สงครามกลางเมืองซีเรีย เกมสงครามของมหาอำนาจ

สงครามกลางเมืองซีเรียในขณะนี้ไม่ใช่ความขัดแย้ง การปะทะระหว่างคนซีเรียด้วยกันอีกต่อไป มีกองกำลังต่างชาติกับรัฐบาลต่างชาติเข้าเกี่ยวข้องหลายสิบประเทศ สามารถแยกออกเป็น 3 ฝ่ายใหญ่ๆ ฝ่ายแรกคือขั้วสหรัฐอเมริกา ประกอบด้วยประเทศอังกฤษ อียิปต์ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี จอร์แดน กาตาร์ ซาอุดิอาระเบีย ตุรกี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสหรัฐฯ
2 ฝ่ายที่เหลือคือขั้วที่รัสเซียเป็นแกนนำ กับฝ่ายผู้ก่อการร้ายและกองกำลังติดอาวุธมุสลิมทั้งหมด
บทความนี้จะนำเสนอการเผชิญหน้าระหว่างขั้วสหรัฐฯ กับรัสเซียผู้มีบทบาทสำคัญในปัจจุบันและอนาคต ให้เห็นภาพชัดว่าสงครามซีเรียในขณะนี้เป็นการเผชิญหน้าของ 2 มหาอำนาจ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องความขัดแย้งของคนซีเรีย
จากความขัดแย้งภายในสู่การแทรกแซงจากภายนอก :
            สงครามกลางเมืองซีเรียเริ่มตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม 2011 มีพัฒนาการมีการเปลี่ยนแปลงตามลำดับ เริ่มจากประชาชนกลุ่มหนึ่งไม่พอใจการบริหารของรัฐบาล ชุมนุมประท้วงอย่างสงบ เกิดความรุนแรงมากขึ้น เจ้าหน้าที่เข้าปราบปราม ทั้งฝ่ายต่อต้านรัฐบาลกับเจ้าหน้าที่ต่างใช้อาวุธและรุนแรงขึ้น
            สิงหาคม 2011 สมาชิกสันนิบาตอาหรับ (Arab League) หลายประเทศแสดงท่าทีต่อต้านรัฐบาลอัสซาด รัฐบาลจอร์แดนเรียกร้องให้หยุดสังหารประชาชน คูเวตถอนเอกอัครราชทูตกลับประเทศ
            4 เดือนต่อมาสันนิบาตอาหรับระงับความเป็นสมาชิกของซีเรียและคว่ำบาตรเศรษฐกิจ จากนั้นเรียกร้องให้ประธานาธิบดีบาชาร์ อัลอัสซาด (Bashar al-Assad) ก้าวลงจากอำนาจ พร้อมกับขอให้คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติมีมติสนับสนุน แต่รัสเซียกับจีนคัดค้าน
            การยื่นร่างมติของสันนิบาตอาหรับช่วยให้เห็นชัดว่าตัวแทนถาวรคณะมนตรีความมั่นคงแบ่งเป็น 2 ขั้ว (จีนไม่ชัดเจนว่าอยู่ขั้วใด)
            เมื่อเข้าสู่ต้นปี 2012 มีข้อมูลว่ารัฐบาลต่างชาติเริ่มส่งอาวุธแก่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ถึงตอนนี้ซีเรียกลายเป็นสงครามกลางเมืองเต็มรูปแบบ

            ในปีเดียวกันนี้เอง เกิดกลุ่มผู้ก่อการร้าย Al-Nusra Front/Jabhat al-Nusra สมาชิกส่วนหนึ่งมาจากมุสลิมต่างประเทศ อีกส่วนสังกัด Free Syrian Army (FSA) ที่ชาติตะวันตกกับอาหรับบางประเทศให้การสนับสนุนเพื่อโค่นล้มระบอบอัสซาด
            Al-Nusra Front เป็นพวกซุนนีหัวรุนแรง จัดอยู่ในกลุ่มอัลกออิดะห์ เป็นที่ยอมรับทั่วไปว่ารัฐอาหรับบางประเทศสนับสนุน Al-Nusra Front โค่นล้มระบอบอัสซาด ดังนั้น Al-Nusra Front จึงเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่จัดตั้งขึ้นเพื่อโค่นล้มระบอบอัสซาดโดยเฉพาะ
            ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดในหมู่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลอัสซาดด้วยกัน Al-Nusra Front มีชื่อเสียงโด่งดังอย่างรวดเร็ว สามารถยึดครองพื้นที่จำนวนมาก

