“ผู้อพยพลี้ภัย” กับ “คนพลัดถิ่นภายในประเทศ” ของครึ่งแรกปี 2015

“UNHCR Mid-Year Trends 2015” ระบุว่าความขัดแย้ง การกดขี่ การละเมิดสิทธิมนุษยชน ความรุนแรงต่างๆ เป็นสาเหตุให้ผู้คนทั่วโลกต้องอพยพย้ายถิ่น การสู้รบในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือที่ดำเนินต่อเนื่องมาแล้วหลายปีบีบบังคับให้หลายล้านคนค้นต้องหนีหรือออกจากถิ่นฐานเดิมไปสู่ที่ใหม่ทั้งภายในและนอกประเทศ
            เมื่อสิ้นปี 2014 ทั่วโลกมีผู้อพยพทุกประเภทรวมกัน 59.5 ล้านคน เฉพาะครึ่งแรกของปี 2015 เพิ่มขึ้นถึง 5 ล้านคน ในจำนวนนี้ 4.2 ล้านคนยังอยู่ภายในประเทศ (IDPs) อีก 839,000 คนหนีออกนอกประเทศ
            ประเด็นผู้อพยพลี้ภัย (refugee) ไม่ใช่เรื่องใหม่ สถิติบ่งบอกว่าช่วงปี 1990-2015 UNHCR ต้องดูแลผู้อพยพลี้ภัยราว 9-18 ล้านคน ตัวเลขลดต่ำลงเรื่อยๆ และต่ำสุดในปี 2005 แต่เพิ่มสูงขึ้นเมื่อเข้าสู่ปี 2012 คิดเป็นจำนวนเพิ่มขึ้น 4.7 ล้านคนในเวลาเพียง 3 ปีครึ่ง สาเหตุหลักมาจากสงครามกลางเมืองซีเรีย ที่เหลือมาจากความขัดแย้งในประเทศอื่นๆ เช่น อัฟกานิสถาน บูรุนดี (Burundi) , สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก มาลี โซมาเลีย เซาท์ซูดาน (South Sudan) และยูเครน
            ผู้อพยพลี้ภัยจากซีเรียส่งผลรุนแรงต่อประเทศรอบข้าง ที่ลงทะเบียนในค่ายลี้ภัยตุรกีมีถึง 1.8 ล้านคน เลบานอน 1.2 ล้านคน จอร์แดน 628,800 คน อิรัก 251,300 คน อียิปต์ 131,900 คน
            ประเทศที่มีผู้อพยพมากเป็นอันดับ 2 คืออัฟกานิสถาน มีถึง 2.6 ล้านคน ในจำนวนนี้ 1.5 ล้านคนอยู่ในประเทศปากีสถาน รองลงมาคืออิหร่าน 951,000 คน
            ประเทศที่มีผู้อพยพลี้ภัยมากเป็นอันดับ 3 คือ โซมาเลีย มีผู้ลี้ภัยรวม 1.1 ล้านคน อาศัยในเคนยา 418,900 คน เยเมน 249,000 คน และเอธิโอเปีย 247,300 คน

Internally Displaced People (IDPs) :
“คนพลัดถิ่นภายในประเทศ” (Internally Displaced People: IDPs) เป็นอีกกลุ่มที่รายงาน “UNHCR Mid-Year Trends 2015” เอ่ยถึง คนเหล่านี้ถูกบีบบังคับให้อพยพจากถิ่นอาศัยหนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งโดยยังคงอยู่ภายในประเทศ เหตุจากเรื่องความขัดแย้งภายในประเทศ การละเมิดสิทธิมนุษยชน การไล่ที่ และเนื่องจากยังอยู่ในประเทศกฎหมายภายในจึงมีผลบังคับใช้ต่อพวกเขาในฐานะพลเมือง
UNHCR ระบุว่าข้อมูลของคนกลุ่มนี้มักจำกัด จึงไม่สามารถฉายภาพครบถ้วน แต่ได้ช่วยเหลือ IDPs ทั้งหมด 26 ประเทศ รวม 34 ล้านคน เพิ่มจากเมื่อสิ้นปี 2014 ที่ 32.2 ล้านคน (นับเฉพาะคนที่ได้รับความช่วยเหลือจาก UNHCR)
            เฉพาะครึ่งปีแรกของ 2015 เกิด IDPs ทั้งหมดอย่างน้อย 4.2 ล้านคน เยเมนสูงสุดคือ 933,500 คน ยูเครน 559,000 คน คองโก 558,000 คน ไนจีเรีย 378,000 คน อิรัก 366,500 คน และปากีสถาน 309,200 คน
            ส่วนซีเรียคาดว่านับน่าจะมีถึง 7.6 ล้านคน ในจำนวนนี้ได้รับความช่วยเหลือจาก UNHCR ราว 1.3 ล้านคน รองลงมาคือโคลัมเบีย 6.5 ล้านคน อิรัก 4 ล้านคน ซูดาน 2.3 ล้านคน
            ครึ่งปีแรกของ 2015 IDPs 1.4 ล้านคนสามารถกลับถิ่นฐานเดิม เป็นตัวเลขน้อยกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2014 ราว 200,000 คน ส่วนใหญ่คือในปากีสถานกับฟิลิปปินส์ ประเทศละกว่า 300,000 คน

วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :
            รายงานของ UNHCR นำเสนอเฉพาะตัวเลขสถิติ หากจะวิเคราะห์เบื้องหน้าเบื้องหลัง พอจะประมวลโดยยก 3 กรณีตัวอย่างดังนี้
          กรณีแรก อัฟกานิสถาน
รายงานของ UNHCR ระบุว่าอัฟกานิสถานมีผู้อพยพลี้ภัยทั้งหมดราว 225,000 คน IDPs เกือบ 950,000 คน รวมแล้วประชาชนกว่า 1,420,000 คนอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง จากประชากร 32.5 ล้านคน (ข้อมูลกรกฎาคม 2015)
ย้อนหลังตุลาคม 2001 เมื่อประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู. บุช สรุปว่าพวกอัลกออิดะห์เป็นผู้ก่อเหตุ 9/11 ประกาศทำสงครามกับอัฟกานิสถาน โทษฐานไม่ส่งมอบตัวโอซามา บินลาเดน (Osama Bin Laden) แม้สามารถโค่นล้มระบอบตาลีบันอย่างรวดเร็ว พวกอัลกออิดะห์ต้องหลบหนีซ่อนตัว ฝ่ายพันธมิตรสามารถตั้งรัฐบาลใหม่ที่เป็นอิงรัฐบาลสหรัฐ แต่อัฟกานิสถานนับจาก 2001 จนบัดนี้ยังไม่สงบ แม้ประธานาธิบดีคนใหม่ อัชราฟ กานี (Ashraf Ghani) สานต่อเจรจากับตาลีบันและกลุ่มกองกำลังต่างๆ แต่ยังไม่มีท่าทีว่าความขัดแย้งภายในจะยุติ รัฐบาลกลางอยู่ได้โดยต้องพึ่งพางบประมาณจากชาติตะวันตก และกองกำลังต่างชาติ
            อัฟกานิสถานยังเป็นรัฐล้มเหลว รัฐบาลกลางมีอำนาจในพื้นที่จำกัดเท่านั้น พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ใต้อิทธิพลของเผ่า กองกำลังติดอาวุธที่ต่างมีผลประโยชน์และพยายามรักษาผลประโยชน์ของตนเอง เกิดปัญหาแทรกซ้อน เช่น ผู้ก่อการร้าย IS/ISIL/ISIS เริ่มเข้าแทรกแซง
            ผลกระทบจึงตกแก่ประชาชนที่ต้องอยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง สภาพไร้กฎหมาย ผู้ถือปืนคือผู้ถือกฎหมาย ปัญหาผู้อพยพลี้ภัย  คนพลัดถิ่นภายในประเทศ เป็นภาพสะท้อนของปัญหาที่ประชาชนได้รับโดยตรง หลายล้านคนกำลังประสบความทุกข์ยาก ไม่มีแม้กระทั่งบ้านของตนเอง อนาคตที่มั่นคง

            นโยบายต่อต้านก่อการร้ายของรัฐบาลบุชจึงกลายเป็นปัญหาในตัวเอง เกิดปัญหาแทรกซ้อน โดยยังไม่เห็นทางออก นี่คือปัญหาที่รัฐบาลตะวันตกสร้างแต่แทบไม่ได้ช่วยแก้ ในอีกมุมต้องกล่าวว่าแทนว่ายากจะแก้ไข ทางที่ดีที่สุดคือไม่ให้เกิดปัญหาตั้งแต่ต้น

