ผู้ถูกบังคับให้พลัดถิ่นฐานทั่วโลก 2016

Global Trends: Forced displacement in 2016 เป็นรายงานผู้ถูกบังคับให้พลัดถิ่นฐานทั่วโลกของข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UN High Commissioner for Refugees: UNHCR) ฉบับล่าสุดยึดข้อมูลจนถึงสิ้นปี 2016 มีผู้ถูกบังคับให้พลัดถิ่นฐานทั้งสิ้น 65.6 ล้านคน
ผู้ถูกบังคับให้พลัดถิ่นฐานประกอบด้วยหลายประเภท เช่น ผู้ลี้ภัย (refugee) คนพลัดถิ่นภายในประเทศ (Internally Displaced People: IDPs) ผู้แสวงหาที่ลี้ภัย (asylum seekers) คนไร้รัฐ
            ปี 2016 ซีเรียยังครองแชมป์ประเทศที่มีผู้ถูกบังคับให้พลัดถิ่นฐานมากที่สุดถึง 12 ล้านคน (เป็นสถิติที่นับรวมตั้งแต่ซีเรียมีผู้พลัดถิ่น) แยกเป็นผู้ลี้ภัย 5.5 ล้านคน IDPs 6.3 ล้านคน และผู้แสวงหาที่ลี้ภัย 185,000 คน รองมาคือโคลัมเบีย มีผู้ถูกบังคับให้พลัดถิ่นทั้งสิ้น 7.7 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็น IDPs อัฟกานิสถานตามมาเป็นลำดับ 3 มีผู้ถูกบังคับทั้งสิ้น 4.7 ล้านคน
            ถ้าคิดเป็นสัดส่วนต่อประชากรทั้งหมด ซีเรียยังอยู่ในสถานการณ์ย่ำแย่สุด ร้อยละ 65 ถูกบังคับให้พลัดถิ่น นับจากเกิดอาหรับสปริงชาวซีเรียราว 1 ใน 3 เท่านั้นที่ยังสามารถอยู่ถิ่นฐานเดิม

           เฉพาะปี 2016 มีผู้พลัดถิ่นใหม่ถึง 10.3 ล้านคน ต้นเหตุมักมาจากความขัดแย้งกับการกดขี่ข่มเหง ในจำนวนนี้ 6.9 ล้านเป็นพวกคนพลัดถิ่นภายในประเทศ (Internally Displaced People: IDPs) ที่เหลือเป็นผู้ลี้ภัย (refugee) กับผู้ขอลี้ภัย (asylum)
            นับจากปี 2012 เป็นต้นมาจำนวนผู้ถูกบังคับให้พลัดถิ่นฐานเพิ่มสูงขึ้นมากจากซีเรีย รองมาคืออิรักกับเยเมน และบางส่วนในแอฟริกา กลายเป็นสถิติสูงสุดตลอดกาลเรื่อยมา

สิ้นปี 2016 ทั่วโลกมีผู้ลี้ภัย (refugee) 22.4 ล้าน เป็นผู้ลี้ภัยใหม่ 2.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นสุทธิ 1.1 ล้านหรือราวร้อยละ 7 เฉพาะซีเรียมีผู้ลี้ภัยใหม่ถึง 824,000 คน เป็นประเทศที่มีผู้ลี้ภัยมากที่สุด
ตัวเลขผู้ลี้ภัยใหม่ 8 แสนคนชี้ว่าความขัดแย้งซีเรียยังรุนแรง ชาวบ้านยังคงพยายามหาทางหนีออกจากประเทศ แม้ความขัดแย้งเกิดขึ้นมาแล้วหลายปี ส่วนใหญ่หนีไปทางตุรกีเพื่อเข้ายุโรปตะวันตก ปัจจุบันตุรกีรองรับผู้ลี้ภัย 2.9 ล้านคน (ปี 2015 อยู่ที่ 2.5 ล้าน) ยุโรป 2.3 ล้านคน
สถานการณ์ผู้ลี้ภัยในอัฟกานิสถานดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว จำนวนผู้ลี้ภัยลดเหลือ 2.5 ล้านคนจากปีก่อนที่ 2.7 ล้านคน ส่วนใหญ่คือพวกที่เดินทางกลับจากปากีสถาน อย่างไรก็ตามปากีสถานยังรองรับผู้ลี้ภัยอัฟกันอีก 1.4 ล้านคน รองมาคืออิหร่าน 0.95 ล้านคน และอีกจำนวนหนึ่งกระจายลี้ภัยในยุโรป

