ความหมายและต้นเหตุ “ประชานิยม” (Populism)

นิยามและที่มา : ในแวดวงวิชาการอภิปรายกันมากว่านิยามหรือความหมาย “ประชานิยม” (Populism) คืออะไร Yoram Peri เห็นว่าประชานิยมเป็นแนวคิดที่คลุมเครือ หลายความหมาย ยากจะอธิบายชี้ชัด เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา (chameleon-like) หลายครั้งเป็นการอธิบายตีความจากเหตุการณ์เฉพาะ
Tjitske Akkerman ให้นิยามว่าคือการเคลื่อนไหวใดๆ ที่เน้นบทบาทพื้นฐานของประชาชนกับการต่อต้านชนชั้นนำ (elites) ในแต่ละเหตุการณ์ประชาชนผู้เข้าร่วมอาจเน้นคนบางกลุ่ม เช่น เกษตรกรชนบท แรงงานในเมือง หรือชนชั้นกลางระดับล่าง ไม่จำต้องหมายถึงประชาชนทั้งหมด
Margaret Canovan อธิบายว่ามักเกี่ยวข้องกับนักการเมืองหรือผู้นำการเมืองที่ใช้คำพูดเต็มด้วยความรู้สึกมากกว่าเหตุผลในการหาเสียงรณรงค์เคลื่อนไหว ชอบตำหนิประณามฝ่ายตรงข้าม ต่อต้านกลุ่มขั้วอำนาจที่มีอยู่ แนวอุดมการณ์เดิม รวมถึงหลักประชาธิปไตย เพื่อดึงดูดให้ประชาชนสนับสนุน
โดยสรุปแล้ว “ประชานิยม” คือ การเคลื่อนไหวทางการเมือง พยายามดึงประชาชนเข้ามาเป็นแนวร่วม เพื่อต่อต้านระบอบเก่า อาจเป็นระบอบการเมือง สังคม เศรษฐกิจ นโยบายต่างประเทศบางเรื่อง โลกาภิวัตน์ ขึ้นกับว่าอะไรคือสาเหตุแห่งความทุกข์ยาก มักเกิดขึ้นในภาวะที่ประชาชนไม่พอใจอย่างยิ่งต่อชีวิตความเป็นอยู่ โทษว่าเป็นความผิดของชนชั้นนำ
            ประชานิยมไม่นับเป็นลัทธิหรือแนวคิดทางการเมือง เป็นเพียงแนวทางหรือกลยุทธ์เคลื่อนไหวทางการเมือง ด้วยการพยายามได้ใจประชาชน ประกาศว่าทำตามความต้องการของประชาชน
เป้าหมายการเคลื่อนไหวอาจไม่อยู่ที่การเลือกตั้งแล้วได้รัฐบาลใหม่จากพรรคการเมืองเดิม เพราะกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านทั้งพรรคฝ่ายซ้ายกับขวา เน้นสร้างขั้วใหม่ พรรคการเมืองใหม่ จนถึงขั้นล้มล้างระบอบเดิม
ทุกวันนี้การชี้ว่าผู้นำการเมืองหรือผู้นำรณรงค์เป็นพวกประชานิยมหรือไม่ ขึ้นกับการตีความ อาจตรงกันหรือไม่ตรงกัน บ่อยครั้งความเป็นประชานิยมเป็นลักษณะหนึ่งที่แทรกอยู่ในตัวผู้นำหรือนโยบาย

นักวิชาการมีข้อสรุปร่วมว่าประชานิยมเริ่มต้นครั้งแรกในช่วงทศวรรษ 1870 ที่รัสเซีย นักวิชาการสุดโต่งจำนวนหนึ่งเคลื่อนไหวในหมู่เกษตรกรชนบท หวังก่อปฏิวัติสร้างสังคมนิยมเกษตร (agrarian socialism) ที่ดินเป็นของส่วนรวม ทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ร่วมกัน เชื่อว่าเป็นคำตอบแก่สังคมรัสเซีย ในขณะที่ระบอบ (ในยุคนั้น) ทำให้คนเหล่านี้กลายเป็นคนชายขอบ ได้รับประโยชน์จากความเป็นชาติต่ำ ต่อต้านระบอบกษัตริย์ เศรษฐกิจทุนนิยม
ที่มาของคำว่า “พวกประชานิยม” (populist) มาจากคำว่า “narodnik” และคำว่า “populism” ตรงกับ “Narodnichestvo ในภาษารัสเซีย จากคำว่า “narod” ที่หมายถึงประชาชน
ในเวลาต่อมา ศัพท์คำนี้ขยายไปใช้ในทางอื่นๆ

