เป็นความจริงที่ทุกประเทศต่างสอดแนมซึ่งกันและกัน
ไม่มีประเทศใดต้องการเพลี่ยงพล้ำหรือพ่ายแพ้ในศึกสงคราม การข่าวกรองเป็นส่วนหนึ่งของสงคราม
เป็นเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ ไม่มีใครปฏิเสธความสำคัญความจำเป็นของการข่าว ในยามที่ข้อมูลการข่าวกรองของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ
(National Security Agency หรือ NSA) ถูกนำออกเปิดเผยมากขึ้นเรื่อยๆ
คุณอังเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) นายกรัฐมนตรีเยอรมันสามารถใช้ประโยชน์จากการเปิดโปงของนายเอ็ดเวิร์ด
สโนว์เดนในหลายด้าน ทั้งด้านการเมืองภายในประเทศ การเมืองระหว่างประเทศ ทั้งหมดนี้แสดงถึงภาวะผู้นำที่น่าชื่นชม
พอจะสรุปประเด็นสำคัญๆ ได้ดังนี้
ประการแรก
ไม่ยอมรับสภาพ มีความเป็นตัวของตัวเอง
เมื่อเหตุการณ์ดักฟังที่รั่วไหลออกมาไม่สามารถปิดบังสังคมได้อีกต่อไป ทางการเยอรมันเริ่มชี้ว่าการดักฟังเป็นเรื่องที่รับไม่ได้
ไม่ว่าจะเป็นการดักฟังผู้นำประเทศหรือประชาชน ให้เหตุผลการดักฟังประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการก่อการร้ายเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
การดักฟังผู้นำประเทศเป็นการทำลายความไว้วางใจต่อกันอย่างรุนแรง โดยเฉพาะเมื่อผู้กระทำคือมิตรประเทศสำคัญ
รัฐบาลเยอรมันเรียกร้องขอคำชี้แจงจากรัฐบาลอเมริกัน
เรียกร้องให้ยุติการสอดแนมทันที ไม่กี่วันต่อมารัฐบาลอเมริกาตอบสนองโดยดี นายเจย์
คาร์นีย์ (Jay Carney) โฆษกทำเนียบขาวแถลงว่า
“ท่านประธานาธิบดีให้ความมั่นใจแก่นายกรัฐมนตรี (เยอรมัน) ว่าสหรัฐไม่ได้กำลังติดตามและไม่คิดติดตามการสื่อสารของนายกฯ
แมร์เคิล”
สองสามปีที่ผ่านมา
นโยบายต่างประเทศของเยอรมนีแตกต่างจากสหรัฐในเรื่องสำคัญหลายเรื่อง เช่น
ไม่ออกเสียงสนับสนุนการจัดตั้งเขตห้ามบินในลิเบีย
(เป็นต้นเหตุทำให้กองทัพรัฐบาลกัดดาฟีถูกทำลาย ฝ่ายต่อต้านสามารถล้มล้างรัฐบาลได้ในที่สุด)
ไม่สนับสนุนการโจมตีกองทัพรัฐบาลซีเรีย และกรณีล่าสุดคือพฤติกรรมสอดแนมของอเมริกา
อันที่จริงแล้วเยอรมนีกับสหรัฐมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดในหลายด้าน
ไม่ว่าจะเป็นด้านความมั่นคงทางทหารที่ทั้งคู่ต่างเป็นสมาชิกนาโต
มีความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ความร่วมมือทางการเมืองระหว่างประเทศและอื่นๆ อีกมากมาย ผ่านความตึงเครียดในช่วงสงครามเย็นด้วยกัน
แต่ความร่วมมือดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าจะต้องเห็นด้วยทุกเรื่องเสมอไป การแสดงออกของเยอรมนีเป็นตัวอย่างแก่การเป็น
“มิตรประเทศ” ว่าไม่จำต้องเห็นด้วยทุกเรื่องหรือทำตามทุกอย่างเสมอไป
เยอรมนีเป็นรองสหรัฐในทุกด้าน
แต่ท่าทีอันแข็งกร้าว การไม่อยู่นิ่งเฉย ไม่ยอมรับสภาพที่ถูกสอดแนม
