H7N9 สายพันธุ์ภัยคุกคามรูปแบบใหม่

ทั่วโลกให้ความสนใจต่อข่าวเชื้อไข้หวัดนกอีกครั้ง และครั้งนี้พิเศษกว่าทั่วไปเพราะเป็นการติดเชื้อสายพันธุ์ใหม่ H7N9 ที่เพิ่งพบครั้งแรกว่าติดเชื้อในมนุษย์ แม้จนบัดนี้รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อมีไม่มาก ทางการจีนประกาศว่าสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้แล้ว ยังมีประเด็นที่น่าเป็นห่วงหลายเรื่อง เช่น ยังไม่ทราบพาหะนำเชื้อว่ามาจากสิ่งใด บางคนเชื่อว่ามาจากนกป่าที่อพยพย้ายถิ่นแต่ยังพิสูจน์ไม่ได้ อีกทั้งยังไม่มีหลักฐานสรุปได้ว่าเชื้อแพร่จากคนสู่คนได้หรือไม่ เท่าที่ทางการจีนทำได้คือประสานงานกับองค์การอนามัยโลกและหน่วยงานสาธารณสุขของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มองโกเลีย ไต้หวัน รวมทั้งประเทศอื่นๆ อย่างสหรัฐอเมริกาเพื่อร่วมมือกันป้องกัน ศึกษาค้นคว้าโดยเร่งด่วน
            หากมองย้อนอดีตข่าวไข้หวัดนกซึ่งอันที่จริงคือโรคไข้หวัดใหญ่ชนิดหนึ่ง เคยปรากฏเป็นข่าวดังหลายรอบแล้ว เริ่มจากเมื่อ 10 ปีที่แล้วเกิดการระบาดไปทั่วโลกของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงหรือโรคซาร์ส (SARS) มีผู้ติดเชื้อ 8 พันคน เสียชีวิตเกือบ 800 คน เขตเศรษฐกิจฮ่องกงที่ผู้คนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นต้องผวากับเชื้อดังกล่าวอย่างมากเพราะสามารถแพร่จากคนสู่คน
            หลังโรคซาร์สระบาดไม่นาน ในปี พ.ศ. 2547 (2004) ประเทศไทยประสบปัญหาไข้หวัดนกระบาดหนักพร้อมกับอีกหลายประเทศ ครั้งนี้เป็นเชื้อชนิด H5N1 เฉพาะประเทศไทยมีรายงานผู้เสียชีวิตสิบกว่าราย และเกิดเหตุติดเชื้อต่อเนื่องอีกหลายปีแต่ไม่รุนแรงเท่า ในปีแรกที่ระบาดหนักนั้น โรงเรียนหลายแห่งต้องปิดเรียน คนไม่กล้ากินไก่ ไม่กล้าแม้กระทั่งไปเดินห้างเกรงว่าอาจมีผู้ติดเชื้อปะปนอยู่เพราะเป็นสถานที่มีผู้คนจำนวนมาก การแพร่ระบาดครั้งล่าสุดคือเมื่อสี่ปีก่อนเกิดโรคระบาดไข้หวัดหมูที่เริ่มต้นจากอีกซีกโลกหนึ่งคือประเทศเม็กซิโกแล้วลามไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว (ความจริงเชื้อชนิดนี้คือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H1N1 เดิมกลุ่มสายพันธุ์นี้พบในสุกร)
            จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่าการแพร่ระบาดไข้หวัดใหญ่เกิดขึ้นได้เสมอ มีข่าวรายงานพบผู้ติดเชื้อเรื่อยมา การติดเชื้อครั้งใหญ่เกิดขึ้นเป็นรอบๆ มาแล้วก็จากไป และพร้อมจะกลับมาใหม่อีก สังคมควรมีความรู้ความเข้าใจดังนี้
            ประการแรก ต้องไม่ตื่นตระหนกจนเกินควร
