การพบปะของ 2 ประธานาธิบดีจีนกับไต้หวัน

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้พบปะประธานาธิบดีหม่า อิงจิ่ว (Ma Ying-jeou) แห่งไต้หวันเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา 2 ผู้นำได้จับมือทักทายด้วยรอยยิ้ม พูดคุยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ฝ่าย เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สถาปนาประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อตุลาคม 1949 (ราว 66 ปี) หรือนับตั้งแต่ฝ่ายพรรคชาตินิยม (ก๊กมินตั๋ง) พ่ายแพ้กองทัพแดงของเหมา เจ๋อตงถอยมาปักหลักที่ไต้หวัน
            เนื่องจากเป็นการพบปะครั้งแรก จึงเน้นสร้างความประทับที่ดีต่อกัน ประกาศล่วงหน้าว่าไม่มีการลงนามข้อตกลงใดๆ ไม่ต้องคิดถึงเรื่องตกลงเจรจารวมประเทศ ในขณะที่มีคำถามจากพรรคฝ่ายค้าน Democratic Progressive Party’s (DPP) ว่าประธานาธิบดีหม่าจะไป “ขายไต้หวัน” หรือไม่
การพบปะในอดีต การปูทาง :
            การพบปะของ 2 ประธานาธิบดีถือว่าผลงานของรัฐบาลหม่าที่ปูทางหลายปีเพื่อให้เกิดวาระนี้
            ดังที่เคยนำเสนอแล้วว่า ในอดีตที่ผ่านมารัฐบาลปักกิ่งไม่ยอมเจรจากับรัฐบาลไทเป เนื่องจากไม่ยอมรับว่ารัฐบาลไทเปเป็นรัฐบาลที่ชอบธรรม เป็นพวกกบฏไปตั้งมั่นเกาะไต้หวันซึ่งจีนถือว่าเป็นมณฑลหนึ่งมาโดยตลอด
            ที่ผ่านมา 2 ฝ่ายจะพูดคุยผ่านบุคคลที่ไม่นับว่าเป็นข้าราชการหรือคนของทางการเต็มตัว แต่ด้วยการติดต่อสัมพันธ์ ทั้ง 2 ฝ่ายได้ประโยชน์จากความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ดังนั้นหากจะใช้ช่องทางเดิมย่อมดำเนินต่อไปได้
            แต่การพบปะเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2014 ระหว่างเจ้าหน้าที่ตัวแทนรัฐบาลจีนกับไต้หวัน เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เป็นการประชุมอย่างเป็นทางการ “ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ “ของทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งมีค่าเท่ากับรัฐบาลปักกิ่งยอมรับรัฐบาลไทเปในระดับหนึ่ง แม้ว่าสื่อ Xinhua กับสื่ออื่นๆ ของจีนจะเรียกตัวแทนฝ่ายไต้หวันว่าเป็น “ประธานคณะกรรมการกิจการจีนแผ่นดินใหญ่ของฝ่ายไต้หวัน” (head of the Mainland Affairs Council on the Taiwan side) การเรียกเช่นนี้ชี้ว่ารัฐบาลจีนยังไม่ได้ยอมรับอธิปไตยของไต้หวัน ซึ่งมีชื่อประเทศอย่างเป็นทางการว่าสาธารณรัฐจีน (Republic of China)
            อย่างไรก็ตาม การยอมรับฐานะ “เจ้าหน้าที่รัฐ” ไต้หวัน นับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่รัฐบาลจีนเริ่มแสดงท่าทีบางอย่าง “ยอมรับ” รัฐบาลไทเปมากขึ้น และเมื่อมีการพบปะอย่างเป็นทางการครั้งแรกย่อมน่าจะมีครั้งต่อๆ ไป กลายเป็นการติดต่อระหว่าง “ฝ่ายราชการ” กับ “ฝ่ายราชการ”
            และปูทางสู่การพบปะของ 2 ผู้นำในครั้งนี้