การมีจุดยืนในนโยบายของตนเองคือสิ่งแรกที่แสดงถึงความเป็นผู้นำของชาติที่เข้มแข็ง
มีศักดิ์ศรี
ประการที่สอง เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนในประเทศและทั่วโลก
ประการที่สอง เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนในประเทศและทั่วโลก
นายกฯ แมร์เคิล กล่าวว่า
“ไม่ใช่เรื่องของดิฉันเท่านั้นแต่เกี่ยวข้องกับพลเมืองเยอรมันทุกคน” ในอีกตอนหนึ่งกล่าวว่า
“ดิฉันของย้ำอีกครั้งว่าการสอดแนมระหว่างมิตรด้วยกันเป็นเรื่องที่ทุกคนรับไม่ได้
และเรื่องนี้ทำเพื่อพลเมืองทุกคนในประเทศเยอรมนี” ในฐานะผู้นำประเทศมีบทบาทปกป้องพลเมืองทุกคน
การแสดงจุดยืนดังกล่าวนับว่าไม่แปลก แต่จะได้ใจคนทั้งประเทศ เป็นวิธีการสร้างคะแนนนิยมที่ประหยัดที่สุดและยั่งยืนที่สุด
การแสดงจุดยืนของผู้นำเยอรมันส่งผลขยายออกไปสู่ประเทศอื่น
ทำให้หลายประเทศในสหภาพยุโรปออกมาแสดงจุดยืนร่วมกัน นายเอลิโอ ดิ รูโป (Elio
di Rupo) นายกรัฐมนตรีเบลเยียมกล่าวว่า “พวกเราไม่ยอมรับระบบการจารกรรมไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็ตาม”
และ “ต้องมีมาตรการ ... ที่ไม่ใช่ระดับประเทศ แต่เป็นมาตรการของยุโรป”
เช่นเดียวกับนายมาร์ค รูทท์ (Mark Rutte) นายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์กล่าวว่า
“เรื่องนี้เป็นเรื่องร้ายแรง ข้าพเจ้าสนับสนุน (นายกฯ แมร์เคิล) อย่างเต็มที่”
การแสดงออกของนายกฯ
แมร์เคิล จึงไม่เพียงได้ใจชาวเยอรมันเท่านั้น แต่ยังได้ใจคนทั่วทั้งยุโรปและที่อื่นๆ
ด้วย ทำให้ผู้คนทั่วโลกตระหนักในสิทธิความเป็นส่วนตัวที่จะต้องปกป้อง เป็นการส่งเสริมเสรีภาพของปัจเจกชน
ตรงข้ามกับ NSA ที่สอดแนมคนนับล้านทั่วโลก
การดึงความร่วมมือจากคนทั้งโลกเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่มหาศาล
ทำให้รัฐบาลหลายประเทศไม่ว่าจะเพื่อผลประโยชน์ในการบริหารประเทศหรือเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนต่างต้องให้ความร่วมมือ
ขอมีส่วนร่วมในการต่อต้านการสอดแนม
มาถึงขั้นนี้ชี้ว่านายกฯ
แมร์เคิลไม่ถอยแน่นอน เพราะชาวเยอรมันและอีกนับร้อยนับพันล้านคนทั่วโลกให้การสนับสนุน
ประการที่สาม
หาแนวร่วม ประสานพลังกับรัฐบาลยุโรปและทั่วโลก
ตั้งแต่การสอดแนมเป็นประเด็นร้อน
นายกฯ แมร์เคิลใช้วิธีประสานความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในสหภาพยุโรป เป็นอีกครั้งที่ได้แสดงบทบาทผู้นำของสหภาพยุโรป
นอกจากนี้ยังประสานกับนานาประเทศทั่วโลก ผลลัพธ์คือเยอรมนีกับบราซิลได้ร่วมกันจัดทำและได้ส่งร่างข้อมติต่อคณะกรรมาธิการสมัชชาสหประชาชาติ
เรียกร้องยุติการสอดแนมที่ปราศจากเหตุผลอันสมควร เนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่าสมาชิกสหประชาชาติ
