ประธานาธิบดีทรัมป์ทวิชข้อความว่าอดีตประธานาธิบดีบารัก
โอบามา (Barack Obama) ดักฟังโทรศัพท์ของตนในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง
แต่ ณ ขณะนั้นไม่ได้ฟ้องร้องหน่วยงานใด ต่อมาอ้างว่าเนื่องจากข้อมูลดักฟังมาจากสื่อ
The New York Times ฉบับวันที่ 20 มกราคม
ตนไม่ชอบสื่อดังกล่าวจึงไม่ดำเนินการฟ้องร้องโอบามาในขณะนั้น ด้าน The
New York Times แย้งว่าที่นำเสนอคือ
“ข้อมูลที่ได้จากการดักฟังถูกนำไปใช้ในการสอบสวนทีมผู้ช่วยทรัมป์”
ไม่ได้ระบุว่าโอบามาสั่งดักฟังช่วงเลือกตั้ง
เรื่องที่
The New York Times เอ่ยถึงคือเจ้าหน้าที่ FBI ดักฟังการติดต่อสารทีมงานทรัมป์ รวมทั้ง Roger Stone, Carter Page และ Paul Manafort (คนเหล่านี้เป็นทีมงานใกล้ชิด)
เพื่อหาความเชื่อมโยงกับรัสเซียตามที่ประธานาธิบดีได้ลงนามในคำสั่งหลังฝ่ายการเมืองเรียกร้อง
ไม่ได้ดักฟังทรัมป์แต่อย่างไร
คำกล่าวหาของทรัมป์เป็นเรื่องร้ายแรงเพราะหากประธานาธิบดีโอบามาทำเช่นนั้นเท่ากับผิดกฎหมาย
ใช้อำนาจดักฟังผู้สมัครฝ่ายตรงข้ามในช่วงเลือกตั้ง
อีกทั้งการตรวจสอบติดตามพลเมืองอเมริกันจะต้องมีหมายศาล มีมูลเหตุน่าสงสัย
ลำพังคำสั่งประธานาธิบดีไม่สามารถทำได้
หลักฐานที่ทรัมป์อ้างถึงจึงไม่ถูกต้อง
ต่อมาทรัมป์ทวิชข้อความอีกว่า “เพิ่งค้นพบว่าโอบามาดักฟัง Trump
Tower ไม่นานก่อนชนะเลือกตั้ง" โดยไม่ได้แสดงหลักฐานใดๆ
Kellyanne Conway ที่ปรึกษาใกล้ชิดของทรัมป์คิดว่าการตรวจสอบติดตามทรัมป์ไม่ใช่เรื่องดักฟังทีมงานในช่วงหาเสียงเท่านั้น
ทั้งยังทำต่ออาคาร Trump Tower ศูนย์อำนวยการเลือกตั้งด้วยวิธีหลากหลายไม่เฉพาะดักฟังโทรศัพท์
อย่างไรก็ตาม Conway ไม่ได้แสดงหลักฐานตามคำกล่าวหาเช่นกัน
Conway ยังเชื่อว่าพวกเดโมแครทพยายามจะล้มรัฐบาลทรัมป์
เพราะไม่คิดว่าจะแพ้เลือกตั้ง จึงต้องใช้ทุกวิถีทาง
พูดเป็นนัยว่าการเชื่อมโยงทรัมป์กับรัสเซียคือหนึ่งในวิธีดังกล่าว
อดีตประธานาธิบดีโอบามาโต้ว่าไม่ได้ดักฟังทรัมป์ตามคำกล่าวหาแต่อย่างไร
16 มีนาคม แกนนำคณะกรรมาธิการด้านการข่าววุฒิสภา (Senate intelligence
committee) ทั้งรีพับลิกันกับเดโมแครทร่วมแถลงว่าจากข้อมูลที่มีอยู่ไม่พบการแอบตรวจสอบติดตาม
Trump Tower จากหน่วยงานใดๆ ทั้งก่อนและหลังเลือกตั้ง
คณะกรรมาธิการด้านการข่าวสภาผู้แทนราษฎรให้ข้อสรุปเดียวกัน (คณะกรรมาธิการฯ
มีหน้าที่ตรวจสอบกิจกรรมการข่าวของรัฐ เข้าถึงข้อมูลหน่วยงานต่างๆ)
ถึงกระนั้นประธานาธิบดีทรัมป์ยังยืนยันว่ามีการดักฟังจริง
ไม่สนการชี้แจงใดๆ Sean Spicer โฆษกทำเนียบขาวโต้ว่าเหตุที่คณะกรรมาธิการได้ข้อสรุปเช่นนั้นเพราะไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลอย่างครบถ้วน
ทีมงานทรัมป์มองว่าเป็นอำนาจครอบงำทำเนียบขาวจากกลุ่มผู้ทรงอำนาจเดิม (establishment)
และเป็นอีกเหตุผลที่สื่อกระแสหลักมักรายงานข่าวลบต่อรัฐบาล
