ไช่อิงเหวินดิ้นรนเพื่อ International legal sovereignty

ไช่อิงเหวิน (Tsai Ing-wen) ประธานาธิบดีไต้หวันกล่าวว่าจะแวะพักสหรัฐก่อนเดินทางต่อไปยังประเทศในอเมริกากลาง พยายามชี้ว่าเป็นการแวะพักระหว่างทางเท่านั้น ไม่มีความหมายเป็นอื่น ฝ่ายทางการจีนเรียกร้องให้สหรัฐปฏิเสธการแวะพักดังกล่าว เพราะอาจทำให้จีนเข้าใจผิด
            ประธานาธิบดีไช่มีกำหนดเยือนหลายประเทศในแถบอเมริกากลางระหว่างวันที่ 7-15 มกราคม

ประวัติสงครามการทูตจีน-ไต้หวัน :
            แต่เดิมรัฐบาลสหรัฐสนับสนุนกลุ่มชาตินิยมเจียงไคเช็ค (Chiang Kai-shek) ปัจจัยสำคัญมาจากกลุ่มล็อบบี้รัฐบาลอเมริกันกับเหตุญี่ปุ่นรุกรานจีนเมื่อปี 1937
            กลุ่มล็อบลี้มีหลายกลุ่ม บางกลุ่มเกี่ยวข้องรัฐบาลจีน (ฝ่ายชาตินิยม) บางกลุ่มทำงานอิสระ บางกลุ่มเป็นชาวจีน บางกลุ่มเป็นชาวอเมริกัน ผลจากการล็อบบี้สามารถผลักดันให้สหรัฐระงับส่งสินค้าแก่ญี่ปุ่น โดยเฉพาะสินค้ากับวัตถุดิบที่เกี่ยวข้องกับยุทโธปกรณ์
            เมื่อสหรัฐเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 กลุ่มเพิ่มภารกิจระดมทุนต่างประเทศเพื่อช่วยจีนชาตินิยมต้านญี่ปุ่น เกิดเครือข่ายนักธุรกิจที่ตั้งใจช่วยจีน พัฒนาเป็นกลุ่มใหม่ชื่อว่า American Bureau for Medical Aid to China (ABMAC) เน้นชี้ให้เห็นความทุกข์ยากที่เกิดกับชาวจีน สนับสนุนเจียงไคเช็ค หวังให้จีนไม่อยู่ใต้อำนาจญี่ปุ่น เป็นชาติประชาธิปไตย
            ค.ศ.1943 พวกคอมมิวนิสต์จีนเติบใหญ่ขึ้นมา พวกชาตินิยมขัดแย้งกับคอมมิวนิสต์จีนอย่างหนัก กองทัพเจียงหันไปรบกับพวกคอมมิวนิสต์แทนที่จะทุ่มเทรบกับญี่ปุ่น ข่าวแง่ลบเกี่ยวกับนายพลเจียง การทุจริตในหมู่กองทัพชาตินิยมหนาหูขึ้นทุกวัน นักการเมืองอเมริกันบางคนเห็นว่าควรสนับสนุนพวกคอมมิวนิสต์ที่เอาจริงเอาจังรบกับพวกญี่ปุ่น เพราะในช่วงนั้นสหรัฐให้ความสำคัญกับการต้านญี่ปุ่นมากกว่า
            การที่รัฐบาลสหรัฐจะสนับสนุนจีนฝ่ายไหนจึงเป็นประเด็นเรื่อยมา

            ค.ศ.1949 เมื่อสถาปนาประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เกิดคำถามว่าฝ่ายไหนคือประเทศจีนที่ชอบธรรม ในระยะแรกรัฐบาลสหรัฐสนับสนุนสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) แต่หลังจากประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) เยือนจีนเมื่อ 1972 สหรัฐเริ่มหันมาเอาใจจีนมากขึ้น จากนั้นรัฐบาลสมัยประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ (Jimmy Carter) ประกาศว่าสาธารณรัฐประชาชนจีนคือ “รัฐบาลจีนหนึ่งเดียวที่ถูกต้องตามกฎหมาย” ตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันในปี 1979
เมื่อจีนเดินหน้านโยบายเปิดประเทศต้อนรับการลงทุนต่างชาติ ประเทศพัฒนาในทุกด้าน นานาประเทศหันมาผูกสัมพันธ์กับจีน ล่าสุดเหลือ 21 ประเทศที่ยังมีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับไต้หวัน ส่วนใหญ่เป็นประเทศเล็กๆ ในแถบละตินอเมริกากับอเมริกาใต้ เพื่อผลประโยชน์แบบยื่นหมูยื่นแมว
            เห็นชัดว่าไต้หวันได้สูญเสียอธิปไตยทางกฎหมายระหว่างประเทศแก่จีน

