เลือกตั้งฝรั่งเศส 2016 เส้นทางปกครองที่ยังค้นหาต่อไป

เอมมานูแอล มาครง (Emmanuel Macron) อายุ 39 ปี มีพื้นฐานทำงานด้านการธนาคาร อดีตรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ เพิ่งลงสมัครชิงตำแหน่งทางการเมืองครั้งแรก มีนโยบายสนับสนุนการค้าเสรี สิทธิมนุษยชน ชี้ว่านโยบายหันกลับมาใช้สกุลเงินฟรังก์ของ มารีน เลอเปน (Marie Le Pen) จะกระทบเศรษฐกิจ คนจะยากจนกว่าเดิม การขึ้นภาษีสินค้านำเข้าแปลว่าสินค้าอย่างทีวี โทรศัพท์จะแพงกว่าเดิม เกิดสงครามการค้า ถอยห่างจากพันธมิตรด้านความมั่นคง
ปัญหายังอยู่ที่ไม่มีคำตอบทางวิชาการที่สามารถฟันธงได้ว่าใช้สกุลฟรังก์ดีกว่าหรือไม่ ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าแล้วจะเป็นอย่างไร นโยบายของมาครงช่วยได้จริงหรือ กลายเป็นเรื่องที่ต้องทำจริงจึงจะรู้ การเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบ 2 ในวันที่ 7 พฤษภาคมนี้จะเป็นเครื่องตัดสินว่าจะไปทางใด
เลือกมาครงเพราะกลัวเลอเปน :
            ในการเลือกตั้งรอบแรกเมื่อ 24 เมษายน มาครงได้อันดับหนึ่งด้วยคะแนนร้อยละ 23.7 ตามมาด้วยเลอเปน 21.7 โพลชี้ว่าเรื่องงาน (เพิ่มการจ้างงาน สวัสดิการ) เศรษฐกิจ นักการเมือง เป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจว่าจะเลือกใคร ให้ความสำคัญเรื่องปากท้องไม่ต่างจากประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะสหรัฐ ญี่ปุ่น อีกปัจจัยสำคัญคือคุณสมบัตินักการเมืองที่เห็นชัดในการเลือกตั้งคราวนี้ เป็นเหตุผลที่ผู้สมัครหน้าใหม่อย่างมาครงและสายประชานิยม (populism) อย่างเลอเปนเป็นผู้กำชัยในรอบแรก
เรื่องน่าสนใจคือมาครงไม่มีประสบการณ์ทางการเมือง ไม่มีฐานเสียง ไม่มี ส.ส. ส.ว.ในสังกัด แต่พลเมืองฝรั่งเศส พรรคกระแสหลักหลายพรรค แกนนำนักการเมืองหลายคนสนับสนุน หลังผลการเลือกตั้งรอบแรก http://gulfnews.com/logger/p.gif?a=1.2016052&d=/2.3803/2.3819/2.3867/2.3990&referrer=http://gulfnews.com/Francois Fillon ผู้สมัครสังกัดพรรครีพับลิกัน (Republican) Benoit Hamon จากพรรคสังคมนิยม (Socialist) ประกาศสนับสนุนมาครง เป็นอีกครั้งที่พรรคฝ่ายซ้ายอย่างพรรคสังคมนิยมฝรั่งเศสเห็นด้วยกับผู้สมัครที่ดำเนินนโยบายเสรี เกิดข้อสงสัยว่าผู้กุมอำนาจการเมืองร่วมมือกันต้านเลอเปน เลอเปนจึงโจมตีมาครงว่าเป็นหุ่นเชิดของขั้วอำนาจเก่า พวกคณาธิปไตย

            หลายคนเห็นว่าเป็นการซ้ำรอยประวัติศาสตร์ปี 2002 พรรคกระแสหลักทั้งฝ่ายซ้ายฝ่ายขวาร่วมมือกันต้านพรรค Front National (FN) หรือที่เรียกว่าพันธมิตร “Republican Front” เพียงแต่รอบนี้คือเลอเปน
            นักวิชาการบางคนอธิบายว่าปี 2002 คนฝรั่งเศสตกใจกับการก้าวขึ้นมาของ FN ผ่านมาสิบกว่าปีสังคมเริ่มคุ้นเคย ชินกับแนวทางของ FN ปัจจัยอื่นที่มีผลคือกระแสผู้อพยพมุสลิมจากภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ปัญหาคนว่างงาน ปัญหาเศรษฐกิจที่ยังแก้ไม่ตก หลายคนจึงปฏิเสธพรรคกระแสหลักหันไปสนับสนุน FN

