ไช่ อิงเหวิน สร้างประวัติศาสตร์ติดต่อว่าที่ผู้นำสหรัฐ

ใครต้องการโทรหาใคร : เมื่อต้นธันวาคมว่าที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) พูดคุยทางโทรศัพท์กับ ไช่ อิงเหวิน (Tsai Ing-wen) ประธานาธิบดีไต้หวัน
อันที่จริงแล้ว ก่อนหน้านี้ผู้นำหลายประเทศได้ติดต่อพูดคุยทางโทรศัพท์ นายกฯ อาเบะ นายกฯ เนธันยาฮู ได้พบปะพูดคุยส่วนตัวกับทรัมป์มาแล้ว
ประเด็นที่ถูกวิพากษ์คือการติดต่อระหว่าง “ว่าที่ประธานาธิบดี” กับประธานาธิบดีที่ “หลายประเทศไม่ยอมรับความเป็นรัฐ”
รัฐบาลสหรัฐตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐจีน หรือนิยมเรียกว่าไต้หวัน ตั้งแต่ปี 1979 แลกกับความร่วมมือช่วยต้านโซเวียตรัสเซียในยุคสงครามเย็น นับจากนั้นเป็นต้นมา ไต้หวันตกอยู่ในสภาพที่ประเทศส่วนใหญ่ไม่ยอมรับว่าเป็นประเทศ หลายประเทศทำอย่างรัฐบาลสหรัฐ ตัดความสัมพันธ์กับไต้หวัน เหลือเพียงไม่กี่ประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันอย่างเป็นทางการ
ทีมงานของทรัมป์ชี้แจงว่า การสนทนาเอ่ยถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การเมือง ความสัมพันธ์ด้านความมั่นคง ว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์แสดงความยินดีต่อประธานาธิบดีไช่ที่เพิ่งชนะเลือกตั้งเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ส่วนทรัมป์พูดใน Twitter ว่าประธานาธิบดีไต้หวันโทรมาแสดงความยินดีที่ตนชนะเลือกตั้ง ทำไมจะไม่รับสายโทรศัพท์แสดงความยินดีจากไต้หวันที่ซื้ออาวุธหลายพันล้านดอลลาร์
ทางการไต้หวันชี้แจงว่า ประธานาธิบดีไช่หวังยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคี และเตรียมการเพื่อความร่วมมือใกล้ชิด
            ด้านรัฐบาลจีนเห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่มีผลต่อนโยบายจีนเดียว เตือนให้ระวังพฤติกรรมใดๆ ที่จะกระทบความสัมพันธ์ทวิภาคี ประเทศใดๆ ที่มีความสัมพันธ์การทูตกับไต้หวันเท่ากับละเมิดหลักจีนเดียว
การที่ทรัมป์พูดคุยกับประธานาธิบดีไช่ จึงเป็นประเด็นให้วิพากษ์วิจารณ์

อะไรที่ผู้นำไต้หวันต้องการ :
            จากการวิเคราะห์ เป็นไปได้ว่า
            ประการแรก ทดสอบท่าทีของทรัมป์
            ในช่วงหาเสียง นโยบายต่อจีนเป็นเรื่องลบมากกว่าบวก ชี้ว่าจีนเป็น “จอมหัวขโมยรายใหญ่ที่สุดของโลก” บิดเบือนค่าเงินหยวนเพื่อช่วยการส่งออก กระทบต่ออุตสาหกรรม การจ้างงานในสหรัฐ หากสามารถแก้ปัญหาจีน อาจเพิ่มการจ้างงานในประเทศนับล้านตำแหน่ง
            ปี 2015 สหรัฐขาดดุลการค้าสูงเป็นประวัติการถึง 365.7 พันล้านดอลลาร์
            นักวิเคราะห์หลายคนให้ความเห็นว่าทรัมป์ไม่อาจตอบโต้จีนได้มากนัก และไม่เป็นผลดีต่อทุกฝ่าย ไม่ว่าทรัมป์จะทำอย่างไรในอนาคต เมื่อมุมมองของทรัมป์ต่อจีนเป็นแง่ลบ นี่เป็นโอกาสของไต้หวัน