            การตื่นตระหนกส่วนหนึ่งมาจากการเทียบกับเหตุการณ์ร้ายในอดีต เทียบกับไข้หวัดใหญ่ระบาดในปี ค.ศ.1918 ที่คร่าชีวิตถึง 40 ล้านคน อีกส่วนเกิดจากการเป็นเชื้อสายพันธุ์ใหม่ มนุษย์ไม่มีความรู้เกี่ยวกับเชื้อชนิดใหม่นี้ ไม่รู้หนทางรักษาที่ถูกต้อง ยังไม่มีวัคซีนหรือยาที่ใช้ป้องกันรักษา เหล่านี้ล้วนเป็นเหตุให้ผู้คนกังวลใจไม่รู้จะปฏิบัติตัวอย่างไร ไม่แน่ใจในอนาคต
            การนำเสนอการคาดการณ์ในกรณี “เลวร้ายที่สุด” เป็นอีกสาเหตุที่ก่อให้เกิดความตื่นตระหนก เช่นการระบาดไข้หวัดหมูเมื่อปี 2009 เจ้าหน้าที่ระดับสูงของอังกฤษคนหนึ่งออกมาให้ข่าวว่ามีโอกาสที่คนอังกฤษจะต้องเสียชีวิตถึง 6 หมื่น 5 พันคน ซึ่งพิสูจน์ได้ในภายหลังว่าเป็นตัวเลขที่เกินจากความจริงอย่างมาก ต้องเข้าใจว่าการคาดคะเนสถานการณ์จะสร้างฉากทัศน์ (scenario) ออกมาแตกต่างกันหลายอย่าง ตั้งแต่กรณีที่ดีที่สุดจนถึงที่เลวร้ายที่สุด แต่ละฉากมีโอกาสเกิดมากน้อยแตกต่างกัน ไม่จำต้องเท่ากันเสมอไป กรณีที่เลวร้ายที่สุดอาจมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก แต่เมื่อเป็นข่าวแล้วมักจะทำให้สังคมตื่นเต้นตกใจ
            สิบปีก่อนที่โรคซาร์สระบาดกลายเป็นข่าวดังทั่วโลก มีผู้เสียชีวิต 800 คน จำนวนนี้นับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับโรคติดต่ออื่นๆ อย่างเช่น โรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล (ชนิดทั่วไปที่ไม่เกี่ยวกับไข้หวัดนก) ได้คร่าชีวิตผู้คนไปกว่าครึ่งล้านคนแล้วในปีเดียวกันนั้น หรือผู้เสียชีวิตจากโรคมาเลเรีย วัณโรค หรือโรคเอดส์ที่ตกปีละหลายแสนคน จึงเป็นคำถามว่าสังคมตื่นตระหนกเกินไปหรือไม่
            ประการที่สอง ยังต้องศึกษาวิจัยอีกมาก
            โลกปัจจุบันมีวิทยาการก้าวล้ำกว่าอดีตมาก การศึกษาวิจัยก็มีมาก แต่ยังพบอยู่เสมอว่ามนุษย์ยังขาดความรู้ความเข้าใจโดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญกับเชื้อสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่รู้จักมาก่อน ต้องศึกษาทุกอย่างตั้งแต่เข้าใจลักษณะเชื้อโรค ระบาดวิทยา การพัฒนาวัคซีนที่ได้ผลดี วิธีการรักษาที่เหมาะสม รวมทั้งแนวปฏิบัติตอบสนองต่อการระบาด อย่างไรคือตอบสนองน้อยเกินไป อย่างไรคือตอบสนองมากเกินเหตุ เช่น บางประเทศเคยใช้วิธีกักกันชาวต่างชาติทุกคนที่มาจากประเทศที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากโดยไม่เลือกหน้า ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำเกินกว่าเหตุ ในขณะที่ผู้ที่เห็นด้วยอ้างว่าเนื่องจากบริบทแต่ละประเทศแตกต่างกัน บางประเทศขาดแคลนวัคซีนป้องกันและยาที่ใช้รักษาโรคจึงต้องกักตัวไว้ก่อน ไม่ว่าข้อสรุปจะเป็นอย่างไรล้วนชี้ว่ามนุษย์ยังไม่เข้าใจอย่างเพียงพอ ไม่มีข้อสรุปเพื่อการจัดการภัยคุกคามที่เหมาะสม ยังมีคำถามอีกหลายข้อรอการค้นหาคำตอบ
