วสละเวลาบางส่วนมาช่วยดูแล
            โดยปกติการระบาดไม่ใช่เรื่องร้ายแรงหากระบาดไม่มาก ปีนี้พิเศษกว่าปกติเพราะการระบาดมาเร็วและแรง ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในช่วงกลางพฤษภาคมพบติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ร้อยละ 13.5 และเพิ่มเป็น 40.6 ในสัปดาห์ที่ 2 ของกรกฎาคม ชี้ให้เห็นการระบาดเพิ่มขึ้นมาก
เฉพาะผู้ป่วยหนักนับจากพฤษภาคมมีกว่า 300 รายแล้ว เสียชีวิตกว่า 200 คน เป็นตัวเลขที่สูงกว่าปีก่อนอย่างชัดเจน
เชื้อที่พบในปีนี้ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 35) เป็นสายพันธุ์ A(H3N2) เป็นสายพันธุ์เก่าที่มีวัคซีนป้องกัน อีกทั้งหลายคนมีภูมิต้านทานไวรัสสายพันธุ์นี้อยู่แล้ว
ชื่อเต็มของสายพันธุ์นี้คือ A/Hong Kong/1/68(H3N2)

มีข้อมูลว่าที่ฮ่องกงเชื้อได้กลายพันธุ์เล็กน้อย แต่วัคซีนยังคงใช้ได้ผล
            ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นหลากหลาย บางคนเห็นว่าที่ระบาดหนักเพราะคุณภาพวัคซีนที่ให้เมื่อพฤศจิกายนไม่เต็มร้อย บางคนเห็นว่าปีที่แล้วไม่มีปัญหาไข้หวัดใหญ่ ภูมิคุ้มกันในหลายคนจึงต่ำ เป็นต้นเหตุติดเชื้อแล้วมีอาการหนักในปีนี้ บางคนเห็นว่าเหตุเพราะเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A(H3N2) กลายพันธุ์ทำให้วัคซีนที่ผลิตเมื่อ 2 ปีก่อนไม่ค่อยได้ผล

            เชื้อไข้หวัดใหญ่มี 3 สายพันธุ์หลัก (type) สายพันธุ์หลักที่สร้างปัญหาเรื่องการระบาดคือ A กับ B แต่ละสายพันธุ์หลักจะมีสายพันธุ์ย่อย (subtype) ได้อีก
            วัคซีนไข้หวัดใหญ่ (Influenza vaccine) ที่มีประสิทธิภาพจะต้องมีลักษณะพันธุกรรมตรงกับที่เชื้อที่กำลังระบาด ปัจจุบันองค์การอนามัยโลก (WHO) จะกำหนดว่าวัคซีนควรจะครอบคลุมเชื้อสายพันธุ์ใด ที่ผ่านมาจะเป็นสายพันธุ์ A 2 ชนิดกับสายพันธุ์ B 1 ชนิด หรือเป็นสายพันธุ์ A กับ B อย่างละ 2 ชนิด และจะอัพเดทข้อมูลสายพันธุ์ทุก 2 ปี

ภัยคุกคามรูปแบบใหม่ :
            คนฮ่องกงอ่อนไหวเป็นพิเศษกับข่าวไข้หวัดใหญ่ระบาด เพราะมักระบาดอยู่เสมอและเคยมีประสบการณ์สูญเสียครั้งใหญ่ เช่น เมื่อ 1968 (Hong Kong flu of 1968/Hong Kong flu pandemic of 1968) การระบาดเริ่มจากจีนมาฮ่องกงแล้วแพร่กระจายทั่วโลก ระบาดนาน 2-3 ปี เป็นการระบาดใหญ่ครั้งที่ 3 ของศตวรรษที่ 20 ผู้เสียชีวิตทั้งโลกราว 1-4 ล้านคน
            การระบาดเมื่อ 1968 เริ่มจากสายพันธุ์ A(H3N2) (สายพันธุ์ที่กำลังเป็นข่าวในขณะนี้) ในสมัยนั้นถือเป็นสายพันธุ์ที่พบใหม่ เชื้อไข้หวัดใหญ่ระบาดอย่างรวดเร็ว ในเวลา 2 สัปดาห์มีผู้ติดเชื้อถึง 500,000 ราย

            หลายคนมองโรคระบาดว่าเป็นเรื่องของสาธารณสุขล้วนๆ แม้กระทั่งรัฐบาลหลายประเทศก็คิดเช่นนั้น จึงจัดการปัญหาในกรอบสาธารณสุข ยิ่งมีองค์การอนามัยโลกคอยบริการจัดการ การจัดการโรคระบาดจึงมักอยู่ในกรอบนี้
            แต่บริบทโลกเปลี่ยนแปลง มีการคิดค้นอาวุธเชื้อโรค สารพิษต่างๆ เพื่อมุ่งเล่นงานพลเรือนหรือแบบไม่เลือกหน้า ฝ่ายความมั่นคงจึงเข้ามาเกี่ยวข้องทันที ทุกวันนี้ยังมีบางประเทศที่มีเทคโนโลยีและเก็บเชื้อโรคเพื่อใช้เป็นอาวุธ (biological weapons) มีการศึกษาเพื่อพัฒนาเชื้อโรคให้มีฤทธิ์ร้ายแรงกว่าเดิม ติดต่อแพร่กระจายง่าย ยุคปัจจุบันที่ก่อการร้ายเป็นประเด็นร้ายแรง หน่วยงานความมั่นคงกังวลว่าผู้ก่อการร้ายอาจใช้เชื้อโรคเป็นอาวุธ หรือที่เรียกว่า Bioterrorism

