เพราะหลักคิดเปลี่ยน นโยบายจึงเปลี่ยน นำสู่การแก้ปัญหาสการ์โบโรห์

ก่อนปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โรดริโก ดูเตร์เต (Rodrigo Duterte) ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ กล่าวว่า “การเยือนจีนอย่างเป็นทางการของข้าพเจ้าเป็นจุดเปลี่ยนแห่งการแบ่งปันประวัติศาสตร์ แสดงให้เห็นว่าทั้ง 2 ประเทศสามารถทำงานร่วมกันอย่างเต็มที่ เพื่อผลประโยชน์ ความร่วมมือร่วม แม้ยังต้องยึดมั่นแก้ไขข้อพิพาทด้วยสันติ ยึดมั่นกฎหมายระหว่างประเทศ” หวังว่าจะสามารถปรับความสัมพันธ์เป็นระดับปกติในไม่ช้า ในเวลาไม่กี่เดือนความสัมพันธ์ทวิภาคีดีขึ้นอย่างชัดเจน

หลักคิดของรัฐบาลอากีโนที่ 3 :
            ในสมัยรัฐบาลที่แล้ว ประธานาธิบดีเบนิกโน อากีโนที่ 3 (Benigno Aquino 3) ยึดมั่นว่าพื้นที่แถบหมู่เกาะปะการังสการ์โบโรห์ (Scarborough Shoal/Panatag Shoal) เป็นของฟิลิปปินส์ เรือประมงจีนที่เข้าหามาปลาในอาณาเขตดังกล่าวจึงผิดกฎหมาย พยายามกีดกัน ผลักดันเรือต่างชาติออกจากพื้นที่
            เหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นเมื่อเมษายน 2012 ฟิลิปปินส์ส่งเรือรบเข้าไปในเขตหมู่เกาะปะการังสการ์โบโรห์ เข้าตรวจเรือประมงจีน 8 ลำ กล่าวหาว่าลักลอบเก็บ/จับสิ่งผิดกฎหมาย เช่น ปะการัง หอยขนาดยักษ์และปลาฉลาม ในขณะที่จีนยึดถือว่าเป็นอาณาเขตของตนเช่นกัน จึงตอบโต้ด้วยการใช้เรือยามฝั่งเข้าขัดขวาง เกิดการเผชิญหน้านานถึง 6 สัปดาห์
            ท้ายที่สุด ฟิลิปปินส์เป็นฝ่ายถอย นับจากนั้นเป็นต้นมา เรือประมงฟิลิปปินส์ไม่สามารถเข้าไปทำประมงในแถบนั้นอีกเลย
            นอกจากนี้ แม้รัฐบาลอากีโนที่ 3 ประกาศยึดมั่นแก้ปัญหาด้วยการเจรจา ไม่ยั่วยุให้เกิดความรุนแรง แต่นโยบายหนึ่งที่กลายเป็นหนามยอกอกของจีนคือ ฟิลิปปินส์กระชับความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศกับสหรัฐ
ด้านสหรัฐอยู่ในช่วงประธานาธิบดีบารัก โอบามา สอดคล้องกับนโยบายปรับสมดุลเอเชียแปซิฟิก (rebalancing towards the Asia-Pacific) เกิดข้อตกลงใหม่ๆ เช่น เมษายน 2014 รัฐบาลโอบามากับอากีโนลงนามข้อตกลงความมั่นคงทวิภาคีฉบับใหม่ ชื่อ Enhanced Defense Cooperation Agreement (EDCA) มีอายุ 10 ปี สาระสำคัญคืออนุญาตให้ทหารสหรัฐปรากฏตัวในประเทศฟิลิปปินส์ สามารถใช้ฐานทัพ ท่าเทียบเรือและสนามบินบางแห่ง

