สันติวิธี ทางเลือกของฟิลิปปินส์ต่อปัญหาทะเลจีนใต้

ในบรรดาชาติสมาชิกอาเซียน ฟิลิปปินส์กับเวียดนามเป็น 2 ประเทศที่มักปรากฏเป็นข่าวพิพาทการอ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนหรือพื้นที่ทับซ้อนกับจีน ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่ขอความช่วยเหลือจากฝ่ายสหรัฐมากที่สุด ท่าทีและการดำเนินนโยบายของรัฐบาลฟิลิปปินส์จึงเป็นอีกปัจจัยที่มีผลต่อความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ สะท้อนความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนในเรื่องนี้
            ฟิลิปปินส์เห็นว่าการที่จีนแสดงความเป็นเจ้าของต่อแนวปะการังมิสชีฟ (Mischeif Reef) ตั้งแต่เมื่อปี 1995 กับหมู่เกาะปะการังสการ์โบโรห์ (Scarborough Shoal) เมื่อปี 1997 คือการเข้ายึดครองอาณาเขตของฟิลิปปินส์โดยตรง แนวปะการังมิสชีฟตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเลของตน แต่ห่างจากแผ่นดินจีนถึงพันไมล์ ฝ่ายจีนยึดว่าพื้นที่เหล่านั้นเป็นของตน อ้างว่าอยู่ใกล้ไต้หวัน
            พื้นที่ทับซ้อนเหล่านี้กลายเป็นเหตุพิพาทเรื่อยมา ต่างฝ่ายพยายามหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าทางทหาร แต่มักเกิดเหตุยั่วยุเป็นประจำ
ประธานาธิบดีอากีโนที่ 3 เปรียบเทียบจีนคือฮิตเลอร์
กุมภาพันธ์ 2014 รัฐบาลอากีโนที่ 3 แสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อจีน เปรียบสถานการณ์ปัจจุบันเหมือนกับสมัยที่ฮิตเลอร์เรียกร้องดินแดนซูเดเทนแลนด์ (Sudetenland) จากเชโกสโลวาเกียเมื่อปี 1938 ชาติมหาอำนาจสมัยนั้น “พยายามเอาอกเอาใจฮิตเลอร์ยอมให้ซูเดเทนแลนด์เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2” เตือนว่า หากฟิลิปปินส์สูญเสียดินแดนดังกล่าว ในอนาคตจีนคงต้องการมากกว่านั้นดังเช่นพฤติกรรมของฮิตเลอร์ เพราะหลังจากได้เขตซูเดเทนแลนด์ อีก 6 เดือนต่อมาฮิตเลอร์เข้ายึดครองประเทศเชโกสโลวาเกียทั้งหมด ตามมาด้วยสงครามโลกครั้งที่ 2
            ถ้ามองจากมุมฟิลิปปินส์ พฤติกรรมของจีนเป็นการละเมิดอธิปไตยฟิลิปปินส์ สมควรที่ต้องถูกตอบโต้
            แต่ถ้ามองในมุมเปรียบเทียบเหมือนฮิตเลอร์ยึดครองซูเดเทนแลนด์แล้วทำสงครามโลกครั้งที่ 2 เท่ากับกำลังบอกว่าจีนจะยึดครองประเทศฟิลิปปินส์ทั้งประประเทศ และจะทำสงครามโลกยึดทวีปเอเชียกับทวีปอื่นๆ  ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นไปได้
            มิหนำซ้ำ การอ้างว่าเป็นข้อพิพาทระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์ โดยไม่เอ่ยถึงประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศที่อ้างกรรมสิทธิ์ทับซ้อนบางส่วน เท่ากับกีดกันประเทศอื่นๆ ว่าไม่มีส่วนในกรรมสิทธิ์เหล่านั้นไปในตัว ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน หากจีนไม่แย่งชิงหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ก็ใช่ว่าฟิลิปปินส์จะได้เป็นเจ้าของตามที่ต้องการ
            น่าเห็นใจฟิลิปปินส์ต้องเผชิญแรงกดดันจากจีนไม่น้อย แต่รัฐบาลฟิลิปปินส์ควรตระหนักถึงความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศซึ่งเป็นสมาชิกอาเซียนด้วยกัน
            รัฐบาลอากีโนสามารถปิดห้องพูดคุยทำความเข้าใจกับชาติสมาชิกอาเซียนเหล่านั้น แต่วิวาทะระหว่างฟิลิปปินส์กับจีนสร้างความตึงเครียดทางการเมืองแก่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยตรง อาจไม่เป็นผลดีต่ออาเซียน (เว้นแต่อาเซียนต้องการให้เป็นเช่นนั้น ฟิลิปปินส์กำลังแสดงอีกบทบาทของอาเซียน)
            โดยรวมแล้ว ประธานาธิบดีอากีโนที่ 3 อาจพูดด้วยความตั้งใจดีต่อประเทศชาติ แต่การยกตัวอย่างที่ไม่สมเหตุสมผล เกินความจริง ส่งผลต่อภาพพจน์ประเทศซึ่งเป็นอีกหนึ่งผลประโยชน์ของประเทศเช่นกัน