            ประการที่สาม ไข้หวัดนกเป็นมากกว่าโรคระบาดชนิดหนึ่ง เพราะเป็นภัยคุกคามรูปแบบใหม่ชนิดหนึ่ง
            คนทั่วไปมองไข้หวัดนกว่าเป็นโรคระบาดชนิดหนึ่งซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ผิดแต่ไม่ครบถ้วน ความจริงแล้วไข้หวัดนกเป็นมากกว่าโรคระบาดเพราะในแวดวงวิชาการจัดว่าเป็น “ภัยคุกคามรูปแบบใหม่” (non traditional security หรือ NTS) ชนิดหนึ่งที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ในอดีตเราอาจคุ้นกับภัยคุกคามความมั่นคงจากคอมมิวนิสต์ การเกิดสงครามรบพุ่งกัน ปัจจุบันบริบทโลกเปลี่ยนเกิดภัยคุกคามชนิดใหม่ เรียกรวมๆ ว่า “ภัยคุกคามรูปแบบใหม่” ภัยคุกคามหลายชนิดจัดอยู่กลุ่มนี้ ที่สำคัญๆ เช่น การก่อการร้าย ภาวะโลกร้อน การขาดแคลนน้ำ การลักลอบค้ายาเสพติด หรือการย้ายถิ่นของคนจำนวนมาก รวมถึงโรคระบาดร้ายแรงอย่างไข้หวัดนก
            ภัยคุกคามรูปแบบใหม่มีลักษณะสำคัญประการหนึ่งคือ ลำพังการทำงานของรัฐหรือหน่วยงานรัฐไม่เพียงพอที่จะต่อต้านป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพ จำต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ ถ้าจำกัดกรอบเฉพาะประเทศไทย จะอาศัยความร่วมมือจากคนไทยทั้งประเทศ ดังนั้น ประชาชนทุกคนจึงต้องตระหนักว่าตนมีบทบาท มีภาระหน้าที่รับผิดชอบร่วมมือกับภาครัฐ ภาคส่วนอื่นๆ
            การแพร่ระบาดโรคซาร์สในปี 2003 มีผู้ติดเชื้อทั้งสิ้นราว 8 พันคน เสียชีวิตราวร้อยละ 10 เฉพาะที่จีนมีรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อกว่า 5 พันคน เสียชีวิตราว 3 ร้อยคน ทำให้เศรษฐกิจจีนเสียหายเกือบหนึ่งหมื่นแปดพันล้านดอลลาร์ ตัวเลขสูญเสียเหล่านี้จะลดลงถ้าประชาชนมีความรู้ รัฐบาลให้ความสำคัญ เจ้าหน้าที่ดำเนินการโดยรีบด่วน มียุทธศาสตร์จัดการที่ดี
            นอกจากนี้ การขาดความรับผิดชอบของบางประเทศไม่เพียงสร้างความเสียหายแก่ประเทศตนเท่านั้น แต่ยังสร้างความเสียหายแก่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลก นี่คือความร้ายแรงของภัยคุกคามรูปแบบใหม่
            ประการที่สี่ ไข้หวัดนกจะอยู่กับเราต่อไป
            เช่นเดียวกับการระบาดทุกครั้ง อีกไม่นานจีนจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดและเรื่องจะเงียบไป แต่การเงียบไปมิได้หมายความว่าโลกปลอดภัยจากเชื้อไข้หวัดนกตลอดกาล ยังเป็นภัยคุกคามที่อยู่กับเรา อาจปะทุแพร่ระบาดได้อีก
            การอุบัติขึ้นของเชื้อ H7N9 เป็นอุทาหรณ์อีกครั้งว่า ในขณะที่โลกมีความก้าวหน้าทางการแพทย์มากขึ้น เชื้อโรคมีการพัฒนาปรับตัวเหมือนกัน จากที่มนุษย์ไม่เคยติดเชื้อนี้มาก่อนมาบัดนี้สามารถติดเชื้อได้แล้ว เชื้อโรคปรับตัวอยู่ตลอดเวลา ในวันข้างหน้าอาจกลายเป็นเชื้อที่มนุษย์ไม่ต้องกังวลเพราะไม่ก่อให้เกิดโรคร้ายหรือในทางกลับกันอาจเป็นเชื้อชนิดร้ายแรงที่โลกต้องผวาก็เป็นได้