อีก1 ปีถัดมา ราวเมษายน-พฤษภาคม 2013 ชื่อ ISIL/ISIS เริ่มปรากฏชัดเจนในซีเรีย
            ISIL/ISIS มีจุดเริ่มต้นจากอัลกออิดะห์ เป็นแขนงหนึ่งของกลุ่มนี้ (เหมือน Al-Nusra Front) และกลายเป็นกลุ่มที่โดดเด่นเหนือ Al-Nusra Front ทั้งในประสิทธิภาพการรบ ความโหดเหี้ยมที่ปรากฏผ่านสื่ออย่างต่อเนื่อง เช่น การเผาเชลยทั้งเป็น และเด่นดังถึงขีดสุดเมื่อนายอาบู บาการ์ อัล-บักดาดี (Abu Bakr al-Baghdadi) ผู้นำ ISIL/ISIS ประกาศสถาปนารัฐอิสลามอย่างเป็นทางการ เปลี่ยนชื่อเป็น “Islamic State” หรือ IS เมื่อมิถุนายน 2014 ประกาศว่าตนคือ “คอลีฟะห์” หรือ “กาหลิบ” เป็นผู้นำมุสลิมทั้งปวง ประกาศให้กลุ่ม รัฐ องค์กรมุสลิมทั่วโลกเชื่อฟังตนในฐานะผู้นำรัฐอิสลาม
เมื่อถึงตอนนี้กองทัพอัสซาดต้องเผชิญผู้ก่อการร้ายต่างชาติที่เข้มแข็งถึง 2 กลุ่ม (ไม่รวมกลุ่มอื่นๆ อีกสารพัดชื่อ) ทั้ง 2 กลุ่มต่างมีข้อมูลว่าเป็นผู้ก่อการร้ายที่รัฐอุปถัมภ์

ขั้วสหรัฐฯ โจมตีทางอากาศและการตอบโต้จากรัสเซีย :
3 เดือนต่อมา ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ประกาศทำสงครามกับ IS ชี้แจงว่า ณ ขณะนี้ IS เป็นภัยคุกคามต่อประชาชนอิรัก ซีเรียและภูมิภาคตะวันออกกลาง “แต่หากปล่อยทิ้งไว้ ภัยคุกคามจากผู้ก่อการร้ายเหล่านี้จะเติบใหญ่เหนือระดับภูมิภาค จะคุกคามแม้กระทั่งสหรัฐอเมริกา”
            กองกำลังสหรัฐฯ กับพันธมิตรเปิดฉากโจมตีทางอากาศต่อ IS ซึ่งหมายถึงสหรัฐฯ กับประเทศสนับสนุนฝ่ายต่อต้านยกระดับการแทรกแซง
            ประเด็นที่ต้องตระหนักคือ การปรากฏตัวของ IS เป็นต้นเหตุของการโจมตีทางอากาศดังกล่าว ซึ่งหมายความว่านับจากนี้เป็นต้นไปความเป็นไปของสมรภูมิขึ้นกับมหาอำนาจสหรัฐฯ กับพวก การโจมตีทางอากาศมีส่วนช่วยบั่นทอนผู้ก่อการร้าย แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งโอกาสที่กองทัพอัสซาดจะชนะฝ่ายต่อต้านแทบไม่มีอีกแล้ว แม้ฝ่ายต่อต้านสายกลางอ่อนแอ ไม่สามารถโค่นล้มระบอบอัสซาดได้ด้วยตัวเอง