            ผู้ถูกบังคับให้พลัดถิ่นฐานไม่ได้หมายความว่าต้องออกนอกประเทศเท่านั้น หลายคนยังอยู่ในประเทศ คือหนีจากบ้านตัวเองไปอยู่อีกจังหวัด เป็นคนพลัดถิ่นภายในประเทศ (IDPs)
            UNHCR ประเมินว่าปี 2016 มี IDPs ทั้งหมด 40.3 ล้านคน เทียบกับ 40.8 ล้านคนเมื่อปีก่อน ข้อมูลรายละเอียดชี้ว่าเฉพาะปี 2016 มี IDPs ใหม่ 5.5 ล้านคน ต้นเหตุจากความขัดแย้ง ความรุนแรงในประเทศ สูงกว่าปีก่อน 1.3 ล้านคน ส่วนใหญ่มาจากซูดานใต้ 865,000 คน ลิเบีย 630,000 คน อัฟกานิสถาน 623,200 คน อิรัก 598,000 คน เยเมน 467,100 คน
ถ้าดูจำนวนรวมจะเห็นว่า IDPs ทรงตัวอยู่ที่ 40 ล้านคน แต่ความจริงแล้วเป็นคนพลัดถิ่นภายในประเทศใหม่ถึง 5.5 ล้านคน เหตุที่ตัวเลขทรงตัวเพราะส่วนหนึ่งกลับภูมิลำเนา อีกส่วนข้ามไปเป็นผู้อพยพลี้ภัยต่างประเทศ แสดงให้เห็นว่าหลายประเทศยังมีปัญหาที่ผลักดันชาวบ้านออกจากพื้นที่ ลิเบียกับอัฟกานิสถานที่แม้ความขัดแย้งดำเนินมาแล้วหลายปียังคงดำเนินต่อไป

            UNHCR ประเมินว่าปี 2016 มีผู้แสวงหาที่ลี้ภัย (asylum seekers) ทั้งหมด 2.8 ล้านคน คนเหล่านี้ยื่นความจำนงต้องการออกจากประเทศของตนถาวร ส่วนใหญ่เป็นชาวซีเรีย 266,300 คน รองมาคือชาวอัฟกัน 127,000 คน อิรัก 96,100 คน รวม 3 ประเทศคิดเป็นร้อยละ 68 ของผู้แสวงหาที่ลี้ภัยทั้งหมด
 
ผู้ถูกบังคับให้พลัดถิ่นฐานอีกประเภทที่ควรเอ่ยถึงคือ คนไร้รัฐ (stateless person/statelessness) เป็นคนที่รัฐบาลไม่ถือว่าเป็นพลเมือง ไม่มีสิทธิตามกฎหมาย พวกเขาไม่สามารถไปเรียนหนังสือ พบแพทย์เมื่อเจ็บป่วย ไม่สามารถหางานทำ ไม่สามารถเปิดบัญชีธนาคาร ซื้อบ้าน หรือแม้กระทั่งอาจไม่สามารถแต่งงาน ใช้ชีวิตด้วยความยากลำบาก เป็นคนชายขอบของสังคม ตัวอย่างที่คนไทยรู้จักดีคือพวกโรฮีนจา (Rohingya)
ที่เป็นปัญหาร้ายแรงเพราะเป็นเรื่องที่คนมองไม่เห็น ไม่มีใครรู้จริง
สิ้นปี 2016 ประเมินว่าประชากรทั่วโลกราว 10 ล้านคนเป็นคนไร้รัฐ หรือเสี่ยงที่จะกลายเป็นคนไร้รัฐ ในขณะที่ข้อมูลที่เก็บได้จริงมีเพียง 3.2 ล้านคนใน 75 ประเทศ (หรือเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น)

            อีกประเด็นหนึ่งที่หลายคนอาจไม่รู้คือ ผู้ลี้ภัยในโลกราวกึ่งหนึ่งเป็นเด็ก ซ้ำร้ายกว่านั้นคือหลายคนไม่ได้เป็นผู้ลี้ภัยที่มากับพ่อแม่ ญาติสนิท เด็กๆ เหล่านี้จึงเหมือนลูกกำพร้า หนีภัยตามลำพัง ทั้งนี้เนื่องจากระหว่างทางถูกพรากจากบิดามารดา หรือผู้ปกครองเสียชีวิตแล้ว
            เด็กเหล่านี้ต้องรับความดูแลเป็นพิเศษ จะช่วยได้มากหากมีข้อมูลเด็กกับครอบครัว แต่ข้อมูลเหล่านี้มักหายาก กระจัดกระจาย แม้กระทั่งข้อมูลเด็กที่กำลังอยู่ในศูนย์ลี้ภัย บางประเทศเท่านั้นที่เก็บและเผยแพร่ข้อมูล ข้อมูลที่ศูนย์ลี้ภัยมักไม่แบ่งแยกว่าเป็นเด็กที่ไร้ผู้ปกครองหรือไม่
            จากข้อมูลที่มีอยู่พบว่าปัจจุบันมีเด็กอพยพไร้ผู้ปกครองถึง 75,000 คน ข้อมูลนี้มาจากใบแจ้งความจำนงขอเป็นผู้แสวงหาที่ลี้ภัย (asylum seekers) ส่วนใหญ่มาจากอัฟกานิสถาน 27,600 ซีเรีย 12,000 คน และอิรัก 4,800 คน เด็กเหล่านี้เสี่ยงที่จะถูกรังแก หลอกใช้ประโยชน์

