เปลี่ยนวิสัยทัศน์ไปสู่ความจริงเพื่อประชาคมอาเซียนที่มีพลวัต

การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN Summits) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ณ นครเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เป็นการจัด 2 ครั้งรวมกัน (ครั้งที่ 28-29) ภายใต้หัวข้อ "เปลี่ยนวิสัยทัศน์ไปสู่ความจริงเพื่อประชาคมอาเซียนที่มีพลวัต" (Turning Vision into Reality for a Dynamic ASEAN Community)
            เป้าหมายคือการหารือกำหนดแนวทางร่วมขับเคลื่อนสู่ “วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2025” (ASEAN Community Vision 2025) ในการประชุมได้แผนแม่บทการเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน 2025 (Master Plan on ASEAN Connectivity 2025) ความริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน ระยะที่ 3 (Initiative for ASEAN Integration (IAI) Work Plan III) อันเป็นข้อตกลงหลักของปีนี้
สาระสำคัญ :
แถลงการณ์หลังประชุม ในประเด็นโครงสร้างความมั่นคง อาเซียนยืนยันความเป็นศูนย์กลางภูมิภาค ความเป็นเอกภาพของอาเซียนต่อโครงสร้างภูมิภาคและการพัวพันกับส่วนอื่นๆ นอกภูมิภาค กลไกของอาเซียนคือเครื่องมือหลัก (เช่น ASEAN Plus One, ASEAN Plus Three, East Asia Summit, ASEAN Regional Forum และ ADMM Plus) ภายใต้กฎบัตรอาเซียน เอกสารและแถลงการณ์ต่างๆ อาทิ สนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia) การจัดตั้งเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Nuclear Weapon-Free Zone: SEANWFZ)
ยึดมั่นแนวทางสายกลาง อดกลั้น ไม่ใช้ความรุนแรง ถือหลักผลประโยชน์ร่วม ความเป็นพหุสังคมและทุกคนมีส่วนร่วม เพื่อสันติภาพ ความมั่นคง ความสมานฉันท์ของภูมิภาค
            เป็นอีกครั้งที่อาเซียนตอกย้ำจุดยืนโครงสร้างความมั่นคงว่าจะต้องยึดแนวทางอาเซียน เมื่อไม่นานนี้รัฐบาลสหรัฐเสนอโครงสร้างใหม่ที่สหรัฐเป็นฝ่ายริเริ่ม หวังเข้ามาพัวพันภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกซึ่งรวมถึงอาเซียนด้วย เรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญที่ควรติดตามใกล้ชิดเพราะคือการสร้างระเบียบภูมิภาค

แถลงการณ์เอ่ยถึงประเด็นความมั่นคงอื่นๆ เช่น อาเซียนรับรู้ภัยก่อการร้ายที่เพิ่มมากขึ้น พวกหัวรุนแรง การใช้ความรุนแรงสุดโต่ง อาเซียนมีแผนรับมือแนวทาง ASEAN Convention on Counter Terrorism (ACCT)

ในด้านเศรษฐกิจ GDP รวมของอาเซียนในปี 2015 เท่ากับ 2.43 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตร้อยละ 4.7 ปีนี้น่าจะเติบโตร้อยละ 4.5 และคาดว่าจะเป็น 4.8 ในปีหน้า (2017) เนื่องจากการบริโภคของภาครัฐกับเอกชนที่ยังแข็งแกร่ง มีโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ ภาครัฐใช้งบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้านปริมาณการค้าระหว่างประเทศปี 2015 เท่ากับ 2.28 ล้านล้านดอลลาร์ ในจำนวนนี้ร้อยละ 24 เป็นค้าการภายในกลุ่ม เป็นสัดส่วนสูงที่สุดหรือเท่ากับ 545 พันล้านดอลลาร์
ประชาคมอาเซียนจะเดินหน้าบูรณาการเศรษฐกิจตามแผน AEC Blueprint 2025 ปีที่ผ่านมามีความคืบหน้าหลายเรื่อง เช่น การเคลื่อนย้ายสินค้าโดยเสรี ลดรายการสินค้าที่เก็บภาษีศุลกากร ลดปัญหาติดต่อการค้าการลงทุน สร้างระบบสถิติร่วม ระบบเครือข่ายธนาคาร
การเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (ASEAN Connectivity) ตั้งแต่ระดับสถาบันจนถึงระดับปัจเจก จะเดินหน้าตามแผนแม่บทการเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน 2025 (Master Plan on ASEAN Connectivity 2025) เป็นหนึ่งในแผนงานที่สำคัญ ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมกันขับเคลื่อน หารือรายละเอียด
จะเห็นได้ว่ามีสมาชิกบางประเทศก้าวหน้ารวดเร็วกับประเทศที่พยายามพัฒนาตัวเอง ในภาพรวมมีความคืบหน้าตามลำดับ อย่างไรก็ตามบางเรื่องดูเหมือนช้ากว่าที่ควร เช่น ความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership หรือ RCEP) แถลงการณ์จึงแนะนำให้คู่เจรจาเพิ่มความพยายามเป็น 2 เท่า

