สาธารณรัฐโรมัน (Roman Republic) ในอดีตกาล (2)

สาธารณรัฐโรมันเป็นระบอบการปกครองที่สภาสูง (senate) 300 คนจากตระกูลอดีตขุนนาง เจ้าของที่ดินรายใหญ่ไม่กี่ตระกูล คัดเลือกคนจากกลุ่มของตนขึ้นดำรงตำแหน่ง “กงสุล” (consuls) เป็นผู้นำฝ่ายบริหาร ด้วยการแบ่งแยกชนชั้นอย่างชัดเจนและรักษาชนชั้นปกครองอย่างเหนียวแน่น ทำให้ชนชั้นปกครองกลุ่มนี้สามารถรักษาอำนาจยาวนาน 450 ปี
Marius กับ Sulla :
Marius กลายเป็นผู้บัญชากองทัพที่โด่งดังเมื่อชนะศึกที่แอฟริกาเหนือ ได้รับเลือกเป็นกงสุลเมื่อก.ค.ศ.107 Marius จัดตั้งกองทัพแบบใหม่ โดยใช้อาสาสมัคร คือคนโรมันที่สาบานว่าจะจงรักภักดีต่อผู้นำกองทัพ (ไม่ใช่สภาสูง) จะมีที่ดินทำกินหรือไม่ก็ได้ (แต่เดิมต้องมีที่ดินทำกิน) เป็นผลสืบเนื่องจากการขยายตัวของสาธารณรัฐ การทำสงครามกับคาร์เธจและพื้นที่ห่างไกล
ก.ค.ศ.90-88 เกิด Italian หรือ Social War เป็นสงครามภายในระหว่างรัฐบาลกลาง (กรุงโรม) กับชาวอิตาลีตามเมืองต่างๆ เหตุเพราะพวกเขาคิดว่าไม่ได้รับส่วนแบ่งผลประโยชน์มากพอจากสาธารณรัฐ จึงก่อจลาจล รัฐบาลกลางแก้ปัญหาด้วยการมอบความเป็นพลเมืองแก่เสรีชนทั้งหมด นับจากนั้นเป็นต้นมา ชาวโรมันจึงหมายถึงคนอิตาลี หรือคนอิตาลีคือชาวโรมัน
พลังของสามัญชนจึงเพิ่มขึ้นมาก ท้าทายอำนาจสภาสูง แต่ไม่ได้ล้มล้างสภาสูง

ในช่วงสงครามกลางเมืองดังกล่าว Lucius Cornelius Sulla ขึ้นดำรงตำแหน่งกงสุลเมื่อก.ค.ศ. 88 ได้รับคำบัญชาจากสภาสูงให้ไปรบกับ Mithridates กษัตริย์ของ Pontus ในเอเชียไมเนอร์ที่กระด้างกระเดื่อง แต่สภาสามัญชนไม่เห็นด้วยและมอบอำนาจบัญชาการทหารแก่ Marius ให้ไปต่อสู่กับ Mithridates กงสุล Sulla เห็นว่าการกระทำดังกล่าวผิดกฎหมายจึงเดินทัพเข้าโรมหวังจับ Marius แต่ Marius ชิงหลบหนีออกจากโรม
จากนั้น Sulla นำทัพเพื่อไปรบกับ Mithridates ในช่วงนี้เองกองกำลังของ Marius ได้รวมกับกองกำลังของกงสุล Cinna (กงสุลมี 2 คน) เข้ากรุงโรม เกิดสงครามกลางเมือง ในที่สุด Sulla เป็นผู้ชนะ
จากชัยชนะดังกล่าว Sulla ทำการกวาดล้างฝ่ายตรงข้าม คืนอำนาจแก่สภาสูง พวกสามัญชนถูกทำลายราบคาบ
ผลงานของ Sulla ทำให้คนรุ่นหลังเรียนรู้ว่าอำนาจกองทัพมีความสำคัญและมีประโยชน์ทางการเมืองมากเพียงใด