“กังวลอย่างยิ่งต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการนำไปใช้ในทางที่ผิดอันเนื่องจากการสอดแนมนอกอาณาเขตหรือการดักจับการติดต่อสื่อสารที่อยู่ในอำนาจของศาลต่างประเทศ”
ความอีกตอนหนึ่งระบุว่า
“การสอดแนมการสื่อสารส่วนบุคคลและการดักจับข้อมูลส่วนตัวของพลเรือนเป็นเรื่องผิดกฎหมาย
เป็นการล่วงละเมิดสิทธิแห่งเสรีภาพในการแสดงออกและความเป็นส่วนตัวอย่างรุนแรง
คุกคามรากฐานของสังคมประชาธิปไตย”
มีกระแสข่าวว่าวงการทูตทั่วโลกให้การสนับสนุนอย่างล้นหลาม
เป็นความพยายามครั้งแรกของนานาชาติที่จะกีดกั้นการสอดแนมจากอีกประเทศหนึ่ง
เป็นการประสานพลังทางการเมืองระหว่างประเทศของนานาชาติเพื่อต้านการสอดแนม
ไม่ว่าร่างข้อมติดังกล่าวจะผ่านการพิจารณาหรือไม่
ไม่ว่าจะมีผลบังคับใช้มากน้อยเพียงไร ณ ขณะนี้เยอรมนีได้แสดงความเป็นผู้นำโลก
เป็นที่พึ่งของอีกหลายประเทศ
ประการที่สี่
แก้ไขอย่างครบถ้วน
เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมากระทรวงการต่างประเทศเยอรมันเรียกทูตอังกฤษเข้าพบเพื่อขอคำอธิบายในข้อกล่าวหาอังกฤษสอดแนมเยอรมนี
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่สื่อ The Independent ของอังกฤษรายงานว่าหน่วยข่าวกรองอังกฤษได้ตั้งสถานีดักฟังลับในสถานทูตอังกฤษประจำประเทศเยอรมนีในลักษณะเดียวกับที่สหรัฐกระทำ
ชี้ว่าอุปกรณ์ของอังกฤษสามารถดักสัญญาณโทรศัพท์มือถือ Wi-Fi และการสื่อสารทางไกลทั่วทั้งกรุงเบอร์ลินซึ่งรวมถึงรัฐสภาเยอรมันและทำเนียบรัฐบาล
เรื่องราวความร่วมมือระหว่างหน่วยข่าวกรองของสหรัฐกับอังกฤษเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก
และมีระบบมีชื่อเรียกต่างๆ มากมาย ยกตัวอย่าง เช่น Echelon คือระบบสอดแนมที่สหรัฐดำเนินการร่วมกับอังกฤษ
แคนาดา ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เพื่อดักจับสัญญาณทั่วโลก ประกอบด้วยสัญญาณโทรศัพท์
แฟกซ์ อีเมล สัญญาณดาวเทียม สัญญาณไมโครเวฟ สัญญาณโทรศัพท์มือถือ
และสัญญาณที่ผ่านสายไฟเบอร์ออฟติก ผ่านสถานีดักฟังที่ตั้งไว้ตามจุดต่างทั่วโลก
รวมทั้งระบบดาวเทียมจารกรรม
โครงการภายใต้ชื่อ
PRISM ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลใน Yahoo กับ
Google ได้อย่างถูกกฎหมายผ่านการรับรองของศาล และยังมีโครงการ
MUSCULAR สามารถเจาะเข้าระบบ clouds
ของ Yahoo กับ Google สามารถดักข้อมูลแบบ
real time
เอกสารของ NSA ยังพูดถึงปฏิบัติการ Stateroom ว่าเป็นการดักฟังสัญญาณจากอาคารสถานทูตของตนที่อยู่ต่างประเทศ
ปฏิบัติการดังกล่าวเป็นความลับที่แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ในสถานทูตก็ไม่ทราบข้อเท็จจริง
อุปกรณ์เครื่องมือสอดแนมต่างๆ ได้รับการปกปิดหรือตกแต่งเพื่อไม่ให้คนอื่นล่วงรู้ว่าคืออะไร
รวมความแล้ว สหรัฐกับอังกฤษมีโครงการมีวิธีการสอดแนมมากมาย