กรณีที่ 2 อิรัก
            ผู้อพยพลี้ภัยจากอิรักมีราว 290,000 คน แต่มี IDPs เกือบ 4 ล้านคน จากประชากรทั้งสิ้นราว 37 ล้านคน แสดงให้เห็นว่าภายในสังคมอิรักกำลังแบ่งพื้นที่กันใหม่ (เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นนานแล้วและเกิดขึ้นเรื่อยมา) โดยเฉพาะจากการรุกรานของ IS ความพยายามสร้างรัฐอิสลามตามแบบฉบับของตนเอง
            นับวันคนกลุ่มต่างๆ ในอิรักจะแบ่งแยกชัดเจนมากขึ้นๆ พวกชีอะห์ต้องอยู่กับชีอะห์ พวกซุนนีอยู่กับซุนนี ดังนั้น ไม่ว่าจะประกาศว่าเป็นเขตปกครองตนเองหรือไม่ (อย่างกรณีชาวเคิร์ด) อิรักกำลังแบ่งแยกออกเป็นหลายส่วน และคงยากจะกลับมาเป็นพหุสังคม สถานการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องน่าติดตามว่าจะเกิดผลอย่างไร จะเป็นผลดีหรือผลเสียมากกว่า จะเป็นแนวทางแก่ชาติมุสลิมอื่นๆ หรือไม่
            กรณีอิรักจึงต่างจากการกรณีอัฟกานิสถาน อิรักแบ่งแยกด้วยนิกายศาสนา อัฟกานิสถานแบ่งแยกด้วยความเป็นเผ่า กองกำลังติดอาวุธมากกว่าการตามนิกายศาสนา (ชาวอัฟกันร้อยละ 85 เป็นซุนนี ร้อยละ 10-15 เป็นชีอะห์)
            อิรักผ่านการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยมาแล้วหลายครั้ง แต่ไม่ช่วยให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยจริง

            กรณีที่ 3 ยูเครน
ถ้ามองจำนวนผู้อพยพลี้ภัยกับพวกที่ถูกนับว่าเป็นผู้อพยพลี้ภัย ยูเครนมีปัญหาน้อยกว่าหลายประเทศ เพราะมีจำนวนราว 6,000 กว่าคนเท่านั้น ที่น่าสนใจคือ มี “คนพลัดถิ่นภายในประเทศ” มากถึง 1,426,000 คน จากประชากร 44.4 ล้านคน เหตุจากความขัดแย้งภายในประเทศ เพราะพรรคการเมืองแยกเป็น 2 ขั้ว ขั้วหนึ่งโน้มเอียงเข้าหาชาติตะวันตก อียู อีกขั้วเข้าหารัสเซีย
            การเมือง 2 ขั้วพลอยดึงประชาชนเป็น 2 ฝ่ายแบบไม่ประนีประนอม ฝ่ายที่อยู่ทางด้านภาคตะวันตกคือฝ่ายอิงอียู กับอีกฝ่ายที่ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคตะวันออกนั้นอิงรัสเซีย
เมื่อวิคเตอร์ ยานูโควิช (Viktor Yanukovych) ประธานาธิบดียูเครนที่อิงรัสเซียพ้นจากอำนาจ กลุ่มการเมืองอิงตะวันตกเข้ากุมอำนาจบริหารประเทศ พร้อมกับแนวนโยบายอิงตะวันตกเต็มที่ ตอกย้ำการแบ่งประเทศยูเครนเป็น 2 ส่วน
จากนั้นรัสเซียเข้ายึดเขตไครเมีย ผนวกเป็นส่วนหนึ่งของประเทศรัสเซีย (เท่ากับประเทศยูเครนถูกแบ่งออกส่วนหนึ่งแล้ว และกล่าวได้ว่าเป็นการแยกไปอย่างถาวร) จากนั้นกองกำลังยูเครนตะวันออกที่อิงรัสเซียเริ่มก่อการขอแยกประเทศหรือปกครองตนเอง เกิดสงครามกลางเมืองแบบย่อมๆ มีผู้เสียชีวิตกว่า 5 พันราย ปัญหาใหญ่คือประชาชนนับล้านต้องอพยพย้ายถิ่นจากพื้นที่กระสุนตก
ต้นกันยายน 2014 2 ฝ่ายบรรลุข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราว ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นหลายคนสามารถกลับบ้าน แต่ที่ยังกลับไม่ได้สูงถึง 1.4 ล้านคนตามสถิติของ UNHCR