            การขยายตัวของสงครามกลางเมือง สงครามต่อต้านผู้ก่อการร้ายที่ยืดเยื้อส่งผลให้กองทัพรัฐบาลอัสซาดนับวันยิ่งอ่อนล้า สูญเสียพื้นที่มากขึ้นเรื่อยๆ มีการเจรจาระหว่างประเทศหลายครั้งแต่ไม่มีข้อสรุป
กลางเดือนกันยายน 2015 เกิดจุดพลิกผันสำคัญ ประธานาธิบดีวลาดีมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) กล่าวในงานประชุมสุดยอดของ Collective Security Treaty Organization (CSTO) เรียกร้องให้ชาติตะวันตกระงับความต้องการส่วนตัว พฤติกรรม 2 มาตรฐานในการสู้กับก่อการร้าย ไม่ล้มรัฐบาลคนอื่นด้วยการยืมมือองค์กรก่อการร้าย “ณ ขณะนี้เราจำต้องร่วมมือกับรัฐบาลซีเรีย กองกำลังเคิร์ดและพวกที่เรียกว่าฝ่ายต่อต้านสายกลาง (moderate opposition) เหล่าประเทศในภูมิภาค เพื่อสู้กับภัยคุกคามต่อซีเรียและต่อต้านลัทธิก่อการร้าย” ถ้าร่วมมือกันจะแก้ปัญหาได้ ย้ำว่าจะให้ความช่วยเหลือแก่ซีเรีย “ทั้งด้านการทหาร ความช่วยเหลือทางเทคนิคที่จำเป็น”
คำประกาศดังกล่าวเป็นอีกครั้งที่ประธานาธิบดีปูตินยืนยันว่าจะช่วยเหลือด้านการทหารแก่รัฐบาลอัสซาด ระบอบอัสซาดจะต้องอยู่ต่อไป แต่ครั้งนี้มีความพิเศษจากครั้งก่อนๆ เพราะไม่กี่วันต่อมา รัสเซียเริ่มเข้ามาตั้งฐานทัพในซีเรีย เครื่องบินรบที่มาประจำการในซีเรียเริ่มเปิดฉากโจมตีผู้ก่อการร้าย กระทรวงกลาโหมรัสเซียรายงานว่าเป็นไปตามการร้องขอจากประธานาธิบดีอัสซาด และจะไม่ส่งทหารเข้ารบทางภาคพื้นดิน
            การตั้งฐานทัพในซีเรียและปฏิบัติการโจมตีอาจตีความว่ารัฐบาลปูตินมอบกองทัพรัสเซียเพื่อช่วยรบกับผู้ก่อการร้าย ถ้าตีความอย่างสุดโต่งจะหมายถึงเครื่องบินรบหลายร้อยลำ รถถังนับพัน ทหารนับแสนนาย รวมทั้งอาวุธนิวเคลียร์ การอธิบายเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลปูตินจะเปิดสงครามโลกกับประเทศใด แต่การตีความอย่างสุดโต่งสามารถขยายผลไปไกลขนาดนั้น ในทางปฏิบัติหากรัฐบาลปูตินเห็นท่าไม่ดี คงจะดำเนินการอย่างไรอย่างไรหนึ่งเพื่อให้เรื่องยุติ ไม่บานปลาย

สงครามกลางเมืองซีเรีย เกมสงครามของมหาอำนาจ :
            สมรภูมิซีเรียในขณะนี้จึงแบ่งออกเป็น 2 ขั้วอย่างชัดเจน (สามารถแบ่งได้มากกว่านี้ แต่มีเพียง 2 ขั้วที่สำคัญ) ขั้วแรกนำโดยสหรัฐฯ ร่วมกับพันธมิตรรัฐอาหรับ ตุรกี ยุโรปบางประเทศ ขั้วที่ 2 นำโดยรัสเซีย อาจรวมอิหร่าน (แม้กระทั่งจีน)
            ผู้ก่อการร้ายอย่าง Al-Nusra Front กับ IS รวมทั้งกองกำลังติดอาวุธมุสลิมต่างชาติอีกสารพัดกลุ่ม คือตัวละครที่แทรกเข้ามา ทั้งนี้มีหลักฐานหรือข้อกล่าวหาว่ากลุ่มเหล่านี้เป็นผู้ก่อการร้ายที่รัฐบาลต่างชาติอุปถัมภ์ ประธานาธิบดีอัสซาดกล่าวเมื่อกลางกุมภาพันธ์ 2016 ย้ำว่า รัฐบาลซาอุฯ ตุรกีกับกาตาร์คือผู้สนับสนุน
ผู้ที่ยอมรับเรื่องนี้ย่อมต้องตีความว่ากลุ่มเหล่านี้สังกัดขั้วสหรัฐฯ นั่นเอง