ยุคขุนศึกต้องการเป็นผู้นำประเทศ :
Pompey กับ Crassus รับตำแหน่งกงสุลต่อจาก Sulla แม้ 2 คนนี้เคยร่วมรบร่วมงานกับ Sulla แต่ไม่ได้ดำเนินนโยบายตามอย่าง Sulla กลับฟื้นฟูอำนาจของพวกสามัญชน คืนอำนาจแก่พวก “equestrians” (กองทหารม้าที่แยกออกต่างหากจากทหารทั่วไป เหตุที่ทำเช่นนี้เพราะหวังการสนับสนุนจากกองทหารเหล่านี้ ในขณะที่กองทหารม้าหวังมีอำนาจของตนเอง ไม่ต้องการอยู่ภายใต้สภาสูง)
ก.ค.ศ. 63 Marcus Tullius Cicero ขึ้นดำรงตำแหน่งกงสุล รักษาผลประโยชน์ของสภาสูง Cicero เป็นนักกฎหมาย จึงเห็นว่าต้องมีขุนศึกเคียงกายและคิดว่า Pompey เหมาะกับตำแหน่งนี้ แต่สภาสูงเห็นว่า Pompey โดดเด่นเกินไป จึงไม่เห็นชอบ ในขณะเดียวกันเกิดขุนพลผู้โด่งดังอีกคนจากชัยชนะที่สเปน นามนั้นคือ จูเลียส ซีซาร์ (Julius Caesar)

ก.ค.ศ. 60 หลังกลับจากสเปน ซีซาร์ขอรางวัลพิเศษเพื่อแจกจ่ายแก่ทหารฉลองความสำเร็จ และหวังขึ้นดำรงตำแหน่งกงสุล สมาชิกสภาสูงบางคนไม่เห็นชอบ ซีซาร์จึงจับมือกับ Pompey และ Crassus ที่ถูกสภาสูงกีดกันอยู่ก่อนแล้ว
ปีถัดมา ซีซาร์ได้ดำรงตำแหน่งกงสุล Pompey ได้รับการตอบแทนโดยได้ดินแดนที่ยึดได้ทางตะวันออก รวมทั้งที่ดินสำหรับทหารของ Pompey ตัวซีซาร์ได้เป็นผู้บัญชาการทหารพิเศษในเขต Gaul เป็นเวลา 5 ปี
ก.ค.ศ. 55 Pompey กับ Crassus กลับมาดำรงตำแหน่งกงสุลอีกรอบ ตอบแทนซีซาร์ด้วยการต่ออายุเป็นผู้บัญชาการทหารในเขต Gaul เพิ่มอีก 5 ปี Crassus ดำรงตำแหน่งผู้บัญชากองทัพในซีเรีย ส่วน Pompey เป็นผู้บัญชาการทหารในสเปน
จะเห็นว่า ทั้ง 3 คนในขณะนี้ต่างมีกำลังทหารอยู่ในมือตนเอง เลียนแบบแนวทางของ Sulla สถานะอำนาจจึงมั่นคงไม่ต้องฟังเสียงสภาสูง

สิ้นสาธารณรัฐโรมัน :
ซีซาร์ใช้ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารในเขต Gaul เปิดฉากทำสงครามต่อเนื่อง มีข้อมูลว่าทำให้ผู้คนล้มตายถึง 2 ล้านคน จนสามารถครอบครอง Gaul ทั้งหมด ยึดทรัพย์สมบัติและทาสมากมาย ใช้สิ่งเหล่านี้ผูกใจข้าราชการ ความสามารถในการรบและการเอาใจทหารทำให้ซีซาร์เป็นที่ชื่นชอบในหมู่ทหารซึ่งก็คือสามัญชนนั่นเอง ผลลัพธ์คือกงสุล (Pompey กับ Crassus พันธมิตรเดิมของซีซาร์) กับสภาสูงหวั่นเกรงอำนาจซีซาร์ เรียกร้องให้ซีซาร์กลับเข้ากรุงโรมในฐานะสามัญชน ชี้แจงข้อกล่าวหา แต่ซีซาร์เลือกที่จะนำทัพเข้ากรุงโรม ยึดอำนาจปกครอง ให้เหตุผลว่าเป็นการปกป้องสาธารณรัฐ
ฝ่าย Pompey กับสมาชิกสภาสูงหนีไปเกาะกรีซและจัดทัพใหม่ แต่รบแพ้กองทัพซีซาร์จนต้องหนีไปอียิปต์ กองทัพซีซาร์ตามไปที่อียิปต์ สังหาร Pompey ที่นั่น ก่อนเดินทัพกลับกรุงโรมเมื่อก.ค.ศ. 45
เมื่อถึงตอนนี้ซีซาร์มีอำนาจสูงสุดแล้ว ได้รับการแต่งตั้งเป็น “dictator” ผู้คนยกย่องเทิดทูนดุจดั่งเทพเจ้า (a god) องค์หนึ่ง