ในช่วงที่ความตึงเครียดพุ่งสูง ประธานาธิบดีอากีโนที่ 3 ร้องขอให้นานาชาติช่วยฟิลิปปินส์ต้านจีน เปรียบสถานการณ์เหมือนสมัยฮิตเลอร์เรียกร้องดินแดนซูเดเทนแลนด์ (Sudetenland) จากเชโกสโลวาเกียเมื่อปี 1938 และชาติมหาอำนาจสมัยนั้น “พยายามเอาอกเอาใจฮิตเลอร์ยอมให้ซูเดเทนแลนด์เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2” ฟิลิปปินส์ในวันนี้กำลังตกอยู่ในสภาพเช่นเชโกสโลวาเกียในสมัยนั้น เตือนว่าหากฟิลิปปินส์เสียดินแดนดังกล่าว ในอนาคตจีนคงต้องการมากกว่านั้น เพราะหลังจากฮิตเลอร์ได้ซูเดเทนแลนด์แล้ว 6 เดือนต่อมาฮิตเลอร์ส่งทหารยึดครองเชโกสโลวาเกียทั้งหมด

            ดูเหมือนว่าการอยู่ฝ่ายสหรัฐจะเป็นเครื่องป้องกันภัยคุกคามจากจีน คำถามสำคัญคือ สถานะดังกล่าวช่วยเพิ่มพูนผลประโยชน์แห่งชาติหรือไม่
นักวิเคราะห์ อีริค ชิว (Eric Chiou) เห็นว่าเนื่องจากฟิลิปปินส์เป็นประเทศเล็ก พลังอำนาจป้องกันประเทศต่ำ จึงกระตือรือร้นที่จะร่วมมือกับสหรัฐ ยอมให้กองทัพสหรัฐเข้าใช้สิ่งอำนวยความสะดวกในประเทศ แลกกับได้รับการปกป้อง แต่ยุทธศาสตร์ดังกล่าวเสี่ยงที่จะนำประเทศให้เผชิญหน้ากับจีนมากขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ ในขณะที่พลังอำนาจสหรัฐกำลังถดถอย และอาจถูกทอดทิ้งก็เป็นได้
            นอกจากความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้น ผลประโยชน์ที่สูญเสียชัดเจนคือด้านเศรษฐกิจ เช่น จีนจำกัดการซื้อสินค้าจากฟิลิปปินส์ ไม่แนะนำให้คนจีนติดต่อท่องเที่ยวประเทศนี้

หลักคิดของรัฐบาลดูเตร์เต :
            หลักคิดของรัฐบาลดูเตร์เต คือ ให้วางเรื่องอธิปไตยไว้ก่อน ไม่คิดว่าจีนเป็นฮิตเลอร์ ฟิลิปปินส์ไม่หวังพึ่งอเมริกาแบบหัวปักหัวปำ หันมาให้สำคัญกับผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรม ลดความสุ่มเสี่ยงที่จะอยู่กึ่งกลางความขัดแย้งระหว่าง 2 มหาอำนาจ สามารถขยายความได้ดังนี้
            ประการแรก ฟิลิปปินส์ไม่ควรอยู่กึ่งกลางความขัดแย้ง
            Delfin Lorenzana รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมฟิลิปปินส์กล่าวว่า แนวคิดของประธานาธิบดีดูเตร์เตคือ ฟิลิปปินส์ไม่ควรอยู่กึ่งกลางความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีน ไม่อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งที่อาจกลายเป็นสงครามนิวเคลียร์ ที่มีแต่ทำลายล้างทุกฝ่าย “สหรัฐกับจีนเข้าใจเรื่องนี้ ... เป็นเหตุว่าทั้ง 2 ประเทศระมัดระวังมากที่จะไม่เกิดความผิดพลาด”
            ประธานาธิบดีดูเตร์เตกล่าวว่า “การทำสงครามเป็นเรื่องไร้สาระ การสู้กันเพื่อก้อนน้ำก้อนหนึ่ง (a body of water) ไร้สาระเช่นกัน” การเจรจาดีกว่าทำสงคราม รัฐบาลต้องการพูดคุยเพื่อมิตรภาพ ความร่วมมือ เพื่อธุรกิจ การทำสงครามไม่ก่อประโยชน์