หลักอธิปไตยทางกฎหมายระหว่างประเทศ :
อธิปไตยทางกฎหมายระหว่างประเทศ (International legal sovereignty) หมายถึงการยอมรับ การมีตัวตนในระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มีความสัมพันธ์การทูตอย่างเป็นทางการ เช่น ไต้หวันมี Westphalian sovereignty แต่ขาดอธิปไตยทางกฎหมายระหว่างประเทศ นานาประเทศส่วนใหญ่ไม่ยอมรับความเป็นรัฐอธิปไตยไต้หวัน
ความเป็นไปของอธิปไตยทางกฎหมายระหว่างประเทศจะขึ้นกับนโยบาย การตัดสินใจของผู้ปกครองต่างชาติเป็นหลัก เช่น รัฐบาลสหรัฐครั้งหนึ่งตัดสินใจยอมรับรัฐบาลไต้หวัน ในเวลาต่อมาหันไปยอมรับสาธารณรัฐประชาชนจีน
การยอมรับอธิปไตยจึงเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นเรื่องที่เปลี่ยนกลับไปกลับมาได้ เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลชุดใหม่ นโยบายอาจเปลี่ยนตาม ในบางเรื่องมีกฎหมายระหว่างประเทศ องค์การระหว่างประเทศเข้าเกี่ยวข้อง แต่ละเมิดได้ถ้าต้องการจริงๆ

อธิปไตยทางกฎหมายระหว่างประเทศกับเอกราช :
            แต่ไหนแต่ไร ภายใต้หลักจีนเดียว สังคมไต้หวันถกเถียงว่าควรประกาศเอกราชหรือไม่ เรื่องที่ควรตระหนักคือ ตามหลักอธิปไตยทางกฎหมายระหว่างประเทศ การประเทศเอกราชไม่เป็นเหตุให้นานาชาติยอมรับความเป็นเอกราชของไต้หวัน ไม่เป็นเหตุให้ไต้หวันเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ความมีตัวตนของไต้หวันในปัจจุบันขึ้นกับอิทธิพลของสหรัฐกับจีนเป็นหลัก
            ในมุมข้อเสีย การประกาศเอกราชจะยิ่งเพิ่มความชอบธรรมให้จีนใช้กำลังกับไต้หวัน เป็นการบังคับให้จีนเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรกดดันไต้หวัน ดังนั้น แม้ประกาศเอกราชแต่ก็ไม่เป็นที่ยอมรับ แม้ไม่ถูกรุกรานด้วยกำลังทหาร แต่ต้องทนมาตรการคว่ำบาตรจากจีน รวมความแล้วมีผลเสียมากกว่า

            ข้อสรุปบรรทัดสุดท้ายคือ รัฐบาลไต้หวันจะไม่ประกาศเอกราช ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลภายใต้พรรคชาตินิยม (Kuomintang: KMT) หรือ Democratic Progressive Party’s (DPP) ในขณะนี้
            มีแต่ชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐกับรัฐบาลไต้หวันที่กล้าแหย่จีนเรื่องหลักจีนเดียว (one-China policy) เป็นครั้งคราว เช่น ช่วงหาเสียงในไต้หวัน ช่วงเยือนมิตรประเทศ

การได้รับการยอมรับว่าเป็นรัฐอธิปไตยมีความสำคัญยิ่งในยุคปัจจุบันที่โลกเชื่อมโยง เป็นโอกาสของการพัฒนาประเทศในทุกด้าน การขาดอธิปไตยทางกฎหมายระหว่างประเทศลดหรือปิดกั้นโอกาสสัมพันธ์กับนานาประเทศอย่างที่ควรมี นักลงทุนต่างชาติต้องคิดทบทวนอีกครั้งก่อนลงทุนในรัฐที่ประเทศส่วนใหญ่ไม่ยอมรับความเป็นรัฐ
            นี่คือความสูญเสียของไต้หวันเพราะขาดอธิปไตยทางกฎหมายระหว่างประเทศ