            สังคมไม่ควรเพียงตื่นเต้นกับข่าวเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ใหม่ที่มาแล้วและจะจางหายไปในที่สุด แต่ควรเข้าใจว่าไข้หวัดนกเป็น “ภัยคุกคามรูปแบบใหม่” ชนิดหนึ่งที่ยังอยู่กับเรา สังคมต้องเรียนรู้ต้องตื่นตัวอยู่เสมอ การตื่นตัวนอกจากจะช่วยป้องกันดูแลตัวเองและชุนชนแล้ว ยังเป็นแรงผลักสำคัญให้ภาครัฐ ภาคเอกชนทั้งหมดต้องให้ความสำคัญ การป้องกันการจัดการอย่างทันท่วงทีด้วยความร่วมมือร่วมใจทั้งระดับนานาชาติกับทุกภาคส่วนของสังคมคือแนวทางที่จะลดความสูญเสียได้มากที่สุด เป็นวิธีการรับมือภัยคุกคามรูปแบบใหม่นี้
14 เมษายน 2013
ชาญชัย คุัมปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 17 ฉบับที่ 6005 วันอาทิตย์ที่ 14 เมษายน พ.ศ.2556)
------------------------
บรรณานุกรม:
1. Dead sparrows in Nanjing not infected withH7N9, People’s Daily Online, 7 April 2013, http://english.peopledaily.com.cn/90882/8197486.html
2. Migratory birds may have carried H7N9 into China: expert, Xinhua, 7 April 2013, http://news.xinhuanet.com/english/china/2013-04/07/c_124548686.htm
3. China reinforces H7N9 detection, prevention, China Daily, 7 April 2013, http://www.chinadaily.com.cn/china/2013-04/07/content_16381295.htm
4. Efforts promised to monitor H7N9 bird flu, People’s Daily Online, 8 April 2013, http://english.peopledaily.com.cn/90882/8199322.html
5. M Fitzpatrick, Pandemic flu: Public health and the culture of fear, S. Rajaratnam School of International Studies (RSIS), http://www.rsis.edu.sg/NTS/resources/research_papers/NTS%20Working%20Paper2.pdf
6. K.U. Menon, “Pigs, People and a Pandemic: Communicating Risk in a City-state”, S. Rajaratnam School of International Studies (RSIS), http://www.rsis.edu.sg/NTS/resources/research_papers/NTS_Working_Paper6.pdf
7. วิเคราะห์ความมั่นคงแบบ non-traditional, http://news.thaieurope.net/content/view/980/141/
8. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์, บทเรียนจากซาร์ส (SARS), วารสารวิจัยวิทยาศาสตร์ (Section T) ปีที่ 3 ฉบับที่ 1 (2547/2004): 49 – 60, research.sc.chula.ac.th/ปี3เล่ม1/ซาร์ส.pdf
9. Li Hongyan and Ong Suan Ee, Examining Pandemic Responses in Asia, NTS Insight October 2010, http://www.rsis.edu.sg/nts/HTML-Newsletter/Insight/NTS-Insight-oct-1001.html
-----------------------