            ถ้าใช้มุมมองแบบรัฐศาสตร์ ฝ่ายความมั่นคงจะมองว่าโรคระบาดหากระบาดหนักจะเป็น “ภัยคุกคามรูปแบบใหม่” (non traditional security หรือ NTS) เป็นเรื่องร้ายแรงกระทบความมั่นคงของรัฐ
ในอดีตเราอาจคุ้นกับภัยคุกคามความมั่นคงจากคอมมิวนิสต์ สงครามรบพุ่งกัน ปัจจุบันบริบทโลกเปลี่ยนเกิดภัยคุกคามชนิดใหม่ เรียกรวมๆ ว่า “ภัยคุกคามรูปแบบใหม่” ยกตัวอย่างเช่น การก่อการร้าย ภาวะโลกร้อน การขาดแคลนน้ำ การลักลอบค้ายาเสพติด การอพยพย้ายถิ่นของคนจำนวนมาก รวมถึงโรคระบาดร้ายแรงอย่างไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก ฯลฯ

โลกเคยรณรงค์ต้านเอดส์ เชื้อ HIV เคยสร้างความตื่นตระหนกแก่โลกมาแล้ว บั่นทอนหลายประเทศในแอฟริกาอย่างรุนแรง ซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจสังคมที่อ่อนแออยู่แล้วให้อ่อนแอกว่าเดิมอีก เชื้อโรคเพียงชนิดเดียวสามารถสร้างหายนะแก่ประเทศ

ภัยคุกคามรูปแบบใหม่มีลักษณะสำคัญคือ เริ่มต้นจากประเทศหนึ่งแล้วส่งผลกระทบต่อประเทศอื่น (ไม่รู้จะห้ามนกบินข้ามพรมแดนได้อย่างไร) ลำพังประเทศเดียวไม่อาจต่อต้านป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพ จำต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ เป็นความรับผิดชอบของนานาชาติ ไม่ใช่เรื่องของประชาชนจำนวนหนึ่งที่ล้มป่วยหรือเกิดเหตุร้ายในประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น

หันกลับมาพิจารณาในกรอบรัฐ โรคระบาดประเภทนี้ลำพังประชาชนไม่อาจแก้ไขจัดการได้ทั้งหมด บทบาทภาครัฐจึงสำคัญยิ่ง ตั้งแต่เริ่มเฝ้าระวัง เตรียมพร้อมรับมือ ป้องกันไม่เชื้อโรคระบาดเข้าประเทศ ร่วมมือกับนานาชาติ องค์กรระหว่างประเทศ จนถึงให้ความรู้ประชาชน ดูแลรักษาผู้ติดเชื้อ
คำถามสำคัญยิ่งคือ รัฐให้ความสำคัญกับอะไรมากกว่ากัน คุณภาพชีวิตของประชาชนคือเรื่องสำคัญที่สุดหรือไม่ อะไรเรียกว่าความมั่นคงของมนุษย์ อย่างไรเรียกว่าประชาชนมีคุณภาพชีวิตมากกว่ากัน สิทธิของปัจเจกสำคัญหรือส่วนรวมสำคัญกว่า จุดสมดุลอยู่ที่ใด
เป็นคำถามที่ท้าทายของผู้บริหารประเทศ

ตื่นตัวแต่ไม่ตื่นตระหนัก :
            ในยุคปัจจุบัน น้อยคนจะตายด้วยสงคราม (อาวุธสงคราม) มนุษย์นับล้านแต่ละปีพ่ายแพ้ต่อสงครามเชื้อโรค (การรักษาโรคติดเชื้อ) ในแง่ความมั่นคงของมนุษย์ (Human security) สงครามเชื้อโรคจึงเป็นเรื่องใกล้ตัว เป็นภัยร้ายแรงยิ่งกว่าสงครามด้วยอาวุธ และกำลังคุกคามรุนแรงยิ่งขึ้น เชื้อดื้อยา (antibiotic resistant bacteria) กำลังเป็นปัญหาระดับโลก