ต้นเหตุขบวนการประชานิยม :
ประการแรก เป็นปฏิกิริยาตอบโต้จากกลุ่มประชาชน
ขบวนการประชานิยมเกิดขึ้นได้เพราะมีประชาชนสนับสนุน ซึ่งอาจเป็นเกษตรกร ชาวชนบท แรงงานในเมือง ชนชั้นกลางบางกลุ่มบางพวก คนเหล่านี้ไม่พอใจรัฐบาล เห็นว่าที่พวกตนตกทุกข์ได้ยากเพราะนโยบายรัฐเป็นโทษมากกว่าเป็นประโยชน์ ถูกเอาเปรียบขูดรีด ไม่อาจพึ่งพากลไกรัฐ ระบอบการเมืองที่มีอยู่ จึงสนับสนุนผู้นำรณรงค์ต่อต้านรัฐบาล เรียกร้องสิ่งที่ดีกว่า
ปรากฏการณ์ประชานิยมจึงเป็นผลย้อนกลับหรือปฏิกิริยาโต้ตอบต่อระบอบ
            การก่อเกิดของขบวนการประชานิยมในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกปัจจุบัน เป็นผลจากความล้มเหลว ขาดความศรัทธาต่อพรรคการเมืองหลัก ไม่เชื่อถือนักการเมือง ระบอบการเมือง รวมถึงประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโลกาภิวัตน์ ปัญหาจากการรวมยุโรป คนต่างด้าวอพยพ การทุจริตฉ้อฉลของชนชั้นนำ
ประการที่ 2 นักการเมือง ผู้มีบารมีหวังดึงประชาชนเป็นแนวร่วม
งานศึกษาในแถบประเทศลาตินอเมริกาอธิบายว่าคำๆ นี้มักใช้กับสถานการณ์ที่เกิดกลุ่มเคลื่อนไหว โดยผู้นำบารมีชักนำคนเมืองด้วยสัญญาช่วยเหลือ พร้อมกับต่อต้านชนชั้นอำนาจท้องถิ่นกับบรรษัทข้ามชาติ ซึ่งเป็นผู้คุมระบบการเมืองเศรษฐกิจ
          ประการที่ 3 ความอ่อนแอของประชาชน ความต้องการผู้นำ
            ความบกพร่องของระบอบ อิทธิพลของชนชั้นนำ เป็นปัจจัยสำคัญทำให้ประชาชน (อย่างน้อยบางส่วน) ผิดหวัง ในอีกด้านต้องหันกลับมามองที่ตัวประชาชนด้วย ทำไมประชาชนจึงปล่อยให้ระบอบมีปัญหาซ้ำซากยาวนาน ทำไมไม่เลือกตัวแทนผู้ทำหน้าที่เพื่อประชาชนจริงๆ ทั้งๆ ที่ระบอบประชาธิปไตยประกาศชัดอยู่แล้วว่าประชาชนต้องมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างเข้มแข็ง จึงนับว่าเป็นประชาธิปไตยแท้
            การที่ระบอบบกพร่อง ชนชั้นนำสามารถแสวงหาประโยชน์เพื่อตนเอง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความบกพร่องของฝ่ายประชาชน และเมื่อมีใครสักคนหนึ่งประกาศตัวขอเป็นผู้นำการปฏิรูป ประชาชนกลุ่มเดียวกันนี้ยอมรับการนำอย่างง่ายๆ อีก
            ขบวนการประชานิยมจึงเกิดขึ้นเพราะสังคมมีมวลชนที่พร้อมยอมรับการนำอย่างง่ายๆ ไม่พยายามทำหน้าที่ของตัวเอง และผลักดันให้ผู้นำประชานิยมเป็นผู้นำเบ็ดเสร็จ