            แต่รอบนี้พรรคกระแสหลักบางพรรคไม่ออกตัวสนับสนุนมาครงเต็มตัว ผลโพลหลายสำนักชี้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้สมาชิกพรรคกระแสหลักส่วนหนึ่งจะเลือกเลอเปน สภาพการเป็นพันธมิตร “Republican Front” จึงอ่อนแอกว่าสมัยปี 2002 อย่างไรก็ตามผลโพลสัปดาห์สุดท้ายก่อนเลือกตั้งชี้ว่า เอมมานูแอล มาครง จะชนะ มารีน เลอเปน ด้วยคะแนน 60 ต่อ 40
            เหตุผลหลักอีกข้อคือ พลเมืองฝรั่งเศสส่วนหนึ่งยังชอบนโยบายกระแสหลัก ไม่ชอบเลอเปน กังวลนโยบายสุดโต่ง จึงเกิดกระแสให้มาครงชนะ ในการอภิปรายรอบสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง มาครงหยิบประเด็นนี้โจมตีว่าเลอเปนเสนอนโยบายด้วยเรื่องโกหกมดเท็จ ด้วยความกลัว ส่วนตนนั้นจะฟื้นฟูปฏิรูปประเทศ ไม่ปล่อยให้ประเทศแตกแยก ไม่สุดโต่งขวาจัด พยายามสร้างภาพให้ผู้คนเห็นว่าหากเลอเปนชนะประเทศจะแตกแยกวุ่นวาย
ด้วยแนวคิดนี้ ในการเลือกตั้งรอบสุดท้าย คะแนนที่กระจัดกระจายในพรรคหลักอาจเทให้มาครง และในมุมของนักการเมืองอาชีพมาครงคือตัวเลือกที่ดีกว่า ดังนั้น ถ้าจะสรุปว่ามาครงผู้ชนะเลือกตั้งคือม้ามืดหรือมือใหม่หัดขับคงไม่ใช่เหตุผลทั้งหมด แต่ด้วยปัจจัยอื่นๆ มารวมกัน ถ้าอธิบายอย่างเป็นเหตุเป็นผล พรรค FN ของเลอเปนมีนโยบายหลายข้อแตกต่างแปลกแยกจากขั้วการเมืองที่มีอยู่ ชาวฝรั่งเศสหลายคนเห็นชอบกับแนวทางแบบมาครงมากกว่า

            ข้อวิพากษ์คือถ้าเชื่อว่ามาครงจะบริหารประเทศด้วยแนวนโยบายไม่แตกต่างจากเดิมมากนัก เป็นไปได้ว่าผลเลือกตั้งประเทศจะเปลี่ยนเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเท่านั้น ส.ส. ส.ว. ส่วนใหญ่ยังเป็นคนหน้าเดิม เกิดคำถามว่าแล้วทำไมพลเมืองฝรั่งเศสที่เลือกมาครงจึงไม่เลือกพรรคการเมืองกระแสหลักตั้งแต่แรก เป็นภาพขัดแย้งที่ไม่ชอบนักการเมืองหน้าเก่า พรรคการเมืองเก่าๆ แล้วเลือกประธานาธิบดีหน้าใหม่ที่ใช้นโยบายไม่ต่างจากเดิมมากนัก
ด้วยเหตุนี้ คนที่หันไปสนับสนุนเลอเปนให้เหตุผลว่ามาครงคือพวกฝ่ายขวาเดิม เลือกถ้ามาครงก็ได้พรรคการเมืองเดิมๆ