แถลงการณ์ยังเอ่ยถึงแผนอื่นๆ หลายด้าน หลายมิติ ครอบคลุมความเป็นประชาคมอาเซียน เช่น การเปลี่ยนแรงงานต่างชาติให้เป็นแรงงานถูกต้องตามกฎหมาย ความร่วมมือด้านวัฒนธรรม การสนับสนุนเงินทุนแก่ชุมชน ส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ความร่วมมือแก้ปัญหาภัยธรรมชาติที่ร่วมกันทุกประเทศ ส่งเสริมการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนที่ออกจากสถานศึกษา ปัญหาโลกร้อน โรคเอดส์
ข้อตกลง แผนงานต่างๆ ชี้ให้เห็นว่าชาติสมาชิกมีภาระงานมาก มีคณะทำงาน มีการประชุมใหญ่น้อยจำนวนมาก อาเซียนกำลังก้าวสู่ความเป็นประชาคมอาเซียนที่สมบูรณ์ และต้องพิจารณาผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริง ประชาชนทั่วไปรับรู้จับต้องได้ มีส่วนเกี่ยวข้อง ดังที่ ฯพณฯ ทองลุน สีสุลิด (Thongloun Sisoulith) นายกรัฐมนตรีสปป.ลาว ย้ำว่าการสร้างประชาคมอาเซียนที่แท้สัมพันธ์กับประชากร 620 ล้านคนของอาเซียน สมาชิกแต่ละประเทศจะต้องแปลงวิสัยทัศน์อาเซียนสู่ประเทศของตน ท้องถิ่นของตน และประชาชนจะต้องได้รับประโยชน์

ประเด็นทะเลจีนใต้ :
แถลงการณ์หลังประชุมเอ่ยถึงความสัมพันธ์กับประเทศนอกภูมิภาคหลายเรื่องหลายประเด็น ระบุว่าหลายประเทศพยายามยกระดับความสัมพันธ์กับประชาคมอาเซียน ทั้งนี้อาเซียนจะปฏิบัติต่อประเทศเหล่านั้นตามแนวทาง Guidelines for ASEAN’s External Relations เช่น ตั้งอยู่บนผลประโยชน์ร่วม สนับสนุนการสร้างประชาคมอาเซียน
แถลงการณ์เอ่ยถึงประเด็นทะเลจีนใต้เป็นลำดับแรก ระบุว่า ประชาคมอาเซียน “ยังกังวลยิ่ง (remain seriously concerned) ต่อพัฒนาการเมื่อไม่นานนี้และที่กำลังดำเนินอยู่” รับรู้ว่าผู้นำบางคนแสดงความกังวลต่อการอ้างความเป็นเจ้าของอาณาเขต กิจกรรมที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ บั่นทอนความไว้วางใจและความเชื่อมั่น ทำให้สถานการณ์ยิ่งตึงเครียด กระทบสันติภาพ ความมั่นคงและเสถียรภาพของภูมิภาค พร้อมกับยืนยันจุดยืนเดิม เช่น ขอให้ทุกประเทศยึดมั่นอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 (United Nations Convention on the Law of the Sea: UNCLOS) ยึดหลักไม่ใช้กำลังทหาร อดกลั้น การอ้างกรรมสิทธิ์ที่อาจทำให้สถานการณ์ยุ่งยากและตึงเครียด ขอให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตาม “แนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้” (Declaration on the conduct of Parties in the South China Sea: DOC) และแนวทางล่าสุดอื่นๆ ตามที่ได้ตกลงกันไว้

เมื่อเทียบกับแถลงการณ์ปีที่แล้ว แถลงการณ์ล่าสุดใกล้เคียงกับปีก่อน ระบุว่าบางประเทศวิตกกังวลต่อข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ โดยไม่ได้เอ่ยชื่อประเทศคู่กรณีแต่รู้กันดีว่าหมายถึงประเทศใด
The New York Times/AP รายงานว่าที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนตำหนิว่ากล่าวเล็กน้อย (mild rebuke) ต่อกิจกรรมจีนในพื้นที่พิพาท สมาชิกอาเซียนยังเห็นต่างเรื่องท่าทีที่ควรแสดงต่อจีน