ดังนั้น การหยุดสหรัฐเพียงประเทศเดียวจึงไม่เพียงพอ ต้องหยุดประเทศอื่นๆ
ที่อยู่ในเครือข่ายด้วย โดยเฉพาะอังกฤษที่รับผิดชอบการสอดแนมทั่วทั้งยุโรปโดยตรง
การที่หน่วยข่าวกรองอังกฤษดักฟังรัฐสภากับทำเนียบนายกฯ เยอรมันก่อให้เกิดคำถามขึ้นว่าคนเหล่านี้เป็นภัยคุกคามต่ออังกฤษอย่างไร
เป็นพฤติกรรมที่มิตรประเทศควรกระทำต่อกันหรือไม่ คำว่า “มิตรประเทศ พันธมิตร”
ของสหรัฐกับอังกฤษมีความหมายตรงตามที่เอ่ยอ้างหรือไม่ การดักฟังไม่ใช่เรื่องความไม่เหมาะสมทางการทูตเท่านั้นแต่เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงเยอรมันอย่างยิ่ง
ในอีกแง่มุมหนึ่ง อธิบายด้วยตรรกะง่ายๆ ว่าบรรดานักการเมือง เจ้าหน้าที่ในรัฐสภาและทำเนียบรัฐบาลต้องไม่พอใจอย่างยิ่ง
เพราะเป็นธรรมดาที่ผู้นำมีอำนาจย่อมไม่อยากให้ใครมาล่วงรู้ความลับของตน
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความมั่นคงของชาติหรือเรื่องส่วนตัว ดังนั้น นักการเมืองเยอรมันทุกคนทุกพรรคต่างพร้อมใจกันต่อต้าน
เมื่อทบทวนเหตุการณ์ทั้งหมดจะพบว่าฝ่ายการเมืองเยอรมันแทบจะไม่ได้ลงทุนอะไรเลย
อาศัยเพียงการติดต่อทางการทูต การพูดผ่านสื่อก็สามารถบั่นทอนชื่อเสียงของอเมริกา
บั่นทอนระบบการจารกรรมของสหรัฐที่ลงทุนหลายหมื่นหลายแสนล้านดอลลาร์ เป็นอีกครั้งที่ชี้ว่าสติปัญญากับการยึดหลักความถูกต้องมีพลังอำนาจมากกว่างบประมาณมหาศาล
เทคโนโลยีอันซับซ้อน
หากวิเคราะห์ว่านายสโนว์เดนกำลังเป็นฝ่ายรุกเพื่อบั่นทอนความมั่นคงของสหรัฐ
การดำเนินนโยบายของรัฐบาลแมร์เคิลเท่ากับเป็นการเปิดแผลให้ใหญ่ขึ้น ให้เรื่องราวไปถึงสมัชชาสหประชาชาติ
และเป็นผู้ควบคุมเกมส์อีกคนหนึ่ง มีส่วนควบคุมทิศทางของประเด็น สามารถใช้ประโยชน์จากเรื่องที่เกิดขึ้น
รัฐบาลสหรัฐกับรัฐบาลอังกฤษจึงไม่ได้ปวดหัวเพราะนายสโนว์เดนเพียงคนเดียว ยังต้องเผชิญหน้ากับอีกหลายประเทศที่มีเยอรมนีเป็นแกนนำ
น่าชื่นชมนายกฯ
แมร์เคิลที่ได้แสดงบทบาทความเป็นผู้นำของประเทศ การแสดงบทบาทดังกล่าวไม่ได้มุ่งชื่อเสียงหรือผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นหลัก
แต่เป็นการปกป้องความมั่นคงของประเทศ ส่งเสริมเกียรติภูมิแห่งชาติ แสดงบทบาทผู้นำนานาประเทศ
ปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้คนทั่วโลก
ทั้งหมดนี้เพราะผู้นำประเทศเลือกที่จะทำหน้าที่ของตน
ไม่กลัวการเผชิญหน้า ดำเนินนโยบายอย่างมีสติปัญญา เดินหน้าเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม
ไม่ใช่แอบเจรจาลับกับใครเพื่อให้เรื่องจบๆ ไป
10 พฤศจิกายน 2013
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 6215 วันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2556)
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 18 ฉบับที่ 6215 วันอาทิตย์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2556)