ข่าวดี :
            ในด้านข่าวดี ปี 2016 ประชาชน 500,000 คนสามารถกลับคืนถิ่นฐาน ส่วนใหญ่ที่อัฟกานิสถาน โซมาเลียและซูดาน เป็นตัวเลขที่สูงกว่าปีที่แล้ว (อย่างไรก็ตาม ตัวเลขผู้ถูกบังคับให้พลัดถิ่นในปี 2016 เพิ่มสูงกว่าปีก่อนมาก และตัวเลขคนกลับถิ่นคิดเป็นเพียงร้อยละ 3 ของจำนวนผู้ถูกบังคับทั้งหมด) ทั้งนี้มักเป็นเพราะพวกเขาหนีภัยสงคราม ภัยคุกคามที่เกิดขึ้นชั่วคราว เมื่อสถานการณ์สงบจึงสามารถกลับบ้านได้
            ผู้อพยพลี้ภัยจำนวนมากปรารถนาไปอยู่ประเทศที่ 3 อย่างถาวร ได้รับสิทธิทางกฎหมายจากประเทศที่ 3 อันหมายถึงได้รับสิทธิต่างๆ ตามกฎหมายกำหนด ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม หลายประเทศเปิดรับผู้อพยพเพื่อย้ายถิ่นถาวร แต่ผู้ได้รับโอกาสนี้ในปี 2016 มีเพียง 189,300 คนเท่านั้น (เพิ่มจากปีก่อนที่รับเพียง 107,100 คน) ผู้อพยพลี้ภัยส่วนใหญ่จึงยังคงอยู่ในศูนย์ผู้อพยพ ต้องชื่นชมสหรัฐประเทศที่รับผู้อพยพเพื่อย้ายถิ่นถาวรมากที่สุดถึง 96,900 คน รองมาคือแคนาดารับ 46,000 คน ออสเตรเลีย 27,600 คน
            ชาวซีเรียคือผู้ได้รับโอกาสนี้มากที่สุด รองมาคือคองโก อิรัก (อนึ่งสหรัฐรับผู้อพยพในแถบลาตินอเมริกาเป็นส่วนใหญ่)
ผู้อพยพลี้ภัยแต่ละปีได้รับสิทธิ์ลี้ภัยต่างแดนถาวรเป็นแสนคน แต่ไม่อาจเทียบกับจำนวนที่เพิ่มขึ้นและรวมกับของเดิมที่สะสมนับสิบล้าน ไม่ง่ายที่จะหาที่อาศัยถาวรในประเทศที่ 3 แก่คนนับสิบล้าน ข่าวดีคือส่วนใหญ่ได้รับความช่วยเหลือเบื้องต้น และอาจคาดหวังได้เพียงเท่านี้ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน

วิเคราะห์องค์รวม :
            การจะสรุปอะไรง่ายๆ ว่าประเทศใดรับผู้อพยพมากน้อยอาจเป็นผลเสียมากกว่า เช่น สังคมโลกประณามประเทศ ก. ที่ประกาศว่าจะรับผู้ลี้ภัยเพียง 1 หมื่นคน ชื่นชมประเทศ ข. ที่ประกาศว่าจะรับ 1 แสนคน แต่หากพิจารณารายละเอียด ประเทศ ก. มีประชากรเพียง 1 แสนคนแต่ยอมรับผู้ลี้ภัยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ ในขณะที่ประกาศ ข. มีประชากรกว่า 100 ล้าน การรับ 1 แสนคนเท่ากับร้อยละ 0.1 ของประชากรเท่านั้น
            แต่ยังมีรายละเอียดมากกว่านั้น ประเทศ ก. ร่ำรวยมาก อาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาล กำลังขาดแคลนแรงงานไร้ฝีมือ การรับผู้ลี้ภัย 1 แสนคนตอบสนองนโยบายพัฒนาประเทศพอดี ในขณะที่ประเทศ ข. มีปัญหาคนว่างงานสูง เศรษฐกิจอ่อนแอ
            วิธีการที่ดีคือการเปิดข้อมูล การหารืออย่างสร้างสรรค์ว่าแต่ละประเทศควรแสดงความรับผิดชอบอย่างไร ให้ข้อมูลเหล่านี้เปิดเผยต่อสาธารณะและเข้าถึงโดยง่าย