ในโอกาสเดียวกัน นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง (Li Keqiang) ยืนยันจุดยืนเดิมๆ ว่าจีนยึดมั่นปฏิบัติตาม “แนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้” (DOC) ซึ่งที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าใช้ได้ผลดี และกำลังร่วมกับอาเซียนจัดทำ “แนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้” (COC) ชี้ว่าสันติภาพและความมั่นคงในทะเลจีนใต้มีผลยิ่งต่อความมั่งคั่งและการพัฒนาของประเทศในภูมิภาค ประวัติศาสตร์ในอดีตเป็นหลักฐานว่าภูมิภาคจะยังคงสงบต่อไป หากประเทศในภูมิภาคเท่านั้นที่จัดการปัญหา
            ท่าทีจีนที่ประกาศออกมานั้นไม่เปลี่ยนแปลงเช่นกัน ย้ำเตือนให้ประเทศในภูมิภาคแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ซึ่งหมายถึงจีนกับอาเซียนเท่านั้น

ด้านรัฐบาลอาเบะกับโอบามาต่างเรียกร้องให้จีนปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลอนุญาโตตุลาการถาวร (Permanent Court of Arbitration: PCA) ที่พิพากษาว่าเรื่องที่ทางการจีนอ้างความเป็นเจ้าของโดยใช้เส้นประ 9 เส้น (nine-dash line) นั้นเป็นโมฆะ (invalid) สิ่งปลูกสร้างต่างๆ ของจีนในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ 200 ไมล์ทะเล (EEZ) ของฟิลิปปินส์นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย (ศาลยืนยันสิทธิ์ EEZ ของฟิลิปปินส์)
นายกฯ อาเบะยืนยันจุดยืนว่าการอ้างสิทธิ์จะต้องดำเนินตามกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่ใช่ด้วยการใช้กำลังหรือข่มขู่ และแก้ข้อพิพาทด้วยสันติวิธี

            โดยรวมแล้วแต่ละประเทศต่างๆ แสดงท่าทีจุดยืนเดิม อย่างไรก็ตามต้องเข้าใจว่าแม้ท่าทีเดิม แต่สถานการณ์ไม่ได้ “นิ่งเฉย” ตามท่าที เพราะจีนยังคงเดินหน้าก่อสร้างต่อเติมสิ่งปลูกสร้าง รัฐบาลโอบามา ส่งเครื่องบินเรือรบเข้าไปในพื้นที่พิพาท รัฐบาลอาเบะขยายงบประมาณกลาโหม ขยายบทบาทกองทัพ มอบเรือตรวจการณ์แก่เวียดนามกับฟิลิปปินส์
            เช่นเดียวกับที่บางคนตีความว่าอาเซียนยังเห็นต่างเช่นเดิม แต่ไม่ได้หมายความว่าอยู่นิ่งเฉย อาเซียนประกาศยืนยันแนวทางจัดการข้อพิพาท ด้านประเทศสมาชิกที่เกี่ยวข้องระบุความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนเป็นที่รับรู้ทั่วไป ดำเนินการตามแนวทางของตน เช่น ฟิลิปปินส์ส่งเรื่องฟ้อง PCA

            อาเซียนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวจึงขยับตัวแบบอาเซียน เช่น ใช้โอกาสประชุมสุดยอดนี้จัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-จีน (ASEAN-China Summit - ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 19) ได้ข้อตกลงเรื่องโทรศัพท์สายด่วนหากมีปัญหาทางทะเล และแนวปฏิบัติการปะทะทางทะเลที่ไม่ได้วางแผนล่วงหน้าในทะเลจีนใต้ (Code for Unplanned Encounters at Sea in the South China Sea) ตามหลักการของ DOC ข้อตกลงเหล่านี้บ่งชี้ว่า 2 ฝ่ายระมัดระวังไม่ให้สถานการณ์บานปลาย ต้องการระงับเหตุไม่คาดฝันอย่างรวดเร็ว การมีข้อตกลงมีแนวปฏิบัติย่อมน่าจะดีกว่าเดิม เป็นอีกย่างก้าวเล็กๆ ที่ดีกว่าไม่มีอะไรเลย