อนาคตคือความไม่แน่นอน :
            เป็นคำถามที่ดีถ้าจะถามว่าการเมืองฝรั่งเศสมาจึงจุดนี้ได้อย่างไร พรรคการเมืองหลักหายไปไหน นักการเมืองผู้ช่ำชองเรืองนามทำไมถึงพ่ายแพ้การเลือกตั้ง
            พรรค FN ของเลอเปนทำงานการเมืองมานานแล้ว ที่ผ่านมาเป็นเพียงพรรคเล็กๆ ไม่มีผลงานบริหารประเทศ อะไรเป็นเหตุการก้าวขึ้นมาของเลอเปน คำตอบสั้นๆ คือพลเมืองฝรั่งเศสหลายคนปฏิเสธพรรคการเมืองกระแสหลัก เริ่มคุ้นชินกับนโยบายสุดโต่ง
            ขยายความว่าชาวฝรั่งเศสจำนวนหนึ่งไม่เชื่อวางใจนักการเมือง ไม่คิดว่าพวกเขากำลังทำหน้าที่เพื่อประชาชน เพื่อประเทศอย่างจริงจัง ดังรายงานวิจัยของ Harris Interactive for the French office of Transparency International เมื่อปี 2016 พบว่าชาวฝรั่งเศสร้อยละ 54 เห็นว่าชนชั้นปกครองของประเทศฉ้อฉล เฉพาะกลุ่ม ส.ส. ส.ว. ฉ้อฉลถึง 3 ใน 4 ประธานาธิบดีกับรัฐบาลมีเหตุอื้อฉาวอยู่เสมอ
นักการเมืองพยายามบอกให้ประชาชนรักษากฎหมาย แต่นักการเมืองนี่แหละที่ละเมิดกฎหมายมากกว่าใคร จึงคิดลองของใหม่ แม้มีความเสี่ยงแต่ดีกว่าที่ต้องอยู่กับการเมืองแบบเดิมๆ อีก จึงเป็นโอกาสของพวกประชานิยมและผู้สมัครหน้าใหม่อย่างที่เห็น

            อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาให้ดีพรรคการเมืองกระแสหลักยังอยู่อันดับที่ 3-5 ด้วยคะแนนที่ไม่ห่างจากเลอเปนมากนัก พรรคเก่าไม่ได้สูญเสียคะแนนทั้งหมด เพียงแต่เลอเปนสามารถขึ้นมานำเป็นอันดับ 2 ในการเลือกตั้งรอบแรก สภาพที่เกิดขึ้นควรอธิบายว่าเป็นเหตุการณ์เฉพาะกิจเท่านั้น จนกว่าพรรค FN จะสามารถครองฐานเสียงจำนวนมากอย่างถาวรเฉกเช่นพรรคใหญ่อื่นๆ ดังนั้น FN หรือเลอเปนจะก้าวขึ้นอย่างมั่นคงหรือไม่จึงเป็นเรื่องที่จะสรุปในอนาคต รวมความแล้วประเทศฝรั่งเศสยังอยู่ระหว่างการหาเส้นทางการปกครองใหม่ หลักนโยบายใหม่

            ในเชิงหลักการ การเลือกตั้งฝรั่งเศสแสดงให้เห็นความเข้มแข็งของประชาธิปไตยประเทศนี้ พลเมืองส่วนใหญ่ตัดสินใจเลือกด้วยเสรีภาพอย่างแท้จริง ไม่มีประเด็นซื้อสิทธิ์ขายเสียง ผลการเลือกตั้งจึงมาจากเจตน์จำนงพลเมือง เป็นเรื่องน่าชื่นชมไม่ว่าจะเลือกพรรคฝ่ายขวา ฝ่ายซ้าย ผู้สมัครหน้าใหม่ หรือสายประชานิยม
            ในอีกด้านหนึ่ง การที่สังคมฝรั่งเศสเบื่อหน่ายนักการเมือง พรรคกระแสหลัก หลายคนยอมรับการมีอยู่ของกลุ่มผู้ทรงอำนาจ (establishment) รวมทั้งเลอเปนกับมาครง มาครงยอมรับว่าฝรั่งเศสมีสิ่งที่เรียกว่าชนชั้นปกครอง กลุ่มผู้ทรงอำนาจ บ่อยครั้งที่คนเหล่านี้แสดงความไร้ศีลธรรม ตนตั้งใจปฏิรูปการเมืองเสียใหม่ ตั้งใจหาวิธีใหม่ๆ ต้องการให้ผู้ออกเสียงเลือกตั้งเชื่อถือไว้ใจผู้ที่เขาเลือก ปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน

            การดำรงอยู่ของกลุ่มผู้ทรงอำนาจที่ไม่ได้ทำเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติเป็นเครื่องบ่งชี้ความอ่อนแอของประชาธิปไตยฝรั่งเศสหรือไม่ เพราะ ส.ส. ส.ว. มาจากการเลือกโดยพลเมืองฝรั่งเศสมิใช่หรือ จะเกินไปหรือไม่ถ้าจะพูดว่าเสรีภาพทางการเมืองของคนฝรั่งเศสเป็นเสรีภาพที่อยู่ใต้การครอบงำของชนชั้นปกครอง ที่ประชาชนเป็นผู้ยินยอมมอบให้