ความจริงของท่าทีที่ฟิลิปปินส์มีต่อจีน :
วาทะอันแข็งกร้าวของรัฐบาลอากีโนที่ 3 เมื่อกุมภาพันธ์ 2014 อาจชี้นำให้เข้าใจว่ารัฐบาลฟิลิปปินส์แข็งกร้าวต่อจีนมาก แต่ถ้ามองภาพรวมจะเห็นอีกภาพที่ตรงข้าม ดังนี้
            ประการแรก ฟิลิปปินส์ยึดมั่นแก้ปัญหาโดยสันติวิธี
แถลงการณ์ร่วมจีน-ฟิลิปปินส์อันเนื่องจากประเด็นทะเลจีนใต้และพื้นที่ความร่วมมืออื่นๆ เมื่อ 10 สิงหาคม 1995 ทั้ง 2 ฝ่ายตกลงที่จะยึดหลักแก้ปัญหาด้วยสันติและเป็นมิตร ด้วยการปรึกษาหารือบนฐานะที่เท่าเทียมและเคารพซึ่งกันและกัน
            หลักแก้ปัญหาด้วยสันติวิธีและเป็นมิตรได้รับการยืนยันซ้ำผ่านแถลงการณ์ร่วมอีกหลายฉบับ เช่น แถลงการณ์ร่วมระหว่างรัฐบาลจีนกับฟิลิปปินส์เรื่องกรอบความร่วมมือทวิภาคีในศตวรรษที่ 21 เมื่อ 16 พฤษภาคม 2000 ความตอนหนึ่งว่า 2 ฝ่ายยึดมั่นที่จะรักษาสันติภาพ ความมั่นคงในทะเลจีนใต้ ตกลงที่จะส่งเสริมยุติข้อพิพาทโดยสันติผ่านการปรึกษาหารือทวิภาคีอย่างเป็นมิตร
            ตุลาคม 2012 นายอัลเบิร์ต เดล โรซาริโอ (Albert del Rosario) รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศฟิลิปปินส์กล่าวในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาข้อพิพาทเรื่องดินแดน “โดยปราศจากการคุกคามด้วยกำลัง” และเรียกร้องให้ใช้ข้อกฎหมายของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UN Convention on the Law of the Sea: UNCLOS) เชื่อว่าทุกประเทศที่เกี่ยวข้องจะเคารพกฎหมายดังกล่าวเพื่อการแก้ไขโดยสันติวิธี
            ตรงข้ามกับฟิลิปปินส์ จีนต้องการแก้ปัญหาด้วยการเจรจาทวิภาคี
ปลายเดือนเมษายน 2014 (2 เดือนหลังเปรียบเปรยว่าจีนเป็นฮิตเลอร์) ประธานาธิบดีอากีโนที่ 3 กล่าวว่าสิ่งที่เราต้องการคือสื่อให้จีนรับรู้คือทุกประเทศมุ่งให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่งคั่งแก่ประชาชน การนี้จำต้องมีบริบทที่มีเสถียรภาพ ข้อพิพาททะเลจีนใต้/ฟิลิปปินส์ตะวันตกไม่เป็นเหตุยุติความสัมพันธ์ของเราเสียสิ้น เรามีความสัมพันธ์ที่ดีในหลายด้าน ประเด็นทะเลจีนใต้อาจเป็นเพียงประเด็นเดียวที่ไม่ลงรอยกัน ... จีนมีเป้าหมายพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน น่าจะเห็นว่าเป็นการดีที่จะร่วมมือกันสร้างเสถียรภาพแก่ทุกฝ่าย
            เป็นอีกครั้งที่ประธานาธิบดีอากีโนที่ 3 กล่าวอย่างระมัดระวัง ไม่ปฏิเสธว่าขัดแย้งกับจีน แต่พยายามชี้ว่ามีความร่วมมือทวิภาคีอื่นๆ อีกมาก ความขัดแย้งเรื่องทะเลจีนใต้ไม่ใช่วันสิ้นโลก ที่สำคัญกว่าคือทุกฝ่ายต่างเห็นตรงกันว่าหากความขัดแย้งบานปลายจะไม่เป็นผลดี ทางที่ดีที่สุดคือพยายามรักษาความมีเสถียรภาพ ส่วนเรื่องที่ขัดแย้งก็แก้กันต่อไป