            ประการที่ 2 การขายอาวุธให้ไต้หวัน
            ไต้หวันพึ่งพาอาวุธสหรัฐมาโดยตลอด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลสหรัฐกล้าที่จะขายให้ ไม่เกรงแรงกดดันจากจีน อีกส่วนเป็นเรื่องผลประโยชน์ต่างตอบแทน ในสมัยสงครามเย็น ไต้หวันเป็นหนึ่งในลูกค้าชั้นดีของอาวุธสหรัฐ
            เมื่อสิ้นสงครามเย็น ประเด็นความมั่นคงคลายตัวลงมาก ทั้งสหรัฐ จีนและไต้หวันมุ่งให้ความสำคัญกับการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ อิทธิพลจีนนับวันเติบใหญ่ การซื้ออาวุธจากสหรัฐกลายเป็นเรื่องที่มีอุปสรรค ภายใต้นโยบายจีนเดียว จีนขอให้สหรัฐยุติขายอาวุธแก่ไต้หวัน
            ในช่วงหาเสียง ทรัมป์ให้ความสำคัญกับเรื่องจัดหายุทโธปกรณ์แก่กองทัพอเมริกัน ส่งเสริมอุตสาหกรรมทหาร เป็นไปได้ว่ารัฐบาลไช่กำลังทดสอบและหาโอกาสซื้ออาวุธ MADE IN USA เพิ่มเติม ถ้าทรัมป์ไม่คิดญาติดีกับจีนจริง ประเด็นขายอาวุธแก่ไต้หวันคือหนึ่งในเรื่องทดสอบท่าทีนี้

            ประการที่ 3 กระชับความร่วมมือด้านความมั่นคง
 ถ้ามองในกรอบกว้าง ประธานาธิบดีไช่แสดงท่าทีตรงไปมา และเป็นท่าทีเดิมๆ ที่เรียกร้องให้ 2 ฝ่ายมีปฏิสัมพันธ์รูปธรรม เพราะในระยะหลังสหรัฐให้ความสำคัญกับจีน ละเลยไต้หวัน ในอีกมุมหนึ่งรัฐบาลไต้หวันไม่คิดพาตัวเองใกล้ชิดกับสหรัฐมากเกินไปด้วย
ความพยายามของรัฐบาลไช่ไม่ใช่เรื่องเกินความคาดหมาย เพราะมีจุดยืนขอห่างจากจีนมากกว่าสมัยรัฐบาลหม่า อิงจิ่ว (Ma Ying-jeou) ทรัมป์ในช่วงหาเสียงวิพากษ์จีนหลายเรื่อง หลายคนเชื่อว่าความสัมพันธ์กับจีนจะเสื่อมลง จุดยืน 2 ฝ่ายจึงใกล้กัน เป็นโอกาสที่ไต้หวันจะกระชับความสัมพันธ์รัฐบาลสหรัฐ อย่างรัฐบาลทรัมป์

ช่วงนี้เป็นจังหวะเวลาสำคัญ เพราะว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์กับทีมงานกำลังอยู่ระหว่างหารือกำหนดนโยบายรอบด้าน หนึ่งในประเด็นสำคัญคือจีน และเมื่อเอ่ยถึงจีนจะผูกโยงถึงไต้หวัน รัฐบาลไช่จึงต้องใช้โอกาสนี้ “แสดงออก” ปูทางสู่ความร่วมมืออันดีของ 2 ฝ่าย
เป็นไปได้ว่ารัฐบาลทรัมป์อาจหยิบประเด็นไต้หวันเพื่อต่อรองกับจีน รัฐบาลไต้หวันหวังเช่นนั้น เพราะจะเป็นเหตุให้ไต้หวันมีบทบาท มีความสำคัญในสายตาสหรัฐ