วิเคราะห์ :
            ประการแรก ผลประโยชน์ที่รัฐบาลหม่าได้
            รัฐบาลหม่ามีนโยบายฟื้นฟูความสัมพันธ์กับจีน การลดความตึงเครียดระหว่าง 2 ฝ่าย สร้างประโยชน์แก่ไต้หวันมากมาย เช่น ไม่ต้องเพิ่มงบประมาณกลาโหม การเร่งสร้างพลังอำนาจทหารให้ทัดเทียมจีนเป็นเรื่องที่ไปไม่ได้ นับวันกองทัพจีนมีความทันสมัย มีพลังอำนาจเหนือไต้หวัน
ที่สำคัญกว่าคือไม่ทำลายบรรยากาศการค้าการลงทุน
นับวันเศรษฐกิจ 2 ประเทศพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันอย่างมาก บริษัทไต้หวันจำนวนมากเคลื่อนย้ายโรงงานไปที่จีน สื่อไต้หวันรายงานว่าในปี 2012 มีนักธุรกิจไต้หวันราว 2 ล้านคนกำลังทำธุรกิจในจีน ในจำนวนนี้ราว 8 แสนคนทำงานและอาศัยที่เมืองเซี่ยงไฮ้
            รัฐบาลไต้หวันจึงไม่เสี่ยงให้ประชาชนของตนประท้วงรัฐบาลตนเอง จะรวมชาติหรือไม่นั่นเป็นเรื่องหนึ่ง เรื่องที่ความสำคัญกว่าคือไม่กระทบต่อการค้าการลงทุน แม้กระทั่งพรรคฝ่ายค้าน DPP ที่แสดงท่าทีต่อต้านนโยบายรวมชาติ

            ประการที่ 2 สิ่งที่คนไต้หวันต้องการ
            ย้อนหลัง 30-40 ปี รัฐบาลไต้หวันยังปลูกฝังเยาวชนให้กลับไปกู้ชาติ หวังว่าสักวันหนึ่งจีนจะกลายเป็นประเทศหนึ่งเดียวภายใต้การปกครองที่นำโดยรัฐบาลไต้หวัน ความฝันนี้นับวันจะเลือนราง ที่สำคัญคือขัดแย้งกับความต้องการของคนไต้หวันที่มุ่งสนใจเรื่องปากท้องมากกว่าทุกสิ่ง หวังใช้ชีวิตอย่างอิสรเสรี ล้อมรอบด้วยความสุขจากวัตถุ
            คนไต้หวันต้องการให้ 2 ฝ่ายมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ดีต่อกัน การเมืองระหว่างประเทศสนับสนุนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ กังวลว่าหากรวมประเทศหรือเป็น “1 ประเทศ 2 ระบบ” พวกเขายังจะสามารถดำเนินชีวิตมีความสุขดังเดิมหรือไม่
            ถ้าพูดจากมุมคนไต้หวัน พวกเขาหวังว่าความสัมพันธ์ 2 ฝ่ายอยู่ในกรอบดังกล่าว นักการเมืองไต้หวันอาศัยเรื่องนี้โจมตีอีกฝ่าย ดึงประชาชนให้สนับสนุนตน

            ประการที่ 3 ผลประโยชน์ของจีน
ในปี 1992 รัฐบาลจีนประกาศนโยบาย “1 ประเทศ 2 ระบบ” (one country, two systems) ยอมให้ไต้หวันรวมชาติกับจีน ด้วยการที่ไต้หวันมีระบบการเมืองการปกครองของตนเอง (ทำนองคล้ายฮ่องกง)
            นับเป็นนโยบายที่ยืดหยุ่นกว่าเดิม ยอมให้ไต้หวันปกครองตนเองในระดับหนึ่ง ผลประโยชน์ใหญ่หลวงที่ได้คือท่าทีของจีนต่อการลดความขัดแย้งเรื่องรวมชาติ ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไต้หวันจะเป็นกรณีตัวอย่างที่ประชาคมโลกกำลังเฝ้าจับตาว่าจะจีนจะใช้กำลังเพื่อหักเอาไต้หวันกลับคืนหรือไม่ หลายปีที่ผ่านมารัฐบาลจีนไม่ได้ทำเช่นนั้นเนื่องจากไต้หวันไม่ล่วงล้ำเส้นต้องห้าม ไม่ประกาศเป็นรัฐอธิปไตย
            ขอเพียงไต้หวันไม่ล่วงล้ำเส้นต้องห้าม ฐานะของจีนในเวทีโลกจะโดดเด่น ลดการถูกวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบ
            การพบปะของ 2 ผู้นำแม้จะยังห่างไกลจากการรวมประเทศ แต่ได้แสดงอีกครั้งให้เห็นว่าที่สุดแล้ว ปัญหาสงครามกลางเมืองจะต้องแก้ไขด้วยการเจรจา ความปรารถนาที่จะอยู่ร่วมกันโดยสันติ รัฐบาลจีนได้แสดงอีกครั้งว่ายืนยันจุดยืนเช่นนี้