            ล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2016 ประธานาธิบดีอากีโนที่ 3 กล่าวว่ากล่าวว่าฟิลิปปินส์รับรู้ “พฤติกรรมก้าวร้าวของประเทศเพื่อนบ้านตัวโต มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลก มีอาวุธนิวเคลียร์ ...อย่างไรก็ตาม เฉกเช่นทุกประเทศ เราจำต้องปกป้องสิทธิของเรา”
ฟิลิปปินส์ไม่มีเจตนาท้าทายทางทหาร “ไม่มีแผนพยายามเป็นเครื่องป้อมปรามต้านพลังทางทหารของมหาอำนาจ” แม้จะมีข้อพิพาทเรื่องทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตก (ทะเลจีนใต้)

ประการที่ 2 ยื่นเรื่องต่อสหประชาชาติ ศาลโลก
            รัฐบาลอากีโนที่ 3 ตั้งใจใช้ทุกช่องทางที่มีอยู่พยายามแก้ปัญหาด้วยกฎหมายอย่างสันติ และหวังว่าประเทศเพื่อนบ้านจะเคารพกฎหมาย ได้นำประเด็นพิพาทเข้าสู่สหประชาชาติ เช่น ในเดือนเมษายน 2011 ได้ยื่นจดหมายอย่างเป็นทางการต่อสหประชาชาติเพื่ออ้างอธิปไตยเหนือ Kalayaan Island Group (KIG) แจ้งต่อสหประชาชาติว่าจีนรุกล้ำน่านน้ำของตน
            และยื่นเรื่องต่อคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศแห่งกฎหมายทะเล (International Tribunal of the Law of the Sea: ITLOS) เพื่อชี้ขาดแก้ไขข้อพิพาททางทะเลระหว่างประเทศที่ให้สัตยาบันอนุสัญญาสหประชาชาติฉบับนี้
            แต่วิธีการทั้งหมดยังไม่ได้ผล

            ประการที่ 3 จุดอ่อนของอาเซียน DOC กับปัญหาของ COC
            อีกวิธีที่ฟิลิปปินส์ใช้คือใช้กลไกลของอาเซียน โดยเฉพาะปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea: DOC) ที่จีนลงนามเมื่อปี 2002 เอกสารดังกล่าวยึดหลักแก้ปัญหาด้วยสันติวิธี ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ข้อดีของเอกสารนี้คือทำให้ประเทศต่างๆ หลีกเลี่ยงเผชิญหน้าด้วยกำลังทหาร แต่ไม่มีอำนาจบังคับใช้ ดังนั้น การจะปฏิบัติตามหรือไม่เป็นเรื่องของความสมัครใจ เนื้อหา DOC บางข้อเป็นหลักการกว้างๆ จึงเกิดการตีความแตกต่างกัน
            ประเด็นที่ต้องเอ่ยถึงคือนอกจาก DOC ไม่ช่วยเร่งเจรจายุติปัญหา ยังไม่ช่วยสกัดการรุกคืบแสดงความเป็นเจ้าของจากจีน ดังจะเห็นว่าจีนเพิ่มเติมสิ่งปลูกสร้างถาวรในเกาะที่ยึดครองมากขึ้นๆ ติดตั้งระบบอาวุธต่างๆ มากมาย สร้างสนามบิน

            ที่ผ่านมาฟิลิปปินส์พยายามส่งเสริมจัดทำ แนวปฏิบัติ” (COC) ที่มีผลผูกพันต้องปฏิบัติตาม ดูเหมือนว่ามีความคืบหน้าแต่ไม่มีข้อสรุปเสียที

            ปัญหากลไกอาเซียนปรากฏชัดเมื่อพฤศจิกายน 2012 ที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนไม่มีฉันทามติเรื่องสิทธิเหนือหมู่เกาะปะการังสการ์โบโรห์ เพราะประธานาธิบดีอากีโนที่ 3 ไม่เห็นด้วยกับร่างแถลงการณ์ ปรากฏการณ์ดังกล่าวซ้ำรอยก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกรกฎาคมในที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน
            ประธานาธิบดีอากีโนถึงกับยกมือและพูดแทรกขณะนายกฯ ฮุนเซนเจ้าภาพกำลังกล่าวสุนทรพจน์สรุปการประชุม เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาสรุป เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นหลักฐานความไม่เป็นเอกภาพของอาเซียน ที่ผ่านมาอาเซียนมักแก้ปัญหาความขัดแย้งภายในได้ดี อย่างน้อยสามารถซ่อนไว้ใต้พรม สาธารณชนไม่รู้ไม่เห็น
ประธานาธิบดีอากีโนถึงกับเอ่ยว่า “อาเซียนไม่ใช่ช่องทางเดียวของเรา ในฐานะรัฐอธิปไตย เป็นสิทธิ์ของเราที่จะปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติของเรา”