ในยุทธศาสตร์ปักหมุดเอเชียหรือปรับสมดุลเอเชียแปซิฟิก เป็นเรื่องน่าประหลาดใจว่าไต้หวันไม่มีบทบาทในยุทธศาสตร์สำคัญนี้ รัฐบาลโอบามาให้ความสำคัญกับญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และพยายามหามิตรใหม่ๆ อย่างฟิลิปปินส์ เวียดนาม แต่ไม่มีชื่อไต้หวัน
ในระยะนี้สหรัฐกำลังอยู่ระหว่างการสร้างเครือข่ายความมั่นคง (security network) ในภูมิภาค เป็นไปได้ว่ารัฐบาลไช่ไม่อยาก “ตกรถ” อย่างน้อยขอพ่วงไปด้วย แม้จะไม่เรียกไต้หวันว่าเป็นประเทศก็ตาม
ข้อเท็จจริงเรื่องนี้เป็นอย่างไร อาจได้คำตอบชัดขึ้นในสมัยรัฐบาลทรัมป์

ไม่ต้องการบั่นทอนสัมพันธ์จีน :
            ดังที่นำเสนอแล้วว่า จีนพยายามบดบังการมีตัวตนของไต้หวัน ฝ่ายไต้หวันจึงดิ้นรนแสดงความเป็นตัว หนึ่งในวิธีที่สำคัญและมีโอกาสเป็นไปได้คือการสัมพันธ์กับสหรัฐ
            แต่ถ้าถามว่ารัฐบาลไช่ต้องการแสดงความเป็นศัตรูต่อจีนอย่างตรงไปตรงมาหรือไม่ คำตอบคือไม่ แท้จริงแล้ว จีนกับไต้หวันต่างมีความสัมพันธ์การค้าการลงทุนแนบแน่น คนไต้หวันหลายแสนคนเดินทางไปจีนเป็นประจำเพื่อธุรกิจการค้า บางคนมีบ้านมีภรรยาที่นั่น คนเหล่านี้ย่อมไม่อยากเห็นเหตุการณ์ใดๆ ที่กระทบความสัมพันธ์ทวิภาคี ส่วนรัฐบาลจีนต้องการให้นายทุนไต้หวันไปลงทุนทำกิจการ ไม่ต่างจากที่ต้อนรับนักธุรกิจนานาชาติ เป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจจีนปัจจุบัน เป็นเหตุผลว่าทำไมเศรษฐกิจจีนจึงเติบใหญ่จนเป็นอันดับ 2 ของโลกและกำลังจะแซงอเมริกา
จุดยืนของรัฐบาลไช่คือ ความสัมพันธ์กับจีนต้องเกื้อหนุนความมั่นคงและเสถียรภาพภูมิภาค เป็นประโยชน์แก่ทั้ง 2 ฝ่ายจริงๆ

หลักคิดสำคัญคือไต้หวันในยุคนี้ไม่คิดกลับไปกอบกู้จีนแผ่นดินใหญ่อีกแล้ว เรื่องในอดีตขอเป็นเพียงหน้าประวัติศาสตร์ให้คนรุ่นหลังศึกษา เพื่อประโยชน์ของคนปัจจุบันกับอนาคต พูดให้ตรงคือคนไต้หวันปัจจุบันไม่มีความคิดยุคกอบกู้ชาติอีกแล้ว เรื่องปากท้อง ความสุขทางโลกคือสิ่งที่คนไต้หวันใฝ่หา
            วาทะทางการเมืองระหว่างประเทศเป็นเรื่องหนึ่ง ส่วนเรื่องปากท้องนั้นเป็นอีกเรื่องที่ต้องรักษาหม้อข้าวอย่างดี ดังนั้น ก่อนจะทำการใดต้องคิดรอบคอบ ให้มั่นใจว่าทุกฝ่ายรับได้