            ถ้าเทียบกับกรณีอัฟกานิสถาน อิรัก ประชาชนยูเครนส่วนใหญ่ยังไม่เป็นผู้ลี้ภัยสงคราม ไม่ต้องพลัดถิ่น สิ่งที่เหมือนกันคือไม่อาจคืนสู่ภาวะปกติในเวลาอันใกล้ เหตุเพราะชาติมหาอำนาจแทรกแซง ความขัดแย้งของยูเครนไม่ใช่เรื่องของคนอีกยูเครนอีกต่อไป กลายเป็นความขัดแย้งของรัฐบาลชาติมหาอำนาจที่ต่อสู้ ช่วงชิง ประเทศยูเครนกลายเป็น “สมรภูมิ” ของชาติมหาอำนาจ
            สิ่งที่ดูดีกว่าคือ ยูเครนเป็นซากปรักหักพังน้อยกว่า จำนวนผู้บาดเจ็บล้มตายต่ำกว่า
และยังมีโอกาส “ลุ้น” ว่าสถานการณ์จะไม่แย่ไปกว่านี้ ถ้านักการเมืองยูเครนทำเพื่อคนยูเครนจริงๆ สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคมภายในประเทศ หาไม่แล้วคนยูเครนอีกนับล้านอาจกลายเป็นผู้อพยพลี้ภัย คนเข้าเมืองผิดกฎหมาย ด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น หนีความอดอยากยากจนด้วยการลักลอบเข้าไปทำงานต่างประเทศ แสดงความจำนงขอเป็นผู้อพยพลี้ภัยเพราะความขัดแย้งภายในประเทศ ฯลฯ

            แทบทุกกรณีเมื่อเกิดเหตุให้คนต้องอพยพลี้ภัย คนจำนวนมากต้องอยู่ในค่ายลี้ภัยเป็นเวลาหลายปี บางกรณียังไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ เช่น ชาวอัฟกันราว 2 ล้านคนกลายเป็นผู้ลี้ภัยเมื่อโซเวียตบุกอัฟกานิสถานในปี 1979 ชาวปาเลสไตน์ 2.5 ล้านคนอยู่ในค่ายลี้ภัยตั้งแต่ปี 1948 พวกเขากลายเป็น “ผู้ลี้ภัยถาวร” คนรุ่นใหม่ที่เกิดในค่ายกลายเป็น “ผู้ลี้ภัยถาวรรุ่นใหม่” สืบทอดต่อจากคนรุ่นแรก เกิดปัญหาแทรกซ้อนมากมาย กลายเป็นคนด้อยโอกาส เสี่ยงถูกกดขี่ขูดรีด
            เป็นบทเรียนที่ประชาคมโลกต้องเรียนรู้และจดจำ
27 ธันวาคม 2015
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 20 ฉบับที่ 6990 วันอาทิตย์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2558)
-----------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
อิรักกับซีเรียเป็น 2 ตัวอย่างว่านโยบายกำจัดเผด็จการเป็นต้นเหตุของสงครามกลางเมือง ความขัดแย้งที่ไม่สิ้นสุด กลายเป็นรัฐล้มเหลว การปล่อยให้เผด็จการดำรงอยู่ต่อไปเป็นโทษน้อยกว่า การกำจัดเผด็จการไม่เป็นเหตุให้ประเทศกลายเป็นประชาธิปไตยเสมอไป ถ้ามองว่าเผด็จการหมายถึงประชาชนถูกกดขี่ เมื่อเป็นรัฐล้มเหลวประชาชนถูกกดขี่ข่มเหงยิ่งกว่า ชีวิตอยู่ในอันตรายมากกว่า แต่รัฐบาลโอบามายังยืนหยัดนโยบายโค่นเผด็จการไม่ต่างจากรัฐบุชและอีกหลายชุด
บรรณานุกรม:
1. Central Intelligence Agency. (2015, July). Afghanistan. In The World Factbook. Retrieved from https://www.cia.gov/library/publications/the-world-factbook/geos/af.html
2. Central Intelligence Agency. (2015, July). Iraq. The World Factbook. Retrieved from https://www.cia.gov/library/publications/the-world-factbook/geos/iz.html
3. Central Intelligence Agency. (2015, July). Ukraine. In The World Factbook. Retrieved from https://www.cia.gov/library/publications/the-world-factbook/geos/up.html
4. Hein, Jeremy. (2008). Refugees. In International Encyclopedia of the Social Sciences. (2nd Ed. (9 vol. set. pp. 125-127). USA: The Gale Group.
5. Kalic, Sean N. (2013). Terrorism in the twenty-first century: A new era of warfare. In An International History of Terrorism. (pp.263-279). Oxon: Routledge.
6. UNHCR. (2015, December 18). UNHCR Mid-Year Trends 2015. Retrieved from http://unhcr.org/myt15/#_ga=1.246311687.2048125505.1450532957
7. Wahab, Shaista., & Youngerman, Barry. (2007). A Brief History Of Afghanistan. New York: Infobase Publishing.
8. Whitmore, Sarah. (2004). State Building in Ukraine. New York: Routledge.
-------------------------------