การปะทะเล็กๆ สมรภูมิการทูตระหว่างจีนกับไต้หวัน :
            นับจากทศวรรษ 1970 จนบัดนี้ รัฐบาลจีนพยายามกดดันนานาชาติไม่ให้มีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ พยายามกดดันประเทศที่เหลือ 20 กว่าประเทศตัดสัมพันธ์กับไต้หวัน ในขณะที่รัฐบาลไต้หวันเห็นว่าการรักษาประเทศที่เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ ความร่วมมือในด้านต่างๆ
            การเยือนของผู้นำไต้หวันเป็นอีกภารกิจสำคัญในการรักษาความสัมพันธ์กับประเทศเหล่านี้ เป็นการดิ้นรนรักษาความมีตัวตนในระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
            โดยรวมแล้ว ในสมรภูมิการทูต ไต้หวันเป็นฝ่ายตั้งรับและถอยร่น แต่ยังคงพยายามต่อสู้ดิ้นรน ขอให้ตัวเองมีบทบาทมากขึ้น

            การพูดคุยทางโทรศัพท์ระหว่างประธานาธิบดีไช่กับว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ เป็นอีกกรณีตัวอย่างถึงความพยายามดังกล่าว และประธานาธิบดีไช่ประสบความสำเร็จ ประวัติศาสตร์ไต้หวันจารึกว่าเธอเป็นผู้นำไต้หวันแรกที่สามารถคุยโทรศัพท์กับว่าที่ประธานาธิบดีอเมริกา
            การประกาศว่าจะแวะจอดพักบนแผ่นดินอเมริกา เป็นอีกวิธีที่ผู้นำไต้หวันพยายามแสดงความมีตัวตน แม้จะบอกว่า “อย่างไม่เป็นทางการ” เพื่อลดแรงกดดันจากจีน ลดแรงกดดันที่มีต่อสหรัฐ ทุกฝ่ายต่างรู้ดีว่าเป็นความพยายามของรัฐบาลไต้หวันที่จะแสดงความมีตัวตน
ประธานาธิบดีไช่ไม่ใช่ผู้นำไต้หวันคนแรกที่แวะพักสหรัฐ แต่จะเป็นอีกคนที่สามารถทำเช่นนี้

การประกาศล่วงหน้าว่าจะแวะสหรัฐ เท่ากับพูดเป็นนัยว่าได้เจรจากับรัฐบาลสหรัฐเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และหมายถึงผ่านการเจรจากับรัฐบาลโอบามาที่ยังคงปฏิบัติหน้าที่ ส่วนจะได้พบปะกับว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์เป็นคนละเรื่องกับการแวะพัก และจะเป็นข่าวใหญ่อีกครั้งหากมีการพบปะกันจริง
ล่าสุด สื่อ Global Times ของจีนรายงานเป็นนัยว่าผู้นำไต้หวันอาจพบกับนักการเมืองสหรัฐหรือทีมงานทรัมป์

บางคนอาจคิดถึงเรื่องการได้หน้าเสียหน้า โดยเฉพาะที่รัฐบาลจีนอาจต้องเสียหน้าอีกครั้ง แต่ หากมององค์รวม พลังอำนาจของจีนกำลังเติบใหญ่ขึ้น ไต้หวันไม่มีอะไรเทียบได้ ถ้าพิจารณาเฉพาะ 2 ประเทศ “จีนกำลังเติบใหญ่จนไต้หวันดูเล็กลงเรื่อยๆ” นี่คือความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธ
            การที่ประธานาธิบดีไช่ได้คุยโทรศัพท์กับว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ได้แวะจอดพักบนแผ่นดินอเมริกา เยือนกระชับมิตรหลายประเทศที่มีความสัมพันธ์การทูตอย่างเป็นทางการ หรือแม้กระทั่งหากผู้นำไต้หวันได้พบปะกับว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ในเดือนนี้ ทั้งหมดช่วยให้เป็นข่าวได้อีกชิ้น ได้แหย่รัฐบาลจีนอีกครั้ง แสดงจุดยืนของตนอีกรอบ ชาวไต้หวันชื่นชมผู้นำของตนอีกหน แต่ทั้งหมดไม่ช่วยให้ไต้หวันดู “ใหญ่ขึ้น”
            ต้องแยกแยะระหว่าง “เวทีการเมืองในประเทศ” กับ “เวทีโลก”