ซีซาร์ปฏิรูปการปกครองด้วยการเพิ่มสมาชิกสภาสูงเป็น 900 คน (จากเดิมที่มีอยู่ 300) คนที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นคนของซีซาร์นั่นเอง หวังลดอำนาจกลุ่มสภาสูงดั้งเดิม ด้วยการละลายพลังอำนาจของระบอบคณาธิปไตยเดิม ที่ตระกูลขุนนางไม่กี่ตระกูลยึดอำนาจการปกครองตลอด 400 กว่าปีนับจากเริ่มเป็นสาธารณรัฐโรมัน
แต่ชัยชนะและการปฏิรูปของซีซาร์ไม่ช่วยปกป้องเขาให้พ้นจากการถูกลอบสังหารจากฝีมือของสมาชิกสภาสูงจำนวนหนึ่ง หลังครองอำนาจเพียง 15 เดือน

การเสียชีวิตของซีซาร์กลายเป็นต้นเหตุสงครามกลางเมืองรอบใหม่
Octavian ผู้มีอายุ 19 ปีเป็นเหลน (grandnephew) และผู้สืบทอดตำแหน่งของซีซาร์ จับมือกับ Mark Antony ผู้ช่วยซีซาร์ และ Marcus Lepidus อดีตผู้บัญชาการกองทหารม้า ร่วมกุมอำนาจสาธารณรัฐ ต่างช่วยกันเสนอรายชื่อปรปักษ์ที่ต้องกำจัด ผลคือสมาชิกสภาสูง 300 คนถูกสังหารพร้อมกับยึดทรัพย์ รวมทั้งบุคคลที่เกี่ยวข้อง
Octavian ปฏิรูปการปกครองครั้งใหญ่อย่างซีซาร์ คราวนี้ใช้วิธีฆ่าทำลายตระกูลขุนนาง บรรดาข้าราชการชั้นสูง กองทหารที่เป็นอุปสรรคต่อการกุมอำนาจ ส่วนหนึ่งคงเพราะเห็นจุดอ่อนแนวทางปฏิรูปของซีซาร์ และเป็นเหตุผลจัดตั้ง Praetorian Guard ที่ประจำการถาวรในกรุงโรม เทียบเท่ากองทหารรักษาพระองค์

ต่อมา Lepidus หลุดจากอำนาจ Octavian กับ Mark Antony จึงร่วมกันปกครองอาณาจักรโรมัน แต่แล้ว 2 ผู้นำขัดแย้งกันเอง Antony ไปเป็นพันธมิตรกับอาณาจักรอียิปต์ที่นำโดยพระนาง Cleopatra VII ในที่สุด Octavian เป็นฝ่ายได้ชัย สงครามกลางเมืองยุติ และยุติสาธารณรัฐโรมันที่มีอายุกว่า 450 ปีด้วย

รวมความแล้ว สงครามกลางเมืองก่อนสิ้นสาธารณรัฐโรมันคือการแย่งชิงอำนาจระหว่างสภาสูงกับขุนศึก ขุนพลเหล่านี้เมื่อชนะศึกใหญ่จะเรียกร้องเป็นกงสุลปกครองสาธารณรัฐ โดยไม่ยอมอยู่ใต้สภาสูงดังเช่นกงสุลในยุคก่อนๆ ที่มาจากการคัดเลือกคนในกลุ่มสภาสูง
เมื่อสภาสูงเห็นว่าขุนพลคนใดกำลังโดดเด่นเกินควบคุม ก็จะพยายามหาทางลดทอนอำนาจ จูเลียส ซีซาร์เป็นขุนพลชนะศึกอีกคนที่ถูกเรียกร้องให้ละตำแหน่งแม่ทัพ แต่กลับเป็นเหตุให้ซีซาร์ยึดอำนาจโรมด้วยกองทัพของตนเอง
แต่พระองค์ไม่อาจหลบรอดการลอบสังหารจากสมาชิกสภาสูง