เพียงแสดงบทบาทผู้นำไต้หวัน :
            ความจริงคือแม้ไต้หวันไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับสหรัฐอย่างเป็นทางการ แต่ 2 ฝ่ายติดต่อหารือสม่ำเสมอผ่านช่องทางอื่นๆ ที่มีอยู่แล้ว ผู้นำไต้หวันไม่จำต้อง “ออกหน้า” ด้วยตนเอง
            คำถามสำคัญจึงอยู่ที่แล้วทำไมคราวนี้ผู้นำไต้หวันจึงออกโรงด้วยตนเอง คำตอบที่ดีที่สุดคือเพราะทรัมป์ยอมที่จะพูดคุยด้วย
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเบื้องลึกประการใด ที่แน่นอนคือทั้งคู่ต่างเห็นด้วยที่จะพูดคุย และให้ข่าวเผยแพร่ออกสื่อ Alex Huang โฆษกประธานาธิบดีไช่ยอมรับว่า “2 ฝ่ายได้ตกลงล่วงหน้าก่อนพูดคุย”
            สื่อตะวันตกส่วนใหญ่เอ่ยถึงทรัมป์ วิพากษ์ทรัมป์ ถ้ามองในมุมไต้หวัน เป็นความชาญฉลาดและความสามารถของประธานาธิบดีไช่ที่สามารถดึงประธานาธิบดีทรัมป์ให้มาคุยกับตน ไม่ว่าความสัมพันธ์ทวิภาคีจะดีขึ้นจริงหรือไม่ ประธานาธิบดีไช่ได้คะแนนจากการนี้ ชูบทบาทของตนใน “สื่อโลก” จากผู้นำไต้หวันที่นานาชาติไม่ยอมรับว่าเป็นประเทศ
            ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไต้หวันกับสหรัฐจะบันทึกเรื่องนี้

            เรื่องที่เกิดขึ้นชวนให้นึกถึงเหตุการณ์เมื่อปลายปี 2015 ประธานาธิบดีหม่า อิงจิ่ว แห่งไต้หวันพบปะโดยตรงกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง พูดคุยเรื่องความสัมพันธ์ 2 ฝ่าย เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สถาปนาประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อตุลาคม 1949 (ราว 65 ปี) หรือนับตั้งแต่ฝ่ายพรรคชาตินิยม (ก๊กมินตั๋ง) พ่ายแพ้กองทัพแดงของเหมา เจ๋อตง ถอยมาปักหลักที่ไต้หวัน
            ในตอนนั้น ไช่ อิงเหวิน ในฐานะผู้นำพรรคฝ่ายค้าน DPP และผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ตั้งคำถามว่าประธานาธิบดีหม่าจะไป “ขายไต้หวัน” หรือไม่