ไต้หวันเป็นประเทศที่ถูกมหาอำนาจจีนกดดันทางการทูตอย่างหนักและต่อเนื่อง จนเหลือพื้นที่ให้มีบทบาทในเวทีโลกเพียงน้อยนิด เสียโอกาสและประโยชน์มากมายจากภาวะไร้ความสัมพันธ์การทูต การมีความสัมพันธ์การทูตจึงเป็นเรื่องสำคัญ
ในอีกด้านหนึ่ง ไม่ว่านานาชาติจะรับรองหรือไม่ ไต้หวันยังดำรงอยู่เป็นไต้หวัน อีกทั้งเจริญก้าวหน้าพัฒนากลายเป็น NICs ควรชื่นชมว่าแม้อยู่ใต้แรงกดดันมหาศาล ไต้หวันยังไปได้ไกลถึงเพียงนี้
อธิปไตยทางกฎหมายระหว่างประเทศจะเป็นปัจจัยสำคัญต่ออนาคตของชาวไต้หวันไปอีกนาน
8 มกราคม 2560
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 21 ฉบับที่ 7366 วันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม พ.ศ.2560)
-------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง : 
เพื่อผลประโยชน์ต่อต้านโซเวียตรัสเซียในสมัยสงครามเย็น รัฐบาลสหรัฐจึงตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน เป็นเหตุให้ไต้หวันกลายเป็นประเทศที่นานาชาติไม่ยอมรับว่าเป็นประเทศ ผู้นำไต้หวันทุกยุคทุกสมัยจึงพยายามดิ้นรนแสดงความเป็นตัวตน เทคนิคที่ประธานาธิบดีไช่ทำครั้งนี้คือติดต่อพูดคุยกับว่าที่ผู้นำประธานาธิบดีสหรัฐ กลายเป็นประเด็นให้วิพากษ์ ซึ่งแท้จริงแล้วมีความสำคัญต่อไต้หวันมากกว่านั้น
นโยบายจีนเดียว (one-China policy) ถูกอ้างว่าเป็นหนึ่งในรากฐานความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ที่ย้อนหลังถึงปี 1972 เมื่อ 2 รัฐบาลจับมือกันต้านสหภาพโซเวียต เป็นความสำเร็จทางการทูตครั้งใหญ่ในยุคนั้น ผู้นำโลกเสรีสามารถจับมือกับคอมมิวนิสต์จีน แต่บริบทโลกเปลี่ยนแปลง ปัจจุบันไม่มีสหภาพโซเวียตอีกแล้ว รัสเซียในปัจจุบันมีสัมพันธ์ใกล้ชิดจีน ส่วนสหรัฐฯ แสดงท่าทีไม่เป็นมิตรต่อจีนมากขึ้น ชัดเจนขึ้น อะไรคือคุณค่าแท้ของนโยบายจีนเดียวในปัจจุบันและอนาคต

บรรณานุกรม:
1. Cohen, Warren I. (2002). The China Lobby. In Encyclopedia of American Foreign Policy (2nd Ed., Vol 1, pp.185-191). USA: Sage Publications.
2. Colcol, Erwin. (2017, January 5). Russia open to conduct joint military exercises with PHL, says envoy. GMA News. Retrieved from http://www.gmanetwork.com/news/story/594683/news/nation/russia-open-to-conduct-joint-military-exercises-with-phl-says-envoy
3.Jie, Shan. (2017, January 6). Tsai aims to meet Trump team during transit. Global Times. Retrieved from http://www.globaltimes.cn/content/1027522.shtml
4. Kazer, William. (2016, December 31). Taiwan’s Leader Says Planned U.S. Stops on Trip Will Be Unofficial, Routine. The Wall Street Journal. Retrieved from http://www.wsj.com/articles/taiwans-leader-says-planned-u-s-stops-on-trip-will-be-unofficial-routine-1483181381
5. Kondapalli, Srikanth. (2008). China, People’s Republic of. In The Encyclopedia of the Cold War: A Student Encyclopedia. (pp.401-408). USA: ABC-CLIO.
6. Krasner, Stephen D. (1999). Sovereignty: Organized Hypocrisy. New Jersey: Princeton University Press.
-----------------------------