ถ้าคิดว่าเป็นข้อแก้ตัวของฝ่ายทรัมป์
ในทางการเมืองย่อมหาข้ออ้างได้ตลอด และถ้าคิดว่ากลุ่มผู้ทรงอำนาจเดิมมีจริง อาจเป็นอีกหลักฐานชี้ว่าทรัมป์กำลังถูกเล่นงาน
ไม่กี่วันต่อมาทรัมป์อ้างว่าเขามีหลักฐานลับที่ไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน
พร้อมส่งให้คณะกรรมาธิการตรวจสอบในไม่ช้า
ที่รั้งรออยู่เพราะเกรงว่าจะทำให้หน่วยงานเสื่อมเสีย
ต่อมามีประเด็นว่าสำนักข่าวกรองแห่งชาติอังกฤษ
(GCHQ) ช่วยโอบามาดักฟังทรัมป์ แต่ GCHQ ปฏิเสธ ควรเข้าใจว่าระบบการข่าวของสหรัฐในปัจจุบันเป็นระบบที่ร่วมมือกับพันธมิตรหลายประเทศเพื่อเก็บข่าวกรองจากทุกมุมโลก
อังกฤษเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย “Five Eyes” ที่สหรัฐเป็นแกนนำ
ดังนั้น ย่อมมีความเป็นไปได้หากทีมพิเศษของ GCHQ ทำงานอย่างลับๆ
ด้านทำเนียบขาวออกมาขอโทษ
GCHQ แทนผู้ดำเนินรายการฝั่งสหรัฐที่กล่าวหาอย่างผิดๆ แต่ไม่กี่วันต่อมาทรัมป์แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยที่ต้องขอโทษอังกฤษ
ชี้ว่าที่ Spicer พูดถึง GCHQ
เพราะใช้ข้อมูลจากสำนักข่าวแห่งหนึ่ง ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงไม่ได้ทำผิดอะไร ถ้ายังมีข้อสงสัยให้ถามสื่อไม่ใช่มาถามรัฐบาล
แต่ผู้ดำเนินรายการคนดังกล่าวหายไปจากเวที ไม่ปรากฎตัวอีก
การแก้ตัวแบบทรัมป์ทำให้เกิดประเด็นว่าโฆษกทำเนียบขาวสมัยนี้ตกต่ำถึงขนาดต้องอ้างอิงข้อมูลจากสำนักข่าว
และเมื่อพบความผิดพลาดก็โทษสื่อ แต่ไม่โทษตัวเอง
20 มีนาคม James
B. Comey ผู้อำนวยการ FBI แถลงว่าไม่มีข้อมูลบ่งชี้ว่าอดีตประธานาธิบดีโอลามาสั่งตรวจสอบติดตาม
Trump Tower ในช่วงหาเสียง FBI
ได้ตรวจสอบหน่วยงานตนเองอย่างละเอียดแล้วไม่พบข้อมูลหลักฐานใดๆ
และโดยกฎหมายไม่สามารถทำได้ เช่นเดียวกับ Michael S. Rogers ผู้อำนวยการสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ
(National Security Agency: NSA) ให้ข้อสรุปเดียวกัน
ก่อนหน้านี้ไม่กี่วันกระทรวงยุติธรรมมีหนังสือชี้ว่าไม่พบหลักฐานเช่นกัน
ประเด็นซับซ้อนขึ้นอีก
เมื่อ Devin Nunes ประธานคณะกรรมาธิการด้านการข่าวสภาผู้แทนราษฎร
สังกัดพรรครีพับลิกันกล่าวในเวลาต่อมาว่าไม่มีการดักฟังทางสาย (wiretap) ต่อตึก Trump Tower แต่มีหน่วยงานความมั่นคงคอยติดตามประธานาธิบดีกับทีมงานอย่างลับๆ
“โดยถูกกฎหมาย” เป็นระเบียบปฏิบัติที่มีอยู่แล้ว เช่น
ในกรณีติดต่อกับทูตต่างประเทศ หรือที่เรียกว่า “incidental
collection”
Nunes
ให้ความเข้าใจว่าแท้จริงแล้วประธานาธิบดีกับทีมงานอยู่ภายใต้การติดตามอย่างลับๆ
เพื่อป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย เป็นกระบวนการตรวจสอบมาตรฐานที่ทำกันเรื่อยมา แต่ไม่เกี่ยวข้องกับดักฟังเพื่อประโยชน์ในช่วงเรื่องหาเสียง
ความเข้าใจตามมาอีกประการคือ