อย่างไรก็ตาม จะไม่ตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับสหรัฐ เพียงแต่ต้องการดำเนินนโยบายต่างประเทศที่เป็นอิสระมากขึ้น ขยับตัวเข้าใกล้จีนมากขึ้น เหตุผลนั้นตรงไปตรงมา เพราะประเทศได้ผลประโยชน์มากที่สุด ชาวฟิลิปปินส์จำนวนมากกำลังอาศัยและทำงานในสหรัฐ

ผลประโยชน์เศรษฐกิจเฉพาะหน้าที่จับต้องได้ :
            เมื่อสงครามและความตึงเครียดไม่ก่อประโยชน์ จึงควรหันมาฟื้นฟูความสัมพันธ์ เสริมสร้างความร่วมมือ ทันทีที่ขึ้นดำรงตำแหน่ง ประธานาธิบดีดูเตร์เตเอ่ยปากชัดเจนว่าต้องการเจรจากับจีนเรื่องพื้นที่พิพาท เห็นว่าอย่างไรเสียไม่อาจหลีกเลี่ยงปัญหา ต้องการให้ชาวประมงสามารถทำประมงในพื้นที่พิพาท
            ก่อนเดินทางเยือนจีนตามคำเชิญจากจีนอย่างเป็นทางการเมื่อตุลาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีดูเตร์เตกล่าวว่า น่าจะเห็นผลลัพธ์ที่ดี ชาวประมงฟิลิปปินส์สามารถกลับไปหาปลาในพื้นที่ดั้งเดิม จีนน่าจะคลายมาตรการกีดกันกล้วยจากฟิลิปปินส์ และอีกหลายอย่าง
นอกจากนี้ ฟิลิปปินส์ยังหวังเงินกู้จากจีน เพื่อก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟ

            แถลงการณ์ร่วมระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์ เมื่อ 21 ตุลาคม 2016 สาระสำคัญคือ 2 ฝ่ายจะมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน เชื่อวางใจ ยืนยันข้อตกลงหลายฉบับในอดีต ร่วมมือต่อต้านอาชญากรข้ามชาติ ต่อต้านก่อการร้าย จีนสนับสนุนนโยบายปราบปรามยาเสพติดของฟิลิปปินส์ ขยายความร่วมมือของหน่วยยามฝั่ง ปฏิบัติตาม China-Philippines MOU on Defense Cooperation
            ด้านเศรษฐกิจ 2 ฝ่ายต้องการขยายความร่วมมือการค้า การลงทุน การกู้ยืมเพื่อก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน
            ระบุความร่วมมือด้านการเกษตร วิทยาศาสตร์ การศึกษา วัฒนธรรม ส่งเสริมการท่องเที่ยวตามนโยบาย "ASEAN-China Year of Tourism" ความร่วมมือด้านการบรรเทาภัยพิบัติต่างๆ
            จะแลกเปลี่ยนความเห็นประเด็นทะเลจีนใต้ ยืนยันความสำคัญที่จะรักษาและส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ การเดินเรือและการเดินอากาศเสรี แก้ไขข้อพิพาทด้วยสันติวิธี ยึดแนวทางของ UNCLOS, DOC, COC
            ส่งเสริมความไว้วางใจต่อกัน ยับยั้งชั่งใจไม่ยั่วยุ เคารพอีกฝ่าย ไม่แทรกแซงกิจการภายใน

            10 วันต่อมา (31 ตุลาคม) กระทรวงการต่างประเทศจีนยืนยันให้เรือประมงฟิลิปปินส์สามารถจับปลาในพื้นที่พิพาทหมู่เกาะปะการังสการ์โบโรห์ หลังยุติตั้งแต่ปี 2012 การเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงกับสหรัฐไม่ช่วยแก้ปัญหานี้
            นับจากนี้ ตัวเลขการค้าการลงทุนระหว่างฟิลิปปินส์กับจีนน่าจะดีขึ้น