-------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง:
นับวันคนทั่วโลกจะรับทราบข้อมูลการสอดแนมของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐหรือ
NSA และกลายเป็นที่วิพากษ์ว่าเหมาะสมหรือไม่
รัฐบาลหลายประเทศไม่อาจทนนิ่งเฉยต้องหากไม่ต่อต้านการสอดแนมก็คือต่อต้านการเปิดโปง
เรื่องที่เกิดขึ้นมีข้อคิดหลายแง่มุม เช่น
มีความจำเป็นเพื่อการต่อต้านการก่อการร้าย เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนคนนับล้าน
การกระทบต่อความมั่นคงของชาติ เรื่องของนายเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดนยังไม่จบเพียงเท่านี้
บรรณานุกรม:
1. “Press Briefing by Press Secretary
Jay Carney, 10/24/2013”. The White House. http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2013/10/25/press-briefing-press-secretary-jay-carney-10242013
accessed 25 October 2013.
2. Merkel calls US spying breach of trust. Al Jazeera.
http://www.aljazeera.com/news/europe/2013/10/merkel-calls-us-spying-breach-trust-2013102416161685214.html
24 October 2013.
3. 'That's Just Not Done': Merkel Comments on Spying
Allegations. Spiegel Online. http://www.spiegel.de/international/germany/merkel-comments-on-allegations-the-us-spied-on-her-cell-phone-a-929870.html
24 October 2013.
4. Press TV. 21 Nations United Nations Resolution against
the US for Spying on World Leaders. Global Research. 27 October 2013. http://www.globalresearch.ca/21-nations-united-nations-resolution-against-the-us-for-spying-on-woreld-leaders/5355676
accessed 29 October 2013.
5. Germany's Quandary: The Debate over Asylum for
Snowden. Spiegel Online. http://www.spiegel.de/international/world/the-political-debate-over-offering-snowden-asylum-in-germany-a-931497.html
4 November 2013.
6. Et Tu, UK? Anger Grows over British Spying in Berlin.
Spiegel Online. http://www.spiegel.de/international/europe/revelation-of-spy-nest-in-british-berlin-embassy-angers-germans-a-931868.html
5 November 2013.
7. Revealed: Britain's 'secret listening post in the heart
of Berlin'. The Independent. http://www.independent.co.uk/news/uk/home-news/revealed-britains-secret-listening-post-in-the-heart-of-berlin-8921548.html
5 November 2013.
8. Whitehead, John W. Obama, NSA Spying and the Dangers
of Secretive, Authoritarian Government. http://www.informationliberation.com/?id=45402
4 November 2013.