            ถ้ามองอนาคต ประเด็นสำคัญที่ต้องเข้าใจคือการเลือกตั้งประธานาธิบดีไม่ใช่จุดสิ้นสุด การแข่งขันครั้งสำคัญรออยู่เดือนหน้า (มิถุนายน) นั่นคือการเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว. ทั่วประเทศ  คำถามสำคัญคือพรรค FN ของเลอเปนจะได้กี่ที่นั่ง (ปัจจุบันมีแค่ 2) พรรคหลักอื่นๆ จะสูญเสียคะแนนมากเพียงใด
            มีแนวโน้มว่าหากมาครงชนะเลือกตั้งรัฐบาลชุดใหม่จะเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค เกิดคำถามว่ารัฐบาลใหม่ยังประกอบด้วย ส.ส. ส.ว. หน้าเดิมๆ หรือไม่ ประธานาธิบดีมาครงจะสามารถควบคุมกลุ่มอำนาจเก่าได้แค่ไหน หรือเป็นเพียงวาทะหาเสียงเท่านั้น มาครง “กำลังต่อสู้เพื่อประเทศ (the Republic) กับเสรีประชาธิปไตย” จริงหรือไม่ นี่เป็นคำถามจากพวกต่อต้านขั้วอำนาจเดิม

            ตำราตะวันตกมักยกย่องฝรั่งเศสว่าเป็นหนึ่งในต้นแบบประชาธิปไตย การปฏิวัติสู่ประชาธิปไตยแบบตัวแทนสมัยใหม่ (modern representative democracy) ที่แรกของยุโรป ชี้ให้เห็นถึงจิตวิญญาณของปัจเจกผู้รักเทิดทูนเสรีภาพ ต่อสู้เสียเลือดเนื้อเพื่อเสรีภาพ แต่งานศึกษาระยะหลังพบว่ามีความซับซ้อนกว่านั้นมาก ไม่สามารถอธิบายง่ายๆ อีกทั้งมีผู้ให้คำอธิบายแตกต่างกัน
นักวิชาการสมัยใหม่บางคนเห็นว่าต้นเหตุการปฏิวัติไม่ได้มาจากพวก bourgeoisie เท่านั้น กลุ่มที่เป็นต้นเหตุสำคัญคือพวกข้าราชการกับนักกฎหมายที่ไม่ใช่ขุนนาง (non-noble officeholders and legal professions) ความต้องการของคนเหล่านี้ไม่ใช่เพื่อการค้าการลงทุนอย่างที่พวก bourgeoisie ต้องการ พวกเขาต้องการเข้าถึงความเป็นขุนนาง มีอภิสิทธิ์และใช้ชีวิตอย่างขุนนาง
การช่วงชิงอำนาจทำให้ระบอบอ่อนแอ สังคมปั่นป่วนวุ่นวาย จากนั้นกลุ่มอื่นๆ เข้าร่วมช่วงชิงอำนาจบริหารจัดการประเทศ กลายเป็นความวุ่นวายที่ควบคุมไม่ได้ เป็นรัฐล้มเหลว (state failure) ส่งผลให้ระบบล่มสลาย เกิดสุญญากาศทางการเมือง เปิดช่องให้กับแนวคิดใหม่ ระบอบการปกครองใหม่ ขั้วอำนาจใหม่
ดังนั้น การล่มสลายของระบอบกษัตริย์จึงไม่ได้มาจากอุดมการณ์ทางการเมืองใดๆ โดยตรง ไม่ใช่เรื่องของประชาชนผู้รักเสรีภาพ เป็นเพียงผลของความปั่นป่วนวุ่นวายที่ควบคุมไม่ได้