อีกเวทีที่ควรทำคู่ขนานคือพูดถึงสาเหตุที่มาของการอพยพลี้ภัย ตราบใดที่ความขัดแย้ง การทำสงครามยังคงอยู่ การช่วยเหลือผู้ที่ต้องถูกบังคับให้พลัดถิ่นฐานทั่วโลกเป็นเพียงการบรรเทาปัญหาที่ปลายเหตุ และภาระปัญหาอาจใหญ่และหนักอึ้งมากขึ้นดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
            เป็นอีกประเด็นที่จำต้องอาศัยพลังของพลเมืองโลก

แนวทางช่วยเหลือผู้ถูกบังคับให้พลัดถิ่นฐานคือสถาบันกับองค์กรศาสนาความเชื่อต่างๆ ควรแสดงบทบาทอย่างเข้มข้น ทุกวัด โบสถ์ มัสยิด ธรรมศาลา ควรมีภารกิจเรื่องนี้ ช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐ ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างคนต่างศาสนิก สร้างสังคมแห่งการเกื้อกูล ทำให้สังคมโลกน่าอยู่ยิ่งขึ้นอันเป็นบทบาทหน้าที่ของศาสนาอยู่แล้ว
            การให้สถาบันกับองค์กรศาสนาออกหน้ามีข้อดีในบางเรื่องด้วย รัฐไม่ต้องเข้าปะทะโดยตรง อีกทั้งผู้ลี้ภัยไม่เพียงต้องการปัจจัย 4 เท่านั้น การช่วยเหลือเรื่องจิตใจสำคัญไม่แพ้ปัจจัย 4
            ผู้ถูกบังคับให้พลัดถิ่นฐานมี 60-70 ล้าน ในขณที่ประชากรโลกมีกว่า 7,400 ล้านคน (2016) หากมีการบริหารจัดการที่ดีกว่านี้ มีกลไกที่ทำหน้าเข้มแข็งกว่านี้ อีกหลายคนน่าจะได้รับความช่วยเหลือมากกว่าที่เป็นอยู่ สังคมโลกต้องตระหนักว่านี่เป็นโจทย์ของพวกเขา
25 มิถุนายน 2017
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 21 ฉบับที่ 7534 วันอาทิตย์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ.2560)
-------------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง : 
สถานการณ์ “ผู้อพยพลี้ภัย” กับ “คนพลัดถิ่นภายในประเทศ” รุนแรงขึ้นและน่าเป็นห่วงทั้งในแง่จำนวนและไม่มีทีท่าว่าสถานการณ์จะสงบ ผู้ลี้ภัย คนพลัดถิ่นสามารถกลับถิ่นฐาน ใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติสุข เนื่องจากเป็นความขัดแย้งที่เมื่อบานปลายแล้วยากจะแก้ไข เช่น ความแตกแยกทางนิกายศาสนา การปรากฏตัวของผู้ก่อการร้าย กองกำลังต่างชาติ การแบ่งแยกทางการเมือง การแทรกแซงจากชาติมหาอำนาจ แนวทางที่ดีที่สุดคือไม่ให้ปัญหา ความขัดแย้งบานปลาย
บรรณานุกรม:
1. Sicakkan, Hakan G. (2012). The rights of refugees. In Handbook of Human Rights (359-372). Oxon: Routledge.
2. The White House. (2017, March 6). Executive Order Protecting The Nation From Foreign Terrorist Entry Into The United States. Retrieved from https://www.whitehouse.gov/the-press-office/2017/03/06/executive-order-protecting-nation-foreign-terrorist-entry-united-states
3. Trump's travel ban: What is it and who is affected? (2017, January 30). FRANCE 24. Retrieved from http://www.france24.com/en/20170130-trump-travel-ban-immigrants-executive-order-syrian-refugees-what-it-who-affected
4. UNHCR. (2015, December 18). UNHCR Mid-Year Trends 2015. Retrieved from http://unhcr.org/myt15/#_ga=1.246311687.2048125505.1450532957
5. UNHCR. (2017, June). Global Trends: Forced displacement in 2016. Retrieved from http://www.unhcr.org/5943e8a34
-----------------------------