ข้อเสนอทางออก :
            ท่าทีของพรรค Democratic Progressive Party (DPP) แม้เห็นด้วยกับหลักการจีนเดียว แต่ต่างกันในรายละเอียด คุณไช่ อิงเหวิน (Tsai Ing-wen) ผู้นำพรรค DPP และผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวัน เคยแสดงความเห็นว่าไต้หวันยังต้องการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยต่อไป ความสัมพันธ์กับจีนต้องเกื้อหนุนความมั่นคงและเสถียรภาพภูมิภาค เป็นประโยชน์แก่ทั้ง 2 ฝ่ายจริงๆ
            ผลสำรวจล่าสุดชี้ว่าไช่ อิงเหวินจะชนะการเลือกตั้งในต้นปีหน้า (2016) นั่นหมายความว่าเส้นทางการรวมประเทศจะ “ดูเหมือนถอยห่าง” ออกไปอีกระยะหนึ่ง

            แต่ถ้าจะมององค์รวม ไต้หวันควรยอมรับว่าไม่อาจกลับไปกู้ชาติได้อีกแล้ว ประเด็นจึงอยู่ที่จะอยู่ร่วมกับจีนอย่างไร

            ส่วนฝ่ายจีนควรมองว่าลำพังไต้หวันไม่เป็นภัยคุกคามทางทหาร ถ้าจะเป็นก็เนื่องจากสามารถดึงสหรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่โอกาสที่จะดึงสหรัฐเข้ามาพัวพันกลายเป็นเรื่องใหญ่เรื่องโตนับวันจะลดน้อยลง เนื่องจากคนไต้หวันสนใจเรื่องทำมาหากิน ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีมากกว่าการเรื่องกู้ชาติ รัฐบาลจีนเป็นฝ่ายย้ำเตือนประชาคมโลกอยู่เสมอว่าจีนในยุคโลกาภิวัตน์ต้องการเป็นมิตรกับทุกประเทศ เพราะหากนานาชาติคว่ำบาตร ไม่ลงทุน ไม่ค้าขายกับจีนจะกลายเป็นปัญหาใหญ่
            หากจีนต้องการรุกคืบ การขยายการค้าการลงทุนกับต่างประเทศ น่าจะเป็นแนวทางที่ได้ประโยชน์มากกว่า ดูนุ่มนวลละมุนละไมมากกว่า และกำลังมุ่งสู่ทางทิศนี้ เศรษฐกิจ 2 ประเทศนับวันจะผูกพันเชื่อมโยง ไม่ว่า DPP จะมองว่าเป็นภัยคุกคามหรือไม่ก็ตาม

            ส่วนรัฐบาลสหรัฐถ้าจะหาเรื่องจีน มีประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจกว่ามาก ประเด็นความมั่นคงของไต้หวันกลายเป็นประเด็นรองเมื่อเทียบกับทะเลจีนใต้ที่กว้างใหญ่ มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องมากกว่าหลายเท่า

ดังที่เคยนำเสนอแล้วว่า “เป็นเวลา 66 ปีแล้วนับจากฝ่ายชาตินิยมถอยร่นมาปักหลักที่เกาะไต้หวัน ณ วันนี้ ผลจากความขัดแย้งทางอุดมการณ์ยังเป็นมรดกตกทอดจนถึงคนรุ่นปัจจุบัน เรื่องความแตกต่างทางการเมืองการปกครองยังเป็นประเด็นที่ต้องถกกันต่อไป ทางออกที่ดีอาจเป็นการปล่อยให้คนรุ่นหลานรุ่นเหลนในอนาคตเป็นผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้าย เมื่อถึงเวลานั้นการตัดสินใจอาจเป็นเรื่องง่าย เพราะอยู่ภายใต้บริบทที่เอื้ออำนวย คนไต้หวันกับคนจีนแผ่นดินใหญ่ไม่ใช่ใครอื่นไกล ตามหลักรัฐชาติ (Nation-state) สมัยใหม่ถือว่าคนชาติ (nation) เดียวกัน การรวมตัวแล้วแยกออก การแยกออกแล้วรวมตัวกันใหม่ เป็นเรื่องปกติของความเป็นไปในโลกนี้”
            สัญญาณการรวมตัวกำลังเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป คนไต้หวันนับล้านที่ไปทำงานลงทุนในประเทศจีนซื้อบ้านใกล้กับโรงงานของพวกเขา บางคนแต่งงานกับคนจีนแผ่นดินใหญ่มีลูกมีหลาน นี่คือการรวม 2 ประเทศที่กำลังเกิดขึ้นจริง ตรงกับที่ประธานาธิบดีหม่าพูดต่อหน้าประธานาธิบดีสีเปรียบเปรยความสัมพันธ์ 2 ฝ่ายว่า “เลือดย่อมเข้มกว่าน้ำ”