            อย่างไรก็ตาม ควรตระหนักว่าในอีกฝากหนึ่ง ฝ่ายวางแผนของสหรัฐคงอยู่ระหว่างการวางแผนและรอให้ประธานาธิบดีคนใหม่ตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรต่อ ทั้งความสัมพันธ์ทวิภาคีกับฟิลิปปินส์ และที่สำคัญกว่าคือยุทธศาสตร์ต่อภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
            ความสัมพันธ์ทวิภาคีฟิลิปปินส์กับจีนกำลังดีขึ้น แต่ไม่เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าความตึงเครียดในระดับภูมิภาคจะลดลง (แม้เหตุปัจจัยลดลง) ความเป็นไปของเอเชียแปซิฟิกเข้าสู่ความไม่แน่นอน ขึ้นกับการตัดสินใจรัฐบาลสหรัฐ

คิดอย่างเป็นกลาง อย่างไหนให้ผลประโยชน์มากกว่า :
            ถ้าคิดอย่างเป็นกลาง อาจเริ่มด้วยคำถามว่านโยบายของอากีโนที่ 3 กับของดูเตร์เต อย่างไหนให้ผลประโยชน์แห่งชาติมากกว่า มีความเสี่ยงน้อยกว่า เป็นคำตอบที่ผ่านการศึกษาวิจัยอย่างถูกต้อง
            ที่ผ่านมา ยังไม่พบงานวิจัยบ่งชี้ว่านโยบายแบบใดดีกว่า การจะเลือกใช้นโยบายใด รัฐบาลเป็นผู้ตัดสิน ถ้าจะให้เป็นประชาธิปไตยที่ “เข้มแข็ง” ควรให้สังคมรับรู้ว่านโยบายใดน่าจะให้ผลประโยชน์มากกว่า ข้อดีข้อเสีย เพื่อที่สังคมจะได้มั่นใจ รู้ว่าทางเลือกใดน่าจะดีกว่า เป็นยุทธศาสตร์ระยะยาวของชาติ ที่ผ่านการศึกษาใคร่ครวญอย่างดี และดำเนินไปตามแนวทางดังกล่าวต่อเนื่อง ไม่กลับไปกลับมาขึ้นกับว่าใครเป็นรัฐบาล (เว้นแต่การกลับไปกลับมาให้ประโยชน์มากกว่า)

เป็นไปได้ว่าช่วงรัฐบาลอากีโนที่ 3 ได้พิสูจน์แล้วว่าการสัมพันธ์กับสหรัฐไม่ก่อผลประโยชน์รูปธรรมเท่ากับที่เสียไป หากรัฐบาลจีนต้องการช่วยเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ น่าจะง่ายกว่าที่ต้องผ่านกลไกตลาดของอเมริกา ความช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศ ผลประโยชน์เศรษฐกิจเฉพาะหน้าคือสิ่งที่รัฐบาลดูเตร์เตต้องการมากที่สุด
            ดังที่ประธานาธิบดีดูเตร์เตกล่าวว่า “บางประเทศรู้ว่าเราขาดเงิน แทนที่จะช่วยเรา พวกเขาทั้งหมดทำแค่วิพากษ์วิจารณ์ จีนไม่เคยวิจารณ์ ช่วยเราเงียบๆ .. นี่คือลักษณะหนึ่งของการเป็นคนจริงใจ”