            บัดนี้ ประธานาธิบดีไช่ได้สร้างประวัติศาสตร์ของเธอบ้าง ไม่น้อยหน้าประธานาธิบดีหม่า และเป็นการเด่นดังในภาพบวก ในขณะที่ทรัมป์คู่สนทนาเป็นภาพลบ
มีข่าวว่ากระทรวงการต่างประเทศจีนเรียกร้องห้ามรัฐบาลสหรัฐยอมให้ผู้นำไต้หวันแวะพักสหรัฐระหว่างเดินทางเยือนประเทศแถบลาตินอเมริกา ไม่ทำการใดๆ ที่จะส่งสัญญาณยอมรับอธิปไตยไต้หวัน แต่การเยือนดังกล่าวยังไม่ได้รับการยืนยัน
            สมัยประธานาธิบดีหม่าได้สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการพบปะผู้นำจีนอย่างเป็นทางการ เป็นไปได้ว่าประธานาธิบดีไช่อยากสร้างประวัติศาสตร์ที่ผู้นำสหรัฐพบปะผู้นำไต้หวัน
            เป็นไปได้หรือไม่ว่าการเดินทางและการพบปะจะเกิดขึ้นก่อนวันที่ 20 มกราคมปีหน้า วันที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี หากเรื่องนี้เกิดขึ้นจริง จะกลายเป็นประเด็นให้วิพากษ์วิจารณ์ได้อีกมาก
11 ธันวาคม 2016
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 21 ฉบับที่ 7339 วันอาทิตย์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ.2559)
---------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง 
7 พฤศจิกายน 2015 เป็นวันประวัติศาสตร์เมื่อ 2 ประธานาธิบดีจีนกับไต้หวันพบปะพูดคุยอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก เป็นความสำเร็จหลังความพยายามหลายปีของประธานาธิบดีหม่า อิงจิ่ว แต่เส้นทางการรวมชาติในทางการเมืองยังต้องอาศัยเวลาอีกนาน ในระหว่างนี้เป็นเวลาแห่งการรวมทางมิติเศรษฐกิจที่เข้มข้นขึ้นทุกขณะ ส่วนในระยะยาวคือการรวมกันด้วยสายเลือด ดังนั้น ไม่ว่าในทางการเมืองระหว่างประเทศจะเป็นอย่างไร จีนกับไต้หวันผนวกเข้าหากันมากขึ้นทุกที
2.นโยบายจีนเดียว(one-China policy) อดีต ปัจจุบันและอนาคต
นโยบายจีนเดียว (one-China policy) ถูกอ้างว่าเป็นหนึ่งในรากฐานความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ที่ย้อนหลังถึงปี 1972 เมื่อ 2 รัฐบาลจับมือกันต้านสหภาพโซเวียต เป็นความสำเร็จทางการทูตครั้งใหญ่ในยุคนั้น ผู้นำโลกเสรีสามารถจับมือกับคอมมิวนิสต์จีน แต่บริบทโลกเปลี่ยนแปลง ปัจจุบันไม่มีสหภาพโซเวียตอีกแล้ว รัสเซียในปัจจุบันมีสัมพันธ์ใกล้ชิดจีน ส่วนสหรัฐฯ แสดงท่าทีไม่เป็นมิตรต่อจีนมากขึ้น ชัดเจนขึ้น อะไรคือคุณค่าแท้ของนโยบายจีนเดียวในปัจจุบันและอนาคต

บรรณานุกรม:
1. Buncombe, Andrew. (2016, May 2) Donald Trump accuses China of 'raping' the US with its trade policy. The Independent. Retrieved from http://www.independent.co.uk/news/world/americas/us-elections/donald-trump-accuses-china-of-raping-the-us-with-its-trade-policy-a7009946.html
2. Carter, Ashton. (2015, May 30). The United States and Challenges of Asia-Pacific Security: Ashton Carter. IISS Shangri-La Dialogue 2015. Retrieved from http://www.iiss.org/en/events/shangri%20la%20dialogue/archive/shangri-la-dialogue-2015-862b/plenary1-976e/carter-7fa0
3. China marks six priorities for new-type of major-country relations with US. (2014, November 12). Xinhua. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/china/2014-11/12/c_133785087.htm
4. Everington, Keoni (2016, December 6). China urges U.S. to block President Tsai's transit. Taiwan News. Retrieved from http://www.taiwannews.com.tw/en/news/3045585
5. Hsiao, Alison. (2015, November 6). MA-XI MEETING: DPP opposition to Ma-Xi exchange ‘inappropriate’. Taipei Times. Retrieved from http://www.taipeitimes.com/News/taiwan/archives/2015/11/06/2003631817
6. Khan, Shehab., Garcia, Feliks. (2016, December 3). China issues diplomatic protest against Donald Trump for phone call to Taiwan president. The Independent. Retrieved from http://www.independent.co.uk/news/world/asia/china-issues-diplomatic-protest-donald-trump-phone-call-taiwan-president-a7453501.html
7. Lai, Ohnson., Wong, Gillian. (2016, December 2). TRUMP SPEAKS WITH TAIWAN'S PRESIDENT, RISKING CHINA TENSIONS. ABC News. Retrieved from http://6abc.com/news/1637013/
8. President Xi to meet Taiwan leader in Singapore. (2015, November 4). Xinhua. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/2015-11/04/c_134780926.htm
9. The White House. (2014, October 3). Remarks by the Vice President at the John F. Kennedy Forum. Retrieved from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2014/10/03/remarks-vice-president-john-f-kennedy-forum
10. Zhang, Qingmin. (2011). China’s Diplomacy. Singapore: Cengage Learning Asia.
-----------------------------