            มีโรคติดเชื้ออีกหลายอย่างที่คร่าชีวิตผู้คนมากกว่าไข้หวัดใหญ่ องค์การอนามัยโลกรายงานว่าปี 2015 โรคเอดส์คร่าชีวิตมนุษย์ 1.1 ล้านคน ก่อนหน้านี้บางปีคร่าชีวิต 3-4ล้านคน ในขณะที่ผู้ป่วยเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่จะตกปีละ 250,000-500,000 คน
แต่ปัญหาของไข้หวัดใหญ่มีมากกว่าคนป่วย คนตาย เพราะส่งผลต่อจิตวิทยาสังคม เนื่องจากติดต่อง่าย บางสายพันธุ์สามารถแพร่เชื้อจากสัตว์ปีกสู่คน เช่น H7N9 กับ H5N1 หรือที่นิยมเรียกว่าไข้หวัดนก (Avian flu) ในช่วงที่ระบาดคนไทยกลัวจนไม่กล้ากินไก่ ถ้าจะกินเนื้อไก่หรือไข่ต้องปรุงสุกเท่านั้น มีช่วงเวลาที่หลายคนแห่กันไปซื้อเจลฆ่าเชื้อโรค ซื้อผ้าปิดจมูก (หน้ากากอนามัย)
ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องเสียชีวิตได้ง่าย ผู้ป่วยไม่กี่คนอาจเป็นข่าวร้ายที่โหมกระพือ ทำให้สังคมตื่นตระหนก ไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติ โดยเฉพาะประเทศที่ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

            ตลอดประวัติศาสตร์โลกเผชิญปัญหาโรคระบาดเรื่อยมา แต่ที่สุดแล้วทุกอย่างผ่านไป สถานการณ์กลับคืนสู่ปกติ นอกจากนี้ เมื่อเอ่ยถึงโรคระบาดต้องเข้าใจว่าการระบาดแต่ละครั้งมีความรุนแรงมากน้อยต่างกัน และมักเกิดขึ้นได้อยู่เสมอ ไข้หวัดใหญ่ฮ่องกงปีนี้ระบาดหนักกว่าปีที่ผ่านมา แต่ยังควบคุมได้
            ทางการรายงานว่าการไปฮ่องกงในขณะนี้ยังปลอดภัย ถ้าจะกล่าวให้ถูกต้องกว่าคือควรระวังคนฮ่องกงที่เดินทางออกนอกประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทยที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว คนต่างชาติเดินทางเข้าออกจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม ระบบการเฝ้าระวังสาธารณสุขเรียนรู้มากขึ้น ปรับปรุงดีขึ้น เช่นเดียวกับครั้งนี้ที่ทางการฮ่องกงเตรียมรับมือทันที
            การป้องกันไว้ก่อน การรับมือแต่เนิ่นๆ คือแนวทางที่ดีที่สุด

            นอกจากนี้ไข้หวัดใหญ่ฮ่องกงสายพันธุ์ที่ระบาดหนักในขณะนี้สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน ผู้สูงวัย เด็กเล็ก หญิงมีครรภ์ ผู้ติดเชื้อ HIV/AIDS ผู้ป่วยหอบหืด เป็นโรคหัวใจหรือปอดเรื้อรัง และผู้สุ่มเสี่ยงติดเชื้อ ควรพิจารณารับการฉีดวัคซีนเป็นพิเศษ
            องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าการฉีดวัคซีนคือวิธีการป้องกันที่ดีที่สุด
30 กรกฎาคม 2017
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 21 ฉบับที่ 7569 วันอาทิตย์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ.2560)
------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง : 
การแพร่ระบาดของไข้หวัดนก H7N9 เป็นมากกว่าเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ระบาด แต่เป็นหนึ่งในภัยคุกคามรูปแบบใหม่ที่จะอยู่กับมนุษย์ไปอีกนาน จำต้องเข้าใจเพื่อรับมืออย่างถูกต้อง
บรรณานุกรม:
1. Hong Kong struggles with long, deadly flu outbreak. (2017, July 26). Straits Times. Retrieved from http://www.straitstimes.com/asia/east-asia/hong-kong-struggles-with-long-deadly-flu-outbreak
2. How worried should you be about Hong Kong’s unusual flu outbreak? (2017, July 25). South China Morning Post. Retrieved from http://www.scmp.com/news/hong-kong/health-environment/article/2103878/how-worried-should-you-be-about-hong-kongs-unusual
3. Maras, Marie Helen. (2015). Transnational Security. USA: CRC Press.
4. Rogers, Kara. (n.a). Hong Kong flu of 1968. Encyclopædia Britannica. Retrieved from https://www.britannica.com/event/Hong-Kong-flu-of-1968
5. WHO. (2016, November). Influenza (Seasonal): Fact sheet. Retrieved from http://www.who.int/mediacentre/factsheets/fs211/en/
6. WHO. (2017). Number of deaths due to HIV/AIDS. Retrieved from http://www.who.int/gho/hiv/epidemic_status/deaths_text/en/
7. Williams, Paul D. (Ed.). (2008). Security Studies: An Introduction. Oxon: Routledge.
-----------------------------