จากนั้นเหตุการณ์เกิดซ้ำ Octavian กับพวกกำจัดชนชั้นอำนาจเดิม ที่ถ่ายทอดอำนาจจากรุ่นสู่รุ่นยาวนานกว่า 400 ปีจนแทบไม่เหลือ ไม่ว่าจะเรียกสาธารณรัฐหรือไม่ การปกครองในขณะนั้นไม่สะท้อนความเป็นสาธารณรัฐโรมันเดิมอีกแล้ว
และเมื่อ 2 คนขัดแย้ง ท้ายที่สุดก็เหลือผู้นำสูงสุดเพียงคนเดียว โรมันกลับสู่ยุคปกครองด้วยผู้นำคนเดียว จะเรียกกษัตริย์ จักรพรรดิ หรือชื่ออื่นๆ ก็ไม่ต่างกันนัก

ความโลภอย่างไม่สิ้นสุดคือต้นเหตุสิ้นสาธารณรัฐ :
            เมื่อพิจารณาตั้งแต่ต้นจนจบ ต้นเหตุแห่งความล่มสลายของสาธารณรัฐโรมันคือความโลภ ต้องการที่ดิน ทรัพย์สิน ทาสอย่างไม่สิ้นสุด จึงดำเนินนโยบายขยายอาณาจักรด้วยกำลังอย่างไม่หยุดยั้ง ในมุมหนึ่งอธิบายได้ว่าเมื่อหลายร้อยปีก่อนเป็นสาธารณรัฐ ชาวโรมันเป็นเพียงชุมนุมหนึ่งเท่านั้น และเหมือนชุมชนอื่นๆ ที่ต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด สามารถเอาชนะชุมชนรอบๆ กลายเป็นนครรัฐ จากนั้นสู้กับเมืองอื่นๆ จนครอบครองพื้นที่คาบสมุทรอิตาลี ชาวโรมันคือชาวอิตาลี ชาวอิตาลีคือชาวโรมัน
            เมื่อเป็นสาธารณรัฐเป็นอาณาจักรโรมันขั้นต่อไปคือการเผชิญหน้ากับอาณาจักรอื่นๆ การศึกสงครามคราวนี้กลายเป็นการศึกระหว่างอาณาจักร และพื้นที่ๆ อยู่ห่างไกลออกไป มีโอกาสได้ทรัพย์สมบัติ ทาสคราวละมากๆ กองทัพใหญ่โตขึ้นมากเมื่อต้องเผชิญศัตรูผู้แข็งแกร่งอย่างอาณาจักรคาร์เธจ ต้องทำศึกใหญ่น้อยเป็นเวลายาวนานหลายทศวรรษ กองทัพทวีความสำคัญมากขึ้นทุกทีไม่ว่าจะเพื่อป้องกันหรือรุกราน
การศึกย่อมเปิดโอกาสให้เกิดนักรบผู้กล้า เกิดขุนศึกผู้ปราบศัตรู
            ขุนศึกผู้สามารถ กุมทหารจำนวนมาก กลายเป็นอำนาจที่สภาสูงผู้กุมอำนาจปกครองเห็นว่าเป็นภัยคุกคาม (เพราะมีประวัติเป็นเช่นนั้น) หากขุนศึกดังกล่าวยอมอยู่ใต้อำนาจสภาสูงต่อไป สถานการณ์ภายในจะสงบ แต่ถ้าไม่จะหมายถึงสงครามกลางเมือง บางครั้งขุนศึกเป็นฝ่ายชนะเข้ายึดอำนาจเป็นผู้ปกครองสูงสุด และอาจหมายถึงทำลายบรรดาอำนาจเก่าทั้งหมด เหมือนการรบในสมรภูมิที่ต้องปราบศัตรูให้ราบคาบ
            อธิบายอีกแง่คือ เข้ายึดเข้าควบคุมอำนาจและความมั่งคั่งทั้งหมด ทั้งที่ได้จากนอกอาณาจักรและภายในอาณาจักร
เป็นการปิดฉากสาธารณรัฐโรมันและเริ่มจักรวรรดิโรมัน (Roman Empire) หรือพูดอีกอย่าง คือการสิ้นสุดยุคของระบบขั้วอำนาจเก่าและเริ่มต้นขั้วอำนาจใหม่ ส่วนจะเรียกว่าเป็นระบอบสาธารณรัฐ เป็นจักรวรรดิ หรืออะไรก็แล้วแต่ ขึ้นกับนักวิชาการ ผู้มีอำนาจแต่ละคนแต่ละยุคสมัยจะให้นิยาม