            การที่สงครามกลางเมืองยืดเยื้อถึง 5 ปีครึ่งและยังไม่มีท่าทีว่าจะจบก็เนื่องด้วยแรงสนับสนุนจาก 2 ขั้ว สมรภูมิซีเรียในขณะนี้ในแง่มุมหนึ่งจึงหมายถึงการต่อสู้ระหว่าง 2 ขั้วดังกล่าว ไม่ใช่เฉพาะความขัดแย้งของคนซีเรียเท่านั้น ความเป็นไปของซีเรียไม่ขึ้นกับชาวซีเรียอีกต่อไป บัดนี้อยู่ในมือของรัฐบาลต่างชาติแล้ว
            จากการวิเคราะห์ มีความเป็นไปได้ว่าขั้วสหรัฐฯ ในขณะนี้ต้องการให้สงครามกลางเมืองยืดเยื้อต่อไป เหตุผลหลักไม่ใช่เรื่องระบอบอัสซาดจะอยู่หรือจะไปอีกแล้ว แต่ต้องการบั่นทอนขั้วรัสเซีย มุมมองนี้อธิบายว่าเมื่อรัสเซียพาตัวเองเข้าพัวพันถึงขั้นเปิดฐานทัพในซีเรีย โจมตีผู้ก่อการร้าย ให้อาวุธเครื่องกระสุนแก่กองทัพอัสซาดอย่างต่อเนื่อง ขั้วสหรัฐฯ คิดใช้โอกาสนี้ให้ซีเรียกลายเป็นอัฟกานิสถานของรัสเซียอีกครั้ง แน่นอนว่าครั้งนี้รัสเซียไม่ได้ทุ่มสุดตัวเหมือนสงครามอัฟกานิสถานครั้งสมัยสงครามเย็น แต่ย่อมต้องแบ่งประมาณจำนวนไม่น้อยเพื่อสมรภูมิซีเรีย รัฐบาลสหรัฐฯ กับยุโรปย่อมเห็นว่าดีกว่าที่รัสเซียจะใช้งบประมาณทั้งหมดเพื่อพัฒนากองทัพ เผชิญหน้านาโตโดยตรง อีกทั้งอาจต้องการตรวจสอบขีดความสามารถของกองทัพรัสเซีย ไม่เชื่อว่ากองทัพรัสเซียเข้มแข็งจริง

            ส่วนรัฐบาลรัสเซียเห็นว่าเป็นโอกาสที่จะใช้งบประมาณบางส่วนเพื่อแสดงบทบาทของตนในเวทีโลก ให้โลกได้เห็นสมรถนะของเครื่องบินรบอย่าง Su-34 Tu-22M ขีปนาวุธหลายรุ่น รวมทั้งรถถัง T-90 เสริมภาพลักษณ์ของประธานาธิบดีปูติน บั่นทอนภาพลักษณ์ตะวันตก หวังให้ซีเรียเป็นสงครามเวียดนามของสหรัฐฯ

            เป็นเรื่องแปลกแต่จริงที่รัฐบาลสหรัฐฯ สามารถตกลงกับรัสเซีย รัสเซียจะเล่นงานแต่พวกผู้ก่อการร้าย ไม่โจมตีพวกฝ่ายต่อต้านสายกลางที่ขั้วสหรัฐฯ สนับสนุน ด้วยเหตุผลข้อนี้และอื่นๆ จึงเชื่อว่าสงครามจะยืดเยื้อต่อไป ตราบเท่าที่มหาอำนาจไม่ปล่อยมือ ประเทศซีเรียยังคงอยู่ แต่กลายเป็นซากปรักหักพัง ยิ่งปล่อยให้สงครามยืดเยื้อเพียงใด ซากปรักหักพังก็ยิ่งเพิ่มขึ้น หลายพื้นที่เหมือนกลับไปสู่ยุคหิน เสียโอกาสฟื้นฟูพัฒนาประเทศ และเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว คือความแตกต่างที่เพิ่มมากขึ้น แต่ละวันคนซีเรียบาดเจ็บล้มตายมากขึ้น (ล่าสุดจำนวนผู้เสียชีวิตรวมทุกฝ่ายสูงถึง 250,000 คนแล้ว) ผู้คนนับล้านกลายเป็นผู้อพยพ โอกาสกลับคืนมาตุภูมิยิ่งเลือนราง บางคนอาจไม่คิดหวนกลับแล้ว โดยไม่มีหลักประกันว่าจะมีอนาคตที่ดีกว่า
            ซีเรียจะกลายเป็นเวียดนามของสหรัฐฯ หรือเป็นอัฟกานิสถานของรัสเซีย หรือจะเป็นอย่างไร เป็นประเด็นที่ควรติดตามต่อไป