ลักษณะพื้นฐานขบวนการประชานิยม :
ขบวนการประชานิยมในแต่ละครั้งมีทั้งส่วนที่คล้ายกับต่าง พอจะสรุปลักษณะพื้นฐานสำคัญๆ ดังนี้
ประการแรก มุ่งปลุกระดมประชาชน แยกออกจากชนชั้นนำ
การเคลื่อนไหวมุ่งปลุกระดมประชาชน หลายครั้งคือคนชนบท ประชนชนระดับรากหญ้า (grassroots) เป้าหมายการรณรงค์ที่ประกาศไว้คือเพื่อประชาชน ตอบสนองความต้องการของประชาชน ประกาศตัวว่าเป็นตัวแทนของประชาชน (ตรงข้ามกับชนชั้นอำนาจ นายทุน) เป้าหมายเพื่อเข้าถึงอำนาจสูงสุดของประเทศ คืนอำนาจแก่ประชาชน
ผลคือแยกประชาชนจากระบอบอำนาจเก่า
            นอกจากนี้ นักประชานิยมมักเรียกร้องให้ทำประชามติ ตัดสินเรื่องสำคัญที่ประชาชนสนใจ ให้ความสำคัญกับหลักอธิปไตยปวงชน ละเลยระบอบตัวแทน สถาบันการเมืองกับกลไกอื่นๆ ที่มีอยู่

ประการที่ 2 ใช้ร่วมกับอุดมการณ์อื่นๆ เช่น ระบอบประชาธิปไตย ชาตินิยม
ในบางกรณีพวกประชานิยมจะเชิดชูประชาธิปไตย ชี้ว่าระบอบปัจจุบันไม่เป็นประชาธิปไตยแท้ จึงเคลื่อนไหวเพื่อสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ หากกลุ่มได้อำนาจเท่ากับเป็นการคืนอำนาจแก่มวลชน แต่เมื่อได้อำนาจแล้วอาจเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยหรือไม่ก็ได้ ผู้นำการเปลี่ยนแปลงจะกลายเป็นสัญลักษณ์ของชีวิตที่ดีกว่า สมควรบริหารประเทศต่อเนื่อง เชิดชูชาตินิยม เชื่อผู้นำ ลดละความสำคัญของการเลือกตั้ง
ประการที่ 3 เรียกร้องปฏิรูป ต่อต้านแนวคิดหรือค่านิยมที่เป็นอยู่
การเคลื่อนไหวมักเกี่ยวข้องกับการปฏิรูป บางกรณีหวังเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคน
อนึ่ง ในระยะหลังการเคลื่อนไหวของกลุ่มประชานิยมอาจไม่ถึงขั้นต้องการล้มล้างระบอบเดิมทั้งหมด แนวทางประชานิยมอาจเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์กับนโยบายที่นักการเมืองใช้หาเสียง รณรงค์ต่อต้านบางนโยบายหรือแนวทางบางอย่าง เช่น ต่อต้านโลกาภิวัตน์ แรงงานต่างด้าว