ถ้าวิเคราะห์โดยยึดสภาขุนนางเป็นแกน หากสภาขุนนางรู้จักยับยั้งความโลภของตน สาธารณรัฐจะไม่ขยายตัวจนเกินควบคุม ดำเนินนโยบายเป็นมิตรกับอาณาจักรรอบด้าน ผู้คนอีกหลายล้านไม่ต้องล้มตาย และสภาขุนนางจะยังคงอำนาจต่อไป
การปิดฉากสาธารณรัฐโรมันจึงไม่ได้เกิดจากการลุกฮือจากทาสหรือสามัญชน เหตุผลลึกที่สุดคือจากความโลภอย่างไม่สิ้นสุดของผู้มีอำนาจล้นฟ้า ผู้มั่งมีเหลือกินเหลือใช้ พวกที่คิดว่าเงินทองวัตถุคือคำตอบ คือความสุขแห่งชีวิต
"ความโลภ" ของพวกขุนนาง เจ้าของที่ดินรายใหญ่ คือสิ่งที่ทำลายพวกเขาเอง
25 กันยายน 2016
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 20 ฉบับที่ 7262 วันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน พ.ศ.
2559)
---------------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง 
สาธารณรัฐโรมัน (Roman Republic) ในอดีตกาล (1)
ประวัติศาสตร์ของชนชาติโรมันไม่ต่างจากหลายชนชาติที่เริ่มต้นด้วยคนกลุ่มเล็กๆ ที่สามารถเอาตัวรอดจากเผ่าอื่นๆ รอบข้าง จนกลายเป็นเมือง นครรัฐ และพัฒนาเป็นสาธารณรัฐโรมัน อันหมายถึงการปกครองโดยชนชั้นอำนาจที่สังคมโรมันสมัยนั้นหมายถึงเจ้าของที่ดินรายใหญ่ รากฐานความมั่งคั่งในยุคนั้น ชนชั้นอำนาจพยายามรักษาผลประโยชน์ด้วยการยึดอำนาจปกครองไว้กับพวกตัว วางกฎสังคมห้ามแต่งงานข้ามชนชั้น เป็นสาเหตุเกื้อหนุนให้ชนชั้นปกครองนี้สามารถรักษาอำนาจยาวนานกว่า 400 ปี
บรรณานุกรม:
1. Drummond, A., Walbank, F. W., Astin, A. E., Frederiksen, M. W., & Ogilvie, R. M. (Eds.). (1989).The Cambridge Ancient History Volume 7, Part 2: The Rise of Rome to 220 BC (2nd Ed.). UK: Cambridge University Press.
2. Garnsey, Peter., Saller, Richard. (2014). The Roman Empire: economy, society and culture (2nd Ed.). London: Bloomsbury Academic.
3. Perry, Marvin., Jacob,  Margaret., Jacob, James., Chase, Myrna., & Von Laue, Theodore. (2009). Western Civilization: Ideas, Politics, and Society (9th Ed.). Boston: Houghton Mifflin Harcourt Publishing.
4. Roberts, J. M. (2002). The New History of the World (4th Ed.). UK: Penguin Press/Allen Lane.
5. Spielvogel, Jackson J. (2009).Western Civilization (7th Ed.). USA: Thomson Wadsworth.
-----------------------------