วิเคราะห์องค์รวมและสรุป :
            ความขัดแย้งซีเรียได้ดำเนินต่อเนื่องกว่า 5 ปีครึ่งแล้ว ในช่วงเวลาดังกล่าวสถานการณ์ได้พัฒนาเปลี่ยนแปลง เริ่มจากการชุมนุมประท้วงรัฐบาลอย่างสงบ ตามด้วยต่างชาติเข้าแทรก การปรากฏตัวของผู้ก่อการร้าย กองกำลังมุสลิมต่างชาติกว่าร้อยประเทศ การเผชิญหน้าระหว่าง 2 ขั้ว 2 มหาอำนาจชัดเจนมากขึ้น เข้าพัวพันมากขึ้น บัดนี้ความเป็นไปของสมรภูมิกับอนาคตซีเรียจึงขึ้นกับการตัดสินใจบนผลประโยชน์ของ 2 ฝ่าย 2 มหาอำนาจ เป็นความขัดแย้งที่จะยืดเยื้อยาวนาน อาจสรุปว่าคือภาคต่อจากสงครามเย็น เป็นประเด็นสำคัญที่ควรตระหนัก
พฤศจิกายน 2016
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน นิตยสารหนังสือข่าวทหารอากาศ ปีที่ 76 ฉบับที่ 11 เดือนพฤศจิกายน 2559)
----------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
เป็นเรื่องแปลกที่รัสเซียกับฝ่ายสหรัฐฯ (รวมชาติตะวันตกกับรัฐอาหรับ) ต่างมีนโยบายปราบปรามผู้ก่อการร้าย IS/ISIL/ISIS แต่ต่างฝ่ายต่างทำ ฝ่ายสหรัฐฯ กล่าวหาว่ารัสเซียไม่ได้มุ่งทำลาย IS แต่มุ่งเป้าที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลอัสซาดมากกว่า ในขณะที่รัสเซียปฏิเสธ อีกทั้งมีประเด็นที่นักวิชาการหลายคนชี้ว่านโยบายปราบ IS ของฝ่ายสหรัฐฯ ไม่ได้ผล ถ้ามองในกรอบแคบความแตกต่างนี้มาจากการสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนรัฐบาลอัสซาด ถ้ามองในกรอบกว้างคือการเผชิญหน้าระหว่าง 2 มหาอำนาจ
บรรณานุกรม:
1. Hanano, Amal. (2012). Syrian Hope: A Journal. In The Dawn of the Arab Uprisings: End of an Old Order? (pp.225-236). London: Pluto Press.
2. Lister, Charles R. (2015). The Syrian Jihad: Al-Qaeda, the Islamic State and the Evolution of an Insurgency. New York: Oxford University Press.
3. Lynch, Marc. (2012). The Arab Uprising: The Unfinished Revolutions of the New Middle East. NY: Publicaffairs.
4. Masters, Jonathan. (2013, September 11). Syria's Crisis and the Global Response. Council on Foreign Relations. Retrieved from http://www.cfr.org/syria/syrias-crisis-global-response/p28402
5. Napoleoni, Loretta. (2014). The Islamist Phoenix: The Islamic State and the Redrawing of the Middle East. New York: Seven Stories Press.
6. NATO: Russia may assist in destruction of Syria's chemical weapons. (2013, October 23). Haaretz. Retrieved from http://www.haaretz.com/.premium-1.553979
7. President Assad's AFP Interview. (2016, February 12). The Syria Times. Retrieved from http://syriatimes.sy/index.php/interviews/22171-president-assad-s-afp-interview
8. Putin: Russia supports and will support the Syrian government.  (2015, September 15). Pravda. Retrieved from http://english.pravda.ru/russia/politics/15-09-2015/131969-putin_russia_syria-0/
9. Russian planes start pinpoint strikes against IS positions in Syria — Defense Ministry. (2015, September 30). TASS. Retrieved from http://tass.ru/en/defense/824957
10. Syria Al Qaida group ‘wants to attack US’. (2014, January 30). Gulf News. Retrieved from http://gulfnews.com/news/region/syria/syria-al-qaida-group-wants-to-attack-us-1.1284269
11. The White House. (2014, September 10). Statement by the President on ISIL. Retrieved from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2014/09/10/statement-president-isil-1
12. Yetkin, Murat. (2014, October 7). Turkey, ISIL and the PKK: It’s complicated. Daily News. Retrieved from http://www.hurriyetdailynews.com/turkey-isil-and-the-pkk-its-complicated.aspx?pageID=449&nID=72628&NewsCatID=409
-----------------------------