ประเด็นสำคัญหนึ่งที่ควรเอ่ยถึงคือ แถลงการณ์หลังประชุมไม่เอ่ยถึงคำพิพากษาของศาลอนุญาโตตุลาการถาวรเมื่อกรกฎาคมที่ผ่านมา อาเซียนน่าจะสามารถนำมาเอ่ยอ้างได้ การที่ยังไม่เอ่ยถึงอย่างเป็นทางการ แสดงให้เห็นถึงท่าทีของอาเซียนโดยรวมที่ระมัดระวังการแสดงออกใดๆ ที่ “รุนแรงอย่างเป็นทางการ” การพูดถึงคำพิพากษาเป็นเพียงเรื่องส่วนตัวของสมาชิกบางประเทศ เรื่องนี้อาจตีความว่าเป็นการปฏิบัติตามแนวทางอาเซียนที่ไม่ต้องการแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง หรือยั่วยุให้เกิดความรุนแรง เพราะผลเสียที่เกิดจะกระทบอาเซียนโดยตรง

            ภายใต้แนวคิดสำนักสัจนิยม (Realist school) ในบริบททะเลจีนใต้ ไม่มีประเทศใดสามารถได้ทุกอย่างที่ต้องการ ไมว่าจะเป็นประเทศเล็กหรือใหญ่ ประเทศเล็กกว่าต้องรู้จักนิยามคำว่า "ความมั่นคง" ให้เข้ากับสถานการณ์ ที่ผ่านมาอาเซียนทำได้ดี เป็นเหตุให้ประชาชนอยู่ในความสงบสุข บริบทระหว่างประเทศเอื้อต่อการพัฒนา ส่วนที่เหลือคือการจัดการภายในประเทศ วิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2025 มีเนื้อหาเอ่ยถึงมากมาย สมาชิกอาเซียนซึ่งหมายถึงพลเมืองทุกคนและทุกภาคส่วนควรร่วมมือกันทำให้วิสัยทัศน์กลายเป็นความจริง
 11 กันยายน 2016
ชาญชัย คุ้มปัญญา
(ตีพิมพ์ใน คอลัมน์ “สถานการณ์โลก” ไทยโพสต์ ปีที่ 20 ฉบับที่ 7248 วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน พ.ศ.
2559)
--------------------------
บทความที่เกี่ยวข้อง :
รัฐบาลสหรัฐภายใต้ประธานาธิบดีโอบามารุกคืบเข้ามาพัวพันภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอย่างต่อเนื่องเป็นขั้นเป็นตอน “ข้อเสนอโครงสร้างเครือความมั่นคงเอเชียแปซิฟิก” เป็นส่วนสำคัญของยุทธศาสตร์ที่ตั้งชื่อให้ฟังดูเป็นกลางว่า “ปรับสมดุล” เมื่อวิเคราะห์แล้วคือความต้องการเข้ามาจัดระเบียบภูมิภาคอย่างครอบคลุมทุกด้าน เป็นช่วงเวลาที่ประเทศต่างๆ ทั้งอาเซียน จีนและอีกหลายประเทศต้อง “ปรับสมดุล” เช่นกัน
บรรณานุกรม:
1. ASEAN. (2016, September 7). Chairman’s Statement of The 28th and 29th ASEAN Summits. Retrieved from http://asean.org/storage/2016/09/Chairmans-Statement-of-the-28th-and-29th-ASEAN-Summits_FINAL.pdf
2. China seeks to join ASEAN in dispelling interference, handling South China Sea issue: premier. (2016, September 7). Xinhua. Retrieved from http://news.xinhuanet.com/english/2016-09/07/c_135670238.htm
3. Hu, Yongqi., Wang, Qingyun. (2016, September 7). Progress in China-ASEAN ties hailed. China Daily. Retrieved from http://www.chinadaily.com.cn/world/liattendsasean/2016-09/08/content_26731552.htm
4. Japan, U.S. urge China to resolve disputes in South China Sea. (2016, September 8). The Japan Times. Retrieved from http://www.japantimes.co.jp/news/2016/09/08/national/politics-diplomacy/abe-calls-intensifying-pressure-north-korea/#.V9FXO1uLTIU
5. Ministry of Foreign Affairs of the Lao People’s Democratic Republic. (2016, September 6). H.E. Thongloun SISOULITH, Prime Minister of the Lao PDR chaired the ASEAN Leaders’ Interface with Representatives of ASEAN Inter-Parliamentary Assembly. Retrieved from https://www.asean2016.gov.la/index.php?r=site/newsDetail&page=39
6. Ministry of Foreign Affairs of the Lao People’s Democratic Republic. (2016, September 6). H.E. Thongloun Sisoulith, Prime Minister of the Lao PDR chaired the 28th ASEAN Summit. Retrieved from https://www.asean2016.gov.la/index.php?r=site/newsDetail&page=38
7. Southeast Asia Issues a Non-Rebuke to China. (2016, September 7). The New York Times/AP. Retrieved from http://www.nytimes.com/aponline/2016/09/07/world/asia/ap-as-southeast-asia-south-china-sea.html
-----------------------------