หน่วยงานความมั่นคงบางส่วนมีอำนาจมากถึงขั้นแอบติดตามประธานาธิบดี ซึ่งเท่ากับรู้ความลับเรื่องสำคัญมากมาย
อย่างไรก็ตามข้อมูลที่ Nunes ให้น่าจะเป็นเชิงหลักการ
คงมีรายละเอียดซับซ้อน
ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องมีหน่วยงานลับล่วงรู้ความลับทุกอย่างของประธานาธิบดี
แต่จะดักฟังขณะหาเสียงหรือไม่นั้น
หน่วยงานราชการทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างออกมาแถลงว่า “ไม่มี”
วิเคราะห์ องค์รวมและสรุป :
ประการแรก
การตรวจสอบติดตามทางลับด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง
สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติบรรยายว่าตัวเองเป็นหน่วยงานด้านการข่าว
มีหน้าที่เก็บรวบรวมข่าวกรองต่างประเทศ รวมถึงการต่อต้านหน่วยข่าวกรองต่างชาติ
รวบรวมข้อมูลผ่านสื่อสัญญาณทุกชนิด เช่น สัญญาณวิทยุ สัญญาณตามสาย
และคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าทุกรูปแบบ (อีเมล ข้อความสั้นหรือ SMS ล้วนอยู่ในข่ายทั้งสิ้น)
สำนักงานฯ
จะเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลแล้วส่งให้ฝ่ายนโยบายและกองทัพตามต้องการ
ลำดับความสำคัญของข้อมูลที่จัดเก็บขึ้นกับนโยบายของประธานาธิบดี ทีมที่ปรึกษาความมั่นคง
และเจ้าหน้าที่ผู้เรียงลำดับความสำคัญ
โดยพื้นฐานแล้วระบบการข่าวมีขีดความสามารถสูงมาก
เพราะหลักพื้นฐานการข่าวคือ “ความลับ” “ไม่มีใครรู้เห็น”
ต้องไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามจับได้ ซึ่งหมายถึงความปลอดภัย ได้ข้อมูลที่เป็นจริง
กรณีนายกฯ แมร์เคิลถูกดังฟังเมื่อปี 2013 เป็นกรณีตัวอย่างที่ดี
ทางการเยอรมันจับได้ว่าสหรัฐดักฟังโทรศัพท์มือถือ นายกฯ แมร์เคิลถึงกับกล่าวว่า
“เรายังเป็นพันธมิตร... แต่การเป็นพันธมิตรจะต้องสร้างบนความไว้ใจต่อกัน”
การดักฟังการสอดแนมไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่
รัสเซียกับจีนน่าจะกำลังทำเช่นนี้กับเยอรมนี แต่เมื่อพบว่าพันธมิตรสหรัฐเป็นผู้กระทำเสียเอง
เป็นการทำลายความไว้วางใจต่อกัน และต้องหยุดทันที
ถ้าตัดประเด็นการเป็นพันธมิตรหรือศัตรู
การดักฟังโทรศัพท์มือถือของนายกฯ แมร์เคิลให้ความเข้าใจว่าเทคโนโลยีของสหรัฐสูงถึงขั้นสามารถเจาะเข้าระบบป้องกันของเยอรมัน
ประเทศผู้เป็นเลิศทางเทคโนโลยีของโลกเช่นกัน ดังนั้น หากโทรศัพท์ของนายกฯ
เยอรมันยังถูกดักฟัง นับประสาอะไรกับการดักฟังคนอื่นๆ
ประการที่
2 ไม่ตัดความเป็นไปได้ทั้งหมด
ความเข้าใจจาก Devin
Nunes คือประธานาธิบดีกับทีมงานล้วนอยู่ภายใต้การติดตามอย่างลับๆ
ด้วยกันทั้งสิ้น เป็นไปตามกฎหมาย แม้ไม่มีใครชี้ว่ามีการดักฟังช่วงหาเสียงแต่ด้วยระบบดักฟังที่มีอยู่ไม่อาจตัดความเป็นไปได้ทั้งหมดทิ้ง
เอกสารของ
NSA พูดถึงปฏิบัติการ Stateroom
ว่าเป็นการดักฟังสัญญาณจากอาคารสถานทูตที่อยู่ต่างประเทศ ศูนย์สื่อสารของรัฐบาล