ประชานิยม 3 ประเภท :
Tjitske Akkerman แบ่งประชานิยมเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ประชาเกษตรนิยม (agrarian populism) ประชาเศรษฐกิจนิยม (economic populism) ประชาการเมืองนิยม (political populism)
            ประเภทแรก ประชาเกษตรนิยม (agrarian populism)
เน้นการเคลื่อนไหวของเกษตรกรชนบท ชาวบ้านที่อยู่ห่างไกล
ตัวอย่างได้แก่ People’s Party ของสหรัฐ กลุ่ม Canadian Social Credit ในทศวรรษ 1930 การจัดตั้งสังคมนิยมเกษตรกร (agrarian socialism) ในรัสเซียกับแอฟริกา การลุกฮือของ Green Uprising ในยุโรปตะวันออกหลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 1
ประเภทที่ 2 ประชาเศรษฐกิจนิยม (economic populism)
            กลุ่มเคลื่อนไหวประกอบด้วยหลายกลุ่มหลายชนชั้น ส่วนใหญ่เป็นคนเมือง  ทั้งนี้ขึ้นกับว่าปลุกระดมคนกลุ่มใด อาจเป็นแรงงานชนบท ชนชั้นกลางระดับล่าง (lower middle class) เรียกร้องพัฒนาเศรษฐกิจโดยเน้นผลิตสินค้าทดแทนนำเข้า ให้รัฐมีบทบาทการผลิต กระจายความมั่งคั่ง
เกิดขึ้นกับลาตินอเมริกาในทศวรรษ 1920 และมีอิทธิพลเรื่อยมาจนถึงทศวรรษ 1960 ตัวอย่างที่โดดเด่นคือ จวน เปรอง (Juan Perón) กับ เอวิต้า เปรอง (Evita Perón) ในอาร์เจนตินา ที่ใช้คำขวัญว่า Justicialismo หมายถึงมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจกับส่งเสริมความยุติธรรมแก่สังคม
ประเภทที่ 3 ประชาการเมืองนิยม (political populism)
มาจากความไม่พอใจต่อระบบประชาธิปไตยที่ชนชั้นปกครองถืออำนาจ ไม่คิดว่านักการเมืองกำลังทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนจริงๆ เรียกร้องคืนอำนาจอธิปไตยแก่มวลชน ต้องการนักการเมืองที่เป็นตัวแทนของประชาชนจริงๆ
ตัวอย่างได้แก่ การเคลื่อนไหวในหลายประเทศกลุ่มลาตินอเมริกาในศตวรรษที่ 20 กลุ่ม Progressive ของอเมริกา และหลายประเทศในยุโรปในช่วงทศวรรษ 1980-90 บางกลุ่มสามารถพัฒนาเป็นพรรคการเมือง บางกลุ่มยังต่อต้านผลเสียจากโลกาภิวัตน์ การพัฒนาสู่ความทันสมัย ปฏิเสธพหุสังคม

           แนวทางการเคลื่อนไหวแบบประชานิยมไม่นับว่าเป็นของใหม่ เกิดขึ้นในทุกทวีปทั่วโลก ประเด็นเคลื่อนไหวขึ้นกับบริบท เปลี่ยนแปลงตามกาลสมัย ทั้งหมดมาจากความไม่พอใจอย่างรุนแรงของประชาชนบางคนบางกลุ่ม สะท้อนจุดอ่อนของระบอบที่มีอยู่ แนวทางนี้กำลังท้าทายระบอบการเมืองเศรษฐกิจสังคมปัจจุบัน และจะทวีความรุนแรงมากขึ้นในศตวรรษที่ 21 ส่งผลต่อนานาประเทศอย่างยากจะหลีกเลี่ยงได้
19 กุมภาพันธ์ 2016
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 21 ฉบับที่ 7408 วันอาทิตย์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560)
--------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
การรณรงค์ประชานิยมแต่ละครั้งมีข้อดี-ข้อเสียขึ้นกับแง่มุมมอง บางครั้งมีข้อดีหลายข้อ บางครั้งมีข้อเสียมากกว่า ทั้งนี้ขึ้นกับการรณรงค์แต่ละครั้ง โดยรวมแล้วข้อดีคือเป็นอีกช่องทางของประชาชน ช่วยให้ประชาธิปไตยสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ส่วนข้อเสียคือเป็นการทำลายประชาธิปไตย ไม่ต่างจากระบอบเดิมที่ไม่ได้ทำเพื่อประชาชนจริงๆ
บรรณานุกรม:
1. Akkerman, Tjitske. (2012). Populism. In Encyclopedia of Global Studies. (Vol. 3., pp.1357-1359). USA: SAGE Publications.
2. Albertazzi, Daniele., McDonnell, Duncan. (Editors). (2008). Twenty-First Century Populism: The Spectre of Western European Democracy. New York: PALGRAVE MACMILLAN.
3. Artaraz, Kepa. (2005). Populism. In Encyclopedia of Politics: The Left and the Right. (Vol.1, pp.349-351). USA: SAGE Publications.
4. Canovan, Margaret. (2001). Populism. In Encyclopedia of democratic thought. (pp. 674-679). London: Routledge.
5. Hermet, Guy. (2011). Populist Movements. In International Encyclopedia of Political Science. (pp. 2075-2078). USA: SAGE Publications.
6. Noce, Jaime., Miskelly, Matthew. (Editors). (2002). Political Theories for Students. USA: The Gale Group.
7. Peri, Yoram. (2012). Populism. In Encyclopedia of Global Studies. (Vol. 2, pp.625-626). USA: SAGE Publications.
-----------------------------