ส่วนเรื่องความมั่นคง น่าจะต่อรองกับสหรัฐได้ เพราะรัฐบาลสหรัฐต้องการพันธมิตร หุ้นส่วน ฟิลิปปินส์น่าจะสามารถวางตัวอยู่ในจุดที่ 2 มหาอำนาจเป็นฝ่ายเสนอผลประโยชน์ ดีกว่าที่ต้องรอความเมตตาจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียว
ในอีกแง่หนึ่ง เป็นไปได้ไหมว่า แท้จริงแล้ว นโยบายทั้ง 2 แบบ (อิงสหรัฐกับเข้าหาจีน) มีข้อดีข้อเสียเท่ากันหรือใกล้เคียงกัน จะเลือกทางไหนก็ได้ ถ้าเป็นเช่นนี้ ไม่ควรวิพากษ์ว่านโยบายของใครดีกว่า ไม่ควรใช้เรื่องนี้เป็นประเด็นหาเสียง ประเด็นนี้กลับไปสู่เรื่องเดิมว่าเพราะสังคมไม่มีคำตอบว่าแนวทางไหนดีกว่า
ที่สุดแล้ว เรื่องสำคัญที่สุดก่อนดำเนินนโยบายใดๆ คือ ต้องมีคำตอบชัดก่อนว่าแนวทางใดให้ประโยชน์มากที่สุด เหมาะสมที่สุด ประชาชนไม่อ่อนไหวตามวาทศิลป์ของนักการเมือง ไม่ปล่อยให้ผู้ถืออำนาจไม่กี่คนตัดสินใจตามลำพัง
เพราะหลักคิดเปลี่ยน นโยบายจึงเปลี่ยน นำสู่การแก้ปัญหาด้วยวิธีการใหม่
6 พฤศจิกายน 2016
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 21 ฉบับที่ 7304 วันอาทิตย์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2559)
--------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง 
นับตั้งแต่ข้อพิพาททะเลจีนใต้กลายเป็นประเด็นสำคัญ รัฐบาลฟิลิปปินส์ยึดหลักสันติวิธีเรื่อยมา แม้บางช่วงจะแสดงท่าทีแข็งกร้าวบ้าง เห็นความแตกแยกในอาเซียนบ้าง ความสัมพันธ์ทวิภาคีฟิลิปปินส์-จีนมีมากกว่าเรื่องทะเลจีนใต้ ทุกฝ่ายระวังที่จะไม่ให้ความขัดแย้งบานปลาย อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งยังคงอยู่ จีนยังรุกคืบแสดงความเป็นเจ้าของอย่างต่อเนื่อง
บรรณานุกรม:
1. Cabreza, Vincent. (2016, October 30). US, China will never go to war—Lorenzana. Philippine Daily Inquirer. Retrieved from http://globalnation.inquirer.net/148322/us-china-will-never-go-to-war-lorenzana
2. China confirms allowing Philippine fishermen access to shoal. (2016, November 1).
inquirer.net/AP. Retrieved from http://globalnation.inquirer.net/148435/china-confirms-allowing-philippine-fishermen-access-to-shoal
3. Chiou, Eric. (2014, February 26). The shadow of conflict in East Asia. Taipei Times. Retrieved from http://www.taipeitimes.com/News/editorials/archives/2014/02/26/2003584357
4. Full Text: Joint Statement of China and the Philippines. (2016, October 21). Xinhua. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/china/2016-10/21/c_135771815.htm
5. Interview: Philippine president says "only China can help us". (2016, October 17). Xinhua. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/2016-10/17/c_135760893.htm
6. Kabiling, Genalyn. (2016, October 7). LDuterte optimistic China would allow PH fishermen in disputed water. Manila Bulletin. Retrieved from http://www.mb.com.ph/duterte-optimistic-china-would-allow-ph-fishermen-in-disputed-waters/
7. Macas, Trisha. (2016, May 23). Duterte mulls China visit, says bilateral talks to start soon. GMA News. Retrieved from http://www.gmanetwork.com/news/story/578691/news/nation/duterte-mulls-china-visit-says-bilateral-talks-to-start-soon
8. Philippine Leader Sounds Alarm on China. (2014, February 5). The New York Times. Retrieved from http://www.nytimes.com/2014/02/05/world/asia/philippine-leader-urges-international-help-in-resisting-chinas-sea-claims.html?_r=0
9. PH, US to sign access pact Monday. (2014, April 27). inquirer.net /AP. Retrieved from http://globalnation.inquirer.net/102874/us-philippines-reach-deal-on-troops
10. Salaverria, Leila B. (2016, October 23). Duterte defuses separation ‘bomb': Ties with US remain. Inquirer.net. Retrieved from http://globalnation.inquirer.net/147533/duterte-defuses-separation-bomb-ties-with-us-remain
-----------------------------