การพบปะระหว่าง 2 ผู้นำครั้งนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก โดยเฉพาะจากฝ่ายต่อต้าน บางคนเห็นว่าประธานาธิบดีหม่าทำเพื่อให้ชื่อตัวเองถูกจารึกในประวัติศาสตร์เท่านั้น ซึ่งท่านก็ยอมรับว่าจะเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ เป็นความสำเร็จที่ผ่านปูทางไว้ถึง 7 ปี อันที่จริงท่านหวังว่าจะพบผู้นำจีนตั้งแต่การประชุมเอเปกเมื่อปี 2013
ไม่ว่าประธานาธิบดีหม่าจะมีเป้าหมายกี่ประการ การพบปะของ 2 ผู้นำเป็นอีกขั้นของการสานความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ไม่ว่าจะได้รวมประเทศหรือไม่ก็ตาม นี่คือประโยชน์ที่ได้ คือสิ่งที่ผู้นำควรทำมิใช่หรือ
และโลกจะจับตามองว่าจีนจะสร้างอนาคตที่สวยงามแก่ชนรุ่นหลังดังคำที่พูดต่อหน้าประธานาธิบดีหม่าหรือไม่
8 พฤศจิกายน 2015
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 20 ฉบับที่ 6941 วันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2558)
-----------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
เป็นครั้งแรกใน 65 ปีที่เจ้าหน้าที่รัฐไต้หวันกับเจ้าหน้าที่รัฐจีนได้ประชุมหารืออย่างเป็นทางการ หลังจาก 2 ฝ่ายได้กระชับความสัมพันธ์ในหลายปีที่ผ่านมา ประเด็นถกเถียงลึกๆ ยังเป็นเรื่องการรวมชาติ แต่เรื่องเฉพาะหน้าที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันคือเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่ทั้ง 2 ฝ่ายได้ประโยชน์มาโดยตลอด และเห็นว่าควรกระชับความสัมพันธ์ให้มากขึ้นกว่านี้ แม้ว่าไต้หวันจะเป็นผู้ออกหน้าก็ตาม
บรรณานุกรม:
1. Chiao, Yuan-Ming. (2015, November 6). Ma touts meeting as "bridge building” for his successor. The China Post. Retrieved from http://www.chinapost.com.tw/taiwan/china-taiwan-relations/ bottom 2015/11/06/450228/Ma-touts.htm
2. China's line. (2015, March 17). The Economist. Retrieved from http://www.economist.com/news/china/21646571-chinese-leaders-send-warnings-taiwans-opposition-party-ahead-elections-next-year-chinas-bottom
3. Cross-Strait affairs chiefs hold first formal meeting. (2014, February 11). People’s Daily/Xinhua. Retrieved from http://english.peopledaily.com.cn/90785/8533026.html
4. Hsiao, Alison. (2015, November 6). MA-XI MEETING: DPP opposition to Ma-Xi exchange ‘inappropriate’. Taipei Times. Retrieved from http://www.taipeitimes.com/News/taiwan/archives/2015/11/06/2003631817
5. Shirk, Susan L. (2007). China: Fragile Superpower: How China's Internal Politics Could Derail Its Peaceful Rise. New York: Oxford University Press.
6. President Xi to meet Taiwan leader in Singapore. (2015, November 4). Xinhua. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/2015-11/04/c_134780926.htm
7. Pu, Zhendong., & Zhao, Shengnan. (2014, February 11). Meeting heralds 'new model' for cross-Straits talk. China Daily. Retrieved from http://www.chinadaily.com.cn/china/2014-02/11/content_17276099.htm
8. Ramzy, Austin. (2015, November 7). Presidents of China and Taiwan Shake Hands in First Ever Meeting. The New York Times. Retrieved from http://www.nytimes.com/2015/11/08/world/asia/presidents-china-taiwan-meet-shake-hands-singapore.html?_r=0
9. Wang, Jenn-hwan (2006). Sovereignty, survival, and the transformation of the Taiwan state. In State Making in Asia. (pp.94-112). Oxon: Routledge.
10. Zhang, Qingmin. (2011). China’s Diplomacy. Singapore: Cengage Learning Asia.
---------------------