ปฏิบัติการดังกล่าวเป็นความลับที่แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ในสถานทูตเหล่านั้นก็ไม่ทราบข้อเท็จจริง
อุปกรณ์เครื่องมือสอดแนมต่างๆ จะได้รับการปกปิดหรือตกแต่งเพื่อไม่ให้คนอื่นล่วงรู้ว่าคืออะไร
ข้อมูลชิ้นนี้ให้ความเข้าใจชัดเจนว่ามีชั้นความลับที่เข้าถึงไม่ได้ ถ้าคิดเข้าข้างทรัมป์
เป็นไปได้หรือไม่ว่าเจ้าหน้าที่บางคนของหน่วยงานลับทำงานด้วยคำสั่งที่ตรวจสอบไม่ได้
เป็นเหตุผลว่าคณะกรรมาธิการด้านการข่าวไม่พบหลักฐานใดๆ
เป็นไปได้หรือไม่ที่มีผู้พยายามหาหลักฐาน
นำสู่การ Impeachment ประธานาธิบดี เช่น
เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่อยมา
ทรัมป์อาจรู้ระแคะระคายจึงพยายามหาทางสกัด
หรือหวังผลอย่างใดอย่างหนึ่ง
โดยสรุปแล้ว
ถ้าตัดประเด็นความสับสนของประธานาธิบดีทรัมป์ ประธานาธิบดีโอบามาไม่เคยสั่งให้ดักฟังช่วงหาเสียง
ทรัมป์ยังเชื่อว่าตนถูกตรวจสอบติดตามอย่างลับๆ จากทีมลับสุดยอดที่ไม่สามารถตรวจสอบด้วยระบบที่มีอยู่
และไม่อาจรู้ได้ว่าใครอยู่เบื้องหลัง จะเป็นกลุ่มผู้ทรงอำนาจตามที่ฝ่ายทรัมป์ตั้งข้อสังเกตหรือไม่
บทความนี้เพียงเสนอแง่มุมวิเคราะห์อีกแบบ
ไม่มีเจตนาชี้นำว่าความคิดของทรัมป์ถูกต้องหรือไม่
ทุกอย่างควรพิสูจน์ด้วยข้อมูลหลักฐานที่เชื่อได้ ปรากฏต่อสาธารณะ
มิฉะนั้นจะเป็นเพียงปริศนาที่รอคำตอบ
นี่คืออีกส่วนของการเมืองอเมริกาและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศปัจจุบัน
2 เมษายน 2016
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 21 ฉบับที่ 7450 วันอาทิตย์ที่ 2 เมษายน พ.ศ.2560)
-------------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
ในยามที่การสอดแนม การจารกรรมจาก NSA กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั่วโลก คุณอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมันได้ประกาศนโยบายต่อต้านการสอดแนมอันเกินกว่าเหตุ
ด้วยการริเริ่มและการดำเนินอย่างจริงจัง
ทำให้อีกหลายประเทศทั่วโลกต่างเข้ามาประสานพลัง ต่อต้านการสอดแนมจาก NSA และได้เห็นแบบอย่างภาวะผู้นำโลกของเยอรมนีในหลายด้าน
นับวันคนทั่วโลกจะรับทราบข้อมูลการสอดแนมของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐหรือ
NSA และกลายเป็นที่วิพากษ์ว่าเหมาะสมหรือไม่
รัฐบาลหลายประเทศไม่อาจทนนิ่งเฉยต้องหากไม่ต่อต้านการสอดแนมก็คือต่อต้านการเปิดโปง
เรื่องที่เกิดขึ้นมีข้อคิดหลายแง่มุม เช่น
มีความจำเป็นเพื่อการต่อต้านการก่อการร้าย เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนคนนับล้าน
การกระทบต่อความมั่นคงของชาติ เรื่องของนายเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดนยังไม่จบเพียงเท่านี้
1. Ackerman, Spencer., Siddiqui, Sabrina. (2017, March
16). Senate intelligence chiefs of both parties reject Trump wiretapping claim.