ทุกวันนี้ในทางวิชาการยังปราศจากข้อสรุปที่ยอมรับกันทั่วไปว่าอะไรคือต้นเหตุปฏิวัติฝรั่งเศส รวมทั้งอะไรคือเป้าหมายของการปฏิวัติครั้งนั้น แนวคำตอบใหม่ๆ ชี้ว่าไม่ใช่เพื่อประชาธิปไตยอย่างที่หลายคนเข้าใจ ที่แน่นอนคือนับจากปฏิวัติฝรั่งเศส (ค.ศ.1789) เกือบ 230 ปีแล้วที่ประเทศนี้ยังอยู่ระหว่างแสวงหาการปกครอง หลักนโยบายที่เหมาะสมกับตัวเอง
7 พฤษภาคม 2016
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 21 ฉบับที่ 7485 วันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2560)
----------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง 
ความเป็นประชานิยมเป็นความหวังของพลเมืองฝรั่งเศสหลายคน หลายนโยบายแสดงถึงการไม่ยึดติดแนวทางเดิม ต่อต้านระบอบอำนาจที่ขัดขวางความเจริญรุ่งเรือง การเลือกตั้งปีนี้เห็นชัดว่ากระแสประชานิยมกำลังก้าวขึ้นมา ในอีกด้านหนึ่งการต่อต้านโลกาภิวัตน์เป็นการกล่าวอ้างเกินจริง การถอนตัวจากนาโตอาจบั่นทอนความมั่นคงมากกว่าเดิม การต่อต้านมุสลิมเห็นได้ชัดว่าประชาธิปไตยกำลังถดถอย เลอเปนทำทุกอย่างเพื่อให้ชนะเลือกตั้งเท่านั้น ไม่สนใจผลเสียที่จะตามมา
บรรณานุกรม:
1. As it happened: Macron and Le Pen repeatedly clash in final French election debate. (2017, May 4). The Local. Retrieved from https://www.thelocal.fr/20170504/french-debate-live-macron-vs-le-pen-in-tv-clash-before-election
2. Bershidsky, Leonid. (2017, February 10). Think the U.S. Election Was Dirty? Look at France. Bloomberg. Retrieved from https://www.bloomberg.com/view/articles/2017-02-10/think-the-u-s-election-was-dirty-look-at-france
3. Deen, Mark., Amiel, Geraldine. (2017, May 2). Macron Mocks Le Pen's ‘Monopoly Money’ Amid Paris Demonstrations. Bloomberg. Retrieved from https://www.bloomberg.com/politics/articles/2017-05-01/macron-mocks-le-pen-s-monopoly-money-amid-paris-demonstrations
4. Deen, Mark., Follain, John. (2017, April 24). France Braces for Runoff Between Nationalism and Globalism. Bloomberg. Retrieved from https://www.bloomberg.com/politics/articles/2017-04-24/france-braces-for-runoff-fight-between-nationalism-and-globalism
5. French election: Le Pen hails 'historic' result. (2017, April 24). Gulf News. Retrieved from http://gulfnews.com/news/europe/france/french-election-le-pen-hails-historic-result-1.2016052
6. Fouquet, Helene., Viscusi, Gregory. (2017, February 20). Le Pen Advances in French Polls as Security Concerns Sway Voters. Bloomberg. Retrieved from https://www.bloomberg.com/politics/articles/2017-02-20/le-pen-advances-in-french-polls-as-security-concerns-sway-voters
7. Heyer, Julia Amalia., Sandberg, Britta. (2017, March 17). 'I Am Offering the French Renewal'. Spiegel Online. Retrieved from http://www.spiegel.de/international/europe/emmanuel-macron-interview-on-french-election-campaign-a-1139214.html
8. Kidner, Frank L., Bucur, Maria., Mathisen, Ralph., McKee, Sally. & Weeks, Theodore R. (2009). Making Europe People Politics and Culture. USA: Houghton Mifflin.
9. Kirby, Paul. (2017, April 27). Does Le Pen have a chance of winning French presidency?
 BBC. Retrieved from http://www.bbc.com/news/39719866
10. Macron tells French voters democracy is under threat from 'anti-France' Le Pen. (2017, May 2). The Local. Retrieved from https://www.thelocal.fr/20170502/france-election-emmanuel-macron-tells-french-voters-democracy-is-under-threat-from-anti-france-le-pen
11. McAuley, James . (2017, May 2). Where is France's famed ‘Republican Front’ in 2017? The Washington Post. Retrieved from https://www.washingtonpost.com/world/europe/where-is-frances-famed-republican-front-in-2017/2017/05/02/3a9b15fa-f764-4bec-9526-9292712fdd6e_story.html?utm_term=.f6b2af9f07fe
12. McPhee, Peter. (Ed.). (2013). A Companion to the French Revolution. USA: Blackwell Publishing.
13. Nossiter, Adam. (2017, April 27). Facing Tough Odds in French Vote, Le Pen Assails Macron. The New York Times. Retrieved from https://www.nytimes.com/2017/04/27/world/europe/france-marine-le-pen-emmanuel-macron.html?_r=0
14. Serhan, Yasmeen. (2017, February 24). Marine Le Pen: Madame Présidente? The Atlantic. Retrieved from https://www.theatlantic.com/news/archive/2017/02/marine-le-pen-france/517155/
15. The Latest: France’s Macron asks his critics to fight Le Pen. (2017, May 1). The Washington Post/AP. Retrieved from https://www.washingtonpost.com/business/the-latest-macron-honors-man-killed-by-french-far-right/2017/05/01/f814e4d6-2e48-11e7-a335-fa0ae1940305_story.html
-----------------------------