            การยึดมั่น “แก้ปัญหาด้วยสันติวิธี” อาจเป็นเพราะไม่นิยมความรุนแรง เชื่อว่าเป็นทางออกที่ดี หรือไม่มีอำนาจทำเช่นนั้น ในขณะที่อาเซียนพอจะเป็นที่พึ่งได้บ้างแต่มีลักษณะจำเพาะของตนเอง ชาติสมาชิกแต่ละประเทศมีบริบท มีนโยบายของตนเอง แม้เสียงจะดังกว่าฟิลิปปินส์แต่ดูเหมือนว่าพึ่งพาไม่ได้เต็มร้อย ทางออกอีกทางคือเข้าหาสหรัฐซึ่งมีทั้งผลดีผลเสีย (ดังจะนำเสนอในตอนต่อไป) สถานการณ์ซับซ้อนและอาจรุนแรงกว่าเดิม
20 มีนาคม 2016
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 20 ฉบับที่ 7073 วันอาทิตย์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2559)
--------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง:
ทฤษฎีดุลแห่งอำนาจเป็นแนวคิดจากสำนักสัจนิยมที่ใช้กันแพร่หลาย ถ่วงดุลฝ่ายที่เป็นอริ ไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นฝ่ายได้เปรียบ หวังเป็นเหตุไม่ให้คิดทำสงครามต่อกัน อาเซียนกำลังใช้ทฤษฎีดุลแห่งอำนาจถ่วงดุลจีนกับฝ่ายสหรัฐ เพื่อชี้ชวนให้ทุกฝ่ายดำเนินนโยบายกับอาเซียนอย่างสร้างสรรค์ แต่ทฤษฎีดุลแห่งอำนาจมีจุดอ่อนเช่นกัน จึงต้องใช้อย่างระมัดระวัง
บรรณานุกรม:
1. Acharya, Amitav. (2009). Constructing a Security Community in Southeast Asia: ASEAN and the Problem of Regional Order (2nd Ed.). Oxon: Routledge.
2. Aquino pushes for rule of law in resolving territorial. (2014, May 10). Philippine Daily Inquirer. Retrieved from http://www.gmanetwork.com/news/story/360479/news/world/asean-calls-on-china-to-speed-up-maritime-security-talks
3. Dosch, Jörn. (2013, May 14). The Spratly Islands Dispute: Order-Building on China’s terms? Retrieved from http://hir.harvard.edu/the-spratly-islands-dispute-order-building-on-china-s-terms
4. EGCO, JOEL M. SY. (2016, February 17). PHilippines will not fight China – Aquino. The Malina Times. Retrieved from http://www.manilatimes.net/philippines-will-not-fight-china-aquino/245480/
5. Philippine Leader Sounds Alarm on China. (2014, February 5). The New York Times. Retrieved from http://www.nytimes.com/2014/02/05/world/asia/philippine-leader-urges-international-help-in-resisting-chinas-sea-claims.html?_r=0
6. Philippines to bring Scarborough Shoal row to international court. (2012, June 14). Philippine Daily Inquirer. Retrieved from http://globalnation.inquirer.net/39901/philippines-to-bring-scarborough-shoal-row-to-international-court
7. Porcalla, Delon. (2012, November 20). Asean leaders fail to agree on sea row. The Philippine Star. Retrieved from http://www.philstar.com/headlines/2012/11/20/868921/asean-leaders-fail-agree-sea-row
8. President Aquino at the Los Angeles World Affairs Council. (2016, February 17). The Official Gazette. Retrieved from http://www.gov.ph/2016/02/17/aquino-los-angeles-world-affairs-council/
9. Saleem, Omar. (2000). The Spratly Islands Dispute: China Defines the New Millennium. American University International Law Review, 15, no. 3, 527-582. Retrieved from http://www.wcl.american.edu/journal/ilr/15/saleem.pdf
10. The White House. (2014, April 28). Remarks by President Obama and President Benigno Aquino III of the Philippines in Joint Press Conference. Retrieved from http://www.whitehouse.gov/the-press-office/2014/04/28/remarks-president-obama-and-president-benigno-aquino-iii-philippines-joi
-----------------------------