The Guardian. Retrieved from
https://www.theguardian.com/us-news/2017/mar/16/wiretapping-trump-tower-senate-intelligence-committee
2. Baker, Peter., Savage, Charlie. (2017, March 16). Trump
Digs In on Wiretap, No Matter Who Says Differently. The New York Times.
Retrieved from https://www.nytimes.com/2017/03/16/us/politics/richard-burr-mark-warner-trump-wiretap.html?_r=0
3. Carroll, Lauren. (2017, March 16). Donald Trump says he
learned Obama tapped his phones from the New York Times. Politifact.
Retrieved from
http://www.politifact.com/truth-o-meter/statements/2017/mar/16/donald-trump/donald-trump-says-he-learned-obama-tapped-his-phon/
4. Gambino, Lauren., Rawlinson, Kevin. (2017, March
16). GCHQ dismisses 'utterly ridiculous' claim it helped wiretap Trump. The
Guardian. Retrieved from
https://www.theguardian.com/us-news/2017/mar/16/gchq-denies-wiretap-claim-trump-obama
5. Kelly, Mike. (2017, March 15). Kellyanne Conway alludes
to even wider surveillance of Trump campaign. North Nersey.com.
Retrieved from
http://www.northjersey.com/story/news/columnists/mike-kelly/2017/03/12/mike-kelly-conway-suggests-even-wider-surveillance-trump-campaign/99060910/
6. Merkel calls US spying breach of trust. (2013, October
24). Al Jazeera. Retrieved from http://www.aljazeera.com/news/europe/2013/10/merkel-calls-us-spying-breach-trust-2013102416161685214.html
7. Nakashima, Ellen., Demirjian, Karoun., Barrett, Devlin.
(2017, March 20). FBI Director Comey: Justice Dept. has no information that
supports Trump’s tweets alleging he was wiretapped by Obama. The Washington
Post. Retrieved from
https://www.washingtonpost.com/world/national-security/fbi-director-to-testify-on-russian-interference-in-the-presidential-election/2017/03/20/cdea86ca-0ce2-11e7-9d5a-a83e627dc120_story.html
8. National Security Agency. (2013, October). The National
Security Agency: Missions, Authorities, Oversight and Partnerships. Retrieved
from http://www.NSA.gov/public_info/_files/speeches_testimonies/2013_08_09_the_NSA_story.pdf
9. 'Out of Hand': Europe Furious Over US Spying
Allegations. (2013, October 24). Spiegel Online. Retrieved from http://www.spiegel.de/international/world/angry-european-and-german-reactions-to-merkel-us-phone-spying-scandal-a-929725.html
10. Qiu, Linda. (2017, March 23). Fact Check: Trump Misleads
About The Times’s Reporting on Surveillance. The New York Times.
Retrieved from
https://www.nytimes.com/2017/03/23/us/politics/fact-check-trump-misleads-surveillance-wiretapping.html?_r=0
11. Scherer, Michael. (2017, March 23). Can President Trump
Handle the Truth? Time. Retrieved from http://time.com/4710614/donald-trump-fbi-surveillance-house-intelligence-committee/?xid=homepage
12. Swinford, Steven. (2017, March 17). US makes formal
apology to Britain after White House accuses GCHQ of wiretapping Trump Tower. The
Telegraph. Retrieved from
http://www.telegraph.co.uk/news/2017/03/17/us-makes-formal-apology-britain-white-house-accuses-gchq-wiretapping/
13. Swinford, Steven. (2017, March 18). Donald Trump fuels
diplomatic row with Britain after apology from US officials over GCHQ
wiretapping claims. The Telegraph. Retrieved from
http://www.telegraph.co.uk/news/2017/03/17/us-makes-formal-apology-britain-white-house-accuses-gchq-wiretapping/
14. White House defends Trump's wiretapping claim, playing
down FBI's Russia-link probe. (2017, March 21). Xinhua. Retrieved from
http://news.xinhuanet.com/english/2017-03/21/c_136143833.htm
-----------------------------